Please wait...

<< Back

ทิเบต

(น.121) การพัฒนาภาคตะวันตกของรัฐบาลกลางมีผลต่อทิเบตด้วย ทิเบตเปลี่ยนแปลงมากใน 50 ปีนี้ ความก้าวหน้าต้องเปรียบกับทิเบตเอง แต่ถ้าไปเปรียบกับมณฑลอื่นก็ยังล้าหลัง โครงการลงทุนสำคัญตอนนี้คือ การสร้างทางรถไฟสายชิงไห่-ลาซา ทิเบตยังไม่มีทางรถไฟ เมื่อมีแล้วจะพัฒนาดีขึ้น นอกนั้นยังมีโครงการพัฒนาคมนาคมอื่นๆ การเกษตร การศึกษา การสาธารณสุข จากนั้นไปรับประทานที่ห้องไกลาสที่เรารับประทานทุกวัน ถามเรื่องการศึกษาต่อ มาดามบอกว่าช่วงประถมและมัธยมต้น ผู้หญิงมักจะเรียนดีกว่าผู้ชาย เพราะเด็กผู้ชายซน แต่พอชั้นสูงขึ้นกว่านี้ผู้หญิงใจแตกไม่อยากเรียน ผู้ชายจะเรียนดีขึ้น ระหว่างรับประทานอาหารมีการแสดงเกซาร์ เป็นการขับร้องมหากาพย์เกซาร์สดุดีกษัตริย์เกซาร์ ซึ่งเป็นกษัตริย์โบราณของทิเบต มีนักร้องหญิงที่มีชื่อเสียงชื่อยู่เหมย อายุ 40 ปี นักร้องคนนี้เดิมก็เป็นชาวบ้านธรรมดาๆ พออายุ 15 ปี เกิดป่วยสลบไปนาน พอฟื้นขึ้นมาก็ร้องเกซาร์ได้โดยธรรมชาติไม่มีใครสอน นักร้องคนนี้เป็นชาวบ้านไม่รู้หนังสือ แต่ร้องเกซาร์ได้ไพเราะ ขณะนี้ทำงานที่สถาบันวิจัยสังคมศาสตร์ (Academy of Social Science) ของทิเบต อัดเทปไว้ 60 กว่าม้วนแล้ว มาดามปาซังบอกว่ามีคำกล่าวว่าเด็กทิเบตนั้น ถ้าดื่มนมได้ก็กินเหล้าได้ พูดได้ก็ร้องเพลงได้ เดินได้ก็เต้นรำได้ มาดามเองผิดไปจากคำกล่าวนี้ทั้งหมด คือ กินเหล้าก็ไม่เป็น ร้องเพลงเต้นรำไม่เป็นทั้งนั้น


(น.121) รูป 110 ยู่เหมยขับร้องมหากาพย์เกซาร์
Yumei, Gesar epic singer.


(น.122) รูป 111 ศิลปินชายทิเบตมาขับร้องมหากาพย์เกซาร์เช่นกัน
Gesar Epic male singer.

(น.122) นักร้องอีกคนเป็นศิลปินชายระดับชาติ เคยทำงานอยู่ที่คณะนาฏศิลป์ทิเบต ตอนนี้เกษียณอายุแล้ว แต่เชิญมาร้องเป็นพิเศษ เนื้อหาที่ร้อง (พูดบ้าง เต้นไปบ้าง) มีอยู่ว่าเกซาร์อายุ 15 ปี มียักษ์มาจากทางเหนือยกทัพมา เกซาร์รบกับยักษ์นี้ เสนาบดีคนหนึ่งทรยศ สมคบกับฝ่ายตรงข้ามก่อกบฏแย่งชายาเกซาร์ไป พี่ชายของเกซาร์ก็เสียชีวิต ในที่สุดเกซาร์ปลอมตัวขี่ลาไปงานฉลองชัยชนะฝ่ายตรงข้าม ระหว่างเดินทางไปเมืองต่างๆ ได้รับการต้อนรับอย่างดี ที่เมืองข้าศึกถูกล้อว่า หมวกไม่สวยดูเหมือนหางไก่ รองเท้าเหมือนนกขาเป๋ และนำหมวกมาให้เลือก 47 ใบ ก็ไม่ชอบเลยสักใบ ว่าสู้ใบที่มีอยู่ไม่ได้ พูดตลกอะไรก็ไม่ทราบจนเอาชนะข้าศึกได้ ฟังไม่รู้เรื่อง จางอี้หมิงก็ฟังไม่ออกเพราะร้องเป็นภาษาทิเบต ได้แต่เล่าให้ฟังจากเนื้อหาที่เขาสรุปมาให้ กฤษดาวรรณบอกว่าฟังออก แต่ยังไม่ได้ถามกันว่าฟังออกว่าอย่างไร ว่ากันว่าเรื่องนี้เป็นบทกวีที่ยาวที่สุดไม่มีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ทางสถาบันวิจัยสังคมศาสตร์เชิญศิลปินมาร้องแล้วบันทึกไว้ทุกวัน กำลังพิมพ์เรื่องนี้เป็นหนังสือ รัฐบาลให้งบประมาณมาดำเนินการ มีการรวบรวมเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมทิเบตอย่างอื่นด้วย ถามมาดามปาซังว่า มณฑลต่างๆ ที่มาช่วยนั้นมีกำหนดเวลาหรือไม่ว่าจะให้ช่วยกี่ปี มาดามบอกว่าแต่เดิมกำหนดไว้ว่า 10 ปี ภายหลังที่ประชุมให้ยืดกำหนดเวลาเป็น 20 ปี ข้าราชการที่มาช่วยเปลี่ยนทุก 3 ปี กระทรวงการต่างประเทศเองก็ส่งคนมาช่วยฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของทิเบต ขณะนี้ความช่วยเหลือที่ว่านี้เข้าปีที่ 7 แล้ว
(น.123) มณฑลตะวันตกอื่นๆ ก็มีการช่วยเหลือเหมือนกันแต่ทิเบตได้มากสุด เท่าที่ปฏิบัติมา นครปักกิ่งกับมณฑลเจียงซูช่วยลาซา ซานตงและเซี่ยงไฮ้ช่วยรื่อคาเจ๋อ หูหนานกับหูเป่ยช่วยซานหนาน ฮ่องกงก็สนใจที่จะช่วย แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะมีบทบาทอย่างไร เมื่อมีการประชุมที่ฮ่องกง ต่งเจี้ยนหัว ผู้นำฮ่องกงกล่าวว่าฮ่องกงพร้อมที่จะร่วมนโยบายพัฒนาภาคตะวันตกของจีน เร็วๆ นี้มีพ่อค้าฮ่องกง 100 กว่าคนมาดูงาน วันนี้พยายามไม่ดื่ม แต่คณะทิเบตชวน ไม่เป็นอะไร

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 124,125,127,133,142,147
(น.124) วันอาทิตย์ที่ 19 สิงหาคม 2544
ตื่นขึ้นมารู้สึกว่าคัดจมูก พอลุกขึ้นเดินไปเดินมาก็หาย รับประทานอาหารเช้าแล้วออกเดินทางไปเวลา 08.00 น. ใช้รถขับเคลื่อน 4 ล้อ นั่งข้างหน้าต้องรัดเข็มขัด เสี่ยวต่งตำรวจนั่งข้างหลัง ต้องนั่งรถนาน ฉะนั้นก็ต้องชมวิวไปบ้างคุยกันบ้าง ที่แย่คือข้าพเจ้าไม่ดื่มน้ำและไม่รับประทานอะไรในรถเลย รู้สึกสงสารเสี่ยวต่งที่พลอยไม่กล้ารับประทานไปด้วย สองข้างทาง (ช่วงแรก) ดูพืชพันธุ์ธัญญาหารอุดมดี มีเรือนพลาสติกสำหรับปลูกพืชผัก รถแล่นไปตามแม่น้ำ คุยกันเรื่องอาหาร คนขับรถเล่าว่า คนทิเบตชอบกินเหล้าชิงเคอ กินซัมปา (Tsampa) เป็นแป้งข้าวบาเลย์แล้วผสมกับเนยจามรี ชอบกินเนื้อวัว เนื้อแพะ เนื้อแกะ เนื้อจามรี สมัยก่อนไม่ค่อยกินหมู ตอนนี้กินแล้ว น้ำกินน้ำใช้ส่วนมากใช้น้ำใต้ดิน

(น.125) รถผ่านโรงเรียนประถมศึกษา เขาเล่าว่า แต่ก่อนไม่มีที่จะเรียนหนังสือ เดี๋ยวนี้มีโรงเรียนประถมศึกษาทุกหมู่บ้าน เรียนทั้งภาษาจีนและภาษาทิเบต สมัยก่อนคนที่พอจะได้เรียนหนังสือเรียนแต่ภาษาทิเบต ในแม่น้ำมีเรือทำด้วยหนังจามรี เรือลำหนึ่งใช้จามรี 4 ตัว ถามถึงคนตายว่าเวลานี้เขาทำอย่างไรกัน เขาเล่าว่า ถ้าเป็นพระลามะหรือพวก Living Buddha มักใช้วิธีเผาศพ ถ้าเป็นคนธรรมดามักใช้วิธีวางไว้ให้นกอินทรีหรือเหยี่ยวกิน เรียกว่า การทำศพท้องฟ้า (เทียนจ้าง) ส่วนคนที่อยู่ริมแม่น้ำบางทีใช้วิธีโยนลงน้ำให้ปลากิน ส่วนมากจะทำศพแบบท้องฟ้า ข้าพเจ้าสงสัยว่านกจะกินกระดูกหรือหัวกะโหลกได้อย่างไร เขาว่ากินเข้าไปหมดเพราะจะมีสัปเหร่อ ส่วนมากเป็นพระลามะ แล่เนื้อถอดกระดูก เอากระดูกมาตำใส่กับแป้งหรืออะไรก็ไม่รู้ให้นกกินเข้าไปหมด ฟังดูน่าสยดสยอง ถ้าเป็นพวกชาวจีนจะฝังศพ

(น.127) รถหยุด มี Deputy Commissioner (ภาษาจีนว่า จวนหยวน ไม่ทราบว่าแปลว่าอะไร ใหญ่กว่านายอำเภอ อาจจะเป็นหัวหน้าเขต) ของรื่อคาเจ๋อมา ที่จริงบริเวณนี้ยังเป็นพื้นที่นครลาซา ยังไม่เป็นพื้นที่รื่อคาเจ๋อ ต้องต่อไปอีกเล็กน้อยและข้ามสะพานไป แต่ว่าฝ่ายรื่อคาเจ๋อมาจัดไว้อย่างดี มีเต็นท์ มีน้ำหวาน น้ำชา มีสุขาเคลื่อนที่ 2 หลัง เมื่อทุกคนเข้ากันเรียบร้อยแล้วก็เดินทางต่อ ตามภูเขาแถบนี้มีนาขั้นบันได มีฝูงแพะ แกะ วัว ถนนไม่ค่อยจะดี มีเรือเฟอรี่ที่ข้ามไปลาซาได้ มีหมู่บ้านเล็กๆ 2-3 แห่ง ดูเป็นระเบียบ คนขับรถบอกว่า พวกนี้คือพวกที่รัฐบาลย้ายมาจากเขตภูเขา ผ่านสนามบินเล็ก ชื่อสนามบินเหอผิง เป็นสนามบินทหาร มีแบบนี้อีก 4 แห่งในทิเบต รถแล่นเข้าไปในหมู่บ้าน ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าไปทำไม ที่จริงในกำหนดการเขียนว่ามาพรุ่งนี้

(น.133) ใต้ถุนมีห้องเก็บชิงเคอ เก็บได้ 2 ปี แต่พวกที่เก็บไว้เป็นปีที่ 2 แล้วต้องรีบขายไปหรือให้คนอื่นไป ถามว่าเวลาพักผ่อนมีการบันเทิงอะไรบ้าง บอกว่าชอบแข่งม้า และเต้นรำ คุณลุงและภรรยาเป็นคนเกิดที่นี่ เติบโตที่นี่ ไม่ได้มาจากที่อื่น เดินทางต่อไปตามถนนเดิมไปเมืองรื่อคาเจ๋อ หรือ ชิกาเซ่ (Shigatse, Xigaze) เป็นเมืองใหญ่ที่ 2 ของทิเบต ข้ามแม่น้ำหนีหยัง ถึงโรงแรมชื่อเดียวกับเมือง มีพิธีต้อนรับ แล้วขึ้นห้องอยู่ชั้นที่ 2 ห้องที่พักอาศัยไกลบันไดมากที่สุด เดินแล้วรู้สึกเหนื่อยกว่าที่ลาซา รับประทานอาหารแล้วคิดว่าจะไปดูวัดเวลา 15.30 น. กำหนดเดิมเวลา 15.15 น. แต่เรามาช้าไปชั่วโมงหนึ่ง ทางเจ้าหน้าที่ท้องที่ก็เลยให้ออกเวลา 16.00 น. เสียเลย ตอนเดินไปรับประทานอาหารกลางวันเจอคณะทัวร์ฝรั่งเศส เข้าไปในร้านของที่ระลึกเจอคณะทัวร์อิตาเลียน วัดจ๋าสือหลุนปู้ (ต้าชี่ลุนโป Tashi Lhunpo Monastery) วัดนี้สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1477 โดยดาไลลามะองค์ที่ 1 ซึ่งเป็นศิษย์ของพระอาจารย์จงคาปา ใน ค.ศ. 1600 ปันฉานลามะองค์ที่ 4 เริ่มขยายวัดให้กว้างขึ้น จากนั้นก็สร้างต่อไปเรื่อยๆ ใน ค.ศ. 1713 ปันฉานลามะองค์ที่ 5 ได้รับตำแหน่งจากจักรพรรดิจีน วัดนี้จึงเป็นวัดประจำของปันฉานลามะ

(น.142) มีภาพทังกามาจากหังโจว มีรูปพระปันฉานลามะในอดีต มีอีกอาคารที่อยากดูเพราะมีภาพฝาผนังงาม วันนี้เปิดไม่ได้เพราะเป็นวันอาทิตย์ คนเก็บกุญแจไม่ทราบว่าไปที่ไหน ต่อไปที่วังฤดูร้อน เป็นวังที่พระปันฉานลามะประทับ เมื่อเข้าไปถึง เดินขึ้นไปชั้นที่ 2 เป็นที่อยู่พักผ่อน เก้าอี้โซฟาตรงกลางนั่งไม่ได้เพราะว่าเป็นที่ปันฉานลามะนั่ง มีผู้มาบรรยายให้ฟังว่านอกจากที่อาคารนี้และบริเวณรอบๆ ยังมีทุ่งหญ้าบนเขาอีกด้วยสำหรับปิกนิก วังนี้รัฐบาลกลางเป็นผู้สร้างถวายปันฉานลามะองค์ที่10 ใน ค.ศ. 1956 มีโรงงานทำพรมของตนเอง ระหว่างนั่งรอนี้ มาดามเซริงให้รับประทานขนมหลายอย่าง มีขนมของทิเบตเคี้ยวไม่ออกเลย อมไว้ตั้งนานก็ไม่ละลายเลยต้องแอบคาย เขาว่าน้ำแร่ก็เป็นน้ำศักดิ์สิทธิ์ เนยแข็งนี้มีสรรพคุณแก้โรคขาดออกซิเจน แก้คอแห้ง พวกที่ปีนเขา Everest ของจีนจะเอาเนยแข็งแบบนี้เอาไว้ด้วย ค่อยๆ แทะก็กินได้ไปเอง แทะเนยแบบนี้ตอนขึ้นเครื่องบินแก้หูอื้อ มีวิตามินไม่มีไขมัน เสียอยู่ที่ไม่โฆษณาก็ไม่มีใครกิน เมื่อรับประทานโน่นนี่ไปพักใหญ่ ขึ้นไปชั้น 3 มีห้องโถงสำหรับเข้าเฝ้า ใช้ทำพิธีศาสนาที่สำคัญ มีบัลลังก์ มีสุนัขสตัฟฟ์ใส่กรงเอาไว้ มีคนบริจาคเงินไว้ในนั้นด้วย

(น.147) กลับโรงแรม ลงไปรับประทานอาหารเวลาทุ่มครึ่ง ผู้นำของเมืองรื่อคาเจ๋อเลี้ยง ตัว Commissioner เป็นผู้หญิง ให้ของขวัญเป็นรูปวัดที่เกียงเซ (Gyantse) ซึ่งเราไม่มีโอกาสไป และกล่าวว่าชื่อเมืองรื่อคาเจ๋อ แปลว่า สิ่งประดับอันสวยงาม เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ มีแร่ธาตุมาก มีวัฒนธรรมเก่าแก่ มีภูเขาสูงกว่า 8,000 เมตร เวลานี้มีต่างประเทศมาร่วมโครงการพัฒนา (แต่ไม่มีโครงการลงทุนการค้า) เช่น สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ในด้านการรักษาพยาบาล การสร้างระบบชลประทาน กาชาดสวิสมาช่วยสร้างโรงเรียน มีฟาร์มผักอนามัย การพัฒนาพันธุ์จามรี มีพื้นที่ติดต่อกับอินเดีย วันนี้ชวนดื่มเป็นการใหญ่ ที่นี่ระดับสูงกว่าลาซา ฉะนั้นเดินเร็วหน่อยก็เหนื่อย ข้าพเจ้าจึงพยายามระวังเรื่องการดื่ม แต่มาดามเซริงบอกว่า ไม่เห็นจะเป็นอะไร ดื่มแล้วทำให้นอนดี ต้องยอม มาดามอวดว่าการแพทย์แบบทิเบตนี้รักษาโรคที่การแพทย์ตะวันตกและการแพทย์จีนรักษาไม่หาย มาดามเคยเรียนการแพทย์ตะวันตกและเคยทำงานกรมอนามัยมา 30 ปี มาดามบอกว่าแพะที่นี่ไม่เหม็นเพราะมันปีนเขาขึ้นไปกินแต่สมุนไพร รับประทานเสร็จกลับมาที่ห้อง สักประเดี๋ยวมีคนเคาะประตู ปรากฏว่าหมอทิเบตมาเคาะถามว่าเป็นอะไรหรือเปล่า บอกเขาว่าสบายดี เขาถามถึงท่านทูต ข้าพเจ้าชี้ห้องให้ ท่านทูตบอกว่าสบายดีไม่ต้องรักษา

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 151,154

(น.151) ไปถึงข้างบนมีคนอธิบายว่า ปราสาทยัมบูลาคัง ตั้งอยู่บนเขาลูกหนึ่งทางฝั่งตะวันออกของแม่น้ำยาร์ลุงซังโป สร้างบนภูเขาที่ดูเหมือนขาของกวางตัวเมีย จึงได้ชื่อว่า ยัมบูลาคัง สื่อความว่า เป็นสิ่งก่อสร้างบนขาของกวางตัวเมีย ผู้สร้างคือกษัตริย์ทิเบตโบราณ ชื่อว่า เนี่ยฉือจ้านผู่ หรือ ญาตรีเซ็นโป (Nyatri Tsanpo) ในภาษาทิเบต สร้างในปี 127 ก่อนคริสต์ศักราช สถานที่นี้เกิดสิ่งมหัศจรรย์สิ่งแรกของทิเบตคือหมู่บ้าน Karlung Suoka ซึ่งเป็นหมู่บ้านแรกของทิเบต พระเจ้าแผ่นดินองค์แรกคือ Nyatri Tsanpo วังแห่งแรก (คือวังที่เรากำลังอยู่นี้) และคัมภีร์พุทธศาสนาฉบับแรก Pankong Chagya มีเรื่องเล่าว่าตกลงมาจากฟ้า เจ้าหญิงเหวินเฉิงตอนเดินทางมาทิเบตก็มาพักที่นี่ พระประธานเป็นพระศากยมุนี พระเจ้าแผ่นดินองค์แรกมีฉายาว่า พระเจ้าแผ่นดินผู้ประทับอยู่บนไหล่ เนื่องจากมาจากฟ้าผู้คนจึงตื่นเต้นแบกไว้บนบ่า ซงจ้านกานปู้เป็นองค์ที่ 33 ตั้งแต่กษัตริย์องค์แรกจนถึงองค์ที่ 33 ศูนย์กลางวัฒนธรรมอยู่แถบแม่น้ำยาร์ลุงซังโปนี้ ภาพเขียนเจ้าหญิงเหวินเฉิงนี้ลอกแบบมาจากที่วังโปตาลา รูปธรรมราชาองค์ที่ 3 เสนาบดีที่ไปนำเจ้าหญิงเหวินเฉิงมา และเสนาบดีที่ประดิษฐ์ตัวอักษรทิเบต พระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 38 เป็นผู้แปลคัมภีร์มากมาย ตั้งแต่สถาบันแปล เข้าใจว่ามีการเปรียบพระองค์เหมือนกับพระมัญชุศรี



(น.154) รูป 132 ลามะกำลังสวดมนต์
Chanting session.

(น.154) เดินทางต่อไปวัดชางจู (วัดตรันดรุก Trandruk Lamasery) แปลว่า ไข่มุกอันรุ่งเรือง ตามชื่อภาษาจีน (ชาง = เจริญรุ่งเรือง จู = ไข่มุก) ถ้าตามความหมายภาษาทิเบตตรงกับคำว่า เหยาหลง เหยาเป็นเหยี่ยวชนิดหนึ่ง เล็กกว่าเหยี่ยวทั่วไป เหยาหลงหรือเหยี่ยวมังกร จึงเป็นสัตว์ผสม เอาชื่อสองอย่างมาผสมกัน เป็นโบราณสถานที่ได้รับการอนุรักษ์อันดับที่ 7 และเป็นวิหารรุ่นแรกของทิเบต ตามประวัติว่าผู้สร้างคือกษัตริย์ซงจ้านกานปู้ พระองค์สร้างวัดแบบนี้ 12 วัด เจ้าหญิงเหวินเฉิงมาพักในฤดูหนาว บูรณะในสมัยดาไลลามะองค์ที่ 5 ในแผนที่ทิเบตที่เป็นรูปยักขินี ตามที่เจ้าหญิงเหวินเฉิงคิดขึ้น วัดนี้อยู่ตรงไหล่ขวาของยักษ์ (หนังสือบางเล่มว่าเป็นไหล่ซ้าย)

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 162,163,170,172,175,177

(น.162) วัดนี้สร้างเสร็จใน ค.ศ. 779 ก่อนหน้านี้ถึงแม้ว่าพุทธศาสนาจะเข้ามาในทิเบตแล้ว แต่ยังไม่มีพระสงฆ์และการประกอบพิธีกรรมที่ถูกต้อง กษัตริย์ฉือซงเต๋อจ้าน (ตรีซงเตเซน Trisong Detsen) ผู้สร้างวัดซังเยจึงตัดสินใจเชิญพระ 3 รูป คือ พระศานตรักษิตะ พระปัทมสัมภวะ แต่ต่อมาเชิญพระกมลศีละจากอินเดีย พระปัทมสัมภวะเป็นผู้เลือกสถานที่ก่อสร้าง และพระศานตรักษิตะเป็นผู้ออกแบบ เมื่อสร้างเสร็จแล้วพุทธศาสนากลายเป็นศาสนาประจำรัฐ ทางวัดเชิญพระผู้มีความรู้จากจงหยวนและอินเดียมาแปลพระสูตรเป็นภาษาทิเบต (คำว่า จงหยวน ภาษาจีนแต้จิ๋วว่า ตงง้วน หรือ China Proper ในภาษาอังกฤษนั้น คือ พื้นที่ช่วงกลางและช่วงใต้ของลุ่มแม่น้ำหวงเหอ ที่เป็นจุดกำเนิดอารยธรรมลุ่มแม่น้ำหวงเหอ พื้นที่ส่วนใหญ่ของจงหยวนอยู่ในมณฑลเหอหนาน บางส่วนอยู่ทางตะวันตกของมณฑลซานตง ทางใต้ของมณฑลเหอเป่ยกับมณฑลซานซี) กษัตริย์ฉือซงเต๋อจ้านคัดเลือกขุนนาง 7 คนมาบวชเป็นลามะ 7 รูปแรก วัดซังเยจึงเป็นวัดแรกที่ถึงพร้อมด้วยพระรัตนตรัย คำว่า ซัมเย่ (หรือ ซังเย ตามเสียงภาษาจีน) เป็นภาษาทิเบต แปลว่า “คิดไม่ถึง” เมื่อกษัตริย์ฉือซงเต๋อจ้านกล่าวขึ้นว่าจะสร้างวัด พระปัทมสัมภวะใช้เวทมนตร์เสกภาพวัดขึ้นมาในอุ้งมือ เมื่อเข้าไปเป็นห้อง มีรูปปั้นนักแปลมีชื่อเสียง มีรูปผู้สร้าง 3 ท่านที่ได้กล่าวนามมาข้างต้น สถาปัตยกรรมของวัดนี้เลียนแบบเขาพระสุเมรุ สูง 3 ชั้น มี 3 แบบ คือ แบบทิเบต แบบจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น และแบบเนปาล

(น.163) ชั้นล่างเป็นแบบจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น เป็นที่ประกอบพิธีศาสนา มีลามะ 130 รูป บนภูเขายังมีที่บำเพ็ญภาวนาอยู่อีก 10 กว่ารูป ฝึกสมาธิ 250 รูป มีสถาบันศึกษาคัมภีร์ศาสนา มีนักเรียน 170 กว่ารูป อายุ 18 จึงมาเรียนได้ หลักสูตรที่เรียน 5-6 ปี เริ่มต้นต้องเรียนภาษาทิเบต พระอธิบายว่าหนังสือที่เรียนมี 13 เล่มที่สำคัญ ตอนต้นสอนเรื่องอะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป (สอนศีลธรรม) เมื่อเข้าไปเห็นพระกำลังอ่านคัมภีร์ พระประธานห้องนี้เป็นรูปดั้งเดิมสร้างมาพร้อมกับวัด เป็นหินสลักเล่าว่าเป็นหินเกิดขึ้นตามธรรมชาติ พบที่ภูเขาใกล้ๆ กับวัดชื่อเขา ฮาปู้ซื่อ เป็นเขาศักดิ์สิทธิ์ สองข้างพระประธานทำเป็นรูป 8 ปางของพระพุทธเจ้า ฝาผนังมีภาพเขียนลวดลายประกอบสถาปัตยกรรมที่มีลักษณะคล้ายๆ สถาปัตยกรรมอินเดีย ภาพฝาผนังเป็นภาพเก่า เขาก็เลยไม่ให้ฉายไฟเกรงว่าภาพจะเสีย เพดานเป็นลายมัณฑละ ประตูทางเข้าทำเป็น 3 ชั้น คนอธิบายบอกว่าหมายถึงวิโมกขมุข 3 คือ สุญญต-ว่าง อนิมิตต-ไม่มีนิมิต อัปปณิหิต-ไม่ทำความปรารถนา ข้างฝามีรูปพระศากยมุนี 1,000 องค์ อายุประมาณ 800 กว่าปี ภาพฝาผนังที่นี่มีมากกว่าวัดทุกแห่งในทิเบต ยังไม่เคยบูรณะเลย ซ่อมเฉพาะรูปปั้น (เท่าที่มองดูเหมือนกับซ่อมบางส่วนแล้ว) อายุวัด 1,200 กว่าปี ภาพฝาผนังประมาณ 500 ปี มีธรรมาสน์ของพระดาไลลามะและพระปันฉานลามะ ความสูงต่างกัน ตรงเบาะที่รองพระดาไลลามะมี 6 ชั้น พระปันฉานลามะ 5 ชั้น ต้นตำรับของความเชื่อเรื่องลามะกลับชาติมาเกิด ยังมีวัดที่เป็นนิกายนี้โดยเฉพาะ

(น.170) อาจารย์มิลาเรปา หรือ มิเล่อรื่อปาในภาษาจีนเป็นพระที่เป็นกวีซึ่งมีความสามารถยิ่งด้วย ต้นคริสต์ศตวรรษที่ 12 จาริกไปในทิเบต ทำให้คนเร่ร่อนในพื้นที่แถบนี้เปลี่ยนมานับถือศาสนาพุทธ แต่งเพลงไว้ประมาณ 100,000 เพลง มีคนแปลเป็นภาษาฝรั่งเศสแล้ว ในภาษาฝรั่งเศสมักเรียกท่านว่า Milarepa มีรูปยมานตกะ (Yamāntaka) เป็นเทพเล็กๆ เป็นบริวารของพระอักโษภยะ ในวัดมีหีบใหญ่สำหรับใส่ซัมปา เป็นอาหารเช้าของลามะ ในห้องนี้ลามะกำลังทบทวนคัมภีร์ ลามะที่นั่งติดกันไม่จำเป็นต้องอ่านเรื่องเดียวกัน มีหัวหน้าลามะถือกระบองเหล็กคอยดู ไม่ให้พระนั่งหลับหรือคุยกัน ขอให้พระสวดพร้อมๆ กันให้ฟังด้วย ขึ้นไปอีกชั้นเป็นลานคล้ายๆ ดาดฟ้า มีชาวบ้านนั่งเย็บม่าน (เย็บจักร) ม่านพวกนี้เปลี่ยนปีละครั้ง มีคนซ่อมม่านขนจามรี ซ่อมพรมที่ปูให้พระนั่ง เป็นพวกผู้หญิงชาวบ้านไม่ได้อยู่ในวัด ภาพฝาผนังมีรูปการเล่นกีฬาและร้องรำทำเพลงแบบที่ชาวบ้านแถบนี้ชอบเล่น เช่น มวยปล้ำ ยกน้ำหนัก อีกด้านมีรูปเครื่องบริขารต่างๆ ของพระ เช่น รองเท้า ไม้เท้า สิ่งที่ต้องห้ามตามวินัย เช่น ห้ามสวมรองเท้าลาย ห้ามติดตาปูเกือกม้าที่รองเท้า กุฏิต้องเป็นแบบใด ธุดงควัตร การสวดมนต์ต้องเรียบร้อย ห้ามเอาจีวรแขวนไว้บนต้นไม้ รูปเหล่านี้เขียนสมัยดาไลลามะองค์ที่ 5

(น.170) รูป 142 ชาวบ้านนั่งเย็บผ้าม่านขนจามรีบนลานดาดฟ้าของวัด

(น.172) ชั้น 2 นี้สถาปัตยกรรมเป็นแบบทิเบต ผนังมีรูปพระพุทธเจ้า 8 ปาง ตรงช่องหน้าต่างมองเห็นได้ว่ากำแพงอาคารนี้หนามาก มีรูปพระปัทมสัมภวะ พระอมิตาภะ ทำด้วยโลหะ 5 ชนิดผสมกัน มีเจดีย์วิญญาณของพระนิกายหนิงม่าปะในคริสต์ศตวรรษที่ 18 กำแพงอีกชั้นมีภาพฝาผนังอยู่ในสภาพดี เข้าใจว่าเขียนในราชวงศ์หยวนช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 13 รัฐบาลท้องถิ่นที่นับถือนิกายสาเกียปะก็บูรณะไว้อย่างดี ส่วนที่มีแสงเข้าภาพเลือนไปบ้าง ภาพผนังเหล่านี้มีคำอธิบายประกอบด้วย มีรูปจักรวาล ภาพพุทธประวัติ
ชั้นที่ 3 เป็นแบบเนปาล อินเดีย หลังคาเป็นแบบโคทาน ข้างในไม่มีเสา ข้างนอกไม่มีกำแพง มีพระตามทิศต่างๆ พระอาทิพุทธไม่สวมเสื้อผ้ากอดกับศักติ (แต่มีคนเอาเสื้อผ้ามาใส่ให้) คือ นางปรัชญาปารมิตา พยายามดูว่าทิศไหนประดิษฐานพระธยานิพุทธองค์ไหน ดูแล้วงงเลยเลิกดู
ชั้น 4 เห็นสิ่งก่อสร้างในวัดนี้ได้หมด วัดนี้วางรูปเหมือนจักรวาล มีวิหารหลังนี้เปรียบเหมือนเขาพระสุเมรุอยู่ตรงกลาง มีพระเจดีย์สีต่างๆ แดง เหลือง ดำ เขียว 4 องค์ วิหารทวีป 4 ทวีปตามระบบจักรวาลโบราณเหมือนที่พรรณนาไว้ในไตรภูมิพระร่วงของเรา
ทิศเหนือ เป็นทวีปอุตตรกุรุ
ทิศตะวันออก เป็นทวีปบุพพวิเทหะ
ทิศใต้ เป็นทวีปชมพูทวีป
ทิศตะวันตก เป็นทวีปอปรโคยานี

(น.175) ผู้บรรยายพาไปดูของล้ำค่าที่ใส่ตู้เอาไว้ มีพระพุทธรูปหยกเชื่อว่าอายุ 2,000 ปี ปิดทองจนมองไม่เห็นว่าเป็นอย่างไร รองพระบาทข้างซ้ายของพระปัทมสัมภวะ อีกข้างเก็บไว้ที่วังโปตาลา มีเรื่องเล่าว่าเมื่อสร้างวัดซังเยเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระปัทมสัมภวะก็ออกจากทิเบต เดินทางไปทิศใต้ไปไหนก็ไม่รู้ หัวกะโหลกของลามะองค์หนึ่งที่วัดนี้อายุยืน 999 ปี ปีสุดท้ายก่อนมรณภาพมีฟันงอกออกมา หัวกะโหลกนี้อายุ 1,300 กว่าปีแล้ว กล่องหินเก็บเส้นเกศาของพระปัทมสัมภวะ ไม้เท้าที่พระปัทมสัมภวะเคยใช้ รูปพระมัญชุศรี เป็นโลหะผสมอายุ 1,000 กว่าปีแล้ว มีห้องบรรทมดาไลลามะ ลงไป ชั้นล่างสุดมีภาพฝาผนัง ภาพกีฬาพื้นเมือง รูปลามะ 7 ท่านแรก รูปไก่ขาวตัวผู้ เป็นไก่ศักดิ์สิทธิ์ประจำวัด มีเรื่องว่าคืนหนึ่งกลางดึกไฟไหม้วัด ไก่ขันปลุกคนขึ้นมาดับได้ทันท่วงที ภาพพุทธประวัติ ปางประสูติพระพุทธเจ้าออกมาทางสีข้างของพระนางสิริมหามายา (แต่รูปพระพุทธเจ้าหายไปแล้ว) ที่จริงมีเรื่องตั้งแต่พระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์ ทรงพระสุบินว่ามีช้างลงมา ภาพหลังจากประสูติแล้วประทับในวัง (ภาพลบไปหมดแล้ว) มามองเห็นอีกทีตอนเสด็จออกภิเนษกรมณ์ ตัดพระเกศา ภาพชาดกที่พระโพธิสัตว์ตัดเนื้อให้แม่เสือกิน เพื่อให้แม่เสือมีนมให้ลูกกิน มีอักษรเขียนรายชื่อผู้ที่บริจาคเงิน

(น.177) ด้านนอกวัดมีศิลาจารึกหลักใหญ่เป็นจารึกสมัยโบราณ พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานพรให้ศาสนาที่นี่เจริญรุ่งเรือง ออกไปที่โรงเรียนประถมแห่งหนึ่งใกล้วัด ตั้งเต็นท์เลี้ยงอาหารเหมือนเมื่อวานนี้ เมื่อรับประทานเสร็จมีนักข่าวหนังสือพิมพ์ซินหัวมาสัมภาษณ์เป็นภาษาจีน ข้าพเจ้าฟังคำสัมภาษณ์ของเขาเข้าใจดี แต่ไม่ทราบว่าคำตอบจะดีหรือเปล่าเพราะนึกคำที่เหมาะสมไม่ได้ ออกเดินทางช้ากว่ากำหนดไปชั่วโมงหนึ่ง พอรถแล่นได้ชั่วโมงหนึ่งก็หยุดอีก แต่แรกไม่ทราบว่าหยุดทำไมไม่มีใครบอกว่าอย่างไร ทราบภายหลังว่ารถคันเดียวกับที่ตกหล่มเมื่อวันก่อนยางแตก เข้าเมืองซานหนาน ถนนดี อากาศก็ดีท้องฟ้าสีฟ้าใส เมฆขาวเป็นปุย ประมาณ 16.15 น. ถึงเมืองก้งก่า เข้าห้องน้ำที่เดิมและออกเดินทางถึงที่พักโรงแรมลาซา เวลาหกโมงเย็น อาบน้ำสระผมแล้วไปโรงแรมหงเฉียว เลี้ยงฝ่ายจีน-ทิเบต ดูเหมือนจะเป็นอาหารเสฉวน รับประทานแล้วมีรายการบันเทิงคือผลัดกันร้องเพลง ส่งท้ายก่อนจบมีการเต้นระบำทิเบต กลับโรแรมลาซา

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 179,182,185,186,188,189,190,191,195,196,197,198

(น.179) เช้าวันนี้ไปวัดเจ๋อปั้ง (วัดเดรปุง Drepung) มาดามเซริงนั่งรถไปด้วย วัดเจ๋อปั้งนี้กล่าวกันว่าเป็นวัดที่กว้างขวางและร่ำรวยที่สุดในทิเบต สร้างใน ค.ศ. 1416 สมัยดาไลลามะองค์ที่ 2 ผู้สร้างเป็นลูกศิษย์คนหนึ่งของพระอาจารย์จงคาปา มีขุนนางตระกูลหนึ่งเป็นผู้อุปถัมภ์ สมัยดาไลลามะองค์ที่ 5 ขยายให้กว้างขวางขึ้น วัดอยู่ห่างจากเมืองลาซาไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ 5 กิโลเมตร อยู่เชิงเขาเก๋อเป้ยอู่จือซาน (Gambo Utse) ชื่อวัดแปลว่า กองข้าว สมัยที่รุ่งเรืองที่สุดปรากฏว่ามีพระอยู่ถึง 10,000 รูป เป็นสถานศึกษาของลามะระดับสูงที่ทรงความรู้หลายรูป มาดามเซริงบอกว่าสมัยก่อนปลดปล่อย เคยมี 7,700 รูปอยู่ครั้งหนึ่ง ขณะนี้ที่จดทะเบียนมี 580 รูป พระมาจากมณฑลกานซู่และมณฑลชิงไห่ ที่ไม่ได้ลงทะเบียนไว้ที่นี่มีถึงประมาณ 200 รูป รวมเป็นประมาณ 800 รูป เข้าไปเป็นห้องโถงใหญ่สำหรับพระมาชุมนุมกัน บนเสาแขวนเครื่องแบบทหารสมัยก่อน ฝาผนังเป็นภาพพุทธประวัติ ซ่อมเมื่อ ค.ศ. 1991 มีรูปพระอรหันต์ 16 องค์ (ทำไมไม่เป็น 18 องค์เหมือนที่วัดอื่นก็ไม่ทราบ) มีตู้ใส่คัมภีร์ ขึ้นบันไดไปอีกห้องหนึ่งมีรูปเจ้าอาวาสเก่าที่เพิ่งมรณภาพไปเมื่อ ค.ศ. 1997 มีวิหารพระพุทธรูป 3 สมัย พระสาวก 18 รูป พระอาจารย์จงคาปา วัชรปาณี หัยครีวะ เป็นเทพมีรูปม้าโผล่ขึ้นมาบนหัว ข้างฝามีคัมภีร์อยู่ตามชั้นข้างฝา

(น.182) พระให้ข้าพเจ้าสวดมนต์หน้าพระไมเตรยะ ข้าพเจ้าสวดไม่เป็น บอกให้คุกเข่าที่เบาะที่เตรียมไว้แล้ว พระทั้งหลายสวดให้ ฟังสวดมนต์เป็นเรื่องดีมีมงคล แต่ใจไม่ดีว่ามนต์จะยาวแค่ไหนก็ไม่ทราบ เมื่อสวดมนต์จบพระเทน้ำมนต์จากหอยสังข์บนมือให้ดื่มและลูบหัว พาไปที่องค์พระเอาชายผ้าห่มพระประธานตีหัว ในวิหารพระ มีตะกร้าที่เล่ากันว่าพระอาจารย์มิลาเรปาเคยใช้ อีกห้องหนึ่งมีพระพุทธรูปที่เล่ากันว่ามาจากวัดต้าเจาซื่อ หรือวัดโจคัง (Jokhang) คือวัสดุที่นั่นเหลือจึงมาทำพระที่นี่ (ถามดูอีกทีว่าใช้วัสดุนั้นทำอะไร ได้ความว่าพระพุทธรูปที่วัดต้าเจาซื่อเป็นของเก่ามาจากอินเดียที่ทำใหม่ที่ทิเบตคือ มงกุฎ) มีทังกาเก่าๆ ลงบันไดมีรูปพระไมเตรยะอีกองค์ รูปดาไลลามะองค์ที่ 6 ในห้องมีคัมภีร์กันจูร์บอกว่ามี 13 ชุด เป็นลายมือเขียนด้วยหมึกทอง มีสถูปวิญญาณของดาไลลามะองค์ที่ 2 ขององค์ที่ 5-13 อยู่ที่วังโปตาลา องค์ที่ 1 อยู่ที่วัดจ๋าสือหลุนปู้ (ต้าชี่ลุนโป) องค์ที่ 3-4 อยู่อีกวิหารในวัดนี้ ซึ่งเปิดให้คนเข้านมัสการปีละครั้ง คือในวัน Stupa Festival วันที่ 8 เดือน 7 ตามปฏิทินทิเบต ซึ่งจะถึงในวันอาทิตย์นี้ (26 สิงหาคม 2544) ในห้องมีกระจกเงา บอกว่าคนที่หน้าดำมีสิวไม่สวยส่องกระจกแล้วหน้าจะขาวสวยขึ้น อาจจะเกินแก้แล้วจึงไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง กระจกนี้ลูกสาวของผู้ศรัทธาวัดนี้ถวายราว 500 ปีมาแล้ว



(น.185) รูป 152 ลายมือรองประธานสภาประชาชน เขียนจุดประสงค์ของการทำหอจดหมายเหตุแห่งนี้ด้วยภาษาทิเบตแบบหวัด Purposes of establishing the National Archive written in Tibetan running script by Vice Chairman of the People's Congress.

Next >>