<< Back
ทิเบต
(น.185) เดินขึ้นไปชั้น 3 บรรยายสรุปว่าหอจดหมายเหตุนี้เป็นหอจดหมายเหตุอเนกประสงค์ เป็นสถานที่รักษาจดหมายเหตุเกี่ยวกับประวัติของภูมิภาคปกครองตนเองทิเบต และเอกสารมีค่าที่เก็บจากหน่วยราชการทุกหน่วยงาน มีเนื้อที่ทั้งหมด 30,000 ตารางเมตร ตึกมีเนื้อที่ 1,200 ตารางเมตร มีเอกสารตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน หมิง ชิง จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลาในประวัติศาสตร์กว่า 700 ปี เอกสารส่วนใหญ่เป็นภาษาทิเบต ยังมีภาษาจีน แมนจู หุย มองโกล สันสกฤต เนปาล อังกฤษ รัสเซีย รวมทั้งสิ้น 11 ภาษา (หายไปไหน 2 ภาษาก็ไม่ทราบ) ส่วนใหญ่เขียนบนกระดาษ นอกจากนั้นเขียนบนกระดูก ทอง โลหะต่างๆ มีเนื้อหาด้านการเมือง เศรษฐกิจ ประวัติศาสตร์ ศาสนา โหราศาสตร์ การแพทย์ทิเบตโบราณ อัตราภาษี ธรรมเนียมประเพณี ศิลปวัฒนธรรม การคิดเลขโบราณ ส่วนใหญ่ใช้หมึกเขียน (หมึกธรรมดา) ถ้าเป็นจดหมายเหตุสำคัญจะใช้หมึกทองคำ หมึกเงิน ชาด เป็นต้น รัฐบาลกลางเห็นความสำคัญต่อการฟื้นฟูพัฒนาจดหมายเหตุ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม ค.ศ. 1990 ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินมาชมและเขียนลายมือพู่กันให้แก่หอจดหมายเหตุ มีใจความว่า อารยธรรมและประวัติศาสตร์อันยิ่งใหญ่เป็นส่วนประกอบสำคัญของอารยธรรมจีน พนักงานของหอจดหมายเหตุมี 100 คน 90% เป็นคนทิเบต หอจดหมายเหตุนี้ตั้งขึ้นหลัง ค.ศ. 1959 เปิดให้คนทั่วไปได้เข้ามาศึกษา นอกจากนั้นยังร่วมมือกับนักวิชาการภายในและภายนอกประเทศได้ผลดี
(น.186) มีห้องนิทรรศการให้ดู มีประวัติศาสตร์ทิเบตตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน มีของให้ดู เช่น พระบรมราชโองการ กฎมณเฑียรบาลสมัยราชวงศ์หมิง มีเอกสารแสดงการใช้นโยบายพระราชทานตำแหน่งแก่ข้าราชการทิเบตและอื่นๆ
เอกสารราชวงศ์ชิง รัชศกซุ่นจื่อ ตั้งพระดาไลลามะ พระปันฉานลามะ และขุนนางทิเบต
เข้าไปในห้องนิทรรศการประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์หยวนถึงปัจจุบัน กฎหมายราชวงศ์หยวน ค.ศ. 1304 พระบรมราชโองการเป็นภาษามองโกล เขาอธิบายว่ามณฑลอื่นจะไม่ค่อยพบพระบรมราชโองการแบบนี้ มีป้ายทองภาษามองโกลด้วย
จักรพรรดิหงอู่ (จูหยวนจาง) ในราชวงศ์หมิง มีพระบรมราชโองการให้ตั้งจวนผู้ว่าราชการทั้งทหารและพลเรือนของเขตอาหลี่ใน ค.ศ. 1373 (เดือนที่ 2 ปีที่ 6) กระดาษที่เขียนเป็นสีๆ จวนที่ตั้งนี้เป็นทั้งบ้านพักและที่ทำการ
จดหมายเหตุสมัยราชวงศ์หมิง จักรพรรดิหย่งเล่อให้พระนิกายกาตัมปะของทิเบตไปปักกิ่ง
สมัยราชวงศ์ชิง มีเอกสารการแต่งตั้งดาไลลามะและพระปันฉานลามะ สมัยจักรพรรดิคังซีตั้งนายพลท่านหนึ่งที่ชนะกบฏของมองโกล เป็นปีที่ 60 ในรัชกาล
ใน ค.ศ. 1724 สมัยจักรพรรดิยงเจิ้งพระราชทานตราทองคำดาไลลามะองค์ที่ 7 มีภาษาทิเบต มองโกลและแมนจู (ไม่มีภาษาจีน) รวมทั้งมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเสนาบดีทิเบตที่ปราบมองโกลได้
(น.188) จักรพรรดิเจียชิ่งให้ทายาทสืบทอดวิญญาณของดาไลลามะองค์ที่ 9 ขึ้นครองได้โดยไม่ต้องจับฉลากปีที่ 13 ของรัชกาล ค.ศ. 1808
จักรพรรดิเจียชิ่งตอบจดหมายดาไลลามะองค์ที่ 9 ซึ่งไปเฝ้าที่ปักกิ่ง ตั้งขุนนางสำเร็จราชการ ค.ศ. 1820
พระบรมราชโองการจักรพรรดิเต้ากวง ค.ศ. 1822 ตั้งขุนนางคนเดิมสำเร็จราชการ เมื่อดาไลลามะองค์ที่ 9 มรณภาพ ยังหาองค์ที่ 10 ไม่ได้
สาส์นแสดงความยินดีของจักรพรรดิเต้ากวงตอนฉลองดาไลลามะองค์ที่ 10 ค.ศ. 1823
จักรพรรดิเต้ากวงให้หาเด็กสืบทอดดาไลลามะองค์ที่ 10 ตั้งดาไลลามะองค์ที่ 11
จักรพรรดิเต้ากวงมีลายพระหัตถ์ป้ายชื่อวัดแห่งหนึ่งในซานหนาน
จักรพรรดิเสียนเฟิงออกพระบรมราชโองการตั้งเจ้าเมืองสำเร็จราชการที่ทิเบต เนื่องจากดาไลลามะองค์ที่ 12 ยังเด็ก แต่งตั้งดาไลลามะองค์นี้ใน ค.ศ. 1858 จับสลากแจกแจกันทองตามประเพณีที่เริ่มใช้ใน ค.ศ. 1793
จักรพรรดิถงจื่อเขียนลายพระหัตถ์พู่กันเป็นชื่อวัดจ๋าสือหลุนปู้ เป็น 4 ภาษา
ภาพที่พระนางซูสีเขียนให้ดาไลลามะองค์ที่ 13 ข้อความบนภาพนั้นเสนาบดีชื่อจางจือเว่ยเป็นผู้เขียน
(น.188) รูป 154 ภาพฝีพระหัตถ์พระนางซูสีพระราชทานดาไลลามะองค์ที่ 13
Painting by the Empress Dowager Cixi, a gift to the 13th Dalai Lama.
(น.189) จักรพรรดิกวงสวี่ตั้งดาไลลามะองค์ที่ 13 พอตั้งไม่นานก็เปลี่ยนแปลงการปกครอง รัฐบาลจีนเลยให้การรับรอง
ป้ายที่จักรพรรดิเฉียนหลงเขียนให้วังโปตาลา แต่เขาอวดว่าที่ในหอจดหมายเหตุเป็นของแท้ เขียนเมื่อ ค.ศ. 1760 เป็นปีที่ 25 ในรัชกาล
หนังสือรายงาน (เขียนบนกระดาษ) ว่าทหารเนปาลโจมตีถึงทิเบตแล้ว ให้ทหารจีนไปปราบให้ได้ เอานายพล 2 ท่านจากเสฉวนมาประจำการที่เมืองลาซา และภาคส่วนหลังของทิเบต
บันทึกเสนาบดีทิเบตร่วมกับพระปันฉานลามะรายงานจักรพรรดิเต้ากวง ขอให้ปรับปรุงกฎหมายทิเบต 29 ข้อ
บันทึกประวัติที่อังกฤษเข้ามารุกรานทิเบต ฆ่าคนตายไป 3,000 คน ชิงทรัพย์สินชาวบ้าน ทำลายวัด
สมัยสาธารณรัฐ มีโทรเลขของยวนซีไขถึงดาไลลามะองค์ที่ 13
ลายมือเจียงไคเช็คถึงดาไลลามะองค์ที่ 13 ให้เข้าข้างรัฐบาลกลางของจีน เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ ดาไลลามะองค์นี้มรณภาพใน ค.ศ. 1933 ในปี ค.ศ. 1940 ตั้งองค์ที่ 14
โทรเลขประธานกิจการมองโกล ทิเบต หวงมู่ซง
หลังจาก ค.ศ. 1959 มีลายมือประธานเหมาและหลิวเซ่าฉีถึงดาไลลามะ จดหมายหลิวเซ่าฉี จดหมายโจวเอินไหลถึงดาไลลามะ ลายมือเติ้งเสี่ยวผิงและเจียงเจ๋อหมิน
(น.190) ห้องจดหมายเหตุทิเบต แสดงวัสดุและวิธีการบันทึกจดหมายเหตุทิเบต คัมภีร์ใบลาน ทังกา การเขียนบนไม้ ปกคัมภีร์กันจูร์ทำด้วยไม้ แม่พิมพ์ไม้ที่นี่มี 100,000 แผ่น
มีรูปวาดรูปหนึ่งเขียนแบบชาวบ้านเขียนไม่ได้มีศิลปะอะไรมากนัก คนที่หอจดหมายเหตุบอกว่าเรื่องราวที่เขียนน่าสนใจ เขียน ค.ศ. 1941 แต่คาดเหตุการณ์อนาคตได้
ตอนที่ปันฉานลามะองค์ที่ 9 สิ้น ก็ต้องหาเด็กมาเป็นปันฉานลามะองค์ที่ 10 การแสวงหาต้องไปดูที่ทะเลสาบ เมื่อไปดูที่ทะเลสาบ ผิวน้ำสะท้อนเป็นภาพ 13 ภาพ ช่างจึงวาดเอาไว้ ภาพแรกเป็นภาพวัดที่มณฑลชิงไห่ ข้างๆ วัดมีต้นไม้ เด็กควรอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนี้ วัดที่อยู่ข้างๆ ควรเป็นวัดที่พ่อของเด็กเคยบวช มีเสือตัวหนึ่ง กระต่ายหลายตัว ตีความว่าเด็ก 2 คน ปีเสือกับปีกระต่าย คนที่ได้รับเลือกควรจะปีเสือ มีรูปผู้หญิงสันนิษฐานว่าเด็กคนนี้จะไปทิเบต รูปเจดีย์ไม่มียอด แสดงว่าจะลาสิกขาแล้วแต่งงาน (แต่งงานช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจริงๆ ) สีดำหมายถึงจะต้องเดินทางไกลและยากลำบาก นกปากแดงหมายถึงสิ่งที่ไม่เป็นสิริมงคลอายุอาจไม่ยืน วัดจ๋าสือหลุนปู้แสดงว่าจะใช้ชีวิตส่วนใหญ่ในวัดนี้ มีกลองใหญ่สูงเท่าตึก 2 ชั้น แสดงว่าจะมีชื่อเสียง ตรงกลางเป็นรูปที่แสดงว่ามีการปกครองระหว่างชนชาติ
เอกสารอื่นๆ มีโฉนดที่ดิน เอกสารแสดงอัตราภาษี
(น.191) ดาไลลามะตั้งขุนนางมองโกล จดหมายเหตุเกษตรปศุสัตว์ เรื่องการปลูกต้นไม้ เลี้ยงแกะแพะ บัตรยกย่องเกษตรกรดีเด่น ผู้ที่เลี้ยงแกะได้มาก เงินโบราณต่างๆ แม่พิมพ์เงินธนบัตร แสตมป์ทิเบต รหัสโทรเลข เอกสารหลักฐานการสร้างถนนและท่าเรือ รายชื่อคนเป็นทหาร รายงานการทำอาวุธ ตำราหมอแมะทิเบต ภาพสรีระ สาเหตุของโรค แผนที่เขตเจียงจือ เขียนเป็นภาพแสดงภูเขาแม่น้ำเหมือนภาพฝาผนัง เป็นแผนที่สมัยราชวงศ์ชิง มีรายละเอียดสถิติมากมาย เช่น หมู่บ้านมีกี่วัด วัดมีลามะกี่รูป มีประชากรกี่ครัวเรือน มีหมาเฝ้าบ้านกี่ตัว การวัดเส้นทางบอกว่าขี่ม้าไปกี่วัน
รายงานแร่ธาตุต่างๆ ชาวอังกฤษเป็นผู้เขียน มีภาพถ่ายประกอบ พบแร่ธาตุมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งทองแดง
แผนที่ทิเบตรูปนางยักษ์
แร่ธาตุที่ขุดพบในซานหนาน
หนังสือเกี่ยวกับลักษณะม้า มีภาพประกอบ
ภาพร่างบนผ้าเป็นภาพแบบจีน
ท่ามือและเท้าของระบำศาสนา (หนังสือเล่มนี้ถูกหนูกัด)
รูปถ่ายเก่าๆ แสดงวิวัฒนาการการแต่งกายสตรีทิเบต
ข้อสอบลามะ
ตำราเขียนภาพ
กฎหมายรวมตั้งแต่สมัยซงจ้านกานปู้ มีบทว่าด้วยการอนุรักษ์สัตว์ป่าด้วย กฎหมายรวมตั้งแต่สมัยซงจ้านกานปู้ มีบทว่าด้วยการอนุรักษ์สัตว์ป่าด้วย
(น.195) คำถามที่เขายกตัวอย่างให้ฟังเหมือนที่เด็กๆ ชอบทายปัญหาเชาวน์กัน เช่น ม้าเป็นสีขาวใช่ไหม คำตอบว่าใช่ ก็เท่ากับตอบผิด เพราะว่าม้าไม่ได้เป็นสี ม้าเป็นสัตว์
ก่อนกลับพระเชิญซื้อของ คนขายก็เป็นพระ มีหนังสือและของที่ระลึกต่างๆ
กลับโรงแรม
เวลา 17.30 น. ไปที่ที่ทำการราชการของทิเบต พบประธานสภาของทิเบตชื่อ รื่อตี้ เขาบอกว่าได้เดินทางพร้อมกับคณะสภาของทิเบตไปเยือนประเทศไทยเมื่อ 2 ปีมาแล้ว รู้สึกประทับใจ ขณะนี้ทุกครั้งที่ทราบว่ามีคณะคนไทยมาก็จะต้อนรับด้วยตนเอง ผู้ที่มาร่วมต้อนรับข้าพเจ้ายังมีรองประธานสภา เป็น Living Buddha หญิงรองประธานที่ปรึกษา (หญิง) เป็นนักร้องเสียงสูงที่มีชื่อของจีน อีกคนเป็นชาวหุยเป็นรองอธิบดีกรมกิจการพลเรือนทิเบต อธิบดีกรมวัฒนธรรม ล้วนเป็นผู้หญิงเท่านั้น
ประธานสภารื่อตี้เป็นห่วงว่าเมืองต่างๆ ที่ข้าพเจ้าไปชมมาแล้ว ถนนหนทางไม่สะดวกเลย แต่เดิมทางดีกว่านี้ แต่เกิดอุทกภัยถนนเสียหาย ประธานสภาเล่าต่อไปว่าบ้านเดิมอยู่ที่เขตปศุสัตว์ทางเหนือ อยู่เหนือระดับน้ำทะเล 4,500 เมตร อยู่ห่างลาซา 400 กิโลเมตร เป็นเขตอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีสัตว์ต่างๆ จำนวนมาก เช่น ม้าป่า แพะป่า วัวป่า พื้นที่ประมาณ 100,000 ตารางกิโลเมตร มีทะเลสาบทั้งทะเลสาบน้ำเค็มและทะเลสาบน้ำจืด
(น.196) รูป 157 เข้าพบประธานสภาของทิเบต
An audience with the Chairman of Tibetan Council.
(น.196) พูดถึงนโยบายการพัฒนาภาคตะวันตกของรัฐบาลกลาง ที่นี่มีโครงการที่สำคัญที่สุดคือ การสร้างทางรถไฟชิงไห่-ลาซา ความยาว 1,000 กว่ากิโลเมตร ใช้เงินทุน 26,000 ล้านหยวน คาดว่าจะสร้างสำเร็จใน 6 ปี เวลานี้ทิเบตยังไม่มีทางรถไฟ ผู้นำจีนทุกสมัยสนใจเรื่องการสร้างทางรถไฟตั้งแต่รุ่นประธานเหมาเจ๋อตุง ท่านเติ่งเสี่ยวผิง และประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน แต่เป็นโครงการที่ทำให้สำเร็จได้ยาก ค่าใช้จ่ายสูง จึงเพิ่งเริ่มได้ในยุคนี้ เมื่อทางรถไฟเสร็จ จะพัฒนาท้องถิ่นได้ดีขึ้น การท่องเที่ยวจะดีขึ้นด้วย
ทิเบตมีเอกลักษณ์คือ ไม่มีวิสาหกิจใหญ่และกลาง ภายหลังการประชุมครั้งที่ 3 เมื่อ ค.ศ. 1978 รัฐบาลกลางจัดสัมมนาพัฒนาเศรษฐกิจ 3 ครั้ง ในการประชุมครั้งที่
(น.197) 4 ใช้นโยบายพิเศษในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การคมนาคม การสื่อสาร พลังงาน งานพวกนี้ต้องใช้เทคนิคสูง ทิเบตยังมีปัญหาเรื่องทรัพยากรมนุษย์ แต่เมื่อเทียบกับสมัยก่อนนับว่าพัฒนาไปมากแล้ว แต่ก่อนไม่มีโรงเรียน เดี๋ยวนี้มีโรงเรียนทุกระดับ มีคำขวัญว่า ใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีพัฒนาประเทศ รัฐบาลกลางมีนโยบายพัฒนาการศึกษา ฉะนั้นเด็กในเขตปศุสัตว์จึงได้เรียนและกินอยู่ฟรี ได้เสื้อผ้าฟรี มณฑลอื่นๆ มาช่วยสร้างโรงเรียนมัธยมทิเบต ทุกตำบลต้องมีโรงเรียนประถมศึกษา อำเภอต้องมีโรงเรียนมัธยม ต้องให้คนทิเบตมีโอกาสเข้าโรงเรียนอย่างน้อย 80% นอกจากนั้นยังมีการร่วมมือกับโครงการความหวัง เพื่อเชิญชวนเอกชนให้ช่วยเด็กให้ได้เรียนหนังสือ มีโครงการเร่งอบรมครูทิเบต เน้นการอบรมครูประถมและมัธยม เวลาปิดเทอมทั้งหน้าร้อนและหน้าหนาวจะเรียกครูมาอบรมหลักสูตรพิเศษ เชิญอาจารย์เก่งๆ จากมณฑลอื่นๆ มาสอน ส่งครูทิเบตไปฝึกอบรมในโรงเรียนดีๆ ที่มณฑลอื่น อย่างไรก็ตามถือว่ายังไม่ประสบความสำเร็จนักในการจัดการศึกษาในเขตปศุสัตว์ ยังต้องช่วยเหลือในลักษณะมีโควตาพิเศษให้นักเรียน ถึงจะคะแนนไม่สูงเท่าคนอื่นก็ให้โอกาสได้เรียน
ประธานสภารื่อตี้ให้ของขวัญเป็นหนังสือชุดหนึ่ง 5 เล่ม เกี่ยวกับประวัติศาสตร์วัฒนธรรมทิเบต ถ้าอ่านแล้วจะเข้าใจเรื่องทิเบตได้ดีขึ้น เล่มแรกเป็นเรื่องตั้งแต่ 50,000 ปีก่อน จนถึงสมัยราชวงศ์ถู่โป๋ เป็นพวกทิเบต กลางคริสต์ศตวรรษที่ 7 เล่มที่ 2 เริ่มตั้งแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 9 ถึงคริสต์ศตวรรษที่ 13 เล่มที่ 3 สมัย
(น.198) ราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิง ค.ศ. 1206-1644 เล่มที่ 4 เป็นเรื่องราชวงศ์ชิง เล่มที่ 5 สมัยก๊กมินตั๋งจนถึงสมัยจีนใหม่
จากนั้นนั่งรถไปที่ประชุมรัฐสภา มาดามเซริงชี้ให้ดูที่ทำการกาชาดทิเบต มีโครงการที่กาชาดสวิตเซอร์แลนด์และกาชาดฮอลแลนด์มาช่วยด้วย ฝ่ายโครงการเตรียมเผชิญภัยและบรรเทาทุกข์ (Disaster Preparedness and Relief)
ที่ทำการรัฐสภามีห้องกินเลี้ยงใหญ่ มีเวทีการแสดง 2 ข้าง เวทีมีทีวีฉายวิดีโอเกี่ยวกับทิเบต ข้าพเจ้าถามถึงวัฒนธรรมทิเบตว่าปัจจุบันนี้มีนโยบายเปิดสู่ตะวันตก วัฒนธรรมแบบสมัยใหม่เข้ามาสู่ทิเบต แล้วทิเบตรักษาวัฒนธรรมดั้งเดิมไว้ได้อย่างไร ประธานรื่อตี้บอกว่าตอนนี้ที่ยังเห็นได้ชัดคือ เวลามีเทศกาลตามประเพณี คนไปร่วมงานกันมาก เวลามีแขกมา คนทิเบตใช้ฮาดาต้อนรับ ผ้าฮาดา (ผ้าแพร หรือผ้าไหมยาวสีขาวที่เจ้าภาพคล้องคอให้แขก) นี้ยิ่งขาวยิ่งดี การร้องเพลงเชิญแขกดื่มเหล้าก็เป็นประเพณีทิเบต การแต่งกายของคนทิเบตในพื้นที่ต่างๆ ก็ไม่เหมือนกัน เช่น คนรื่อคาเจ๋อ กับคนลาซาแต่งกายต่างกัน
เด็กรุ่นใหม่ได้รับการศึกษาด้านวัฒนธรรม โรงเรียนสอนทั้งภาษาทิเบตและภาษาจีน รวมทั้งวัฒนธรรมจีนและวัฒนธรรมดั้งเดิมของทิเบต เด็กที่ส่งไปเรียนปักกิ่งต้องเข้าใจวัฒนธรรมทิเบตดีก่อน เด็กสมัยใหม่นอกจากเรียนภาษาทิเบต ภาษาจีนแล้วยังต้องเรียนภาษาอังกฤษด้วย
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 200,201,202,203
(น.200) วันพฤหัสบดีที่ 23 สิงหาคม 2544
รับประทานอาหารเช้าแล้วไปพระราชวังหลัวปู้หลินข่า (นอร์บุลิงกา Norbulingka) หมายถึง สวนแห่งสมบัติ สร้างขึ้นช่วง ค.ศ. 1740 ผู้ตรวจราชการที่ราชวงศ์ชิงส่งไปประจำทิเบต สร้างวัดถวายดาไลลามะองค์ที่ 7 ซึ่งไปที่นั่นบ่อย ใน ค.ศ. 1751 ดาไลลามะองค์ที่ 7 สร้างตำหนักเก๋อซังผ่อจัง (Kelsang Potsang) ดาไลลามะองค์ที่ 14 ได้ประทับที่นี่ก่อนที่จะสร้างตำหนักใหม่ที่เรามาชมวันนี้ ใน ค.ศ. 1954-1956 เข้าถึงห้องโถงกลางมีรูปสิงโตและเสือ หมายถึง อำนาจ
ขึ้นไปชั้นที่ 1 สิ่งที่มีชื่อคือ ภาพฝาผนัง ภาพเขียน 300 กว่าภาพ มีเรื่องความเป็นมาของทิเบต กำเนิดมนุษย์ จนถึง ค.ศ. 1954 เล่าเรื่องกวนอิมให้ลิงมาฝึกสมาธิที่ทิเบต (ตำราอื่นบอกว่ากวนอิมแบ่งภาคเป็นลิง)
(น.200) รูป 158 ภาพฝาผนังตอนกำเนิดทิเบต
The birth of Tibet, a mural painting.
(น.201) ยักขินีมาขอแต่งงานกับลิง แต่แรกลิงไม่ยอม ยักขินีบอกว่าจะออกลูกเอง เป็นภูตผีมาทำอันตราย ไปปรึกษากวนอิม กวนอิมบอกให้ยอม เมื่อแต่งงานแล้วนางยักขินีออกลูกมาเป็นลิง 6 ตัว แยกย้ายกันไปเป็นเจ้าเมืองต่างๆ ต่อมาลิงกินอาหารบนต้นไม้จนหมด ขาดเครื่องมือทำมาหากิน ต้องกลับไปหากวนอิม กวนอิมให้ที่ 5 แปลง พืช 5 ชนิด ให้มาแบ่งกัน (ไม่ทราบว่าแบ่งกันอย่างไร อาจต้องจัดรูปที่ดินใหม่จึงพอสำหรับลิง 6 ตัว) ภายหลังกลายเป็นคนไปอย่างไรก็ไม่ทราบไม่มีเรื่องปรากฏ มีแต่เล่าว่าออกลูกออกหลานหลายกลุ่ม ต้องการมีหัวหน้า วันหนึ่งมีชายรูปงามมาปรากฏ ชาวบ้านถามว่ามาจากไหนก็ชี้ขึ้นฟ้า ชาวบ้านจึงนึกว่ามาจากสวรรค์ ยกย่องเป็นเจ้าเมือง
เรื่องเจ้าหญิงเหวินเฉิงมาอภิเษกสมรสกับกษัตริย์นำพระพุทธรูปที่เหมือนพระพุทธเจ้าตอนพระชนม์ 12 พรรษามาด้วย (ดูอย่างไรไม่ทราบ) เจ้าหญิงเนปาลสร้างวัดโจคัง กลางวันเจ้าหญิงเนปาลดูแล กลางคืนเจ้าหญิงเหวินเฉิงมาดูแล เจ้าหญิงเหวินเฉิงให้แหวนเจ้าหญิงเนปาล ตอนนั้นเจ้าหญิงเนปาลไม่รู้จะสร้างวัดที่ตรงไหนดี เจ้าหญิงเหวินเฉิงบอกให้โยนแหวนเสี่ยงทาย แหวนตกที่ไหนให้สร้างตรงนั้น แหวนไปตกในทะเลสาบ มีเจดีย์ขาวองค์หนึ่งโผล่ขึ้นมา ถมเท่าไรก็ไม่เต็มจนแกะกระโดดลงไป วัดสร้างหันไปทิศตะวันตก ซึ่งเป็นบ้านเดิมของเจ้าหญิงเนปาล (เรื่องนี้ไม่ตรงกับเรื่องที่ฟังมาเมื่อวันก่อนๆ ที่กล่าวว่าวัดโจคังสร้างตามจินตนาการของเจ้าหญิงเหวินเฉิง ว่าทิเบตเหมือนนางยักขินีต้องสร้างวัดกำกับ วัดนี้อยู่ตรงหัวใจยักขินีพอดี)
(น.202) รูป 159 พระพุทธรูปพระศากยมุนีขนาบข้างด้วยพระโพธิสัตว์ 2 องค์
Sakyamuni Buddha with two bodhisattvas.
(น.202) ภาพเจ้าหญิงจินเฉิงมา เชิญพระพุทธรูปมาด้วย เป็นเจ้าหญิงจีนองค์ที่ 2 ที่มาทิเบต
ภาพพระศากยมุนี ด้านซ้ายเป็นพระไมเตรยะ ด้านขวาเป็นพระมัญชุศรี ห้องนี้ดาไลลามะใช้ออกว่าราชการ และจัดพิธีที่ไม่ใหญ่โตนัก
มีภาพจักรพรรดิซุ่นจื่อให้ดาไลลามะองค์ที่ 5 เฝ้า ค.ศ. 1652-53 ปลายปี ค.ศ. 1652 เดินทางถึงปักกิ่ง ค.ศ. 1653 เดินทางกลับ ภาพที่ประธานเหมาพบดาไลลามะองค์ที่ 14
(น.203) เดินดูห้องต่างๆ มีห้องบรรทม ติดรูปแมวที่คนอังกฤษให้ ห้องเรียน (มีวิทยุ) ห้องอาจารย์ ไกด์เล่าว่าถ้าดาไลลามะสวดมนต์ผิด อาจารย์ต้องแสดงความเคารพแล้วจึงตี
ในห้องมีทังกาผ้าตาดรูปอาจารย์อาตีศะ ไกด์เล่าว่าเป็นเจ้าชายเบงกอล ขณะนั้นเบงกอลเริ่มได้อิทธิพลศาสนาอิสลามแล้ว จึงออกเผยแพร่ศาสนาที่ทิเบต ภาพพระอาจารย์จงคาปา กวนอิม ธรรมบาล ฯลฯ
ห้องเปลี่ยนเครื่องทรงของดาไลลามะ มีห้องสรง (แต่ไม่ได้เปิดให้ดู) มีรูปเคารพ เช่น เหวัชระ ยมานตกะ มีวิทยุและเครื่องเล่นแผ่นเสียงที่นายกรัฐมนตรีเนห์รูถวายเมื่อ ค.ศ. 1956
ห้องพระไตรปิฎกเป็นสถานที่ออกว่าราชการ ประกอบพิธีสำคัญ สิ่งที่สำคัญในห้องนี้คือ บัลลังก์ทองคำ มีภาพฝาผนัง 250 รูป มีภาพพุทธประวัติ ภาพอาจารย์จงคาปา เขาพระสุเมรุ สวรรค์ นรก 18 ชั้น เพื่อสอนว่าทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่ว มีภาพ Shangrila ซึ่งเป็นโลกที่สวยงามที่สุด ไกด์บอกว่าเปรียบเทียบกับสมัยใหม่หมายถึง โลกคอมมิวนิสต์
ห้องน้ำแม่ดาไลลามะ เป็นห้องน้ำแบบใหม่ มีอ่างอาบน้ำ มีชักโครก มีห้องพัก แต่ไม่อนุญาตให้แม่มาค้างได้ มีหิ้งพระไม้จันทน์
ห้องรับแขก เป็นห้องที่มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์คือ เป็นที่ชุมนุมของพวกนายพลต่างๆ ตอนเข้าทิเบต มีของที่นายพลเฉินอี้ถวายดาไลลามะ ภาพที่ลอกจากภาพปัทมปาณีในถ้ำอชันตา นายกรัฐมนตรีเนห์รูถวาย
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 215
(น.215) รูป 165 กล่าวขอบคุณ
Speech of appreciation.
(น.215) แปลเป็นภาษาไทยเพื่อให้คนไทยได้อ่าน มีมหาวิทยาลัย 2 แห่ง ใช้เป็นสื่อการสอนภาษาจีน ข้าพเจ้าแปลเรื่อง “ผีเสื้อ” ของหวังเหมิ่ง และเรื่อง “เมฆเหินน้ำไหล” ของฟังฟัง คนไทยชอบอ่านหนังสือทั้งสองเล่มนี้ และได้พิมพ์ออกจำหน่ายแล้วเล่มละ 8 ครั้ง คนไทยชอบอ่านเรื่องท่องเที่ยวประเทศจีนเช่นเดียวกัน ครั้งนี้ข้าพเจ้าไปหนิงเซี่ย ชิงไห่ และทิเบต คนไทยคงจะสนใจภาคตะวันตกของจีน ตัวข้าพเจ้าเองสนใจศึกษาวรรณคดีจีนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมปีนี้ ข้าพเจ้าได้โอกาสที่ใฝ่ฝันมานานแล้วคือ ได้ไปศึกษาที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นเวลาเดือนหนึ่ง ถึงแม้ว่าเวลาจะสั้น แต่ก็ช่วยให้ระดับความรู้ภาษาจีนของข้าพเจ้าดีขึ้นมาก มหาวิทยาลัยปักกิ่งยังให้ปริญญากิตติมศักดิ์แก่ข้าพเจ้า ถือเป็นเกียรติยิ่ง เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้วกระทรวงศึกษาธิการของจีนได้ให้รางวัลมิตรภาพภาษาและวัฒนธรรมจีน รางวัลและเกียรติยศเหล่านี้ช่วยกระตุ้นให้ข้าพเจ้าศึกษาเรื่องจีนมากขึ้น ขอขอบคุณรัฐบาลจีนที่ช่วยสนับสนุนการศึกษาของข้าพเจ้า ขอบคุณอาจารย์ที่ช่วยสอนภาษาจีน และนักวิชาการที่ช่วยข้าพเจ้าในด้านอื่นๆ
หลังจากนี้ข้าพเจ้าจะต้องศึกษาภาษาจีนอย่างขยันขันแข็งมากขึ้น และยังจะต้องมาเมืองจีนอีก ยังมีอีก 6 มณฑลที่ยังไม่เคยไป และเตรียมจะไปอีก
Next >>