Please wait...

<< Back

การเขียนภาพแบบจีน

จากหนังสือ

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 10

(น.10) รูป 7 เรียนการเขียนภาพจีนกับครูหลิวผิง

(น.10) ตอนบ่าย 14:30 น. เรียนวาดภาพจีนกับครูชื่อ หลิวผิง เป็นจิตรกรมีชื่อเขียนภาพได้หลายแบบ มีลูกชายเรียนศิลปะอยู่ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ครูซื้อของมาให้เป็นชุดหลายอย่าง ทั้งพู่กันแบบต่างๆ กระดาษทั้งชนิดโดนน้ำแล้วซึมและที่ไม่ซึม การเขียนภาพแต่ละอย่างใช้กระดาษไม่เหมือนกัน บางอย่างซึมมาก บางอย่างซึมน้อย สีต่างๆ หมึกขวด แท่นฝนหมึก อ่างใส่น้ำ กระบอกใส่พู่กัน แท่นวางพู่กันเป็นขวดรูปมังกร 5 เล็บ มีภาพตัวอย่างมาให้ดู วาดภาพต้นเหมยให้ดูด้วย แล้วให้วาดเองเป็นการบ้าน ที่จริงจะต้องเรียนถึงประมาณ 4 โมงตรง แต่ครูสอนไปถึง 6 โมงเย็น ข้าพเจ้าชอบมาก เพราะครูอธิบายให้ฟังด้วยว่าควรสีอย่างไร แต่ว่าชักหิวแล้ว

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 38

(น.38) รูป 37 หัดเขียนภาพดอกเหมย

(น.38) 14:30 น. ครูหลิวผิงที่สอนวาดภาพจีนมา ครูบอกว่าข้าพเจ้าเขียนภาพกลับหน้าเป็นหลัง กิ่งก้านต้นไม้แต่งเอาเองไม่ถูกตามธรรมชาติ ข้าพเจ้าว่าไม่เข้าใจวิธีการ (เพราะตอนหลังๆ ที่ครูสอนข้าพเจ้าชักหิวข้าวตาลาย ไม่ได้ตั้งใจฟัง) วันนี้ก็เลยวาดดอกเหมยอีกที เข้าใจลักษณะของดอกไม้ดีขึ้น ดอกเหมยหรือบ๊วยต้องเป็นช่อ ดอกบานอยู่ตรงโคนช่อ ดอกตูมอยู่ปลายช่อ การผสมสีกลีบต้องใช้ 4 สีผสม คือ สีแดง แสด ส้ม และเหลือง จิ้มสีแดง 2 ชนิดปนกัน ต้องมีดอกที่เรามองตรงๆ มองข้างๆ ดอกสีอ่อนสีแก่ (สีอ่อนผสมสีขาว) เกสรสีไม่เหมือนกัน การเขียนก้านต้องใช้พู่กันเล็ก

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 94,95,96

(น.94) เรียนภาษาจีน วันนี้ขึ้นบทใหม่ (บทที่ 3) ครูอ่านให้ฟังแล้วให้ข้าพเจ้าเล่าตามที่เข้าใจ บทนี้เป็นเรื่องครอบครัว การแต่งงานเปรียบเทียบสมัยก่อนกับสมัยปัจจุบัน มีการบ้านแต่ไม่ต้องเขียนเรียงความ เพราะคืนนี้จะไปดูงิ้วอาจจะกลับดึก สนทนาภาษาจีน เรียนเรื่องศูนย์กิจกรรมคนชราที่จะไป เรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่จะไปฟังคำบรรยาย หัวข้อยุทธศาสตร์การต่างประเทศของจีน และเรื่องงิ้วที่จะไปดูคืนนี้ ที่จริงเรียนเรื่องยุทธศาสตร์การต่างประเทศก็ถึงเวลาเที่ยงแล้ว แต่ครูอธิบายเรื่องงิ้ว เพราะเรื่องนี้มีตัวละครหลายตัวกลัวว่าจะสับสน รับประทานอาหารกลางวันมีไก่ผัดพริก และผักอะไรอย่างหนึ่ง เหมือนจะเป็นหัวไชเท้า ซุป พอรับประทานเสร็จทำการบ้านภาษาจีนทันที หวังว่าคืนนี้จะนอนเร็วหน่อย บ่ายสองโมงครึ่ง การบ้านยังทำไม่เสร็จ ครูก็มาตรงเวลา มาถึงบอกว่าเอาหนังสือทอสีเทียบฝัน ไปดูที่บ้านแล้ว ชอบรูปที่ข้าพเจ้าเขียนหลายรูป เช่น รูปรถติดไฟแดง และรูปดอกบัว เลยคิดเปลี่ยนวิธีสอนว่าไม่ต้องสอนการเขียนภาพเบื้องต้นแล้ว สอนเทคนิคต่างๆ เลยดีกว่า วันนี้ครูสอนเขียนภาพดอกบัว เขียนภาพตัวอย่างมาภาพหนึ่ง ร่างด้วยดินสอมาให้ข้าพเจ้าหัดเขียน

(น.94) รูป 100 ดอกไม้ประจำวัน

(น.95) รูป 101 ดอกบัวที่ครูหลิวผิงสอนวันนี้

(น.95) เริ่มต้นด้วยการตัดเส้นกลีบดอกบัวด้วยสีเทา (หมึกผสมสีขาว) วิธีเขียนเส้นให้ลากยาวๆ เหมือนเขียนพู่กันจีน จากนั้นระบายสีด้วยสีขาว ถ้าสีขาวไม่ชัดพอให้กลับด้านระบายซ้ำ ใบบัวใช้สีเขียวผสมหมึก ใช้พู่กันใหญ่ที่สุดที่มีอยู่จิ้มสีเขียวผสมดำให้ชุ่ม ด้านข้างของพู่กันจิ้มสีเขียวผสมขาวปลายพู่กันจิ้มสีดำ ระบายเร็วๆ ก่อนระบายใช้หมึกลากเส้นเป็นแกนใบ ใช้สีดำ (หมึก) ตัดเส้นกลีบบัวเฉพาะตรงปลาย ระบายฝักบัวพร้อมกับก้านบัว ใช้สีอ่อนๆ (ผสมน้ำ) ตัดเส้น เม็ดบัวใช้สีเขียวผสมดำใส่น้ำมากๆ ระบายเป็นใบที่อยู่ใกล้ๆ (ไม่เห็นเป็นใบ) แต้มสีชมพูที่กลีบบางกลีบเล็กน้อย รวมทั้งกลีบบัวตูม ถึงตรงนี้ก็มีเทคนิคพิเศษ คือ ต้องถือพู่กันสองด้านในมือเดียวกัน คล้ายๆ กับถือตะเกียบ ด้ามหนึ่งจิ้มสีแดงผสมน้ำ ด้ามที่สองสีจางกว่าด้ามแรก อีกมือหนึ่งถือเศษกระดาษไว้ลองสี ระบายด้วยด้ามแรกและเปลี่ยนเป็นด้ามสองอย่างรวดเร็ว ใช้กระดาษอีกแผ่นซับน้ำ

(น.96) ใช้สีเหลืองระบายเกสรบัว ที่จริงก็มีเทคนิคเหมือนกัน แต่อธิบายไม่ถูก สุดท้ายใช้สีเขียวผสมหมึกเจือน้ำ ระบายใบหญ้าในน้ำ ที่จริงจะต้องเซ็นชื่อ แต่วันนี้ไม่มีเวลา และอีกอย่างหนึ่งอยากจะปรึกษาอาจารย์ที่สอนพู่กันจีนก่อนว่าควรจะเซ็นชื่ออย่างไร ครูหลิวผิงใช้เวลา 5 นาที เขียนดอกโบตั๋นสีแดง มีใบสีเขียว สีแดง ก็ต้องมีวิธีผสมปนหมึกเข้าไปหน่อยหนึ่ง ก้านสีน้ำตาล เขียนเสร็จหงเอี้ยนมาบอกว่าเลขาธิการพุทธสมาคมมาแล้ว ของที่เอามาให้อยู่ข้างล่าง พอดีจี้กับอาจารย์นิออนมา (พร้อมอาหาร)

(น.96) รูป 102 ครูวาดดอกโบตั๋นใช้เวลา 5 นาที

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 158,159

(น.158) รูป 175 ดอกไม้ประจำวัน

(น.158) รับประทานอาหารกลางวัน ห้องอาหารทำเต้าหู้ ซุปไก่ ผัดผัก ข้าวผัดมาให้ เขียนคำบรรยายรูปที่อาจารย์หวังถ่ายข้าพเจ้าและให้ส่งไปทูลเหล้าฯ ถวายเป็นเล่มที่ 2 ช่วงบ่ายเรียนวาดรูป วันนี้มีทีวีมา ครูก็เลยเอารูปมาแสดงและอธิบายแต่ละรูป วาดรูปดอกโบตั๋นสีแดง มีใบอ่อนใบแก่ เกสรคล้ายๆ กับเกสรบัว แต่เส้นบางกว่า มีผึ้งบินมา 2 ตัว เมื่อเขียนเสร็จแล้วครูเขียนชื่อตอกตราว่าเป็นการทำงานร่วมกัน ป้าจันมาทำข้าวผัดคะน้าให้ ไม่ต้องทำเอง คั่วข้าวโพด (ไมโครเวฟ) แล้วตัวเองก็รับประทานไม่หมด เอาไปแบ่งให้ใครต่อใคร ทูตดอนเอาข้อมูลที่เขาประชุมวันนี้มาให้ มีการเข้าใจผิดเรื่องเวลากันบ้าง อาจารย์จังซิ่วหวนมาบอกกับข้าพเจ้าว่าออกทุ่มหนึ่ง แต่สถานทูตบอกว่า 6 โมง 45 ที่จริงไปทุ่มหนึ่ง

(น.158) รูป 176 ภาพดอกโบตั๋น ข้าพเจ้าวาดดอกเล็ก

(น.159) รูป 177 ถ่ายกับครู

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 235,236,237,238

(น.235) เมื่ออาจารย์ไปแล้วข้าพเจ้าเริ่มรับประทานอาหาร แล้วก็อดไม่ได้ที่จะเก็บอาหารที่เหลือเอาไว้ก่อน รับประทานเสร็จมาทบทวนเรื่องที่จะพูดอีก ยังไม่ทันจะเตรียมเสร็จ อ้อย พี่ไก่ อ้วน ประพจน์มา สักประเดี๋ยว ครูหลิวผิงมา เอากระดาษและข้าวของมาเยอะแยะ ครูฟั่นก็มา เอาเสื้อครุยปริญญามาให้ลองว่าพอดีหรือยัง ปรากฏว่าใส่ได้กำลังพอดี กระดุมติดยากหน่อยเป็นกระดุมแบบจีน ครูหลิวผิงวางของเสร็จแล้ว อธิบายสิ่งของต่างๆ ที่เอามา มีภาพที่เขาวาดเอามาพิมพ์บนแผ่นทอง มีเอกสารอธิบายงานนี้ มีลายเซ็น ตราและรอยนิ้วมือแสดงว่าเป็นของแท้ มีประกาศนียบัตรรับรองคุณภาพทอง ครูขอทูลเกล้าฯถวายภาพวาดนี้แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภาพวาดดอกเหมยทูลเกล้าฯถวายแด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ข้าพเจ้าได้ของขวัญหลายชิ้น คือ ให้รูปเขียนครบชุด รวม 4 ภาพ ภาพแรกเป็นรูปดอกมะลิ ถ้วยชา แท่นฝนหมึก พู่กัน ภาพนี้ทำให้นึกถึงซูตงปัว ซึ่งชอบชามะลิ
ภาพที่สอง เป็นภาพดอกเบญจมาศ (หรือดอกเก็กฮวย) มีถ้วยชากระบอกใส่พู่กัน ม้วนกระดาษ และกระดาษ แผ่นกระดาษที่เขียนบทกวี
ภาพที่สาม เป็นภาพดอกกล้วยไม้ (แบบจีน-หลานฮวา) มีถ้วยน้ำชา 2 ถ้วย หนังสือบทกลอนเกี่ยวกับชา (ฉาซือ) และลูกเชอรี่ 9 ลูก มีความหมายทางพุทธศาสนา แต่จะเป็นความหมายว่าอะไรครูอธิบายแล้วข้าพเจ้าฟังไม่รู้เรื่อง จะถามประพจน์ เห็นกำลังอธิบายเรื่องกำแพงเมืองจีนให้อ้อย นอกจากนั้นในภาพมีใบไผ่ด้วย
ภาพที่สี่ เป็นภาพดอกบัว ทั้งบัวตูม บัวบาน และฝักบัวมีถ้วยชา และกาน้ำชา หนังสือคัมภีร์ชา (ฉาจิง) ลูกเชอรี่ 6 ลูก เป็นความหมายทางศาสนาพุทธ ซึ่งข้าพเจ้าฟังไม่ออกตามเคย

(น.236) ครูบอกว่าครูเขียนรูปมีความหมายทางพุทธศาสนา เพราะครูนับถือพุทธศาสนา และบอกว่าทั้ง 4 อย่างใช้ชงชาได้ ข้าพเจ้าไม่เคยดื่มชากล้วยไม้ ครูว่าครูก็ไม่เคยเหมือนกัน ข้าพเจ้าบอกครูว่ามหาวิทยาลัยปักกิ่งขอให้ข้าพเจ้าเขียนภาพให้มหาวิทยาลัย ครูบอกว่าจะเขียนรูปอะไรดี รูปดอกบัว รูปไม้ไผ่ อะไรก็ได้ ข้าพเจ้าเลือกไผ่เพราะเป็นไม้โตเร็ว เปรียบเสมือนความรู้และปัญญาที่งอกงาม นี่ข้าพเจ้าว่าเอาเองไม่ใช่จีนว่า อีกประการหนึ่งข้าพเจ้าได้ยินเรื่องจีนโบราณสมัยราชวงศ์ซ่งเล่าว่า มีศิลปินคนหนึ่งชื่อว่า เหวินถง เป็นคนที่ชอบเขียนรูปไผ่เป็นพิเศษ เขาปลูกต้นไผ่ไว้มากมายในสวนของเขาเพื่อจะได้ดูขั้นตอนการเจริญเติบโตของไผ่ และลักษณะของต้นไผ่ในฤดูกาลต่างๆ เขารู้จักไผ่ดีจนกระทั่งหยิบพู่กันขึ้นมาครั้งใด ก็มีภาพต้นไผ่อยู่ในสมอง จึงสามารถเขียนไผ่ได้เหมือนกับต้นไผ่จริง เรื่องนี้เป็นที่มาของคำพังเพยว่า ซยง โหย่ว เฉิง จยู๋ แปลว่า วางแผนการเอาไว้เรียบร้อย (ข้าพเจ้าคิดจะปลูกไผ่เอาไว้ดูเหมือนกัน)

(น.236) รูป 239 ภาพที่วาดให้มหาวิทยาลัยปักกิ่ง

(น.237) ครูเขียนให้ดูก่อนภาพหนึ่งใช้แต่สีเขียวกับสีดำและผสมน้ำ ต้องเขียนแบบมีกำลังภายใน ลากเส้นยาวๆ ด้วยด้านข้างของพู่กัน ใช้สีดำเขียนรูปข้อไม้ไผ่ ทิศทางของกิ่งและใบต้องให้เหมาะสม ไม่ซ้ำซาก ต้องเขียนภาพสีอ่อนสีแก่ แสดงระยะ เมื่อเสร็จแล้วครูให้เขียนคำว่า เกา เฟิง เลี่ยง เจี๋ย -ตัวอักษรจีน- (แปลว่า รสนิยมลีลาสูงสง่า คุณธรรมงามพิสุทธิ์) เป็นคำที่นิยมเขียนเวลาเขียนภาพต้นไผ่ และเขียนว่ามอบให้มหาวิทยาลัยปักกิ่ง ครูให้วาดอีกภาพหนึ่ง เป็นภาพใช้สีเขียวดำผสมกันเหมือนกัน เป็นภาพดอกบัว ครูวาดภาพใบบัวกับบัวตูมเอาไว้ ให้ข้าพเจ้าเติมภาพบัวบาน บัวต้องมีก้าน ข้าพเจ้ายังติดเขียนภาพต้นไผ่ ก้านบัวจึงออกมาประหลาด ครูแก้ให้นิดหนึ่งดูดีขึ้น

(น.237) รูป 240 เขียนรูปดอกบัวรูปนี้ให้ครู

(น.238) รูป 241 กำลังเซ็นชื่อ
รูป 242 ภาพที่วาดให้ครู