<< Back
ต้าหลี่
จากหนังสือ
ใต้เมฆที่เมฆใต้หน้า 36,37,38
(น.36) รูป 34 งานเลี้ยงที่โรงแรมเอ๋อร์ไห่ ต้าหลี่
(น.36) ผู้ว่าฯ กับท่านรองฯ คุยกันเป็นภาษาไป๋ ก็ไม่เห็นจะคุย ถามเป็นคำๆ ยังปรึกษากัน ศัพท์ที่ใช้กันคือ น่าเวนิ แปลว่า ขอบคุณ ชิ้ว คือ สวัสดี ส่วนคำว่า ลาก่อน ใช้ว่าชิวซีเป่ย แปลว่า ไปแล้ว
พูดถึงเขตนี้มีชนชาติไป๋อยู่มากที่สุด ชนชาติส่วนน้อยเผ่าหลักๆ นอกจากไป๋ มีอี๋ เหมียว และไต่ แถบตัวเมืองมีไป๋แสนกว่าคนทั่วต้าหลี่มีล้านกว่าคน ต้าหลี่สูงกว่าระดับน้ำทะเลถึง 1,976 เมตร อุณหภูมิประมาณ 15° C อุณหภูมิติดลบไม่เคยมี อุณหภูมิสูงสุดประมาณ 28° C ฝนตกราว 1,000 มม./ปี
(น.37) รูป 35 ให้ของขวัญ
(น.37) สถานที่ธรรมชาติที่มีชื่อเสียงคือ เขาชางซานมียอด 19 ยอด แต่ละยอดสูงประมาณ 4,000 เมตร มีหิมะปกคลุมตลอดปี
สถานที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งคือทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ มีพื้นที่ 250 ตารางกิโลเมตร เก็บน้ำได้ประมาณ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร น้ำประปาก็ทำจากทะเลสาบนี้ ที่เรียกว่าเอ๋อร์ไห่เห็นจะเป็นเพราะว่ามีคนเห็นว่าทะเลสาบนี้มีรูปร่างเหมือนหูคน นอกจากทะเลสาบเอ๋อร์ไห่แล้ว ยังมีทะเลสาบอีกแห่งหนึ่งคือทะเลสาบเทียนฉือหรือทะเลสาบคุนหมิง เอ๋อร์ไห่ลึก มีน้ำมากกว่า เทียนฉือกว้างกว่าแต่ตื้น ทิวทัศน์ของต้าหลี่มีลม (feng) ดอกไม้ (hua) หิมะ (xue) พระจันทร์ (yue) สินค้าออกมีต้นเหอเถาหรือวอลนัท เห็ดต่างๆ สิ่งทอ กระดาษ เป็นต้น ชาวบ้านยังปลูกข้าวเจ้า ข้าวสาลี ถั่วปากอ้า มีเห็ดชนิดต่างๆ และกัญชาขึ้นในป่าสน มีราคาแพง แต่ชาวบ้านเองก็ปลูก
สำหรับสิ่งทอนั้น มาดามเฉินอธิบายเรื่องการย้อมเสื้อแบบมัดแล้วเอาไปย้อม พวกกลุ่มอาชีพมี สตรีทอผ้า การสานหมวกฟาง แกะไม้ เป็นต้น งานพวกนี้เป็นของผู้หญิงทำและขายได้ ฉะนั้นบางที่พวกผู้หญิงอาจจะได้เงินร่ำรวยกว่าสามีไปอีก เขตอำเภอเหวยซาน มีสตรีเป็น
(น.38) รูป 36 รับประทานเสร็จแล้วไปพบศิลปินซึ่งเขียนภาพด้วยนิ้วมือ
(น.38) สมาชิกทอผ้าอยู่ 4,000 กว่าคน ผ้าทอมือแบบนี้ญี่ปุ่นชอบมาก พูดกันถึงเรื่องท่องเที่ยวเดินทาง เขาบอกว่าสนามบินที่ลี่เจียงจะเสร็จในเร็วๆ นี้ ส่วนสนามบินต้าหลี่ปลายปีนี้จะเสร็จ
วันนี้ดื่มน้ำวอลนัท (walnut) หรือเหอเถา (ซึ่งเขาว่ามีสรรพคุณ แก้ร้อนใน บำรุงสมอง ตับและปอด) อาหารที่เลี้ยงมีของพื้นเมืองอย่างหนึ่งเป็นนมทอด เห็ดชิจง หอยในทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ ซี่โครงหมูทอด โสมใส่น้ำตาล หมูแฮมกับแป้งข้าวเจ้า แตงกวา ผักชนิดหนึ่ง ไก่ผัดถั่วงอก นกพิราบ ลูกชิ้นกุ้ง เห็ดหูหนู ของหวานกับผลไม้ ซาละเปา แป้งทอด ปลาต้ม (ต้ม 3 นาทีในน้ำเดือด)
เมื่อรับประทานเสร็จ ท่านผู้ว่าฯ ให้ของขวัญเป็นแผ่นหินอ่อนของต้าหลี่ซึ่งมีลวดลายในธรรมชาติเหมือนภูเขาชางซาน
ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 44,45,47,48,49,50,51,52,53,54,55,57,59,60,63,64,65,66,67,68,70,71,75,76,77,78,79,80,81,82,84,85,86,87,89,90
(น.44) รูป 43 เครื่องมือหินที่พบในจังหวัดต้าหลี่
(น.44) ต้าหลี่อยู่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของมณฑล มีเนื้อที่ 28,356 ตารางกิโลเมตร มีประชากร 3,001,770 คน มีคนกลุ่มน้อย 13 ชนชาติ เป็นชาติไป๋ประมาณ 33.17 % ผังของต้าหลี่ที่เห็นอยู่นี้มาตราส่วน 1:18,500 มี 13 อำเภอ มีวัฒนธรรมอันยาวนาน มีชื่อเสียงในประเทศจีน มีทิวทัศน์ที่งดงาม มีสถานที่ท่องเที่ยวมาก ที่สำคัญได้แก่ ทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ เขาชางซาน และยังมีอีกหลายเขา เช่น สือเป่าซาน ซึ่งมีสถานที่ท่องเที่ยว มีถ้ำที่แปลก สวยงาม จีซูซานเป็นแหล่งโบราณสถานทางพุทธศาสนา เว่ยเป่าซานเป็นโบราณสถานทางศาสนาพุทธและเต๋า ซื่อปี๋หูมีน้ำพุและทะเลสาบ เป็นแหล่งท่องเที่ยว
ในพิพิธภัณฑ์มีโบราณวัตถุ มีหินอ่อน ต้าหลี่มีเรื่องราวเกี่ยวกับประเพณีของชนชาติ แสดงบุหรี่ต่าง ๆ ซึ่งเป็นสินค้าสำคัญของต้าหลี่ พิพิธภัณฑ์นี้มีห้องแสดง 9 ห้อง
จากนั้นผู้อำนวยการนำชมศิลปะสมัยหินและสมัยสำริด เริ่มต้นเมื่อ 4,000 ปีก่อน เมื่อสมัยหินใหม่แถบนี้ก็เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์อยู่แล้ว (ข้อสังเกตอีกอย่างคือ พิพิธภัณฑ์ที่คุนหมิงกับที่นี่มีคำ
(น.45) รูป 44 เงินตราจีนรูปแบบต่างๆ นอกจากของจริงที่วางไว้ให้ดูยังมีภาพขยายใหญ่
รูป 45 ระฆังสมัยฮั่นตะวันตก
(น.45) อธิบายภาษาอังกฤษด้วย พิพิธภัณฑ์ที่เราไปในภาคอีสานเมื่อปีที่แล้วมีแต่ภาษาจีน) ที่เกาะจินซัวในทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ขุดพบเครื่องมือหิน ของที่แสดงไว้มีเครื่องมือหินต่าง ๆ มีเครื่องมือหินที่มีรูสองรู ซากข้าวเจ้าอายุ 3,700 กว่าปีมาแล้วกลายเป็นหิน (carbonized rice) ข้าพเจ้าถามเขาว่าข้าวนี้เป็นพันธุ์เดียวกับข้าวที่ปลูกในแถบนี้ในปัจจุบันหรือไม่ เขาบอกว่าเป็นข้าวเจ้าเหมือนกัน ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเขาได้เอาเศษจากเมล็ดข้าวนี้ไปวิเคราะห์อย่างจริงจังหรือเปล่า ถ้าทำน่าจะเป็นประโยชน์ นอกจากนั้นมีเครื่องปั้นต่าง ๆ เปลือกหอย สิ่งของสมัยสำริดประมาณ 3,600 ปีมาแล้ว มีภาพถ่ายโบราณสถานไห่เหมินโข่ว อำเภอเจี้ยนฉวน ยังพบเบ้าหลอมขวานสำริด มีขวานที่ด้ามเป็นไม้ รูปถ่ายขณะขุดค้น กลองมโหระทึกสมัยจ้านกว๋อ ประมาณ 2,500 ปีมาแล้ว ระฆังแขวนเปียนจงสมัยราวงศ์ฮั่นตะวันตก เงินตราหลายประเภทที่พบในต้าหลี่ เช่น เงินอู่จู แสดงว่าต้าหลี่มีความสัมพันธ์กับส่วนอื่น ๆ ของประเทศจีน รูปสุสานที่หมู่บ้านต้าจ่านถุน อยู่เชิงเขาชางซาน อายุประมาณ 1,900 ปีมาแล้ว เครื่องปั้นดินเผาต่าง ๆ ที่น่าสนใจคือถาดทำเป็นรูปนาขั้นบันได มีสัตว์ต่าง ๆ
(น.47) รูป 48 ภายในพิพิธภัณฑ์
(น.47) ดูนิทรรศการเรื่องน่านเจ้า (หนานเจา) ประเทศนี้อยู่ระหว่างปี ค.ศ 738 – 902 (ต้าหลี่ปี ค.ศ. 937 – 1253) ประชาชนของประเทศทั้งสองเป็นชนชาติส่วนน้อยคือพวกไป๋ มีภาพถ่ายแสดงแผนที่น่านเจ้าสมัยโบราณเป็นรูปงู 2 หัว หัวสองหัวไขว้กัน ด้านหนึ่งมีรูปปลา อีกด้านมีรูปหอยสังข์ เขาว่าพวกไป๋นับถือปลากับหอย
มีแผนที่น่านเจ้าในตอนนั้นใหญ่กว่ายูนนานเดี๋ยวนี้ รวมพม่า ส่วนหนึ่งของไทย ส่วนหนึ่งของเสฉวน และกุ้ยโจว แผนที่ฉบับนี้กระทรวงการต่างประเทศของจีนอนุมัติแล้วให้เป็นแผนที่ประวัติศาสตร์ ข้าพเจ้าสงสัยว่าทำไมกระทรวงการต่างประเทศจะต้องเกี่ยวกับเรื่องโบราณ ๆ แบบนี้ เขาอธิบายว่าแผนที่เป็นเรื่องของการเมืองระหว่างประเทศ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องพิจารณาให้ดีก่อนเผยแพร่ (อาจมีปัญหาชายแดนได้)
(น.48) รูป 49 โบราณวัตถุที่แสดงอิทธิพลของพุทธศาสนาในต้าหลี่
(น.48) แผนภูมิแสดงกษัตริย์ของอาณาจักรน่านเจ้า ระบบเรียกชื่อกษัตริย์ของน่านเจ้า ใช้ชื่อคำหลังของพ่อเป็นชื่อหน้าของลูก เช่น พีล่อโก๊ะ โก๊ะล่อฝง ฝงกาอี้ (คนนี้ตายไปก่อนเลยไม่ได้เป็นกษัตริย์) สมัยที่ข้าพเจ้ายังเป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษา ต้องท่องจำชื่อพวกนี้ เพราะเขาบอกว่าเป็นอาณาจักรไทยโบราณ ยังสงสัยอยู่เลยว่าทำไมถึงชื่อผิดมนุษย์มนาแบบนี้ ต่อมาคิดเสียว่าท่านพวกนี้อาจจะชื่ออย่างอื่นแบบไทย แต่ว่าจีนใช้อักษรจีนเขียนเลยเป็นแบบนี้ อย่างอาณาจักรทวารวดี บันทึกจดหมายเหตุจีนยังเรียกว่าโตโลโปตี้ ได้ทราบว่าสมัยนี้นักวิชาการเขาพิสูจน์ได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ค้นพบใหม่ขึ้นเรื่อย ๆ ว่าพวกนี้คงจะเป็นคนเชื้อชาติไป๋ไม่ใช่คนไทย เป็นอันว่าตัดออกได้ ถึงเดี๋ยวนี้ข้าพเจ้ายังเชื่ออยู่ว่าคนเผ่าไทย (ไท) ได้อยู่อาศัยในดินแดนจีน โดยเฉพาะอย่างยิ่งแถบยูนนาน กวางสี ในอินเดีย พม่า เวียดนาม มาเป็นเวลาพัน ๆ ปีแล้วเพียงแต่ไม่มีอำนาจรัฐเท่านั้น ทั้งนี้ มีหลักฐานทางโบราณคดี ภาษา มานุษยวิทยาสนับสนุน นอกนั้นยังมีพระนามกษัตริย์โบราณ ต้าฉางเหย ต้าเทียนซิง ต้าอี้หนิง โบราณวัตถุที่จัดว่าอยู่ในสมัยนี้มีหลายอย่าง เช่น เครื่องเคลือบมีตัวหนังสือจารึก ตัวหนังสือที่เห็นดูเหมือนจะเป็นภาษาจีน แต่ข้าพเจ้าอ่านไม่ออก
(น.49) ในสมัยนี้มีเมืองหลายเมือง มีภาพแสดงให้ดู เช่น เมืองไท่เหอ (มีภาพถ่ายสภาพปัจจุบัน) ตั้งตามแนวแม่น้ำที่ไหลลงทะเลสาบ (7 กิโลเมตรจากพิพิธภัณฑ์นี้) เมืองหยางจีหมี เมืองต้าหลี่ (สมัยราชวงศ์ หมิง) เมืองหลงเหว่ยเฉิงหรือเซี่ยกวนคือบริเวณที่เรายืนอยู่ขณะนี้ มีแผนที่ของทะเลสาบเอ๋อร์ไห่ซึ่งด้านหนึ่ง (ตะวันตก) เป็นเขาชางซาน มียอดที่สำคัญ 19 ยอด มีห้วย 18 สาย หิมะที่อยู่บนยอดเขาเหล่านี้ บางส่วนจะละลายลงมาในทะเลสาบ นอกจากทะเลสาบเอ๋อร์ไห่แล้วยังมีแหล่งน้ำอื่น ๆ เช่น ซื่อปี๋หู
ในด้านโบราณวัตถุที่แสดงความเชื่อถือของคนในอาณาจักรนี้ เช่น บริเวณเมืองเก่าไท่เหอมีรูปกวนอิมหยู่ถง (คำว่าหยู่ถงนี้เข้าใจว่าเป็นทองแดงที่มีวิธีหล่ออย่างหนึ่ง) สิ่งของต่าง ๆ ที่ขุดพบในพระเจดีย์ต่าง ๆ เช่น รูปเจดีย์ทำด้วยทองเหลืองอยู่ในเจดีย์ พระพุทธรูป จารึกต่าง ๆ รูปนกต้าเผิง เป็นสัตว์ที่ชนชาติเหล่านั้นนับถือ จารึกที่มีข้อความบรรยายว่าเป็นจารึกสันสกฤตมีเป็นจำนวนมาก ข้าพเจ้าดูแล้วคิดว่าอาจจะไม่เป็นภาษาสันสกฤตก็ได้ ต้องพิจารณาตัวอักษรอีกครั้งหนึ่ง
รูปถ่ายเจดีย์สามองค์ที่เราจะไปดูกันบ่ายนี้ อายุพันกว่าปีแล้ว มีตู้แสดงสิ่งของต่าง ๆ ทางศาสนา มีวัชระ รูปเจดีย์วัดหงเซิง สมัยราชวงศ์ซ่ง วัดฝูกูสมัยราชวงศ์ถัง สิ่งของที่พบในสุสาน เช่น หอยเบี้ย กระจก สำริด (ถึงตอนนี้เข้าใจว่าคนแถวนั้น หรือกษัตริย์ที่ปกครองเมืองหรืออาณาจักรในแถบนี้นับถือพุทธศาสนามหายานที่เป็นแบบตันตระ หรือลัทธิลามะแบบทิเบต)
อีกด้านหนึ่งของห้องมีตารางแสดงพระนามกษัตริย์ต้าหลี่ซึ่งเป็นคนแซ่ต้วน ส่วนพวกน่านเจ้านั้นเขาว่าเป็นคนแซ่เหมิง น่านเจ้าเคยทำสงครามกับราชวงศ์ถัง ต่อมามีการทำสัญญาตกลงกันยอมอยู่ในอิทธิพล
(น.50) รูป 50 จำลองพระพุทธรูปจากถ้ำ
(น.50) ของราชวงศ์ถัง กษัตริย์จีนราชวงศ์ถังตั้งเจ้าเมืองที่ปกครองแถบนี้ (มีจารึก) จารึกที่น่าสนใจคือจารึกที่เขียนในรัชสมัยพระนางอู๋เสอเทียน (บูเช็กเทียน) คือคำว่า กว๋อ ที่แปลว่า ประเทศ ใช้ตัวอักษร แทนตัว 國
ซึ่งใช้เช่นนี้จนสิ้นราชวงศ์หมิง ที่ให้ใช้ตัว เพราะอักษร 方 ที่อยู่ด้านในสี่เหลี่ยม หมายถึง ทิศ คือ การคุมอำนาจได้ 4 ทิศ
จารึกปี ค.ศ. 766 เล่าประวัติอาณาจักรน่านเจ้าอยู่ที่เต๋อหัวเหนือไท่เหอ 5 กิโลเมตรจากพิพิธภัณฑ์นี้
อีกห้องแสดงศิลปะน่านเจ้าและต้าหลี่
มีรูปโบราณสถาน ในแถบถ้ำบริเวณอำเภอเจี้ยนชวน มีถ้ำที่สำคัญอยู่ 16 แห่ง มีพระพุทธรูป 130 รูป มีรูปพระอินเดียที่เล่าเรื่องกันมาว่าเป็นกวนอิมแปลงกายมา ถือแจกันและก้านต้นหลิว มีพระพุทธรูปพระศากยมุนีและพระสาวก รูปแม่ทัพ รูปวิมลเกียรติ
(น.51) รูป 51 รูปกองทัพสมัยน่านเจ้า
(น.51) ทางพิพิธภัณฑ์จำลองรูปในถ้ำมาให้ประชาชนดู กล่าวกันว่าเป็นภาพกษัตริย์น่านเจ้าชื่อโก๊ะผี เป็นน้องของโก๊ะล่อฝง นับถือศาสนาพุทธ รูปพระพุทธเจ้าและพระแถบนี้ รูปคนขี่ช้าง รูปกษัตริย์สีนุโล พระมเหสี ตรงกลางเป็นพระโอรส (เป็นภาพครอบครัว)
เสาน่านเจ้า ตรงยอดมีรูปมังกร 3 ตัว มีจารึกประกอบ บางเสาเป็นรูปนก อยู่ในวัดเที่ยจู้ (วัดเสาเหล็ก)
รูปกษัตริย์ของน่านเจ้าขี่ม้าออกไปรับกองทัพ (ขี่ม้าเหมือนกัน) มีสุนัขเดินนำ รูปกษัตริย์ต้าหลี่ทรงพระนามว่ากษัตริย์หลี่เจิน รัชสมัยของพระองค์อยู่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง วิวด้านหลังเขาว่าเป็นทิวทัศน์เทือกเขาชางซาน
(น.52) รูป 52 เส้นทางแพรไหมทางใต้
(น.52) เดินไปอีกห้อง มีหินสลักรูปกวนอิม หม้อเก็บกระดูกสมัยราชวงศ์หยวน พบในต้าหลี่ มีเครื่องปั้นดินเผาเคลือบสีต่างๆ สีเขียวไข่กาบางชนิดคล้ายๆ กับสังคโลก หรือเครื่องปั้นทางเมืองเหนือของไทยมีลายครามกังไส
รูปถ่ายเส้นทางแพรไหมทางใต้ มีพวกตุ๊กตาม้า และหน้าบุคคล ศุภรัตน์ผู้สนใจเส้นทางแพรไหมเป็นพิเศษถามว่า เส้นทางนี้เริ่มอย่างไรผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์บอกว่าเริ่มจากเฉิงตู ยูนนาน พม่า และอินเดีย ข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะมาจากซีอานเมืองหลวงในสมัยนั้น เหลือบไปดูในแผนที่เห็นชื่อเมือง Bonan คืออะไร ได้ความว่า เป็นอำเภอโป๋หนาน (สมัยราชวงศ์ถังเรียกว่า หย่าผิง)
(น.53) รูป 53 ต้นชา
รูป 54 ต้นชา
(น.53) ภาพวัดต่างๆ ในแถบนี้มีทั้งพุทธศาสนาลัทธิต่างๆ ขงจื๊อ อิสลาม เต๋า คริสต์ สิ่งที่น่าสนใจคือไม่ว่าจะเป็นศาสนาอะไร อาคารที่เป็นศาสนสถานก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นโบสถ์คริสต์ศาสนา มัสยิด วัด ศาลเจ้า พวกถือบรรพบุรุษ ใช้การก่อสร้างแบบเดียวกันหมดคือเป็นแบบจีน
จารึกซึ่งพบอยู่ที่สุสาน ด้านบนเป็นอักษรจีนเขียนภาษาจีน ข้างล่างอักษรแขกจากอินเดีย นอกนั้นมีภาพสมัยราชวงศ์หมิง เป็นภาพพุทธประวัติพระพุทธเจ้าแต่งกายแบบจีนสมัยราชวงศ์หมิง
ภาพชนชาติอี๋เต้นรำอยู่ใต้ต้นสนภาพต้นสนสวยมากมีลูกสนด้วย เดินออกมาข้างนอกเขาจัดเป็นสวนสวยงาม มีดอกชา (ฉาฮัว) ดอกสีชมพู ฝรั่งเรียกว่า ดอกคาเมเลีย (Camellia) ไม่ใช่ชาที่เอาใบมาชงน้ำ
(น.54) รูป 55 ห้องแสดงหินอ่อน
รูป 56 รากไม้
(น.54) ห้องแสดงหินอ่อนต่างๆ ของต้าหลี่ เป็นหินสีขาวมีลายดำหรือเทา บางทีออกมาสีแดงๆ พวกศิลปินมองดูแล้วเห็นว่าเป็นอะไรๆ ก็ตัดมาเข้ากรอบขาย มีรูปที่มีคำบรรยายว่าเป็นฤดูกาลต่างๆ ได้แก่ ฤดูหนาว ฤดูใบไม้ผลิ ฤดูร้อน ฤดูใบไม้ร่วง รูปเห้งเจีย ตือโป๊ยก่ายและซัวเจ๋ง รูปไป๋กู่จิง ปีศาจกระดูกขาว มีหินอ่อนอยู่แผ่นหนึ่ง ตัดเป็น 2 ชิ้น เป็นรูปม้า 2 ตัว
มีศิลปะอีกแบบคือการเก็บรากไม้เก่าๆ มาสลัก ไม้ที่แกะและประกอบกับหินอ่อนเรียกว่าหยุนมู่เจียจู้ คือเฟอร์นิเจอร์หินประกอบไม้ ต้นไม้ต่างๆ ที่ใช้มี ต้นจู้ชวน ต้นชิงผี ไม้หนักคล้ายๆ กับไม้โอ๊ก มีไม้สักหรือ
(น.55) รูป 57 บ้านชนกลุ่มน้อยจำลอง
(น.55)ไม้หนานมู่ ไม้แดง ห้องนั้นยังมีที่ขายของกระจุกกระจิก เช่น ไม้สลัก หินสลัก รูปหน้ากากหินสลัก เป็นต้น
เข้าไปดูห้องชนชาติส่วนน้อย ชนชาติใหญ่ๆ มีพวกอี๋ ลีซอ พวกไป๋ เขาทำเป็นบ้านจำลองแสดงเครื่องมือต่างๆ บ้านทำด้วยต้นสนและต้นลี่ เป็นไม้เนื้อแข็งชนิดหนึ่ง ไม่ใช่สาลี่ที่กินลูกได้ แสดงเครื่องมือทำการเกษตรและเครื่องมือทำมาหากิน เช่น ครกตำข้าว เครื่องมือทอผ้า เครื่องปั่นด้าย โม่ ไถ แห หั่วป่า (คล้ายๆ กับคบไฟขนาดใหญ่) ธนู เขาควาย เป็นต้น รูปบ้านจำลองชาวไป๋ที่อยู่ในเขตภูเขา บ้านทำด้วยไม้ มุงกระเบื้องไม้ รูปจำลองสะพานแบบต่างๆ เริ่มตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง
(น.57) รูป 60 ภาพชีวิตชาวไป๋
(น.57) หุ่นแสดงเผ่าต่างๆ เช่น เผ่าลาฮู แม้ว ไป๋ อี๋ หุย ไต่ ทิเบต ลีซอ น่าซี
เข้าประตูแบบหมู่บ้านไป๋ไปอีกห้อง แสดงเครื่องแต่งตัวสตรีไป๋ในท้องถิ่นต่างๆ แต่ละถิ่นแต่งไม่เหมือนกัน เช่น ในต้าหลี่เป็นเขตภูเขามีพวกเอ๋อเหยียน เหอจิ่น การแต่งกายเจ้าสาวเหอชิ่ง
จำลองบ้านชาวไป๋ในสี่โจว (ที่เราจะไป) ตรงกลางเป็นห้องรับแขกหรือห้องที่ตั้งป้ายบูชา เรียกว่า จุงถัง ซ้ายเป็นห้องที่พ่อแม่อยู่ ด้านขวามือเป็นห้องเจ้าบ่าวเจ้าสาว
ภาพถ่ายพิธีแต่งงานของชาวไป๋ เจ้าสาวต้องสวมแว่นดำเพื่อป้องกันภัย (ประยุกต์จากผ้าคลุมหน้า ?) มีลูกก็เอาลูกใส่ตะกร้า ภาพรูปตลาดในเดือนมีนาคม
(น.59) รูป 63 เซ็นสมุดเยี่ยม
(น.59) เป็นอันว่าจบการชมพิพิธภัณฑ์ ไปเซ็นชื่อในสมุดเยี่ยม และขึ้นรถกลับโรงแรม ในรถมาดามเฉินเล่าว่ามีเมฆชนิดหนึ่งเรียกว่า เมฆมองดูสามี หรือหยุนว่างฟู และบอกให้ข้าพเจ้าไปถามผู้ว่าต้าหลี่ว่ามีความเป็นมาอย่างไร แล้วเล่าต่อเรื่องเมืองเซี่ยกวนว่าเรียกกันว่าเป็นฟงเฉิงหรือเมืองลม มีนิทานเล่าประวัติว่า กวนอิมแต่งตัวเป็นคนแก่เดินไปถึงด่านนายด่านจะมาตรวจของ คนแก่นี้ก็ไม่ยอมให้ตรวจ แต่นายด่านก็ตรวจจนได้ พอเปิดขวดก็มีลมพุ่งออกมา เมืองจึงกลายเป็นเมืองลม คือมีลมพัดแรงตลอดปี ถ้าไม่มีลมพัดคนที่นี่จะรู้สึกว่าไม่สบาย ฉะนั้นสิ่งก่อสร้างแถวนี้จะมีกำแพงกันลมอีกชั้น ส่วนมากจะทำบ้าน 3 ห้อง มีลานและกำแพง
(น.60) รูป 64 ไปท่าเรือ
(น.60) จากโรงแรมเดินทางต่อไปท่าเรือ มาดามเฉินเล่าให้ฟังว่า วัดอรหันต์ 500 ที่ข้าพเจ้าไปดูเมื่อ 14 ปีมาแล้วถูกไฟไหม้เร็วๆ นี้ และห้องที่มีพระอรหันต์ไม่ไหม้
ในยูนนานมีทะเลสาบหลายแห่ง ได้แก่เทียนฉือที่ข้าพเจ้าเคยไปขณะนี้น้ำเสีย ต้องใช้เวลา 15 ปี จึงแก้ไขได้ (โดยการเปลี่ยนน้ำ) เอ๋อร์ไห่ยังไม่ถึงกับเสีย ใกล้ๆ ทะเลสาบนี้มีหมู่บ้านชนเผ่าหนึ่งที่มีประเพณีถือระบบแม่เป็นใหญ่ ชายหญิงแต่งงานกัน ชายต้องไปนอนอยู่บ้านหญิง แต่กลางวันไปอยู่บ้านตัวเอง ในสมัยก่อนพวกเด็กๆ รู้แต่ว่าใครเป็นแม่ ไม่รู้จักพ่อ เดี๋ยวนี้เปลี่ยนไปบ้างแล้ว แถวนั้นทิวทัศน์สวยงาม น้ำใสสะอาด เด็กหญิงร้องเพลงเก่ง จับปลาในทะเลสาบไปพลางร้องเพลงไปพลาง พวกนักมานุษยวิทยาชอบเข้าไปศึกษา การคมนาคมยังไม่ค่อยสะดวกนัก คราวหน้าถ้าข้าพเจ้ามาอีก มีเวลาจะพาไป
(น.63) รูป 69 เมฆแบบนี้ที่นิทานเรียกว่าเมฆมองสามี
(น.63) ขึ้นไปบนเรือไปนั่งในห้อง ผู้ว่าฯ เล่านิทานเรื่องเมฆมองสามีว่า มีนิทานน่านเจ้าว่า เจ้าหญิงองค์หนึ่งไปรักคนล่าสัตว์ แต่ถูกพ่อแม่ขัดขวางจึงหนีไป ตอนหนาวไม่มีเสื้อผ้า คนล่าสัตว์ไปเอาเสื้อพระมาใส่ให้ พระในวัดรู้เข้าก็ลงโทษ จับคนล่าสัตว์กดน้ำ คนล่าสัตว์กลายเป็นก้อนหินอยู่ใต้น้ำ เจ้าหญิงคอยสามีอยู่ไม่กลับเสียที เลยกลายเป็นก้อนเมฆ เรียกว่าเมฆมองสามี ตอนที่เมฆนี้ออกมาต้องมีลม เมฆก็จะโตขึ้นทุกที อากาศจะเปลี่ยนไป
(น.64) รูป 70 ท่องทะเลสาบเอ๋อร์ไห่
(น.64) ผู้ว่าฯ อธิบายว่าอุทยานนี้เคยเป็นที่เลี้ยงกวางของกษัตริย์น่านเจ้าเป็นต้นน้ำของอำเภอไห่หยวน อำเภอนั้นก็มีทะเลสาบอีกแห่ง เล็กกว่าที่นี่ ชาวบ้านที่นี่ส่วนมากเป็นชาวประมง มีฐานะค่อนข้างดี นอกจากจับปลาแล้วยังปลูกผัก สกัดหินอ่อนมาเป็นวัสดุก่อสร้างและเครื่องประดับ ทะเลสาบแห่งนี้ต้องควบคุมระดับน้ำโดยทำประตูน้ำ เพื่อให้ชักน้ำเข้านาได้และป้องกันน้ำท่วม การจับปลามีการควบคุม เดือนเมษายนถึงสิงหาคมห้ามจับ เพราะเป็นช่วงที่ปลาอิ๋นหยูหรือปลาเงินยังเล็ก พันธุ์ปลาเงินที่นี่จากไท่หู เมืองหูซี มณฑลเจียงซู เดี๋ยวนี้ส่งออกไปญี่ปุ่นประมาณปีละ 1,000 กว่าตัน คนไป๋สนใจการศึกษา ฉะนั้นได้เป็นผู้นำระดับมณฑลกันมาก
(น.65) รูป 71 ท่องทะเลสาบเอ๋อร์ไห่
(น.65) ด้านล่างของทะเลสาบมีสถานีกำเนิดไฟฟ้าที่ใช้พลังน้ำจากแหล่งน้ำนี้ สถานีกำเนิดไฟฟ้าต้องใช้น้ำมาก ชาวบ้านก็ต้องการน้ำเข้านา ฉะนั้นต้องมีการกำหนดการใช้น้ำให้สมดุล ไฟฟ้าจากสถานนี้ใช้ทั้งมณฑล แต่น้ำที่ชาวนาใช้เป็นประโยชน์ต่อชาวนาต้าหลี่เท่านั้น มาดามเฉินบอกว่าน่าจะต้องคิดถึงส่วนรวมมากกว่าท้องถิ่น สภาผู้แทนฯ จึงออกกฎหมายบังคับเรื่องระดับน้ำ 1 มิลลิเมตร ผู้ว่าฯ ก็พยายามแย่งชิง น้ำลดไปแค่นั้นหมดไปถึงแสนลูกบาศก์เมตร ผู้ว่าฯ แย้งว่าที่สู้ก็เพื่อผลประโยชน์ของประชาชน ถ้าเพาะปลูกได้ดีชีวิตก็ดีและสงบสุข เป็นผลดีต่อมณฑลด้วยที่จริงเรื่องนี้เขายั่วกันเล่นระหว่างผู้ว่าฯ กับมาดามเฉิน ไม่ได้ทะเลาะกันจริงๆ สรุปกันว่าต้องประสานประโยชน์เพื่อทุกฝ่าย
(น.66) รูป 72 ท่องทะเลสาบเอ๋อร์ไห่
(น.66) เราออกมาชมวิว มองไปไกลๆ พวกหนึ่งก็ว่าเหมือนวิวทะเลสาบเจนีวา มีภูเขาสูงปกคลุมด้วยหิมะสีขาว ตอนนี้หิมะกำลังตกบนยอดเขามีเมฆดูเหมือนจะเป็นเมฆดูสามี ถ่ายรูปกันใหญ่ แต่อีกด้านหนึ่ง (เข้าใจว่าเป็นเพราะเรือเราแล่นอยู่ใกล้ฝั่งนี้) ดูเห็นแห้งแล้งคล้ายๆ ภูเขาในมองโกเลียที่เราไปตอนเดือนตุลาคม พ.ศ. 2535 เลยว่าที่นี่ดีมากข้างหนึ่งเป็นเจนีวา อีกข้างเป็นมองโกเลีย
ลงมาชั้นล่าง มีพิธีกรเป็นสาวชาวไป๋อธิบายเรื่องพิธีซานเต้าฉา ว่าเป็นพิธีของชาวไป๋สำหรับรับแขกผู้มีเกียรติ โดยให้ดื่มชา 3 ถ้วย 3 วิธี ชาถ้วยแรกค่อนข้างขม เหมือนชีวิตคนเกิดมาก็ต้องประสบความยากลำบาก ต้องต่อสู้เพื่อความอยู่รอด ถ้วยต่อมาหวาน หมายความถึงชีวิตต้องลำบากก่อน เมื่อพยายามจนได้รับผลสำเร็จ ชีวิตก็หวาน เมื่อ
(น.67) รูป 73 พิธีชา 3 ถ้วย 3 วิธี ในเรือ
(น.67) อายุมากก็ต้องคิดถึงอดีตของตนว่าเป็นอย่างไร ผ่านประสบการณ์ต่างๆ ที่เป็นความทรงจำของชีวิต ดื่มสามครั้งรสชาติไม่เหมือนกัน คือ ขมหวาน และสุดท้ายรสชาติยากที่จะลืม วิธีทำชา 3 ถ้วยนี้ต่างกัน
ก่อนอื่นแจกผลไม้เชื่อม : แตงกวาเชื่อม ลูกบ๊วย ฯลฯ และเต้นระบำต้อนรับ ผู้หญิงที่เต้นถือไม้ เขาบอกว่าไม้นี้เรียกว่าไม้ป้าหวัวเปี้ยน มีเหล็กอยู่ข้างใน ถามว่ามีความหมายอย่างไรก็ตอบไม่ได้ ส่วนผู้ชายถือกลองแทมโบรีน พอเต้นจบแล้วโฆษกออกมาประกาศว่าการมาเยือนที่เขตปกครองตนเองของพวกไป๋นี้ ถ้ายังไม่ดื่มน้ำชาซานเต้าฉาก็เหมือนกับมาไม่ถึง เป็นธรรมเนียมการต้อนรับที่มีมาแต่โบราณ ตั้งแต่สมัยกษัตริย์น่านเจ้าต้อนรับอาคันตุกะที่มาเยือน ชาที่เอามาเลี้ยงของที่นี่เป็นชาก้อนที่เคยได้รับรางวัลมาแล้ว 3 ครั้ง ดื่มแล้วทำให้เป็นหนุ่มสาวตลอดไป
(น.68) รูป 74 การแสดงในเรือ
(น.68) จากนั้นให้ดื่มชาถ้วยแรกซึ่งเป็นชาขม ก่อนที่จะดื่มชาถ้วยที่ 2 มีนักร้องหญิงมาร้องเพลง คลอด้วยพิณสามสายชื่อเพลง ยินดีต้อนรับสู่ต้าหลี่ของเรา กับเพลงชนชาติไป๋แห่งภูเขาซีซาน นักร้องเสียงสูงเหมือนนางเอกงิ้ว หรือนักร้องเสียงโซปราโนในอุปรากรฝรั่ง จากนั้นมีระบำหมวกใบลาน ร้องเพลงมีเนื้อหาว่า บ้านเมืองของเขานั้นมีเขาสวย น้ำใส สาวงามยิ่งกว่าดอกชา พอจบแล้วโฆษกออกมาสอนภาษาไป๋ 2-3 คำแต่ข้าพเจ้าฟังไม่ออก จับได้แต่คำว่า น่าเวนิ แปลว่า ขอบคุณ แล้วเขาสั่งเอาไว้ว่าเวลาเอาชาถ้วย 2 มาให้ ทุกคนต้องขอบคุณว่า น่าเวนิ
ชาถ้วยที่ 2 ใส่ลูกวอลนัท น้ำตาลทรายแดง และนม
โฆษกออกมาบอกว่าเคยมีภาพยนตร์เรื่อง อู๋ตั่วจินฮัว หรือดอกจินฮัว 5 ดอก ในเรื่องกล่าวถึงสาวงามชื่อจินฮัว 5 คน เพลงที่จะแสดงต่อไปนี้เป็นเพลงคู่รักเกี้ยวกันที่ทะเลสาบหูเตี๋ยฉวน ผู้ชายออกมาร้องก่อน ทำนองเพลงฟังแปลกหู ผู้หญิงออกมาร้องเสียงแหลมๆ ตาม
(น.70) รูป 77 ถ่ายรูปกับนักแสดง
(น.70) แบบฉบับคลาสสิกของที่นี่ เป็นภาษาไป๋ว่า “ได้ยินไหมคะ” ข้าพเจ้าฟังแล้วนึกในใจว่าเสียงทั้งดังทั้งแหลม ถ้าไม่ได้ยินเห็นจะเป็นคนหูหนวก
เสียงผู้ชายเรียก “น้องสาว”
ร้องไปร้องมาข้าพเจ้าเกิดรู้สึกว่าฟังเข้าใจ เพราะกลายเป็นภาษาจีนตอนท้ายๆ เพลงมีการร้องประสานเสียงกัน ฝ่ายชายคืออาเผิง ฝ่ายหญิงคือจินฮัว สุดท้ายผู้หญิงผู้ชายแลกของกัน ฝ่ายหญิงให้กระเป๋า ฝ่ายชายให้เครื่องดนตรีเป่า แสดงความ “ชิชิเก่าเก่า” แปลว่า สนิทสนมกัน
ชาถ้วยที่ 3 คือชาไม่รู้ลืม เป็นชาผสมด้วยเปลือกต้นกุ้ย (อบเชย) น้ำผึ้ง
การปลูกชาที่ต้าหลี่ทำมาพันกว่าปีแล้ว
(น.71) รูป 78 เกาะเสี่ยวผู่ถัว
(น.71) การแสดงต่อจากนั้นแสดงพิธีการแต่งงานของพวกไป๋ ต้องมีการไล่จับเจ้าสาว 3 ครั้ง ครั้งแรกดีใจ ครั้งที่ 2 มีความสุข ครั้งที่ 3 เสร็จพิธี เชิญให้แขกไปจับแก้มเจ้าสาวเป็นการให้พร สุดท้ายเจ้าบ่าวเจ้าสาวแจกขนมหงชวงซี
เสร็จพิธีแล้วเรือไปเทียบที่เกาะเล็กๆ ชื่อเกาะเสี่ยวผู่ถัว (ผู่ถัวใหญ่อยู่ที่เจ๋อเจียง) บนเกาะมีวัดเล็กๆ ที่ทะเลสาบนี้เกาะอยู่ 4 เกาะ เกาะนี้เล็กที่สุด มีคนมาไหว้พระกวนอิม พอขึ้นเกาะเห็นมีคนเอากุ้ง ปลาลาย (ฮัวหยู) ปลาเงิน (อิ๋นหยู) มาขาย แถมยังทอดขายกันตรงนั้นเลย ใส่แป้งทอดเป็นแผ่นๆ ก็มี นอกจากนั้นมีของที่ระลึกขายอีกหลายอย่าง แต่แรกข้าพเจ้าคิดว่าพวกนักซื้อ (ปาทังก้า) ทั้งหลายจะ “ลง” กันอย่างสนุกสนาน แต่ปาทังก้าของเราไม่ซื้อเพราะแพงเกินไป เขาว่ากวนอิมที่นี่ศักดิ์สิทธิ์มาก แต่ก่อนมังกรอาละวาด กวนอิมมาประทับตรา หรือทำอะไรก็ฟังไม่ออก
(น.75) รูป 85 เสี่ยงเซียมซีเจ้าแม่กวนอิม
รูป 86 พระอ้วน (น.75) ในวิหารชั้นล่างเป็นพระอ้วน มีคนเคาะมู่หยูดังก๊อกๆ และสวดอะไรก็ไม่รู้ ชั้นบนเป็นพระกวนอิม มีเซียมซี วิธีเสี่ยงเซียมซีที่นี่เขาให้เจ้าหน้าที่ของวัดเขย่ากระบอกเซียมซีและคนเสี่ยงหยิบติ้ว ข้าพเจ้าว่าไม่เอาจะเสี่ยงแบบไทยคือเขย่าเอง ปรากฏว่าได้ใบที่ 31 ซึ่งดีมาก จะรวยตลอดชาติ โชคดีตลอดไปพี่น้องก็รัก ไม่มีปัญหาอะไรเลย เพื่อนก็รัก มีเพื่อนก็เหมือนพี่น้อง ที่แย่คือบอกว่าจะแต่งงานช้า ต้องช้าถึงจะดี อายุ 40-50 ก็แต่งได้แต่งแล้วจะได้ลูกชายที่ดีมาก ข้าพเจ้าสงสัยว่าแต่งช้าแล้วจะมีลูกหรือ ถึงมีก็ไม่ดี ลูกชายยังไม่ทันจะโตเราก็ตายเสียก่อน เห็นจะไม่ทำตามเซียมซี
(น.76) รูป 87 กลับขึ้นเรือเพื่อไปรับประทานอาหารกลางวัน
(น.76) ไหว้พระที่วัดเสี่ยวผู่ถัวเสร็จแล้วก็กลับมาที่เรือเพื่อรับประทานอาหารกลางวัน ระหว่างทางมีคนแก่เอาผ้าแดงมาผูกให้เป็นการต้อนรับ ที่ในเรือข้าพเจ้านั่งกินกับท่านทูตหลี่ซื่อฉุนและภรรยา ผู้ว่าฯ มาดามเฉิน คุณหลิว อาหารอร่อยมาก คนอื่นเขารับประทานเสร็จตั้งนานแล้ว โต๊ะเรายังไม่เสร็จ มีไก่ย่างซึ่งอร่อยมาก โสมกุ้ง มันฝรั่งทอด สมุนไพรหวังชิงซึ่งแก้พิษ แก้ร้อนในได้ แกงจืดยอดถั่ว หม่านโถว ฯลฯ
รับประทานเสร็จถึงเวลาขึ้นฝั่ง มีรถมารับเพื่อไปหมู่บ้านสี่โจวเจิ้น ซึ่งอยู่ในเขตอำเภอเมือง เป็นถิ่นของชาวไป๋ ผู้ชายไป๋ไม่ค่อยแต่งกายชุดประจำชาติแล้ว แต่ผู้หญิงยังแต่งเป็นปกติอยู่ มาดามเฉินบอกว่าโอกาสหน้าน่าจะไปลี่เจียง มีวัฒนธรรมพิเศษ ทุกครอบครัวจะปลูกต้นหยาง ต้นหลิว ที่นี่ปลูกต้นอัน (ยูคาลิปตัส) ใบอันทำน้ำมัน ครีมแก้คัน แก้หวัด ไม้ใช้ต่อเรือได้ ตอนนี้ชาวบ้านปลูกถั่ว เมื่อเก็บเกี่ยวถั่วแล้ว ปลูกข้าวเจ้า บางคนก็ปลูกยาสูบ ฤดูฝนลำธาร 18 สายก็ไหลลงทะเลสาบ
(น.77) รูป 88 เส้นทางไปหมู่บ้านสี่โจวเจิ้น
(น.77) ผ่านโรงเรียนมัธยมชนบท เข้าหมู่บ้านซึ่งมีนักท่องเที่ยว มีโรงเรียนประถมศึกษา มาดามบอกว่าอีก 5 ปีมีแผนการให้เด็กนักเรียน 70% เรียนจบ 9 ปี เปรียบเทียบกับมณฑลอื่นยังนับว่ามณฑลนี้ล้าหลังในด้านการศึกษา
ไปถึงที่หมู่บ้าน มีคณะดนตรีต้อนรับตามธรรมเนียมของเขาตามเคย นายหวงเผยจางหัวหน้าหมู่บ้านเชิญไปนั่งฟังเพลงพื้นเมืองเก่าแก่ เขามีโปรแกรมแจก เป็นแผ่นพับที่เขียนด้วยลายมือพู่กันจีนอย่างงดงาม ในโปรแกรมที่แจกนั้นนอกจากมีชื่อเพลงที่จะบรรเลงแล้ว ยังมีข้อความอื่นๆ ที่น่าสนใจแปลความเป็นภาษาไทยได้ดังนี้
(น.78) รูป 89 หมู่บ้านสี่โจวเจิ้น
(น.78) บทเพลงคัมภีร์ต้งจิงของสี่โจวเริ่มต้นขึ้น
ทั้งภายในและภายนอกสงบนิ่ง จัดแถว (นักดนตรี) จัดหมวกและเสื้อผ้าให้เรียบร้อย ผู้ร่วมกิจกรรมต่างมุ่งหน้าที่ของตน ตีกลอง 3 ครั้ง เสียงดนตรีอื่นๆ ดังขึ้น บรรเลงเพลงพระราชวังนานกิง เริ่มท่องอ่านเพลงกลอน (น.79) ข้อความต่อไปในแผ่นพับเป็นรายชื่อเพลงที่จะบรรเลง มีเพลงต่างๆ ดังนี้
1.จุดเริ่มของสรรพสิ่ง 2.ช่องว่างทั้งสาม 3.เก็บเจ้าดอกกล้วยไม้ 4.เสียงแห่งมิ่งมงคล 5.สงบสุดยอด 6.บทช้า 5 บท 7.บทชมบาตรเงิน 8.หกคะมำสะพานขาด 9.ดอกชาภูเขา ตอนท้ายแผ่นพับบรรยายความไว้ว่า
จุดเริ่มต้นของสรรพสิ่งเป็นผลสำเร็จอันยิ่งใหญ่แห่งเทพฟ้า
เพราะว่ามีบุญญาธิการจึงได้ประสบคัมภีร์ที่น่ายกย่องนี้
หากว่าได้เพียรพยายามบำเพ็ญท่องร้องสม่ำเสมอ
กลุ่มวงเราจักร่วมกันสร้างความรุ่งเรืองแด่บรรณภพ
(น.80) รูป 90 ดูการแสดง
รูป 91 นักดนตรี
(น.80) เพลงที่เขาเล่นตามที่บรรยายในโปรแกรมนั้นเป็นดนตรีโบราณตั้งแต่ราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง เผยแพร่มาจากภาคกลางของประเทศ (ในตอนนั้นแถวนี้ยังเป็นประเทศน่านเจ้าอยู่) แต่ปัจจุบันคิดว่าทางภาคกลางไม่มีแบบนี้แล้ว ดนตรีประเภทนี้เข้าใจว่าสืบเนื่องมาจากศาสนา เขาจึงเรียกว่าดนตรีคัมภีร์ถ้ำ (ต้งจิง) สมัยก่อนนี้วัดอยู่ตามถ้ำ เป็นวัดลัทธิเต๋าหรือพุทธฟังไม่ถนัด ก่อนบรรเลงดนตรี นักดนตรีต้องทำจิตใจให้สงบ จัดเสื้อผ้าให้เรียบร้อย จัดแถว ทุกคนทำหน้าที่ของตัวเอง ตีกลอง 3 ครั้ง ตีฉิ่ง 6 ครั้ง แล้วเริ่มเล่น นักดนตรีที่เห็นมีแต่แก่ๆ
(น.81) รูป 92 ดูวงดนตรี
(น.81) ที่แปลกคือใส่หมวกตามระดับอายุ คือ หมวกแดงแปลว่า 70 ปีขึ้นไป หมวกดำแปลว่า 60 ปีขึ้นไป ส่วนคนใส่หมวกแบบฝรั่งสีเทาหมายถึง 50 ปี ขึ้นไป คนหนุ่มๆ เล่นไม่เป็น นักดนตรีคณะนี้เป็นพวกชาวนาในท้องถิ่นรวมตัวกันเล่น แถบหมู่บ้านหรือในตำบลนี้มีวงดนตรีแบบนี้ 20 คณะ เครื่องดนตรีมีกลองต่างๆ มู่หยู ฆ้องเล็กๆ 6 ใบ (ไม่เคยเห็นแบบนี้เลย) ขลุ่ยเป่าข้างๆ ซอ พิณ มีเนื้อร้อง ใช้โน้ตตัวเลข มีคนคอยยกโพยสีแดงบอกพรรคพวกว่าจะเล่นเพลงอะไร ตรงกลางวงดนตรีเป็นแท่นบูชา มีท้อ แอปเปิ้ล ส้ม และขนมอะไรก็ไม่ทราบเยอะแยะ
(น.82) รูป 93 ร่วมวงดนตรี
(น.82) เขาบอกว่าอยากไปดูใกล้ๆ ก็ได้ ไปๆ มาๆ ก็เลยขอเขาสีซอเอ้อร์หูเสียเลย เพลงที่เล่นคือสุ้ยไท่ผิง แปลว่า สงบสุดยอด ดูท่าทางคุณลุงทั้งหลายพอใจมากที่ข้าพเจ้าเข้าร่วมวง บ้านที่เป็นที่เล่นดนตรีนี้เป็นแบบไป๋แท้ มีที่อยู่รวม 6 เรียกว่าลิ่วเหอถงชุน เป็นความหมายถึงสิริมงคล นอกจากนั้นมีซานฟางอี๋เจ้าปี้ คือมีกำแพงกัน มีลานโล่งไม่มีหลังคาคลุมเรียกว่าลานมองฟ้า 5 แห่ง คือ 4 มุม และตรงกลางอีกแห่ง
มีของแปลกอย่างหนึ่งคือ มีหม้อที่น้ำจะพุขึ้นเป็นฝอยๆ เวลาถูหูหม้อ 2 ด้าน
(น.84) รูป 96 เยี่ยมบ้านชาวไป๋
รูป 97 มีต้นกล้วยไม้ขาปู
(น.84) เดินทางต่อไป ดูบ้านในหมู่บ้าน มาดามเฉินบอกว่าคนแถวนี้มีการศึกษาสูง ค้าขายเก่งไปค้าต่างประเทศก็มี
เจ้าของบ้านที่เราไปเยี่ยมชื่อคุณลุงต่งคันฮั่นกับคุณป้าเฉินหลัน มีคนที่อยู่ด้วยกันที่บ้าน (เป็นสี่ด้าน มีลานตรงกลางแบบโบราณ มีกำแพงเจ้าปี้ปิดประตูทางเข้า) 12 คน เด็กอีก 5 คน มีพี่ชาย น้องชาย พี่สาว ลูกสาวของเขา 2 ลูก
(น.85) รูป 98 ทักเจ้าซือซือ
(น.85) พี่ชาย 2 ลูกน้อง 1 มีห้องรับแขกอยู่ตรงกลาง มีแท่นบูชา เขามีป้ายชื่อบรรพบุรุษ เขียนชื่อทุกคน (เฉพาะที่ตายแล้ว) เอาไว้ รุ่นเขาเป็นรุ่นที่ 34 รุ่นแรกซึ่งเป็นบรรพบุรุษของเขาเป็นข้าราชการระดับ 7 สมัยราชวงศ์ถัง
ตรงกลางลานบ้านมีสวนดอกไม้กระถาง (ไม่ปลูกลงดิน-เหมือนคนไทยโบราณ ปลูกไม้ดัดไว้ที่นอกชาน) มีต้นผังเซียหลาน แปลว่า กล้วยไม้ขาปู (ใบคล้ายขาปู) เป็นภาษาคนแถวนี้ แต่ทางปักกิ่งเรียกเซี่ยเจ่าเหลียน แปลว่า บัวขาปู เป็นต้นไม้พวกเดียวกับโบตั๋น ดอกสีชมพู นอกนั้นมีดอกจำปี จีนเรียกเหมี่ยนกุ้ย
บ้านนี้มีสุนัขปักกิ่งตัวหนึ่งชื่อซือซือ แปลว่าขนยาว มีไก่หลายตัวลุงต่งเป็นครูโรงเรียนประถม ส่วนคุณป้าเป็นครูโรงเรียนมัธยม
ลาผู้ใหญ่บ้าน เจ้าของบ้าน หัวหน้าพิพิธภัณฑ์ และให้ของที่ระลึกแก่คนเหล่านี้
(น.86) รูป 99 วัดเจดีย์ 3 องค์
(น.86) มาดามเฉินอธิบายว่าในระยะนี้พวกชาวนามีรายได้ดีขึ้นจึงสร้างบ้านกันใหม่ บางคนเห็นว่าบ้านเก่ายังอยู่ดี เขาก็ไม่ไปอยู่บ้านใหม่ ปัจจุบันมีการวางผังเมืองเพื่อให้มีระเบียบเรียบร้อย กำแพงบ้านที่นี่นิยมก่ออิฐที่ไม่เผา อยู่ได้ 100 ปี
มาดามเห็นว่าข้าพเจ้าชอบดอกชาจึงเล่าว่า ที่คุนหมิงมีต้นชาต้นหนึ่งอายุประมาณ 500-600 ปี เวลาดอกบาน ต้นเดียวมีดอกเป็นหมื่นดอก ดอกใหญ่ที่สุดมีขนาด 20 เซนติเมตร ดอกมีทั้งสีขาวและสีแดง
ไปวัดพระเจดีย์ 3 องค์ หรือที่เรีกกันว่าวัดช่งเซิ่น วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยน่านเจ้า มีพระเจดีย์ 3 องค์อยู่ในวัด พระเจดีย์องค์แรกสร้างในสมัยราชวงศ์ถังราวปี ค.ศ. 823 มีรูปร่างสี่เหลี่ยม สูง 69 เมตร มี 16 ชั้น องค์เล็ก 2 องค์สร้างสมัยราชวงศ์ซ่ง สูง 43 เมตร 10 ชั้น รูปร่างแปดเหลี่ยม เกิดแผ่นดินไหวหลายครั้งในแถบนี้ เมืองและ
(น.87) รูป 100 วัดเจดีย์ 3 องค์
Next >>