Please wait...

<< Back

ขงจื๊อ

จากหนังสือ

ย่ำแดนมังกร
ย่ำแดนมังกร หน้า 207

(น.207) เราลาเจ้าหน้าที่ดูแลเจดีย์ห่านฟ้าใหญ่ แล้วไปดูพิพิธภัณฑ์ของมณฑลส่านซี รถผ่านโรงงานทำเครื่องจิ่งไท่หลาน (ถมปัด) และมีรูปปั้นคล้ายๆ กับที่เราดูที่ปักกิ่ง ดูรอบๆ เมือง กำแพงราชวงศ์ เหม็ง ซึ่งเขารักษาไว้อย่างสมบูรณ์ คุณซุนหมิงบอกว่าอิฐของราชวงศ์ เหม็ง นี้ก้อนเล็กกว่าของราชวงศ์ ฉิน และวิธีการเรียงอิฐก็ผิดกันด้วย พิพิธภัณฑ์ของมณฑลส่านซีเดิมเป็นที่ตั้งศาลเจ้า ข่งเมี่ยว (ที่บูชา ขงจื้อ) สมัยราชวงศ์ เหม็ง ประมาณ 900 กว่าปีมาแล้วสิ่งก่อสร้างต่างๆ มีสมัยราชวงศ์ เหม็ง ราชวงศ์ เช็ง มีลักษณะเหมือนศิลปะ เช็ง ในอาคารพิพิธภัณฑ์มีศิลปวัตถุตั้งแต่สมัยราชวงศ์ โจว ฉิน และ ฮั่น เช่น ภาชนะสำริดสมัยราชวงศ์ โจว มีรูปร่างต่างๆ เช่น เวย เจิง ทิง โต้ว กว้าย (รูปร่างอย่างหนึ่งก็มีชื่อเรียกต่างๆ กัน) มีเครื่องมือการผลิต เครื่องมือการเกษตร เขามีภาพแสดงวิธีการบอกด้วยว่าปลูกข้าวอะไรบ้าง ตัวเหลืองๆ รู้สึกว่าตัวจะใหญ่กว่าที่ข้าพเจ้าเคยเห็นในเมืองไทยเล็กน้อย เขาบอกว่าเป็นเบี้ยมาจากทะเลแถวๆ ชานตุง ในตู้ที่วางไว้ตรงกลางไว้เครื่องดนตรี

หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 51

(น.51) คุณอู่เล่าว่า ดินแดนซานตงเป็นที่ตั้งของแคว้นฉีและแคว้นหลู่ในสมัยชุนชิว จั้นกว๋อ เมื่อ 2,500 กว่าปีมาแล้ว มีความเจริญในการผลิต การถลุงเหล็ก นอกจากนั้นยังเลิกทาส และมีอารยธรรมสูงกว่ารัฐอื่นๆ ในสมัยเดียวกัน ในสมัยนั้นขงจื่อรับราชการในแคว้นหลู่ และได้รวบรวมความคิดตั้งลัทธิขงจื่อ รัฐต่างๆ ได้ใช้ลัทธิขงจื่อเป็นหลักในการปกครองในสังคมศักดินา ถิ่นกำเนิดขงจื่ออยู่ในอำเภอจี้หนิง ปัจจุบันมีศาลเจ้าขงจื่อ บ้านตระกูลข่งสร้างในสมัยราชวงศ์ซ่ง ยังมีสุสานตระกูลข่งซึ่งคนแซ่นี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก เมื่อตายแล้วเอาศพมาฝังได้ สมัยนี้จีนให้ความสำคัญแก่การวิจัยขงจื่อถึงกับจัดกองทุนสำหรับศึกษาขงจื่อไว้ ประธานคนปัจจุบันชื่อหานจงไถ มีสถาบันวิจัยลัทธิขงจื่อในวิทยาลัยครูชวีฝู่และมหาวิทยาลัยซานตง (ฉันไม่รู้จะเขียนขงจื่อ ขงจื้อ หรือขงจื๊อ ดี ซุปว่าขงจื่อก็แล้วกัน จีนกลางเรียกแบบนี้ แต้จิ๋วเรียกขงจื้อ แต่ไทยเรียกขงจื๊อ)

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 56,83

(น.56) เรือนรับรองหนานเจียว จี่หนาน มณฑลซานตง
วันศุกร์ที่ 10 มีนาคม 2543
ถึงประพจน์
เช้านี้ไปมหาวิทยาลัยซานตง คุณอู่นั่งรถไปด้วย เขาเล่าว่าเรือนรับรองอยู่ทางใต้ของนครจี่หนาน เลยได้ชื่อว่าหนานเจียว พูดกันถึงสมัยก่อนที่มีการวิจารณ์ขงจื่อ คุณอู่เองเห็นว่าขงจื่อมีทั้งส่วนดีมีประโยชน์และส่วนที่ไม่ดี ส่วนดีคือ ส่วนปรัชญาการปกครองที่ผู้ปกครองต้องเมตตาประชาชน ทำให้คนมีจริยธรรม ส่วนไม่ดีคือ เรื่องดูถูกผู้หญิง ดูถูกการค้าขาย อย่างไรก็ตามคนที่วิจารณ์ขงจื่อส่วนมากจะวิจารณ์ไปโดยไม่ได้ศึกษาและไม่เข้าใจจริง ฉะนั้นจึงต้องศึกษาอย่างเป็นธรรมเสียก่อน (ฉันเองก็ไม่ได้ศึกษา ได้แต่ฟังๆ เขาพูด ดูเหมือนว่าแต่ละยุคแต่ละสมัยก็มีการวิเคราะห์ตีความขงจื่อไปต่างๆ นานา ที่ว่าดูถูกผู้หญิงและการค้าจะเป็นเรื่องมาทีหลังกระมัง)
(น.83) ต้องยอมรับว่าวันนี้ฉันจดอะไรไม่ค่อยรู้เรื่อง รู้สึกว่าไม่สบาย ไม่ค่อยมีสมาธิ ที่ทราบคือ ตอนที่เขาให้เขียนตัวอักษร เขียนได้ไม่ดีเลย กลับที่เรือนรับรอง ตอนค่ำมีเลี้ยง รองผู้ว่าราชการมณฑลเป็นเจ้าภาพ ก่อนอื่นคุณอู่ทำตัวเป็นพิธีกรแนะนำใครๆ และเชิญรองผู้ว่าราชการมณฑลกล่าวบรรยายสรุป ท่านรองผู้ว่าราชการฯ บอกว่า ผู้ว่าราชการมณฑลซึ่งประชุมอยู่ที่ปักกิ่งโทรศัพท์มากำชับให้ดูแลรับรองฉันให้ดี และแนะนำสถานที่ว่า จี่หนานเป็นเมืองหลวงของมณฑล มณฑลซานตงมีประชากร 86,820,000 คน เนื้อที่ 156,000 ตารางกิโลเมตร ขงจื่อเกิดในมณฑลนี้ที่ชวีฝู่ ซึ่งเป็นเมืองหลวงแคว้นหลู่ สมัยชุนชิว จั้นกว๋อ (ส่วนทางตะวันออกของจี่หนานเป็นเมืองหลวงของแคว้นฉี ซึ่งอยู่สมัยเดียวกัน)

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 88-89,95,98-99,101,105

(น.88) ภูเขาไท่ซานมีสำนักปรัชญาขงจื่อ ศาสนาเต๋า และศาสนาพุทธ อยู่ร่วมกัน เห็นว่ารอบๆ ภูเขามีวัดตามความเชื่อดังกล่าว สร้างมา 1,500 ปีแล้วก็มี เช่น วัดหลิงเหยียนซื่อ สมัยราชวงศ์ถัง เป็นวัดทางพุทธศาสนาที่สำคัญ เขาพูดอย่างนี้ แต่พอไปค้นหนังสือมาอ่าน อธิบายว่า วัดนี้ไกลจากเขาไท่ซาน อยู่ระหว่างเมืองจี่หนานกับเมืองไท่อาน บริเวณเขาไท่ซานมีวัดผู่เจ้า สร้างสมัยหกราชวงศ์ อีกวัดชื่อ อวี้เฉียน เป็นวัดสมัยใหม่
(น.89) ขงจื่อเคยขึ้นมาบนเขานี้ กล่าวว่าเมื่อขึ้นมาบนภูเขาไท่ซาน ทำให้มองเห็นโลกเล็กลงไป จุดที่ขงจื่อหยุดมองทิวทัศน์กลายเป็นสถานที่มีชื่อเสียง เมิ่งจื่อก็เคยมา กวีกัวมัวรั่วก็เคยมาเช่นกัน ที่กล่าวมาแล้วเป็นวัฒนธรรมขุนนาง ไท่ซานยังมีวัฒนธรรมของประชาชน เป็นเทศกาลของคนภาคเหนือ แต่ละวันมีคนนับไม่ถ้วนมาที่ภูเขานี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลต่างๆ เราขึ้นกระเช้าไปหนานเทียนเหมินซึ่งถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของไท่ซาน สมัยก่อนที่ต้องเดินขึ้นไปเองนั้นมีโค้งอันตราย 18 โค้ง เนื่องจากไท่ซานสูงมากมองกลับไปจะเห็นทะเลเมฆ สมัยก่อนร้านรวงตามถนนนี้ (เรียกว่า ถนนแห่งสวรรค์ หรือเทียนเจีย) จะไม่มีป้ายชื่อร้าน ร้านไหนขายอะไรก็เอาของชนิดนั้นมาตั้งไว้หน้าร้าน คนซื้อก็ทราบ เช่น ร้านอาหารเอาทัพพีวางไว้ เมื่อ 50 ปีมานี้เริ่มมีป้ายชื่อ อาจจะเป็นเพราะคนซื้อไม่เข้าใจสัญลักษณ์แบบเดิมแล้ว
(น.95) เข้าประตูใหญ่เรียกว่า ประตูหลิงซิง สร้าง ค.ศ. 1514 สมัยราชวงศ์หมิง เดิมเป็นอาคารไม้ แต่สมัยจักรพรรดิเฉียนหลง (ค.ศ. 1736-1796) ซ่อมแซมสร้างเป็นหิน จากประตูนี้เดินไปเป็นร้านรวงต่างๆ และมีป้ายทางเข้าเขียนว่า ไท่เหอหยวนชี่ สร้างสมัยราชวงศ์หมิง บริเวณศาลเจ้านี้เดิมเป็นที่อยู่ของท่านขงจื่อ แต่เมื่อท่านเสียชีวิตใน ค.ศ. 479 ก่อนคริสตกาลจึงปรับปรุงเป็นอนุสรณ์สถานหรือศาลเจ้า ในคริสต์ศตวรรษที่ 15 จึงสำเร็จดังที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน รอบๆ มีอาคารต่างๆ 150 กว่าหลัง มีป้ายจารึกสองพันกว่าหลัก ค.ศ. 1994 ได้เป็นมรดกโลก
(น.98) ศาลาซิ่งถัน เป็นที่ขงจื่อนั่งสั่งสอนลูกศิษย์ ปัจจุบันเห็นแต่ต้นไป๋ ต้นซิ่ง (อัลมอนด์) ตายไปหมดแล้ว ต้นซิ่งไม่ใช่ต้นไม้อายุยืน แค่ 40-50 ปีก็ตายแล้ว จักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จมาเคารพขงจื่อที่นี่ถึง 8 ครั้ง ทรงจารึกคำสรรเสริญขงจื่อไว้เรียกว่า ซิ่งถานจั้น (การแสดงเคารพต้องคุกเข่า 3 ครั้ง กราบไหว้ 9 ครั้ง จึงถือเป็นการเคารพสูงสุด) มีเสาหินลายมังกร สูง 6 เมตร สลักใน ค.ศ. 1742 เมื่อจักรพรรดิเสด็จมาครั้งใดต้องเอาผ้าคลุม เพราะสวยงามเกินกว่าเสาในพระราชวังหลวง เสาหินงดงามแบบนี้มีแต่ที่ชวีฝู่เท่านั้น รูปเคารพในอาคารมีรูปขงจื่อยู่ตรงกลาง สองข้างเป็นรูปลูกศิษย์ดีเด่น รวม 13 คน อยู่สมัยเดียวกับขงจื่อ อีก 3 คน เป็นลูกศิษย์ดีเด่นของลูกศิษย์ มีป้ายเขียนว่า ว่านซื่อซือเปี่ยว เป็นลายพระหัตถ์ของจักรพรรดิคังซี ส่วนป้ายที่เขียนว่า ซือเหวินไจ้ซื่อ แปลว่า ปัญญาชนคนเก่งเกิดใหม่ เป็นลายพระหัตถ์จักรพรรดิกวงซวี่ มีตุ้ยเหลียนของจักรพรรดิเฉียนหลง
(น.99) ตามประเพณีที่ปฏิบัติกันมา เมื่อผลัดแผ่นดิน จักรพรรดิองค์ใหม่จะต้องเสด็จมาเซ่นไหว้ขงจื่อ ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า มีจักรพรรดิเสด็จมาที่นี่ 12 องค์ ในห้องมีเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงระหว่างพิธี ด้านนอกอาคารเป็นลานกว้างสำหรับฟ้อนรำในพิธีเซ่นไหว้ ตรงข้ามเป็นที่เซ่นไหว้บรรพบุรุษขงจื่อ ด้านนอกมีจารึกชื่อลูกหลานขงจื่อถึงสมัยราชวงศ์หมิง ปัจจุบัน (ค.ศ. 2000) มี 85 ลำดับชั้น ประมาณ 3 ล้านกว่าคน ผู้ที่มาบรรยาย (ศาสตราจารย์ข่งเซียงหลิน) ให้ฉันวันนี้เป็นลำดับชั้นที่ 75 ฉะนั้นไม่สามารถจารึกชื่อทั้งหมดได้ กำลังทำรายชื่อใส่ซีดีรอม คนแซ่ข่งไม่ใช่มีแต่ในจีน ได้แยกย้ายกันไปอยู่ในต่างประเทศ 10 กว่าประเทศ ไปดูหลู่ปี้ เขาว่ากันว่าเคยเป็นที่อยู่เดิมของขงจื่อ มีฝาผนังที่เล่ากันว่าจักรพรรดิฉินสื่อหวงตี้สั่งเผาตำราขงจื่อ หลานชื่อขงฝู่ได้เก็บหนังสือไว้ในผนังแห่งนี้ ต่อมาสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้ (ก่อน ค.ศ. 140 – ก่อน ค.ศ. 87) เจ้าเมืองหลู่จะมาก่อสร้างบ้านใหม่ รื้อกำแพงจึงพบ กล่าวกันว่าขงฝู่เป็นผู้มีคุณงามความดีที่เก็บหนังสือไว้ ฉันเคยอ่านที่ไหนไม่ทราบว่าฉินสื่อหวงตี้ให้เผาหนังสือขงจื่อก็จริง แต่พระองค์เองก็เก็บไว้ที่หอหลวง เห็นจะเป็นทำนองเดียวกันกับหนังสือต้องห้ามของศาสนาคริสต์ในยุคกลางที่ไม่ให้ใครอ่าน แต่ก็ต้องเก็บไว้ในหอสมุดของอาราม ศาลาซือหลี่ถัง เป็นศาลาที่ขงจื่อนั่งสั่งสอนบุตรหลาน มีต้นไม้ที่อ้างว่าอายุพันกว่าปี
(น.101) ปรัชญาของขงจื่อเน้นเรื่องการสร้างความสงบปรองดองของประเทศ สังคม และครอบครัว สถาบันครอบครัวจึงมีความสำคัญมาก ขงจื่อเน้นเรื่องความสุขของครอบครัว การมีลูกหลานอยู่ในครอบครัวใหญ่จึงเป็นพื้นฐานของสังคมจีนแต่โบราณ
(น.105) ต้นไม้ในบริเวณนั้นมาจากบ้านเกิดของลูกศิษย์ต่างๆ ของขงจื่อ มีสุสานของลูกขงจื่อซึ่งไม่ได้มีคุณงามความดีอะไรเป็นพิเศษ ส่วนที่ฝังของ ขงจื่อเขาว่ามีการศึกษาแล้วว่าอยู่ตรงนั้น ป้ายทำใน ค.ศ. 1443 ปลายราชวงศ์ซ่ง มีพวกจินหรือกิมก๊กเข้ามารุกราน ทหารกลุ่มหนึ่งจะมาขุดสุสาน เมื่อนายทหารทราบว่าเป็นสุสานของขงจื่อ พวกที่จะขุดสุสานก็ถูกประหารชีวิต แสดงว่าแม้แต่ชาวจินก็รู้จักขงจื่อ เป็นเหตุให้ตั้งป้ายนี้ เมื่อขงจื่อเสียชีวิตแล้ว มีลูกศิษย์มาเฝ้าอยู่ 3 ปี คนที่ชื่อจือกังมาอยู่ถึง 6 ปี ภายหลังมีศาลาที่ประทับจักรพรรดิที่มาไหว้สุสาน มีพวกอ๋องของคนกลุ่มน้อยด้วย

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 146

(น.146) มีอาคาร 4 หลัง มีรูปขงจื่อ เหลาจื่อ ฝูซี และเจียงไท่กง ขงจื่อได้ศึกษาอี้จิงแล้วสนใจ จึงนำมารวบรวมเป็นตำรา เหลาจื่อเขียนเต้าเต๋อจิง ได้ความคิดจากปากั้ว ฝูซีเป็นผู้คิดปากั้วดั้งเดิม เจียงไท่กง เป็นกุนซือของโจวเหวินหวังที่ช่วยให้โค่นราชวงศ์ซังได้

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 165-166

(น.165) จักรพรรดิถังไท่จง (หลี่ซื่อหมิน) ทรงจารึกไว้ว่าตอนที่ยังเป็นอ๋องถูกจับไป พระเซ่าหลิน 13 รูปช่วยไว้ได้ จึงเขียนขอบคุณท่านทั้ง 13 ไว้ อีกป้ายหนึ่งเขียนเป็นอักษรโบราณ รำลึกถึงพระเซียวซาน (ที่ต่อต้านโจรสลัด) ด้านหลังเป็นรูปกลมๆ มีภาพพระอยู่ด้านใน ไกด์บอกว่าเป็นคำเฉลยคำถามที่ตั้งเอาไว้ตอนที่ดูป่าเจดีย์ ที่นี่พุทธศาสนา ลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื่อ (เรียกว่า หรูเจี้ยว คำว่า หรู หมายถึง ปัญญา หรือขุนนางข้าราชการ ในที่นี้อาจจะหมายถึงลัทธิขงจื่อเพราะเกี่ยวกับการปกครอง) ไกด์อธิบายว่าลัทธิขงจื่อเป็นเครื่องช่วยให้คนสัมพันธ์กันอย่างถูกต้อง กำหนดความสัมพันธ์ไว้ 5 ประการดังนี้
1. จักรพรรดิมีคุณธรรม เมตตาธรรม ส่วนขุนนางมีความจงรักภักดี
2. บิดาเมตตาบุตร บุตรกตัญญู
3. สามีว่าอะไร ภรรยาว่าตาม

(น.166)

รูป 127 บริเวณที่เก็บศิลาจารึก
Inscriptions are kept around this area.

(น.166)
4. พี่มีน้ำใจไมตรี น้องมีความเคารพนบนอบ
5. เพื่อนต้องมีสัจจะต่อกัน
เรื่องการเมืองการปกครองนี้ อ่านคัมภีร์หลุนอวี่ครึ่งเล่มก็ปกครองได้

เกล็ดหิมะในสายหมอก
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 3 จี๋หลิน หน้า 154-160


รูป 249 ข้างในห้องมีนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติชีวิตและคำสอนของขงจื้อ
(น.154) ข้างในอาคารจัดเป็นห้องนิทรรศการชีวประวัติขงจื้อ มีรูปหุ่นขงจื้อและบรรดาศิษย์ มีศิษย์เอก 4 คน คือ เหยียนจื่อ เจิงจื่อ ซือจื่อ และเมิ่งจื่อ (เม่งจื้อ) เปิดสำนักขงจื้อ


(น.155) รูป 250 ข้างในห้องมีนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติชีวิตและคำสอนของขงจื้อ


รูป 251 ข้างในห้องมีนิทรรศการเกี่ยวกับประวัติชีวิตและคำสอนของขงจื้อ


(น.156) รูป 252 รูปหุ่นศิษย์ขงจื้อ


รูป 253 รูปหุ่นศิษย์ขงจื้อ

Next >>