Please wait...

<< Back

กาชการ์

จากหนังสือ

มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 66

(น.66)เจ้าลัทธิได้เดินทางท่องเที่ยวไปไกลเพื่อเผยแพร่ศาสนาเข้าไปในอินเดีย เข้าในเขตที่พุทธศาสนาเผยแพร่อยู่แล้ว เข้าอิหร่านได้รับความเชื่อถือมาก ในคริสต์ศตวรรษที่ 3 และ 4 ได้แพร่ไปทางตะวันตกถึงจักรวรรดิโรมัน ไปทางอิยิปต์ แอฟริกาเหนือ ปาเลสไตน์ ซีเรีย เอเชียไมเนอร์ ตาลมาเชีย โรม ไปถึงตอนใต้ของฝรั่งเศสและสเปน ถูกผู้นับถือคริสต์ศาสนาต่อต้านมาก แต่แรกศาสนาอิสลามก็ไม่ได้ต่อต้านมาก เพิ่งมาต่อต้านทีหลัง จนต้องหนีไปตั้งศูนย์กลางศาสนาอยู่ที่ซามาร์คาน ปลายคริสต์ศตวรรษที่ 7 ได้ไปถึงจีน โดยผ่านเมืองกาชการ์ คูเซอ เข้าไปในเอเชียกลาง มองโกเลีย และดินแดนที่เป็นของพวกอุยกูร์หรือเววูเอ๋อร์ จนถือได้ว่าเป็นศาสนาประจำรัฐเมื่อประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 8 เมื่ออาณาจักรของพวกอุยกูร์ล่ม ในคริสต์ศตวรรษที่ 9 ลัทธินี้ไม่เป็นใหญ่อีกต่อไป และถูกต่อต้านมากในจีน ถึงอย่างนั้นก็คงมีอยู่จนคริสต์ศตวรรษที่ 14 ผู้นับถือเป็นพวกสมาคมลับ โดยนับถือไปพร้อม ๆ กับศาสนาพุทธ และเต๋า ที่เขียนมาอย่างยืดยาวนี้มิใช่ว่าข้าพเจ้าสนใจลัทธินี้เป็นพิเศษ แต่เห็นว่าเป็นตัวอย่างของการเดินทาง การถ่ายทอดลัทธิความเชื่อต่าง ๆ เข้ามาสู่จีน วิธีการนับถือศาสนา หรือความเชื่อในดินแดนแถบนี้ที่ถือปน ๆ กันหลายอย่าง

มุ่งไกลในรอยทรายหน้า 135,150,152-153,155-156

(น.135)ซีอานนี้ (เราไม่ได้ไป) เป็นเมืองสำคัญของเส้นทางค้าแพรไหมเมืองหนึ่งก่อนถึงตุนหวง เคยเป็นทางแยกของเส้นทางค้าแพรไหมสายที่จะขึ้นไปฮามี ทู่หลู่ฟัน (ใต้เทียนซาน) กับสายคุนลุ้นที่จะไปเหอเถียน แล้วไปบรรจบที่ข่าชือหรือกาชการ์

(น.150)จางเชียนเดินทางไปพร้อมกับบริวารอีกร้อยกว่าคน แต่ถูกฉยุงหนูจับตัวไว้ถึง 10 ปี ได้แต่งงานกับผู้หญิงฉยุงหนู มีลูกด้วยกัน แต่ก็หนีไปได้ และเดินทางต่อไปตามเส้นทางสายเหนือถึงเมืองข่าชือหรือกาชการ์ (Kashi, Kashgar) แคว้นต้าหวันหรือเฟอร์กานา แล้วยังต่อไปถึงที่แบกเทรียด้วย

(น.152)นักเดินทางที่มีชื่ออีกคนคือปันเชา ออกไปสู้พวกฉยุงหนู ไปภาคตะวันตก ไปยึดเมืองโหลวหลาน เหอเถียน และกาชการ์ ตั้งผู้นำที่เป็นพวกพ้องจีน เขาอยู่เอเชียกลางเป็นเวลาถึง 31 ปี ปราบกบฏ สร้างความสัมพันธ์กับแคว้นต่าง ๆ ในภาคตะวันตก จนถึงเปอร์เชีย บาบิโลเนีย ซีเรีย เขาส่งกานอิงไปถึงอ่าวเปอร์เซียใน ค.ศ. 97 ตั้งใจจะไปให้ถึงอาณาจักรโรมันแต่ไปไม่ถึง เพราะมีพ่อค้าคนกลางแถวนั้นหลอกว่าไปไม่ได้ มีอันตราย

(น.153) เส้นเหนือจากซีอานไปตุนหวง โหลวหลาน คอร์ลา คูเชอ อักซู ข่าชือ เฟอร์กานา ซามาร์คาน แล้วต่อไปอัฟกานิสถาน และอิหร่าน เส้นใต้จากตุนหวง เฉี่ยม่อ เหอเถียน ยาร์คาน บรรจบกับทางแรกที่ข่าชือ หรือจะไปต่อทาชเคอร์คานก็ได้ แล้วไปต่อแบกเทรียในอัฟกานิสถานปัจจุบัน ออกอิหร่านไปริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

(น.155)1. เทียนซานเป่ยลู่ คือเส้นทางเหนือของเทือกเขาเทียนซาน ผ่านเมืองสำคัญคือเมื่อไปถึงอานซีแล้วจะแยกขึ้นทางฮามี อู่หลู่มู่ฉีหรืออุรุมชีเข้ารัสเซียทางทัชเคนท์ ซามาร์คาน

(น.156) 2. เทียนซานหนานลู่ คือเส้นทางใต้ของเทือกเขาเทียนซาน ถึงอานซีแล้วจะไปต่อที่ทู่หลู่ฟัน คอร์ลา (คู่เอ๋อเล่อ) คูเชอ ไป้เฉิง อาเคอซู (อักซู) ปาฉู่ ข่าชือ ต่อไปเฟอร์กานา ซามาร์คาน บรรจบกับทางแรก 3. คุนลุ้นเป่ยลู่ หรือจะเรียกว่ากู่หนานเต้า คือเส้นทางเหนือภูเขาคุนลุ้น คือจากอานซีไปตุนหวง โหลวหลาน ทะเลสาบลบนอร์ หมี่หลาน รั่วเจียง เฉี่ยม่อ (ชาร์ชาน) เหอเถียน ยาร์คาน แล้วบรรจบกับสายที่สองที่เมืองข่าชือหรือกาชการ์

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 280,283,285-286

(น.280)เราดูพิพิธภัณฑ์อย่างรวดเร็ว ผู้อำนวยการอธิบายคร่าวๆ ทั่วไปเกี่ยวกับซินเกียง ของบางชิ้นที่แสดงรู้สึกว่าจะเป็นของจำลอง เพื่อแสดงให้เห็นเป็นวิวัฒนาการตั้งแต่มนุษย์ปักกิ่ง สิ่งของต่างๆ ที่พบที่กาชการ์ เครื่องมือที่ใช้สำหรับจุดไฟในสมัยหิน ชั้นดินที่มีร่องรอยการใช้ไฟมนุษย์สมัยหินใหม่ประมาณ 10,000 ปีมาแล้ว เรื่องประวัติความเป็นมาของซินเกียง (เรื่องกลุ่มชนสมัยโบราณที่ติดต่อกับจีน) วัตถุสมัยหินใหม่ เช่น อาวุธเล็กๆ อย่างหัวธนูที่ทำด้วยหิน เครื่องมือที่ใช้ทำหัวธนู โม่ต่างๆ เครื่องสีข้าว (จำลองเล็กๆ) ขวานหิน เครื่องปั้นดินเผา แกนปั่นด้าย เศษผ้าขนสัตว์ที่พบที่ฮามี เครื่องใช้ทำด้วยสำริดและเหล็กยุคหินใหม่ที่พบที่ฮามีเช่นกัน ภาพจำลองจากภาพเขียนบนหินที่เขาเทียนซาน เขาอัลไต และเขาคุนลุ้น เป็นภาพฟ้อนรำ ยิงธนู สุนัขที่ใช้ล่ากวาง

(น.283)ช่วงบ่ายเราจะเดินทางไปเมืองข่าชือ หรือกาชการ์ แต่จะแวะโรงงานทำเสื้อขนสัตว์เสียก่อน ข้าพเจ้านั่งรถไปกับอาจารย์มู่ มีคุณหลิวเป็นคนช่วยแปล อาจารย์เล่าเรื่องการเข้ามาของศาสนาอิสลาม ไปถึงโรงงานผู้จัดการโรงงานกล่าวต้อนรับ เล่าถึงกิจการว่าบริษัทมีผลิตภัณฑ์ผ้าขนสัตว์ รวมทุนกับบริษัทญี่ปุ่นและฮ่องกง มีโรงงานอยู่ 4 แห่ง มีสาขา 1 แห่ง พนักงานทั้งหมดมี 2,500 คน สาขาที่ฮ่องกงจะเป็นผู้ขาย คนงานประกอบด้วยคนกลุ่มน้อย 12 กลุ่มชน 12% ของคนงานเป็นคนกลุ่มน้อย โรงงานนี้สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1980 ดำเนินกิจการมาเกือบ 10 ปีแล้ว ได้ผลิตสินค้าไปขายในยุโรป เอเชีย อเมริกา รวม 14 ประเทศ มีสหรัฐ ญี่ปุ่น อิตาลี แคนาดา โซเวียต ฮ่องกง เป็นต้น ในประเทศก็ขายในห้างสรรพสินค้า 175 แห่ง ใน 29 มณฑล ขายได้คล่องดีมากจนผลิตไม่ทันความต้องการของตลาด กำไรสุทธิเพิ่มปีละ 53% จะเอากำไรที่ได้มาขยายกิจการต่อ เดินดูกิจการ มีห้องย้อม ใช้เครื่องจักรญี่ปุ่น ใช้เส้นขนสัตว์มาย้อมสี สีทำจากสวิตเซอร์แลนด์และญี่ปุ่น เครื่องเหล่านี้เป็นเครื่องอัตโนมัติ แต่

(น.285) ขนสัตว์ที่ใช้เป็นขนสัตว์ที่ผลิตในซินเกียงทั้งหมด นอกจากขนแกะแล้วยังมีขนแพะภูเขาซึ่งเป็นของแพงมาก ใช้ทำผ้าขนสัตว์แบบแคชเมียร์ได้ วิธีการผลิตจะซื้อลิขสิทธิ์มาจากญี่ปุ่นเลย เส้นขนสัตว์เป็นของดีไม่ขาดง่าย การทอควบคุมด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ โรงงานนี้ควบคุมอุณหภูมิในทุกฤดูกาล ฉะนั้นจะรักษาคุณภาพได้ไม่เปลี่ยนแปลง แผนกผลิตเสื้ออยู่อีกแห่งหนึ่ง มีเครื่องจักรทอเสื้อควบคุมด้วยคอมพิวเตอร์เช่นกัน ชั้นที่ 6 มีการผลิตเสื้อผ้าโดยใช้มือ ห้องออกแบบด้วยคอมพิวเตอร์ ชั้น 5 แสดงการเย็บผ้าต่อเป็นเสื้อ ใช้เครื่องจักรไต้หวันและอิตาลี ชั้น 3 มีห้องโชว์ผลิตภัณฑ์ ทางโรงงานบอกให้เลือกหนึ่งตัว ข้าพเจ้าเลือกไม่ถูก คุณหลิวแนะนำว่าให้เปียนเหมยเลือกซิ ก็ดีเหมือนกัน เสื้อเขาสวยๆ ทั้งนั้น

(น.286)ไปถึงที่เมืองกาชการ์ นาฬิกาของเราบอกเวลา 20.30 น. แล้วแต่ก็ยังสว่างแจ้ง มีท่านผู้ตรวจราชการ (Commissioner) เป็นผู้ใหญ่ท่าทางใจดี พวกเราทุกคนจึงพร้อมใจกันเรียกว่าคุณลุง นายกเทศมนตรี และเจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์คอยรับ คุณลุงพาขึ้นรถ ดูแล้วที่กาชการ์นี้ผิดกับที่อื่นๆ ที่ผ่านมาคือจะมีความเขียวมากกว่าที่อื่น คุณลุงอธิบายว่าเป็นเพราะอากาศที่นี่อบอุ่นกว่าที่อูหลู่มู่ฉี พืชพันธุ์จึงไม่เหมือนกัน เช่นข้าวสาลีที่นี่จะเก็บเกี่ยวได้ในวันที่ 10 มิถุนายน เร็วกว่าแถบอูหลู่มู่ฉีกว่าเดือน นอกจากนั้นยังมีผลไม้เช่นสาลี่ มีข้าวโพด ฝ้าย และแม้แต่ข้าวเจ้า แล่นรถผ่านแม่น้ำโทมาร์ซึ่งไหลมาจากภูเขาเทียนซาน ผ่านสุเหร่า หอนาฬิกา จัตุรัส สวนสาธารณะ ทะเลสาบแล่นไปตามถนนซึ่งมีต้นหลิวปลูกอยู่สองข้าง เข้าไปถึงบ้านพักรับรองของรัฐบาลคุณลุงพาเข้าไปส่งถึงห้องพัก

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 293-294,296,298

(น.293)มีเวลาพิจารณาถึงเมืองกาชการ์หรือที่จีนเรียกว่าข่าชือนี้ เป็นศูนย์กลางของอิสลามของจีน เส้นทางแพรไหมสายเทียนซานหนานลู่ และสายคุนลุ้นเป่ยลู่มาบรรจบกันที่นี่ กล่าวกันว่าเป็นอาณาจักรที่เป็นพุทธศาสนาแห่งแรก และแต่ก่อนถือพุทธหินยาย นิกายสรรวาสติวาทิน (ใช้ภาษาสันสกฤต) ถือเป็นศูนย์กลางใหญ่แห่งหนึ่ง มีวัดจำนวนมาก มีพระสงฆ์พันกว่ารูป (ตามที่พระถังซำจั๋งบันทึกไว้)

(น.294) ดูสุเหร่าเสร็จแล้วเดินไปตามซอยเล็กๆ แคบๆ เห็นมีมัสยิดเล็กๆ อยู่เกือบทุกซอย วันธรรมดาแต่ละคนก็จะไปสวดมนต์ที่มัสยิดตามซอยบ้านของตน แต่วันศุกร์จะไปรวมที่มัสยิดกลาง เดินไปถึงโรงเรียนอนุบาลสำหรับพวกเววูเอ๋อร์ เป็นของเทศบาลเมืองกาชการ์ สร้างเมื่อ ค.ศ. 1956 มีนักเรียน 400 กว่าคน เจ้าหน้าที่ 80 กว่าคน นักเรียนมาเรียนแต่เช้า รับประทานอาหารเที่ยงที่โรงเรียนและกลับตอนเย็น เด็กจะเรียนอยู่ถึง 8 ชั่วโมง เป็นภาษาเววูเอ๋อร์ สอนหนังสือดนตรี และกีฬา นักเรียนที่เรียนอายุ 3-6 ปี

(น.296) เราไปที่ร้านขายของพื้นเมือง ตั้งแต่มากาชการ์นี้ข้าพเจ้าใช้ภาษาเววูเอ๋อร์ที่เรียนจากคุณอู๋คนขับรถ ได้ประโยชน์มากมาถึงนี้ได้เรียนคำว่า ทามักอีตี เตสมัว แปลว่า กินข้าวหรือยัง ในร้านมีช่างทำเครื่องดนตรี มีกลองเรียกว่าดั๊บ ขึงด้วยหนังวัว ถ้าของที่ดีจริงๆ จะใช้หนังแพะ ก่อนจะเอาขึงจะต้องแช่น้ำไว้หลายวัน พิณราชัป ตุตาร์ แทมบูร์ พวกนี้ทำด้วยไม้หม่อน ใช้เขาวัวตัดเป็นชิ้นๆ ฝังเป็นลายขิมชนิดหนึ่งเรียกว่าคาลุม ในร้านมีมีดต่างๆ หลายอย่าง คล้ายๆ กับ

(น.298) ที่อาจารย์สารสินชี้ให้ซื้อที่โรงแรมเมืองเจียยู่กวน ข้าพเจ้าเป็นคนชอบมีดมาแต่ไหนแต่ไรเลยซื้อหลายเล่ม ไม่เหมือนกันเลย มีดที่ดีที่สุดต้องมาจากอำเภออิงซาใกล้เมืองข่าชือ ที่ร้านยังมีพรมและเครื่องประดับขายด้วย ออกจากร้านไปเดินดูบาซาร์มีของเยอะแยะ (แต่ชักจะหิวอีกแล้ว) ตระกูลโคจา เป็นตระกูลที่มีอิทธิพลตระกูลหนึ่งในดินแดนแถบนี้ สมาชิกของตระกูลที่มีความสามารถและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักคือ อาบัคโคจา ในคริสต์ศตวรรษที่ 17 ตระกูลโคจาได้ปกครองกาชการ์ คอร์ลา คูเชอ อักซู เหอเถียน และยาร์คาน ครอบครัวเขาฝังอยู่ที่นี่