Please wait...

<< Back

" คืนถิ่นจีนใหญ่ วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2540 "


(น.72) รูป 67 รูปจำลองเมืองกวางโจว

(น.72)รูปจำลองเมืองกวางโจว เมืองกวางโจว เป็นเมืองอกแตกคือ ส่วนที่สำคัญของเมืองอยู่ทั้งสองฝั่งแม่น้ำ ไทยเราถือว่าไม่ดีทางยุทธศาสตร์ เมื่อเกิดศึกสงครามจะรักษาเมืองได้ยาก แต่จีนดูจะไม่กลัวในเรื่องนี้ รูปจำลองเมืองนี้มีแป้นกดไฟฟ้าแสดงตำแหน่งของอาคารสถานที่ต่างๆ มีส่วนที่ยังสร้างไม่เสร็จ เป็นเพียงแผนที่จะสร้างในอนาคต ขึ้นไปดูที่ชั้น 2 แสดงประวัติศาสตร์สมัยฮั่นถึงสมัยหยวน ตั้งแต่สมัยฮั่น กวางโจวเป็นเมืองท่าที่ส่งเรือออกไปติดต่อเกาะไหหลำ เกาะพาราเซลส์ (จีนเรียกซีชา) และทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเครื่องปั้นดินเผาสมัยราชวงศ์ฮั่น ทั้งที่เป็นภาชนะถ้วยชาม และของอื่นๆ เช่น มีรูปบ้านจำลองยกพื้นสูง ดูลักษณะเหมือนบ้านไทยมากกว่าบ้านจีน คอกสัตว์ มีวัว ไก่ ม้า ยุ้งข้าวทรงกลม แผนที่แสดงเส้นทางแพรไหมทางทะเล (ที่จริงสินค้าสำคัญของเส้นทางนี้เป็นเครื่องถ้วยจีนมากกว่าไหม) เขาทำให้เห็นว่าการค้าขายทางทะเลนั้น ในยุคไหนคนจีนเดินทางไปทางไหน และคนต่างชาติยุคไหนเดินทางมาจีน และเดินทางโดยใช้เส้นทางใด สมัย

(น.73) ราชวงศ์ถังการค้าขายทางทะเลสำคัญยิ่งขึ้น และเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยซ้อง จากแผนที่จะเห็นได้ว่าสมัยนั้นทางตะวันตกสุดที่คนจีนเดินทางถึงคือที่ลังกา ส่วนชาวตะวันตกก็มาได้ถึงลังกาเช่นเดียวกัน ตารางแสดงสินค้าออกสินค้าเข้าในสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง


(น.73) รูป 68 ประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ฮั่น แสดงเครื่องปั้นดินเผาสมันฮั่น เช่น รูปบ้าน


รูป 69 แผนที่แสดงเส้นทางแพรไหมทางทะเลสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง


(น.74) รูป 70 นาฬิกาน้ำ เป็นถังเรียงมา 4 ถัง มีไม้วัด แรงดันน้ำดันไม้วัดขึ้นเป็นการบอกเวลา

(น.74) ศาสนาต่างๆ ที่เข้ามาพร้อมกับการค้า ได้แก่ พุทธ อิสลาม มีจารึกอักษรอาระบิกของคนเกาหลีที่เดินทางมาเยี่ยมหลุมฝังศพผู้เผยแพร่ศาสนาอิสลาม ใน ค.ศ. 1349 สมัยราชวงศ์หยวน ภาพเตาเผาเครื่องเซรามิกซีซุน เป็นของส่งออกในสมัยราชวงศ์ซ่ง ได้พบเครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้ที่ประเทศไทยด้วย นาฬิกาน้ำ แกะสลักเป็นรูปเต่า เป็นถังเรียงมา 4 ชั้น ชั้นล่างมีไม้วัด แรงดันน้ำดันไม้ขึ้นเป็นการบอกเวลา ชั้นที่ 3 แสดงประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง


(น.74) รูป 71 ภาพเขตเช่าของชาวตะวันตก


(น.75) รูป 72 รูปเรือมังกรแกะสลักจากงาช้างเป็นของขวัญวันประสูติพระนางซูสี

(น.75) มีเครื่องประดับหลังคา ปลายของรางน้ำ ทำด้วยกระเบื้องเป็นรูปอ๋าวหยู หรือที่เรียกกันว่าปลามังกร แผนผังการติดต่อค้าขายกับทางตะวันตก ในสมัยราชวงศ์หมิง จีนเปิดเมืองการค้าขายเพียงเมืองกวาง โจวเมืองเดียว มีรูปฝรั่งเขียนถนนสายสำคัญ เช่น ถนนที่มีการปะทะกันระหว่างสงครามฝิ่น รูปสิบสามห้างมีธงชาติต่างๆ ได้แก่ ธงชาติเดนมาร์ก สเปน สหรัฐอเมริกา สวีเดน อังกฤษ ฮอลแลนด์ ชักอยู่ที่เสาหน้าตึกแถว ระบบ


(น.76) รูป 73 ภาพด่านต้นสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 19

(น.76) สิบสามห้างนี้คือระบบการค้าจีนกับประเทศตะวันตก ชาวตะวันตกในยุคก่อนสงครามฝิ่นค้าขายได้เฉพาะกับสิบสามห้างนี้เป็นการควบคุมหรือการค้าผูกขาด ส่วนไทยไม่ได้ผ่านทางระบบนี้ (เราค้าในระบบบรรณาการ) รูปร้านรวงต่างๆ เช่น ร้านขายหมวก ร้านขายใบชา ร้านขายโคมไฟ วัตถุโบราณสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง มีรูปเรือมังกรแกะสลักจากงาช้าง สำหรับถวายเป็นของขวัญวันประสูติพระนางซูสี ภาพเขียนบนกระจก รูปด่านศุลกากร รูปห้างจาร์ดีนส์ แมธีสัน สมัยนั้นขายฝิ่น ไบเบิลภาษาจีนผลไม้และผักจากต่างประเทศ (ปั้นด้วยปูนปลาสเตอร์ ไม่ใช่ของจริง) มีมะละกอ มะม่วง มะระ มันเทศ ถั่วลันเตา

(น.77) จารึก ฉวยจินถิง เป็นจารึกสมัยราชวงศ์หมิง เล่าเรื่องเกี่ยวกับเมืองไทย กล่าวว่านายอำเภอพานหยูเปลี่ยนระบบการค้าเสียใหม่ทำให้ไทยได้รับความสะดวก ขุนนางและพ่อค้าไทยกลับไปกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินไทย (สมัยอยุธยา) พระเจ้าแผ่นดินไทยจึงส่งของขวัญต่างๆ มาพระราชทานนายอำเภอ แต่นายอำเภอไม่รับ คนไทยจึงสร้างหอเพื่อจารึกคุณความดีของนายอำเภอไว้ที่ตงก่วน(ข้าพเจ้าอ่านภาษาจีนไม่ได้คล่องแคล่ว นี่เป็นเรื่องที่ผู้นำชมเล่า) เรื่องคังหยูเหว่ย ที่ปรึกษาของพระเจ้ากวางสูในการปฏิรูปการปกครองร้อยวัน ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ ชั้นที่ 4 แสดงประวัติศาสตร์ราชวงศ์ชิงตอนปลาย และสมัยสาธารณรัฐ


(น.77) รูป 74 ไบเบิลที่เข้าสู่จีนระยะต้น

(น.78) แสดงของต่างๆ ที่สมัยนั้นถือเป็นของสมัยใหม่ แต่ปัจจุบันเราเรียกว่าเป็นของโบราณ เช่น ธนบัตรสมัยต้นๆ เหรียญเงิน จักรเย็บผ้า นาฬิกา เครื่องตอกบัตรบอกเวลามาทำงาน ตู้เย็นแบบโบราณเป็นตู้ไม้ ข้างในคงจะมีโลหะ เวลาจะแช่ต้องใส่ก้อนน้ำแข็งลงไปก่อน ป้ายโปสเตอร์ขายบุหรี่ แผ่นโฆษณาเรื่องการแกะสลักงาช้าง รูปซุนยัดเซ็น และซุนเค่อ ลูกชายคนโตของซุนยัดเซ็น (ค.ศ. 1891-1973) เขาเป็นนายกเทศมนตรีคนแรกของกวางโจว และยังได้รับเลือกอีกหลายสมัย รูปถนนไท่ผิง เครื่องดับเพลิง มีรถลาก เครื่องมือต่างๆ เช่น เครื่องมือออกแบบ (ชุดเขียนแบบ) เครื่องมือที่ใช้ในไปรษณีย์ เครื่องเล่นจานเสียง วิทยุทำในสหรัฐอเมริกา เครื่องมือวิทยาศาสตร์ เครื่องมือแพทย์ส่วนใหญ่เป็นเครื่องมือทางสูตินรีเวช ประวัติของแพทย์หญิงเหลียงอี้เหวิน ซึ่งเรียนทางสูตินรีเวชมาจากสหรัฐอเมริกา ไปเรียนเมื่อ ค.ศ. 1929

Next >>