Please wait...

<< Back

นานกิง

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 97,111


(น.97) รูป 87 เสาสะพาน

(น.97) นั่งรถไปดูสะพานที่กำลังสร้าง ในรถนายกเทศมนตรีเล่าว่า เมืองนี้ในฤดูร้อน อุณหภูมิสูงสุด 40 องศาเซลเซียส หนาวที่สุด 5 องศาเซลเซียส จึงได้เปรียบในด้านการเพาะปลูก สามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละ 3 ครั้ง ด้านอุตสาหกรรมมีอุตสาหกรรมเคมี อาหาร ทอผ้า เครื่องกล ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเบา ปัจจุบันมีวัสดุก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ ดินเผา พลาสติก เครื่องตกแต่งภายใน มหาวิทยาลัยว่านเซี่ยนเพิ่มการพัฒนาอบรมในด้านต่าง ๆ สำหรับการเปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดโครงการซานเสีย สะพานขนส่งทางบกนี้เป็นส่วนของถนน 318 ที่จะเชื่อมนครต่าง ๆ คือ ลาซา เฉิงตู ฉงชิ่ง ว่านเซี่ยน อู่ฮั่น หนานจิง (นานกิง) เซี่ยงไฮ้ เป็นโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม สะพานนี้ยาว 856 เมตร กว้าง 24 เมตร สูง 250 เมตร การสร้างใช้คอนกรีตเหล็กกล้า ข้ามแม่น้ำโดยใช้โครงสร้างโค้งเดี่ยว ยาว 420 เมตร โครงสร้างลักษณะนี้ในประเทศจีนที่นี่ใหญ่ที่สุด เท่าที่ท่านนายกเทศมนตรีทราบ ยูโกสลาเวียก็มีโครงสร้างแบบนี้ แต่ยาวเพียง 390 เมตร เขตสะพานนี้ต่อไปจะเป็นเมืองใหม่ เริ่มย้ายโรงงานเกลือมาทางนี้แล้ว กำลังสร้างโรงงานดินเผา ศูนย์พาณิชย์ และธนาคารประชาชน


(น.111) รูป 99 ทิวทัศน์ฉูถังเสีย

(น.111) กลับมาถึงเรือใหญ่ ออกไปอยู่หน้าเรือเพื่อดูฉูถังเสีย ซึ่งเป็นโตรกเขาแรกในบรรดาโตรกเขาทั้ง 3 ฉูถังเสียนี้ยาว 8 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นช่องแคบ ๆ ระหว่างเขาสูง มีลักษณะคล้าย ๆ ฟยอร์ดที่นอร์เวย์ แต่การเกิดคงจะไม่เหมือน ฟยอร์ดเกิดจากธารน้ำแข็งกัดเซาะภูเขาริมทะเล เมื่อหิมะละลายน้ำทะเลเข้าแทนที่ แต่หุบเขาพวกนี้ข้าพเจ้าคิดว่ามาจากแม่น้ำฉางเจียงกัดเซาะ มีเรื่องโต้กันว่าซานเสียนั้นยาวเท่าไรกันแน่ บางคนว่า 189 กิโลเมตร บางคนว่า 204 กิโลเมตร นับจากเฟิ่งเจี๋ยไปอี๋ชาง (มณฑลหูเป่ย) ได้ 204 กิโลเมตร ถ้านับจากขุยเหมินไปหนานจิงกวน รวมระยะทางประมาณ 189 กิโลเมตร

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 275,276

(น.275) ยึดมั่นในหลักปรัชญาของขงจื้อ หลู่ซุ่นก็ต้องเรียนความคิดของขงจื้อเหมือนเด็กจีนทุกคน แต่สิ่งที่เขาสนใจมากกว่าก็คือ นิทานพื้นบ้านต่าง ๆ และประวัติศาสตร์ฉบับราษฎร์ เช่น หนังสือซือจิง หนังสือซานไห่จิง ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับภูเขาและทะเล แต่จะแทรกเรื่องเทพเจ้าและสัตว์ประหลาด ล้วนมีอิทธิฤทธิ์ เรื่องไซอิ๋ว เรื่องฮวาจิ้ง สถานที่ที่เขาเรียนมีลูกชาวไร่ชาวนาเรียนอยู่ด้วย ทำให้เขาได้เรียนรู้เรื่องที่ไม่เคยรู้ และรู้เรื่องที่ชาวนาถูกกดขี่ข่มเหง สิ่งแวดล้อมเช่นนี้อาจมีอิทธิพลต่องานเขียนของเขา เมื่อหลู่ซุ่นอายุ 17 ปี (ค.ศ. 1898) ได้เดินทางไปนานกิง สอบเข้าโรงเรียนฝึกหัดครูของทหารเรือ ปีที่สองย้ายไปเรียนที่โรงเรียนฝึกหัดครูทหารบกที่รัฐบาลตั้งขึ้น ที่โรงเรียนแห่งนี้เขาได้เรียนรู้ความคิดแบบวิทยาศาสตร์ของตะวันตก ได้เรียนหนังสือแปลของเอี๋ยนฝูชื่อ เทียนเอี่ยนลุ่น มีผลกระทบต่อความคิดของเขา ต่อมาไปเรียนที่โรงเรียนเหมืองแร่เพื่อให้ได้ความรู้มารับใช้ชาติ เขาได้ประกาศนียบัตรและได้ทุนไปเรียนที่โรงเรียนหงเหวินในโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นเมื่อ ค.ศ. 1902 ในโตเกียวหลู่ซุ่นตัดเปีย (ค.ศ. 1903) เป็นการแสดงออกถึงการต่อต้านราชวงศ์แมนจู เขาเรียนแพทย์ต่อที่โรงเรียนแพทย์เซนไดใน ค.ศ. 1904 ระหว่างที่อยู่ญี่ปุ่นเขาสนใจเรื่องวรรณกรรม ได้แปลวรรณกรรมญี่ปุ่นเป็นภาษาจีน ได้เขียนหนังสือหลายเล่ม เช่น เรื่องประวัติศาสตร์มนุษยชาติ วิจารณ์เรื่องวรรณกรรม ทำวารสารซินเซิง พิมพ์นวนิยายนอกเขตแดน เขาถือว่าการเขียนวรรณกรรมจะช่วยให้คนจีนตื่นจากการนอนหลับ ให้เข้าใจระบบการปกครองที่ล้มเหลวของรัฐบาลแมนจู ราชวงศ์ชิง นับเป็นการแสดงออกอย่างชัดเจนว่าเขาเตรียมพร้อม

(น.276) สำหรับการต่อสู้ที่ยาวนาน ในประเทศจีนเองขณะนั้นก็มีสมาคมรักชาติต่าง ๆ มากมาย ที่สำคัญคือ กลุ่มของดร.ซุนยัดเซ็น หลู่ซุ่นกลับประเทศจีนในปลาย ค.ศ. 1909 เป็นอาจารย์ที่อำเภอเช่าซิงและที่หังโจว เขาใช้เวลาส่วนใหญ่วิจัยด้านวรรณกรรม ค.ศ. 1911 เกิดการปฏิวัติที่เรียกกันว่าการปฏิวัติในปีซินไฮ่ มีการตั้งรัฐบาลชั่วคราวที่นานกิง ค.ศ. 1912 หลู่ซุ่นได้เข้าทำงานกระทรวงศึกษา แล้วย้ายไปอยู่ปักกิ่ง ใน ค.ศ. 1915 ที่ปักกิ่งเขาตีพิมพ์บทความชื่อ บันทึกประจำวันของคนบ้า จากนั้นได้ใช้นวนิยายและสารคดีเป็นเครื่องมือโจมตีรัฐบาล ช่วงที่หลู่ซุ่นโจมตีรัฐบาลด้วยวรรณกรรมนี้นักปฏิวัติคนอื่น ๆ เช่น เฉินตู๋ซิ่ว (ค.ศ. 1879 – 1942) หลี่ต้าเจา (ค.ศ. 1889 – 1927) และ หูชื่อ (ค.ศ. 1891 – 1962) รวมกันก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นพวกที่ทำงานมวลชนมากแต่ไม่ใช่นักเขียน ต่อจากนั้นหลู่ซุ่นเขียนเรื่องยา เรื่องอวยพร ในค.ศ. 1921 เขียนเรื่องประวัติอาคิว เขาใช้ตัวเอกในเรื่องชื่ออาคิว แสดงปัญหาที่คนจีนในสมัยนั้นยังมีความคิดที่ล้าหลัง เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาบ้านเมือง ค.ศ. 1926 หลู่ซุ่นย้ายไปเซี่ยเหมิน (เอ้หมึง) สอนที่มหาวิทยาลัยเซี่ยเหมิน ค.ศ. 1927 ย้ายไปอยู่กว่างโจว ซึ่งเป็นดินแดนที่มีแรงแห่งการปฏิวัติอยู่ทุกหย่อมหญ้า เพราะกว่างโจวเป็นที่พักของพ่อค้าและทหาร เขาเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยจงซาน

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 315

แม่น้ำแยงซี
แม่น้ำสายนี้เรียกชื่อภาษาจีนว่า ฉางเจียง (Chang Jiang) แปลว่า แม่น้ำยาว คำว่า แยงซี (Yangtze, Yangze Kiang) ได้ชื่อมาจากรัฐโบราณชื่อ Yang (เข้าใจว่าอยู่ตอนล่างของแม่น้ำ) การนำมาใช้เป็นชื่อของแม่น้ำตลอดสาย ชาวตะวันตกเป็นผู้ริเริ่มขึ้นก่อน เดิมมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Blue River แต่ที่จริงไม่ค่อยตรง เพราะโดยมากสีเป็นสีกาแฟใส่นม ตอนต้น ๆ เท่านั้นที่ใสเรียกเป็นแม่น้ำเขียวหรือฟ้าได้ แม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศจีนและของทวีปเอเชีย ยาวเป็นที่สี่ของโลก
- ความยาวตลอดสาย 3,434 ไมล์ (5,525 กิโลเมตร)
- เขตลุ่มน้ำ ยาว 2,000 ไมล์ จากตะวันตกไปตะวันออกกว้างมากกว่า 600 ไมล์
- ไหลผ่านมณฑลต่าง ๆ ตลอดมณฑลหรือบางส่วน รวม 12 มณฑล
- มีแควใหญ่ไหลลงสู่แม่น้ำทั้งหมด 8 แคว ลุ่มน้ำแยงซีเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเมืองจีน ผลผลิตทางการเกษตรประมาณครึ่งหนึ่งของจีน ได้จากลุ่มน้ำแยงซี เฉพาะข้าวนับเป็น 70

(น.315) เปอร์เซ็นต์ของที่จีนผลิตได้ พืชผลอื่น ๆ คือฝ้าย ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ถั่ว เฮมป์ เมืองใหญ่ตามลุ่มน้ำคือ เซี่ยงไฮ้, นานกิง, อู่ฮั่น, ฉงชิ่ง เมืองเหล่านี้มีประชากรเกินล้านคน เขตลุ่มน้ำ มีประชากรสองร้อยล้านคน ลักษณะทางกายภาพ ต้นน้ำ ไหลผ่านที่ราบสูงทิเบต ประชากรส่วนมากทำการเกษตรรายย่อย อากาศอบอุ่นในฤดูร้อน หนาวในฤดูหนาว เวลาเพาะปลูกประมาณ 4 – 5 เดือน ผู้คนที่อยู่ในเขตนี้มีชาวทิเบตเป็นส่วนใหญ่ นอกนั้นเป็นชาวจีน เนปาล อินเดีย บ้างเล็กน้อย เขตเขาสูงทางตะวันตกเฉียงใต้ มีชาวจีนเป็นส่วนมาก อาชีพทำการเกษตรรายย่อยเช่นกัน ต้นน้ำมีสองแห่ง อยู่ในภูเขา Tang-ku-la Shan-mo เขตที่เป็นต้นน้ำ สูง 18,000 ฟุต (5,500 เมตร) จากระดับน้ำทะเล และต้นน้ำหลัก (อยู่ทางใต้) ชื่อ Ulan Muren (ภาษาทิเบต) แม่น้ำในช่วงนี้ไหลผ่านที่ราบหุบเขากว้าง ๆ ไม่ลึกนัก มีทะเลสาบ บึงบ้างพอสมควร ลักษณะแม่น้ำมาเปลี่ยนมากเมื่อสุดแดนที่ราบสูงทิเบตทางตะวันออก เพราะระดับพื้นที่ต่ำลงอย่างรวดเร็ว แม่น้ำไหลผ่านภูเขา Pa-yen-k’a-la Shan คดเคี้ยวไปมาตามโตรกเขา เกิดเป็นหุบเขาแคบ ๆ ลึกประมาณ 1 – 2 ไมล์ ยอดเขาแต่ละยอดสูงเกิน 16,000 ฟุต มีธารน้ำแข็งและหิมะปกคลุมอยู่ตลอดปี จากนั้นแม่น้ำไหลไปทางตะวันออกเฉียงใต้ แล้วไหลลงไปทางใต้