Please wait...

<< Back

ยูนนาน

ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 43-44

(น.43)ที่พิพิธภัณฑ์มีผู้อำนวยการชื่อนายจางไคหยวนคอยรับ พาไปที่โต๊ะหุ่นจำลองรูปมณฑลยูนนานและเขตต้าหลี่ มีเจ้าหน้าที่อธิบายว่า


(น.44) รูป 43 เครื่องมือหินที่พบในจังหวัดต้าหลี่

(น.44) ต้าหลี่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑล มีเนื้อที่ 28,356 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 3,001,770 คน มีคนกลุ่มน้อย 13 ชนชาติ เป็นชาติไป๋ประมาณ 33.17 % ผังของต้าหลี่ที่เห็นอยู่นี้มาตราส่วน 1:18,500 มี 13 อำเภอ มีวัฒนธรรมอันยาวนาน มีชื่อเสียงในประเทศจีน มีทิวทัศน์ที่งดงาม มีสถานที่ท่องเที่ยวมาก ที่สำคัญได้แก่ ทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ เขาชางซาน และยังมีอีกหลายเขา เช่น สือเป่าซาน ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยว มีถ้ำที่แปลก สวยงาม จีซูซานเป็นแหล่งโบราณสถานทางพุทธศาสนา เว่ยเป่าซานเป็นโบราณสถานทางศาสนาพุทธและเต๋า ซื่อปี๋หูมีน้ำพุและทะเลสาบ เป็นแหล่งท่องเที่ยว

ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 110-111,119,123,126,131

(น.110) ไปถึงที่โรงงานผลิตยานครคุนหมิง เมื่อเข้าไปแล้วไปที่ห้องพักใส่เสื้อคลุมสีขาว ใส่หมวก มีถุงหุ้มรองเท้า แล้วไปที่ห้องประชุมเล็กๆ นายหลี่หนานเกา ผู้อำนวยการ กล่าวต้อนรับ และบรรยายสรุปเกี่ยวกับความเป็นมาของโรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการผลิตยารักษาโรคไข้มาลาเรีย สรุปความได้ว่าโรงงานแห่งนี้เป็นวิสาหกิจผลิตยาหลายชนิดใหญ่ที่สุดในมณฑลยูนนาน ได้รับสิทธิในการประกอบการนำเข้าและ


(น.111) รูป 120 โรงงานผลิตยาคุนหมิง ผลิตยาหลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาแก้มาลาเรีย

(น.111) ส่งออกได้ โรงงานมีพื้นที่ 170,000 ตารางเมตร ส่วนที่เป็นพื้นที่ก่อสร้าง 100,000 ตารางเมตร ปัจจุบันมีคนงาน 1,580 คน โรงงานผลิต 11 โรง มีห้องวิจัยทางเภสัชกรรม เครื่องมือทางการแพทย์ และสำนักงานบริหาร ผลิตทั้งยาฉีด ยาน้ำ ยาผง ยาเม็ด แคปซูล และยาเป่า ตลอดจนยาสมุนไพร ยาผสม ยาปฏิชีวนะ ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการประกอบยาด้วย มีผลิตภัณฑ์มากกว่า 200 ชนิด โรงงานได้ใช้ประโยชน์จากการที่มณฑลยูนนานได้ชื่อว่า “เมืองราชาแห่งสมุนไพร” ได้พัฒนายาชนิดใหม่จากธรรมชาติที่มีลักษณะพิเศษ เช่น ชิงเฮาซู่ เฮาเจี่ยหมี ตำรับปรับปรุงใหม่ เจ้าเหรินสูตรสามเจ็ด เทียนหมาซู่ (Gastrodini) และเฉ่าอูเจี่ยซู่ เป็นต้น อันเป็นประโยชน์ต่อวงการเภสัชกรรมและการอนามัย

(น.119) หนังสือภาพชนชาติส่วนน้อยในมณฑลยูนนานสมัยราชวงศ์ชิงปีที่ 18 ในรัชกาลกวางสู เขาอวดว่าไม่มีที่อื่นอีก มีภาพสีสวยงามมาก แต่ที่ยากก็คือในสมัยต่างๆ นั้นชื่อชนชาติก็เรียกไม่เหมือนกับในปัจจุบัน เช่นพวกจ้วง เรียกว่า พวกหลงเหริน พวกอาข่า เรียกว่า ซานซู ส่วนพวกไป๋และพวกอี๋ เรียกว่า หลอหลอ ทำให้นึกถึงอาณาจักรต้าหลี่น่านเจ้าโบราณ เห็นจะเป็นพวกหลอหลอ แต่ไม่ชัดเจนว่าเป็นไป๋หรือเป็นอี๋หนังสือเล่มนี้ยังมีภาพชนกลุ่มน้อยอีกหลายเผ่า มานึกได้อยู่อย่างหนึ่งว่าสมัยนี้เราศึกษาเรื่องชนเผ่าต่างๆ เพราะเราสนใจวิชาการด้านมานุษยวิทยา หรือเพื่อการพัฒนาประเทศ แต่ข้าพเจ้าคิดว่าพวกที่แต่งหนังสือเช่นนี้ในสมัยก่อนทำไว้เพื่อประโยชน์ในการปกครอง มองออกนอกหน้าต่างห้องสมุด อธิการบดีชี้ให้ดูตึกบริหาร เป็นตึกเก่าแก่หลังคาสีเหลือง ตึกเรียนการศึกษาต่อเนื่อง ตึกเคมี

(น.123) ตอนเข้าตัวเมืองเห็นได้ว่าเป็นเมืองที่กำลังมีความเปลี่ยนแปลงสูง มีการก่อสร้าง ถนนสองข้างปลูกปาล์มน้ำมัน (ที่นี่ไม่ได้ทำประโยชน์อะไรเพียงแต่สำหรับประดับถนน) ถนนที่เราแล่นผ่านเป็นสายหลัก เราพักที่ Crown Hotel ซึ่งเป็นโรงแรมใหม่เพิ่งเปิดเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี่เอง โดยบริษัทบุหรี่ของมณฑลยูนนานเป็นผู้ลงทุน ขณะนี้มีคนมาจากมณฑลอื่นๆ มาลงทุนหลายบริษัท พนักงานของโรงแรมนี้หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใสคล่องแคล่วดี เวลาเดินผ่านจะพูด Good Morning, Good afternoon (ตามโอกาส) และโค้งแบบญี่ปุ่น พักผ่อนที่โรงแรมครู่หนึ่งแล้วไปสวนพฤกษศาสตร์สมุนไพรสิบสองปันนา ขึ้นกับกรรมาธิการวิทยาศาสตร์การแพทย์ของจีน นายเฉินซินหรง รองผู้อำนวยการศูนย์บรรยายความเป็นมาของศูนย์ว่าสร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1983 สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์สมุนไพรแห่งจีน มีหน้าที่วิจัยพรรณไม้แถบร้อนและอบอุ่น วิจัยสมุนไพรที่คนกลุ่ม


(น.126) รูป 135 เที่ยวชมในสวน

(น.126) ออกไปข้างนอกกลางสนามมีต้น “เลือดมังกร” หรือจันทน์ผา ที่สวนนี้มีจันทน์ผาอีกชนิดหนึ่งมาจากโซมาเลีย (Dracaena draco) จีนมีเพียง 2 ต้นเท่านั้น อีกต้นอยู่ที่เมืองอู่ซี (ในมณฑลยูนนาน) เดินเข้าสวนสมุนไพร มีต้นปรง (ใช้ราก) แก้ร้อนใน แก้อักเสบในกระเพาะ

(น.131)
8. รำนกยูงคำ นกยูงเป็นเครื่องหมายของสิบสองปันนา (ดอกชาเป็นเครื่องหมายของมณฑลยูนนาน)
9. ฟ้อนเล็บ
10. รำตกน้ำหาปลา (รำจับปลา) ชาย-หญิง รำ ชาย 5 – หญิง 5 เหมือนกับเซิ้งสวิงที่อีสาน ได้ความว่าตอนนำคณะมาแสดงที่เมืองไทยได้ไปเรียนรำชุดนี้
11. รำปู้หลาง เป็นชนกลุ่มน้อยกลุ่มหนึ่ง เป็นระบำที่เล่นในวันสงกรานต์
12. รำสนุกไปตลาด ของพวกไทย มีผู้หญิงรำ 8 คน
13. ร้องเพลง “สิบสองปันนาบ้านของฉัน” ผู้หญิงร้อง
14. รำรื่นเริงสงกรานต์ เป็นระบำชุดที่ยาวพอสมควร ชายหญิงรำ ตอนท้ายมีการโยนลูกช่วงและพรมน้ำ

ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 162,168

(น.162) มณฑลยูนนานมีสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศที่พิเศษกว่าที่อื่น มีสภาพที่ทำให้มีทรัพยากรพืชจำนวนมากกว่า 15,000 ชนิด ประมาณครึ่งหนึ่งของพืชพรรณที่มีอยู่ทั่วประเทศ ฉะนั้นเรียกได้ว่าเป็นอาณาจักรแห่งพฤกษศาสตร์ มีชนชาติส่วนน้อยมากกว่า 20 ชนชาติ การพัฒนามณฑลต้องถือเรื่องพืชพรรณและป่าไม้เป็นสำคัญ ทั้งต้องค้นคว้าสภาพภูมิประเทศทุกแง่ให้ดีด้วย 50 กว่าปีที่ผ่านมานี้นักพฤกษศาสตร์ของสถาบันประสบความสำเร็จในการค้นพบพืชพรรณพันธุ์ใหม่พันกว่าชนิด ได้วิจัยค้นหาสารเคมีหลายอย่าง สถาบันเก็บพันธุ์ไม้ไว้ได้กว่าล้านตัวอย่าง ทั้งในหอพรรณไม้

(น.168) ไปที่สวนสมุนไพร (นั่งรถไป) ผู้อำนวยการสวนชื่อ Professor Liu Xian Zhang ต้อนรับ สวนสมุนไพรแห่งนี้มีจุดมุ่งหมายในการรวบรวมพืชต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพืชที่หายาก เอาไว้ไม่ให้สูญพันธุ์ไปและค้นคว้าเกี่ยวกับพืชเหล่านั้น การจัดพืชเป็นกลุ่มเป็นระเบียบ และตกแต่งให้สวยงามด้วย มีกล้วยป่าชนิดหนึ่งมีมากในแถบยูนนาน เรียกว่า Musella lasiocarpa แต่ไม่พบในประเทศไทย จึงขอหน่อเขามา Musella lasiocarpa อยู่ในวงศ์ Musaceae คือ “กล้วยดารารัศมี” เป็นพรรณไม้เฉพาะถิ่น (endemic species) ของมณฑลยูนนานบนพื้นที่ราบสูงประมาณ 1,950 เมตร ชอบดินร่วนปนอินทรีย์วัตถุระบายน้ำได้ดี ชอบอากาศหนาวเย็น ลำต้นสูงประมาณ 1 เมตร เมื่อเจริญเต็มที่แล้วออกปลีสีเหลืองที่ยอก กาบปลีบานแผ่ออกเป็นรัศมี ต่อจากนั้นหน่อใหม่ข้างลำต้นเดิมจะเจริญขึ้นมา พืชที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่งคือพืชฆ่าแมลง ของเขาเก็บสะสมไว้หลายชนิด ข้าพเจ้าซักถามเขา เขาบอกว่ามีเอกสารเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นพิเศษจะหาให้ ชนิดที่เขาชี้ให้ดูคือ Euonymus acanthocarpus อยู่หน้า 106 ของหนังสือ List of Cultivated Plants in Kumming Botanical

ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 203,205

(น.203)มณฑลยูนนานมีชนเผ่ามาก แต่ละเผ่าก็มีนิทานของตนเอง นิทานบางเรื่องอธิบายประวัติของชื่อทางภูมิศาสตร์ (ชื่อหมู่บ้าน ชื่อภูเขา แม่น้ำ เป็นต้น) มีคนรวบรวมเรื่องพื้นบ้านเรียกว่าชื่อท้องถิ่นในยูนนาน สำหรับนิทานกวนอิมทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ซึ่งข้าพเจ้าฟังไม่รู้เรื่องในวันนั้น มาดามเฉินมาเล่าใหม่ว่ามีมังกรดุร้ายอาละวาดทำให้เกิดน้ำท่วม กวนอิมแปลงเป็นคนแก่ เอาตราทองคำโยนลงไปในทะเลสาบทับหัวมังกรเอาไว้แถบนั้นจึงสงบ ใกล้หมู่บ้านชนชาตินี้มีสถานที่ฝึกนักกีฬาของจีน อากาศแถวนี้ดีนักกีฬาที่มาเก็บตัวได้สูดอากาศบริสุทธิ์ นักกีฬามีทั้งนักฟุตบอล ว่ายน้ำ กรีฑา วิ่งทางไกล จักรยาน กลับโรงแรม รองผู้ว่าฯ เป็นเจ้าภาพ มีรองนายกเทศมนตรี (เป็นผู้หญิง) มาร่วมรับประทานด้วย นายกเทศมนตรีและผู้ว่าราชการไปประชุมที่ปักกิ่ง อาหารมื้อนี้มีเยอะแยะตามเคย อร่อยๆ ทั้งนั้น ตั้ง 10 อย่างที่สำคัญที่สุดคือบะหมี่ข้ามสะพาน ตอนก่อนมาท่านผู้หญิงนวลผ่องแนะนำว่ามาถึงเมืองคุนหมิงแล้วต้องกินก๋วยเตี๋ยวข้ามสะพาน ตำนานเล่าประกอบอาหารนี้มาจากภาคใต้ของยูนนาน มีอำเภอ 2 อำเภอคืออำเภอเหมิงซื่อและอำเภอเจี้ยนสุ่ย ซึ่งเถียงกันอยู่ว่าใครเป็นเจ้าของเรื่องเถียงกันจนถึงระดับมณฑล มณฑลตัดสินว่าเกิดทั้ง 2 อำเภอ

(น.205) ท่านรองผู้ว่าฯ บอกว่าเพิ่งไปกรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้ตอนงาน BOI ชิมอาหารไทยตามภัตตาคารรู้สึกว่าอร่อยกว่าตามโรงแรมหรือภัตตาคาร อาหารไทยที่ปักกิ่งหรือฮาร์บิน เขาคิดว่าอาหารไทยมีคุณสมบัติ 3 ประการ
1. รสชาติไทย
2. ปริมาณแบบตะวันตก คือมี 4 อย่างไม่มากเกินไป
3. กินแบบจีน ใช้ตะเกียบคีบได้ มีเรื่องที่ท่านรองผู้ว่าฯ ใฝ่ฝันอีกเรื่องหนึ่งคืออยากให้จังหวัดเชียงใหม่กับมณฑลยูนนานเป็นเมืองพี่เมืองน้องกัน รอกันมาหลายปีแล้ว ท่านทูตว่าเรื่องนี้ต้องติดต่อมหาดไทย

ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 211,214,228,231-235,238,241

(น.211) เขตการปกครองด้วย ในสมัยราชวงศ์ถังได้จัดเขตการปกครอง “เต้า” ขึ้นเป็นเขตการปกครองสูงสุดระดับมณฑล ในตอนแรกมี 10 เต้า ต่อมาเพิ่มเป็น 15 เต้า ในสมัยราชวงศ์ซ่งได้เปลี่ยนชื่อเขตการปกครองระดับมณฑลมาเป็น “ลู่” (路) มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ขอบเขตและการรวมอำนาจเข้าส่วนกลาง แต่แนวคิดก็ยังเป็นเขตการปกครองระดับมณฑลอยู่ ในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงได้จัดตั้งเขตการปกครอง “เต้า” ขึ้นอีก แต่มิได้อยู่ในฐานะของมณฑล หากมีฐานะกลางๆ ระหว่าง “มณฑล” และ “เมือง” ทำหน้าที่ตรวจตราราชการของเมืองในฐานะตัวแทนของมณฑล เช่น ในสมัยราชวงศ์ชิงที่มณฑลยูนนานได้จัดตั้ง “ผู่เอ๋อเต้า” ขึ้นที่ด้านเหนือของเชียงรุ่ง เพื่อกำกับดูแลสิบสองปันนาและหัวเมืองใกล้เคียง
1.5 ฝู่ (府) ความหมายเดิมของคำว่า “ฝู่” หมายถึง ทำเนียบ คฤหาสน์ของขุนนางผู้ใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้ในความหมายถึงเขตการปกครองด้วย ในสมัยราชวงศ์ถังได้จัดตั้งเขตการปกครอง “ฝู่” ขึ้น หมายถึง เมืองที่มีขนาดใหญ่และมีความสำคัญ ส่วนเมืองที่ขนาดรองลงมาเรียกว่า “โจว” การแบ่งเมืองออกเป็นระดับต่างๆ นั้นไทยเราก็แบ่งเช่นกันเป็นเมืองเอก เมืองโท เมืองตรี เมืองจัตวา เมืองเอก เมืองโท เมืองตรีนั้นยังมีเมืองเล็กๆ เป็นเมืองบริวารมาขึ้นอยู่ด้วย ดังนั้น คำว่า “เมือง” ในความรับรู้ของคนไทยจึงสื่อความหมายถึง หน่วยการปกครองเหนือระดับหมู่บ้านขึ้นมาจนถึงประเทศ มีระดับของความเป็นเมืองต่างกัน และตรงกับคำภาษาอังกฤษหลายคำตั้งแต่ town, city จนถึง nation state เช่น เมืองบางละมุง เมืองมโนรมย์ (town) เมืองพิษณุโลก เมืองนครศรีธรรมราช (city) เมืองไทย เมืองจีน เมืองอังกฤษ (nation state)

(น.214) อาณาบริเวณที่พัฒนาขึ้นมาใหม่ซึ่งส่วนใหญ่อยู่แถบชายแดน เช่น อำเภอหลานชางในมณฑลยูนนานที่มีชนชาติมูเซอร์อยู่มาก ได้ตั้งขึ้นเป็น “เจิ้นเปียนทิง” (镇边厅)แปลตามศัพท์ว่า “ปราบชายแดน” ทิงมี 2 ประเภท ประเภทแรกมีฐานะระดับฝู่หรือโจว ขึ้นกับเสิ่ง ส่วนอีกประเภทหนึ่งมีฐานะระดับเสี้ยน ขึ้นอยู่กับฝู่หรือโจว

(น.228) ระเบียบเขตการปกครองของจีนได้ คำว่า “ซื่อ” ซึ่งแปลว่า “เมือง” นั้นความหมายดั้งเดิมหมายถึง “ตลาด” ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติตลาดย่อมเป็นที่ชุมนุมของผู้คน การค้า และกิจกรรมอื่นๆ อีกหลายอย่าง จากนั้นบริเวณที่เป็นตลาดก็จะขยายใหญ่พัฒนาต่อมาเป็นเมือง คำว่า “ซื่อ” ในเวลาต่อมาจึงมีความหมายเพิ่มเติมว่า “เมือง” ด้วยปัจจุบันเมื่อเอ่ยคำว่า “ซื่อ” ในภาษาจีนจะสื่อความหมายว่า “เมือง” ส่วนคำว่า “ตลาด” นั้นใช้ว่า “ซื่อฉ่าง” นอกจากนั้นคำว่า ตี้ชีว์ จื้อจื้อโจว รวมทั้งเสิ่งเสียซื่อและจื้อจื้อชีว์เสียซื่อ ซึ่งเป็นเขตการปกครองที่อยู่ในระดับเดียวกันนั้น มักเรียกรวมๆ กันว่า ตี้โจวซื่อ เช่น ในมณฑลหยุนหนาน (ยูนนาน) มี 7 ตี้ชีว์ 8 จื้อจื้อโจว และ 2 เสิ่งเสียซื่อ ก็มักจะพูดรวมๆ กันว่า มณฑลยูนนานมี 17 ตี้โจวซื่อ ส่วนเขตการปกครองระดับ “เสี้ยน” “จื้อจื้อเสี้ยน” รวมทั้งตี้ชีว์เสียซื่อและจื้อจื้อโจวเสียซื่อ ก็มักเรียกรวมๆ กันว่า “เสี้ยนซื่อ” เช่น จะพูดว่ามณฑลยูนนานมี 128 เสี้ยนซื่อ ซึ่งรวมเขตการปกครองในระดับเดียวกันนี้ทั้ง 3 รูปแบบเข้าด้วยกัน จะเห็นได้ว่า การแปลคำศัพท์เกี่ยวกับเขตการปกครองของประเทศต่างๆ นั้นเป็นเรื่องที่มีข้อพึงพิจารณาอยู่หลายประการ ข้อเขียนในภาคผนวกนี้เป็นเพียงข้อเสนอแนะที่ใคร่ขอให้ผู้ศึกษาค้นคว้าทางด้านจีนวิทยาได้ช่วยกันพิจารณาต่อไป เพื่อให้การใช้คำเกี่ยวกับเขตการปกครองของประเทศจีนในภาษาไทยมีความลงตัวกันดี ไม่ลักลั่นจนสื่อความหมายคลาดเคลื่อน

(น.231) ภาคผนวก ภูมิศาสตร์และพฤกษศาสตร์มณฑลยูนนาน
ภูมิประเทศ
- เนื้อที่ 383,000 ตารางกิโลเมตร ประมาณ 1 ใน 25 ส่วนของพื้นที่สาธารณรัฐประชาชนจีน หรือประมาณ 1 ใน 4 ส่วนของพื้นที่ประเทศไทย
- ระหว่างเส้นรุ้ง 21° 9´ - 29° 15´ เหนือ เส้นแวง 97° 39´-106° 12´ ตะวันออก
- ระยะทางจากทิศเหนือจรดใต้ 990 กิโลเมตร ทิศตะวันออกจรดตะวันตก 865 กิโลเมตร
- พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา 84% พื้นที่ราบสูง (plateau) ภาคกลางและภาคตะวันออก (1,800-2,000 เมตร) 10% พื้นที่ราบในหุบเขา (mountain basin) 6% และพื้นที่ราบฝั่งแม่น้ำระหว่างหุบเขา (river basin)
- ข่าเก๋อโป๋เฟิงเป็นยอดเขาสูงสุด (6,740 เมตร) บนเทือกเขาเหมยหลี่เสวี่ยซาน ทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑลยูนนานพื้นที่ต่ำสุด 76 เมตร บริเวณแม่น้ำหงเหอ และแม่น้ำหนานซี บรรจบกันทางภาคใต้ของมณฑล
- เทือกเขาขนาดใหญ่วางตัวตามแนวทิศเหนือ-ใต้ พื้นที่สูงเริ่มจากทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ลาดลงสู่ทิศตะวันออกเฉียงใต้ ทิศใต้ และทิศตะวันตกเฉียงใต้ ระหว่างเทือกเขาใหญ่มีระยะห่างกันไม่มากนัก ทำให้เกิดหุบเขาที่ลาดชันสูงและลึกมาก มีแม่น้ำสายใหญ่ 3 สายขนานกัน

(น.232)ไหลจากทิศเหนือลงใต้ ได้แก่ แม่น้ำจินซาเจียง (Jinshajiang), แม่น้ำโขง (หลานชางเจียง-Lancangjiang) และแม่น้ำสาละวิน (นู่เจียง-Nujiang) หุบเขาขนาดใหญ่หลายแห่งมีสภาพลาดชันจากฝั่งแม่น้ำขึ้นไปตามแนวดิ่งสูงกว่า 3,000 เมตร ความลาดชันจากยอดสูงสุด คือ ข่าเก๋อโป๋เฟิงลงสู่ฝั่งแม่น้ำโขง มีความแตกต่างของระดับความสูงจากน้ำทะเลปานกลางถึง 4,700 เมตร ภูมิประเทศทางภาคตะวันตกของมณฑลยูนนานจึงได้ชื่อว่าเป็นพื้นที่แห่งหุบเขาใหญ่ (gorge area)
- มณฑลยูนนานเป็นแหล่งทรัพยากรน้ำอันมหาศาล มีแม่น้ำใหญ่-น้อย และสาขาเกือบ 1,000 สาย บรรจบกันเป็นแม่น้ำสายใหญ่ของเอเชีย 6 สาย ได้แก่ แม่น้ำหนานผานเจียง ซึ่งเป็นต้นน้ำของแม่น้ำจูเจียงหรือแม่น้ำเพิร์ลในมณฑลกวางตุ้ง แม่น้ำหนานผานเจียงเมื่อไหลเข้ามณฑลกวางสีเรียกกันว่า แม่น้ำหงสุ่ยเหอ นอกจากนั้นมีแม่น้ำแดง (หยวนเจียง) แม่น้ำแยงซี (จินซาเจียง) แม่น้ำโขง (หลานชางเจียง) แม่น้ำสาละวิน (นู่เจียง) และแม่น้ำอิระวดี (ยุ่ยลี่เจียง) แม่น้ำเหล่านี้ให้น้ำถึงปีละ 200,000 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้ยังมีทะเลสาบขนาดใหญ่บนที่ราบสูงได้แก่ ทะเลสาบเทียนฉือ เอ๋อร์ไห่ และหลูกูหู
ภูมิอากาศ
- มณฑลยูนนานได้รับอิทธิพลของลมมรสุมทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดีย ลมมรสุมทางทิศตะวันออกเฉียงใต้จากทะเลจีนใต้และมวลอากาศ (air mass) จากที่ราบสูงทิเบต ฤดูฝนระหว่างเดือนเมษายน - ตุลาคม ฝนตกหนักช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน เนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ปริมาณฝนเฉลี่ยรายปีจึงแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละท้องที่ บางแห่งมีปริมาณฝนมากกว่า 1,500 มม./ปี (ชายแดนภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลและชายแดนใต้ของ

(น.233) จังหวัดปกครองตนเองสิบสองปันนา) บนพื้นที่ราบสูงภาคกลางและภาคตะวันออกของมณฑล ปริมาณน้ำฝนประมาณ 1,000 มม./ปี หรือน้อยกว่า พื้นที่บางแห่งเป็นที่อับฝน ได้แก่ หุบเขาใหญ่ที่ร้อนและแห้งแล้ง (arid area) ปริมาณฝนลดลงเหลือเพียง 500 มม./ปีหรือน้อยกว่า เช่น หุบเขาแม่น้ำหยวนเจียง
- สภาพเทือกเขาสูงและหุบเขาใหญ่ทำให้เกิดภูมิอากาศเฉพาะแห่ง (microclimate) มากมาย บนเทือกเขาขนาดใหญ่จะมีภูมิอากาศแตกต่างกันมาก ตั้งแต่ที่เชิงเขาจนถึงยอดสูงสุด จากแบบ tropic, subtropic, warm-temperate, temperate, cold จนถึงแนวเขตที่มีหิมะปกคลุม (snow-line)
สังคมพืชป่าไม้และพรรณพฤกษชาติ
- ความแตกต่างของสภาพพื้นที่และภูมิอากาศของมณฑลยูนนานก่อให้เกิดความหลากหลายของสังคมพืชและพรรณพฤกษชาติ
- สังคมพืช ได้แก่
Tropical rain forest (ป่าดิบชื้น)
Monsoon rain forest หรือ Seasonal rain forest (ป่าดิบแล้ง)
Subtropical evergreen broad-leaf forest (ป่าดิบเขา หรือ Montane forest)
Alpine needle-leaf forest (ป่าสนเขา)
Alpine scrub (ป่าละเมาะเขา)
Alpine meadow (ทุ่งหญ้าภูเขา)
- พรรณพฤกษชาติที่มีท่อลำเลียงน้ำ-อาหาร (vascular plants) ของมณฑลยูนนานมีประมาณ 15,000 ชนิด หรือประมาณครึ่งหนึ่งของ

(น.234) พรรณพฤกษชาติทั้งหมดของสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อเปรียบเทียบเนื้อที่ของมณฑลซึ่งมีเพียง 1 ใน 25 ส่วนของพื้นที่ทั้งประเทศ มณฑลยูนนานจึงเป็นพื้นที่ที่มีความหลากหลายของพรรณพฤกษชาติสูงมาก โดยเฉพาะจังหวัดปกครองตนเองสิบสองปันนา ซึ่งมีพื้นที่เพียง 19,200 ตารางกิโลเมตร แต่มีพรรณพฤกษชาติชั้นสูงประมาณ 5,000 ชนิด (พรรณพฤกษชาติของประเทศไทยมีประมาณ 10,000-11,000 ชนิด)

(น.235) พิพิธภัณฑ์มณฑลยูนนานและพิพิธภัณฑ์สถาบันชนชาติมณฑลยูนนาน นครคุนหมิง
- ห้องแสดงเครื่องใช้ไม้สอยของชนเผ่า มีตัวอย่างพืช (พรรณไม้แห้ง) ที่ชนเผ่านำมาใช้ประโยชน์ และที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรม
- พืชที่ให้สีย้อมผ้า เช่น
Rubia cordifolia (Rubiaceae) พืชล้มลุก ให้สีแดง ไทยเรียก “จิตรลดา” พบบนภูเขาทางภาคเหนือ แต่ไม่ได้นำมาใช้ประโยชน์
Juglans regia (Juglandaceae) ไม้ต้นเนื้อแข็ง พวกเดียวกับไม้ walnut หรือมันฮ่อ ไม่พบในไทย เปลือกให้สีน้ำตาล
Dalbergia hupeana (Leguminosae) ไม้ต้นสกุลเดียวกับพะยูง ชิงชัน แต่ชนิดนี้ไม่พบในไทย เปลือกให้สีเหลืองเข้ม
Coptis chinensis (Ranunculaceae) พืชล้มลุก ให้สีเหลืองชอบอากาศหนาวเย็นบนภูเขาสูง ไม่พบในไทย
Baphicanthus cusia (Acanthaceae) พืชล้มลุกให้สีน้ำเงินเข้ม ไทยเรียก “ฮ่อม” ใช้ย้อมเสื้อม่อฮ่อมทางภาคเหนือ
- พืชที่ใช้สื่อความหมาย ชนบางเผ่าในมณฑลยูนนานใช้พืชชนิดใดชนิดหนึ่งเป็นส่วนใหญ่ มีบางที่ใช้ปนกับพืชชนิดอื่นหรือวัสดุอื่นๆ ในการสื่อความหมายต่างๆ พืชหลายชนิดพบในไทย แต่ไม่ปรากฏรายงานว่าชนเผ่าใดในไทยนำมาใช้สื่อความหมาย เช่น
หญ้าคา (Imperata cylindrica)
หญ้าไม้กวาด (Thysanolaena maxima)
ราชาวดีป่า (Buddleja asiatica)
เฉียงพร้านางแอ (Carallia brachiata)

(น.238) ดอก Rhododendrons และ Azaleas ของวงศ์กุหลาบพันปี (Ericaceae) นอกจากนี้มีสวนสมุนไพร สวนรวมพันธุ์ไม้ดอกไม้ประดับของมณฑลยูนนาน
เส้นทางคุนหมิง-ฉู่ฉยง-ต้าหลี่
- ถนนสองข้างทางส่วนใหญ่มีต้นยูคาลิปตัสหลายชนิด (Eucalyptus spp.) ปลูกเรียงแถวถี่ 1-2 แถว โคนต้นทาสีขาวทุกต้นเป็นที่สังเกตได้ง่ายแก่ผู้ขับขี่ยวดยานตอนกลางคืน ไม้โตเร็วชนิดอื่นที่ปลูกแทรก เช่น Silky oak (Grevillea robusta) Alnus nepaulensis ไม้จำพวก conifers บางชนิด ทางการอนุญาตให้ชาวบ้านละแวกใกล้เคียงรานกิ่งไปทำเชื้อเพลิงได้ แต่ไม่ให้โค่นต้น ต้นไม้ริมทางหลวงจึงมีทรงชะลูด
- บริเวณภูเขาหัวโล้นจากการแผ้วถางป่ามานานหลายศตวรรษปกคลุมด้วยสนสามใบ ยูนนาน Pinus yunnanensis ซึ่งคล้ายคลึงกับสนสามใบ Pinus kesiya ของไทย ลำต้นของสนส่วนใหญ่แคระแกร็นเนื่องจากผิวหน้าดินถูกกัดชะ ป่าสนเหล่านี้ปลูกโดยอาศัยแรงงานบางพื้นที่ที่ห่างไกลอาศัยการโปรยเมล็ดจากเครื่องบิน (aerial seeding) สนสามใบยูนนานขึ้นยึดพื้นที่เสื่อมโทรมได้ดีมาก สามารถแพร่พันธุ์ต่อไปได้ตามธรรมชาติ ตามหุบเขาและร่องน้ำที่ชุ่มชื้นจะพบต้นไม้ใบกว้างจำพวก oaks & chestnuts หรือไม้ก่อ (Fagaceae) camellias หรือชา (Theaceae) อบเชย (Lauraceae) ฯลฯ ขึ้นแทรกทั่วไปคล้ายป่าก่อสนเขา (lower montane osk-pine forest) ทางภาคเหนือของไทย
- พื้นที่ภูเขาใกล้หมู่บ้านมักจะปกคลุมด้วยป่ายูคาลิปตัส ซึ่งปลูกไว้เป็นเชื้อเพลิงหุงต้มและให้ความอบอุ่น และนำใบมาสกัดเป็นน้ำมันยูคาลิปตัส

(น.241)ปัจจุบันเกือบจะไม่ปรากฏนักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญที่สามารถจำแนกบอกชื่อวงศ์ สกุล ชนิด ของพืชในท้องที่หรือในป่าได้อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในมณฑลยูนนาน สาเหตุเนื่องจากในปัจจุบันเป็นช่วงสมัยของนักพฤกษศาสตร์หนุ่มสาวถึงวัยกลางคนที่มีความรู้เชี่ยวชาญพืชเฉพาะกลุ่มปฏิบัติงาน ส่วนใหญ่อยู่ในห้องปฏิบัติงาน ส่วนใหญ่อยู่ในห้องปฏิบัติการ แต่ขาดประสบการณ์ในการสำรวจและจำแนกพรรณพฤกษชาติในป่า

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 2,7,8

(น.2) วันจันทร์ที่ 13 สิงหาคม 2544
ขึ้นเครื่องการบินไทยไปลงสนามบินคุนหมิง ฝ่ายสถานทูตไทยและสถานกงสุลมารับ ฝ่ายจีน มีทั้งพวกมาจากปักกิ่งและพวกยูนนาน รองผู้อำนวยการวิเทศสัมพันธ์ของมณฑลยูนนาน นั่งไปด้วยถึงโรงแรมคุนหมิง พักผ่อนแล้วโทรศัพท์ถึงซุป (ศุภรัตน์) ที่กรุงเทพฯ และหงเอี้ยนที่ปักกิ่ง

(น.7) งาน Expo ดอกไม้ที่จัดขึ้นใน ค.ศ. 1999 ทำให้ไม้ดอกไม้ประดับของยูนนานดีขึ้น ส่งออกไปต่างประเทศ ยังมีส่วนหนึ่งที่นำเข้า เช่น ดอกกุหลาบนำเข้าจากเวียดนาม สินค้าที่มีชื่อเสียงของยูนนานอีกอย่างคือ ยาสมุนไพร ซึ่งแสดงในงาน Expo ด้วย ในงานนั้นสมุนไพรหลายอย่างนำเข้าจากต่างประเทศ ของยูนนานเองก็มีจำนวนมาก

(น.8) ระหว่างรับประทานอาหารเลี้ยงมีการแสดงรำและร้องเพลงเล่นดนตรี การแสดงของชนเผ่าในยูนนาน เช่น เผ่าไต่ เผ่าเย้า เผ่าว้า เป็นต้น นักร้องที่ร้องเพลงไทยได้ เอาภาพที่ถ่ายเมื่อ ค.ศ. 1980 (ที่เมืองไทย) มาให้เซ็น เมื่อเสร็จงานเลี้ยง เตรียมจะไปสนามบิน เขามาบอกว่าเครื่องบิน delay เลยนั่งรอดื่มน้ำชาไปพลาง

Next >>