Please wait...

<< Back

จิ๋นซีฮ่องเต้

จากหนังสือ

ย่ำแดนมังกร
ย่ำแดนมังกร หน้า 54

(น.54) พอถึงราชวงศ์ ฉิน พระเจ้า ฉินสื่อหวังตี้ (ศตวรรษที่ 3 ก่อนคริสตกาล) ได้รวมจีนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน พระองค์ได้เชื่อมกำแพงของแคว้นต่างๆ เข้าด้วยกัน การสร้างกำแพงนี่ถือว่าเป็น “งานช้าง” ประจำรัชกาลทีเดียว โดยกล่าวว่าเพื่อป้องกันชนเผ่าศัตรูที่จะเข้ามารุกราน บางคนเขาก็นินทาว่าท่านทำการครั้งนี้เพื่อล้างสมองคนไม่ให้คิดต่อต้านท่าน ให้เสียเวลาสาละวนอยู่กับการสร้างกำแพงเมืองจีน จะได้ไม่มีปัญญาคิดเรื่องอื่น อีกประการหนึ่งการถูกส่งไปทำกำแพงเมืองจีนนั้น เหมือนเป็นการถูกกำจัดไปเลยเพราะเป็นงานที่ยากลำบาก อยู่บนยอดเขาสูง ราชวงศ์ที่ต่อจากราชวงศ์ ฉิน ก็ได้ซ่อมแซมกำแพงนี้ จนถึงราชวงศ์เหม็ง (คริสต์ศตวรรษที่ 14) กำแพงเมืองจีนสำเร็จบริบูรณ์ เท่ากันที่เราเห็นทุกวันนี้

ย่ำแดนมังกร หน้า 159 - 178

(น.159) ที่หมายแรกของเราเป็นสุสานของพระจักรพรรดิฉินสื่อหวังตี้ คุณซุนหมิงก็เล่าเรื่องว่า ในปี 1974 ชาวนาขุดบ่อน้ำก็พบสุสานนี้เข้าจึงรายงานทางการ จึงมีการขุดค้นขึ้น พงศาวดารบันทึกไว้ว่ามีสุสานแต่ก็ไม่ได้บันทึกไว้ว่ามีหุ่นกองทัพขนาดใหญ่ฝังไว้ด้วย
(น.160) ขณะนี้เปิดขุดขึ้น 3 แห่งแล้ว พบกองทัพทหารม้า ทหารรถ ทหารเดินเท้าและทหารธนู หุ่นที่มีอยู่นั้นเขาปั้นหน้าปั้นตาได้อย่างประณีต สูงถึง 1.9 เมตร จะเห็นอาวุธฝังอยู่ด้วย เช่น หัวธนูทำด้วยฝีมือประณีตมาก หัวธนูแหลมวิธียิงกึ่งอัตโนมัติ ลั่นไกแบบปืน หลุมที่สองเป็นรถม้าเหมือนกับม้าจากมณฑลกานซู ทำได้งดงามรูปร่างใหญ่โต ท่าทางดี เมื่อพูดถึงตอนนี้ข้าพเจ้าออกนอกหน้าต่าง เห็นสวนผักเขียวสุดลูกหูลูกตา สวยงามมาก เรื่องการเกษตรนี้น่าชมเขา แถวๆ ปักกิ่งระยะ ทางจากสนามบินถึงบ้านพักยังมีทุ่งหรือไร่พืชอีกอย่างมีดอกเป็นสีเหลือง เป็นพืชน้ำมัน สกัดน้ำมันจากเม็ด เขาบอกชื่อจีนว่า อิ๋วไช่จื่อ คุณภาพน้ำมันไม่ค่อยดี
(น.160) รูป 79 การปลูกผัก
(น.161) “เตี่ย” ของซีอานขับรถช้าพอๆ กับเตี่ยปักกิ่งก็ เลยมีเวลาชมธรรมชาติ และฟังเรื่องสุสานต่อไปว่า สำหรับทหารรถม้านั้น รถคันหนึ่งจะเทียมม้า 4 ตัวข้างหน้า คนขับรถม้าอยู่กลาง สองด้านเป็นทหารธนู และข้างหลังอีก 3 คน คนหนึ่งถือไม้ไผ่ยาวๆ 4 เมตร กวาดสิ่งของที่ขวางทาง นอกจากนั้นยังมีนายทหารในกองบัญชาการทั้งหมดมี 8,000 คน เดี๋ยวนี้ขุดหลุมเดียว อีก 2 หลุมได้สำรวจแล้วแต่ยังไม่ได้ลงมือทำ สุสานนี้กว่าจะสร้างเสร็จใช้เวลา 11 ปี ภายในสุสานทำเป็นท้องฟ้า มีดาว เดือน ตามบันทึกว่า สมบัติถูก เซี่ยงหยู่ ซึ่งเป็นคู่แข่งของ หลิวปัง กษัตริย์ราชวงศ์ ฮั่น องค์แรกมาปล้นไปส่วนหนึ่ง ในขณะที่มณฑล ส่านซี และ หลิวปัง กำลังรบกัน ขณะนั้นเมืองหลวงของราชวงศ์ ฮั่น อยู่ที่ ซีอาน พูดถึงราชวงศ์ ฮั่น คุณซุนหมิงบอกว่า ฮั่น ก็มีหุ่นจำลองเหมือนกัน มีทั้งตุ๊กตาคนตุ๊กตาม้า แต่ตัวเล็กกว่าหุ่นของราชวงศ์ ฉิน พวก ฉิน นี้มีอิฐที่ดีมาก ส่วนสมัย ฮั่น ทำกระเบื้องได้ดี พรุ่งนี้ที่พิพิธภัณฑ์จะได้ดูของจักรพรรดิ ฮั่น แล้วคุณซุนหมิงก็เล่าเรื่อง หวาชิงฉือ ว่า บ่อน้ำร้อนนี้มีมาตั้งแต่ราชวงศ์ โจว เป็นบ่อน้ำร้อนที่มีแร่กำมะถัน ใครมาอาบแล้วทำให้ผิวหนังดี เขาบอกว่ามีเรื่องเล่ากันมาว่าตรงนี้ (หวาชิงฉือ) ในสมัยราชวงศ์ โจว มีจักรพรรดิองค์หนึ่งทรงพระนามว่า โจวยิวหวัง ได้พระสนมคนหนึ่งชื่อ เป่าซื่อ พระสนมนี้ไม่ดีกับจักรพรรดิ ทั้งๆ ที่พระจักรพรรดิพยายามเอาใจนางทุกๆ ประการ นางก็ไม่ยอมยิ้มกับ
(น.162) จักรพรรดิ พยายามหาเรื่องสนุกสนานมาเล่นนางก็ไม่ยิ้ม พระจักรพรรดิกลุ้มพระทัยมากจึงนำความไปปรึกษาขุนนาง ขุนนางผู้หนึ่งถวายความเห็นว่า บนภูเขา หลี่ซาน มีสถานที่สำหรับจุดไฟให้ทหารเข้ามารวมพลกันเมื่อเวลามีศึกสงคราม ให้ลองจุดไฟบนนั้นแล้วจัดงานฉลองกันให้เป็นที่สำราญ พระจักรพรรดิทรงเชื่อตามนั้นครั้งเมื่อจักพรรดิจุดไฟบนภูเขา นายพลทั้งหลายต่างก็เข้ามาด้วยคิดว่าแผ่นดินถูกคุกคาม กลับมาพบพระจักรพรรดิสรวลเสเสวยสุราอยู่กับเหล่าขุนนางสอพลอ แถมยังทรงชักชวนว่า เราจงมาสนุกสนานกันเถิด เหล่านายพลโกรธมาก ได้แต่เข่นเขี้ยวเคี้ยวฟันทำอะไรไม่ได้ พากันลงจากเขาไป ฝ่ายพระสนมเห็นภาพเช่นนั้นก็หัวเราะชอบใจ (สนมคนนี้ถ้าไม่เป็นไส้ศึก คงเป็นคนที่มีนิสัยประหลาดอยู่) ในกาลต่อมามีศัตรูรุกรานจริงๆ พระจักรพรรดิจุดไฟบนยอดเขาก็ไม่มีทหารมา เพราะต่างก็คิดว่าจักรพรรดิคงจะสนุกสนานอีกแล้ว ในครั้งนั้นบ้านเมืองจึงเสียไป ตำนานเรื่องนี้เข้าทำนอง “เด็กเลี้ยงแกะ” ของอีสป ฟังนิทานไปเรื่องหนึ่งแล้วยังไม่มีทีท่าว่าจะไปถึงสุสาน รถที่แล่นสวนเราไปมีรถสามล้อโดยสาร ไม่มีหลังคาคลุมเหมือนรถโดยลารบ้านเรา ที่นั่งก็เป็นไม้ ยังมีเวลาเหลือ คุณซุนหมิงเลยเล่านิทานหรือตำนานเกี่ยวกับหวาชิงฉืออีกเรื่องหนึ่งว่า ในสมัยราชวงศ์ ถัง พระจักรพรรดิแห่งสมัยราชวงศ์ ถัง มีพระสนทคนหนึ่งชื่อ หยางกุ้ยเฟย ซึ่งเป็นพระสนมที่พระจักรพรรดิทรงรักมา ถึงกับสร้างที่ประทับบริเวณบ่อน้ำร้อนนี้เพื่อมาประทับแรมกับพระสนมในฤดู หนาว ครั้งเหล่าเสนาบดีพยายามจะเอาพระทัยพระจักรพรรดิ จึงเอาหยก
(น.163) ขนาดใหญ่แกะสลักเป็นรูปมังกร เอาไปใส่ไว้ในบ่อน้ำที่พระจักรพรรดิจะมาสรงน้ำกับพระสนม เมื่อจักรพรรดิมาถึงเห็นมังกรอยู่ในน้ำกระเพื่อมๆ ก็ตกพระทัยสะดุ้งกลัว เพราะคิดว่าเป็นมังกรเป็นๆ เลยสรงน้ำไม่ได้ จนเสนาบดีต้องมาเอามังกรหยกออก รถแล่นเข้าเขตอุตสาหกรรมผ่านโรงงานไฟฟ้า ผ่านแม่น้ำ บ้านเรือนแถบนี้ คุณซุนหมิงบอกว่าสร้างแบบราชวงศ์ เหม็ง แต่สมัยเหม็งใช้กระเบื้องมุงหรูหรากว่า ที่นี่บ้านมักจะก่ออิฐเฉยๆ ใช้ปูนซีเมนต์ยาบ้าง แต่ไม่ใช้เหล็กเลย ที่เห็นเป็นบ้านของชาวนาในคอมมูน แถวนี้มีต้นหลิวมาก คุณซุนหมิงบอกว่า ตามบทกวีสมัย ถัง มีจดไว้ว่า แถบนี้เต็มไปด้วยต้นหลิว ในฤดู ชุนเทียน หลิวจะออกดอกเหมือนสำลีปลิวขาวเต็มไปหมด บริเวณเมืองซีอานมีแม่น้ำ 8 สาย ขณะนี้น้ำน้อยลงเพราะใช้มาก ทางจีนกำลังหาทางแก้ไขปัญหาน้ำ แม้ว่าจะมีการชลประทาน น้ำสำหรับการเกษตรพอแล้ว แต่น้ำใช้ยังไม่พอ ลำบากหน่อยเพราะทางการเกษตรก็ต้องใช้น้ำ ในเมืองก็ต้องใช้น้ำ ปีนี้ดีหน่อยที่มีฝน ปีกลายแล้ง แถวนี้เห็นเขาผูกม้าเอาไว้หลายตัว เห็นหมูตัวหนึ่งสีเทาๆ ขนยาวกว่าหมูเมืองไทย ข้างถนนมีตลาดนัด เขาบอกว่ามีตลาดอย่างนี้ทุกวัน รถผ่านแม่น้ำ ป้าเหอ ซึ่งเป็นแม่น้ำกว้างพอใช้ มีสะพานคู่กันสะพานหนึ่งดูเหมือนจะสำหรับรถไฟ (ข้าพเจ้ามองไม่ชัด) เวลานี้ไม่ค่อยมีน้ำ เห็นมีโคลน ไหลรินๆ อยู่หน่อย เป็นน้ำที่เกิดจากฝนตกเมื่อคืนนี้ เราเลยคุยกันเรื่องๆภูเขาต่างๆ ว่าภูเขา ชิงหลิง ไม่ค่อยมีต้นไม้ หัวซาน เป็นสถานที่ท่องเที่ยว ตอนนี้กำลังซ่อมทาง-
(น.164) ซึ่งชันมาก และแคบด้วย มียอดเขา 5 ลูก ขึ้นไปดูพระอาทิตย์ขึ้นได้ ภูเขาไป๋ซานเป็นภูเขาสูงมากของมณฑล บางทีเดือนมิถุนาแล้วยังมีหิมะอยู่เลย บ้านบางหลังแถวๆ นี้ทำด้วยดิน วิธีทำฝาบ้านและกำแพงแถวนี้เขาเอาไม้ตั้งเป็นไม้แบบ เอาดินผสมน้ำผสมฟางใส่ในไม้แบบพอดินแข็งดีก็เอาออกจากไม้แบบ แล้วเอาดินพอกให้เรียบสวยงามว่าแล้วเราก็คุยกันเรื่องการเพาะปลูกอีกว่าเขา จะเก็บเกี่ยวข้าวสาลีประมาณ 1 – 10 มิถุนายน รถผ่านสวนทับทิม เป็นผลไม้ที่เขาปลูกจริงๆ จังๆ เป็นไร่ๆ เลย ที่เราเห็นนี้ทับทิมกำลังออกดอกสีแดงสวยงามมาก ดอกโตกว่าทับทิมบ้านเรา ต้นสูงกว่าด้วย คุณซุนหมิง บอกว่าต้นทับทิมเปรี้ยวป้องกันโรคมะเร็งได้ ที่ซีอานนี้มีกิจกรรมอีกประเภทหนึ่งคือการเลี้ยงผึ้ง น้ำผึ้งดอกทับทิมนั้นได้ยินว่ามีคุณภาพดี แอ๋ว อารยาและทิพย์ ซื้อมาทูลเกล้าฯ ถวายด้วย ใต้ต้นทับทิมเขาปลูกข้าวสาลีบางส่วน ถัดจากไร่ทับทิมเป็นที่ปลูกผักเป็นร่องๆ ที่นี่เขาเอาดินพูนเป็นกองยาวๆ สำหรับกันลมด้วย ข้าพเจ้าสงสัยว่าเขาปลูกผักกันมากๆ อย่างนี้ กินกันเองแถวๆ นี้จะหมดหรือ ได้รับคำตอบว่าเขาเอาไปขายในเมือง ในอำเภอถัดออกไปเป็นสวนพลับ พลับที่นี่ผลเล็กไม่มีเม็ด เวลาสุกแล้วจะหวานมาก ตอนนี้รถเลี้ยวเข้าไปจะถึงที่จุดหมายปลายทางแล้ว เชิงเขาด้านซ้ายมือเป็นสุสาน หันหน้าไปทางทิศตะวันออก ข้าพเจ้าถาม-
(น.165) รูป 80 จับมือกับเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์พระเจ้าฉินสื่อหวังตี้
(น.165) ว่าเหตุไรจึงต้องหันหน้าไปทางทิศตะวันออก คุณ ซุนหมิง สันนิษฐานว่าพระจักรพรรดิ ฉินสื่อหวังตี้ นี้ เป็นคนที่มีความ สามารถมาก ทำให้ประเทศจีนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แคว้นทั้ง 6 ที่พระจักรพรรดิรวบรวมอยู่ทางทิศตะวันออกเลยต้องสร้างสุสานหันไปทางตะวันออก เหตุผลนี้นับว่าแปลก ข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะมีเหตุผลอื่นเนื่องมาด้วยประเพณีโบราณของจีน
(น.166) ห่างจากสุสาน 3 กิโลเมตร คุณ ซุนหมิง บอกว่า ได้ยินว่าสมัยราชวงศ์ โจว เขาเอาคนเข้าไปไว้ในสุสานจริงๆ สมัย ฉิน นี้ใช้หุ่น สันนิษฐานว่าบางส่วนที่มีการเอาคนในวังฝังไว้ด้วย เพราะกลัวคนเหล่านี้จะเปิดเผยความลับ พอดีถึงที่ซึ่งเราจะไปดูกัน ที่หลุมหุ่นสุสาน มีเจ้าหน้าที่และนักโบราณคดีมารอรับ ตอนแรกเจ้าหน้าที่ภัณฑารักษ์ชี้ให้ดูโต้ยทรายเป็นแผนที่แสดงอาณา
(น.167) บริเวณสุสาน และหลุมหุ่น หลุมหุ่นที่เราดูนี้ห่างสุสานกิโลครึ่ง ค้นพบใน ค.ศ. 1974 ตอนนั้นพบ 3 หลุม มีหุ่น 8,000 ตัว ที่เราดูเป็นหลุมที่ 1 ในหลุมมีหุ่นเรียงกันเป็นตับ หุ่นเหล่านี้เขาบอกว่า ในตอนแรกขุดขึ้นมามีสีสวยงามและวางท่าทางเหมือนจะให้ป้องกันสุสาน ตอนที่พบ (หลังจากพระจักรพรรดิสวครรตไป 1992 ปี) หุ่นบางตัวก็ล้มแตกไป สันนิษฐานว่าเป็นเพราะถูกไฟไหม้ แต่ละตัวมีหน้าตากิริยาอาการและเสื้อผ้าไม่เหมือนกัน (เข้าใจว่าปั้นตามลักษณะ
(น.167) รูป 82 หลุมหุ่นทหารกองทัพพระเจ้าฉินสื่อหวังตี้
(น.168) ของทหารของพระจักรพรรดิจริงๆ) จากเสื้อผ้าและหมวกจะแยกได้ทันทีว่า คนไหนมีฐานะสูงเพียงใด อยู่หมวดหมู่ใด คิดว่าทั้งหมดคงจะมีมากกว่า 6,000 ตัว เท่าที่ดูนั้นในหลุมของเขาแบ่งเป็นช่องๆ ให้หมายเลขตั้งแต่ T1 - T23 และจะรู้ว่าขุดถึงก้นหลุมแล้วหรือยังดูจากอิฐที่ปูก้นหลุม ถ้าถึงอิฐ แปลว่าขุดไปถึงแล้ว เขาชี้ให้เราดูทหารกองหน้า มือถือธนู และบอกว่าการวางรูปกองทัพนั้น ถ้าอยู่ด้านเหนือก็จะหันหน้าไปทิศเหนือ ถ้าอยู่ด้านใต้ก็หันหน้าเข้าทางทิศใต้ ข้าพเจ้าสันนิษฐานว่านี่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขารู้ขอบเขตของกองทัพทั้ง หมด เราสงสัยว่าว่ารูปหุ่นนี้ทำด้วยอะไร ก็ได้ทราบว่าเป็นดินปั้นเผาทั้งนั้น แต่ไม่รู้แหล่งที่เผา ดูจากตัวที่แตกๆ ก็จะได้รู้ว่าข้างในตัวหุ่นนี้กลวง วิธีทำสันนิษฐานว่าจะใช้พิมพ์หล่อรูปโกลนเสียก่อนแล้วแกะหน้าตารายละเอียด เอาภายหลัง การหล่อนั้นเขาหล่อเป็นส่วนๆ คือ ตัว หัว มือ เป็นต้น แล้วเอามาต่อที่หลัง เดินดูรอบๆ หลุมเห็นว่าบางส่วนตัวหุ่นยังล้มระเนระนาดอยู่ระเกะระกะ คุณภัณฑารักษ์ส่ายหัวแล้วบอกกับพวกเราว่า ใช้เวลาจัดหุ่นมาตั้งห้าปีแล้วนะเนี่ยได้แค่นี้เอง เพราะไม่ใช่ขุดและจัดเท่านั้นยังต้องศึกษาวิจัยเอานักวิชาการและช่างแนง ต่างๆ มาช่วยด้วย มีทั้งงานวิจัย งานซ่อมและงานจัด (น่าเวียนหัวแทน) อย่างหุ่นตัวไหนหัวแตกก็ต้องพยายามซ่อม ทำส่วนที่แตกออกเพิ่มเติมให้เต็มโดยค้นคว้าว่าของเก่าเป็นอย่างไร แล้วทำสีให้ต่างกับของเก่า คนจะได้ทราบว่าตรงไหนใหม่ตรงไหนเก่า (ตามหลัการซ่อมโบราณวัตถุ) ส่วนรถ (ม้า) นั้นมักจะทำด้วยไม้จำพวกสนฉะนั้นจึงผุพังไปเกือบหมดแล้วเหลือแต่เศษๆ
(น.169) รูป 83ห้องพิพิธภัณฑ์สุสานพระเจ้าฉินสื่อหวังตี้
(น.169) มีหุ่นทหารอยู่กองหนึ่งทำผมเป็นมวย ไม่ใส่หมวกทั้งนายและพล มีผ้าพันผม ได้ยินเสียงท่านผู้หญิงมณีรัตน์บ่นพึมพำอยู่คนเดียวว่าคนหัวล้านจะเป็นทหาร ได้หรือเปล่า! ข้าพเจ้าถามว่าตอนที่เขาขุดขึ้นนั้น ต้องมีการถ่ายรูปหรือวัดขนาดหรือไม่ เขาบอกว่าเมื่อขุดขึ้นก็ต้องทำแผนที่ว่าอะไรอยู่ที่ตรงไหน วัดเนื้อที่ที่ขุด พิสูจน์ดินถ่ายรูปเป็นแถวๆ และถ่ายรูปแต่ละตัว วัดขนาน แต่เขาก็บอกว่าตอนถ่ายรูปและสเก็ตซ์รูป วัดขนาดตัวนั้นเขาไม่ได้ทำทุกตัว ทำเพียง
(น.170) รูป 84 ซีอาน ห้องพิพิธภัณฑ์ที่สุสานพระเจ้าฉินสื่อหวังตี้
(น.170) แต่ตัวอย่างและตัวที่น่าสนใจบางตัวเท่านั้น และเขียนรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร ปัญหาที่จะค้นคว้ามีหลายอย่าง เขาจึงทำสถานที่นี้เป็นสถานสำหรับคนมาดูและศึกษาได้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 1979 เขาพาเราไปดูอีกห้องหนึ่ง เป็นห้องโชว์ของที่มาจากหลุม มีวัสดุต่างๆ อาวุธซึ่งทำด้วยโลหะ และตุ๊กตาหุ่นบางตัวที่มีลักษณะน่าสนใจ
(น.171)สิ่งแรกที่ข้าพเจ้าไปดูในตู้เป็นหัวธนู มีขนาดต่างๆ หัวทำด้วยสำริด ด้ามทำด้วยเหล็ก หัวธนูนี้เขาออกแบบให้ฆ่าคนได้อย่างดีกล่าวคือจะร่อง พอยิงถูกใครแล้วเลือดจะไหลออกมาตามร่องซึ่งเป็นอันตรายมาก เท่าที่ข้าพเจ้าทราบคนที่ถูกลูกศร ถูกไม้ทิ่มหรือถูกอะไรแหลมๆ ยาว พรรณนี้ เขาไม่ให้ดึงออก ให้รีบนำส่งโรงพยาบาล ผ่าตัดทั้งอย่างนั้นเลย ถ้าไปชักออกแล้วเลือดออกผู้ป่วยจะตายเร็วกว่าที่ควร อีกตู้หนึ่งแสดงไกธนู เขาสันนิษฐานว่าในราชวงศ์ การยิงธนูไม่ต้องอาศัยแรงคน ใช้เครื่องกลเข้าช่วยเขาเอามาประกอบเป็นรูปธนูอย่างเดิมเป็นโมเดล ในตู้มีรูปวาดประกอบด้วย ดาบมีทั้งของจริงและจำลองให้เห็นสภาพเดิม เขาเอาชิ้นส่วนของดาบมาวิเคราะห์ดู ปรากฏว่าประกอบด้วยโลหะชนิดต่างๆ ถึง 13 ชนิด เป็นโลหะผสมที่แข็งมาก แถมยังมีเงา เพราะทาด้วยแร่
(น.172) ชนิดหนึ่ง ภัณฑารักษ์อธิบายว่าสมัยนั้นการหล่อโลหะเจริญแสดงให้เห็นว่าพระเจ้า ฉินสื่อหวังตี้ ทำให้จีนรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมีทหารเข้มแข็ง และมีอาวุธดีด้วย นอกจากนั้นมีง้าว ทำในรัฐ อู๋ ง้าวนี้คมทั้ง 2 ด้า อาวุธอีกอย่างใช้มือขว้าง ภัณฑารักษ์บอกว่าในหลุมที่ 3 เป็นที่ตั้งกองบัญชาการ ทุกคนในมือถือทวน เป็นไม้สูง 3 เมตร มีโลหะเสียบข้างบน เป็นอาวุธกองเกียรติยศ ที่หัวทวนมีตัวหนังสือสลักว่า “ทำจากโรงแสงของราชวงศ์ ฉิน” ว่าแล้วก็สรรเสริญพระจักรพรรดิต่อไปอีกว่าสมัยราชวงศ์ ฉิน นี้ทำให้อักษรจีนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เดิมแต่ละแคว้นก็ใช้อักษรอย่างหนึ่ง ตัวอย่างหนังสือราชวงศ์ ฉิน จะเห็นได้จากตามเสื้อของหุ่น
(น.173) เขาพาเราไปอีกห้องหนึ่ง มีรูปหุ่นต่างๆ อยู่ใต้ตู้กระจก ที่แขนเสื้อยังเห็นรอยสีแดง (ซึ่งเขาเอายาเคมีป้ายแล้ว) ม้ามาจากหลุมที่ 2 สำหรับม้านี่น่าสนใจมาก เพราะทำรูปร่างส่วนสัดได้ดี ท่าทางมีชีวิตชีวา ที่น่าสังเกตคือหางม้า เขาม้วนไว้เป็นทรงต่างๆ เหมือนทรงผมคน ถามเขาว่าทำไมเป็นเช่นนั้น เขาอบอกว่า ม้า
(น.174) รูป 86 บริเวณสุสานพระเจ้าฉินสื่อหวังตี้ รูป 87 ม้าดินเผาสุสานพระเจ้าฉินสื่อหวังตี้
(น.175) พวกนี้เป็นม้าลาก ถ้าปล่อยให้หางม้ายาวๆ กลัวว่าจะไปปัดดฝุ่นคนบนรถจะแย่ อีกตู้หนึ่งเป็นทหารกองหน้า ยังเห็นขากางเกงเป็นสีน้ำเงินข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่าสีที่ทาโบราณวัตถุหรือโบราณสถานโดยทั่วๆ ไปนั้น สีที่จะคงเหลืออยู่มากที่สุดจะเป็นสีแดงและสีน้ำเงิน นี้คงเป็นเพราะสีแดงและสีน้ำเงินเป็นสีที่ใช้มาก และเป็สีที่มีความทนทานด้วย ภัณฑารักษ์ชี้ให้สังเกตหน้าตาของทหารบางคนว่าไม่ใช่หน้าตาคนจีน แต่เป็นคนกลุ่มน้อย มีคนหนึ่งเขาบอกว่าหน้าตาเหมือนคน ซินเกียง หลังจากนั้นเราดูทหารม้าและม้า ในตู้มีเครื่องแต่งม้าทำด้วยหินคล้ายหยก เครื่องแบบทหารม้าก็ไม่เหมือนเครื่องแบบทหารราบ ทหารขี่ม้าเขากลัวผมจะปลิว จึงต้องสวมหมวกทำด้วยหนังเสือ เสื้อเกราะที่สวมก็ยาวไม่ได้ นอกจากนั้นยังใส่รองเท้าบู๊ตด้วย ส่วนอานม้านั้นทำเลียนแบบอานม้าที่ทำด้วยหนัง น่าสังเกตว่าเข็มขัดที่รัดอานม้านั้นเหมือนเข็มขัดอย่างสมัยนี้ ม้าที่ทหารม้าขี่ก็ไม่ถูกขมวดหางเหมือนหางม้าลากรถ ตอนสุดท้ายเราได้ดูทหารในท่านั่งซึ่งมีอยู่ในหลุมที่สองถึงร้อยกว่าตัว ทหารนั่งถือธนู ฝีมือแกะหน้าตาหุ่นดีมาก พูดถึงหน้าหุ่น ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าดูหน้าตาเป็นคนแคว้นใด หรือกลุ่มใด แต่มองดูแล้วก็อดสรรเสริญนายช่างผู้แกะสลักมิได้ ว่ามี
(น.176) รูป 88 บริเวณพระเจ้าฉินสื่อหวังตี้ มีฝรั่งนักท่องเที่ยวอเมริกันมากันเยอะ
(น.176) ความสามารถใส่อารมณ์ต่าง ในใบหน้าทำให้คิดว่าแต่ละนายซึ่งรวมกันเป็นทหารในกองทัพของราชวงศ์ ฉิน ต่างมีความนึกคิดและอารมณ์ของตน ทหารธนูจะสวมรองเท้า ถ้าเป็นของจริงก็ทำด้วยหนังควายพื้นรองเท้าเป็นลายเหมือนรองเท้ายางบ้านเรา ทหารธนูอีกพวกยืนยิงธนู แต่ทำท่าทางเหมือนกำลังจะเลียะพะ ใคร
(น.177) เขาอธิบายว่าทหารราบ ทหารม้า เหล่านี้แต่งตัวตามชั้น คือ มองดูเครื่องแต่งตัวก็รู้ว่ามียศแค่ไหน สำหรับข้าพเจ้า การได้ชมสุสานของพระจักรพรรดิ ฉินสื่อหวังตี้ ทำให้ได้รับความรู้เพิ่มเติมอีกมาก ข้าพเจ้าเคยเรียนประวัติศาสตร์จีนตั้งแต่อยู่โรงเรียน มหาวิทยาลัย และปีแรกที่ข้าพเจ้าสอนอารยธรรมก็สอนเรื่องพระเจ้าฉินสื่อหวังตี้ นี้อีก ข้าพเจ้าเห็นว่าพระจักรพรรดิพระองค์นี้เป็นคนที่น่าสนใจ คนคนเดียวนี้ทั้งสร้างและเชื่อมกำแพงเมืองจีน สร้างสุสานมีอะไรต่อมิอะไรใหญ่โต ซึ่งจะต้องอาศัยวิชากการชั้นสูงจึงจะทำได้ สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแก่ประเทศ
(น.178) จีน โดยการจัดการคมนาคมให้เข้าสู่ศูนย์กลาง ปรับตัวหนังสือจีนเป็นอย่างเดียวกัน ปรับระบบการใช้เงิน มาตราชั่ง ตวง วัดให้เหมือนกันหมด และอย่างอื่นอีก แม้ว่าจะเป็นพฤติกรรมที่ดุเดือดค่อนข้างจะโหดร้ายในทรรศนะของเรา ปัจจุบันรายละเอียดเรื่องนี้หาอ่านได้ในหนังสือ National Geographic Magazine ฉบับเดือนเมษายน ค.ศ. 1978 ในรถ ข้าพเจ้าถามคุณซุนหมิงว่าทำไมถึงไม่เปิดดูในสุสานว่ามีอะไรบ้าง เขาบอกว่าตอนนี้นักวิชาการจีนต้องทำงานหลายด้านแล้วเคยอยู่ครั้งหนึ่งที่จีนเปิดเอาศพที่ฝังอยู่ฝนสุสาน ซึ่งศพอยู่ในสภาพที่ดีมากในตอนแรก ทิ้งเอาไว้นานๆ ก็เน่าเสียไป เพราะทางด้านวิชาการยังไม่ดีพอ ขนาดหุ่นในกองทัพนั้น ยังไม่สามารถรักษาสีให้อยู่ในสภาพเดิมได้ ถ้าเปิดสุสานขึ้นอีกจะทำของเสียไปอีกเอาไว้วิชาการดีขึ้นค่อยพิจารณาเปิดสุสาน (ข้าพเจ้าเข้าใจว่าอาจเป็นด้วยงบประมาณ และอีกประการหนึ่ง มีประวัติอยู่ว่าสุสานพระเจ้า ฉินสื่อหวังตี้ ถูกกษัตริย์ต่างราชวงศ์ชื่อพระเจ้า ฉู่ป้าหวัง หรือ ฌ้อปาอ๋อง สั่งเผา ปล้นขนทรัพย์สมบัติ อาจไม่มีอะไรเหลือมากนัก ไม่คุ้มกับงบประมาณที่จะเสียและการทำลายพืชผลที่ปลูกบนเนินดินเหนือสุสาน)

คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 60, 71

(น.60) คำว่า เยว่ นั้นพจนานุกรมบอกว่าเป็นแคว้นหนึ่งในสมัยโจวตะวันออก (770-256 ก่อนคริสต์กาล) ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเจ้อเจียง และเจียงซู ตัวอักษรจีนเขียนดังนี้(ตัวอักษรจีน) นั่นเป็นพวกที่หนึ่ง พวกนี้ถูกพระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ผนวกดินแดน สุสานที่เราดูเป็นของพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 ของหนานเยว่ท่านสืบเชื้อสายมาจากทหารของจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งกรีฑาทัพมาผนวกดินแดนที่หลิ่งหนาน (ปัจจุบันคือ มณฑลกวางตุ้งและกวางสี) ในปี 214 ก่อนคริสต์กาล ปลายสมัยราชวงศ์ฉิน (221-206 ก่อนค.ศ.) บ้านเมืองวุ่นวาย ท่านนายพลเจ้าถัวถือโอกาสสถาปนาอาณาจักรหนานเยว่ สืบราชสมบัติกันมา 5 รัชกาลก็สิ้นวงศ์ รวมเวลา 93 ปี เป็นสมัยเดียวกับอาณาจักรฮั่นตะวันตก
(น.60) รูป 53 บริเวณสุสานที่ขุดค้นแล้ว
(น.71) มีรูปซากอู่ต่อเรือในจงซาน คนนำอธิบายว่า พระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ หรือที่จีนเรียกว่า ฉินซื่อหวาง ส่งทหารมาประจำที่กวางโจว เมื่อ 214 ปีก่อนคริสต์กาล ถือเป็นเมืองค้าขายที่มีประวัติยาวนานที่สุดในโลก เป็นศูนย์กลางการค้า มีท่าเรือใหญ่ที่สุดตั้งแต่สมัยหมิง สมัยชิง จนถึงปัจจุบัน ติดต่อกับต่างประเทศมากที่สุด มีรูปอู่ต่อเรือสมัยราชวงศ์ฉิน กล่าวว่าต่อเรือที่ขนสินค้าได้ 25-30 ตัน รูปซากเรือสมัยราชวงศ์ฮั่น เห็นเป็นเศษไม้ทาสี รูปแสดงเขตเมืองพานหยู แสดงว่าเป็นชายแดนห่างไกลมาก มีกล่องโบราณเขียนชื่อเมืองพานหยู แสดงว่าเดิมเมืองนี้ชื่อพานหยูจริงๆ

มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 6

(น.6)เมื่อถึงที่พักบ้านรับรองเตี้ยวหยูวไถ ไปที่ตึกหมายเลข 7 ไม่ใช่ตึกเดิมที่เคยพักเมื่อ พ.ศ.2524 ห้องพักจัดอย่างสวยงามทันสมัย เป็นห้องชุดมีห้องนอน ห้องทำงาน ห้องรับแขก มีหนังสือมากมายที่ใช้เป็นหนังสืออ้างอิงได้ เช่น เรื่องหงโหลวเมิ่ง หรือความฝันในหอแดง ไซอิ๋ว คลองใหญ่ (Grand Canal) เรื่องของหลู่ซุ่น นิทานสั้น ๆ เช่นเรื่องนางพญางูขาว รวมบทกวีของไป๋จู่อี้ เรื่องกองทัพของจิ๋นซีฮ่องเต้ หนังสือเกี่ยวกับสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 63, 64, 66

(น.63)สำหรับหลุมที่พบกองทหารม้าของจิ๋นซีฮ่องเต้มี 3 หลุม เปิดใหม่ 2 หลุม จะได้ไปดูรถม้าสมัยนั้น ท่านรองจะไปด้วย เพราะท่านเคยเรียนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประวัติศาสตร์ในช่วงนั้น ข้าพเจ้าถามว่าตอนนี้มีวิธีเก็บรักษาดีขึ้นหรือยัง ข้าพเจ้าเคยถามเจ้าหน้าที่จีนเมื่อเดินทางมาในคราวก่อนว่าทำไมไม่ขุดขึ้นมาดูอีก เจ้าหน้าที่ตอบว่าไม่ขุดเพราะยังไม่ทราบวิธีรักษา (โดยเฉพาะอย่ายิ่งเรื่องการรักษาสี) ขุดขึ้นเกรงว่าของจะเสีย ท่านรองอธิบายว่าหลุมที่ 1 ที่ข้าพเจ้าเห็นเป็นหลุมที่ถูกไฟไหม้ถูกทำลายไปบ้างแล้ว หลุม 3 มีสภาพดีกว่า เราขุดมาบางส่วน ส่วนใหญ่ก็ยังอยู่ใต้ดิน เทคนิคการเก็บรักษานั้นยากมาก การขุดค้นต้องทำอย่างช้า ๆ เราเองก็ไม่ค่อยได้ขุดขึ้นมาโดยตั้งใจ ที่พบมักเป็นการพบโดยบังเอิญ เช่นขุดเพื่อก่อสร้างอะไร ๆ แต่ที่คิดว่าน่าจะขุดค้นต่อไป คือสุสานพระเจ้าจิ๋นซี ข้าพเจ้าถามว่าที่เคยได้ยินมาว่าสุสานถูกฌ้อปาอ๋องปล้นหมดแล้วท่านว่าจริงหรือเปล่า ท่านรองบอกว่าหลักฐานทางประวัติศาสตร์บอกไว้อย่างนั้น เมื่อไปสำรวจจริง ๆ ไม่พบร่องรอยว่ากำแพงถูกทำลายหรือว่ามีการขโมย ปรอทที่มีในหลุมก็ยังอยู่ ข้าพเจ้าสงสัยว่าเมื่อยังไม่ได้
(น.64) ขุดดูจะทราบได้อย่างไรว่ามีปรอท ท่านรองบอกว่าใช้เครื่องมือวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ คนที่สนใจศึกษาชื่อ ดร. หยางเจิ้งหนิง เป็นชาวอเมริกันเชื้อสายจีน กับลูกศิษย์ของเขา นักวิชาการกลุ่มนี้อยากขุดตรวจปฏิกิริยาใต้ดิน แต่การสำรวจลงทุนสูง และความคิดเห็นของนักวิชาการกลุ่มต่าง ๆ ยังไม่ตรงกัน รัฐบาลของมณฑลจึงกำลังพิจารณาโครงการพวกนี้ เรื่องของถูกขโมยหรือไม่เป็นข้อโต้แย้งสำคัญ ขโมยสมัยก่อนจะขโมยเฉพาะอาวุธเหล็ก ซึ่งเขาคิดว่าเป็นของมีค่าเอาไปใช้ได้ แต่พวกตุ๊กตาหุ่นซึ่งเป็นของสำคัญจริง ๆ ไม่ได้โดนขโมย วังโบราณที่เรียกว่าอาฝังกงกว้างใหญ่มาก ส่วนสำคัญอยู่ทางตะวันตกของซีอาน ห่างประมาณ 10 กิโลเมตร แต่เราไม่ทราบเรื่องอะไรมาก เนื่องจากสมัยราชวงศ์ฉินสั้นมาก และการรักษาโบราณวัตถุที่แล้วมาทำได้ดีมาก ความหวังของเราอยู่ที่การขุดสุสานฉินซื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) มากกว่าการขุดพระราชวัง เนื่องจากตามธรรมเนียมเวลามีชีวิตอยู่ใช้ของอะไรเขาก็จะเอาของอย่างนั้นใส่ไว้ในสุสานเหมือนกัน ฉินซื่อหวงตี้อยู่ที่เสียนหยางนานที่สุด ที่เมืองเสียนหยางซึ่งก็ถูกทำลายไปมาก ถ้าดูในสุสานคงได้เห็นภาพฝาผนัง มีเอกสารประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าใต้สุสานมีสระน้ำ มีรูปสัตว์ทำด้วยทองคำ ถ้าขโมยจะขโมยก็คงเอาไปได้แต่ของทองคำ เอาภาพฝาผนังไปไม่ได้
(น.66)ที่พิพิธภัณฑ์มีรูปม้าบินได้ทำด้วยทองสำริด ฉินซื่อหวงตี้ชอบขี่ม้าที่เรียกว่าเหอชูว (แปลว่าแม่น้ำคดเคี้ยว) ม้าพันธุ์นี้ดีมาก หายาก วิ่งไม่เร็วนัก แต่มีกำลังดี คนละพันธุ์กับม้าจากภาคตะวันตกที่เรียกว่าม้าสวรรค์ซึ่งวิ่งเร็วมาก

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 74 - 75, 85

(น.74) รูปที่ 60. หินสลักรูปขบวนกองคาราวานเดินทางไปภาคตะวันตก : Stone sculpture illustrating a caravan heading westward.
(น.74) ถึงตอนนี้เห็นข้าพเจ้าควักเข็มทิศมาดูเส้นทางที่เรากำลังเดินทาง คุณหันก็เลยบอกว่าเข็มทิศนี่จีนคิดก่อน โคลัมบัสก็เดินทางโดยใช้เข็มทิศนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่ชาวเอเชียมีส่วนเกื้อกูลอารยธรรมโลก เปลี่ยนจากเรื่องประวัติศาสตร์ คุณหันกลับมาอธิบายสองข้างถนนที่เขาปลูกผักแบบคลุมโปงพลาสติก พืชน้ำมัน (ดอกเหลือง ๆ ) และข้าวสาลี ปีนี้ข้าวสาลีจะเก็บได้ในวันที่ 6 มิถุนายน เราข้ามแม่น้ำฟงต่อด้วยแม่น้ำเว่ย เข้าไปเมืองเสียนหยาง เมืองหลวงของราชวงศ์ฉิน (บริเวณฉางอานมีแม่น้ำ 8 สายอยู่รอบ ๆ ) ตอนนี้น้ำในแม่น้ำเว่ยมีไม่มากนักต้องเดือนกรกฎาคมหรือสิงหาคมแม่น้ำจึงจะ เต็ม
(น.75) ที่เสียนหยางก็มีหุ่นทหารม้าถึง 5,000 ชิ้น สมัยราชวงศ์ฮั่นตัวเล็กกว่าของราชวงศ์ฉิน แต่เราไม่มีเวลาไปดู
(น.85) ที่นี่ม้าเป็นเรื่องสำคัญมาก เมื่อคืนนี้รองผู้ว่าราชการพูดถึงม้าหลายชนิด ข้าพเจ้าฟังแล้วงง ข้าพเจ้าขอให้อาจารย์สารสินช่วยสืบว่าตกลงมีชนิดไหนบ้าง ได้ความว่ามี 4 ชนิด ดังนี้
ม้าต้าหวัน ต้าหวันหรือเฟอร์กานา (Ferghana) เป็นชื่อแคว้นของชนเผ่าหนึ่ง มีการติดต่อกับจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ปัจจุบันอยู่ในเขตอูซเบกิสลานในรัสเซีย รูปปั้นของม้าต้าหวันมีอยู่ที่สุสานเม่าหลิง
ม้าจากรูปปั้นม้าเยียบนกบิน คือม้าอูซุนจากแถบลุ่มแม่น้ำอีลี่ มณฑลซินเกียง
ม้าของฉินซื่อหวงตี้ คือม้าเหอชูวจากมณฑลกานซู
ม้าบิน (มีปีก) เดิมตั้งอยู่หน้าสุสานเจ้าหลิง เป็นม้าเปอร์เซียหรืออิหร่าน

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 111, 113 - 117

(น.111)ไปถึงพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาทหารของฉินซื่อหวงตี้ (สังเกตเห็นว่ามีร้านขายของที่ระลึกเป็นรูปทหารมากมายหลายร้าน แต่ก่อนไม่เห็นมี ตามตลาดมีป้ายภาษาอังกฤษติดไว้ตัวโตว่าขายตุ๊กตาทหาร)ในการมาครั้งแรกได้เขียนเอาไว้เป็นข้อความฝากความฝันอันสวยงามไว้ให้เราว่าโบราณวัตถุที่ขุดค้นนี้เป็นเครื่องแสดงความก้าวหน้าทางจิตใจ วัฒนธรรม และเทคโนโลยี ความสำเร็จในการค้นคว้าวิจัยเป็นผลงานของเจ้าหน้าที่ที่นี่ทุกคน และได้อวยพรไว้ คำอวยพรเป็นกำลังใจแก่พวกเรามาก
(น.112) รูป84. ตุ๊กตาทหารในกองทัพพระเจ้าจิ๋นซี ในการมาครั้งแรกได้เขียนเอาไว้เป็นข้อความฝากความฝันอันสวยงามไว้ให้เราว่า โบราณวัตถุที่ขุดค้นนี้เป็นเครื่องแสดงความก้าวหน้าทางจิตใจ วัฒนธรรม และเทคโนโลยี ความสำเร็จในการค้นคว้าวิจัยเป็นผลงานของเจ้าหน้าที่ที่นี่ทุกคน และได้อวยพรไว้ คำอวยพรเป็นกำลังใจแก่พวกเรามาก ต่อจากนี้จะเล่าถึงความคืบหน้า ตอนที่ข้าพเจ้ามาครั้งแรกมีแต่หลุมที่ 1 ปีหน้าจะขุดหลุมที่ 2 ต่อไป คราวนี้เพิ่มการแสดงรถม้าทองสำริด
(น.113) ค.ศ. 1980 พบรถ 2 คัน บูรณะเสร็จตั้งแสดงได้ใน ค.ศ. 1983 คันหนึ่ง เดือนพฤษภาคม 1988 อีกคันหนึ่ง ใน 8-9 ปีที่ผ่านมานี้ได้สำรวจบริเวณสุสานเพิ่มขึ้น รอบสุสานนี้เราพบหลุมตุ๊กตาสัตว์ต่าง ๆ รถม้า เราขุด 400 กว่าแห่ง กระจายไปในเนื้อที่ 2 ตารางกิโลเมตร แสดงว่าใต้ดินมีของล้ำค่าอยู่มากมาย สำหรับสุสานเราใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ ได้รับผลสอดคล้องกับเอกสารประวัติศาสตร์ที่ซือหม่าเชียนเขียนไว้ว่าใช้ปรอทในสุสาน ข้าพเจ้าถามว่าวิธีการทางวิทยาศาสตร์ที่ว่านี้ทำอย่างไร เขาบอกว่าปรอทระเหยได้ จึงนำดินชั้นบนมาตรวจวิเคราะห์ทางเคมี สามารถคำนวณปริมาณปรอทที่มีอยู่ได้ การสำรวจสุสานถึงจะมีความก้าวหน้าก็ต้องกระทำต่อไป การขุดคันนี้เข้าโครงการของยูเนสโก ออกไปดูหุ่นจำลองบริเวณที่ขุดใหม่ แล้วไปดูที่หลุม 1 สังเกตว่าจัดเป็นระเบียบกว่าแต่ก่อน ตุ๊กตาหน้าตาไม่เหมือนกัน ตัวหุ่นปั้นด้วยมือแต่ศีรษะซึ่งถอดได้ใช้วิธีหล่อ ครั้งที่แล้วข้าพเจ้าถามเขาว่าใครเป็นผู้ทำหุ่น เขาบอกว่าไม่ทราบ ตอนนี้ตอบได้แล้ว ในหุ่นบางตัวสลักชื่อคนทำเอาไว้ พบชื่อนายช่าง 85 คน แต่ละคนจะมีลูกศิษย์อีกเป็นจำนวนมาก มีเท่าไรไม่ทราบ คาดว่าไม่ต่ำกว่า 10 คน นายช่างชื่อกงฉาง กงเต๋อ เสียนหยางอู๋ เป็นต้น สังเกตคร่าว ๆ จากหน้าตาของตุ๊กตาสันนิษฐานว่ามี 3 พวก
1. คนภาคกลางของจีน หน้าใหญ่ สี่เหลี่ยม
2. คนจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นคนกลุ่มน้อยที่เลี้ยงสัตว์เร่ร่อน
3. คนป้าสู่มาจากมณฑลเสฉวนเป็นคนตัวเล็ก ๆ
(น.114) ขณะนี้ตัวตุ๊กตามีการแตกร้าวบ้างเพราะอากาศแห้ง เขาซ่อมบางตัวด้วยวิธีการฉีดน้ำยาเข้าไป พื้นของบริเวณที่ปูด้วยอิฐ เดิมเป็นอุโมงค์มีหลังคาคลุม มีเสา (ยังเห็นหลุมเสา) แต่ถูกไฟไหม้พังลงมา การเรียงตุ๊กตาหลุม 1 นี้ เป็นแบบการจัดกองทัพที่จะออกรบ ด้านหน้า 3 แถว แถวละ 68 คน รวม 204 คน มีนายทหารควบคุม 2 คน ทั้งหมดนี้เป็นกองหน้า มีทหาร 38 ขบวน รวมแล้ว 6,000 กว่าคน เป็นกองทหารใหญ่มาก แสดงความองอาจผ่าเผย ม้าของทหารเหล่านี้เป็นม้าเหอชูวอยู่ที่กานซู หัวธนูก็พบมาก มีสามหมื่นกว่าชิ้น สำหรับฉินซื่อหวงตี้นั้น อาจารย์หวางบอกว่าน่าจะเป็นคนอยู่ในตระกูลเลี้ยงม้า อยู่แถบมองโกเลียใน แล้วจึงมาภาคกลาง เป็นไปได้ที่จะเป็นคนกลุ่มน้อย แต่ก็ไม่ยืนยัน ข้าพเจ้าถามว่าเมื่อขุดหลุมแรกนั้นเป็นการพบโดยบังเอิญเมื่อชาวบ้านขุดบ่อน้ำ เมื่อตั้งโครงการแล้วก็ต้องกำหนดจุดที่จะขุดอย่างแน่นอน มีวิธีการเลือกบริเวณที่จะขุดอย่างไร อาจารย์หยวนและอาจารย์หวางอธิบายว่าใช้วิธีขุดเป็นหลุมตัวอย่างเล็ก ๆ ดินตรงไหนไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากธรรมชาติก็ไม่มีวัตถุ เวลาปฏิบัติงานจะมีนักวิชาการ 20 กว่าคน ที่ประจำอยู่มี 70 กว่าคน อิฐดั้งเดิมบางก้อนก็มีชื่อของผู้ทำสลักอยู่ อิฐที่นี่ผสมทรายควอตซ์ เผาด้วยอุณหภูมิ 1,000 ํซ. ตุ๊กตาก็ทำด้วยดินปนทรายแบบนี้ สมัยอื่นใช้ดินออกสีเหลือง ที่เป็นตุ๊กตาตัวเล็กเพราะสุสานสมัยอื่นที่เราเจอตุ๊กตาเป็นสุสานของเสนาบดี ไม่ใช่ของกษัตริย์
(น.115)มีรูปแสดงภาพเดิมที่พบม้าแตกเป็นชิ้น ๆ สถานที่ค้นพบม้านี้อยู่ที่ทางขึ้นสุสาน รถม้าทั้ง 2 คันใส่ไว้ในหีบใหญ่หีบเดียว ทำด้วยทองสำริด มีของประดับเป็นทองคำ และเงินสลับกัน ใช้ทองคำ 3 ก.ก. เงิน 4 ก.ก. ในรถมีลายดอกไม้ต่าง ๆ แบบรถม้า มีรถเปิดกางร่มสำหรับการรบเรียกอีกอย่างว่าเป็นรถยืน ภาษาจีนว่า ลี่เชอ มีอาวุธหลายอย่าง เทียมม้า 4 ตัว ส่วนรถอีกชนิดเรียกว่ารถสงบ ภาษาจีนว่าอันเชอ เป็นรถเก๋งสำหรับพวกเจ้าแผ่นดินเสด็จไปตรวจราชการ ขบวนรถที่ใหญ่ที่สุดเล่าว่ามีถึง 81 คัน ขนาดกลางมี 36 คัน ขนาดเล็กมี 9 คัน แต่แรกพอเขาอธิบายว่ารถเก๋งนี้เรียกว่าอันเชอ แทนที่ข้าพเจ้าจะคิดว่าเป็นคำอาน แปลว่า สงบ กลับไปคิดถึงคำว่าอาน ที่แปลว่าอานม้า ถามอาจารย์สารสิน อาจารย์บอกว่าเป็นคำที่มีรากศัพท์เดียวกัน คือคำว่าอานม้าใช้ตัวอักษรภาษาจีนที่แปลว่าสงบ อักษรตัวนี้ประกอบด้วยตัวอักษรที่เป็นสัญลักษณ์ของผู้หญิงอยู่ใต้หลังคาบ้าน มารวมกับอักษรที่แปลว่าหนัง สรุปได้ว่า อานคือที่นั่ง (แล้ว) สงบทำด้วยหนัง ออกนอกเรื่องไปเสียแล้ว กลับมาเรื่องรถอีก รถพระที่นั่งชื่อ จินเกินเชอ แปลว่ารถราก (รากแบบรากต้นไม้) ทอง บริเวณนี้ยังเจอโล่พบอยู่อันเดียว ลายของรถพระที่นั่งมีลวดลายแกะสลักทาสี ยังมีอยู่อีกหลายคันที่ยังไม่ได้ขุดขึ้นมา นั่งรถไปหลุมที่ 3 หลุมที่ 3 มีขนาดเล็กกว่าหลุมแรก คือ 520 ตารางเมตร มีทางเข้า ข้างหน้าเป็นประตูไม้ยาว 28.8 เมตร กว้าง 24.57 เมตร ลึก 3.2-5.4
(น.116) รูป85. บริเวณที่พบตุ๊กตาทหารพระเจ้าจิ๋นซี
(น.116) ส่วนที่ขุดขึ้นมาศึกษาใหม่ (ที่มาย่ำแดนมังกร คราวก่อนยังไม่ได้ขุด) เมตร มีรถศึกคันหนึ่ง มีตุ๊กตาคนและม้า 72 ชิ้น รถม้าเทียมด้วยม้า 4 ตัว ในรถมีทหาร 4 คน ข้างหน้าเป็นนายทหาร ข้างหลังเป็นคนขับรถ หลุม 3 นี้ทหารหันหน้าเข้าหากันในลักษณะเป็นกองรักษาการณ์มากกว่าเป็นการออกรบ ยังซ่อมไม่เสร็จ ตุ๊กตาพวกนี้มีลายสีแดง เขียว น้ำเงิน ม่วง เหลือง ขาว ดำ งานขุดค้นทางโบราณคดีและงานซ่อมบูรณะเป็นงาน
(น.117) ที่ละเอียดมาก เจ้าหน้าที่จะต้องค่อย ๆ เอาแปรงปัดดิน มีอีกคนคอยนั่งวาดรูปทุกชิ้นส่วนที่แตกไป แล้วก็ต้องเอามาต่อกันให้ถูกต้องเหมือนเล่นรูปต่อ ในหลุมมีรูปกวางด้วย เขาอธิบายว่าเป็นของที่ใช้ในการบูชาบรรพบุรุษก่อนออกรบ

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 133 - 134

(น.133)เมื่อเขียนถึงตรงนี้ข้าพเจ้าขอย้อนมาพูดเรื่องม้าอีกสักครั้ง (ต่อไปอาจจะพูดอีกหลายครั้งเมื่อมีข้อมูลเปลี่ยนแปลงคือไปคุยกับใครมาอีก) ข้าพเจ้าอ่านหนังสือกี่เล่ม ๆ ก็ไม่ค่อยตรงกัน ตามความเข้าใจว่าม้าที่ฮั่นอู่ตี้ได้มา เป็นม้าจากเฟอร์กานา เป็นม้าที่มีพลัง และความรวดเร็วเรียกว่า ม้าเหงื่อเลือด
(น.134) รูป93. พิพิธภัณฑ์นี้มีศิลปวัตถุ โบราณวัตถุ จากหลายสมัย จัดเรียงตามลำดับเวลา
(น.134) (ฮั่นเสว) ในเรื่องมังกรหยกว่าเป็นม้าที่ก๊วยเจ๋งใช้นั่นแหละ แต่มีนักวิชาการภายหลังตีความว่าที่ม้ามีเหงื่อเป็นเลือดไม่ได้เป็นพันธุ์พิเศษ แต่เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากแบคทีเรีย ตัวอย่างของม้าชนิดนี้คือม้าที่ขุดพบที่อู่เว่ยที่เรากำลังดูอยู่
ม้าชนิดที่ 2 คือม้าอูซุน มาจากทุ่งหญ้าแถบลุ่มแม่น้ำอีลี่ คือ ม้าที่เหยียบฉยุงหนู
ม้าชนิดที่ 3 ม้าเหอชูว ของจิ๋นซีฮ่องเต้ เดิมมาจากทุ่งหญ้าในกานซู ชิงไห่ และเสฉวน

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 196

(น.196) ตัวพิพิธภัณฑ์เองก็ทำเป็นรูปกำแพงเมืองจีน ข้างในมีรูปกำแพงเมืองจีนในสถานที่และสมัยต่าง ๆ ตั้งแต่ที่แรกทางตะวันตกไปจนออกทะเลทางตะวันออก มีคำอธิบายไว้ด้วยว่าด่านไหนอยู่ที่ไหน และเป็นการก่อสร้างของสมัยใด ดูแผนที่รูปกำแพงเมืองจีน มีไฟฟ้าติดแสดงเส้นทางของกำแพงเมืองจีนในแต่ละสมัย ทำให้ทราบถึงวิวัฒนาการของกำแพงเมืองจีน ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยชุนชิว จ้านกว๋อ สมัยราชวงศ์ฉิน สมัยราชวงศ์ฮั่น และสมัยราชวงศ์หมิง รวมกันแล้วกำแพงเมืองมีความยาว 5,000 กิโลเมตร กลับไปดูนิทรรศการ เขามีแผนที่แยกกำแพงเมืองจีนเป็นแต่ละราชวงศ์มีภาพติด ในตู้มีของต่าง ๆ เช่น กระเบื้องสมัยราชวงศ์ฉิน รูปฐานของป้อมไฟ (ว่าก่อสร้างอย่างไร) ข้างในเป็นกรวดกั้นด้วยแผ่นหิน

หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 79

(น.79) ในต้าหมิงหูมีเกาะ 6 เกาะ มีอยู่เกาะหนึ่งมีศาลากลางทะเลสาบ (หูซินถิง) ที่เกาะฉวินฟังเซียงเต่า มีสวนบุปผชาติ มีวัดทางศาสนาเต๋า และศาลาแปดเหลี่ยมชื่อ ลี่เซี่ย ซึ่งมีประวัติว่าสร้างมา 1,400 กว่าปีแล้ว แต่ที่เห็นในปัจจุบันคือ ศาลาที่สร้างขึ้นในสมัยจักรพรรดิคังซี ปีที่ 32 มีประวัติ 300 กว่าปีเท่านั้น ป้ายหน้าศาลาเป็นลายพระหัตถ์จักรพรรดิเฉียนหลง ข้างในจัดให้มีรูปคนดังเมืองจี่หนานทุกยุคทุกสมัย 15 ท่าน 2.ฝูเซิง สมัยราชวงศ์ฮั่น ในยุคที่ฉินสื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) สั่งเผาคัมภีร์ขงจื่อจนหมด แต่ท่านผู้นี้จำไว้ได้ ภายหลังท่องให้ผู้อื่นเขียน

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 99

(น.99)ไปดูหลู่ปี้ เขาว่ากันว่าเคยเป็นที่อยู่เดิมของขงจื่อ มีฝาผนังที่เล่ากันว่าจักรพรรดิฉินสื่อหวงตี้สั่งเผาตำราขงจื่อ หลานชื่อขงฝู่ได้เก็บหนังสือไว้ในผนังแห่งนี้ ต่อมาสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (ก่อน ค.ศ. 140 – ก่อน ค.ศ. 87) เจ้าเมืองหลู่จะมาก่อสร้างบ้านใหม่ รื้อกำแพงจึงพบ กล่าวกันว่าขงฝู่เป็นผู้มีคุณงามความดีที่เก็บหนังสือไว้ ฉันเคยอ่านที่ไหนไม่ทราบว่าฉินสื่อหวงตี้ให้เผาหนังสือขงจื่อก็จริง แต่พระองค์เองก็เก็บไว้ที่หอหลวง เห็นจะเป็นทำนองเดียวกันกับหนังสือต้องห้ามของศาสนาคริสต์ในยุคกลางที่ไม่ให้ใครอ่าน แต่ก็ต้องเก็บไว้ในหอสมุดของอาราม

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 120

(น.120)เครื่องหยกโบราณ ส่วนมากค้นพบจากในสุสาน เครื่องทองสำริดของรัฐฉู่ ซึ่งเป็นรัฐที่มิใช่ชนชาติจีน เป็นรัฐใหญ่มากกลางประเทศ อาณาเขตกว้างขวางถึงแถบมณฑลหูเป่ย รัฐฉู่มีภาษาและวัฒนธรรมที่ค่อนข้างแตกต่างจากจีน มีวรรณคดีตกทอดมาจนทุกวันนี้ จิ๋นซีฮ่องเต้มาตีรัฐนี้ จึงรวมประเทศได้

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 181 - 182

(น.181) จุดที่ 2 คือ เปยหลิน หรือป่าจารึก เป็นที่รวบรวมแบบการเขียนหนังสือทุกๆ แบบที่มีใช้ในจีนทุกยุคทุกสมัยตั้งแต่โบราณมาจนถึงปัจจุบัน วันนี้ไม่มีเวลา เขาเลยจะให้ดูแต่สมัยโบราณ ที่นี่เปิดเมื่อเดือนตุลาคม ค.ศ. 1996 เพื่อเป็นการรวบรวมวัฒนธรรมจีนด้านตัวอักษร เริ่มตั้งแต่สมัยจารึกบนกระดองเต่า จารึกบนทองสำริด สมัยราชวงศ์ฉิน ซึ่งเป็นสมัยที่ตั้งมาตรฐานการเขียนให้เหมือนกันทั้งประเทศ ตัวหนังสือมาตรฐานสมัยราชวงศ์ฮั่นมี 7 แบบ เริ่มเขียนลายมือ (ซูฝ่าหรือ calligraphy) บนป้ายประกอบพิธี ป้ายภูเขาหัวซาน ป้ายที่จังเชียนเขียน ป้ายเฉาฉวน (เขาว่างามที่สุด) สมัยสามก๊ก เขียนบทกวี หวังซีจือเป็นผู้เขียน หลังจากดื่มสุราจนมึนเมาแล้ว เขียนบทกวีได้จบรวดเดียว มีวิธีเขียนแปลกๆ ตัว จื่อ ตัวเดียวเขียนได้ 22
(น.182) แบบไม่ซ้ำกันเลย เขาเขียนหวัดแบบ เฉ่าซู ได้เก่งมาก หวังเซี่ยนจือลูกหวังซีจือก็เขียนหนังสือเก่งเหมือนกัน คัดบทลั่วเสินจากป้ายไท่ซานและคัมภีร์จินกัง สมัยราชวงศ์เว่ยมีป้ายหน้าฮวงซุ้ย มีอักษรฝีมือพระจื้อหย่ง ที่สวยที่สุดคือ สมัยราชวงศ์ถัง เป็นการขัดเกลาวิธีการมาจนกระทั่งถึงจุดสูงสุด ตอนนี้หมดเวลาอีกแล้ว คนที่เป็นคนรวบรวมอักษรนี้คือ คุณหลี่กงเทาเป็นนักเขียนพู่กันจีน ฉันไม่มีโอกาสถามเขาว่าถ้ารวบรวมแบบอักษรจีนทั้งหมด แล้วในสมัยใหม่นี้รวบรวมแบบ font คอมพิวเตอร์เอาไว้ด้วยหรือเปล่า ฉันเคยเรียนเรื่องลายมือแบบต่างๆ ตามหลักวิชา แต่ลืมไปแล้ว

เกล็ดหิมะในสายหมอก
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 1 ปักกิ่ง หน้า 112, 113

(น.112) รูป 124 ชื่อรูป มอบของที่ระลึกให้เจ้าหน้าที่ประจำเรือนรับรอง รูป 125 ชื่อรูป มอบของที่ระลึกให้รองอธิบดีจาง
(น.112) ท่านรองฯเล่าว่าเมืองนี้เป็นเมืองใหญ่ที่สุดของมณฑลมีคนประมาณ 4 ล้าน ถ้ารวมเมืองรอบนอกก็ราว 7 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในเขตเมือง สนามบินเถาเซียนอยู่ทางใต้ห่างเมือง 30 กิโลเมตร (เรือนรับรองอยู่ทางเหนือ) มณฑลนี้มีทั้งเกษตรกรรม และอุตสาหกรรม ทั้งเหล็กกล้า น้ำมัน พบแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่หงซาน แต่ฤดูนี้ไปดูไม่สะดวก อยู่ไม่ไกลจากซานไห่กวาน มณฑลเหอเป่ย ซึ่งเขาเพิ่งขุดพบวังใต้ดินของ
(น.113) พระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ ยังไม่ได้ขุดทั้งหมดเพราะไม่มีงบประมาณ ต้องค่อยๆทำไปจะได้ไม่เสีย พรุ่งนี้จะไปดูศิลปะ ท่านผู้ว่าฯ ขอให้รองอธิบดีกรมวัฒนธรรมของมณฑล ซึ่งเคยเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ และมีความรู้ด้านโบราณคดีมานำชม เมื่อเข้าเมืองท่านอธิบายว่าขณะนี้มีการรื้อบ้านเตี้ยๆ ที่เรียกว่า ผิงฝาง สร้างเป็นตึกสูง ที่เรียกว่า โหลวฝาง แต่แรกคนก็ไม่พอใจ ปัจจุบันเคยชินกันเป็นส่วนมาก

Next >>