Please wait...

<< Back

" ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม 2544 "


(น.55) รูป 45 พระอาจารย์จงคาปาขนาบข้างด้วยพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวร (กวนอิม) 11 เศียร (เอกทศมุข)
Zongkaba flanked by two images of Ekadasamukha Avalokitesvara.


(น.56) รูป 46 รูปพระอาจารย์ปันฉานลามะ (ปัญเชนลามะ) องค์ที่ 10 ตั้งบูชาบนแท่นพระพุทธรูปศากยมุนี
Photograph of the 10th Pancen Lama in front of Sakyamuni Buddha.

(น.56) วิหารพระไมเตรยะ เมื่อเราเข้าไปเห็นพระกำลังสวดมนต์ วิหารหลังนี้สร้างใน ค.ศ. 1577 เดิมสร้างเป็นเจดีย์ ข้างในมีรูปพระอวโลกิเตศวร (พระกวนอิม) พระมัญชุศรี (พระเหวินซู) และพระวัชรปาณี (จินกัง) มีเสาไม้เก่าแก่เคยเป็นต้นไม้ที่ขึ้นอยู่ตรงนี้มาก่อน ถือว่าเป็นเสาศักดิ์สิทธิ์ มีรูปพระไมเตรยะ ซึ่งบรรจุเกศาของพระอาจารย์จงคาปา ขอเขาเข้าไปดูโรงพิมพ์โบราณของวัดที่พิมพ์พระไตรปิฎก และคัมภีร์ทิเบตต่างๆ แม่พิมพ์ไม้เก็บไว้อย่างดีในชั้น เป็นของโบราณ (ราชวงศ์หมิง ?) แต่ถ้าแผ่นไหนชำรุดก็ซ่อมแซม ตัวอาคารสร้าง ค.ศ. 1827 ซ่อมแซมใน ค.ศ. 1997 มีห้องแกะสลักแม่พิมพ์ ห้องพิมพ์ เก็บกระดาษที่ล้างแม่พิมพ์ ห้องเย็บเล่ม และเก็บไว้ งานพิมพ์หนังสือเป็นงานละเอียด ต้องตรวจทานอย่างดี งานที่พิมพ์ไม่ได้มีเฉพาะข้อเขียนทางศาสนา ยังมีงานด้านการแพทย์ วรรณคดี ดนตรี ดาราศาสตร์ มีผู้ใช้หนังสือเหล่านี้มากไม่เฉพาะแต่ในมณฑลชิงไห่ พระในทิเบต กานซู่ เสฉวน มองโกเลีย ก็ได้ศึกษาด้วย นับเป็นคุณูปการต่อการศึกษาอย่างยิ่ง โรงพิมพ์นี้ไม่ได้อยู่ในเส้นทางที่กำหนดให้นักท่องเที่ยวเข้าชม แต่ถ้าใครสนใจขอเขาดู เขาก็เปิดให้


(น.56) รูป 47 แม่พิมพ์คัมภีร์ทำด้วยไม้
Wooden block print of the canons.

(น.57) จุดสุดท้ายก่อนจะเดินทางออกจากวัด คือ อาคารปั้นเนย ศิลปะการปั้นเนยถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางศิลปะอย่างหนึ่งของวัดนี้ มีชื่อเสียงทั้งในประเทศจีนและในต่างประเทศ อาคารนี้สร้างใน ค.ศ. 1988 และต้องติดแอร์เพื่อรักษารูปทรงของเนยเอาไว้ พระในวัดนี้เป็นผู้ปั้นเนย และปั้นใหม่ทุกปี จะปั้นเป็นรูปอะไรนั้นพระที่เป็นผู้นำชมบอกว่าเจ้าอาวาสเป็นผู้กำหนด เมื่อปั้นเสร็จจะเอาไปแสดงกลางแจ้งให้คนดูวันหนึ่ง แล้วเอาไปเก็บในอาคารแทนรูปเก่าของปีก่อน ตามประวัติเล่ากันมาว่า พระอาจารย์จงคาปาสร้างวัดนี้แล้วไปทิเบต เพื่อไปชุมนุมสาวก 100,000 รูป ที่วัดต้าเจ้าในเมืองลาซา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ นอนหลับได้บังเกิดนิมิตฝันว่า ในท่ามกลางฤดูหนาว ดอกไม้กลับบานสะพรั่ง พระโพธิสัตว์เสด็จมา เมื่อตื่นขึ้นเล่าฝันให้สาวกทั้งหลาย มีผู้คิดขึ้นมาว่าจะต้องใช้เนยปั้นรูปความฝันของพระอาจารย์เอาไว้ จึงเป็นธรรมเนียมมากระทั่งทุกวันนี้


(น.57) รูป 48 พระพุทธรูปในวิหารพระไมเตรยะ (พระศรีอาริย์)
Buddha images in Maitreya Shrine.


รูป 49 พระพุทธรูปในวิหารพระไมเตรยะ (พระศรีอาริย์)
Buddha images in Maitreya Shrine.


รูป 50 พระพุทธรูปในวิหารพระไมเตรยะ (พระศรีอาริย์)
Buddha images in Maitreya Shrine.


(น.58) รูป 51 ถวายผ้าทังการูปปัทมสัมภวะที่ทำในเมืองไทยให้ผู้นำชมวัด
Presenting Padmasambhava Thangka woven in Thailand to the monk who guided us through the monastery.

(น.58) รูปที่ดูวันนี้เป็นภาพพระดาไลลามะองค์ที่ 6 เฝ้าจักรพรรดิ มีรูปวัดถาเอ่อร์ รูปการต้อนรับอันยิ่งใหญ่ที่พระราชวังเฉิงเต๋อ (พระราชวังฤดูร้อน) นอกกรุงปักกิ่ง พระผู้บรรยายบอกว่ายังไม่แน่ว่าปีหน้าจะปั้นรูปอะไร อาจเป็นรูปการเข้าสู่สุขาวดี หรือรูปเจ้าหญิงเหวินเฉิงเสด็จทิเบต ดูศิลปะการปั้นเนยนี้แล้วนึกถึงเทศกาลปราสาทผึ้งของเรา ที่เอาขี้ผึ้งมาปั้นหรือแกะสลักในเทศกาลทางพุทธศาสนา ก่อนออกเดินทางถวายผ้าทังกา (ภาพพระบฏ) ที่เตรียมมา และถวายเงิน

(น.59) เราเดินทางต่อไปทะเลสาบชิงไห่ เป็นทะเลสาบน้ำเค็มที่ใหญ่ที่สุดในจีน มีเนื้อที่ 4,583 ตารางกิโลเมตร คนขับรถอธิบายว่ามีขนาดใหญ่กว่าพื้นที่ของฮ่องกงทั้งหมดถึง 4 เท่า (มีพื้นที่รวม 1,066 ตารางกิโลเมตร) ตอนเตรียมการเดินทางต้องตัดสินใจอยู่นานว่าจะดูอะไรๆ ใกล้ๆ เมืองซีหนิง ซึ่งยังมีที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง หรือจะไปทะเลสาบ ซึ่งต้องนั่งรถไฟ 2-3 ชั่วโมง ทะเลสาบก็ดูจะไม่มีอะไรเป็นพิเศษนอกจากเป็นห้วงน้ำใหญ่ ในที่สุดก็ตัดสินใจไป เพราะเป็นเส้นทางสู่ทิเบตและเป็นสภาพภูมิศาสตร์ที่มีลักษณะพิเศษ ดูทิวทัศน์ 2 ข้างทาง รถผ่านอำเภอหวงจงซึ่งเป็นถิ่นของพวกหุย มีมัสยิด ดูหนังสือบรรยายสภาพทั่วไปของมณฑลว่าเป็นที่กำเนิดของแม่น้ำสำคัญ 3 สาย คือ แม่น้ำฉังเจียง แม่น้ำหวงเหอ และแม่น้ำโขง มีแร่ธาตุต่างๆ อุดมสมบูรณ์ เช่น น้ำมัน ถ่านหิน ทองคำ ทองแดง ที่เพาะปลูกมีน้อยแต่ก็เพาะปลูกได้ดี มีทุ่งหญ้ากว้างใหญ่ ทะเลทรายกับทะเลหิน เป็นส่วนที่ใช้อะไรไม่ได้ มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานในชิงไห่เมื่อ 30,000 ปีมาแล้ว มีตำนานว่าในสมัยราชวงศ์ถัง กษัตริย์ซงจ้านกานปู้แห่งราชวงศ์ถู่โป๋ของทิเบต ส่งเสนาบดีไปเมืองฉังอานสู่ขอพระราชธิดาของจักรพรรดิจีน คือ เจ้าหญิงเหวินเฉิง เจ้าหญิงเดินทางไปทิเบตต้องผ่านชิงไห่


(น.60) รูป 52 ลังเลี้ยงผึ้ง
Bee culture.

(น.60) มีเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ (รถผ่าน) มีการเพาะปลูกข้าวสาลี และชิงเคอ ซึ่งไม่แน่ใจว่าเป็นอะไร บางคนว่าเป็นลูกเดือย แต่ดูอีกทีก็ไม่ใช่ บางคนก็ว่าเป็นข้าวบาร์เลย์ชนิดหนึ่ง บนภูเขาเขาว่ามียาจีนหลายอย่าง เช่น “หญ้าฤดูหนาวเป็นหนอน ฤดูร้อนเป็นหญ้า” และบัวหิมะ เป็นต้น มีทะเลสาบใหญ่ 4 แห่ง ติดรถไฟ แล้วไปต่อ 2 ข้างทางเป็นภูเขา มีการเพาะปลูก แต่ไม่ได้ตัดเป็นขั้นบันได หยุดรถเข้าห้องน้ำที่สภาตำบลหวงหยวน แล้วเดินทางต่อ แล้วไปหยุดอีกทีที่ภูเขาสุริยันจันทรา ซึ่งมีประวัติเล่าว่า เมื่อเจ้าหญิงเหวินเฉิงจะเดินทางไปทิเบต พระราชบิดาพระราชทานกระจกที่ส่องแล้วเห็นเมืองฉังอาน จะได้รู้สึกว่าบ้านเมืองอยู่ใกล้ เมื่อมาถึงภูเขาสุริยันจันทรานี้ ส่องกระจกไม่เห็นเมืองฉังอาน จึงทิ้งกระจกไป มีคนมาบรรยายว่ากำลังสร้างรูปเจ้าหญิงเหวินเฉิง แต่ยังสร้างไม่เสร็จ ตอนนี้เห็นมีแต่ศาลาบนเขาและร้านรวงขายของที่ระลึก ลมพัดแรงหนาวจะตาย กลับขึ้นรถ เดินทางต่อ แถวนี้มีแม่น้ำเล็กๆชื่อว่า เต้าถั่งเหอ เรื่องตำนานว่าเจ้าหญิงเหวินเฉิงร้องไห้คิดถึงบ้าน น้ำตากลายเป็นแม่น้ำไหลสวนทางกับแม่น้ำอื่นๆ แถวนี้กลับไปฉังอาน รถแล่นต่อไปมีเต็นท์ตั้งอยู่ เป็นพวกคนเลี้ยงผึ้ง หยุดที่เต็นท์หนึ่ง เจ้าของเป็นคนมาจากมณฑลเสฉวนมาเลี้ยงผึ้งที่นี่ เพราะอยู่ใกล้กับไร่ผักน้ำมัน (อิ๋วไช่) ที่กำลังออกดอกสีเหลือง ดอกน้ำมันที่นี่บานช้ากว่าที่เจียงหนาน 3 เดือน ที่จริงก็ไม่ได้เห็นอะไร เพราะเข้าใกล้รังผึ้งก็ไม่ได้ ถ้าไม่ใส่ชุดป้องกันผึ้งมันจะต่อยเอา เจ้านี้ขายผลิตผลไปหมดแล้วมีให้ดูขวดหนึ่ง (เห็นจะเก็บเอาไว้กินเอง) กลิ่นหอมดี ที่เต็นท์มีหมาสวยดี แต่ท่าทางจะดุ เคราะห์ดีเขาผูกเอาไว้ มีลูกแมวสีสวาดน่ารักก็เลยขอเขาอุ้มเล่น ที่จริงสถานทูตจะให้ดูการเลี้ยงผึ้งอีกเจ้าหนึ่ง ที่มีการผลิตผลิตภัณฑ์จากผึ้งครบวงจร นอกจากน้ำผึ้งแล้วยังมีนมผึ้ง เกสรผึ้งอีก แต่สันนิษฐานว่าขบวนเรายาวหาที่จอดรถไม่ได้ ก็เลยเอาที่ง่ายๆ อยู่ข้างทาง

Next >>