Please wait...

<< Back

คุนหมิง

จากหนังสือ

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 14

(น.14) ยุคที่ 5 สมัยสหมหาวิทยาลัยแห่งชาติตะวันตกเฉียงใต้ (National Southwest Association University) ค.ศ. 1937-1946 เป็นช่วงระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 จีนถูกญี่ปุ่นรุกราน เมื่อเกิดสงครามต่อต้านญี่ปุ่น (เริ่ม 7 กรกฎาคม ค.ศ. 1937) เริ่มที่สะพานมาร์โคโปโล รวมมหาวิทยาลัยหนานไค (ที่เทียนสิน) มหาวิทยาลัยปักกิ่งและมหาวิทยาลัยชิงหัวอพยพไปที่นครฉางซา มณฑลหูหนาน ตั้งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งชาติเฉพาะกาล ในที่สุดอพยพไปอยู่ที่นครคุนหมิง มณฑลยูนนาน จึงได้ชื่อว่า สหมหาวิทยาลัยแห่งชาติตะวันตกเฉียงใต้ ยุคนี้เป็นยุคที่น่าศึกษา เพราะเป็นช่วงที่มหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จมาก ถึงจะยากลำบากเพราะการย้ายสถานที่ ขาดแคลนอุปกรณ์ เขาแสดงรูปห้องสมุดสมัยนั้น เอาหนังสือใส่หีบตั้งซ้อนๆ กัน สมัยนั้นมีศาสตราจารย์ที่มีชื่อหลายท่าน เช่น ศาสตราจารย์เหวินยี่ตัว นอกจากสอนมหาวิทยาลัยแล้ว ต้องไปสอนโรงเรียนมัธยม และหารายได้เพิ่มเติมด้วยการแกะตรา มหาวิทยาลัยมีผลงานมากมาย เช่น สร้างบัณฑิตทางวิทยาศาสตร์ 163 คน นักวิทยาศาสตร์ 2 คน คือ หลี่เจิ้งเต้า และหยังเจิ้นหนิง ได้รับรางวัลโนเบล
ยุคที่ 6 มหาวิทยาลัยปักกิ่งกลับคืนสู่ปักกิ่ง (ค.ศ. 1946-1949) อธิการบดีชื่อ หูซื่อ ขยายสาขาวิชาจากที่มีอักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์และกฎหมาย เพิ่มสาขาวิชาแพทย์ และเกษตร
ยุคที่ 7 สมัย 17 ปีแรกของสมัยสาธารณรัฐประชาชนจีน (ค.ศ. 1949-1966) ป้ายชื่อมหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นลายมือประธานเหมา ใน ค.ศ. 1952 ปรับปรุงหลักสูตร เพิ่มภาควิชาต่างๆ เนินวิชาการด้านวิทยาศาสตร์และอักษรศาสตร์ ย้ายที่ตั้งมาอยู่ ณ ที่ปัจจุบัน รวมกับมหาวิทยาลัยเยี่ยนจิง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยของอเมริกัน ทั้ง 2 มหาวิทยาลัยมีส่วนร่วมในการพัฒนาวิทยาการ รวมทั้งการผลิตอาวุธนิวเคลียร์

เย็นสบายชายน้ำ
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 3,5,9,14

(น.3) วันพุธที่ 14 สิงหาคม 2539 เราเดินทางออกจากกรุงเทพฯ โดยสายการบินไทย เที่ยวบิน TG 612 ไปยังนครคุนหมิง ใช้เวลาบินประมาณ 2 ชั่วโมง 5 นาที รับประทานอาหารกลางวันในเครื่องบิน ประมาณ 14.10 น. (เวลาของคุนหมิง ซึ่งเร็วกว่าเวลาในประเทศไทย 1 ชั่วโมง) ถึงท่าอากาศยานคุนหมิง ผู้ที่มาต้อนรับฝ่ายจีนมีนายหลิวจิง รองผู้ว่าราชการมณฑลยูนนาน นางจางซ่งเซียน อธิบดีประจำกระทรวงการต่างประเทศ (ติดตามตลอดทาง) นายจางเอี๋ยน อธิบดีกรมวิเทศสัมพันธ์มณฑลยูนนาน นายเอี้ยนถิงอ้าย รองอธิบดีกรมเอเชีย ดูแลความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับประเทศอื่น ๆ อีก 10 ประเทศ พูดไทยได้ และคนอื่น ๆ ฝ่ายไทยมีเอกอัครราชทูตสวนิต คงสิริ ท่านกงสุลใหญ่พจน์ อินทุวงศ์ ผู้ช่วยทูตทหารสามเหล่าทัพ ข้าราชการสถานเอกอัครราชทูตจากปักกิ่งและสถานกงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง

(น.5) ไปถึงเรือนรับรอง มีอาคารหลายหลัง รถผ่านอาคารหลังใหม่ที่เพิ่งสร้างเสร็จ ท่านรองฯ บอกว่า ถ้ามาอีกคราวหน้าจะเชิญมาอยู่เรือนรับรองหลังนี้ รถไปจอดหน้าอาคารที่ข้าพเจ้าเคยอยู่ ชื่อว่า เฉียนโหลว แปลว่า หอสวรรค์ อาคารนี้ก็ดูเหมือนเดิม เพียงแต่ตกแต่งให้สวยงามและสะดวกสบายขึ้น ข้าพเจ้าจำประตูเข้าอาคารและห้องรับแขกได้ดี ขึ้นไปดูห้องนอน จากนั้นไปดูห้องจัดเลี้ยงอาหาร ซึ่งเป็นอาคารเก่าตั้งแต่สร้างเรือนรับรอง มีประวัติว่านายหลงหยุน เจ้าเมืองคุนหมิง สร้างตั้งแต่ ค.ศ. 1936 เครื่องไม้มีลวดลายสลักปิดทอง เรารำลึกความหลังกันว่าเราเคยรับประทานซุปตุ๊กแกในห้องนี้และขอตุ๊กแกเป็น ๆ มาดูแล้วปล่อย ถือว่าเป็นการทำบุญวันวิสาขบูชา ท่านรองฯ บอกว่า เดี๋ยวนี้เขาห้ามกินตุ๊กแกเพราะเป็นสัตว์อนุรักษ์ ข้าพเจ้าว่าไม่น่าเชื่อ เมืองไทยมีออกเยอะแยะและยังมีคนกิน อาคารในเรือนรับรองนี้เป็นแบบฝรั่ง แต่ตกแต่งภายในเป็นแบบจีน สวนก็สวยดี เขาบอกว่าจะตกแต่งสวนให้ดีขึ้น ข้าพเจ้าคิดว่าดูดีอยู่แล้ว เพียงแต่ตัดหญ้าก็จะดีขึ้น จากนั้นไปที่ China Kunming Export Commodities Fair’96 ที่ศูนย์แสดงสินค้านานาชาตินครคุนหมิง เมื่อมาปีก่อนข้าพเจ้านั่งรถผ่านไปผ่านมาหลายครั้ง แต่ไม่ได้เข้าไป เมื่อไปถึงมีคณะกรรมการจัดงานมาต้อนรับ


(น.9) รูป 4 ประเทศไทยก็มาแสดงสินค้า

(น.9) ผ่านร้านอุตสาหกรรมเคมี และร้านขายอะไรทั่ว ๆ ไป (ไม่ค่อยเข้าใจ) มีตัวอย่างดีบุกและสังกะสีว่าเป็นแร่ที่มีมากในหงเหอโจว มณฑลยูนนาน เข้าไปดูกล้องส่องทางไกลที่ผลิตในนครคุนหมิงนี่เอง เขาอวดว่าส่งไปขายสหรัฐฯ มากที่สุด ครองตลาดในสหรัฐฯ ถึง 40 % คุนหมิงเป็นอู่ต่อเรือที่ต่อเรือที่ใช้ในแม่น้ำส่งไปขายต่างประเทศ ส่วนร้านขายของป่า มีพรม เสื้อขนสัตว์ ขนไก่ป่า รองเท้าหนังมีหลายชนิด มีรองเท้าหุ้มข้อ เขาอธิบายว่าสำหรับคนงานโรงงานที่พื้นร้อน เช่น โรงงานเหล็กกล้า ดูของจีนแล้วไปดูสินค้าไทย เจ้าหน้าที่สำนักงานพาณิชย์มาต้อนรับ สำนักงานนี้เพิ่งเปิดมาได้ 10 เดือน มีข้าราชการประจำอยู่ 2 คน เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นเป็นคนจีนอีก 4 คน ลูกสาวเจ้าเมืองสิบสองปันนามาฝึกงานตอนปิดเทอม คนจีนที่สำนักงานพูดภาษาจีนและ

(น.14) สะพานข้ามแม่น้ำเจียหลิงเจียงสร้างใน ค.ศ. 1960 มองไปบนเขาเห็นศาลาเรียกว่า เหลี่ยงเจียงถิง แปลว่า ศาลาแม่น้ำสองสาย ถนนต่อจากนี้ค่อนข้างแคบ ข้ามภูเขาเลี้ยวไปเลี้ยวมาเรียกว่า ผานซานต้า ไม่เหมือนที่เฉิงตูซึ่งมีถนนค่อนข้างกว้างและตรง ที่ฉงชิ่งมีคนขี่จักรยานน้อยกว่าที่อื่น เพราะพื้นที่สูง ๆ ต่ำ ๆ ขี่ไม่ไหว สะพานข้ามแม่น้ำฉางเจียง เมื่ออยู่กลางสะพานนี้มองเห็น 3 เขตคือ กลางนคร เขตเหนือแม่น้ำ เขตใต้แม่น้ำ เข้าในเมือง ผู้คนคับคั่ง มาดามหลู่บอกว่า ที่นี่แก้ปัญหาโดยออกกฎไม่ให้รถวิ่งกลางเมืองในวันเสาร์วันอาทิตย์ให้คนเดินอย่างเดียว นอกจากชาวเมือง ยังมีนักท่องเที่ยวทั้งคนจีนและชาวต่างประเทศอีกเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่เริ่มโครงการซานเสียนักท่องเที่ยวมากันมากขึ้น มาดามหลู่ได้ทราบว่าข้าพเจ้าเขียนเรื่องทุกครั้งที่เดินทางมาประเทศจีน จึงอยากให้เขียนเรื่องซานเสียด้วย มาถึงโรงแรมรื้อของ กิจกรรมอีกอย่างหนึ่งที่ต้องทำก็คือ เขียนโพสต์การ์ด ที่ยูนนานมัวแต่ยุ่งก็เลยลืมเรื่องนี้ไปสนิท คิดว่าจะเขียนที่นี่แล้วฝากใครไปส่งที่คุนหมิง โพสต์การ์ดไปเมืองไทยติดแสตมป์ 2.6 หยวน อีกอย่างหนึ่งที่พยายามทำคือ ทดลองต่อคอมพิวเตอร์แต่ไม่สำเร็จ เวลาทุ่มกว่าลงไปชั้นล่าง รับประทานเลี้ยงอาหาร มีคนไทยที่มาจากบริษัทต่าง ๆ ที่มาทำธุรกิจที่นี่ ในด้านธนาคาร อาหารสัตว์ เครื่องจักรกลการเกษตร การผสมพันธุ์ข้าวโพด (นำพันธุ์ผสมพื้นเมืองของที่นี่มาผสมกับพันธุ์ผสมของเรา)

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 192

(น.192) รูป 178 ผู้ว่าการมณฑลเลี้ยง

(น.192) แล้ว เรื่องที่น่ากลัวคือต้องคอยดูแลไม่ให้คันกั้นน้ำพัง ถ้าพังเสียหาย ท่านผู้ว่า ฯ บอกว่าไม่ปล่อยให้ใครมาไล่ออกจะลาออกเอง ระหว่างรับประทานอาหาร ท่านผู้ว่า ฯ เล่าเรื่องการทำงานว่า ท่านเป็นคนเจียงซู แต่เข้า ๆ ออก ๆ ปักกิ่งอยู่ 3 ครั้ง เคยติดต่อกับไทยตั้งแต่ทำงานการบินจีน ผู้อำนวยการวิเทศสัมพันธ์ของมณฑล เคยทำงานกรมทรัพยากรธรณีที่ปักกิ่ง เคยไปสำรวจหินที่ซานโต่วผิงตั้งแต่ ค.ศ. 1958 เล่าว่าไปสำรวจ 2 แห่งคือ ซานโต่วผิงและหนานจิงกวน แต่เห็นว่าหินที่ซานโต่วผิงแข็งดีกว่า เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว ออกไปข้างนอก มีคนไทยอยู่หลายคน ทำงานบริษัทซีพี และบริษัทน้ำมันพืช ท่านกงสุลกับคุณวศินมาลากลับคุนหมิง

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 209


(น.209) รูป 188 หลังอาหารพบกับศาสตราจารย์เฉินซู่เผิง

(น.209) เส้นทางบกจากทางเหนือของไทยเข้าเชียงตุงและต่อไปคุนหมิง ท่านรองนายกฯ บอกว่าเส้นทางนี้เป็นเส้นทางที่ฝ่ายสัมพันธมิตรลำเลียงอาวุธจากพม่าขึ้นยูนนาน ในเรื่องฮ่องกงท่านกล่าวว่าฮ่องกงเป็นเมืองอยู่ในการดูแลของอังกฤษมา 150 ปีแล้ว จีนเริ่มเจรจาเรื่องฮ่องกงกับอังกฤษตั้งแต่เมื่อ ค.ศ. 1982 ได้ลงนามในแถลงการณ์ร่วมเมื่อปลาย ค.ศ. 1984 เกี่ยวกับการปกครองฮ่องกงนับจาก ค.ศ. 1997 เป็นต้นมา

ย่ำแดนมังกร
ย่ำแดนมังกร หน้า 282,284-290

(น.282) ข้าพเจ้าถามคุณจางว่าเคยทำงานอะไรมาก่อน เห็นรู้เรื่องต่างๆหลายอย่าง คุณจางบอกว่าเคยทำงานด้านดูแลเยาวชน (อายุ 15-28) มาก่อนสำหรับตัวเธอเองนั้นเมื่ออายุ 15 ได้เข้าเป็นสมาชิกสันนิบาตเยาวชน เมื่อสมัยก่อนปลดแอกได้ทำงานเป็นกลุ่มนิสิตนักศึกษา ในสมัยต่อต้านญี่ปุ่นไปคัดค้านรัฐบาล เลยถูกไล่ออกจากมหาวิทยาลัยเมื่อปี 1945 ถึงสนามบิน เรากล่าวขอบคุณทุกคนที่ต้อนรับและอำนวยความสะดวกแก่พวกเรา เป็นอันว่าเราจากเสฉวน ดินแดนแห่งวรรณกรรมอมตะ “สามก๊ก” เราไม่ได้ยินเรื่องสามก๊กมากนักในการเยือนครั้งนี้ แต่ว่าเรื่องอื่นๆ ที่ได้เห็นก็มีคุณค่าควรแก่การจดจำ เครื่องบินจากเสฉวนไปคุนหมิงต้องผ่านภูเขามาก ข้าพเจ้าคุยกับท่านหวังหลายเรื่องเลยไม่ค่อยได้ชมทิวทัศน์ การบินครั้งนี้เป็นช่วงสุดท้ายที่เราจะได้นั่งไปพร้อมกับฝ่ายจีน แม้ว่าเครื่องบินจะพาเราไปส่งที่ฮ่องกง ท่านรัฐมนตรีช่วยหวังคุยให้ฟังว่า หลี่ปิงสร้างชลประทานตูเจียงเอี้ยน ท่านรัฐมนตรีช่วยบอกว่าภาพยนตร์เรื่องนี้เดิมเป็นหนังยาว และแก้ไขย่อให้ดีแต่สั้นเข้า ท่านหวังบอกว่าดีใจและเสียใจที่ข้าพเจ้ามาเมืองจีน ดีใจที่ทำให้ข้าพเจ้ามีโอกาสได้เห็นเมืองจีนแต่ก็เสียใจที่ข้าพเจ้ามาน้อยเกินไป ไม่ได้เห็นเท่าที่ควร แต่ก็ไม่เป็นไร จีนทำหนังเกี่ยวกับการเกษตรมาก ถ้าต้องการเรื่องใดจะส่งให้ได้ ต้องจำเอาไว้ว่าจะคิด (น.284)ไหม มักจะต้องไหว้เจ้า และจะต้องมีศาลเจ้าไว้เป็นที่บูชา เจ้าองค์นั้นชื่อ เหลยจู่ หมายถึง พระราชินีองค์นั้น การเกษตรมีความสำคัญเพราะคนต้องกินข้าวทุกวัน ไม่กินก็ไม่ได้ คนต้องใส่เสื้อผ้า ไม่เป็นสำคัญ ใส่ก็ไม่ได้ การเกษตรจะต้องมีเรื่องของวิทยาศาสตร์ จะต้องคำนึงถึงปัจจัย 4 ประการ
1. พันธุ์ข้าว
2. ปุ๋ย
3. น้ำ
4. ดิน
ฉะนั้นบางแห่งแม้ว่าจะเป็นดินที่เหมือนกัน แต่ผลเก็บเกี่ยวไม่เหมือนกัน เพราะปัจจัยตัวอื่นต่างกันถือว่าการชลประทานสำคัญที่สุด ในเครื่องบินเขาแจกปากกาและพัด ในตอนแรกเขาแจกหนังสือของเครื่องบิน ซึ่งมีเรื่อง คุนหมิง และ ยูน นาน ด้วย ตอนที่เขาแจกพัดนั้น ท่านหวังควักพัดเก่าๆ ขึ้นมา คุยอะไรก็ไม่ทราบกับแอร์โฮสเตส เห็นหัวเราะกันคิกคัก ว่าแล้วก็เอาพัดนั้นให้ข้าพเจ้าดู บอกว่ามีลายเซ็นด้วย แล้วบอกว่าแอร์โฮสเตสคนเดียวกันนี้เซ็นไว้ให้ท่านเมื่อ 8 ปีมาแล้วเรานึกในใจว่าท่านรัฐมนตรีช่วยนี่เก็บของเก่งจริง แอร์โฮสเตสบอกว่าปรอทที่คุนหมิง 23 ํ เซลเซียส ถึง คุนหมิงเวลา 17.45 น. ที่คุนหมิงนั้นพอมองปุ๊บเดียว เห็นว่าคล้ายไทยทางภาคเหนือแต่บ้านเรือนสิ่งปลูกสร้างไม่ค่อยเหมือนกัน ที่สนามบินมีคนมาต้านรับเยอะแยะ ผู้ที่นั่งรถกับข้าพเจ้าจากสนามบินถึงบ้านพักวันนี้เป็นประธานคณะกรรมการปฏิวัติ (หรือเท่ากับนายกเทศมนตรี) แห่งคุนหมิง ชื่อ คุณหลี่หยวน ท่านหลี่หยวนเป็นคนร่าเริง พูดไปหัวเราะไป ผิวค่อนข้างคล้ำ ไม่


(น.285) รูป 128 ถนนเมืองคุนหมิง

(น.285) เหมือนคนจีนทางเหนือๆ ก่อนอื่นข้าพเจ้าถามที่สงสัยว่าข้าพเจ้าไปตั้งหลายเมืองแล้วไม่เห็นมีที่ไหนเขามีกรรมการปฏิวัติ ท่านประธานหัวเราะอย่างอารมณ์ดี พลางอธิบายว่า ชื่อนี้เป็นชื่อเก่าสมัยปฏิวัติวัฒนธรรม ต้องปิดประชุมสภาเสียก่อนจึงจะเปลี่ยนเป็นเรียกนายกเทศมนตรี จะเปิดสภาปีนี้ ของมณฑลเปิดประชุมสภาไปแล้วเดี๋ยวนี้เรียกว่าผู้ว่าราชการมณฑล พาหนะของที่นี่ส่วนใหญ่เป็นรถเทียมม้าหลายแบบ มีเทียม 1 ตัว เป็นม้าแกลบเทียมล่อ เทียมลาก็มี มีเหมือนกันที่เทียม 3 คือเทียมม้าแกลบคู่และเทียมล่อ (ตัวโตกว่า) อยู่ข้างหลัง


(น.286) รูป 129 บ้านพักที่คุนหมิง คุยกับพี่อู๋

(น.286) ท่านประธานฯ บอกว่าตอนนี้เข้าหน้าฝน อากาศเลยค่อนข้างร้อน เมื่อข้าพเจ้าถามถึงพืชเพาะปลูกในคุนหมิง มีข้าวเจ้า ข้าวโพด ข้าวสาลี ถั่วปากอ้า ถั่วเหลือง และ.........ท่านประธานหันมาตะโกนแบบค่อยๆ ว่า “โปเตโต้” 2 ครั้งแล้วหันไปบอกคุณเฉินเป็นภาษาจีน คุณเฉินเลยร้องว่า อ๋อ มันฝรั่ง สำหรับข้าวเจ้าและผักต่างๆ ปลูกหน้าร้อน ปลูกได้ 2 ครั้ง หน้าหนาวปลูกข้าวสาลีและถั่ว รถผ่านสำนักงานที่ทำการรัฐบาลมณฑล ซึ่งประธานฯ ก็ชี้ให้ดู พอดีถึงบ้านพักซึ่งท่านประธานบอกว่าใช้ต้อนรับแขกต่างประเทศสำหรับประเทศไทยเคยต้อนรับท่านนายกเปรม คืนนี้จะมีเลี้ยงในบริเวณนี้ บ้านพักเป็นบ้านเล็กๆ แยกเป็นตึกๆ สวยงามและน่าสบายทุกหลัง สวนก็สวยมีดอกไม้หลายอย่าง หน้าบ้านมีกรงหมา มีหมาคล้ายๆ อัลเซเชียน (อาจจะใช่) 1 ตัว อยู่ข้างใน หลังที่ข้าพเจ้าอยู่นั้นชั้นบนมีข้าพเจ้า ป้าไล ป้าจัน คุณออม คุณแป๊ว มีห้อง

(น.287) ว่างอยู่ห้องหนึ่ง คุณดำรงก็เลยอยู่ ข้างล่างมีห้องของคุณฟ่าน คุณเฉิน ห้องหนึ่ง และท่านผู้หญิงทั้งสองอยู่ห้องเดียวกัน อีกหลังหนึ่ง แอ๋ว อารยา ทิพย์ ตุ๋ย อยู่ มีพวกจีนที่เหลือด้วย อีกหลังมีคุณเสริม กสิณ และ เปาะ ส่วนอาจารย์สารสินกับภุชชงค์และทีมสถานทูตอยู่โฮเต็ล นอกจากห้องนอนแล้ว ข้าพเจ้ายังมีห้องเขียนหนังสือ ซึ่งเขาเตรียมเอกสารอธิบายเกี่ยวกับเมืองคุนหมิง และมณฑลยูนนานพร้อมทั้งสถานที่สำคัญต่างๆ ซึ่งเราจะได้ไปดู ข้าพเจ้าเซ็นชื่อพร้อมทั้งเขียนว่า ขอให้มีมิตรภาพไทย-จีนจงสถิตสถาพร ครั้งนี้เป็นครั้งสุดท้าย เพราะว่าจากคุนหมิงเราก็จะกลับสู่ประเทศไทย บ้านเกิดเมืองนอนของเรา ซึ่งอันที่จริงแล้ว มณฑลยูนนานอยู่ห่างจากประเทศไทยเพียงไม่กี่กิโลเมตร พวกชาวเขาของเราเดินเท้าจากยูนนานมาสู่ประเทศไทยได้ เมื่อถึงเวลาพวกเราก็ไปที่ห้องเลี้ยงรับรองในบริเวณที่พัก เป็นอาคารอย่างจีน เสาแดงๆ คล้ายๆ เก๋งจีนเมืองไทย ขบวนทั้งหมดและการจัดดอกไม้ที่นี่สวยที่สุด สมกับนามฉายาว่าเมืองนี้เป็นนครแห่งดอกไม้ บนโต๊ะอาหารและบนเวทีข้างหลังจัดดอกไม้ไว้เต็มไปหมด คล้ายๆ กับดอกไม้ภูพิงค์ เมนูอาหารวันนี้หน้าปกทำเป็นรูปช้าง วันนี้ท่านผู้ว่าราชการมณฑลยูนนานเป็นเจ้าภาพ ดนตรีที่เปิดวันนี้ส่วนใหญ่เป็นดนตรีไทย มีเพลงเขมรไทรโยค เป็นต้น ถึงเวลาที่จะกล่าว speech เขาก็หรี่เพลง คำกล่าวตอบวันนี้ตอนสุดท้ายจบด้วยกลอนภาษาจีน ซึ่งอาจารย์สารสินเป็นผู้แต่ง และ


(น.289) รูป 130 ที่คุนหมิง

(น.289) เห็นคน ไต่ มีชื่อเรียกนำว่า ท้าว เลยเกณฑ์ให้ทุกคนถือ แซ่เตา ท่านลุกขึ้นมาจากอีกโต๊ะหนึ่งมาชนแก้วกับข้าพเจ้าอวยพรว่าให้ “อยู่ดีกินหวาน” แล้วบอกให้ดื่มหมด ดูเหมือนท่านผู้นี้จะเคยแปลบทความ และบทกวีจีนเป็นภาษา ไต่ ท่านผู้ว่าฯ เล่าอีกอย่างหนึ่งว่า ตนเองมาจาก กังไส หัวเมือง จิ่ง เต๋อ เจิ้น เป็นสถานที่ทำเครื่องเคลือบได้ดีมาก เขาเรียกกันว่านครหลวงแห่งเครื่องเคลือบ blue and white

(น.290) รูป 131 กล่าวตอบที่คุนหมิง (วันกินตุ๊กแก) (น.290) ต่อไปนี้จะเล่าเรื่องที่เป็นจุดสำคัญของงานคืนนี้ คือเรื่องการกิน.....อาหารอย่างแรกเป็นออร์เดิฟซึ่งปรุงรสพิเศษแบบยูนนาน อย่างที่สองเป็นเอ็นกวางปั้นก้อนไก่ยัดไส้ข้าวเหนียว ปรุงรส 8 อย่าง (มีเม็ดผักชี ขิง และอะไรอีกก็ไม่รู้) เห็ดสดต้มเค็ม อีกอย่างเป็นอะไรก็ไม่รู้ เรียกว่า Yunnan Spring Rolls ต่อไปเป็นสตูว์ขาไก่ ปลากับซ้อสถั่ว รายการต่อไปนั้นเขาเขียนในเมนูว่า braised dog meat หรือ หมาต้มเค็ม อาหารจานนี้ก่อให้เกิดความวิพากษ์วิจารณ์กันมาก ในโต๊ะมีปีจอตั้ง 5 คนคือคุณพูนเพิ่ม ท่านหญิงมณีรัตน์ ท่านประธานกรรมการปฏิวัติ และภรรยา และอาจารย์สารสิน (คนละรอบ) ท่านผู้หญิงมณีรัตน์อ้างว่าเป็นคนปีจอจึงไม่ยอมรับประทานหมา ท่านผู้หญิงสุประภาดาบอกว่าเป็นรักหมา แม้ไม่ใช่คนปีหมาก็ไม่อยากจะกินหมา ส่วนคนอื่นนั้น แม้จะปีหมาแต่ก็เห็นเคี้ยวหมาตุ้ยๆ

ย่ำแดนมังกร หน้า 344

(น.344) ได้มีโอกาสพบท่านผู้เฒ่าผู้มีสติปัญญาอันรอบคอบรอบรู้ และมีใจอารีดังเช่นท่าน หวังโย่วผิง ผู้นี้ ฝนยังตกไม่หยุดเลยตั้งแต่เช้า ท่านหวังบอกว่า นี่คืออากาศเมืองคุนหมิง ฤดูใบไม้ผลิและฤดูใบไม้ร่วงก็เป็นเช่นนั้น ท่านบอกว่า คราวหน้าให้ไปเที่ยวที่อื่นๆ ด้วย นักท่องเที่ยวส่วนมากจะไปปักกิ่ง ซีอาน นานกิง เซี่ยงไฮ้ หังโจว กุ้ยหลิน เฉิงตู และคุนหมิง ไม่มีนักท่องเที่ยวมากนัก งานด้านการท่องเที่ยวยังมีปัญหาในเรื่องโรงแรมมีไม่พอและล่ามก็มีไม่พอ ในตอนสุดท้ายท่านหวังได้แนะนำเรื่องยาจีนชนิดต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งยาห้ามเลือดที่เรียกว่า ไป๋เย่า ข้าพเจ้าไม่ได้ซื้อแต่คุณดำรงซื้อกลับไป พอดีรถถึงสนามบิน ข้าพเจ้าลาท่านหวังและคนอื่นๆ ที่ได้เอื้อเฟื้อพวกเราในระหว่างการพำนักในประเทศจีน เครื่องบิน CAAC จะพาเราเดินทางเป็นเที่ยวสุดท้ายไปสู่ฮ่องกง และการเดินทางเยือนจีนผืนแผ่นดินใหญ่ก็สิ้นสุดลง ข้าพเจ้าถือว่าการที่ได้ท่องเที่ยวไปในโลกกว้างทั้งในและนอกประเทศเป็นการที่เราจะได้โอกาสศึกษาความเป็นไปของธรรมชาติและสังคมแม้ว่าชั่วชีวิตของคนจะน้อยนัก เมื่อเทียบกับชีวิตของธรรมชาติ ภูเขา ทะเล และแม่น้ำ แต่เราอาจจะใช้เวลาที่มีอยู่ให้คุ้มค่าในการเรียนรู้ชีวิต เพื่อรับใช้สังคมและประเทศชาติที่เราอาศัยอยู่ การที่ได้ไปที่อื่นนอกจากบ้านเกิดเมืองนอนก็ดีไปอย่างหนึ่ง คือได้เห็นว่าคนอื่นเขาทำอย่างไรกับชาติของเขา ยิ่งได้เป็นแขกของรัฐบาลอย่างนี้ก็ยิ่งดีใหญ่ เพราะเขาย่อมจะพยายามเลือกสรรให้เราดูสิ่งที่เขาคิดว่าดี

ใต้เมฆที่เมฆใต้
ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 2,3,4,5,17,18,19,20,21,22,24

(น.2) วันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2538
ใครๆ คงจะว่าข้าพเจ้าไปแต่เมืองจีนบ่อย 5-6 ครั้งยังไม่พอไปอีกทำไม ที่จริงแล้วไปครั้งหนึ่งๆ ก็มีประโยชน์ เพราะว่าได้ซ้อมพูดภาษาจีนในบรรยากาศเมืองจีน จะทำให้ความรู้ภาษาจีนก้าวหน้าขึ้นเสียอยู่อย่างเดียวคือช่วงนี้ข้าพเจ้ามีงานที่จะต้องเดินทางไปค้างแรมที่โน่นที่นี่ จึงไม่มีเวลาเตรียมการ อย่างไรก็ตามครั้งนี้คิดว่าจะไปนานนักจึงเลือกเอามณฑลยูนนาน ซึ่งใกล้และเคยไปมาแล้วเมื่อสิบกว่าปีก่อน ครั้งแรกคิดจะเดินทางจากเชียงใหม่ ง่ายๆ ดี แต่ว่าเผอิญวันที่ 27 ไม่มีเครื่องบินจากเชียงใหม่ จึงกลับไปขึ้นที่กรุงเทพฯ ถึงแม้ว่าจะไปเที่ยวอย่างลำลอง แต่เผอิญปีนี้เป็นปีฉลอง 20 ปี ความสัมพันธ์ไทย-จีน จึงมีความรู้สึกว่าเดินทางครั้งนี้มีความสำคัญไม่น้อย

Next >>