Please wait...

<< Back

ราชวงศ์ถัง

(น.306) หูโจว พู่กันที่ทำที่เมืองนี้จึงเรียกกันว่า หูปี่ นับถือกันว่ามีคุณสมบัติเป็นเลิศครบ 4 ประการคือ หัวพู่กันกลมมน ขนพู่เสมอกัน ด้ามแข็งแรง ปลายแหลมคม พู่กันนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เหมิงซี เป็นอนุสรณ์แด่เหมิงเถียนผู้ประดิษฐ์พู่กันชนิดใช้ขนสัตว์เป็นพู่ การผลิตพู่กันที่เมืองนี้เจริญรุ่งเรืองมาก และทำส่งใช้ในราชสำนักด้วย พู่กันมีหลายขนาด ที่ใช้เขียนหนังสือตัวโต ๆ เรียกว่า โต้วปี่ หัวพู่กันใหญ่ ขนหนา อุ้มน้ำหมึกได้มาก ขนาดมีลดหลั่นกันลงมาจนถึงขนาดเล็กปลายแหลมมาก พระเจ้าหย่งเจิ้ง ราชวงศ์ชิงโปรดทรงใช้พู่กันขนาดเล็กชื่อเสี่ยวจื่อหยิ่ง ปลายแหลม แต่พู่แตกง่าย เมื่อทรงพระอักษรแต่ละครั้งจึงต้องทรงใช้พู่กันเป็นร้อย ๆ ด้ามทีเดียว
หมึก (โม่)
การใช้หมึกน่าจะมีมาแล้วตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชาง ในการขุดค้นสุสานสมัยจ้านกว๋อและสมัยฮั่นพบหมึกก้อนฝังอยู่ด้วย ตรงกับที่หนังสือจวงจื่อว่าในสมัยชุนชิวจ้านกว๋อมีหมึกใช้กันแพร่หลายแล้ว แต่เดิมชาวจีนใช้พู่กันจุ่มรักเขียนหนังสือ ต่อมาจึงรู้จักทำหมึกใช้ มีการขุดพบกระบอกไม้ไผ่โบราณ มีตัวอักษรที่ใช้รักปนกับที่ใช้หมึก ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เริ่มทำหมึกนั้นมีกล่าวไว้ต่าง ๆ กันไปไม่เป็นที่ยุติ ในหนังสือต่าง ๆ กล่าวถึงผู้ผลิตหมึกที่มีชื่อเสียงในสมัยต่าง ๆ เช่น สมัยสามก๊ก เหวยต้าน ชาวเว่ย ผลิตหมึกคุณภาพเยี่ยม สีประดุจรัก สมัยราชวงศ์จิ้นมีหมึกของจางจิ้น ราชวงศ์ซ่งมีหมึกของจางหย่ง หลิวฝาในราชวงศ์จิน หูเหวินจงในราชวงศ์หยวน หลอหลงเหวิน เฉินจนฝัง หูคายหยวน ฯลฯ ในราชวงศ์หมิงและชิง ตระกูลเหล่านี้ต่างก็จัดทำหนังสือเรื่องการผลิตหมึก มีภาพแสดงหมึกแบบ

(น.307) ต่าง ๆ เป็นการแข่งขันทางการค้า เป็นผลงานที่เหลือตกทอดมาถึงรุ่นหลัง หมึกรุ่นแรกมักทำจากตะกั่วดำ หญิงสมัยโบราณใช้ทาคิ้ว เมื่อประสมกับน้ำจะกลายเป็นหมึก เชื่อกันว่าเริ่มใช้กันที่เมืองเอี๋ยนอาน ทางเหนือของมณฑลส่านซี ต่อมาสมัยราชวงศ์ฮั่นจึงเปลี่ยนเป็นหมึกก้อน ถึงสมัยราชวงศ์ถัง เกาหลีถวายหมึกทำจากเขม่าเป็นบรรณาการ จีนจึงเริ่มผลิตหมึกด้วยเขม่าต้นสนและไขกวางใช้ ต่อมาจึงทำจากเขม่าต้นหลานและต้นนุ่นผสมกับชะมดและไขสัตว์ ให้กลิ่นหอม หมึกชนิดนี้จึงมีชื่อว่า หลงเซียง แปลว่า หมึกที่เก็บไว้ได้นานหอมทน หมึกสำหรับพระจักรพรรดิโดยปกติทำเป็นลายมังกร ฝีมือสลักประณีตสวยงามปิดทองคำเปลวหรืออาจจะทำด้วยดินสีทอง หมึกของจักรพรรดิราชวงศ์ชิงเน้นเรื่องรูปร่างก้อนหมึกและลวดลาย จิตรกรในราชสำนักเป็นผู้ออกแบบให้สวยงามน่าเก็บสะสม หมึกเหล่านี้มิได้มีเพียงสีดำเท่านั้น แต่มีสีแดง น้ำเงิน เหลือง และขาวด้วย มีคำโบราณว่า หมึกเมืองฮุยหรือฮุยโจว เมืองนี้เป็นแหล่งผลิตหมึกชั้นเยี่ยมและที่เป็นยอดหมึกต้องเป็นฝีมือหลี่ถิงกุ้ย คำในราชวงศ์ถังว่า กระดาษของเฉินซินถัง หมึกของหลี่ถิงกุ้ย และแท่นฝนหมึกหินหางมังกร สามสิ่งนี้เป็นของล้ำค่าในโลก หมึกแท่งหลี่ถิงกุ้ยนี้ขอบแข็งคม ถึงตัดกระดาษได้
กระดาษ (จื่อ)
ก่อนที่ชาวจีนจะรู้จักใช้กระดาษ ได้ใช้วัสดุต่าง ๆ เช่น กระดองเต่า กระดูกสัตว์ หนังสัตว์ ไม้ไผ่ ผ้าไหม เขียนหนังสือ เราไม่ทราบ

(น.308) แน่นอนว่าชาวจีนเริ่มใช้กระดาษตั้งแต่เมื่อไร มีหนังสือโบราณเล่มหนึ่งกล่าวว่า ชาวจีนทำกระดาษจากใยไหม กระดาษนี้ใช้ใยไหมที่ลอยอยู่ในน้ำเป็นแพมาต่อกันเป็นแผ่น ตากบนตะแกรงไม้ไผ่จนแห้ง เป็นแผ่นกระดาษใช้เขียนหนังสือได้ กระดาษนี้เป็นสี่เหลี่ยม ด้านหน้ามันวาวเขียนหนังสือได้ดี ในราชวงศ์ฮั่น ไช่หลุนคิดทำกระดาษจากเปลือกไม้ เศษผ้า ป่าน และแหอวนที่เปื่อยขาด นำสิ่งเหล่านี้มาประสมน้ำตำจนละเอียดตากจนแห้งก็จะได้กระดาษ ในราชวงศ์ถังการผลิตกระดาษเจริญรุ่งเรืองมาก มีกระดาษแบบต่าง ๆ มากมาย กระดาษชนิดหนึ่งสีเหลืองทำจากกระดาษขาวหรือกระดาษที่ทำจากป่านนำไปย้อมเปลือกต้นสนจีนหวงเป๋อ กระดาษชนิดนี้แมลงไม่กิน ราคาจึงแพงมาก จึงมีกฎหมายว่ากระดาษชนิดนี้ใช้สำหรับเขียนพระราชโองการเท่านั้น ในการเขียนคัมภีร์พระพุทธศาสนาก็ใช้กระดาษสีเหลืองชนิดพิเศษชนิดหนึ่งเหมือนกัน กระดาษที่มีชื่อเสียงอื่น ๆ มีกระดาษของต้วนเฉิงซื่อ เมืองจิ่วเจียง เรียกกันว่า หยุนหลานจื่อ มีผู้นิยมใช้มาก นอกจากนี้ที่เสฉวนมีกระดาษที่มีชื่อเสียงหลายอย่าง ที่นิยมมากคือ กระดาษสีแดงที่นางคณิกาเสวียเถาคิดผลิตขึ้นเรียกว่า เสวียเถาเจียน กวีและจิตรกรนิยมใช้เขียนจดหมาย โคลงกลอน วาดภาพ ตู้มู่ ไป๋จู้อี้ หลิวอวี้ก็ชอบใช้กระดาษชนิดนี้ สมัยราชวงศ์ซ่งกระดาษที่นิยมกันคือกระดาษของเฉินซินถัง กระดาษนี้เนื้อขาวละเอียดเป็นมันเงา ราชวงศ์ชิงมีกระดาษที่ทำจากนุ่นและจากต้นไผ่ ปัจจุบันกระดาษที่ถือว่าเป็นรัตนะประจำห้องหนังสือคือ กระดาษซวนจื่อแห่งเมืองซวนเฉิงหรือซวนโจว มณฑลอันฮุย กระดาษนี้มีมาตั้งแต่ราชวงศ์ถัง ความจริงแล้ววัตถุดิบที่ใช้ทำคือเปลือกไม้ซิงถังผี มี

(น.309) อยู่มากทางมณฑลอันฮุยตอนใต้ แต่ที่อำเภอจิงเซี่ยนและอู๋ซีของเมืองนี้มีน้ำพิเศษที่ทำให้กระดาษขาวกว่าที่อื่น น้ำหมึกไม่ซึม ทนทาน ไม่ฉีกขาดง่าย จึงมีชื่ออีกอย่างว่า กระดาษพันปี
แท่นฝนหมึก (เอี้ยน)
ชาวจีนเริ่มใช้แท่นฝนหมึกเมื่อไรไม่มีใครทราบ มีหนังสือเล่มหนึ่งกล่าวว่า ในราชวงศ์ฮั่นมีใช้แล้ว เดิมชาวจีนใช้มีดแกะสลักตัวอักษร หรือใช้พู่กันจุ่มรักเขียนไม่ต้องใช้แท่นฝนหมึก เมื่อนิยมทำหมึกเป็นก้อน เป็นแท่งจากตะกั่วดำก็ใช้อิฐหรือกระเบื้องแผ่นเป็นที่ฝนเพราะแท่งหมึกอ่อน ต่อมาทำหมึกจากวัสดุอื่น หมึกแข็งขึ้นจึงเริ่มใช้หินทำที่ฝน แหล่งหินฝนหมึกที่มีชื่อคือ ที่เมืองตวนซี มณฑลกวางตุ้ง มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อฝู่เคอซาน มีผาหินสีม่วงเมื่อแช่น้ำจะเป็นสีเขียวแก่ ยอดเขามีหินสีแดงเป็นหินที่ถือว่าเป็นยอดแห่งหินฝนหมึก หินจากผามีเนื้อละเอียดชุ่มชื้นเงามัน ลวดลายงาม ฝนหมึกออกได้มาก สึกช้า สมัยราชวงศ์ถังและซ่งถึงกับมีการตั้งข้าราชการมาดูแลการผลิตเพื่อนำส่งราชสำนักโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีแหล่งหินเมืองเส่อ เริ่มผลิตสมัยราชวงศ์ถังเช่นกัน คุณภาพหินเหมือนเมืองตวนซี แต่สมัยราชวงศ์ซ่งใช้หินที่นี่มากจนแหล่งหินหมดสิ้น แท่นฝนหมึกจะมีราคาหรือไม่ขึ้นอยู่กับลายหินและเนื้อหินรวมทั้งลวดลายที่สลักซึ่งมักยึดลายหินเป็นพื้นฐาน รัตนะประจำห้องหนังสือมีความสำคัญต่อวัฒนธรรมทางอักษรศาสตร์จีนเป็นอย่างมาก การที่เรามีหลักฐานศึกษาวัฒนธรรมจีนได้ก็เพราะเครื่องเขียนที่มีคุณภาพดีนี่เอง

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 49-50,59,60-61,64

(น.49) พิพิธภัณฑ์ฝูเจี้ยน(ฮกเกี้ยน)
สมัยราชวงศ์ถัง แสดงกระจกสำริด (เป็นสำริดขัดมันด้านหนึ่ง ส่องได้เหมือนกระจก อีกด้านสลักลวดลายต่างๆ)

(น.50) ปลายสมัยราชวงศ์ถัง ราวคริสต์ศตวรรษที่ 9 มีเรื่องตระกูลอ๋องหมิ่นและชาวนาจากเหอหนานเข้ามาที่ผู่เถียน

(น.59) งิ้วหมิ่นหนาน ไม่มีร้อง มีแต่ดนตรีท้องถิ่นที่มีมาแต่สมัยราชวงศ์ถัง มีรูปปรากฏที่วัดไคหยวน ปี่ที่ใช้กับงิ้วแบบนี้ยังมีใช้ที่ญี่ปุ่น เครื่องดนตรีผีผาก็มีแบบพิเศษ เล่นทางนอน ผีผาอื่นๆ ต้องวางตั้ง

(น.60) เรื่องหุ่น แสดงขั้นตอนการทำหุ่น ใช้ไม้แกะ มี 9 ขั้นตอน ตัวอย่างงิ้วในราชวงศ์ชิง ตัวเป็นหวายสาน ผูกเชือก

(น.61) หุ่นมีหลายประเภท มีชนิดที่มีเท้า มีเชือกชัก หุ่นมือ มีมาแต่สมัยราชวงศ์ถัง หุ่นที่ใช้ก้านเหล็ก 3 ก้านเชิด อยู่เขตเจ้าอานติดกับซัวเถา (ซ่านโถว) มีรูปคนทำหุ่นที่มีชื่อเสียงปลายราชวงศ์ชิง

(น.64) ก. เครื่องถ้วยที่เริ่มทำในแถบนี้ สมัยราชวงศ์ใต้-เหนือ และเจริญต่อมาจนถึงสมัยราชวงศ์ถัง และห้าราชวงศ์ (ค.ศ. 420-960) มีเตาหวยอาน (Huai an Kiln-ตัวอักษรจีน) เป็นต้น เครื่องถ้วยสมัยราชวงศ์ใต้มีเคลือบบางๆ เตาเจียงโข่ว (ตัวอักษรจีน)

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 151

(น.151) 1. วัดหนานผู่โถว อยู่ทางใต้ของเขตเมืองเก่าบนเกาะเซี่ยเหมิน สร้างสมัยราชวงศ์ถัง เปลี่ยนชื่อมาเรื่อยๆ จนมาใช้ชื่อนี้

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 163,169-170,177,180

(น.163) วัดไคหยวน สร้าง ค.ศ. 686 สมัยราชวงศ์ถัง แต่ก่อนนี้เคยเป็นสวนหม่อน และมีนิทานเล่าว่าหม่อนที่สวนนี้ออกดอกมาเป็นดอกบัวซึ่งถือว่าเป็นสิริมงคล เพราะเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา วัดนี้จะเหลือต้นหม่อนเก่าแก่อยู่ต้นหนึ่ง เรียกกันว่า หม่อนพันปี ค.ศ. 1925 ฟ้าผ่าต้นหม่อนต้นนี้เป็น 3 ส่วน ทางวัดเอาเสามาค่ำเอาไว้ ค.ศ. 1994 พายุพัดมาอีก นอกจากนั้นมีต้นโพธิ์มาจากวัดหนานผู่ถัวคู่หนึ่งอายุราว 100 กว่าปี

(น.169) ชิงหยวนซาน (ภูเขาสวนน้ำใส) เป็นสวนสาธารณะ ในสวนดูหินแกะเป็นรูปเหลาจื่อ (เล่าจื้อ) สูง 5.5 เมตร สร้างสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 1017) รูปเหลาจื่อ ทำให้คิดโยงไปถึงเรื่องศาสนาเต้า (เต้าเจี้ยว) คำว่า “เจี้ยว” แปลว่า ศาสนา ศาสนาเต้าหรือเต้าเจี้ยวก่อกำเนิดในสมัยจักรพรรดิซุ่นตี้ (ค.ศ. 125-144) ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ผู้ก่อตั้งชื่อ จางหลิง แนวคิดศาสนานี้ รวมแนวคิดหลายๆ แนวเข้าด้วยกัน ทั้งเรื่องความเชื่อผีสางเทวดา คำพยากรณ์ ฮวงจุ้ย และลัทธิเต๋า เอาคัมภีร์ของเหลาจื่อมาเป็นคัมภีร์หลัก และยกย่องเหลาจื่อเป็นใหญ่สูงสุด ลัทธิเต้าที่เหลาจื่อเป็นเจ้าลัทธินั้น (หรือเต๋า ในภาษาไทย) มีมาตั้งแต่สมัยชุนชิว (770-481 ก่อนคริสต์กาล) ต่อมาถูกจางหลิงอ้างเป็นเต้าเจี้ยว (ศาสนาเต้า) จึงควรแยกกันระหว่าง ลัทธิเต้า (เต้าเจีย) และศาสนาเต้า เพราะต่างกัน

(น.170) ศาสนาเต้าหรือเต้าเจี้ยวเจริญมากในสมัยราชวงศ์ถังและซ่ง

(น.177) ห้องนิทรรศการ มีคำอธิบายภาษาจีนและอังกฤษ แสดงเรื่องศาสนาอิสลามในเฉวียนโจว เริ่มด้วยการแสดงวิธีการทำละหมาดที่ถูกต้อง ต่อด้วยสาระความรู้อื่นๆ เช่น
ในสมัยราชวงศ์ถัง เฉวียนโจวเป็นท่าเรือที่สำคัญ 1 ใน 4 ของจีน ได้แก่
1) เฉวียนโจว
2) กว่างโจว (เมืองกวางตุ้ง)
3) หังโจว
4) หมิงโจว (เมืองหนิงโปในปัจจุบัน)

(น.180) สุสานอันศักดิ์สิทธิ์ (หลิงซานเซิ่งมู่) ตั้งอยู่บริเวณภูเขาหลิงซาน มีประวัติว่าสมัยราชวงศ์ถังสานุศิษย์ของพระมะหะหมัด 4 ท่าน เดินทางมาเผยแพร่ศาสนาอิสลามในประเทศจีน คนแรกไปที่กว่างโจว คนที่ 2 ไปหยังโจว คนที่ 3 และคนที่ 4 มาที่เฉวียนโจว และมาถึงแก่กรรมที่เมืองนี้ (ราวคริสต์ศตวรรษที่ 7) สุสานของท่านถือเป็นศาสนสถานอันศักดิ์สิทธิ์ ใน ค.ศ. 1988 รัฐบาลขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานอนุรักษ์

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 203

(น.203) อู่กงฉือ เป็นหอบรรพบุรุษผู้มีชื่อเสียง 5 ท่าน เป็นอาคารแรกที่สร้างในเกาะไหหลำ สร้างสมัยจักรพรรดิกวางสู ปีที่ 15 (ค.ศ. 1889) เป็นสถานที่แสดงความเคารพ เสนาบดีผู้มีความรู้สมัยราชวงศ์ถังและซ่งใต้รวม 5 ท่าน ที่ถูกเนรเทศมาอยู่เกาะไหหลำ ที่สร้างอาคารชื่อ จูไฉ่ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นคนที่มีอำนาจมากที่สุดในเกาะไหหลำสมัยนั้น เสนาบดีผู้ใหญ่ทั้ง 5 คือ
1. หลี่เต๋ออวี้ (ค.ศ. 787-850) เป็นขุนนางจากมณฑลเหอเป่ยสมัยราชวงศ์ถัง เคยเป็นอัครมหาเสนาบดี (ไจ่เซี่ยง-นายกรัฐมนตรี) ถึง 2 ครั้ง ในสมัยนั้นท่านขัดแย้งกับนักการเมือง กลุ่มหนิวเซิงหรู ในด้านการปฏิรูปการปกครองและระบบสอบรับราชการ ท่านหลี่เต๋ออวี้และพวกต้องการเพิ่มอำนาจให้รัฐบาลกลางด้วยการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ให้คุมอิทธิพลท้องถิ่นได้ แต่พวกกลุ่มหนิวเซิงหรูมีนโยบายกระจายอำนาจ ต้องการให้ทหารระดับภูมิภาคปกครองตนเอง ทั้งสองกลุ่มขัดแย้งกัน 40 ปี เมื่อจักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ จักรพรรดิเชื่อกลุ่มหนิวเซิงหรู หลี่เต๋ออวี้จึงถูกเนรเทศไปเกาะไหหลำ สมัยนั้นเรียกว่า หยาโจว (ตัวอักษรจีน) และไปตายที่นั่น

หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 68

(น.68) พิพิธภัณฑ์มณฑลซานตง
ตุ๊กตาหินแกะสลัก สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) มีรูปผู้หญิงเล่นโปโล แสดงว่าสมัยราชวงศ์ถังผู้หญิงยังมีสิทธิทำอะไรได้เหมือนผู้ชาย รูปไม้สลักสมัยราชวงศ์ซ่ง และมีไม้เขียนสีลายพระอรหันต์ สมัยราชวงศ์หมิง มีเครื่องเขิน ฝังมุก สมัยราชวงศ์ชิงมีงาช้างสลัก เครื่องเคลือบ 3 สีของราชวงศ์ถัง มีพระมาลาทำด้วยหนัง ปักด้วยดิ้นเป็นของพระเจ้าอู่เหลียน

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 126-127

(น.126) สมัยราชวงศ์ฮั่น เว่ย (ก๊กของโจโฉ) จิ้น ราชวงศ์เหนือใต้ มีรูปอาคารจำลองทำด้วยเครื่องปั้นดินเผาสำหรับฝังลงไปในสุสาน หวังว่าบุคคลผู้ตายจะมีความเป็นอยู่ในปรโลกเหมือนเมื่อยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนั้นยังมีนักดนตรี นักละคร พวกคนแคระ ซูโม่ อาวุธต่างๆ สันนิษฐานว่าสมัยราชวงศ์ฮั่นและถังนำการแสดงซูโม่ไปที่ญี่ปุ่น จนปัจจุบันคนญี่ปุ่นถือว่าซูโม่เป็นกีฬาสำคัญ สมัยราชวงศ์สุยและถัง ในเมืองลั่วหยัง สมัยราชวงศ์สุยเมื่อ 1,500 ปีมาแล้วเน้นความสมดุลมีอาคารที่พระนางบูเช็กเทียนเคยประทับและทรงงานว่าราชการ แต่ภายหลังถูกไฟไหม้ ใน ค.ศ. 1980 พบซากรากฐาน

(น.127) อีกอย่างหนึ่งคือ ได้พบแผ่นทองจารึกพระนามของบูเช็กเทียน เรื่องมีอยู่ว่าพระนางประชวรหวัดอย่างรุนแรง จึงนึกขึ้นมาได้ว่าคงจะต้องทำสิ่งเลวร้ายอย่างใดอย่างหนึ่ง เคราะห์กรรมจึงบันดาลให้เป็นแบบนี้ จึงคิดล้างบาปโดยการนำแผ่นทองจารึกพระนามและให้ขันทีชื่อหูเชานำไปไว้ที่ภูเขาซงซานใน ค.ศ. 700 ใน ค.ศ. 1980 ชาวนาพบเข้านำมาให้พิพิธภัณฑ์ (เราสองคนเห็นจะบาปหนาจึงคัดจมูกกันทั้งปี แต่คงไม่มีเงินมาทำนามบัตรทอง ต้องทาวิกไปพลางๆ ก่อน) พระพุทธรูปในลัทธิมี่จง (ตันตระ) พระพักตร์งาม อวบอิ่มแบบผู้หญิงสมัยราชวงศ์ถัง มีพักตร์ 11 พระหัตถ์ 6

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 154,156,165

(น.154) พวกที่เริ่มสลักหินที่ถ้ำที่นี่คือ พวกทั่วป๋าเว่ย หรือที่ภาษาไทยเรียกเคลื่อนมาว่าโทปาเว่ย เป็นคนกลุ่มน้อยที่รับนับถือพุทธศาสนา อาจจะก่อนชาวจีนเสียด้วยซ้ำไป เริ่มสลักใน ค.ศ. 495 ในช่วงนี้พวกเว่ยย้ายศูนย์กลางการปกครองของแคว้นเว่ยเหนือจากเมืองต้าถงมาที่ลั่วหยัง เมื่ออยู่ที่ต้าถงได้แกะสลักพระพุทธรูปที่ถ้ำหยุนกั่ง (ที่ฉันจะได้ไปดูทีหลัง) หินปูนที่หลงเหมินแข็งกว่าที่หยุนกั่ง จึงสลักยากกว่า มีถ้ำ 3 กลุ่ม คือ ถ้ำกู่หยัง ปินหยัง และเหลียนฮวา หลังจากสมัยเว่ยก็สลักถ้ำต่อมาเรื่อยๆ ที่สำคัญที่สุดคือ สมัยราชวงศ์ถังตอนสมัยพระนางบูเช็กเทียน ซึ่งเป็นผู้มีศรัทธาแก่กล้าในพุทธศาสนา ผู้ที่อุปถัมภ์การสลักถ้ำคือ จักรพรรดิ พระราชวงศ์ ตระกูลที่ร่ำรวย เพื่อหวังทำบุญ นายพลที่ต้องการชัยชนะในสงคราม เขาว่าทั้งหมดมีของสมัยเว่ยราว 30% เท่านั้น ถ้ำกลางเป็นถ้ำที่สลักในยุคต้นจักรพรรดิเซวียนอู่ทำบุญถวายพระราชบิดาและพระราชมารดา จารึกบอกไว้ว่าใช้กรรมกร 8 แสนกว่าคน สลักตั้งแต่ ค.ศ. 500 ถึง ค.ศ. 523 มี 3 ถ้ำ มีร่องรอยว่าสมัยก่อนคงจะระบายสีด้วย ถ้ำอีกสองข้างสร้างเสร็จสมัยราชวงศ์ถัง

(น.156) ถ้ำ 140 มีพระพุทธรูป 3 องค์ เสร็จแต่รูปพระศากยมุนี สมัยนั้นแฟชั่นยังชอบผอมๆ มาสมัยราชวงศ์ถังจึงชอบอ้วนๆ บริเวณที่ว่างเปล่าหลังรูปพระทำเป็นรูปนางอัปสรเหาะเหมือนที่ถ้ำตุนหวง

(น.165) จักรพรรดิถังไท่จง (หลี่ซื่อหมิน) ทรงจารึกไว้ว่าตอนที่ยังเป็นอ๋องถูกจับไป พระเซ่าหลิน 13 รูปช่วยไว้ได้ จึงเขียนขอบคุณท่านทั้ง 13 ไว้ อีกป้ายหนึ่งเขียนเป็นอักษรโบราณ รำลึกถึงพระเซียวซาน (ที่ต่อต้านโจรสลัด) ด้านหลังเป็นรูปกลมๆ มีภาพพระอยู่ด้านใน เป็นคำเฉลยคำถามที่ตั้งเอาไว้ตอนที่ดูป่าเจดีย์ ที่นี่พุทธศาสนา ลัทธิเต๋า ลัทธิขงจื่อ (เรียกว่า หรูเจี้ยว คำว่า หรู หมายถึง ปัญญา หรือขุนนางข้าราชการ ในที่นี้อาจจะหมายถึงลัทธิขงจื่อเพราะเกี่ยวกับการปกครอง)

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 205

(น.205) หนังสือ เชียนเจียซือ เป็นหนังสือรวมบทกวี 1,000 บทสมัยราชวงศ์ถังและซ่ง หลิวเค่อจวงเป็นผู้รวบรวมในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (ค.ศ. 1127-1279) แยกเป็นหมวดหมู่ เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องทั่วๆ ไป ของเดิมคงจะสูญหายไปแล้ว ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีไม่กี่สิบบท และไม่ใช่ของหลิวเค่อจวงรวบรวม แต่ยังใช้ชื่อ เชียนเจียซือ เป็นหนังสือที่ชาวจีนใช้สอนลูกหลานให้ท่องจำบทกวีดีๆ ฉบับที่ดูนี้อายุ 500 กว่าปีช่วงกลางสมัยราชวงศ์หมิง เป็นหนังสือเขียนด้วยลายมือและมีภาพประกอบด้วย

เกล็ดหิมะในสายหมอก หน้า 244,246

(น.244) ถ้ำหยุนกั่งสร้างสมัยราชวงศ์เป่ยเว่ย สร้างก่อนหลงเหมินที่ลั่วหยัง (ตุนหวง ค.ศ. 366 มีทั้งภาพสลักและภาพเขียน หยุนกั่ง ค.ศ. 460 หลงเหมิน ค.ศ. 494 สองถ้ำหลังนี้เป็นหินแกะสลัก) วัดถ้ำที่มีหินแกะสลักสวยงามมีมากที่ซินเกียง กานซู่ เสฉวน รวม 500 กว่าแห่ง บริเวณวัดถ้ำหยุนกั่งกว้างมาก ผู้สร้างเจาะเข้าไปในภูเขา ให้วัดหันหน้าทางทิศใต้ ถ้ำที่ขุดเจาะเข้าไปเป็นแนวตะวันตก ตะวันออก มี 53 ถ้ำ มีพระพุทธรูปกว่า 51,000 กว่าองค์ ที่เก่าที่สุดคือ ที่สลักในสมัยราชวงศ์เป่ยเว่ย เป็นแบบอย่างของศิลปะจีนที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะคันธาระของอินเดีย ต่อไปจะให้อิทธิพลต่อศิลปะสมัยราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง ถ้ำหยุนกั่งเป็นคลังวิเศษแห่งศิลปกรรม และเป็นหลักฐานของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมระหว่างจีนกับต่างประเทศด้วย

(น.246) ถ้ำที่ 3 พระพุทธรูปหินแกะสลักสมัยต้นราชวงศ์ถัง มี 3 องค์เรียกถ้ำนี้ว่า วัดหลิงเหยียน ลักษณะพระพุทธรูปนี้ มีพระกายอวบอ้วน จีวรพลิ้วตามองค์เป็นรูๆ เวลาสลักต้องเจาะสำหรับใส่ไม้ปีนขึ้นไป แล้วเอาดินเหนียวหุ้ม แต่ตอนนี้ดินหลุดออกมา