Please wait...

<< Back

ถ้ำตุนหวง

จากหนังสือ

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 1 ปักกิ่ง
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 1 ปักกิ่ง หน้า 34

(น.34) ภาพที่ได้จากถ้ำตุนหวงนำมาซ่อมแซม แต่ก่อนแตกเป็นชิ้นๆ วิธีการซ่อมแซมก็เป็นไปตามหลักคือ ส่วนไหนที่ซ่อมแซมขึ้นใหม่ก็ใช้กระดาษสีต่างจากของเดิมเพื่อให้รู้ว่าเป็นส่วนที่ซ่อมใหม่ ภาพที่ดูเป็นภาพพระเรียงเป็นแผง เอกสารจากตุนหวง ซึ่งขณะพบมีรอยเปื้อนน้ำมัน (ชนิดที่ใช้จุดตะเกียง เขาเข้าใจว่าคนมือเปื้อนน้ำมันนี้แล้วมาจับเอกสาร) ทางหอสมุดก็ซ่อมแซมโดยใช้กระดาษแปะเช่นเดียวกัน เนื้อหาของเอกสารนี้เป็นจดหมายเหตุเก่าแก่ของจีนตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว

ย่ำแดนมังกร
ย่ำแดนมังกร หน้า 26

(น.26) หลังจากนั้นเป็นการแสดงระบำ 2 ชุด ชุดแรกเป็นระบำชาติ มองโกล อีกชุดเป็นระบำเลียนแบบภาพฝาผนังถ้ำ ตุนหวง ในมณฑล กานซู ซึ่งเป็นภาพเขียนทางพุทธศาสนา เขียนขึ้นในสมัย ราชวงศ์ถัง เมื่อการแสดงจบแล้ว เดินออกมามีพวกเด็กๆ กระโดดโลดเต้นส่งอีก ได้มอบหนังสือชุดเกี่ยวกับเมืองไทยและหัวโขนให้แก่วังอนุชน ในรถได้สนทนากับภรรยาท่านหันเนี่ยนหลง ท่านได้ กล่าวว่าทางจีนมีนโยบายจะสอนเด็กๆให้รู้จักใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในขณะที่พ่อแม่ทำงานและไม่มีเวลาดูแลลูก พวกลูกๆ

มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 53-55,65-66

(น.53) เวทีแสดงละครก็ได้ มีที่ตั้งวงดนตรี ระหว่างที่เราเดินดูก็เห็นมีประชาชนมาดู เขาเปิดเสียงอธิบายเป็นภาษาจีนอยู่ตลอด ขึ้นลิฟท์ไปห้องมณฑลส่านซี จุดเน้นของห้องนึ้คือสุสานของจิ๋นซีฮ่องเต้ เรื่องราวสมัยราชวงศ์ถัง รูปนางสนมหยางกุ้ยเฟยซึ่งเป็นบุคคลที่สวยงามมาก จักรพรรดิถังเสวียนจงมัวแต่หลงใหลนางจนกระทั่งต้องเสียบ้านเสียเมือง ไก๊ด์อธิบายว่าสตรีในสมัยราชวงศ์ถังนั้นจะต้องอ้วน หน้ากลมจึงจะถือว่าเป็นสาวงาม มีลายผ้าปักแบบส่านซี มีภาพวาดเมืองเยียนอัน ซึ่งเป็นที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์ในสมัยต่อต้านญี่ปุ่น ลงไปอีกชั้นดูห้องกานซู แนวการให้สีของห้องนี้จะออกเป็นสีเหลืองของทะเลทราย ภาพวาดบนฝาผนัง จะทำตามลีลาของภาพผนังที่ถ้ำตุนหวง


(น.54) รูป 49. ห้องซินเกียง ทิวทัศน์ทะเลสาบเทียนฉือบนเขาเทียนซาน (บริเวณนี้แหละที่มีบัวหิมะ)
Xinjing chamber showing scenery of Tianshi Lake on the Tianshan Mountain. It is the area where the "Snow Lotus" grows.


รูป 50. ห้องกวางตุ้ง แสดงวิถีชีวิตที่กระตือรือร้นของชาวกวางตุ้ง
Guangsong chamber representing by the energetic lifestyle of the people of that province.

(น.55) ทั้งพรม เฟอร์นิเจอร์ในห้องสีออกเหลือง เขานำภาพวาดตุนหวงมาประยุกต์แบบปัจจุบัน แสดงรูปชนกลุ่มน้อย เส้นทางแพรไหม วิวัฒนาการชาวกานซูในอดีตถึงปัจจุบัน มีภาพทำด้วยทองสำริดเป็นรูปนางฟ้าตามแบบตุนหวง
(น.65) ข้าพเจ้าถามว่านอกจากศาสนาพุทธแล้วได้ยินว่ามีอีกหลายศาสนามีร่องรอยทางโบราณคดีเหลืออยู่บ้างไหม ผู้อำนวยการอธิบายว่า ศาสนาพุทธมีอิทธิพลมากที่สุด นอกนั้นมีคริสต์นิกายเนสโตเรียน อิสลาม มานีเคียน (Manichaeanism) ลัทธิโซโรอาสเตอร์ (Zoroastrianism-ไหว้ไฟ) และลัทธิเต๋าของจีน มีจารึกเหลืออยู่ เมื่อพูดถึงเรื่องศาสนามานีเคียนนี้หลาย ๆ หน ก็เพิ่งจะนึกออกว่าตอนที่ไปฝรั่งเศสไปเที่ยวทางเขตภูเขาปิเรเน่ส์ มาดามบอนเนอวาลที่พาไปเล่าว่ามีลัทธิศาสนาคริสต์แบบนอกรีตนอกรอย เป็นความเชื่อที่ผสมกันระหว่างคริสต์กับลัทธิมานีเคียน ลัทธินี้มาปรากฏที่จีนอีก และมีผู้กล่าวถึงหลายครั้ง กลับมาจากจีนข้าพเจ้าจึงมาเปิดดูใน The Encyclopedia of Religion มีคำอธิบายยืดยาวพอจะสรุปได้ดังนี้ ศาสดาเจ้าลัทธินี้เกิดประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 3 ในเมโสโปเตเมีย มีคำสอนว่าโลกนี้ถูกครอบงำโดยวิญญาณที่ชั่วร้าย จะต้องเอาชนะความชั่วอันดำมืดนี้ด้วยแสงสว่าง ความเชื่อแบบนี้พบมากในศาสนาของเปอร์เซีย คัมภีร์ศาสนานี้พบมากแถวเมืองทู่หลู่ฟันในซินเกียง และที่ถ้ำตุนหวงเขียนเป็นภาษาเปอร์เซียสมัยกลาง ภาษาปาเถียน ภาษาจีน และภาษา
(น.66) เววูเอ๋อร์

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 168

(น.168) อุบาสกอุบาสิกาอวยพร ระหว่างสวดมีการตีมู่หยูว (ปลาไม้) ล่อโก๊ะ กลอง เป็นจังหวะ สวดจบหนึ่งก็ให้ไปจุดธูป ท่านเจ้าอาวาสก็ลงนั่งกราบแล้วลุกยืน แล้วกราบใหม่ 3 หน สวด 3 จบ เสร็จพิธีท่านพามานั่งสนทนาในห้องรับแขก (ระหว่างนี้พวกลูกคู่ยังสวดต่อไปเรื่อย ๆ) บนโต๊ะมีขนม และผลไม้ให้รับประทาน นายกพุทธสมาคม (กลุ่มศาสนามณฑลกานซู) กล่าวนำว่าการที่ข้าพเจ้าเดินทางตามเส้นทางแพรไหมนี้ก็มีส่วนเกื้อกูลความเข้าใจระหว่างพุทธศาสนิกชนไทย – จีน และขอให้ท่านเจ้าอาวาสเล่าประวัติของวัด ท่านเจ้าอาวาสกล่าวต้อนรับและอวยพร แล้วเล่าว่าการก่อสร้างวัดนี้อยู่ในระหว่างราชวงศ์หมิงและชิง ถ้าจะสอบประวัติก็ยากเพราะวัดถูกทำลายหลายครั้ง ไม่มีตำราเขียนเอาไว้เพิ่งบูรณะเมื่อ ค.ศ. 1988 เปิดให้พุทธศาสนิกชนมาบูชา เคยได้ต้อนรับพุทธศาสนิกชนจากญี่ปุ่น ได้รับพระพุทธรูปเป็นของขวัญจากพุทธศาสนิกชนชาวจีนโพ้นทะเลในพม่า ช่วงเวลานี้กำลังบูรณะห้องโถงใหญ่ ฉะนั้นการรับรองอาจจะดีไม่พอ พุทธศาสนิกชนที่นี่เมื่อทราบว่าข้าพเจ้าจะมาก็สวดมนต์อวยพรให้เดินทางโดยสวัสดิภาพ จีนกับไทยติดต่อไปมาหาสู่กันมาแต่โบราณ การเดินทางครั้งนี้มีความหมาย เพราะเราเป็นชาวตะวันออกด้วยกันควรจะเกื้อกูลกัน แล้วท่านก็มอบของขวัญให้ข้าพเจ้า เป็นส่วนหนึ่งของคัมภีร์ที่พระถังซำจั๋งแปล ภาพพิมพ์ความฝันจากถ้ำตุนหวง เจ้าแม่กวนอิม พระลามะก็ให้ผ้าสีเหลืองคล้องคอตามธรรมเนียม วัดนี้มีทั้งพุทธมหายาน ลัทธิลามะ และลัทธิเต๋า รวม ๆ กัน

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 220-234

(น.220) พอไปถึงที่หมาย อาจารย์ต้วน (ที่เคยไปอธิบายให้ที่หลานโจว และตามเรามาตลอดทาง) คอยต้อนรับ คุณเฉิงเล่า (ตั้งแต่ในรถ) ว่าอาจารย์ต้วนทำงานอยู่ที่ถ้ำนี้มา 40 กว่าปี เมื่อ 3 ปีก่อนภรรยาเสียก็ฝังอยู่แถวๆ นี้เอง ที่ถ้ำโมเกานี้มีนักโบราณคดีมาทำงานอยู่หลายคน เช่นคนหนึ่งชื่อฟั่นจิงชือ เป็นผู้หญิง จบคณะโบราณคดีมาจากมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น ทำงานที่นี่ 30 ปี มีลูก 2 คน อยู่ปักกิ่ง พวกนักโบราณคดีที่เสียสละเรื่องส่วนตัวมาอยู่กันคนละนานๆ มีอิทธิพลมากในหมู่ประชาชน รัฐบาลก็มีความสนใจมาก พยายามอำนวยความสะดวกในเรื่องความเป็นอยู่ให้ อาจารย์ต้วนเขาก็ว่าอายุ 74 ปีแล้ว มีเวลาน้อยที่จะทำงานจึงยิ่งเร่งการทำงาน เวลานี้ได้รวบรวมข้อมูลภาพฝาผนังเขียนเป็นหนังสือ ตั้งพิพิธภัณฑ์ถ้ำตุนหวง ขณะนี้คนมาเยี่ยมชมมากเกินไปถ้ำชำรุด ถ้ามีพิพิธภัณฑ์ก็จะช่วยระบายคนได้มาก กำลังร่วมมือกับญี่ปุ่นในด้านวิชาการ อาจารย์ต้วนมาต้อนรับและแนะนำบุคคลต่างๆ ที่ร่วมงานกันมา แล้วพาเข้าไปนั่งดื่มน้ำชาในห้องรับแขก กล่าวต้อนรับในนามสถาบันวิจัยถ้ำตุนหวง กล่าวถึงศิลปกรรมที่ถ้ำแห่งนี้เป็นมรดกตกทอดของจีนและทั่วโลก ถ้ำนี้สร้างใน ค.ศ. 366 ใช้เวลาถึง 10 ราชวงศ์ จนถึงปลายราชวงศ์หยวน เป็นเวลารวมแล้วพันกว่าปี ในปัจจุบันรักษาไว้แบบธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์นี้ต่างประเทศจะเทียบก็ไม่ได้ ถือว่ารักษาสมบูรณ์ที่สุดในโลก ถ้ำนี้รักษาวัฒนธรรมพุทธศาสนา ทั้งในด้านภาพเขียนฝาผนังและประติมากรรม ดูแล้วจะเห็นวิวัฒนาการผสมผสานของวัฒนธรรมจีน วัฒนธรรมซินเกียง วัฒนธรรมภาคตะวันตก วัฒนธรรมเอเชียใต้ เอเชียตะวันตก นักวิชาการล้วนกล่าวว่าตุนหวงเป็นจุดผสมผสานวัฒนธรรมจีนกับประเทศทางตะวันตก ศิลปกรรม


(น.221) รูป 141. ภายนอกถ้ำตุนหวง
Outside of Dunhuang caves.

(น.221) ที่มีอยู่นี้สะท้อนประวัติศาสตร์จีนหลายยุคหลายสมัย ชนชั้นต่างๆ และชนชาติต่างๆ ของจีนในขณะนั้น ในถ้ำที่ 17 ได้พบคัมภีร์และเอกสาร 4-5 หมื่นเล่ม เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม และวิชาการของจีน คัมภีร์และเอกสารเหล่านี้ถูกนำไปต่างประเทศเสียเกือบ 80% ไปอยู่ในอังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมัน สหรัฐ ญี่ปุ่น และอินเดีย ในโลกนี้เกิดมีวิชาตุนหวงมาได้กว่า 80 ปีแล้ว
(น.222) สมาคมวิชาตุนหวงได้จัดสัมมนาวิชาการตุนหวงหลายครั้ง แต่จัดในต่างประเทศ เมื่อ 10 ปีมานี้จึงมาจัดในประเทศต้นกำเนิด หลังจากจีนใหม่ได้สถาปนาขึ้นมา รัฐบาลจีนสนใจและให้ความสำคัญต่อวัฒนธรรมตุนหวง ทำให้รักษาได้ดี มีการค้นคว้ามาก งานศึกษาวิธีอนุรักษ์ได้เข้าสู่เวทีสัมมนาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในเวลา 10 ปีที่มีการปฏิรูปเปิดประเทศ การค้นคว้ายิ่งรุดหน้าไปรวดเร็ว ปี 1987 จัดการสัมมนาระหว่างประเทศที่ถ้ำโมเกา การสัมมนาได้รับผลสำเร็จทางวิชาการมาก ในเดือนตุลาคมปีนี้ (2533) จะจัดการประชุมนานาชาติในถ้ำเป็นครั้งที่ 2 จะเชิญนักวิชาการ 15 ประเทศมาร่วมสัมมนา จะต้องขออภัยที่สถาบันไม่ทราบว่าเมืองไทยมีผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำตุนหวงหรือไม่ ถ้ามียินดีจะเชิญ วิชาตุนหวงเป็นวิชาที่กว้างขวางมาก คือ
1. วิจัยถ้ำ
2. วิจัยตำราประวัติศาสตร์
3. ประวัติเส้นทางสายแพรไหม
วัฒนธรรมถ้ำเป็นวัฒนธรรมพุทธศาสนา ฉะนั้นน่าจะมีคนไทยสนใจ
จะขอแนะนำสถาบันอย่างคร่าวๆ ว่ามีการทำงานมาตั้งแต่ก่อนสมัยปลดปล่อย โดยตั้งเป็นสถาบันวิจัยศิลปกรรม เมื่อปลดปล่อยแล้วขยายเป็นสถาบันวิจัยศิลปกรรมและโบราณคดี คุ้มครองรักษาวัตถุโบราณ ใน ค.ศ. 1984 ทางการจึงขยายให้เป็นสถาบันวิจัยตุนหวง แบ่งออกเป็น 5 สาขา คือ
1. การบำรุงรักษาถ้ำ
2. โบราณคดี ค้นคว้าว่าถ้ำสร้างในสมัยใด สัมพันธ์กับต่างประเทศอย่างไร
(น.223)
3. ศิลปกรรม ทั้งด้านจิตรกรรมและประติมากรรม (ด้านลวดลาย)
4. การศึกษาเอกสารต่างๆ ทั้งด้านประวัติศาสตร์ การเมือง เศรษฐกิจ ดาราศาสตร์ การแพทย์ เป็นต้น
5. เรื่องดนตรีและการฟ้อนรำ ดูจากแผนที่แสดงวิวัฒนาการของวัฒนธรรมการแสดงทุกยุคทุกสมัย
สถาบันมีพนักงาน 210 คน มีนักวิจัย 100 กว่าคน 26 คนเป็นศาสตราจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ กิจกรรมยังอยู่ในช่วงพัฒนา จะเล่าให้ฟังตอนที่เข้าดูถ้ำ จากนั้นนั่งรถไปถ้ำ เห็นเจดีย์โบราณมากมาย คุณเฉิงบอกว่าเป็นที่ฝังศพพระสมัยก่อน อาจารย์ต้วนอธิบายว่ามีเวลาน้อย ถ้ำทั้งหมดมีอยู่ 492 ถ้ำ แต่จะให้ดูได้แค่ 8 ถ้ำ (เวลาดูจริงๆ อาจารย์เพิ่มให้เป็น 10 ถ้ำ) เฉพาะที่ท่านคิดว่าข้าพเจ้าจะสนใจ เช่น พระพุทธรูปสมัยอู่เจ๋อเทียน (บูเช็กเทียน) แต่ก็บูรณะกันมาจนไม่เหมือนเดิมไปแล้ว พระพุทธรูปองค์นี้ใหญ่เป็นที่ 4 ของโลก องค์ที่ 1 อยู่ที่เขาลั้วซาน เสฉวน สูง 70 กว่าเมตร องค์ที่ 2 สูง 53 เมตร อยู่อัฟกานิสถาน องค์ที่ 3 อยู่ที่ปามีร์ ปากีสถาน สูง 35 เมตร องค์ที่ 4 คือองค์นี้ สูง 33 เมตร สร้างสมัยราชวงศ์ถัง มีระเบียงสำหรับเดินเข้าไปในถ้ำ สมัยก่อนเป็นไม้แต่ผุพังไปหมดแล้ว ซ่อมแซมใหม่เป็นซีเมนต์ บูรณะประมาณ ค.ศ. 1960 กว่าๆ อดีตนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลให้งบประมาณถึงล้านหยวน เฉลียงที่สร้างขึ้นใหม่จะมีความมั่นคง ทนแผ่นดินไหวระดับที่ 7 ได้ ถ้ำมี 4 ชั้น ก่อนอื่นเราเข้าไปที่ถ้ำ 158 ถ้ำนี้มีทั้งสมัยราชวงศ์ถังตอนกลางและราชวงศ์เซี่ย มีพระนอนองค์ใหญ่ ด้านหลังพระนอนปางปรินิพพานหัน


(น.224) รูป 142. บริเวณถ้ำตุนหวงเป็นแหล่งศึกษาศิลปะวิทยาการต่างๆ จะมีวิชาการที่เรียกว่าวิชาตุนหวง
Because Dunhuang caves provide such an immense source of materials for studying arts and other related sciences, the area has become a research centre, and the studies of Dunhuang materials have come to be know as Dunhuangology.

(น.224) พระเศียรทางทิศใต้ มีรูปพระสาวกที่สำเร็จมรรคผลแล้วก็สงบนิ่งอยู่ ส่วนพระสาวกที่ยังเป็นปุถุชนก็ร่ำไห้อาลัยรักองค์สมเด็จพระบรมศาสดา ภาพรายละเอียดในถ้ำนี้น่าสนใจมาก มีเรื่องกษัตริย์ต่างๆ ที่ทราบข่าวก็มาเพื่อถวายบังคมพระบรมศาสดา ดูจากหน้าตาและการแต่งกายเป็นทิเบต จีน คนกลุ่มน้อยทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ พวกคาซัก ชาวทูโป๋ (ทิเบต) ผู้หนึ่งเสียใจที่พระพุทธเจ้าปรินิพพานเลยแทงตัวตาย ชาวเอเชียกลางตัดหู เป็นธรรมเนียมของเขาว่าผู้ที่ตนรักเคารพ เช่น พ่อ แม่ ตายต้องตัดหูตัดจมูกหรือกรีดหน้า ตรงฐานชุกชีมีภาพคนตีลังกา อธิบายว่าเป็นคนต่างศาสนากระโดดโลดเต้นดีใจที่พระพุทธเจ้าปรินิพพาน เพดานทำเป็นภาพสวรรค์ ทางทิศตะวันตก ตามคติทางพุทธศาสนาไม่ทราบว่าตามคัมภีร์อะไร อาจารย์ต้วนไม่ได้บอก อาจจะเป็นสวรรค์ของ
(น.225) พระอมิตาภะ ในคัมภีร์สุขาวตีวยูหะก็ได้ (ข้าพเจ้าคิดเอง) ภาพพระพุทธเจ้าประจำ 4 ทิศ
ถ้ำที่ 130 มีพระพุทธรูปถังปางมารวิชัย สร้างขึ้นในปีที่ 7 ของรัชกาลที่ 7 (ถังเสวียนจง) พระพุทธรูปนี้ไม่ได้ซ่อมแซม นอกจากที่พระหัตถ์นิดหน่อย ข้างๆ เขียนรูปพระโพธิสัตว์ ราชวงศ์ถัง (หน้าดำ) สูงประมาณ 10 เมตร ถือว่าเป็นภาพฝาผนังที่สูงที่สุด รัศมีของพระพุทธรูปเป็นลายสมัยซีเซี่ย อาจารย์ต้วนเล่าว่าในตอนแรกพระพุทธรูปองค์นี้ปิดทองทั้งองค์ แต่ถึงราชวงศ์ชิงมีขโมยมาขโมยทองไป สังเกตว่าพระพุทธรูปในสมัยราชวงศ์ถังจะแสดงความอุดมสมบูรณ์ แข็งแรง และสง่างาม
ถ้ำที่ 220 ดูนายช่างกำลังลอกภาพ ถ้ำนี้สร้างในปีที่ 16 แห่งรัชกาลพระเจ้าถังไท่จง
ถ้ำที่ 217 เป็นถ้ำราชวงศ์ถังในสมัยที่เจริญที่สุด การเขียนลายละเอียดมาก มีสีมากขึ้น แสดงสวรรค์ในพุทธศาสนา ตามคัมภีร์ฝ่าหัวจิง
(น.226) (สัทธรรมปุณฑริก?) มีใจความว่าพระพุทธเจ้าทรงเกื้อกูลประชาชนทั่วทั้งปฐพี เบิกลู่ทางให้สัตว์โลกทั้งปวงให้ล่วงพ้นภัยในวัฏสังสาร ภาพที่เขียนประกอบเป็นภาพผู้ที่เลื่อมใสในพุทธศาสนาขอคัมภีร์ภาพพุทธประวัติตอนเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ ข้อที่ควรสังเกตคือการเขียนรูปพระได้อย่างมีชีวิตชีวา แฝงลักษณะของคนจีนไว้ ออกมาข้างนอกเพื่อเดินลงมาชั้นล่าง อาจารย์ต้วนอธิบายว่าถ้ำนี้สมัยราชวงศ์ถังทำเป็น 3 ชั้น สมัยอู่ใต้ (ห้าราชวงศ์) เป็น 5 ชั้น ราชวงศ์ชิง เพิ่มเป็น 9 ชั้น
ถ้ำที่ 96 เป็นถ้ำพระพุทธรูปที่ว่าสูงเป็นที่ 4 อนุญาตให้ประชาชนเข้าบูชาได้ แต่เดิมไม่อนุญาต คนก็โยนเงินบริจาคเอาไว้ แล้วก็มีคนมาเก็บ ดูไม่เข้าที ก็เลยตั้งตู้เผื่อจะได้เงินไปบูรณะ
ถ้ำที่ 254 สมัยก่อนราชวงศ์ถัง มีพระพุทธรูปสมัยราชวงศ์เป่ยเว่ย สร้างประมาณในช่วง ค.ศ. 439-534 ประทับขัดสมาธิหลวมๆ หรือห้อยพระบาท ภาพผนังในถ้ำเป็นเรื่องนิทานชาดก อาจารย์ต้วนบอกว่ามาจากคัมภีร์บารมี 6 หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า ลิ่วตู้จี๋จิง เราได้ดูภาพชาดกในถ้ำนี้ 2 เรื่อง เรื่องแรกมีนิทานอยู่ว่า มีนายพราน 3 พี่น้องเดินทางไปในป่าพบเสือแม่ลูกอ่อนมีลูก 6 ตัวกำลังหิวโหยแทบจะอดตาย พี่สองคนหนีไปแต่น้องคนเล็กสงสาร จึงขึ้นไปโดดหน้าผาตาย เพื่อเป็นอาหารของเสือแม่ลูกอ่อนนั้น พี่กลับมาเห็นเสียใจมาก นำบิดามารดามาเก็บกระดูก และสร้างเจดีย์เอาไว้


(น.227) รูป 143. เราไปดูหลายห้อง ก็ยังมีที่น่าดูอีกมาก แต่ไม่มีเวลา
We visited several chambers. There were still more caves worth seeing but we did not have enough time to see all of them.

(น.227) ได้ทราบว่าภาพเขียนเรื่องนี้มีชื่อเสียงมากในด้านจิตรกรรม นักเรียนที่เรียนวิชาศิลปะต้องมาดู แต่ที่ข้าพเจ้าดูไม่ค่อยจะเห็นอะไร เพราะมืดและภาพชำรุดปาก
(น.228) อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่อง ชือฟีหวาง หรือเรื่องพระเจ้ากรุงสีวี ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ผู้เปี่ยมด้วยพระมหากรุณาธิคุณแก่ปวงประชาราษฎร์ วันหนึ่งขณะเสด็จประพาสป่า ได้ทอดพระเนตรเห็นเหยี่ยวใหญ่กำลังไล่นกพิราบตัวน้อย นกพิราบหนีเข้าซุกซ่อนอยู่บนพระเพลา พระราชาสีวีตรัสขอชีวิตนกพิราบไว้ แต่เหยี่ยวโต้แย้งว่า “แม้ข้าพเจ้ามิได้บริโภคนกพิราบนี้แล้วชีวิตของข้าพเจ้าก็ต้องจบสิ้นเป็นแน่” พระสีวีราชจึงทรงทำข้อตกลงจะทรงสละพระโลหิต และพระมังสามีน้ำหนักเท่านกพิราบแก่เหยี่ยว กล่าวกันว่านกพิราบเป็นเทวดามาลองพระทัย หรือมาช่วยให้ได้บำเพ็ญบารมี จึงเพิ่มให้มีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ จนพระเจ้าสีวีต้องลงไปประทับในตาชั่งทั้งพระองค์ ในภาพชือฟีหวางหรือพระเจ้ากรุงสีวีมีลักษณะเหมือนคนซินเกียง จะเป็นชนเผ่าคูเชอ หรือเววูเอ๋อร์ก็ไม่ทราบ ดูจากการแต่งกายประจำชาติ เรื่องทั้งสองนี้เป็นเรื่องชาดกแสดงทานปรมัตถบารมี คือการบำเพ็ญบารมีด้วยการให้ที่สูงสุด คือสละได้แม้แต่ชีวิตของตน ที่จริงแล้วบารมียังมีอีกหลายประการ ภาพในถ้ำเขียนแต่เรื่องสละตนเองเพื่อบุคคลอื่น ข้าพเจ้าสันนิษฐานเอาเองว่าการกระทำเช่นนี้คงจับใจคนจีนในยุคนั้นอยู่มาก เพราะสมัยเป่ยเว่ยบ้านเมืองมีศึกสงครามอยู่มากต้องการผู้นำที่มีความโอบอ้อมอารีและเสียสละ ไพร่พลจึงจะมีศรัทธา มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติการรบที่เสี่ยงภัย พระพุทธรูปในถ้ำก็เป็นปางมารวิชัยเช่นเดียวกัน ถ้ำที่ 257 สมัยเว่ยภาคเหนือ (ค.ศ. 386-534) มีนิทานชาดกเช่นเดียวกันเรื่องกวางเก้าสีจิ่วเส้อลู่ เรื่องมีอยู่ว่ามีนายพรานตกน้ำอยู่ในป่า กวางเก้าสีได้ยินคนร้องขอความช่วยเหลือก็ออกมาช่วย นายพรานผู้นั้นขอบคุณและสัญญาว่าจะพยายามตอบแทนบุญคุณ กวางบอกว่า “ท่านไม่ต้องตอบแทน
(น.229) อะไรข้าพเจ้าดอก เพียงแต่ว่าอย่าไปบอกใครว่าตัวข้าพเจ้าอยู่ที่แห่งใด” เมื่อนายพรานออกไปแล้ว กวางก็อยู่อย่างสงบสุขต่อไป (ในภาพเห็นกวางกำลังนอน) กล่าวถึงพระราชาองค์หนึ่ง มีพระมเหสีซึ่งบังเอิญทรงพระสุบินถึงกวางเก้าสี ขอพระราชทานให้ส่งคนไปจับกวางนั้นมาเพื่อนำหนังมาเป็นผ้าปูที่นอน แต่ไม่มีผู้ใดทราบว่าจะหากวางเช่นนี้ได้ที่ใด โปรดให้ประกาศไปให้ทั่วในหมู่ประชาชน นายพรานได้ยินคำประกาศก็เข้ามากราบทูลอาสา นำทางรอนแรมไปในภูเขา (ประทับรถมีเก๋ง) เมื่อทางแคบไม่มีทางให้รถเข้าไปได้ก็ทรงม้าไป กวางนอนอยู่อย่างสบายไม่ได้นึกระแวงภัย พอดีกวางมีสหายเป็นกา กาเห็นคนมาก็รีบบินมาปลุกให้กวางลุกขึ้น ขณะที่กวางตื่น พระราชาก็มาอยู่ตรงหน้าแล้วจึงทูลถามว่า “ผู้ใดนำเสด็จพระองค์มา ณ ที่นี้ได้” พระราชารับสั่งว่า “นายพรานผู้นี้เป็นผู้พามา” กวางก็เล่าเรื่องทั้งหมดถวายว่าชายผู้นี้เป็นคนเนรคุณ สุดท้ายพระราชาจึงทรงปล่อยกวางกลับไป นายพรานในเรื่องก็ได้รับกรรม อาจารย์ต้วนบอกว่าเป็นแผลพุพอง (ฝีดาษ) ผู้คนจึงรังเกียจ แสดงให้เห็นกฎแห่งกรรมในพุทธศาสนา ข้าพเจ้ากำลังคิดว่าจะแสดงข้อธรรมอะไรได้อีกก็ยังนึกไม่ออก ในอินเดียก็มีภาพชาดกเรื่องนี้ อาจารย์ต้วนบอกว่าในอินเดียกวางหมอบอยู่หน้าพระราชา แต่ช่างในจีนเห็นว่ากวางนี้ก็เป็นกวางโพธิสัตว์ไม่น่าจะต้องคุกเข่า อีกอย่างหนึ่งที่อาจารย์ต้วนอธิบายก็คือคนสงสัยว่าทำไมช่างเขียนหน้าพระราชาใช้สีดำ ที่จริงแล้วส่วนที่เป็นสีดำแต่ก่อนเป็นสีแดงเข้ม แต่เป็นสารตะกั่วพอถูกออกซิเจนก็จะเปลี่ยนสี ถ้ำที่ 275 เป็นถ้ำที่เก่าแก่ที่สุด เจ้าหน้าที่กำลังลอกรูปด้วยการดูแบบวัดขนาด และวาดในกระดาษ ถ้ำนี้สร้างสมัยเป่ยเหลียง (เป็นเผ่าฉยุงหนูในกานซู เป็น 1 ใน 16 แคว้น) มีอำนาจประมาณ ค.ศ. 401-439 รูป

Next >>