<< Back
เสฉวน
"ไอรัก" คืออะไร?
"ไอรัก" คืออะไร? หน้า 19
(น.19) เฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวหลายครั้ง อยู่ที่พระที่นั่งบรมพิมานก็เหมือนบ้านตัวเอง เสียอยู่แต่ว่าพูดกันไม่รู้เรื่องเท่านั้น
ท่านได้เห็นหนังสือที่ข้าพเจ้าแต่งและดูวิดีโอตอนที่อยู่บรมพิมานและได้เอากลับมาดูต่อเมืองจีน ได้รู้ว่าการขี่อูฐเป็นอย่างไร (เพราะท่านไม่เคยขี่อูฐ)
ท่านเห็นว่าข้าพเจ้าควรมาเมืองจีนบ่อยๆ ให้ครบทุกภาค แนะนำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ล่องแม่น้ำแยงซีเกียง จะได้เห็นโบราณสถานมาก ขณะนี้กำลังวางแผนโครงการชลประทานขนาดใหญ่ ซึ่งต้องระมัดระวังเพราะว่านักวิชาการต่างๆ มีความขัดแย้งกัน ท่านเปรียบว่าก็เหมือนกับการที่นักวิชาการมาแปลหนังสือที่ข้าพเจ้าแต่งแล้วข้าพเจ้าบ่นว่าความคิดขัดแย้งกัน แต่ภายหลังก็ตกลงกันได้ ปัญหาใหญ่คือการย้ายคน ขณะนี้เตรียมการย้ายคนเจ็ดแสนถึงล้านคน จะต้องให้ชาวบ้านมีงานทำ ได้เตรียมสร้างฟาร์ม และโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่เอาไว้แล้ว พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่บริเวณมณฑลเสฉวน
พูดถึงเสฉวนท่านว่าก็น่าจะเที่ยวอีกหลายที่ที่จะถูกน้ำท่วม เช่น ศาลเจ้าเตียวหุยจะถูกน้ำท่วมต้องย้ายไป มีศาลขงเบ้ง ฯลฯ
หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 116,129
(น.116) ธรรมชาติของมนุษย์ต้องการที่ดินอุดมสมบูรณ์สำหรับเพาะปลูก และชอบท้าทายธรรมชาติ สองฝั่งแม่น้ำหวงเหอจึงเป็นที่ทำมาหากินของมนุษย์มาตั้งแต่โบราณ รวมทั้งเป็นแหล่งก่อเกิดอารยธรรมจีนด้วย
แม่น้ำหวงเหอเป็นแม่น้ำยาวอันดับสองของจีน มีต้นน้ำจากเทือกเขาที่ราบสูงทิเบต-ชิงไห่ ในเขตกลางมณฑลชิงไห่ สูงเหนือระดับน้ำทะเล 4,500 เมตร ไหลผ่านมณฑลชิงไห่ เสฉวน กานซู่ หนิงเซี่ย มองโกเลียใน ส่านซี ซานซี เหอหนาน และซานตง ออกสู่ทะเลโป๋ไห่ที่รอยต่ออำเภอเขิ่นลี่กับอำเภอลี่จิน
มีรูปถ่ายตั้งแต่ต้นน้ำที่ชิงไห่ รวมทั้งแสดงว่าแม่น้ำมีการกั้นเขื่อนที่ไหนบ้าง มีแผนที่เริ่มตั้งแต่ชิงไห่เช่นเดียวกัน ผ่านมณฑลต่างๆ แล้วไปลงทะเลโป๋ไห่ มีสาขาของแม่น้ำหลายสาขา ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ ส่วนกลางของลุ่มน้ำ เนื้อที่ทั้งหมด 752,443 ตารางกิโลเมตร ความยาว 5,464 กิโลเมตร แสดงปัญหาตะกอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคกลางและปัญหาน้ำน้อย
(น.129) ลงลิฟต์มาชั้นล่าง เข้าห้องเก็บเครื่องหยก ที่เก่าแก่ที่สุดอายุ 4,500 กว่าปี เป็นหยกหนานหยัง เครื่องหยกตู๋ซาน ใช้เป็นเงินตราได้
ที่สุสานของสนมเอกฟู่เห่าพบเครื่องหยก เป็นหยกจากเมืองเหอเถียนในภูมิภาคปกครองตนเองซินเกียง เป็นเครื่องประกอบพิธีต่างๆ หินหยกที่ทำเป็นเสื้อผ้าของศพ เพราะคนจีนเชื่อว่าหยกช่วยไม่ให้ศพเน่าเปื่อย สมัยราชวงศ์ฮั่น สมัยชุนชิว มีหยกแสดงไว้ 800 ชิ้น
อีกห้องทำโมเดลสิ่งก่อสร้างในสุสาน มีจำนวนมากและค่อนข้างจะใหญ่กว่าที่เคยเห็นที่อื่น มีทั้งยุ้งข้าว บ้านเรือนมีนกเกาะ
เครื่องสำริดของแคว้นฉู่ สมัยชุนชิว มีโต๊ะวางถ้วยเหล้า ลายเมฆ พบที่มณฑลเสฉวน เทคนิคที่ใช้คือ การเผาไล่ขี้ผึ้ง (Lost wax) เป็นวิธีที่โบราณ 2,600 กว่าปีแล้ว
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 204
(น.204) หนังสือของชนชาติส่วนน้อย สมัยราชวงศ์ชิง ค.ศ. 1720 เป็นอักษรมองโกล เป็นส่วนหนึ่งของพระไตรปิฎก เรียกว่า กานจูเอ่อร์ แกะสลักบนแผ่นไม้
ที่อำเภอเต๋อเก๋อ มณฑลเสฉวน เป็นศูนย์กลางวัฒนธรรมทิเบตที่สำคัญ เป็นแหล่งพิมพ์หนังสือพุทธศาสนาเป็นภาษาทิเบต ค.ศ. 1950 รัฐบาลกลางส่งคนไปนำต้นฉบับมาเก็บไว้ที่หอสมุด 107 ผูกและพิมพ์ด้วยกระดาษธรรมดา ที่มณฑลชิงไห่ วัดถาเอ่อร์ ก็มีคัมภีร์ภาษาทิเบตที่หอสมุดรวบรวมมาไว้ หนังสือคนกลุ่มน้อยที่พิมพ์ที่สิบสองปันนา ในมณฑลยูนนานเป็นคัมภีร์ใบลาน (น.204) รูป 155 หนังสือบทกวีจีน
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 244
(น.244) เมืองต้าถงมีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 2,000 ปี ในประวัติศาสตร์ตอนหนึ่งมีการต่อสู้ครั้งสำคัญของหลิวปังหรือจักรพรรดิฮั่นเกาจู่ (ภาษาไทยใช้กันว่า ฮั่นโกโจ) ซึ่งตอนนั้นประสบความลำบากมาก ต่อมากลางคริสต์ศตวรรษที่ 5 สมัยราวราชวงศ์เหนือใต้ ทางอีสานมีชนกลุ่มน้อย เช่น Narkuna พวกนี้เรียนวิชาการและเทคนิคการรบจากพวกจีนนั่นเอง ใน ค.ศ. 386 ได้ตั้งเมืองหลวงที่มองโกลเลียใน คือ เมืองเฮ่อลิงเก้อร์ในปัจจุบัน ต่อมาย้ายเมืองหลวงมาที่เมืองผิงเฉิงในราชวงศ์เป่ยเว่ยได้ใช้ที่นี่ปกครองดินแดนทางตะวันตกเฉียงเหนือมา 150 ปี
เมืองผิงเฉิงสมัยนั้นก็คือเมืองต้าถงนี่เอง ต้าถงจึงเป็นศูนย์กลางของภาคเหนือด้านการค้า การเมือง การคมนาคม เศรษฐกิจ และวัฒนธรรม
ถ้ำหยุนกั่งสร้างสมัยราชวงศ์เป่ยเว่ย สร้างก่อนหลงเหมินที่ลั่วหยัง (ตุนหวง ค.ศ. 366 มีทั้งภาพสลักและภาพเขียน หยุนกั่ง ค.ศ. 460 หลงเหมิน ค.ศ. 494 สองถ้ำหลังนี้เป็นหินแกะสลัก) วัดถ้ำที่มีหินแกะสลักสวยงามมีมากที่ซินเกียง กานซู่ เสฉวน รวม 500 กว่าแห่ง บริเวณวัดถ้ำหยุนกั่งกว้างมาก ผู้สร้างเจาะเข้าไปในภูเขา ให้วัดหันหน้าทางทิศใต้ ถ้ำที่ขุดเจาะเข้าไปเป็นแนวตะวันตก ตะวันออก มี 53 ถ้ำ มีพระพุทธรูปกว่า 51,000 กว่าองค์ ที่เก่าที่สุดคือ ที่สลักในสมัยราชวงศ์เป่ยเว่ย เป็นแบบอย่างของศิลปะจีนที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะคันธาระของอินเดีย ต่อไปจะให้อิทธิพลต่อศิลปะสมัยราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง ถ้ำหยุนกั่งเป็นคลังวิเศษแห่งศิลปกรรม และเป็นหลักฐานของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจีนกับต่างประเทศด้วย
เย็นสบายชายน้ำ
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 6,12-13,15
(น.6) งานนี้ (เรียกย่อ ๆ ว่า Kunming Fair) เป็นงานแสดงสินค้าท้องถิ่นซึ่งจัดโดยรัฐบาลมณฑลเสฉวน มณฑลยูนนาน มณฑลกุ้ยโจว ภูมิภาคปกครองตนเองชนชาติจ้วงกวางสี ภูมิภาคปกครองตนเองทิเบต นครเฉิงตูและนครฉงชิ่ง (ซึ่งเป็นนครอยู่ในมณฑลเสฉวน) กระทรวงการค้าต่างประเทศและความร่วมมือทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกลางให้ความเห็นชอบ การจัดงานมีหลักการคือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้เป็นภาคหนึ่งของจีนที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเศรษฐกิจ มีพื้นที่ 2,570,000 ตารางกิโลเมตร มีประชากรถึง 200 ล้านคน มีพรมแดนติดต่อกับเวียดนาม ลาว พม่า และสามารถต่อไปถึงประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูฏาน เนปาล และอินเดีย ฉะนั้นถือได้ว่าเป็นประตูสู่ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(น.12) เครื่องบินลงที่สนามบินฉงชิ่ง มีนางหลู่ซ่านเจา รองนายกเทศมนตรีนครฉงชิ่งมารับ ครูหวางซึ่งสอนภาษาจีนข้าพเจ้าก็มารับที่นี่ด้วย มาดามหลู่พาขึ้นรถไปโรงแรม ใช้เวลาเดินทางจากสนามบินเข้าเมืองราวครึ่งชั่วโมง
ข้าพเจ้าถามมาดามหลู่ว่าได้ยินว่าฉงชิ่งกำลังจะแยกออกจากมณฑลเสฉวนเป็นความจริงหรือไม่ เขาบอกว่ายังไม่ได้แยกเป็นทางการ ต้องรออนุมัติจากรัฐบาลกลางก่อน ที่จริงมณฑลเสฉวน
(น.13) ก็ใหญ่มาก มีประชากรถึง 130 ล้านคน นครฉงชิ่งก็เป็นเมืองสำคัญคือเป็นเสมือนเมืองหลวงระหว่าง ค.ศ. 1949 - 1953 การเดินทางจากนครเฉิงตูมาที่นี่ระยะทาง 336 กิโลเมตร ถือว่าเป็นเมืองภูเขาและแม่น้ำ มีแม่น้ำสำคัญ 2 สายคือ ฉางเจียงและเจียหลิงเจียง ในนครฉงชิ่งมีประชากร 15 ล้านคน นับได้ว่ามากที่สุดในจีน แบ่งการปกครองเป็น 3 เมือง 11 เขต 7 อำเภอ เขาถือว่าฉงชิ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมเก่า ทั้งยังดีในทางการเกษตรด้วย มีเกษตรกรราว 10 ล้านคน อยู่ในเมือง 5 ล้านคน พืชหลักคือ ข้าวโพด อุตสาหกรรมของฉงชิ่งมีมาประมาณ 50 ปีตั้งแต่สมัยต่อต้านญี่ปุ่น ในสมัยปลดปล่อยรัฐบาลย้ายอุตสาหกรรมาฉงชิ่งอีกหลายอย่าง ฉะนั้นจึงเป็นพื้นฐานที่ดี ปัจจุบันอุตสาหกรรมประเภทเครื่องยนต์มีความสำคัญเป็นอันดับที่ 3 ในประเทศจีนรองจากเซี่ยงไฮ้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแหล่งผลิตจักรยานยนต์มากที่สุดในจีน ผลิตได้สองล้านสองแสนกว่าคันต่อปี เป็น 1/3 ของจักรยานยนต์ทั้งหมด รัฐบาลกลางของจีนตั้งเป้าไว้ว่าใน ค.ศ. 2000 จะผลิตจักรยานยนต์ให้ได้ 26 ล้านคันต่อปี โรงงานในฉงชิ่งต้องผลิตให้ได้ 10 ล้านคัน มีโรงงานร่วมทุนกับญี่ปุ่นหลายบริษัท เช่น อีซูซุผลิตรถยนต์ ยามาฮ่าและซูซูกิผลิตจักรยานยนต์ ใช้ยี่ห้อจีน เช่น ยี่ห้อเจียหลิง อุตสาหกรรมเหล็กกล้าก็เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญ นอกจากนั้นมีอุตสาหกรรมยา อาหาร สิ่งทอ และอิเล็กทรอนิกส์
ผ่านอาคารสูง มาดามหลู่อธิบายว่าเป็นหอพัก มีทั้งที่สิงคโปร์และฮ่องกงมาลงทุน มีอาคารส่งเสริมการค้าต่างประเทศ
(น.15) รับประทานอาหาร เป็นอาหารจีนอย่างธรรมดา ท่านกงสุลบอกว่าที่จริงเตรียมอาหารพื้นเมืองอย่างพิเศษเอาไว้เหมือนกัน แต่ทางเมืองนี้เขาขอเก็บไว้ให้เขาเป็นฝ่ายเลี้ยงให้อร่อยพิเศษสุดจริง ๆ
อาหารพิเศษที่นี่อย่างหนึ่งเรียกว่า หมาล่าทั่ง มีผู้อธิบายว่ามันเป็นอาหาร 3 รส หมา หมายถึงรับประทานไปแล้วรู้สึกชาลิ้น ล่าคือ รสเผ็ด ทั่งคือ ร้อน สำหรับหมานั้นคล้ายยี่หร่า กินไปแล้วชาลิ้นจริง ได้ความว่าจะช่วยไล่ความชื้น (ไล่ทำไม ลืมถาม)
ที่นี่เสิร์ฟไวน์ Dynasty ฝรั่งเศสมาลงทุนในจีน กับเหล้าขาวอู่เลี่ยงเย่ เขาว่าดีกรีพอ ๆ กับเหมาไถ แต่รสจะนิ่มกว่า ดื่มคำนับอวยพรกันไปมาได้ 3 จอก ก็ชักจะต้องเลิกรา เกรงคืนนี้จะทำงานไม่ได้เหมือนดื่มวอดก้าที่มองโกเลียแล้วเขียนหนังสือได้ตัวเดียว ที่มณฑลเสฉวนนี้ทุกปีจะมีนิทรรศการเหล้าทั่วจีน ใครไปเที่ยวงานนี้คงเมากันพิลึก
พวกที่มาลงทุนทางภาคตะวันตกเฉียงใต้ตอนนี้นับว่าเป็นรุ่นบุกเบิก เพราะว่าประชาชนแถบนี้ไม่คุ้นเคยกับระบบการค้าเสรีที่มีการแข่งขันเท่ากับคนตามฝั่งทะเล ต้องค่อย ๆ ฝึกงานกันไป ฉะนั้นเรื่องที่ว่าค่าแรงต่ำ เมื่อคำนวณชั่วโมงทำงานจริง ๆ แล้วก็นับว่าไม่ต่ำ บางแห่งยังมีระบบ “ชามข้าวเหล็ก” หลงเหลืออยู่ การทำงานยังไม่ค่อยประสานกัน มีการแบ่งหน้าที่แยกกันชัดเจนเกินไป ต่างคนต่างทำโดยไม่ปรึกษาหรือช่วยเหลือกัน ข้าพเจ้าสงสัยว่าการมาทำธุรกิจบางอย่างที่ต้องใช้ที่ดินมาก ๆ นั้นจะซื้อที่อย่างไร ได้รับคำอธิบายว่าในเสฉวนนี้ ถ้าเป็นที่อยู่อาศัยซื้อ (เหมือนเช่า) ได้ 75 ปี อาคารพาณิชย์ได้ 60 ปี โรงงานได้ 50 ปี การซื้อที่เก็งกำไรทำไม่ได้
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 19
(น.19) ถึงเวลา 09.45 น. ถึงโรงแรมต้าจู๋ เขาให้พักผ่อน 30 นาที โรงแรมนี้เป็นโรงแรม 3 ดาว มีห้อง 136 ห้อง เทศบาลเป็นผู้ออกแบบและดำเนินการก่อสร้าง บริษัทของฮ่องกงรับเหมาตกแต่งภายใน พักผ่อนอยู่ประมาณครึ่งชั่วโมงเดินทางต่อ ดูสองข้างทางรู้สึกว่าชนบทที่นี่จะอุดมสมบูรณ์ เป็นที่ปลูกข้าว ปลูกแตง ข้าวฟ่าง (?) ตากพริกใส่กระด้งเอาไว้
เมื่อไปถึงเป๋าติ่งซาน รองศาสตราจารย์กัวเซียงหยิ่งมาต้อนรับ อาจารย์ท่านนี้เป็นประธานของพิพิธภัณฑ์ศิลปะถ้ำ แห่งอำเภอต้าจู๋ นครฉงชิ่ง เป็นผู้อำนวยการสถาบันวิจัยถ้ำต้าจู๋ แห่งสถาบันวิจัยสังคมศาสตร์เสฉวน แล้วยังเป็นสมาชิกสภานครฉงชิ่ง กรรมาธิการศิลปะและอะไร ๆ อีกหลายอย่าง
ซุ้มหน้าประตูเขียนชื่อภูเขาเป๋าติ่ง เป็นลายมือของท่านเจ้าผู่ชู นายกพุทธสมาคมจีน การแกะสลักภูเขานี้ราว ค.ศ. 1179 - 1249 (ราชวงศ์ซ่ง) ในช่วงเวลาเพียง 70 ปีนี้ แกะรูปพระและรูปอื่น ๆ ได้ถึง 10,000 รูป ศิลาจารึกในบริเวณนี้มีทั้งสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงกล่าวถึงรายชื่อผู้ที่บริจาคเงินบำรุงหรือซ่อมสร้างรูปสลักต่าง ๆ
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 50,52-53,65-66,68,70,73,75-76,79
(น.50) ถึงหมู่บ้านจิตรกรที่ถนนหัวหลงเฉียว มีคุณซ่งกว่างซุ่นเป็นผู้อำนวยการของหมู่บ้านมากล่าวต้อนรับ เล่าเรื่องหมู่บ้านว่าที่นี่มีจิตรกร 17 คน เขียนภาพพู่กันจีน สีน้ำมันแบบฝรั่ง และภาพพิมพ์ไม้ จิตรกรอยู่ที่นี่ 42 ปีแล้ว แต่เพิ่งเปิดให้ชาวต่างประเทศเข้าชมเมื่อค.ศ.1985 ผู้ที่อยู่ในหมู่บ้านนี้ส่วนมากจะเป็นจิตรกรรุ่นแรก อายุ 70 กว่าปีแล้ว พวกที่เรียกว่าหนุ่มก็อายุ 50 กว่าปี แต่ละคนมีห้องทำงานของตนเองและมาแสดงภาพในห้องประชุมนี้ ส่วนมากจะส่งภาพประกวดระดับชาติ ได้รับรางวัลมากมาย พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติก็มาสั่งรูปที่หมู่บ้านนี้ หลายคนได้รับเชิญไปแสดงภาพที่ต่างประเทศ เช่น หลี่เซ่าเหยียน จิตรกรชาวเสฉวนเคยไปแสดงผลงานในประเทศไทยในค.ศ.1990 ได้ไปเที่ยวที่ต่าง ๆ เช่น พระบรมมหาราชวัง เสียดายที่เขาไม่ได้มาต้อนรับด้วยเพราะอยู่ที่เฉิงตู อายุ 80 กว่าแล้วจึงมาไม่ไหวได้แต่โทรศัพท์มาให้คนอื่นช่วยต้อนรับข้าพเจ้า จิตรกรอื่น ๆ เคยไปฝรั่งเศส นอร์เวย์ เยอรมนี ฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ ญี่ปุ่น จิตรกรที่นี่
(น.52) คุณอู๋เฉียงเหนียนทำภาพพิมพ์ไม้ภาพหนึ่งต้องแกะสลักไม้ 3 แผ่น ทาสีแล้วพิมพ์ลงกระดาษ ตอนนี้กำลังพิมพ์ภาพแมว เขาเอาภาพประชาชนที่เสียใจเมื่อรถศพของโจวเอินไหลผ่าน เขาเขียนเมื่อ ค.ศ.1977 ใช้เวลาเขียนปีหนึ่ง
คุณสูว์ควงที่มีภริยาเป็นชนกลุ่มน้อย เลยชอบเขียนรูปชนกลุ่มน้อย เพิ่งกลับมาจากเหลียงซานทางตะวันตกของเสฉวนซึ่งเป็นจังหวัดปกครองตนเองชนชาติอี๋ ภาพที่เขาเขียนได้เหรียญทอง ใบโฆษณานิทรรศการของเขาเองที่ญี่ปุ่นมีศิลปะอย่างใหม่คือ แกะไม้เป็นพิมพ์สำหรับทำภาพพิมพ์ แต่ไม่พิมพ์ ใช้เป็นงานศิลปะ เขาเล่าว่า ตอนปฏิวัติวัฒนธรรมเมื่อ 20 ปี จิตรกรต้องเลี้ยงตัวเองลำบากมาก ตอนนี้ก็สบายแล้ว อยู่ในหมู่บ้านนี้มีความสุขดีคือ ทุกคนเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเป็นนายกสมาคม หรือสมาชิกธรรมดา
(น.53) คุณหนิวเหวิน เป็นนายกสมาคมของที่นี่และเป็นรองประธานของสมาคมจิตรกรเสฉวน เป็นคนมีอายุ 70 กว่าปีแล้ว มีผลงานดีเด่น มีรูปเขียนพู่กันจีนภาพหนึ่งที่ติดไว้ข้างฝา เป็นรูปข้าราชการระดับนายอำเภอ มีวาทะของนายอำเภอว่า “เป็นผู้นำ ถ้าไม่ทำอะไรให้ประชาชน กลับไปบ้านขายมันเทศจะดีกว่า”
อีกห้องมีผลงานของหลี่เซ่าเหยียน (ไม่ได้มา) เขาทำงานด้านนี้ให้พรรคคอมมิวนิสต์มา 50-60 ปีแล้ว โดยการทำภาพพิมพ์ไม้ให้หนังสือพิมพ์ของพรรค อีกคนหนึ่งชื่อหัวจุนอู่ เป็นนักวาดภาพการ์ตูนที่มีชื่อเสียงที่สุดในจีน ไม่ได้เป็นสมาชิกของหมู่บ้านนี้ แต่รู้จักชอบพอกับจิตรกรในหมู่บ้าน มักส่งรูปมาให้อยู่เสมอ ผลงานภาพหนึ่งเป็นภาพกบกระโดดลงบ่อ มีบทกวีเขียนบรรยายว่า ใคร ๆ ก็ชมว่าฟ้ากว้างใหญ่ เห็นท้องฟ้าแล้วเกิดความกลัว กระโดดออกมาจากบ่อ เกรงอันตรายจากลม กลับไปอยู่ก้นบ่อดีกว่า อีกภาพคือสมาชิกแก๊งสี่คน คนหนึ่งหน้าเป็นหมู
(น.65) ไปถึงท่าเรือ เจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์และมาดามหลู่กล่าวลา มองดูแม่น้ำเจียหลิงเจียงใสกว่าแม่น้ำฉางเจียงมาก ซึ่งก็เหมือนกันทั่วโลก แม้แต่แม่น้ำมูลที่ไหลลงแม่น้ำโขงก็ใสกว่าแม่น้ำโขง จนมีคำพูดว่า โขงสีปูน มูลสีคราม
ลงเรือท่องเที่ยวปาซาน ยังไม่ถึงเวลารับประทานอาหาร ก็เลยไปนั่งหน้าเรือ แล้วไปรับประทานอาหารกลางวัน ปรากฏว่าวันนี้อาหารสมเป็นอาหารเสฉวนตามคำเล่าลือ คือรสเผ็ดมากทุกอย่าง รับประทานอาหารแล้วกลับไปนั่งเขียนเรื่องต่อที่ข้างเรือ ชมทิวทัศน์ไปพลาง ตามก้อนหินเขียนระดับน้ำไว้ ริมแม่น้ำฉางเจียงนี้มีที่ปลูกผักสวนครัวแบบเดียวกับแม่น้ำในเมืองไทย ตึกรามบ้านช่อง 2 ข้างฝั่งน้ำมีแต่ตึกแบบสมัยใหม่ บางที่เป็นโรงงาน น้ำเป็นสีแดงและมีมลภาวะบ้าง การเดินเรือขณะนี้ไม่ค่อยพลุกพล่านนัก
(น.66) รูป 67 ในเรือปาซาน คุณถังเฟิงหยุนบรรยายเรื่องโครงการเขื่อนซานเสีย
(น.66) เวลา 15.00 น. คุณถังเฟิงหยุน รองอธิบดีประจำสำนักงานบริหารคณะกรรมการก่อสร้างโครงการซานเสีย บรรยายให้ฟัง
เขาได้รับมอบจากสำนักงานของเขาซึ่งขึ้นกับสำนักนายกรัฐมนตรีให้มาต้อนรับ รัฐบาลตั้งคณะทำงานโครงงานนี้ตั้งแต่ ค.ศ. 1992 เพื่อให้การก่อสร้างเขื่อนซานเสียเป็นไปโดยราบรื่น ท่านนายกรัฐมนตรีหลี่เผิงเป็นประธานกิตติมศักดิ์ของคณะ มีรองนายกรัฐมนตรีผู้ว่าราชการมณฑลเสฉวนและมณฑลหูเป่ยเป็นกรรมการ รวมทั้งผู้แทนของกระทรวงต่าง ๆ 27 กระทรวง
(น.68) จุดประสงค์หลักของการก่อสร้างโครงการซานเสียซึ่งเป็นเขื่อนแรกบนลำน้ำสายหลักของแม่น้ำฉางเจียงมีอยู่ 3 ประการคือ
1. เพื่อควบคุมและบรรเทาอุทกภัยในบริเวณพื้นที่สองฝั่งในช่วงกลางและช่วงล่างของลุ่มแม่น้ำฉางเจียง
2. เพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับใช้ในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศจีน รวมทั้งบริเวณภาคตะวันออกของมณฑลเสฉวน
3. เพื่อปรับปรุงเส้นทางเดินเรือช่วงตั้งแต่ตัวเขื่อนขึ้นไปเหนือน้ำจนถึงนครฉงชิ่ง และลงมาทางด้านท้ายน้ำจนถึงปากแม่น้ำ โดยเฉพาะในหน้าแล้งให้ดีขึ้น
ลักษณะโดยทั่วไปของโครงการประกอบด้วยเขื่อนคอนกรีตสูง 175 เมตร ยาว 2,309 เมตรสันเขื่อนอยู่ที่ระดับ 185 เมตร และระดับเก็บกักปกติอยู่ ที่ 175 เมตร เขื่อนนี้กักน้ำได้ 39,300 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 8.7 % ของปริมาณน้ำไหลเฉลี่ยทั้งปี ซึ่งมีถึง 450,000 ล้านลูกบาศก์เมตร เมื่อมีน้ำหลากหรือน้ำนองเกิดขึ้นในฤดูฝนก็สามารถเก็บกักน้ำสูงสุดได้ถึงระดับ 180.40 เมตร และจะต้องพร่องน้ำโดยระบายออกผ่านทางช่องระบายน้ำล้น พร้อมทั้งพยายามระบายผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำหรับการผลิตไฟฟ้าในช่วงเวลาหลังหน้าฝนและในหน้าแล้งจนลดลงไปอยู่จุดต่ำสุดที่ระดับ 145 เมตร และรักษาระดับนี้ไว้จนถึงเดือนกันยายน ดังนั้นในปลายเดือนตุลาคมน้ำในอ่างก็เพิ่มขึ้นจนถึงระดับเก็บกักสูงสุดอีก ฉะนั้นอ่างเก็บน้ำนี้จึงมีความจุประสิทธิผล (effective storage) เพียง 22,100 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น และอ่างยาวขึ้นไปตามร่องน้ำประมาณ 600 กิโลเมตร จนถึงนครฉงชิ่ง แต่มีความกว้างเฉลี่ยเพียง 1,100 เมตรเท่านั้น
(น.70) ก่อสร้างโรงไฟฟ้าทางด้านฝั่งขวาซึ่งจะติดตั้งเครื่องเพิ่มเติมได้อีก 6 เครื่อง ขนาดกำลังการผลิตเครื่องละ 700 เม็กกะวัตต์เช่นกัน เขื่อนซานเสียจึงเป็นเขื่อนใหญ่ที่สามารถผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้มากที่สุดในโลก กระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้นั้นจะส่งไปใช้ในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกของจีนโดยระบบสายส่งกระแสไฟฟ้าตรงขนาด 500 กิโลโวลต์ รวมทั้งบริเวณภาคตะวันออกของมณฑลเสฉวนโดยระบบสายส่งกระแสไฟฟ้าสลับขนาด 500 กิโลโวลต์เช่นกัน
นอกจากนี้ทางด้านฝั่งซ้ายถัดจากโรงไฟฟ้าออกไปยังมีคลองขุดสำหรับให้เรือผ่านบริเวณเขื่อนได้อีก 2 ช่อง คือ ช่องแรกเป็นคลองสำหรับการยกเรือ (ship lift) สามารถยกเรือขนาด 3,000 ตัน และ
(น.73) ก่อสร้างแล้วเสร็จในระยะที่สองเช่นกัน แล้วจึงก่อสร้างโรงไฟฟ้าฝั่งขวาและปีกเขื่อนในบริเวณคลองผัน รวมทั้งติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้งหมด 26 เครื่องให้แล้วเสร็จภายใน ค.ศ.2009 ด้วย
ความก้าวหน้าของการก่อสร้างตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบันซึ่งอยู่ในแผนการก่อสร้างระยะแรก ได้ขุดดินและหินทางด้านฝั่งขวาในบริเวณคลองผันน้ำ และก่อสร้างกำแพงคอนกรีตแบบบดอัดตามแนวยาวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตัวทำนบและคลองผันน้ำชั่วคราว จะแล้วเสร็จและผันน้ำได้ประมาณเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1997 รวมทั้งการขุดดินและหินทางด้านฝั่งซ้ายและก่อสร้างประตูและคลองเดินเรือชั่วคราวเพื่อใช้ในการเดินเรือได้ให้แล้วเสร็จ ได้ก่อสร้างและปรับปรุงถนนจากเมืองอี๋ชางระยะทาง 40 กิโลเมตร และสะพานแขวนซีหลิงข้ามแม่น้ำทางด้านท้ายน้ำของบริเวณตัวเขื่อนแล้วเสร็จเช่นกัน
เมื่อเขื่อนสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว นอกจากประโยชน์ที่ได้รับจากการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 18,200 เม็กกะวัตต์ และให้พลังงานเฉลี่ยปีละ 84,700 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพื่อส่งไปใช้ในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศจีนจนถึงนครเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกของมณฑลเสฉวน สามารถทดแทนการเผาเชื้อเพลิงที่เป็นถ่านหินอันจะทำให้เกิดมลภาวะได้ปีละ 40-50 ล้านตันแล้ว ยังอำนวยประโยชน์ทางด้านการเดินเรือเหนือเขื่อนขึ้นไปถึงนครฉงชิ่งซึ่งยาวถึง 600 กิโลเมตร และสามารถให้เรือขนาด 10,000 ตันแล่นไปได้โดยสะดวก ทำให้เพิ่มปริมาณการขนส่งทางน้ำได้ถึง 5 เท่า คือเพิ่มจากเดิมปีละ 10 ล้านตันเป็น 50 ล้านตันและลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 35 % ส่วนทางด้านท้ายเขื่อนลงไปถึงปากน้ำก็จะเดินเรือได้ดีขึ้นในช่วงหน้าแล้ง เพราะสามารถปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมาช่วยได้
(น.75) บางคนถามว่าถ้าสร้างเขื่อนเล็กหลาย ๆ เขื่อนน่าจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้เหมือนกัน แต่การแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยวิธีการนี้คงจะทำได้ลำบาก เพราะเขื่อนขนาดเล็กไม่สามารถเก็บกักน้ำแล้วผ่อนระบายลงท้ายน้ำได้มากนัก ประกอบกับในบริเวณภาคตะวันออกของมณฑลเสฉวนและภาคตะวันตกของมณฑลหูเป่ยเป็นพื้นที่ที่มีฝนตกหนักมากจึงทำให้เกิดน้ำท่วมบ่อย ดังนั้นต้องก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่จึงจะช่วยบรรเทาอุทกภัยได้
เรื่องการอพยพราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนนั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญ มีผู้ตั้งข้อสังเกตต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศจีน รัฐบาลตรวจสอบทำสถิติได้ทราบว่า บริเวณที่ก่อสร้างโครงการนี้จะกระทบประชาชน 840,000 คนตามที่ได้สำรวจไว้ใน ค.ศ.1992 เวลาผ่านไป 17 ปี ประชากรจะเพิ่มขึ้นอีกคาดว่ากว่าจะแล้วเสร็จจะมีประมาณ 1,150,000 คน จำนวนนี้อยู่ในมณฑลเสฉวนประมาณ 85% อยู่ในมณฑลหูเป่ยราว 15% งบประมาณที่จะให้ในการแก้ปัญหาประมาณ 40,000 ล้านหยวน
รัฐบาลถือว่าเรื่องนี้สำคัญ จึงวางนโยบายเอาไว้ดังนี้
1. การอพยพเชิงพัฒนา แต่ก่อนเมื่อทำโครงการประเภทนี้ มักบังคับคนให้ย้ายไป ไม่ได้ช่วยจัดการอะไรให้เลย คราวนี้จะช่วยในเชิงพัฒนาแก่ผู้ที่ต้องอพยพโยกย้าย
2. การหาที่อยู่ให้ใหม่ ให้เงินปลูกบ้านใหม่ มีที่สำหรับเพาะปลูก
3. การฝึกให้ทำงานอาชีพต่าง ๆ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าก่อนการอพยพ เช่น ที่ฝูหลิง ว่านเซี่ยน และอี๋ชาง จะพัฒนาให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตเท่าเทียมกับบริเวณที่อยู่ริมทะเล งบประมาณขั้นแรกราว 500 ล้านหยวน
(น.76) เมืองต่าง ๆ จาก 26 มณฑลทั่วประเทศจีนช่วยกันสนับสนุนมณฑลที่ถูกน้ำท่วม
เมื่อคุณถังพูดมาได้ถึงตรงนี้ ฝ่ายการท่องเที่ยวมาบอกว่า เรือผ่านบริเวณฝูหลิง ในบริเวณนี้มีหินสลักอยู่ใต้น้ำหลายสมัย เริ่มตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ประมาณ 10 ปีน้ำจะลดพอที่จะมองเห็นหินสลักเหล่านี้ เขาบอกว่าทางการจีนกำลังคิดหาวิธีการสร้างโครงกระจกคลุมหินสลักเอาไว้ หาวิธีให้คนดำน้ำหรือทำเรือดำน้ำให้คนลงไปดูหินสลักได้ ข้าพเจ้าดูสภาพน้ำแล้วก็รู้สึกว่าไม่รู้สึกอยากดำน้ำเลย และถึงจะดำน้ำลงไปได้ ก็คงไม่เห็นรูปสลักเพราะน้ำขุ่นมาก ฝ่ายจีนยืนยันว่าถ้าทำโครงการแล้วน้ำจะใสกว่านี้ บริเวณที่มีหินสลักมีระยะทางราว 2 กิโลเมตร มองเห็นปากแม่น้ำอูเจียง
กลับไปฟังการบรรยายของคุณถัง :
งบประมาณที่ใช้ในเรื่องการย้ายคนราว 40,000 ล้านหยวน ให้มณฑลที่ได้รับผลกระทบ 2 มณฑลรับเงินไปตามสัดส่วนประชาชน งบประมาณนี้ตั้งขึ้นใน ค.ศ.1993 แต่ละปีก็เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ (ตอนนี้ประมาณ 14% ต่อไปเขาจะพยายามให้ต่ำกว่า 10%) ประชาชนที่ต้องย้ายออกไปเกือบหมดอยู่ในจังหวัดว่านเซี่ยนและจังหวัดฝูหลิง (ในมณฑลเสฉวน) เมื่อทำโครงการแล้ว การพัฒนาเศรษฐกิจจะพัฒนาเร็วขึ้น ในแผน 8 ทั้ง 2 จังหวัดมีมวลรวมการผลิตเพิ่มขึ้น 11.9% กับ 14.6% ตามลำดับ รายได้ประชาชาติเพิ่มราว 19.1% กับ 24.2% เศรษฐกิจของฝูหลิงในแผน 8 เพิ่มขึ้นหลายสิบเท่ากว่าที่เพิ่มขึ้นในรอบ 40 ปี ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น 6,503 ล้านหยวน กับ 14,400 ล้านหยวน จังหวัดอี๋ชาง (ในมณฑลหูเป่ย) ขณะนี้มีการก่อสร้างเป็น 2 เท่าของ ค.ศ.1990 ก่อนเริ่มโครงการเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 6 พอเริ่มโครงการ
(น.79) หินเป็นหินแกรนิต เป็นแหล่งที่เหมาะสมที่สุด กล่าวกันว่าเป็นรางวัลจากสวรรค์ อีกประการหนึ่งบริเวณนี้ไม่ใช่เขตแผ่นดินไหว จุดเกิดแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากบริเวณนี้มาก ในการออกแบบตัวเขื่อนและอาคารประกอบต่าง ๆ ก็ได้ออกแบบให้สามารถรับแรงสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวไว้แล้ว จึงไม่มีปัญหาอะไร มีผู้เคยถามว่า ถ้าเกิดสงคราม เขื่อนนี้จะทำให้เกิดอันตรายไหม ตอบว่าการสร้างเขื่อนนี้จะทำอย่างแข็งแรงมาก เป็นคอนกรีตอย่างดี ถ้ามีปัญหาจริง ๆ เช่น เกิดสงครามต้องระบายน้ำออก ใช้เวลา 7 วันก็หมดเหมือนกับแม่น้ำธรรมดา
ข้าพเจ้าถามถึงการวางผังเมืองใหม่ว่าทำอย่างไร คุณถังอธิบายว่า ก่อนการอพยพจะต้องสำรวจประชากรและจดทะเบียนทุกคน ลงนามเป็นหลักฐาน เมื่อรัฐบาลกลางประกาศมติว่าจะอพยพ มีข้อบังคับเกี่ยวกับการอพยพ มณฑลเสฉวน มณฑลหูเป่ย จะต้องรับผิดชอบวางผังเมืองใหม่ และทำแผนการละเอียด แบ่งเป็นอำเภอมอบให้เทศบาลวางแผนอพยพให้ชัดเจนว่า ในเมืองใหม่ตรงไหนเป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัย โรงงาน เขตราชการ โรงเรียน แผนการกำจัดน้ำเสีย ฯลฯ งบประมาณอพยพไม่ได้ให้ประชาชน เป็นเรื่องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากกว่า
ผู้จัดการท่องเที่ยวอธิบายทิวทัศน์ 2 ด้านว่า 18 นาฬิกาจะถึงเฟิงตูเมืองผี อยู่ทางซ้ายมือ 20 นาฬิกาผ่านจงเซี่ยน 21.00 น. ถึงหอสูงสือเป่าไจ้ และ 23.00 น. ไปทอดสมอพักนอนที่เมืองว่านเซี่ยน พรุ่งนี้เช้า (17 สิงหาคม พ.ศ. 2539) ไปในเมือง ออกเรือ 10.00 น. ตอนเที่ยงผ่านหยุนหยาง มีศาลเจ้าเตียวหุย (จางเฟย) 14.00 น. ถึงอำเภอเฟิ่งเจี๋ย ลงเรือเล็กไปไป๋ตี้เฉิง 17.00 น. เดินทางต่อผ่านฉูถังเสีย
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 89-90
(น.89) ยิ่งใหญ่แบบบทกวี Romantic หรืออาจกล่าวได้ว่าได้รับอิทธิพลความคิดลัทธิเต๋าแต่ก็ยังติดอยู่กับความรู้สึกต้องการสังคมที่มีระเบียบตามลัทธิขงจื้อ ความขัดแย้งในอารมณ์เช่นนี้เป็นเสน่ห์ของวรรณคดีอันเป็นเครื่องถ่ายทอดความคิดจิตใจของบุคคลต่อผู้อื่น
รับประทานอาหารเช้าแล้วลงจากเรือ มีนายกเทศมนตรีนครว่านเซี่ยนชื่อ เว่ยอี้จาง มาต้อนรับ ชี้ให้ดูหอนาฬิกาซีซานซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของเมือง และชี้บริเวณริมแม่น้ำซึ่งจะถูกน้ำท่วม กลายเป็นวังใต้น้ำหลังโครงการเขื่อนซานเสีย ต้องสร้างเมืองใหม่อยู่ห่างจากเมืองเดิมประมาณ 10 กิโลเมตร มีรถมารับ ในรถนายกเทศมนตรีอธิบายว่า เขตการปกครองที่เป็นเมืองว่านเซี่ยนมีประชากร 4 แสนกว่าคน แต่ถ้านับคนในนครว่านเซี่ยนทั้งหมดที่อยู่ในเขตปกครอง 3 เขตใกล้เมือง 8 อำเภอ มีประชากรประมาณ 8,350,000 คน เป็นอันดับ 4 ของมณฑลเสฉวน ถนนที่รถกำลังแล่นอยู่ชื่อ เซิ่งลี่ เป็นเขตร้านขายของประเภทขายส่ง นครว่านเซี่ยนนี้มีฐานะทางการปกครองเท่ากับ ฝูหลิง และฉงชิ่ง ปัจจุบันมีความสำคัญยิ่งขึ้นเพราะมีโครงการเขื่อนซานเสีย คนภายในและภายนอกประเทศเข้ามาท่องเที่ยวและศึกษาวิจัยกันมาก รถเข้าถนนเตี้ยนเป้าลู่ เป็นถนนกลางเมือง แต่ก่อนถือว่าพัฒนาดี ตั้งแต่เริ่มการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีน ทำให้ว่านเซี่ยนเป็นเมืองเปิด มีสำนักงานธุรกิจต่างประเทศมาตั้ง มีความก้าวหน้าด้านโทรคมนาคม รถผ่านศาลเจ้าเล่าปี่
ถึงโรงแรมไท่ไป๋(หมายถึง หลี่ไป๋) หลี่ไป๋ กวีที่มีชื่อในสมัยราชวงศ์ถังเคยมาแถวนี้ และเขียนบทกวีพรรณนาเมืองไว้ เป็นการประชาสัมพันธ์ให้โลกรู้จักเมืองนี้
(น.90) นายกเทศมนตรีกล่าวต้อนรับและบรรยายสรุปว่า นครว่านเซี่ยนเป็นประตูทางตะวันออกของมณฑลเสฉวน เป็นเมืองท่า 1 ใน 10 เมืองท่าสำคัญของแม่น้ำฉางเจียง นครว่านเซี่ยน 3 เขต 8 อำเภอ มีเนื้อที่ 29,485 ตารางกิโลเมตร เมืองนี้มีมาแต่โบราณตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออกเมื่อ ค.ศ. 206 นานกว่า 1,700 ปีแล้ว เมืองนี้ชื่อว่า ว่านเซี่ยน หมายถึง เป็นเมืองที่มีแม่น้ำหมื่นสายมารวมกัน กวีโบราณไม่ว่าจะเป็นหลี่ไป๋ ตู้ฝู่ ล้วนเคยมาที่นี่ มีชาวต่างประเทศมาลงทุนตั้งแต่ ค.ศ. 1902 ขณะนี้คนมาสนใจโครงการซานเสีย นครนี้มีภาระอพยพหนักที่สุดในโครงการ เพราะต้องย้าย 1 เมือง 5 อำเภอ 70 ตำบล และโรงงาน 957 โรง คาดว่าปลาย ค.ศ. 2008 ต้องอพยพคนมากกว่า 8 แสนคน คิดเป็นประมาณร้อยละ 70 ของโครงการอพยพทั้งหมด ทั้งรัฐบาลและประชาชนจีนสนับสนุนการก่อสร้างและนโยบายพึ่งตนเอง แม้ว่าจะได้รับความสนับสนุนจากรัฐบาลกลางและรัฐบาลมณฑลต่าง ๆ
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 123,133-134
(น.123) ภูเขาแถวนี้เป็นเขาหินทราย แต่ก็มีถ้ำซึ่งคงจะโดนน้ำกัดเซาะ แต่ไม่มีหินงอกหินย้อยเพราะไม่ใช่หินปูน มีภูเขาลูกหนึ่งมีถ้ำกลม ๆ 2 ถ้ำคู่กัน ชาวบ้านเลยเรียกกันว่า ถ้ำหมีแพนด้า เทือกเขานี้ยาวถึง 400 กว่ากิโลเมตร ผ่านมณฑลเสฉวน หูเป่ย ส่านซี ภูเขาสูงไม่ค่อยมีต้นไม้ใหญ่ มีทุ่งหญ้า มีวัวและแพะอยู่มาก เป็นของชาวบ้านเลี้ยงไว้ แต่ไม่ต้องดูแล ปล่อยให้หากินเอง
ภูเขาผีผา คำภาษาจีนที่เขียนต่างกัน แต่ออกเสียงพ้องกันว่า ผีผา นี้ คำหนึ่งหมายถึง เครื่องดนตรีประเภทเครื่องสายชนิดหนึ่ง อีกคำหนึ่งใช้ในความหมายถึง ผลไม้ชนิดหนึ่ง ในที่นี้คงหมายถึงเครื่องดนตรี ไกด์บอกว่ารูปร่างเหมือนผีผา แต่ข้าพเจ้าดูไม่ออก มีคนอาศัยอยู่ 30 กว่าครอบครัวมาตั้งแต่สมัยจ้านกว๋อและราชวงศ์โจว เห็นมีนักท่องเที่ยวมากันมาก (เผอิญวันนี้เป็นวันหยุด) องค์การท่องเที่ยวกับชาวบ้านทำสัญญากันว่าจะทำเป็นรีสอร์ต ปีหน้าจึงจะสร้างเสร็จ แถวนี้นอกจากจะเป็นไร่ข้าวโพด ไร่มันเทศแล้วยังมีสวนผลไม้
(น.133) เมื่อรับประทานเสร็จกลับลงเรือเพื่อกลับไปเรือใหญ่ ตอนนี้ไม่ต้องชมทิวทัศน์แล้ว เลยคุยกัน ขอให้นายอำเภอช่วยเขียนคำขวัญอะไรให้ที่ก้อนหินที่เก็บมา เขาลายมือสวย แต่บอกว่าตอนนี้งานมากไม่มีเวลาฝึก ขอให้เขาเขียนให้บนสมุด เขาก็เขียนบทกวีไป๋ตี้เฉิง ตอนหลังข้าพเจ้าเขียนโพสต์การ์ดถึงตัวเอง ขอให้เขาส่งและเขียนอะไรให้ด้วย เขาบอกว่าจะเอากลับไปเขียนให้อย่างดีที่สุดที่บ้าน
กลับขึ้นเรือปาซาน ผ่านอูเสียไปมณฑลหูเป่ย เขาบอกว่าเส้นที่แบ่งมณฑลเสฉวนกับมณฑลหูเป่ยนั้นลากเฉียง ๆ ฉะนั้นฝั่งขวามือของเราจะเป็นเขตมณฑลหูเป่ยแล้ว แต่ฝั่งซ้ายมือยังต้องถือเป็นเสฉวนอยู่ สถานที่แบ่งเขตมณฑลเป็นช่องเขาที่มีลักษณะแปลกคือ ต้นไม้ต่าง ๆ ที่ขึ้นอยู่ในเขตเสฉวนจะเอียงไปด้านเสฉวน ส่วนพวกที่ขึ้นในดินของหูเป่ย ก็เอียงไปทางหูเป่ย
บนภูเขามียอดเขาเติงหลง ถ้ำหลู่โหยว บริเวณโตรกเขาอูซานนี้ มียอดเขาที่เป็นที่รู้จักกันอยู่ 12 ยอด แต่มองเห็นจากเรือเพียง 9 ยอดเท่านั้น มีถ้ำตามนิทานว่า มีนักรบยิงธนูทะลุหิน มองขึ้นไปภูเขาสูงมากจริง ๆ แต่ก็ยังมีคนขึ้นไปทำการเกษตร สองข้างทางบนฝั่งมีเรือลำหนึ่งจอดเกยตื้นอยู่ หินแตก ๆ เป็นลายเหมือนขั้นบันได มีหลักศิลาจารึกหิน เล่ากันว่าเป็นศิลาจารึกขงเบ้ง ตรงหน้าผาก็มีทางเดินแคบ ๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นทางสำหรับการเดินข้าม คนที่ลากเรือจะขึ้นไปเดินอยู่ข้างบน ทางเดินหินนี้อายุยืนราว 100 กว่าปี สมัยพระเจ้ากวางสู ราชวงศ์ชิง กว้างประมาณ 1.5 เมตร เรื่องซานเสียนี้เขาว่ามีสถานที่ที่คณะถ่ายหนังของ ABC มาถ่ายสารคดี
(น.134) ผ่านหมู่บ้านเผยฉือ เป็นหมู่บ้านแรกที่อยู่ในมณฑลหูเป่ย ท่านโกโมโร่เขียนบทกวีเอาไว้ว่า หัวเรืออยู่หูเป่ย หางเสืออยู่เสฉวน
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 145,149,150
(น.145) วันจันทร์ที่ 19 สิงหาคม 2539
ข้าพเจ้าตื่นตี 4 แต่นอนต่อไปจนตี 5 พอเกือบจะสว่างคนโน้นคนนี้ค่อย ๆ มาที่หัวเรือ คุยกันเรื่องโครงการซานเสีย
ไกด์เดินเข้ามาอธิบายซีหลิงเสียซึ่งเป็นโตรกเขาสุดท้ายอยู่ตรงเขตติดต่อระหว่างมณฑลเสฉวนกับมณฑลอันฮุย เขาบอกว่าบริเวณซีหลิงเสียนี้มีดินถล่มมากที่สุด ตั้งแต่สมัยราชวงศ์หมิงต่อเนื่องกันถึง 82 ปี เริ่มแต่ ค.ศ. 1544 เรือผ่านเกือบไม่ได้เพราะอันตรายมาก มีเมืองเล็ก ๆ เมืองหนึ่งมี 460 หลังคาเรือน ภายใน 10 นาทีพังทลายหมดหมู่บ้าน เหตุที่ดินถล่มเพราะชาวบ้านขุดถ่านหิน ทำให้ดินกลวงรับน้ำหนักไม่ได้ ที่แปลกคือหมู่บ้านพังพินาศทั้งหมู่บ้าน แต่ไม่มีใครเป็นอันตราย เพราะมีซินแสบอกไว้ล่วงหน้า นี่เป็นเรื่องเล่า ข้าพเจ้าก็ไม่ทราบว่าเชื่อได้กี่เปอร์เซ็นต์
ตรงเส้นแบ่งเขตระหว่างมณฑลเป็นโตรกเล็ก ๆ เขาเล่าว่าต้นไม้ของมณฑลไหนจะเอนเข้ามณฑลนั้น ทำให้รู้ว่าจะขีดเส้นแบ่งเขตมณฑลตรงไหน
(น.149) แต่ก่อนนี้ช่วงต้นของปลายแม่น้ำฉางเจียงเกิดอุทกภัยบ่อยครั้ง การขนส่งทางเรือมีอุปสรรค ค.ศ. 1931 และ 1935 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ คนตาย 140,000 กว่าคน อุทกภัย ค.ศ. 1954 คนตาย 33,000 คน เขื่อนคันดินที่ก่อสร้างไว้ทั้งสองฝั่งของลำน้ำสามารถป้องกันน้ำท่วมที่มีขนาด 10 ปีครั้งได้ น้ำท่วมมากกว่านั้นป้องกันไม่ได้ ถ้าทำเขื่อนซานเสียเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะสามารถป้องกันน้ำท่วมขนาด 100 ปี ครั้งและ 1,000 ปีครั้งหนึ่งได้
ไฟฟ้าพลังน้ำเป็นพลังงานที่บริสุทธิ์ (ไม่ทำให้อากาศเสีย) ไฟฟ้าพลังน้ำที่ผลิตได้จากเขื่อนซานเสียสามารถทดแทนการผลิตโดยการเผ่าถ่านหินได้เฉลี่ยมากกว่า 50 ล้านตันต่อปี การขนส่งระหว่างฉงชิ่งถึงอี๋ชางก็จะทำได้โดยสะดวก เป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเชื่อมมณฑลทางตะวันออกและมณฑลในตอนกลางของประเทศ สอดคล้องกับแผนพัฒนาฉบับที่ 9 ของประเทศ
ผู้ริเริ่มโครงการนี้คือ ดร.ซุนยัดเซ็น เมื่อ ค.ศ. 1917 จากนั้นพยายามหาข้อมูล และทดลองวิจัยมาโดยตลอด จนพร้อมที่จะเริ่มต้นการก่อสร้าง โครงการซึ่งกำหนดไว้เป็นเวลา 17 ปี มี 3 ขั้นดังนี้
ค.ศ. 1993-1997 ช่วงนี้ทำมา 3 ปีกว่าแล้ว งานราบรื่นดี การวางแผนการลงทุนครบถ้วนในเดือนพฤศจิกายน การก่อสร้างใช้นโยบายยุทธศาสตร์พัฒนาต่อเนื่อง ระวังเรื่องสิ่งแวดล้อม จัดแหล่งท่องเที่ยว รัฐบาลมอบให้บริษัทซานเสียบุกเบิกพลังงานใหม่ ๆ ที่แม่น้ำฉางเจียง ปัจจุบันมีอีก 2 โครงการ คือ โครงการจินซาเจียงและซีโหลวตู้ (ผลิตไฟฟ้าอยู่มณฑลยูนนาน) เซียงเจียป้าอยู่มณฑลเสฉวน
(น.150) การบุกเบิกแม่น้ำฉางเจียงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจนี้ต่อไปคงจะได้แสวงหาความร่วมมือกับไทยด้วย
การทำโครงการซานเสียเมื่อได้กระแสไฟฟ้า เริ่มต้นส่งไฟที่ภาคกลางไปจดเซี่ยงไฮ้ทางทิศตะวันออก ไปทางทิศตะวันตกถึงเสฉวน ภายหลังเมื่อผลิตได้ครบตามที่โครงการกำหนดแล้ว ก็จะส่งกระแสไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้าของประเทศ ฉะนั้นการสร้างเขื่อนจึงมิได้เป็นประโยชน์เฉพาะบริเวณนี้ แต่เป็นประโยชน์แก่ประเทศจีนเกือบทั้งประเทศ
ท่านทูตถามว่าเคยพบปัญหาอะไรที่ไม่เคยพบไหม เขาบอกว่าตั้งแต่ทำงานมา 3 ปีนี้ ยังไม่เคยพบปัญหาใหญ่เลย ต่อไปในอนาคตจะเป็นอย่างไรยังพูดไม่ถูก
คุณถังมาแนะนำข้าพเจ้าให้ถามเรื่องเงินทุน (ข้าพเจ้าเคยถามคุณถัง แต่คุณถังยังไม่ทันอธิบายพอดีถึงเวลาต้องลงจากเรือ) คุณหลี่อธิบายว่า เงินทุนส่วนที่มาจากต่างประเทศไม่มีปัญหาอะไร ถึงสหรัฐฯ ขัดขวางไม่ให้จีนกู้เงินจากธนาคารในสหรัฐฯ ก็ไม่เป็นไร เพราะประเทศในยุโรปและเอเชียหลายประเทศตื่นเต้นโครงการนี้ อยากมีส่วนร่วม ให้เงินกู้และมาประมูลงานก่อสร้าง ประมูลขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ
ข้าพเจ้าถามต่อเรื่องปัญหาตะกอน เขาว่าเรื่องนี้มีประสบการณ์จากเขื่อนเก่อโจวป้า ซึ่งได้ดำเนินการทดลองและออกแบบให้มีประตูระบายไว้แล้ว จึงไม่มีปัญหาทางเทคนิค ส่วนที่ข้าพเจ้าเกรงว่าปุ๋ยในน้ำจะมีน้อยลงนั้น ปัจจุบันนักวิชาการกำลังศึกษาอยู่
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 225
(น.225) เหตุเหมือนคราวก่อน ยิ่งถ้าสร้างเขื่อนเสร็จจะลดปริมาณน้ำท่วมไปมาก
โครงการใหญ่เช่นนี้ประชาชนชาวจีนทุกคนได้ร่วมมือช่วยกัน (อธิบายเรื่องเพิ่มค่าไฟอย่างที่คุณถังได้อธิบายมาแล้ว)
ข้าพเจ้าสงสัยว่าการทำเขื่อนนี้จะป้องกันน้ำท่วมอู่ฮั่นได้อย่างไร เนื่องจากใต้เขื่อนยังมีแม่น้ำอีกหลายสาย มีระบบเขื่อนเล็ก ๆ ที่อื่นอีกหรือเปล่า
ท่านนายกรัฐมนตรีบอกว่ายังมีโครงการเล็ก ๆ อีกหลายโครงการ เช่น แถว ๆ อู่ฮั่นมีแม่น้ำชิงเจียง แม่น้ำฮั่นสุ่ย ที่มณฑลหูหนานอีก 4 แห่ง และยังมีอีกหลายเขื่อน เช่น ที่แม่น้ำหย่าหลงเจียงในมณฑลเสฉวน มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าได้ 33,438.8 เม็กกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีที่ทะเลสาบต้งถิงหู แม่น้ำเซียงเจียง แม่น้ำจือสุ่ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ เขื่อนเออร์ทาน ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าได้ 3,300 เม็กกะวัตต์ โครงการเขื่อนเออร์ทานอยู่บนลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำฉางเจียงช่วงตอนบน ชื่อ แม่น้ำจินซาเจียง เป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้ง (arch dam) กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าเครื่องแรกจะเสร็จใน ค.ศ. 1998 ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 6 เครื่อง เครื่องละ 550 เม็กกะวัตต์
เขื่อนเออร์ทานนี้มีลักษณะพิเศษ เขื่อนอื่น ๆ มีคันกั้นน้ำค่อนข้างหนา ที่นี่กำแพงบางและเป็นรูปโค้ง
มาดามพูดถึงภูเขาหวงซานว่าที่นั่นจะต้องดูพระอาทิตย์ขึ้น จะต้องบอกเจ้าหน้าที่โรงแรมให้เขาเรียกมาดู
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 290
(น.290) สวนยู่หยวน สร้างสมัยต้นราชวงศ์หมิง ค.ศ. 1559 ผู้สร้างเป็นขุนนางตระกูลพาน ซึ่งเป็นชาวเซี่ยงไฮ้ แต่ไปรับราชการเป็นผู้ว่าราชการมณฑลเสฉวน สร้างบ้านหลังนี้เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบิดา ซึ่งเคยเป็นเสนาบดีกลาโหมของเสฉวน เมื่อสร้างเสร็จบิดาก็เสียชีวิตพอดี แต่ก่อนเป็นสวนใหญ่โต ปลูกทั้งต้นไม้ต่าง ๆ และปลูกผัก ร้านน้ำชาก็เป็นส่วนหนึ่งของสวนนี้ ตอนที่เกิดสงครามฝิ่นใน ค.ศ. 1839 สวนถูกทำลายไปมาก เพิ่งมาซ่อมราว ค.ศ. 1959 ซ่อมเสร็จ ค.ศ. 1980
เข้าไปในสวนนี้จะเห็นต้นแป๊ะก๊วยต้นใหญ่อายุ 400 ปี ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือสวนหิน ทำเป็นเขามอ เป็นแห่งเดียวในเซี่ยงไฮ้ นำหินมาจากหลายแหล่ง เช่น อำเภออู่คัง มณฑลเจ้อเจียง มีหินที่เอามาจากทะเลสาบไท่หู การนำหินมาประกอบกันไม่ได้ใช้ซีเมนต์ ใช้ปูนผสมข้าวเหนียว
Next >>