Please wait...

<< Back

เซี่ยงไฮ้

จากหนังสือ

เกล็ดหิมะในสายหมอก
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 1 ปักกิ่ง หน้า 67

(น.67) มีโรงงานรถยนต์ขนาดใหญ่ ผลิตรถหงฉี (ธงแดง) เวลานี้ไม่ค่อยนิยมใช้กันเพราะว่ากินน้ำมันมาก แต่ท่านยังใช้และยังแล่นได้ดี พูดถึงถนนหนทางเวลานี้ก็สะดวกสบายขึ้น มีทางด่วนจากปักกิ่งไปเทียนสิน นานกิงไปเซี่ยงไฮ้ เศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่ก็เป็นเศรษฐกิจอุตสาหกรรม การเกษตรยังไม่ก้าวหน้านัก ต่อไปจะ ต้องเร่งพัฒนาให้ดีขึ้น อุตสาหกรรมเบาก้าวหน้าไปเร็ว อุตสาหกรรมหนักก้าวหน้าช้า เรื่องของพลังงานก็มีการพัฒนาไปมาก ส่วนใหญ่ใช้ถ่านหิน

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 1 ปักกิ่ง หน้า 111

(น.111) ไปสนามบินพวกสถานทูตมาส่ง คุยกันพักหนึ่ง หวางเมิง ฝากนามบัตรกับหนังสือเล่มใหม่ที่ชื่อว่า “หว่อ- เตอเฮอจิ่ว” แปลว่า “การดื่มเหล้าของผม” มาให้ ขึ้นเครื่องบินบริษัท Northern China บินประมาณ 45 นาที 600 กว่ากิโลเมตร เวลา 21.30 น. เครื่องบินลงสนามบินเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิง (เมืองเสิ่นหยางนี้สมัยญี่ปุ่นขึ้นเรียกว่ามุกเดน) อุณหภูมิ -13 ˚C มีท่านรองผู้ว่าราชการมณฑลเกากั๋วจู้กับคณะอีกหลายท่านมารับ ท่านรองฯนั่งรถไปด้วยมีคุณก่วนมู่เป็นล่าม รถยนต์แล่นช้ามากทั้งๆที่ระยะทางก็ไม่ไกลนัก เนื่องจากน้ำแข็งจับถนนลื่นมาก เมื่อปลายปีหิมะตกหนัก ปีนี้หนักกว่าทุกปี ท่านรองฯเป็นคนเมืองนี้ไปโตที่เซี่ยงไฮ้ และกลับมาเป็นนายกเทศมนตรีที่เมืองต้าเหลียน บ้านยังอยู่ต้าเหลียน เวลาสุดสัปดาห์ก็ขับรถจากเสิ่นหยางกลับบ้านประมาณ 3 ชั่วโมง เดี๋ยวนี้มีทางด่วน เปิดใช้มา 4 ปีเศษแล้ว จะสร้างทางไปปักกิ่ง ระยะทาง 700-800 กิโลเมตร

แกะรอยโสม
แกะรอยโสม หน้า 117

(น.117) รูป 111 ชมขั้นตอนการผลิต

(น.117) ผลิตภัณฑ์ชนิดอื่นมีครีมกันผิวแตกเวลาหน้าหนาว น้ำหอมยี่ห้อฝรั่งเศส สบู่อาบน้ำ ครีมชะลอความแก่ เป็นต้น ข้าพเจ้าและพรรคพวกซื้อสบู่อาบน้ำและของบางอย่างมาใช้ แต่ครีมชะลอความแก่ไม่มีใครซื้อ เพราะคิดว่าแก่อยู่แล้วชะลอไว้ก็ไม่มีประโยชน์ (แถมราคาก็แพงกว่าอย่างอื่น) ขณะกำลังสั่งซื้อของต่างๆ กันอยู่นั้น ข้าพเจ้าเหลือบไปเห็นคุณหลี่เม่าเข้าพอดี เลยรีบเข้าไปทัก เราเพิ่งคุยถามถึงเขาอยู่เมื่อเช้านี้เองว่ามาคราวนี้ยังไม่พบคุณหลี่เม่าเลย เมื่อซื้อของกันเสร็จแล้ว ทางโรงงานเขาให้เราใส่เสื้อคลุมสีขาว ใส่หมวก แล้วไปชมกิจการ ที่นี่คนงานทำงาน 8 ชั่วโมง มีกะเดียว ตอนต้นเขาให้ดูงานการกวนครีม ใช้เครื่องจักรอิตาลีกับของเซี่ยงไฮ้ วัตถุดิบในการผลิตจากปักกิ่ง ก่อนผสมก็จะชั่งน้ำหนัก

คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 18,22

(น.18) ที่หมายที่สองคือ บ้านหวั่งหลี อยู่ที่หมู่บ้านเฉียนเหม่ย ตำบลหลงตู อำเภอเฉิงไห่ เดินทางข้ามแม่น้ำหัน ทางเข้ามีซุ้มประตู เมื่อเข้าไปเป็นนาข้าว สวนลิ้นจี่ สวนลำไย มีลิ้นจี่มากกว่าอย่างอื่น ผ่านหมู่บ้านซึ่งมีทั้งบ้านแบบสมัยใหม่และอาคารแบบเก่าเหมือนศาลเจ้า บ้านที่ไปดูมองดูเป็นแบบจีนปนฝรั่ง สร้างด้วยหินประดับกระจกและกระเบื้องโมเสก คานขื่อเป็นไม้สลักลายจีน เขาแจกเอกสารอธิบายยาวเหยียดเป็นภาษาจีนพอจะสรุปเนื้อความได้ว่า บ้านหลังนี้ผู้สร้างเป็นพ่อค้าตระกูลเฉิน (ตั๊ง หรือตั้ง) ชื่อเฉินเหวินหรง เริ่มร่ำรวยขึ้นสมัยสงครามฝิ่น จากการทำธุรกิจค้าข้าวระหว่างเซี่ยงไฮ้ ซัวเถา สิงคโปร์ มาเลเซีย กรุงเทพฯ ฮ่องกง ไซ่ง่อน แต่แรกตั้งบริษัทอยู่ที่ฮ่องกง ต่อมามีปัญหาทางสุขภาพก็เลยยกทรัพย์สมบัติและธุรกิจให้ลูกชื่อ เฉินสื่อหวาง

(น.22) รูป 14 บริเวณท่าเรือโบราณจางหลิน

(น.22) เข้าไปถึงเห็นเสาทำด้วยหินแกรนิตสีชมพู เขียนว่าท่าเรือโบราณจางหลิน (คนแต้จิ๋วอ่านว่า จึงลิ้ม) มีจารึกประวัติท่าเรือ ท่าเรือนี้ถือว่าเป็นท่าเรือที่เก่าแก่มากแห่งหนึ่งของจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง มีความสำคัญทางการทหารและพาณิชย์เจริญรุ่งเรืองที่สุดสมัยราชวงศ์ชิง ในรัชสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง (ค.ศ.1736-1796) ต่อมาถึงจักรพรรดิเจียชิ่งหรือเกียเข่ง (ค.ศ. 1796-1821) หรือประมาณ 200 ปีมาแล้ว หลังจากนั้นก็ค่อยๆเสื่อมไปเมื่อฝรั่งบังคับให้เปิดซัวเถา ความเจริญก็ย้ายไปทางนั้น ท่าเรือจางหลินนี้เดิมเป็นศูนย์กลางของเรือหัวแดงหรืออั้งเท้าจุ๊น ซึ่งเป็นเรือของมณฑลกวางตุ้ง (เรือของมณฑฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยน จะทาสีเขียว) เส้นทางเดินเรือทางเหนือไปถึงต้าเหลียน เซี่ยงไฮ้ หนิงโป ส่วนทางใต้ไปอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย เชื่อกันว่าพระราชบิดาของพระเจ้าตากสินก็ใช้ท่าเรือนี้เดินทางมาประเทศไทย สมัยก่อนเขาว่ากันว่าใช้เวลาประมาณเดือนหนึ่ง

คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 88

(น.88) รูป 91 ที่วัดจู่เมี่ยว มีหินสลักแสดงงานมีชื่อเสียงของเมืองนี้
รูป 92 ที่วัดจู่เมี่ยว มีหินสลักแสดงงานมีชื่อเสียงของเมืองนี้

(น.88) ภาคบ่ายเดินทางไปโฝซานใช้เวลาเกือบชั่วโมง คุณเฉาเจินเหวยซึ่งเป็นรองเลขาธิการมณฑลกวางตุ้งนั่งไปด้วยท่านผู้นี้เป็นวิศวกรไฟฟ้า เป็นคนซาโจวอยู่ใกล้ๆ หนานจิง แต่ไปเติบโตที่เซี่ยงไฮ้ตอนที่ทำงานโรงงานเมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว ได้แปลหนังสือตำราอิเล็กทรอนิกส์จากภาษารัสเซียมาเป็นภาษาจีนเล่มหนึ่ง จึงนำมาให้ข้าพเจ้าไว้เป็นที่ระลึก เส้นทางเดินทางผ่านเมืองกวางโจวเก่า แต่ก็มีอาคารใหม่ๆ เช่น หอแสดงสินค้าจีน มีงานแสดงสินค้าปีละสองครั้ง สถานีรถไฟ บริเวณข้างทางด่วนมีอาคารที่อยู่อาศัยที่ให้คนซื้อได้ เมืองโฝซาน เป็นเมืองใหญ่ถนนหนทางกว้างขวางและสะอาดเคยได้รางวัลเมืองสะอาด คนมีฐานะดีกว่าคนกวางโจวเสียด้วยซ้ำ ตั้งแต่สมัยโบราณก็ถือว่าเมืองนี้เป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว มีชื่อเสียงด้านการประมง การทำเครื่องเซรามิก เครื่องปั้นดินเผา ใน ค.ศ. 1951 จัดตั้งเป็นเมืองอุตสาหกรรมขนาดกลางมีชื่อเสียงในด้านเซรามิก การทอผ้า อิเล็กทรอนิกส์ พลาสติก อุตสาหกรรมผลิตอาหาร ยา เครื่องจักร ศิลปะ เช่น การวาดภาพ นอกจากนั้นยังมีความพร้อมในด้านการคมนาคมขนส่ง มีท่าเรือถึง 24 ท่า มีสนามบินรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจของเมือง

คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 123,124,148

(น.123) การรบที่ชวนปี่ หลังจากจีนแตกพ่ายที่ซาเจี่ยวแล้ว มีรูปป้ายศิลาที่ทำสรรเสริญม้าของแม่ทัพ แม่ทัพตาย ม้าถูกจับ แต่ศัตรูก็ไม่สามารถบังคับม้าได้ ต้องเอาไปปล่อยบนภูเขา ม้าตายไปเองเพราะคิดถึงเจ้าของ ชาวจีนจึงเขียนป้ายสรรเสริญม้าตัวนั้น รูปแม่ทัพเรือจีน และกล้องส่องทางไกลที่แม่ทัพผู้นี้ใช้ รูปป้อมที่เขาถูกฆ่าใน ค.ศ. 1841 การรบที่หู่เหมิน ของที่แสดงให้ดูเห็นได้ว่า ทหารจีนยังใช้เกราะแบบโบราณ อาวุธโบราณต่างๆ เช่น ดาบ หอก ง้าว โตมร ขณะที่อังกฤษใช้อาวุธที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า เรื่องการต่อต้านของประชาชนในหมู่บ้านซานหยวนหลี่ อยู่ใกล้กวางโจว ถือเป็นชัยชนะของฝ่ายจีนครั้งแรก เพราะฝ่ายอังกฤษชนะแล้วก็เข้าปล้นสะดม ประชาชนจึงร่วมกันต่อต้าน ล้อมทหารได้อาวุธไว้เป็นจำนวนมาก
ตอนที่ 3 สงครามฝิ่นสิ้นสุด ในขณะรบมีแม่ทัพจีนถูกฆ่าตายที่ติ้งไห่ 3 คนคือ เกอหยวนฟา หวังซีเผิง และเจิ้งกั๋วหง ที่อู่ซงก็มีนายพลถูกฆ่า อังกฤษให้ไปเจรจาและลงนามที่นานกิงในวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1842 ผลของสัญญาทำให้จีนต้องเปิดเมืองท่า 5 เมือง คือ กวางโจว เอ้หมึง ฝูโจว หนิงโป เซี่ยงไฮ้ ยกเกาะฮ่องกงให้อังกฤษ ยกเลิกการค้าผูกขาดระบบหัง (ตัวอักษรจีน) ในมณฑลกวางตุ้ง และให้มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เสียเงินชดใช้ให้อังกฤษเป็นค่าฝิ่นที่ทำลายไป

(น.124) ต่อมาประเทศอื่นๆ ก็ต่างเรียกร้องสิทธิตามแบบอังกฤษ จีนถือว่ากลายเป็นประเทศกึ่งอาณานิคม และเป็นความอัปยศ (แต่ข้อสังเกตคือในช่วงนี้จีนยังไม่ถือว่าฮ่องกงเป็นของอังกฤษ) มีภาพฮ่องกงก่อนเป็นของอังกฤษ ใน ค.ศ. 1816 รูปใน ค.ศ. 1846 หลังจากนั้นมีการตั้งสมาคมเพื่อการป้องกันตัว แต่ตั้งในรูปสมาคมหรือสถาบันการศึกษาค้นคว้า เช่น สมาคมตงผิง สถาบันเชิงผิง สถาบันซีหู เป็นต้น
ตอนที่ 4 สงครามฝิ่นครั้งที่ 2 เรียกกันว่า สงครามแอร์โรว์ อังกฤษหาเหตุขยายอิทธิพลทางการค้า ถือโอกาสประท้วงว่าข้าราชการจีนไปขึ้นเรืออังกฤษชื่อ แอร์โรว์ แล้วบังคับให้ลดธงชาติอังกฤษ อังกฤษประกาศสงคราม ฝรั่งเศสเข้าด้วยบอกว่ามิชชันนารีฝรั่งเศสถูกฆ่าตายในจีนเริ่มรบกันจริงๆ ค.ศ. 1857 ปีต่อมาอังกฤษบังคับจีนให้ลงนามในสนธิสัญญาเทียนสิน (ค.ศ. 1858) ซึ่งมีสาระว่าให้มีคณะทูตในปักกิ่งได้ ให้เปิดเมืองท่าต่างๆ เพิ่ม อนุญาตให้พวกฝรั่งเดินทางได้ทั่วจีน เผยแพร่ศาสนาได้อย่างอิสระ และมีการตกลงเพิ่มเติมที่เซี่ยงไฮ้ ให้ฝิ่นเป็นของถูกกฎหมาย จีนไม่ยอมลงนามอังกฤษและฝรั่งเศสจึงส่งทหารเข้ายึดปักกิ่ง เผาพระราชวังหยวนหมิงหยวน ถึง ค.ศ. 1860 จีนจึงยอมปฏิบัติตามสนธิสัญญาเทียนสินและลงนามในอนุสัญญาปักกิ่ง (ค.ศ. 1860) ยกเกาลูนให้อังกฤษ

(น.148) รูป 131 นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์

(น.148) แสดงระบบธนาคารของธนาคารฮ่องกงเซี่ยงไฮ้ ธนาคารอื่นๆ มี Oriental Bank Corporation 1845, Chartered Mercantile Bank 1857, Standard Chartered Bank 1859 แสดงเหรียญเงินและธนบัตรต่างๆ บริษัทจาร์ดีนส์ และบริษัทเดนท์ ด้านชีวิตแบบดั้งเดิมของจีนก็ยังคงมีอยู่ เช่น ร้านขายยาจีน อายุ 100 ปี (ไปซื้อของจริงมาแสดง) ร้านไต้ฟ้าขายผ้า เสื้อยืดตราลูกไก่บนกล่องเขียนภาษาไทยด้วย ร่ม น้ำอบ เครื่องใช้ต่างๆ เช่น กระติกน้ำ (ที่ข้าพเจ้าเคยเห็นตอนเด็กๆ ทำด้วยสังกะสี เป็นลายดอกไม้ สีตุ้งแช่) ตะเกียง ยาสีฟันก้อน เครื่องเงิน เครื่องหวาย การยึดครองของญี่ปุ่น (ค.ศ. 1941-1945) ในค.ศ. 1941 ฮ่องกงถูกญี่ปุ่นยึดครอง เป็นเวลา 3 ปี 8 เดือน เป็นช่วงที่คนฮ่องกงยากลำบากมาก มีรูปการบุกของญี่ปุ่น ทิ้งระเบิด สนามบินไคตั๊ก สิ่งของทหารญี่ปุ่น ของต่างๆ ตอนสงครามโลก พอญี่ปุ่นวางอาวุธ เปิดเพลงชาติอังกฤษอีก แสดงประกาศของญี่ปุ่นสมัยโชวะปีที่ 16 (ค.ศ. 1941)

คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 180,198

(น.180) พิมพ์หมิงเป้า ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์จีนที่มีผู้อ่านมากที่สุดฉบับหนึ่ง ตอนนี้ขายไปแล้ว ทำโรงพิมพ์เดี๋ยวนี้ก็ทำน้อยลง หันไปสนใจการเดินทางไปมหาวิทยาลัยในยุโรป สอนประวัติศาสตร์ และวรรณคดีจีนสมัยราชวงศ์ฮั่นและราชวงศ์ถัง หนังสือพิมพ์ก็เลยเขียนแต่เฉพาะบทบรรณาธิการบ้าง นอกจากนั้นก็มีธุรกิจแถวเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นบ้านเกิด และที่ปักกิ่ง ช่วยกิจการกาชาดด้วย กิมย้งให้หนังสือแปดเทพอสูรมังกรฟ้าภาษาจีน เขาไม่ทราบเลยว่ามีคนแปลเรื่องของเขาเป็นภาษาไทยและตนเองเป็นที่รู้จักในเมืองไทย (เพราะเหตุที่คนไทยไม่ค่อยจะมีคนรู้จักเคารพในเรื่องลิขสิทธิ์ หรือสมบัติของคนอื่น) ถามกิมย้งเรื่องความรู้สึกต่อการกลับคืนสู่จีน เขาว่าคนฮ่องกงทั่วๆ ไปเริ่มต้นก็กังวลอยู่บ้าง แต่เดี๋ยวนี้รู้จักจีนมากขึ้น ไม่รู้สึกว่าทางด้านเศรษฐกิจมีความแตกต่างจากฮ่องกงในปัจจุบันสักเท่าไร เขามองกันว่าจะมีโอกาสดีขึ้นในการเปิดโรงงานที่จีน มีที่ทางกว้างขวางขึ้น ถามเขาว่าเมื่อกลับสู่จีนแล้วเสรีภาพในการเขียนและการแสดงจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ เช่น หนังสือ หนังสือพิมพ์ หรือหนังจีนที่เราชอบ กิมย้งไม่คิดว่าจีนจะมายุ่งอะไรในฮ่องกง เขามีส่วนในการร่างระเบียบเกี่ยวกับศิลปะ วรรณคดี หนังจีนฮ่องกง ยิ่งไม่เปลี่ยนยิ่งดีกับจีน เพราะคนจะดูมาก คนดูจะไม่ชอบดูหนังที่ถูกเซนเซอร์ หรือปลุกใจให้รักชาติ ให้ส่งเสริมชนชั้นกรรมาชีพต่อต้านนายทุน ซึ่งในเมืองจีนอาจจะต้องทำ อย่างไรก็ตามถ้าไม่มีการแทรกแซงจากภายนอก จีนกับฮ่องกงจะปรับตัวเข้าหากันได้เอง

(น.198) รับประทานเสร็จแล้วยังเหลือเวลาอีกนานก่อนจะถึงพิธีส่งคืนฮ่องกง จึงเดินไปเดินมาอยู่ในศูนย์ประชุมอันใหญ่โตดังที่ได้กล่าวมาแล้ว เข้าห้องน้ำล้างหน้า สีฟันได้เสียด้วยซ้ำ เดินเข้าไปในห้องผู้ใหญ่จีน ผู้ใหญ่อังกฤษ (ที่ Baroness Thatcher นั่ง) เดินออกไปข้างนอกเจอลอร์ดและเลดี้วิลสันอีก เจอคุณหลู่ผิง ซึ่งเป็นผู้อำนวยการของสำนักงานฮ่องกง มาเก๊า ขึ้นกับคณะรัฐมนตรี (State Council) เป็นฝ่ายปักกิ่งที่ดูแลฮ่องกงและมาเก๊า คุณหลู่ผิงดูแลเรื่องฮ่องกง มาเก๊ามาร่วม 20 ปีแล้ว เขาเรียนจบจากมหาวิทยาลัยเซนต์จอห์นในเซี่ยงไฮ้ก่อนการปลดปล่อย จึงน่าจะรู้จักระบบตะวันตกดี ข้าพเจ้าได้พบเขาเมื่อเขามากรุงเทพฯ และเขาอธิบายนโยบายของจีนต่อฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ พบผู้ว่าฯ Chris Patten ก็ชมเขาว่ากล่าวสุนทรพจน์ดีมาก ก่อนถึงเวลามีพิธีข้าพเจ้าเข้าไปในห้องพิธีที่ Grand Hall Level 6 ซึ่งจุแขกได้ประมาณ 4,000 คน พอเข้าไปก็งงชะงักตามเคยเพราะไม่รู้ว่าจะต้องนั่งที่ไหน มีเจ้าหน้าที่มาว่าว่าทำไมไม่ไปนั่งที่ ยืนตรงนี้เกะกะทางที่ทหารจะเดินแถวเข้ามา ข้าพเจ้าว่าไม่ได้อยากยืน แต่มันหาที่ไม่ได้จริงๆ ไอริสหันไปพูดเป็นภาษากวางตุ้งว่าอะไรก็ไม่ทราบ คนนั้นเขาเลยไปเรียกใครมาอีกคน ซึ่งพยายามชี้ที่ให้เดินไป และทำหน้าเหมือนข้าพเจ้านี่ยุ่งมาก ข้าพเจ้าก็เลยเดินไปตามมือเขาชี้ไปเจอเข้ากับท่านรัฐมนตรีประจวบและภรรยา และท่านปลัดกระทรวงฯ พวกเขาก็เลยบอกว่าให้ข้าพเจ้านั่งตรงนี้แหละ ที่จริงก็ควรถูกแล้ว ก่อนพิธีมีวงโยธวาทิตของทหารจีนกับทหารอังกฤษเล่นสลับกัน เล่นเพราะทั้งสองวง ท่านรัฐมนตรีชี้ว่าทหารจีนที่เขาเลือกมานี้รูปร่างสูงใหญ่ทั้งนั้น

คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 237,244

(น.237) ภูมิภาคปกครองตนเองมองโกเลียใน ให้รูปปั้นม้าวิ่งสู่อนาคต
มณฑลเหลียวหนิง ให้เครื่องรัก วิญญาณของชาติจีน
มณฑลจี๋หลิน ให้หินฝนหมึก รูปสนและชงโคหยั่งรากลึกในดินแดนจีน
มณฑลเฮยหลงเจียง ให้แจกันรูปดอกชงโคบานอีกครั้งในฤดูใบไม้ผลิ
มหานครเซี่ยงไฮ้ ให้หยกสลัก รูปชาวลุ่มน้ำผู่เจียงฉลองการกลับคืนของฮ่องกง
มณฑลเจียงซู ให้ผ้าปักซูโจว รูปการเดินทางกลับ
มณฑลเจ้อเจียง ให้ไม้สลัก รูปการเดินเรือกลับ
มณฑลอันฮุย ให้รูปทำด้วยเหล็ก เป็นรูปอาทิตย์ฉายแสงตลอดกาล
มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ให้ฉากเครื่องรัก เป็นเรื่องความรู้สึกเป็นพี่น้องที่ชาวฝูเจี้ยนมีต่อชาวฮ่องกง
มณฑลเจียงซี ให้เครื่องกระเบื้อง เป็นรูปดอกชงโคกลับคืนสู่ดอกโบตั๋น (เป็นสำนวนหมายถึงลูกกลับคืนมาหาแม่)
มณฑลซานตุง ให้ฉากทำด้วยไม้แดง สลักเป็นเรื่องภูเขาไท่ซานต้อนรับการกลับคืนมาของฮ่องกง
มณฑลเหอหนาน ให้แจกันกระเบื้อง เป็นรูปช้างเหอหนานมอบสมบัติ
มณฑลหูเป่ย ให้รูปสำริดหุ้มทอง รูปนกกระเรียนสีเหลืองกลับคืน

(น. 244) ตอนที่ผู้นำจีนเข้ามาข้าพเจ้าก็ได้แต่ดูไกลๆ เบียดคนไม่ไหวเช่นกัน คนมาในงานมีหลายพวก มีพวกสมาคมจีนหรือสมาคมมิตรภาพประจำประเทศต่างๆ มาจากประเทศทางยุโรปตะวันออกจากแอฟริกาก็มี มีพวกพ่อค้านักธุรกิจ เจอคุณสุชัย ประธานธนาคาร TMI ที่ข้าพเจ้าไปเปิดที่เซี่ยงไฮ้เมื่อปีที่แล้ว (พ.ศ. 2539) เขาเลยพาไปพบรองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศจีนที่ข้าพเจ้าเคยเจอที่เซี่ยงไฮ้และเพื่อนๆ นักธุรกิจจีนของเขาอีกหลายคน ได้ทบทวนภาษาจีนมากพอสมควร รัฐมนตรีแนะนำรัฐมนตรีอาเซียนหลายประเทศที่มาร่วมงานด้วย เลยได้ความว่าระหว่างนี้ไหนๆ ก็มาอยู่กันพร้อมหน้าก็เลยถือโอกาสประชุมรัฐมนตรีของประเทศอาเซียนเสียเลย คนอื่นๆ ที่พบ เช่น นักธุรกิจที่เขาส่งเสริมสมาคมเอเชีย ภริยาอดีตผู้ว่าราชการฮ่องกง Youde (สามีเสียชีวิตแล้ว) กงสุลใหญ่โปแลนด์ประจำฮ่องกง เขาเพิ่งมาได้ไม่นานนัก เขาเคยร่วมเตรียมการเยือนของข้าพเจ้าที่โปแลนด์ รวมทั้งพบ Prof. Woifowitz และ Prof. Wang Gung Wu ด้วย ข้าพเจ้าเดินวนไปวนมา เจอคนโน้นคนนี้หลายรอบจน 5 ชั่วโมงกว่าจึงกลับบ้าน ที่บ้านแขกที่นัดมารับประทานอาหารมากันหมดแล้ว มีครอบครัวคุณสุพงศ์ สารสิน รัฐมนตรีประจวบกับภริยา รัฐมนตรีช่วยพิทักษ์กับภริยาและคณะ ดร. อำนวย วีรวรรณกับคุณหญิงและคณะ ดร. อำนวยเอาอาหารมาสมทบด้วย ยังไม่ทันจะรับประทานเสร็จ ใครบอกว่าถึงเวลาจะต้องไปดูการจุดดอกไม้ไฟ ต้องรีบรับประทานอาหารเร็วๆ

คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 272,286

(น.272) รูป 208 ดูห้องสมุด

(น.272) ค.ศ. 1902 ผู้เขียนเป็นบาทหลวงเจซูอิต ตำราเรียนภาษาจีน พิมพ์ใน ค.ศ. 1950 The Chinese at Home ค.ศ. 1912 สนธิสัญญาที่โปรตุเกสทำกับจีนใน ค.ศ. 1888 (เป็นสนธิสัญญาไม่เสมอภาค) เลิกใน ค.ศ. 1928 แผนที่เก่าก็เก็บเอาไว้มาก ที่น่าสนใจคือ แผนที่เอเชียที่โปรตุเกสทำไว้ เริ่มตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 15 และต่อจากนั้นมา เช่น Old Map of Macao เขียนในคริสต์ศตวรรษที่ 18 แผนที่แม่น้ำแยงซีพิมพ์ที่เซี่ยงไฮ้ใน ค.ศ. 1895 เริ่มจากเกาะ Hirado ในญี่ปุ่น อีกห้องมีหนังสือพิมพ์เก่าๆ เช่น หนังสือพิมพ์ A Belha da China, Gazeta de Macao, North China Daily News เป็นต้น ข้าพเจ้าชอบตู้ที่เขาใส่หนังสือพิมพ์และสิ่งพิมพ์ใหญ่ๆ

(น.286) รูป 227 ทำท่านั่งโต๊ะอาหาร (ปลอม)

(น.286) เมื่อเข้าไปดู เขาให้เซ็นชื่อด้วยพู่กันอีก ไม่ได้เขียนมาหลายวัน บ้านหลังนี้รู้สึกว่าไม่น่าอยู่ บ้านของหลู่ซุ่นที่ไปดูที่เซี่ยงไฮ้เมื่อปีที่แล้วน่าอยู่กว่า ห้องรับแขกติดรูปเขาและรูปพ่อแม่ ห้องพี่ชาย ห้องอ่านหนังสือที่เขาใช้เมื่อจบแพทย์แล้วใน ค.ศ. 1892 ผู้อธิบายบอกว่าแต่แรกเรียนแพทย์เพื่อจะช่วยรักษาผู้ป่วยชาวจีน แต่ต่อมาเห็นว่าไม่สำคัญเท่าการรักษา “โรคของชาติ” ความคิดแบบนี้เหมือนกับความคิดของหลู่ซุ่น ซึ่งไปเรียนแพทย์ที่ญี่ปุ่น แต่เห็นความไม่รู้ของคนจีนจึงเปลี่ยนมาเป็นนักเขียน ส่วนที่ติดกำแพงว่าเป็นส่วนที่เขาเกิด แต่รื้อไปแล้วเมื่อจะสร้างบ้านใหม่ มีบ่อน้ำ ห้องคุณแม่ ห้องอาหาร ห้องนอน (ขณะนั้นอยู่กับภริยาคนแรก) ครัว ห้องอาบน้ำ

เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงามหน้า48,55,56

(น. 48) รูป 34 บ้านจำลอง

(น. 48) ห้องที่ 3 แสดงพฤติกรรมของทหารญี่ปุ่นในระหว่างสงคราม เวลาญี่ปุ่นจะบุกโจมตีจะทิ้งระเบิดล่วงหน้าก่อน ทั้งที่เซี่ยงไฮ้ และที่ฉงชิ่ง (จุงกิง) ระหว่าง ค.ศ. 1939 – ค.ศ. 1941 ทิ้งระเบิดที่ฉงชิ่ง 124 ครั้ง ผู้คนหนีระเบิดลงหลุมหลบภัยจำนวนมากเกินไปจนไม่มีอากาศหายใจตายไป 9,000 คนในคราวเดียว ญี่ปุ่นเป็นประเทศเล็กไม่มีทรัพยากรอะไร ต้องมายึดจีนแล้วกวาดเอาทรัพยากรไป เช่น ถ่านหิน เหล็ก ไม้ อาหาร เพื่อไปทำสงคราม

(น. 55) รูป 41 อาจารย์ฟู่อู่อี้กำลังอ่านบทกวีจีน

(น. 55) อาจารย์ฟู่อู่อี้ ท่านเป็นคนเซี่ยงไฮ้ ตอนนั้นดูเหมือนว่าท่านจะมาอยู่เมืองไทยเพราะสามีทำงานอยู่องค์การระหว่างประเทศ อาจารย์ท่านนี้เคยทำงานกาชาดจีน แล้วย้ายไปอยู่มูลนิธิซ่งชิ่งหลิงจนกระทั่งปัจจุบัน ขณะนี้อายุ 70 ปีแล้ว อาจารย์ฟู่เคยสอนข้าพเจ้าอ่านทำนองเสนาะภาษาจีน ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินคนอื่น

(น. 56)อ่าน คราวนี้อาจารย์ท่องให้ฟัง ท่องไปก็ส่ายศีรษะไปพลาง บอกว่าครูที่เซี่ยงไฮ้สอนแบบนี้ ท่องบทกวีเป็นภาษาจีนกลางไม่ค่อยเข้ากัน ต้องท่องเป็นภาษาจีนสำเนียงเซี่ยงไฮ้ จากนั้นอาจารย์ได้อ่านทำนองเสนาะบทกวีจีนหลายบท เอามาจากหนังสือแปลกวีนิพนธ์จีนที่ข้าพเจ้าแปลไว้และพิมพ์รวมเล่มชื่อ หยกใสร่ายคำ บทกวีที่อ่านได้แก่ ชุนเสี่ยว (รุ่งอรุณฤดูใบไม้ผลิ) จิ้งเยี่ยซือ (ความคิดคำนึงในคืนสงบ) เจียงเสวี่ย (แม่น้ำยามหิมะโปรย) อาจารย์หวังเยี่ย เมื่อสอนข้าพเจ้าแล้วไปสอนภาษาจีนที่เมืองเวนิสและกลับมาสอนที่ปักกิ่ง สอนคุณเบญจมาศ หรือที่เราเรียกกันว่า น้องเก๊กฮวย (เจ้าหน้าที่สถานทูต) ด้วย ขณะนี้เกษียณแล้วแต่ก็ยังสอนหนังสือ อาจารย์หวังเยี่ยช่วยคุณกัวเซวียนอิ่งแปลเรื่อง แก้วจอมซน ในระหว่างที่สอนข้าพเจ้า เมื่อมีตรงไหนที่คุณกัวไม่เข้าใจ ข้าพเจ้าก็ฝากคำอธิบายให้อาจารย์ไปอธิบายต่อให้คุณกัว มีการส่งสิ่งของต่างๆ ไปประกอบด้วย เช่น มะม่วง น้ำพริกปลาทู ไปจนกระทั่งหนังผีเรื่องแม่นาคพระโขนง เป็นเรื่องสนุกสนานกันทั้งสถานทูต อาจารย์ฟั่นชุนหมิง ที่สอนข้าพเจ้าในปัจจุบัน สอนหนักในด้านทักษะการเขียนภาษาจีน ส่วนอาจารย์อีกหลายท่านที่มาไม่ได้คือ อาจารย์จี้หนานเซิง ไม่ทราบไปอยู่ที่ไหน สามีเคยเป็นทูตหลายแห่ง เคยพบกันที่ลาวและสุดท้ายไปอยู่พม่า ถามใครก็ไม่ได้ความ อาจารย์ท่านนี้เป็นผู้แนะนำให้ข้าพเจ้าวาดภาพตามบทกวีจีน อาจารย์ฉังหมิงอวี้ ขณะนี้อยู่เอสโตเนีย (ติดตามสามี)

เจียงหนานแสนงามหน้า93,94

(น. 93)ญี่ปุ่นนำพระธรรมและวิทยาการต่างๆ ไปสู่ญี่ปุ่น พยายามไปถึง 6 หน จึงไปถึง ไปเผยแพร่พุทธธรรม 10 ปี และมรณภาพที่นั่น ญี่ปุ่นระลึกถึงบุญคุณทำรูปไว้บูชา ค.ศ. 1963 ครบรอบ 1,200 ปีของการมรณภาพ รัฐบาลสร้างหอที่ระลึกเอาไว้ที่วัดต้าหมิงนี้ ยังมีโบราณสถานอีกมากในสี่เมืองนี้ (หนานจิง หยังโจว ซูโจว หังโจว) มีนิทานประกอบด้วย แต่ร้อยคำไม่สู้ไปดูหนเดียว จะกล่าวไปก็ยาวเปล่าๆ สู้ไปดูเองไม่ได้ ข้าพเจ้าว่า เมื่อสามปีก่อนไปล่องแม่น้ำฉังเจียง ลงเรือที่นครฉงชิ่งไปขึ้นบกที่นครอู่ฮั่น ต่อทางบกไปหวงซาน เซี่ยงไฮ้ คราวนี้เหมือนได้ดูต่อลงมา คราวก่อนดูโครงการเขื่อนซานเสีย เมื่อโครงการเสร็จเรียบร้อยแล้วจะไปอีกเพื่อดูว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร ท่านหูว่า โครงการนี้ถ้าสร้างเสร็จก็จะเหมือนที่ท่านประธานเหมาประพันธ์ไว้ว่า จะมีทะเลสาบราบเรียบอยู่ในช่องเขาสูง จะผลิตกระแสไฟฟ้าได้ใน ค.ศ. 2003 หวังว่าจะได้ต้อนรับ เรื่องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเจริญพระชนมพรรษาครบ 6 รอบนั้น ประธานาธิบดีเจียงก็ได้รับเชิญเป็นพระราชอาคันตุกะในต้นเดือนกันยายนนี้ ช่วงที่ศตวรรษหนึ่งกำลังจะผ่านไปและศตวรรษใหม่จะมาถึงนั้น การเยือนนี้มีความหมายยิ่งทางประวัติศาสตร์ จะช่วยให้ความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศเจริญขึ้นอีก ข้าพเจ้าว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงสนพระราชหฤทัยจีน เวลามีผู้นำจีนเข้าเฝ้าก็จะทรงสนทนาอยู่ด้วยนาน คราวนี้คงได้สนทนากันอย่างน่าสนใจ

(น. 94) รูป 73 ออกจากมหาศาลาประชาชน

(น. 94) ท่านรองประธานาธิบดีฝากถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ข้าพเจ้าลาท่านหู ออกจากมหาศาลาประชาชนกลับไปที่เตี้ยวอวี๋ไถ รับประทานอาหารเย็นแล้วไปท่าอากาศยาน มีรองอธิบดีกรมเอเชียมาส่ง นั่งเครื่องบิน China Eastern Airline เที่ยวบิน MU 5170 ไปสนามบินหลูโข่วที่นานกิง มีพวกเจ้าหน้าที่มณฑลเจียงซูมาต้อนรับ ฝ่ายไทยมีคุณศรศิลป์ พลเตชา กงสุลใหญ่ ณ เซี่ยงไฮ้ และภรรยา พวกเจ้าหน้าที่เจียงซูกับข้าราชการสถานกงสุลมารับหลายคน ไปที่โรงแรมจินหลิง โรงแรมนี้สร้างขึ้นหลายปีแล้ว แต่ยังปรับปรุงอย่างดี เป็นโรงแรมที่เป็นของจีนแท้ๆ ไม่ได้เป็นสาขามาจากต่างประเทศ ทางสถานกงสุลและโรงแรมจัดอาหารค่ำเอาไว้ เลยฉลองศรัทธา

เจียงหนานแสนงามหน้า101


(น. 101) รูป 80 ภาพโจวเอินไหลและผู้แทนสหรัฐอเมริกา
Zhou Enlai and the United States' representative.

(น. 101) ภาพแสดงลุ่มแม่น้ำฉังเจียงกับแม่น้ำหวงเหอเมื่อต่อต้านญี่ปุ่น มีการระเบิดเขื่อน ผันน้ำลงแม่น้ำฉังเจียง พอสงครามสงบจะผันน้ำกลับไปอย่างเดิม ภาพโจวเอินไหลไปดูงานที่เมืองไคเฟิง เพื่อดูงานอุดเขื่อนที่พัง มีภาพตอนไปดูงาน การช่วยเหลือของสหรัฐอเมริกาถูกก๊กมินตั๋งเอาไปก่อน ต่งปี้อู่พยายามเจรจาให้แบ่งสิ่งของอย่างเป็นธรรม
ห้องที่ 4 เล่าถึงการไกล่เกลี่ยของนายพลมาร์แชลล์ (General George Marshall) และสจ๊วต เลตัน (Stuart Leighton) เจียงไคเช็กอ้างว่าไปพักร้อนที่ภูเขาหลูซาน แต่ที่จริงไปเจรจากับบุคคลทั้ง 2 อย่างลับๆ และไปวางแผนทำสงครามกลางเมือง การเจรจาไม่สำเร็จ มีหนังสือพิมพ์ลงว่า ทั้ง 2 คนกล่าวว่าการไกล่เกลี่ยล้มเหลว
ห้องที่ 5 การไกล่เกลี่ยของพรรคที่ 3 ไม่ทราบว่าเป็นพรรคอะไร แต่เขาอธิบายว่าเป็นพวกรณรงค์ประชาธิปไตย ในเดือนพฤษภาคม ค.ศ. 1946 พรรคที่ 3 พยายามให้ทั้ง 2 พรรคเจรจากันอีกครั้งที่นครเซี่ยงไฮ้
ห้องที่ 6 มีหุ่นจำลองสภาพหมู่บ้านเหมยหยวนในเวลานั้น แสดงให้เห็นถึงสภาพที่พวกคอมมิวนิสต์ถูกล้อมกรอบ มีสายลับอยู่รอบข้าง

เจียงหนานแสนงามหน้า158

(น. 158) มณฑลนี้นอกจากแก้ปัญหาปากท้องได้แล้วยังเลี้ยงที่อื่นได้ด้วย พื้นที่น้อยแต่ปริมาณผลผลิตต่อหัวสูง ขณะนี้กำลังปรับปรุงวิสาหกิจให้เป็นไปตามกลไกตลาดแบบสังคมนิยม เพื่อช่วยผลักดันการพัฒนากำลังการผลิต ที่นี่มีชาวต่างชาติมาลงทุนมาก แต่ช่องว่างระหว่างเจียงซูกับประเทศที่พัฒนาแล้วก็มีมาก ส่วนใหญ่เป็นเรื่องที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง ความเป็นอยู่ของประชาชนยังต่ำกว่าเขา เมืองไทยเป็นประเทศที่สวยงาม แต่ไม่เคยไป เคยแต่มองจากมาเลเซีย และมีเพื่อนเป็นคนไทย ทั้งสองประเทศควรร่วมมือกันทุกด้าน ทั้งด้านการค้า เศรษฐกิจ การศึกษาและวัฒนธรรม ด้านการท่องเที่ยวนั้น คนจีนเที่ยวไทย คนไทยเที่ยวจีน การเดินทางมีมากในช่วงตรุษจีน แต่ก่อนกิจการโรงแรมในไทยดี มีวิกฤติการณ์คงถูกกระทบบ้าง ประเทศเราอยู่ใกล้กัน ถ้าเปิดเส้นทางบินระหว่างกัน จะได้ไปมาหาสู่ทั้งไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ได้สะดวกยิ่งขึ้น ข้าพเจ้ากล่าวว่าตอนนี้การท่องเที่ยวของไทยและกิจการโรงแรมก็ยังดีอยู่ ฉะนั้นเชิญมาเที่ยวได้ (เรื่องให้สายการบินข้าพเจ้าคิดว่ายากเพราะเศรษฐกิจตอนนี้เห็นจะเพิ่มเส้นทางบินไม่ง่ายนัก แถมนานกิงก็ไม่ไกลจากเซี่ยงไฮ้ นั่งรถไฟ 3 ชั่วโมงก็ถึง อาจจะหาลูกค้าได้ไม่มาก) ข้าพเจ้าเองอยากมาที่มณฑลนี้เพราะว่าจะดูงานด้านศิลปวัฒนธรรมที่เจริญรุ่งเรือง ขณะที่เทคโนโลยีก็ก้าวหน้า จะไปดูโครงการลุงทุนร่วมระหว่างจีนและสิงคโปร์ ท่านเลขาธิการให้ผ้าไหมข้าพเจ้าผืนหนึ่ง และบอกว่าข้าพเจ้าตัดเสื้อด้วยผ้าผืนนี้สวมแล้วจะสวยมาก กลับมาเมืองไทยเปิดดูสีก็ถูกใจ กำลังให้คนตัด

เจียงหนานแสนงามหน้า213,216

(น. 213) ข้าพเจ้าถามว่าคนไทยมาลงทุนอะไร ท่านนายกเทศมนตรีกล่าวว่า มามีหุ้นอยู่ในบริษัทอิเล็กทรอนิกส์ของจีนที่ลงทุนร่วมกับสหรัฐอเมริกาผลิต DVD และ CD-ROM อีกบริษัทมาผลิตกระแสไฟฟ้าที่เมืองตานหยัง ข้าพเจ้ากล่าวว่าท่านหลี่หลานชิงเป็นผู้แนะนำให้มาที่นี่ นายกเทศมนตรีบอกว่าเขาก็ยินดีต้อนรับ ประชาชนรู้ข่าวที่ข้าพเจ้าจะมาเยือนหลายวันแล้ว คืนนี้ก็ต้องมีข่าวออกโทรทัศน์ของเจิ้นเจียง ท่านรองนายกรัฐมนตรีหลี่หลานชิงเกิดและเติบโตที่นี่ มีโรงเรียนมัธยม 2 แห่งที่ท่านเคยเรียน ส่วนท่านถังเจียเสวียนนั้นพ่อแม่เคยอยู่เมืองนี้และย้ายไปอยู่ที่เซี่ยงไฮ้ แต่เมื่อมีคนถามหรือจะเขียนประวัติ ท่านยังบอกว่าเป็นคนเจิ้นเจียง ข้าพเจ้าเล่าว่าเมื่อไม่นานมานี้ท่านถังก็ไปเมืองไทยและไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นทางการ แต่ข้าพเจ้าไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องจึงไม่ได้เข้าไป ไม่ได้พบกัน จากนั้นก็ให้ของขวัญเป็นแสตมป์รูปสามก๊ก แล้วเชิญไปรับประทานอาหาร ท่านนายกเทศมนตรีเล่าว่าท่านไม่ได้เป็นคนเจิ้นเจียง แต่ก็อยู่ที่เจิ้นเจียงมา 41 ปีแล้ว มีอาหารชนิดต่างๆ รวมทั้งซาละเปาที่มีไส้เป็นซุปร้อน นิยมใส่ซอสเปรี้ยวจิ๊กโฉ่ว (วิธีกินซาละเปานี้ต้องใช้หลอดดูดน้ำ) จิ๊กโฉ่วนี้มีสรรพคุณพิเศษคือ ใช้รักษาสุขภาพและช่วยเสริมสวย มาจากการหมักเหล้าข้าวเหนียวทิ้งไว้ 3 สัปดาห์ จะมีลักษณะเป็นน้ำส้ม เล่ากันว่าท่านหลี่เผิงชอบจิ๊กโฉ่วนี้มาก ถึงกับเอาไปใส่กับสไปรท์ดื่ม (ตอนที่ท่านหลี่เผิงเยือนไทย ข้าพเจ้าเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันมื้อหนึ่ง ลอง

(น. 216)พฤษภาคมเจิ้นเจียงจะไปจัดประชุมการค้าที่ปักกิ่ง ที่มหาศาลาประชาชน และจะไปติดต่อหน่วยงานทั้งในและนอกประเทศ จัดงานแบบนี้ทุกสองปี เชิญนักธุรกิจต่างชาติ สถานทูต กระทรวงต่างๆ รวมทั้งตัวแทนวิสาหกิจใหญ่ของจีนมาร่วมประชุม พูดถึงหอฝูหรงที่ข้าพเจ้าขึ้นไปเมื่อบ่ายนี้ก็มีเรื่องเล่าถึงงานวันเฉลิมพระชนมพรรษาของพระนางซูสีไทเฮา มีคนถวายพระพรให้มีพระชนม์พันปีหมื่นปี ก็ไม่พอพระทัยเพราะยังมีขอบเขตจำกัด มีเด็กเล็กๆ คนหนึ่งพูดว่า พระชนม์ยืนเท่าฟ้าดิน เป็นที่พอพระทัยมาก เพราะถือว่ายาวไม่มีเวลาจำกัด เสร็จแล้วกลับไปที่ห้องพัก เมื่อบ่ายนี้ทางกรุงเทพฯ ส่งข่าวมาเรื่องคุณพ่อของปกรณ์ถึงแก่กรรม ปกรณ์จึงต้องกลับก่อนโดยตกลงกันว่าจะไปซูโจว แล้วไปขึ้นเครื่องบินที่เซี่ยงไฮ้ เปิดโทรทัศน์ดูมีเรื่องนายกรัฐมนตรีจูหรงจีพบกับประธานาธิบดีคลินตันที่สนามหน้าทำเนียบขาว และมีเรื่องไวรัสคอมพิวเตอร์ Melissa

เจียงหนานแสนงามหน้า233,235,236,246

(น. 233) ลงจากหอไปที่ศาลาจี้เจียงถิง เป็นศาลาที่น้องสาวซุนกวนขณะนั้นอยู่เมืองกังตั๋ง สร้างเป็นที่ระลึกถึงเล่าปี่เมื่อได้ข่าวลือว่าตายในที่รบ ก่อนที่นางจะกระโดดน้ำตายตามไปด้วย ในสามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน) ตอนที่ 65 กล่าวไว้ว่า ฝ่ายนางซุนฮูหยินอยู่ในเมืองกังตั๋ง ได้ยินเขาลือว่าพระเจ้าเล่าปี่แตกแล้วทหารล้มตายเป็นอันมาก ตัวก็ตายอยู่ในที่รบ ก็สงสารร้องไห้รักพระเจ้าเล่าปี่ผู้ผัวแล้วคิดว่าเกิดมาเป็นหญิงจะให้มีชายต้องถึงสองคนก็ไม่ควรนัก บัดนี้ผัวเราก็ตายแล้ว จะอยู่ไปก็เรื่องเป็นราคีอายแก่คนทั้งปวง คิดแล้วก็ขึ้นรถขับไปที่ริมฝั่งแม่น้ำโจนลงแม่น้ำตาย คนทั้งปวงก็สรรเสริญนางซุนฮูหยินเป็นอันมาก ที่จริงตอนนั้นเล่าปี่ยังไม่ตาย ไปเจ็บตายภายหลังที่เมืองเป๊กเต้หรือไป๋ตี้เฉิง ดูเสร็จแล้วกลับโรงแรม รับประทานอาหารกลางวัน แล้วเดินทางไปซูโจว ขึ้นทางด่วนซึ่งเพิ่งสร้างใหม่เรียบดี มีป้ายบอกจำกัดความเร็วรถเก๋ง 120 รถบัส 110 รถบรรทุก 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีป้ายบอกให้ขับทิ้งระยะกัน 200 เมตร มีป้ายเทียบระยะให้ดูด้วย ผ่านเมืองฉังโจว ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรม รถแล่นไปทางเดียวกับถนนไปเซี่ยงไฮ้ ระหว่างทางเจอรถขนหมูที่ส่งหมูไปขายเซี่ยงไฮ้ถึง 5 คัน บ้านเรือนชาวบ้านแถวนี้มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมพิเศษ หลังคาเหมือนกับมีช่อฟ้า ผ่านอู๋ซี ถึงซูโจวแล้วไปที่สวนอุตสาหกรรมซูโจว (Suzhou Industrial Park SIP)

(น. 235) ช่วยคนชราที่รับบำนาญ ส่วนการคมนาคมจะมีทั้งสนามบิน รถไฟ เมืองท่า ถนน แม่น้ำลำคลอง เขตศุลกากร ในด้านระบบสาธารณูปโภค มีน้ำประปา โรงกำเนิดไฟฟ้าพลังไอน้ำ ระบบกำจัดของเสีย น้ำเสีย การระบายน้ำ ก๊าซ ระบบโทรคมนาคมสื่อสารที่ทันสมัย ถนนทางด่วนไปเซี่ยงไฮ้ การจัดจราจร เคเบิลทีวี ขณะนี้มีผู้มาลงทุนแล้ว 500 โรงงาน เป็นพวกโรงงานไฮเทคอิเล็กทรอนิกส์ มีบริษัทต่างประเทศ เช่น AMD, Lilly, Hitachi, Sumitomo, NOKIA ฯลฯ มาลงทุน บริษัทแห่งชาติของจีนหลายบริษัทก็มาลงทุนที่นี่ด้วย SIP เป็นตัวอย่างใหม่ของชุมชนการค้าแบบสังคมนิยม (Socialist Commercial Community) จะทำให้เป็นระบบเมืองใหญ่ที่มีแบบแผนเป็นเอกลักษณ์ของตะวันออก ขณะเดียวกันก็เป็นเมืองที่มีความเขียวขจี (สิ่งแวดล้อมดี) ที่นี่มีเจ้าหน้าที่และคนงานที่เลือกมาจากหลายแห่งในประเทศ แล้วส่งไปฝึกที่สิงคโปร์ ขณะนี้ไปกันประมาณ 600 กว่าคน ไปอยู่ราว 2 – 3 สัปดาห์ (ในวีดีโอเห็นรองนายกรัฐมนตรีหลีเสี่ยนหลงของสิงคโปร์ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการร่วมกับท่านหลี่หลานชิงของจีน) บริษัทก่อสร้าง SIP มีทั้งของจีนและของสิงคโปร์ ในด้านการลงทุน สิงคโปร์ลงทุน 65% จีนลงทุน 35% การบริหารจัดการทำเป็นรูปบริษัท ติดต่อได้รวดเร็ว อำนวยความสะดวกแก่ผู้ลงทุน ถือแนวคิดเปิดสู่โลกภายนอกตามยุคโลกาภิวัตน์ รองประธานบริหาร SIP บรรยายต่อเรื่องความเป็นมาของ SIP โดยใช้แผ่นใส เริ่มจากมีการลงนามกันเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์

Next >>