Please wait...

<< Back

ยูนนาน

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 75

(น.75) ส่วนที่เราดูเริ่มสมัยก่อนประวัติศาสตร์ มีเครื่องปั้นดินเผาเรียงๆ กันไว้ที่ข้างฝา ภาชนะดินเผา (หม้อ) เหล่านี้แสดงวิวัฒนาการความก้าวหน้าของมนุษย์ ตามที่ประธานเหมากล่าวว่า คนกับสัตว์ต่างกันเพราะคนใช้เครื่องมือพัฒนาความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นได้ สิ่งของที่ตั้งแสดงมี เครื่องมือหินใหม่ เครื่องปั้นดินเผาวัฒนธรรมหม่าเจียเหยา อำเภอหมินเหอ อยู่ทางตะวันตกสุดของมณฑลชิงไห่ มีถ้วยแฝด ผู้บรรยายบอกว่าที่ไต้หวันยังมีผู้ใช้ถ้วยแบบนี้ ใช้ในพิธีแต่งงานและการแสดงมิตรภาพ กลองดินเผามีหูเล็กๆ 2 ข้าง ใส่เชือก แบกได้ เข้าใจว่าเดิมเป็นเครื่องส่งสัญญาณ มองดูเหมือนกลองมโหระทึกของเผ่าไต่ (ชนเผ่าไทย) ในยูนนาน ที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบัน

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 183

(น.183) อีกห้องมีตารา 3 องค์ มาจากนาทังองค์หนึ่ง ยัมโจลองค์หนึ่ง เจียงซืออีกองค์หนึ่ง ดาไลลามะองค์ที่ 5 เชิญมาที่นี่ อีกห้องเป็นที่เก็บคัมภีร์กันจูร์ที่ใช้น้ำหมึกทองเขียน น้ำหมึกทองใช้ทองจริงๆ ทำ คัมภีร์สำคัญๆ ที่อยู่ในตู้ เช่น พระไตรปิฎกของเผ่าน่าชีที่ลี่เจียง (ยูนนาน) พระเจ้าแผ่นดินที่นั่นสนพระทัยพระพุทธศาสนาจึงสร้างพระไตรปิฎก ที่นี่มีพิมพ์ไม้อยู่บ้าง แต่ไม่ค่อยได้พิมพ์คัมภีร์ใหม่ เอกสารที่ใช้บ่อยๆ เช่น แบบเรียนก็จะพิมพ์ใช้

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 248

(น.248) พอถึงเวลาไปเรือนรับรองเตี้ยวอวี๋ไถที่จะจัดเลี้ยง รออยู่พักหนึ่ง มาดามเฉียนเจิ้งอิงมา ให้รูปแผนที่ประเทศจีนเป็นทอง พูดว่าถ้าอยากดูแม่น้ำสามสายนั้นไปดูที่ชิงไห่ดูลำบากอยู่ไกลกัน แต่ว่าที่ยูนนานอยู่ใกล้กัน ที่ชิงไห่อย่าว่าแต่คนไปท่องเที่ยวเลย นักสำรวจเดินทางไปก็แย่แล้ว

เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 17

(น. 17) ท่านรองนายกรัฐมนตรีพูดถึงเรื่องการแก้ไขมลภาวะในน้ำที่ทะเลสาบเตียนฉือในนครคุนหมิง มณฑลยูนนาน และการแก้ไขสภาพอากาศเป็นพิษโดยใช้รถไฟฟ้า รถยนต์ก็ให้ใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว แก้ไขระบบท่อไอเสีย พูดกันถึงเรื่องการจัดกีฬาโอลิมปิกว่าจะพยายามจัดใน ค.ศ. 2008 หวังว่าไทยจะสนับสนุน เมื่อเลี้ยงเสร็จกลับมาที่อาคาร 10 ข้าพเจ้าวิ่งอยู่ในห้องประมาณครึ่งชั่วโมง แล้วจึงลงมือเขียนหนังสือ

เจียงหนานแสนงาม หน้า 27-28

(น. 27) ในห้องแรกนี้แสดงวิวัฒนาการของมนุษย์วานรเป็นมนุษย์ปัจจุบัน มีภาพต่างๆลำดับเรื่องเป็นขั้นตอนอย่างดี เริ่มจาก
- ลิงเปลี่ยนเป็นมนุษย์ แสดงสถานที่ที่พบมนุษย์วานรชนิดต่างๆในมณฑลยูนนาน และวิวัฒนาการเป็น Homo erectus วิวัฒนาการเหล่านี้มีหลายทฤษฎีไม่ลงรอยกัน
- สถานที่ที่พบมนุษย์วานรเหล่านี้ส่วนมากอยู่ในแอฟริกาตอนใต้ มีแหม่มที่เป็นนักวิทยาศาสตร์ขุดพบซากเมื่อ ค.ศ.1924 ที่แทนซาเนีย ต่อมาอีก 10 ปี ลูกชายของเขาได้พบฟอสซิลของ Australopithecus ในแอฟริกาตะวันออก อายุ 2.5 ล้านปี นอกจากนั้นมีแผนจำลองรูปลักษณะรอยเท้าลิงของมนุษย์วานรว่ายืนได้ แต่ยังไม่มั่นคงนัก หาเลี้ยงชีวิตได้ด้วยการเก็บผลไม้ ล่าสัตว์
- Homo erectus เป็นมนุษย์โบราณที่คล้ายคนปัจจุบันมากขึ้นเดินตัวตรง สมองใหญ่ขึ้น ที่สำคัญได้แก่ มนุษย์ชวา พบ ค.ศ. 1891 มนุษย์ปักกิ่ง พบ ค.ศ. 1927 อยู่นอกกรุงปักกิ่ง มนุษย์พวกนี้ทำเครื่องมือต่างๆได้ รู้จักใช้ไฟ มีรอยเถ้าถ่านที่ใช้ให้ความอบอุ่น และเพื่อป้องกันอันตราย

(น. 28) นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเรื่องมนุษย์ปักกิ่งนำกะโหลกไปทดสอบทำหน้าตาของมนุษย์ปักกิ่ง แต่ละหุ่นนั้นหน้าตาต่างๆกัน แต่หน้าผากลาดและแคบมากเหมือนกัน
- Homo sapiens ศึกษามนุษย์นีแอนเดอธัลและมนุษย์โครมันยอง มนุษย์นีแอนเดอธัลเดิมมี 2 สาขา สาขาหนึ่งหายไป สาขาที่ยังอยู่เป็นบรรพบุรุษของมนุษย์ในปัจจุบัน บรรพบุรุษของมนุษย์พัฒนาความเจริญด้านวัฒนธรรม ศิลปะ และความคิดต่างๆ ให้ประณีตและซับซ้อนขึ้น เช่น ทำธนูล่าสัตว์ได้ ทำเข็มเย็บหนัง เย็บเปลือกไม้ ทำเสื้อผ้า เริ่มมีพิธีกรรมต่างๆ เช่น พิธีฝังศพ ใช้ดอกไม้ประดับศพ เรื่องเทพมารดา ทำรูปผู้หญิงท้องแสดงความอุดมสมบูรณ์
- เมื่อวิวัฒนาการมาจนเป็นคนสมัยใหม่นั้น มี 3 กลุ่มใหญ่ตามสีผิวคือ ขาว เหลือง ดำ (น้ำตาล) แต่บรรพบุรุษมาจากแห่งเดียวกัน
- ลำดับต่อไปเป็นเรื่องของคนจีน ย้อนตั้งแต่มนุษย์วานร Australopithecus เช่น คนหยวนโหมวในมณฑลยูนนาน พบฟอสซิลฟันหน้าลักษณะเหมือนจอบ เขาว่าเป็นลักษณะของคนผิวเหลือง มีช่วงต่อระหว่างมนุษย์วานร กับ Homo erectus แบ่งเป็นสาขา มีพวกอยู่ถ้ำบนภูเขา และพวกสาขาทางใต้ อยู่หลิ่วเจียง ภูมิภาคปกครองตนเองก่วงซี (กวางสี) มีหลักฐานขุดได้จากถ้ำไป๋เหลียน เป็นพวกยุคหินเก่าต่อยุคหินกลาง เริ่มทำการเกษตรใช้เครื่องมือเพราะปลูกคือ เอาไม้เสี้ยมให้แหลม ใช้หินวงกลมเป็นน้ำหนักถ่วง กระทุ้งดินเป็นรู แล้วหยอดเมล็ดพืช

เจียงหนานแสนงาม หน้า 111,115

(น. 111) เครื่องเขิน เดิมลงรักไปบนเครื่องปั้นดินเผาสมัยเมื่อ 5,000 – 6,000 ปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมาจึงใช้โครงไม้แล้วลงรัก ในตู้นี้เขาเก็บเครื่องลงรักทั้งสีดำและสีแดงของทุกสมัย เครื่องลงรักแบบหยังโจว คือลงรักสีแดงให้หนาแล้วแกะลายของบางชิ้นก็ฝังมุก มีทองแดงลงรักปิดทองก็มี หรูอี้ลงรักแดงแกะลายสมัยจักรพรรดิเสียนเฟิง (ค.ศ. 1851 – ค.ศ. 1861) แห่งราชวงศ์ชิง ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นหรูอี้แบบนี้ เคยเห็นแต่ที่เป็นหยก นอกจากนั้นมีกล่องใส่อาหารลงรักแดงบนพื้นดำ แกะลายเป็นทิวทัศน์และเขียนตัวหนังสือ ยางรักส่วนใหญ่มาจากมณฑลยูนนาน เครื่องปั้นดินเผา มีศิลาดล มีประวัติว่าพวกเย่ว์เป็นผู้ทำตั้งแต่สมัยหินใหม่ พวกเย่ว์นี้อยู่ทางใต้ของแม่น้ำแยงซีในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก จากนั้นมีมาเรื่อยจนถึงราชวงศ์ชิง เครื่องลายคราม เริ่มมีมาตั้งแต่ราชวงศ์ถัง ที่จริงแล้วได้เศษมาชิ้นเดียว แต่ว่าพบในชั้นดินสมัยถัง ไม่ทราบว่าในวิชาโบราณคดีสันนิษฐานแบบนี้จะพอหรือไม่ นอกนั้นเป็นสมัยราชวงศ์หยวน หมิง ชิง

(น. 115)ทศวรรษ 1940 ขณะนี้กลายเป็นของล้ำค่า เพราะเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว มณฑลกุ้ยโจวและมณฑลยูนนานมีชนเผ่าต่างๆ อยู่มาก เรื่องของชนเผ่าสมัยโบราณที่ปัจจุบันไม่มีแล้วก็เก็บรวบรวมข้อมูลไว้

เจียงหนานแสนงาม หน้า 329

(น. 329) ค่ำนี้รองผู้ว่าฯ เย่ว์เลี้ยงส่งที่เรือนรับรองซีหู มาดามเย่ว์ “สอบ” ทุกคนว่ามีความคิดเห็นเรื่องหังโจวอย่างไร และเล่าว่าที่นี่มีความสำคัญหลายอย่าง เกาะดอกท้อในเรื่องมังกรหยกก็ไม่ไกลจากที่นี่นัก คิสซินเจอร์กับนิกสันก็มาที่นี่ ตอนนี้มีผู้มาลงทุนมาก มาดามไปที่เมืองไทยเห็นมีนิคมอุตสาหกรรม กลับมาก็เลยผลักดันให้ที่นี่มีบ้าง แสดงว่าการออกไปศึกษาจากต่างประเทศมีประโยชน์ ตอนนี้พยายามปรับปรุงการตลาด ผลิตของให้มีคุณภาพ บริการส่งให้ถึงลูกค้า สร้างความสัมพันธ์กับมณฑลอื่น เช่น นำถ่านหินจากมณฑลส่านซี ใบยาสูบจากมณฑลยูนนาน มณฑลเจ้อเจียงผลิตชิ้นส่วนของรถยนต์ป้อนโรงงานผลิตรถยนต์ในมณฑลหูเป่ย จี๋หลินและมหานครเซี่ยงไฮ้ การติดต่อเช่นนี้กับต่างประเทศก็ทำได้เหมือนกัน เช่น สัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาในการผลิตโทรศัพท์มือถือโมโตโรลา มณฑลนี้ทรัพยากรมีไม่มากนัก ต้องรับจากมณฑลอื่น ต้องวางแผนการลงทุนในที่อื่น เช่น เมื่อที่เซี่ยงไฮ้เปิดเขตอุตสาหกรรมผู่ตง บริษัทในมณฑลเจ้อเจียงก็ไปลงทุนทำกิจการที่นั่นด้วย

เจียงหนานแสนงาม หน้า 333-335,338-342

(น. 333) วันอังคารที่ 13 เมษายน 2542
รองผู้ว่าฯ เย่ว์ไปส่งที่สนามบิน บอกว่าจะพยายามพัฒนาเศรษฐกิจให้ดีขึ้น โดยให้มีการลงทุนทางอุตสาหกรรมและการส่งออกมากขึ้น การดึงดูดการลงทุนจากภายนอกต้องสร้างสภาพความเป็นอยู่ที่ดี เช่น การมีโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งที่นี่มีตั้งแต่ชั้นอนุบาลถึงมัธยม นอกจากนั้นยังบอกข้าพเจ้าว่าตอนเครื่องบินขึ้นอย่าลืมดูบ้านชาวนา ขึ้นเครื่องบินสายการบินเจ้อเจียงไปนครคุนหมิง มองลงมาเห็นบ้านชาวนาที่เป็นแบบเดียวกันมากมาย เครื่องบินลงที่คุนหมิงเวลา 11 นาฬิกาพอดี กงสุล (คุณกมล อรจันทร์) และข้าราชการสถานกงสุลมารับ ไปที่โรงแรมโกลเด้นดราก้อนที่เคยมาพัก แต่เขาตกแต่งใหม่จนจำไม่ได้ ใหญ่โตมโหฬาร คณะสถานกงสุลและคณะที่ร่วมเดินทางกันมารดน้ำสงกรานต์ข้าพเจ้า แล้วรับประทานอาหารกลางวัน หลังอาหารไปพิพิธภัณฑ์ชนกลุ่มน้อย มีคุณเผิงเริ่นตง ผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของมณฑลยูนนานนั่งรถไปด้วย คุณเผิงเรียนภาษาไทยรุ่นเดียวกับอธิบดีจางจิ่วหวนและกงสุลหลิวหย่งซิง พิพิธภัณฑ์แห่งนี้แสดงเรื่องราวของชนกลุ่มน้อยในมณฑลยูนนาน ซึ่งมีอยู่ 25 ชนเผ่า เช่น ลีซอ เย้า แม้ว (อยู่ไม่ไกลจาก


(น. 334) รูป 223 พิพิธภัณฑ์ชนกลุ่มน้อยยูนนาน
The Nationality Museum, Yunnan Institute of the Nationalities.

(น. 334) คุนหมิง) น่าซี (ส่วนใหญ่อยู่ที่เมืองลี่เจียง) พวกฮาหนีหรืออีก้อ (ที่เหมิงไห่ และสิบสองปันนา) พวกว้าและปู้หลัง (สิบสองปันนา) พวกทิเบต (จงเตี้ยน) จ้วง (หงเหอโจว) เป็นต้น ในตู้มีหุ่นแสดงเครื่องแต่งกายของชนเผ่าต่างๆ เช่น เสื้อผ้าที่ทำจากหญ้าของพวกอี๋ (อยู่ที่ฉู่สง) เสื้อผ้าเปลือกไม้ของพวกฮาหนี เสื้อผ้าฟางของพวกจ้วง เสื้อผ้าหนังสัตว์ของพวกน่าซีและพวกหุย เสื้อผ้าป่านของพวกอี๋ เสื้อผ้าทำด้วยหัวเฉ่า (fireweed) ของพวกไต่ หรือไทย

(น. 335) แสดงกี่ทอผ้าของเผ่าต่างๆ ผ้าลายนานาของพวกไต่ เครื่องมือการทำบาติกแบบยูนนาน มาจากจิ่งหงหรือเชียงรุ่ง พืชต่างๆ ที่ใช้เป็นสีย้อม งานปัก เช่น รองเท้า ผ้าสำหรับสะพายลูก และอื่นๆ

(น. 338) ไปนั่งสนทนากัน มีคุณเผิง คุณเก๋อซาง (เป็นคนทิเบต) อธิการบดีสถาบันชนกลุ่มน้อย และผู้อำนวยการสถาบันวิจัยชนกลุ่มน้อย ข้าพเจ้าถามถึงเรื่องการบริการการศึกษาและการรักษาพยาบาลของพวกชนกลุ่มน้อยในยูนนานในเขตทุรกันดาร คุณเผิงอธิบายว่ามีหมอดูแล ส่วนการศึกษาก็เป็นไปตามหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการจีน ชนกลุ่มน้อยเรียนในโรงเรียนระดับประถมและมัธยม รัฐบาลช่วยออกค่าใช้จ่ายในการเดินทางครึ่งหนึ่ง ต้องเรียนภาษาของตนและภาษาจีน ขณะนี้ที่สถาบันชนกลุ่มน้อยมีการสอนภาษาไทยด้วย อาจารย์เจ้าเจียเหวิน อธิการบดีสถาบันชนกลุ่มน้อยกล่าวว่าเขาต้อนรับข้าพเจ้าสามครั้งแล้ว และเล่างานของสถาบันว่าพยายามอนุรักษ์วัฒนธรรมของชนเผ่าต่างๆ ไว้ บุตรหลานของชนกลุ่มน้อยได้เรียนประถมมัธยมและระดับสูงกว่านั้น แต่ยังเข้ามหาวิทยาลัยน้อย ที่สถาบันมีการสอนระดับอนุปริญญาและปริญญาตรี สอนเรื่องประวัติศาสตร์ชนกลุ่มน้อยและอีกหลายสาขาวิชา พยายามสร้างความสัมพันธ์กับประเทศที่มีชนกลุ่มน้อยเหมือนกัน เช่น ประเทศไทยและประเทศอื่นๆ มีการเปิดสอนวิชาเกี่ยวกับเอเชียตะวันออก สถานกงสุลไทยในคุนหมิงได้มีส่วนช่วย

(น. 339)สนับสนุนพวกอาจารย์ที่สอนภาษาไทยไปเรียนในประเทศไทย หวังว่าเด็กที่เรียนจบมาจะมีโอกาสใช้ภาษาไทยและสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศไทยต่อไป ขณะนี้มีการสอนภาษาเวียดนามและภาษาพม่าด้วย จะเปิดสอนภาษาลาวและเขมรต่อไป วิชาพม่า มีอาจารย์พม่ามา แต่เวียดนามยังไม่ได้ส่งอาจารย์มาช่วยสอน กลับโรงแรมมีคนบอกว่าไม่ให้เดินเร็วจะเหนื่อยง่ายและมีคนรู้สึกเหนื่อย ว่าเป็นเพราะอยู่ที่สูง อากาศน้อย แต่ข้าพเจ้าไม่รู้สึกอะไร ตอนค่ำทางมณฑลจัดงานเลี้ยงให้ตามเคย ผู้ว่าราชการมณฑลหลี่เจียทิงกล่าวต้อนรับแทนประชากรในมณฑล 41 ล้านคน ผู้ว่าราชการฯ กล่าวว่าข้าพเจ้ามาอยู่ที่ยูนนานเป็นครั้งที่ 3 แล้ว เมื่อ 4 ปีก่อนท่านผู้ว่าฯ ก็มีโอกาสได้ต้อนรับข้าพเจ้า ขอบรรยายเกี่ยวกับยูนนานในรอบสี่ปีที่ผ่านมา เมื่อเดือนสิงหาคม ค.ศ. 1995 มีการประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์ครั้งที่ 6 ในการประชุมสมัชชาครั้งนั้น สมาชิกได้เสนอความคิดเห็นว่ามณฑลยูนนานจะต้องพัฒนาอุตสาหกรรม 4 ด้านคือ
1. อุตสาหกรรมยาสูบ ต้องผลิตมากขึ้น ขณะนี้ผลิตได้ 40% ของผลผลิตทั่วประเทศ และส่งออกได้ 45%
2. การพัฒนาทรัพยากรชีวภาพ กำหนดให้มี 18 โครงการสำคัญ ทุกวันนี้บางโครงการพัฒนาจนมีขนาดใหญ่พอควรแล้ว เช่น โครงการ ดอกไม้สด ผลิตได้ 600 ล้านดอก ถือเป็นหนึ่งในสามของการผลิตทั่วประเทศ ฉะนั้นควรจะพัฒนาในด้านนี้เพื่อเพิ่มพูนรายได้ของประเทศให้มากขึ้น


(น. 340) รูป 227 งานเลี้ยงอำลา
Farewell dinner.

(น. 340)
3. การท่องเที่ยว การท่องเที่ยวของยูนนานอาศัยทัศนียภาพธรรมชาติที่สวยงาม โบราณสถานที่น่าสนใจ และประเพณีหลายหลากของชนกลุ่มน้อย ถือได้ว่ามีทรัพยากรท่องเที่ยวที่สมบูรณ์ที่สุดมณฑลหนึ่ง เมื่อปีที่แล้วในบรรดา 31 มณฑลและนครของประเทศรวมกัน ยูนนานถือได้ว่าเป็นอันดับที่ 7 ในด้านการท่องเที่ยวและเป็นที่ 1 ในภาคตะวันตก มณฑลที่ประสบความสำเร็จทางด้านการท่องเที่ยวส่วนมากเป็นมณฑลทางทิศตะวันออก ได้แก่ มณฑลกวางตุ้ง นครปักกิ่ง นครเซี่ยงไฮ้ มณฑลเจียงซู มณฑลเจ้อเจียง มณฑลฮกเกี้ยน
4. อุตสาหกรรมเหมืองแร่ อัญมณี และการป่าไม้ ในสี่ปีมานี้การสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นมากมาย การขยายสนามบินที่คุนหมิงก็เสร็จแล้ว ยังมีสนามบินใหม่อีก 4 แห่ง คือที่ลี่เจียง ต้าหลี่ (สองแห่งนี้เปิดใช้แล้ว) อีกสอง

(น. 341) แห่งกำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง มณฑลยูนนานนี้มีสนามบินมากที่สุด มาตรฐานดีที่สุด การตัดถนนก็เร่งทำให้มากขึ้น พัฒนาโทรคมนาคมไปอำเภอต่างๆ โทรศัพท์ และโทรศัทพ์มือถือ ในด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับต่างประเทศนั้นมีความร่วมมือกับไทยมากที่สุด ถึงแม้จะลดน้อยไปบ้างในช่วงวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ นอกจากนั้นมีการแลกเปลี่ยนการเยือนทั้งในระดับผู้ใหญ่ในพรรคและในระดับรัฐบาลมณฑล ผู้ว่าราชการฯ หลี่เองไปไทย 3 ครั้ง ไปเยือนตั้งแต่เหนือจดใต้ นักท่องเที่ยวไทยก็มาที่ยูนนานมากที่สุด และคนยูนนานก็ไปเที่ยวเมืองไทยมากเช่นกัน โครงการลงทุนจากต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดคือ โครงการโรงไฟฟ้าที่จิ่งหงที่ไทยเป็นผู้ลงทุน นอกจากนั้นยังมีสำนักงานของธนาคารไทย ฉะนั้นถึงแม้ว่าเกิดวิกฤติการณ์ก็เชื่อว่าความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจยังมั่นคงอยู่ รัฐบาลกลางมอบให้จัดงาน EXPO’99 มีรองนายกรัฐมนตรีหลี่หลานชิงเป็นประธาน ผู้ว่าราชการฯ หลี่เองเป็นรองประธานเตรียมการและผู้จัด มีประเทศต่างๆ และองค์การระหว่างประเทศมาร่วมงานด้วยจำนวนมาก ประเทศที่มาจัดสวนมี 34 แห่ง รวมทั้งประเทศไทย ได้ไปตรวจงานมาแล้ว เห็นเจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยกำลังเร่งมือจัด มี 80 กว่าประเทศที่เข้าร่วมในการแสดงต้นไม้ในร่ม ในจีนเองก็มีมณฑลต่างๆ ภูมิภาคปกครองตนเอง ฮ่องกง มาเก๊า และไต้หวันก็มาช่วย มีการจัดสวนกลางแจ้ง ปลูกพืชต่างๆ เสียค่าใช้จ่ายในการจัด การรับรอง และอื่นๆ รวมๆ แล้วใช้งบประมาณมาก

(น. 342) ก่อนจัดงานก็ต้องวางผังเมืองให้ดี ลงมือตัดถนนเร็วกว่ากำหนด 10 ปี ปรับปรุงสิ่งแวดล้อม ขจัดมลภาวะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทะเลสาบเตียนฉือ ข้าพเจ้ากล่าวว่าที่ผู้ว่าราชการฯ หลี่กล่าวว่า ข้าพเจ้ามาเยือนยูนนาน 3 ครั้งนั้น ถ้านับเฉพาะแต่ครั้งที่มาพักค้างคืนก็ถูกต้อง แต่ที่เข้ามาในยูนนานและไม่ได้ค้างนั้นมีอีก 2 ครั้งคือ เมื่อสามปีก่อน (พ.ศ. 2539) เมื่อจะไปซานเสีย ได้แวะดูการจัดงานแสดงสินค้านานาชาติ และอีกครั้งหนึ่งไปที่แขวงหลวงน้ำทา ประเทศลาว และข้ามชายแดนเข้ามายูนนาน ถามถึงผลของงานแสดงสินค้าครั้งนั้น ผู้ว่าราชการฯหลี่ตอบว่าการจัดงานครั้งนั้นประสบความสำเร็จดี สามารถจำหน่ายสินค้าได้มาก แต่ครั้งต่อไปจะเปลี่ยนช่วงเวลาการจัดจากเดือนสิงหาคมเป็นเดือนมีนาคม เพราะว่าเดือนสิงหาคมเป็นช่วงที่คนหยุดพักฤดูร้อน ทำอะไรไม่สะดวก รับประทานอาหารแล้วผู้ว่าราชการมณฑลให้ของขวัญเป็นพระพุทธรูปทรงนกยูง กลับขึ้นไปข้างบนมอบของที่ระลึกให้ผู้ติดตามฝ่ายจีนและไทย เพราะเป็นคืนสุดท้ายในเมืองจีน เสร็จแล้วลงไปข้างล่าง มีร้านขายของ มีของมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งของรับประทาน มีข้าวไทยขายด้วย พอดีอิ่มแล้วจึงไม่ซื้ออะไร

เจียงหนานแสนงาม หน้า 343-345,348,354,358-359

(น. 343) วันพุธที่ 14 เมษายน 2542
นั่งรถไปจัดแสดงงาน EXPO เกี่ยวกับสวน ภาษาอังกฤษเรียกว่า World Horticultural Expo Garden ในบริเวณสวน มีทีวีจอยักษ์ เข้าใจว่าระหว่างงานจะมีการถ่ายทอด มีนาฬิกาประดับดอกไม้ มีเข็มวินาที ใช้น้ำมันเป็นเชื้อเพลิง มีถนนดอกไม้ ตรงกลางเป็นทางเดิน มีดอกเป้าชุนฮวาสีต่างๆ กำหนดเวลาไว้ว่าอีก 2 สัปดาห์เมื่อเปิดงาน สวนนี้จะสวยกำลังพอดี มีรูปสัญลักษณ์งาน EXPO’99 คือ รูปมือถือดอกไม้ มีเรือสำเภาดอกไม้สลับสี สีม่วง ชมพู และแดง

(น. 344) ถึงการจัดยังไม่เสร็จเรียบร้อย แต่ก็เห็นได้ว่าเขาจัดภูมิทัศน์ได้ดีมาก มีเก้าอี้เป็นระยะๆ เขียนชื่อผู้มีอุปการคุณ ผู้ที่อุปถัมภ์การจัดรายใหญ่คือ บริษัทยาสูบ และบริษัทที่ทำกิจการอื่น เช่น บริษัทประกันชีวิต เมื่อกลับมาเมืองไทยแล้วได้ดูโทรทัศน์ CCTV ของจีน มีการสัมภาษณ์ผู้รับผิดชอบการจัดงานนี้ มีคำถามหนึ่งว่างานนี้มีหัวข้อเรื่องในการจัดว่า มนุษย์กับธรรมชาติ แต่ทำไมจึงให้บริษัทยาสูบเป็นสปอนเซอร์ ทั้งๆที่ปัจจุบันแนวโน้มน่าจะเป็นไปในทางลดหรือเลิกการสูบบุหรี่ ผู้รับผิดชอบตอบว่าอุตสาหกรรมหลักของยูนนานขณะนี้คือ ยาสูบ แต่งานนี้จะช่วงสร้างอุตสาหกรรมใหม่คือ อุตสหกรรมการผลิตไม้ดอกต่างๆ เท่ากับเป็นการใช้ยาสูบเพื่อหลีกเลี่ยงยาสูบ

(น. 345) บนภูเขามีไผ่ 250 พันธุ์ ปลูกในเนื้อที่ 17,000 ตารางเมตร การปลูกไผ่ทำได้ยากเพราะไผ่แต่ละชนิดขึ้นในระบบนิเวศน์ต่างๆ กัน เอามาปลูกรวมกันแบบนี้ไม่เป็นไปตามสภาพธรรมชาติ ขณะนี้ตายไปเกือบสิบชนิด เสียดายไม่มีเวลาขึ้นไปดู สองข้างทางเดินปลูกไม้ดอกไม้ประดับต่างๆ เช่น ตู้จวน สีสันสวยงาม แต่ส่วนมากยังไม่ออกดอก เพราะเขากะให้ออกตอนเริ่มงานแล้ว มีต้นหัวป่ากั้ว ออกผลเล็กๆ สีแดง มีสรรพคุณแก้กระหายน้ำได้ พบมากในมณฑลยูนนาน กุ้ยโจว และเสฉวน

(น.348) ในสวนที่ทำนิทรรศการนี้มีสมุนไพรกว่า 400 ชนิด แบ่งเป็นหมวดหมู่ เช่น ยารักษากระดูก ต้นหงโต้วที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง ต้นดอกไม้เงินทอง (จินอิ๋นฮวา หรือ กิมเงิ้นฮวย ในภาษาจีนแต้จิ๋ว) เป็นยาเย็นกินแก้ร้อนใน ต้นพุทรา บ๊วย แก้ไอ เชอรี่และกุหลาบแก้โรคกระเพาะ มีห้องรักษาโรคแบบจีนโบราณ มีการตรวจร่างกายด้วยการแมะ และการรักษาด้วยการฝังเข็ม ยาสมุนไพรที่ใช้รักษาโรคในศาลานี้เป็นยาที่มาจากยูนนานทั้งสิ้น ชนกลุ่มน้อยในยูนนานมียาพื้นบ้านหลายชนิดรักษาโรค สมุนไพรบางชนิดหายากมาก เขาเก็บรวบรวมแสดงให้ดูในห้องจัดแสดง

(น. 354) จุดหมายต่อไปเป็นสวนชา มีสาวน้อยชาวอี๋มาต้อนรับ แสดงวิธีชงชา ต้องลวกถ้วยชาและกาน้ำชา ชาของชาวยูนนานมีหลายอย่าง เช่น ชาก้อน ชาเขียวผู่เอ๋อร์ ชาเขียวผู่เอ๋อร์ใบใหญ่ (ลักษณะเหมือนชาวาวีที่เชียงราย) วิธีชงชาเวลาเทน้ำจากกาก็ต้องใช้วิธีหงส์ผงกหัว 3 ครั้งเหมือนที่หังโจว ต้องรอประมาณ 5 นาที ชาจึงจะออกกลิ่นและดื่มได้ ระหว่างนี้คุยกันไปก่อน ตอนเติมน้ำในถ้วย ต้องเทใส่พร้อมกันทั้ง 8 ถ้วย ชนเผ่าว้าชงชาในถ้วยดิน ใส่ชาผู่เอ๋อร์ลงในถ้วย แล้วยกขึ้นตั้งไฟ เหมือนเป็นการคั่ว ก่อนใส่ข้าวสารลงไป เทน้ำใส่ ต้มนาทีหนึ่ง ชาที่ออกมาจะขม แต่แก้กระหายน้ำได้ดี มีคนแสดงคนหนึ่งใช้กาทองเหลืองใหญ่เท่ากระป๋องรดน้ำต้นไม้ พวยกาก็ยาวมาก น่าหวาดเสียวว่าน้ำจะกระฉอกใส่เรา แต่รู้สึกว่าคนรินเขาชำนาญมาก น้ำไม่หกเลย เวลาทำท่าผงกเห็นจะต้องเรียกว่า ท่ายีราฟผงกหัว


(น. 358) รูป 242 คนไทยในยูนนาน
Thai community in Yunan.


(น. 359) รูป 243 คนไทยในยูนนาน
Thai community in Yunan.

(น. 359) กลับโรงแรมรับประทานอาหารกลางวัน คณะกระทรวงเกษตรและคณะขององคมนตรีพิจิตรซึ่งพอดีมาทัศนศึกษาที่มณฑลยูนนานมาร่วมรับประทานด้วย ตอนบ่ายพบกับนักธุรกิจและนักเรียนไทยในคุนหมิง แล้วไปสนามบินเพื่อเดินทางกลับกรุงเทพฯ

แกะรอยโสม
แกะรอยโสม หน้า 98

(น.98) ที่จริงแล้วมีอีกหลายโครงการแต่จวนหมดเวลาเลยให้มาดูวีดีโอ ไม่นานก็ถึงเวลาอาหาร สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์แห่งชาติจีนเลี้ยงให้ มีศาสตราจารย์หลี่ รองผู้อำนวยการเป็นเจ้าภาพ ศาสตราจารย์หลี่เป็นผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับการผสมพันธุ์ข้าวสาลี ข้าพเจ้าถามว่ามีหลักในการคัดเลือกพันธุ์อย่างไร ท่านอธิบายว่าจะต้องให้ได้พันธุ์ที่มีผลผลิตสูง ทนต่อศัตรูพืช มีคุณภาพ ถ้าเป็นประเทศอย่างสหรัฐ เขาจะให้คุณภาพเป็นข้อสำคัญที่สุด แถบยูนนานในตอนแรกไม่ปลูก ปลูกก็ไม่ได้ผลดีนัก ต้องซื้อพันธุ์จากเม็กซิโกจึงได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น คุยเรื่องโน้นเรื่องนี้กันไปมาใช้ทั้งภาษาไทย จีน อังกฤษ มาจบลงที่ใครคนหนึ่งถามข้าพเจ้าว่าชอบไผ่ของเจิ้งป่านเฉียวไหม เขาวาดภาพหลายภาพ ที่มีชื่อเสียงมีอยู่ 8 ภาพ ในจำนวนนั้นมีภาพหนึ่งประกอบด้วยตัวอักษรสี่ตัวว่า หนาน เต๋อ หู ฝู เราแปลกันยังไม่ได้ความ เพราะเป็นคำที่กินความลึกซึ้งมาก

Next >>