<< Back
ซีหนิง
จากหนังสือ
เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก
เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 268
(น.268) ข้าพเจ้าเตรียมจะไปทิเบต ถามว่าที่ทิเบตมีข้อมูลเกี่ยวกับโภชนาการบ้างหรือไม่ ดร.เก้อบอกว่ามีข้อมูล ค.ศ.1992 เฉพาะแต่ในเมือง บุคลากรสำหรับสำรวจไม่มี การส่งคนไปช่วยก็ยาก เพราะว่าการเดินทางไม่สะดวก
จะมีการประชุมใหญ่ด้านโภชนาการอีกครั้งในฤดูใบไม้ร่วง ค.ศ.2002
เดินทางไปทิเบต ถ้าไปชิงไห่ ไปซีหนิง (เมืองหลวงของมณฑล) สูงประมาณ 3,500 เมตร ไปลาซาจะต้องนั่งรถไป จากเฉิงตูมีทางไป (ตอนนี้ชักงงต้องหาข้อมูลว่าจริงๆ ไปได้ไหม) แถบๆ ลาซาก็มีศูนย์วิจัยต่างๆ เช่น เรื่องการสะสมของธารน้ำแข็ง ความร้อนจากพื้นดิน
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 59,69
(น.59) เราเดินทางต่อไปทะเลสาบชิงไห่ เป็นทะเลสาบน้ำเค็มที่ใหญ่ที่สุดในจีน มีเนื้อที่ 4,583 ตารางกิโลเมตร คนขับรถอธิบายว่ามีขนาดใหญ่กว่าพื้นที่ของฮ่องกงทั้งหมดถึง 4 เท่า (มีพื้นที่รวม 1,066 ตารางกิโลเมตร) ตอนเตรียมการเดินทางต้องตัดสินใจอยู่นานว่าจะดูอะไรๆ ใกล้ๆ เมืองซีหนิง ซึ่งยังมีที่น่าสนใจอีกหลายแห่ง หรือจะไปทะเลสาบ ซึ่งต้องนั่งรถไฟ 2-3 ชั่วโมง ทะเลสาบก็ดูจะไม่มีอะไรเป็นพิเศษนอกจากเป็นห้วงน้ำใหญ่ ในที่สุดก็ตัดสินใจไป เพราะเป็นเส้นทางสู่ทิเบตและเป็นสภาพภูมิศาสตร์ที่มีลักษณะพิเศษ
(น.69) ห้าโมงครึ่งกลับถึงซีหนิงรู้สึกว่าเร็วกว่าขาไป
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 84
(น.84) ที่หมายต่อไปเป็นมัสยิดตงกวน ชื่อตงกวน แปลว่า ด่านทิศตะวันออกของเมืองซีหนิง เป็นบริเวณที่มีชนเผ่าหุย ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามอาศัยอยู่มาก มัสยิดนี้สร้างสมัยราชวงศ์หมิง เมื่อ 600 กว่าปีมาแล้ว ถูกไฟไหม้สมัยราชวงศ์ชิง สร้างขึ้นใหม่ใน ค.ศ. 1914 ใน ค.ศ. 1946 ได้สร้างเพิ่มเติม บูรณะอีกครั้งใน ค.ศ. 1998 เพื่อให้มีประโยชน์ใช้สอย เหมาะสมกับการที่เป็นมัสยิดในเมือง ทุกวันศุกร์มีคนมาทำพิธีมากมาย ในเทศกาลสำคัญมีชาวมุสลิมจากทั่วทุกสารทิศมาทำบุญ ที่แปลกคือ อาคารหลัก มีรูปร่างเป็นอาคารแบบจีนโบราณ