Please wait...

<< Back

ราชวงศ์ซาง

จากหนังสือ

เกล็ดหิมะในสายหมอก
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 2 เหลียวหนิง หน้า 20,22

(น.20) พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งมณฑลเหลียวหนิง ห้องที่ 3 สมัยสำริด ราชวงศ์ซาง ราชวงศ์โจว ที่เก่าที่สุด 4,000 ปี สมัยเซี่ยและสมัยซาง สำริดรุ่นแรกในตะวันออกเฉียงเหนือทำเป็นภาชนะสามขา ยังมีภาชนะดินเผาเขียนสีแดงดำ อาวุธโบราณชนิดจีนหนึ่งเรียก เกอ ลักษณะคล้ายขวาน เปิดพจนานุกรม จีน-อังกฤษ เรียกว่า dagger axe ทำด้วยสำริด ภาชนะสำริดรุ่นนี้มีจารึกชื่อบุคคลผู้ล่วงลับไปแล้วมีรูปร่างต่างๆ เช่น รูปหงส์ รูปมังกร หูภาชนะเป็นรูปหัววัว หัวเสือ

(น.22) ที่แปลกคือเป็นรูปสัตว์ประหลาดขี่เสือจับหมู (ข้าพเจ้าดูแล้วไม่ทราบว่าเป็นพระพนัสบดี หรือเป็นต้นแบบของหน้ากาลที่เราเห็นในสถาปัตยกรรม) เสือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เพราะเป็นเจ้าป่า เครื่องอาวุธ คันฉ่องโลหะ ภาชนะดินเผาทางภาคเหนือต่างจากภาคกลางคือมีรูเจาะสำหรับแขวน มีระฆังสำริด เครื่องประดับม้าของชิ้นหนึ่งมีรูปร่างแปลกคือ งู 2 ตัวพันกันคาบกบซึ่งประดับ Turquoise รูปเสือตะครุบกระต่าย ท่อพ่นลมสุมไฟรูปหัวม้า สรุปได้ว่าวัฒนธรรมในยุคนี้ของเหลียวหนิง (สมัยชุนชิวจ้านกว๋อ) ประกอบด้วยการเกษตร ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์และจับปลา

เกล็ดหิมะในสายหมอกเล่ม 3 หน้า 79

(น.79) ห้องที่ 2 ยุคสำริด ราชวงศ์ซาง พบที่หยวนเป่าโถว มีกริชสำริด เครื่องปั้นดินเผาเรียกว่าเถาติ่ง มี 3 ขา เครื่องปั้นจากเต๋อหุ้ยเป่ยหลิง เครื่องปั้นที่มาจากสุสานเรียกว่าเถาโต้ว

เกล็ดหิมะในสายหมอกเล่ม 3 หน้า 133-134

(น.133) นิทรรศการลูกอุกกาบาต ใช้ชื่อว่า “แขกที่มาจากสวรรค์” เล่าถึงความรู้สึกของมนุษย์ที่มีความพิศวงต่อปรากฏการณ์ที่เกิดในฟากฟ้า(นิทรรศการนี้มีคำอธิบายเป็นภาษาจีน อังกฤษ และญี่ปุ่น) เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1976 มีดาวตกมามากในบริเวณกว้างที่สุด มีคนมาดูลูกอุกกาบาตที่ตกมานี้จากประเทศต่าง ๆ 30 กว่าประเทศ คนจีนมาดูจากทั่วประเทศ ประวัติ –

(น.134) เรื่องนี้แต่ครั้งโบราณ พวกกรีกไหว้บูชาลูกอุกกาบาต เป็นการบูชาเทพเจ้าแห่งแม่น้ำ Argos พวกฮังการีเอาโซ่ล่ามลูกอุกกาบาตไว้เกรงว่าจะบินกลับสวรรค์ ที่เมกกะก็มีการทำกรอบล้อมไว้ มีบางคนถือว่าเป็นลางร้ายจึงทิ้งน้ำไป คนจีนวินิจฉัยตามหลักวิทยาศาสตร์แต่ครั้งโบราณ สมัยชุนชิวประมาณก่อน ค.ศ. 640 นักปราชญ์สวินจื่อเขียนไว้ว่า เป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ อย่าถือผิด ๆ ว่าเป็นเรื่องของโชคลาง มีการนำเอาสะเก็ดดาวซึ่งมีธาตุเหล็กสูงมาทำเครื่องอาวุธตั้งแต่ครั้งโบราณสมัยราชวงศ์ซาง ลูกอุกกาบาตมี 3 ประเภท คือ เป็นเหล็ก เป็นหิน และที่ปนกันสองอย่าง มีตัวอย่างลูกอุกกาบาตซึ่งตกที่ซินเกียงหนักถึง 28,000 ตัน

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 5 ภาคผนวก หน้า 2

(น.2) ราชวงศ์ที่ปกครองจีน
2. ราชวงศ์ซาง ประมาณก่อน ค.ศ. 1766 – 1122 บางหลักฐานระบุว่าประมาณก่อน ค.ศ. 1523 – 1027

เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 115

(น. 115) พิพิธภัณฑ์นานกิง หรือ พิพิธภัณฑ์มณฑลเจียงซู
ตึกด้านข้าง เป็นห้องที่แสดงการขุดค้นทางโบราณคดีของพิพิธภัณฑ์นานกิงในมณฑลเจียงซูและพื้นที่ใกล้เคียง มีตู้กระจกแสดงแหล่งขุดค้นต่างๆ เช่น
1. การขุดค้นแหล่งโบราณคดียุคหินเก่า
2. พื้นที่ที่มีหลุมฝังเสา มีเตา ขุดอยู่ตรงกลาง ด้านหลังเป็นฉากแสดงลักษณะของบ้านยุคนี้ที่น่าจะเป็น
3. วัฒนธรรมต้าเหวินโข่ว ฝังนายไว้กับคนใช้ มีเครื่องปั้นดินเผาวางรอบๆ
4. สุสานในวัฒนธรรมชิงเหลียนกัง
5. การฝังคนกับเครื่องหยกในวัฒนธรรมเหลียงจู่ ที่แหล่งขุดค้นโบราณคดีชื่อ ซื่อตุน
6. หีบศพไม้ ขุดพบในแคว้นอู๋ สมัยจั้นกั๋ว
7. สุสานสมัยราชวงศ์ซัง (ก่อน ค.ศ. 1766 – ก่อน ค.ศ. 1122) เด็กวัยรุ่นตาย ใกล้ศพเด็กมีศพสุนัข
8. เนินก่อด้วยหินที่ลุ่มน้ำไท่หู มีเครื่องปั้นดินเผาวางไว้รอบๆ
9. สวนที่ใช้ทำพิธีบูชายัญสมัยราชวงศ์ซัง ทุกศพหันไปทางหินก้อนกลาง พบศพ 20 ศพ กะโหลก 2 กะโหลก สุนัข 12 ตัว ทุกศพถูกมัดมือไพล่หลัง
10. หลุมศพของขุนนางแคว้นอู๋
มีจารึกต่างๆ ฝังไว้ตามกำแพง

เจียงหนานแสนงาม หน้า 217-218

(น. 217) วันศุกร์ที่ 9 เมษายน 2542
ฝนตกตั้งแต่เมื่อคืนนี้ ท้องฟ้ามืดครึ้มไปหมด เช้านี้รายการแรกไปพิพิธภัณฑ์เจิ้นเจียง อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นตึกฝรั่ง 2 หลัง หลังแรกเคยเป็นสถานกงสุลอังกฤษ สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1890 มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เป็นอาคารอนุรักษ์ ตั้งอยู่บนเนินเขา อาคารแรกแสดงเรื่องประวัติศาสตร์เจิ้นเจียง มีศิลปวัตถุที่ขุดพบแถบเจิ้นเจียงมากมาย เพราะขุดพบแหล่งโบราณคดีกว่า 10 แห่ง และสุสานอีก 10 กว่าแห่ง ชั้นล่างของอาคาร จัดแสดงหัวข้อต่างๆ ดังนี้
1. สมัยก่อนประวัติศาสตร์ช่วงสมัยหินใหม่ แสดงเครื่องมือหินขัดแบบต่างๆ เข็มเย็บผ้า ไนปั่นฝ้าย ผานไถนา ซึ่งเป็นหินแผ่นใหญ่ ส่วนกว้างที่สุดเห็นจะกว่าฟุตหนึ่ง เครื่องปั้นดินเผารูปร่างต่างๆ เครื่องหยก เครื่องประดับพวกกำไล ปิ่นปักผม และมีหลักฐานว่ามีการชลประทานแล้ว 2. ยุคราชวงศ์ซัง (ก่อน ค.ศ. 1766 – ก่อน ค.ศ. 1122) ราชวงศ์โจวตะวันตก (ก่อน ค.ศ. 1122 – ก่อน ค.ศ. 770) และบางส่วนในสมัยชุนชิว (ก่อน ค.ศ. 770 – ก่อน ค.ศ. 476) การแบ่งยุคประวัติศาสตร์ตามแบบของนักวิชาการจีนเรียกยุคนี้ว่า ยุคสังคมทาส แสดงเครื่องปั้นดินเผาลายเรขาคณิต ลายเกลียว

(น. 218) เชือก ซึ่งพบมากในภาคใต้ของจีน หม้อสามขา หม้อดินเผายังมีไข่อยู่ในหม้อนั้น
3. เครื่องสำริด สมัยราชวงศ์ซังมีหม้อสี่หูรูปกลม สลักจารึกที่เห็นนี้เป็นของจำลอง ของจริงอยู่ที่ปักกิ่ง ถือว่าเป็นสมบัติของชาติ (National Treasure) ภาชนะมีหู มีฝาปิด เมื่อขุดพบยังมีเหล้าอยู่ข้างใน และยังพบถาดมีล้อเลื่อน ผู้บรรยายอธิบายว่าสมัยก่อนคนนั่งรับประทานอาหารล้อมวงกับพื้น เอาอาหารใส่ถาดนี้ แล้วเลื่อนแจกกันไปทั่วๆ ไม่ต้องยก ส่วนอาวุธที่พบมีหอก ดาบ หัวลูกศร อาวุธเหล่านี้โดยเฉพาะอย่างยิ่งดาบนอกจากใช้สู้รบแล้ว ยังใช้เป็นเครื่องแสดงฐานะของผู้ถือด้วย สิ่งของที่จัดแสดงไว้อีกอย่างหนึ่งคือ ระฆังสำริด

เจียงหนานแสนงาม หน้า 290

(น. 290) สมัยราชวงศ์ซังและโจว มีเครื่องสำริด พบเบ้าหลอมสำริดสมัย 770 – 476 ปีก่อนคริสต์กาล ลักษณะไม่เหมือนของภาคกลาง แต่ของที่พบก็คล้ายๆ กัน เช่น เครื่องดนตรีระฆังแถวในสุสาน

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 126-127

(น.126) วัดหรือศาลเจ้าลัทธิเต๋า
ด้านประวัติศาสตร์ มีร่องรอยการตั้งถิ่นฐานตั้งแต่สมัยก่อนราชวงศ์ฉิน (ซัง, โจว) คนสมัยนั้นทำนาและจับปลา วัตถุโบราณสมัยหินใหม่ สมัยราชวงศ์ซังและโจว มีแท่นบูชาฟ้าดิน

(น.127) วัฒนธรรมที่มีลักษณะเด่นคือ หีบศพแขวน (hanging coffin) เป็นวัฒนธรรมยุคสำริด ตามยอดเขาในเทือกนี้พบหีบศพแบบนี้ เช่น ที่ยอดกวนอิมพบใน ค.ศ. 1973 หีบมีรูปร่างเหมือนเรือ แบบเดียวกับที่พบในมณฑลเจียงซูและเจ้อเจียง ทำด้วยไม้หนานมู่ที่พบในท้องถิ่น อายุของหีบประมาณ 3,800 ปี มีรูปถ่ายตอนเปิดหีบ ในหีบมีกระดูกชายอายุราว 50-60 ปี สมัยนั้นถือว่าคนอายุ 60 ปี อายุยืนมาก เสื้อที่ศพสวมอยู่มักผุพังไปแล้ว แต่พอเหลือเศษเอาไปวิเคราะห์ พบเสื้อที่ทำด้วยวัตถุหลายอย่าง เช่น ฝ้าย ป่าน ไหม เสื้อเหล่านี้ทำให้ประวัติการทอผ้าของจีนเก่าไปอีก 1,000 ปี

หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 64,67

(น.64) แหล่งโบราณคดีติงกง อยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านติงกง ตำบลหยวนเฉิง อำเภอโจวผิง มีการประกาศเป็นแหล่งสำคัญทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม ระหว่าง ค.ศ. 1985-1993 ได้มีการขุดหลายครั้ง ได้ของโบราณมาถึง 6,000 ชิ้น เป็นของก่อนประวัติศาสตร์ยุคหินใหม่เรียกว่า วัฒนธรรมเป่ยซิน วัฒนธรรมต้าเวิ่นโข่ว วัฒนธรรมหลงซาน วัฒนธรรมเยี่ยสือ ต่อมาถึงของในสมัยราชวงศ์ซัง ราชวงศ์ฮั่น และสมัย 5 ราชวงศ์ ของที่พบมีทั้งภาชนะดินเผา เศษดินเผาที่มีอักษรจารึก มีชิ้นหนึ่งมีอักษร 11 ตัว อ่านออกเพียง 4 ตัว มีภาชนะสำริดที่เรียกว่า ลี่ และ กุย ขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยกำลังทำฐานข้อมูลของเครื่องสำริด ยังมีสิ่งของที่ขุดได้จากแหล่งโบราณคดีอื่นๆ อีก ในตู้ มีกระดูกสำหรับพยากรณ์ (oracle bones) อานหยังมีมากเพราะเป็นราชธานี มีอาวุธสำริด

(น.67) ภาชนะสำริดสมัยราชวงศ์ซังสำหรับใส่น้ำใช้ส่องแทนกระจก ภาชนะที่เรียกว่า ลี่ อีกชนิดเรียกว่าติ่ง มีภาชนะที่เรียกว่า เย่ว์ (yue) เป็นภาชนะขนาดใหญ่ ฝาเป็นรูปขวานเป็นเครื่องแสดงอำนาจของกษัตริย์ มีอักษรจารึก

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 123-124

(น.123) พิพิธภัณฑ์มณฑลเหอหนาน
สมัยราชวงศ์เซี่ย ซัง และโจว
สมัยราชวงศ์เซี่ยเป็นสมัยสังคมทาส ราวๆ 4,000 ปีมาแล้ว มีเครื่องทองสำริด ไม่มีลวดลาย
สมัยราชวงศ์ซังมีอักษรเขียนบนกระดองเต่าประมาณ 3,600 ปีมาแล้ว ภายหลังย้ายเมืองมาเจิ้งโจว มีภาพแสดงกำแพงล้อมเมือง
ภาพเมืองอานหยัง มีภาพถ่ายทางอากาศสมัยราชวงศ์ซังตอนปลาย ย้ายมาจากเมืองชวีฝู่

(น.124) อักษรบนกระดองเต่าและกระดูกสัตว์อื่นๆ ใช้เสี่ยงทายเรื่องราวต่างๆ เพื่อให้ทราบความประสงค์ของเทวดาและบรรพบุรุษ นำกระดองเต่าและกระดูกนี้มาเผาไฟจนเกิดรอยแตก นำมาตีความได้ สมัยนั้นเริ่มมีการใช้ตัวเลขและคำนวณได้ เขียนเลขหมื่นได้ เลขหมื่นเขียนเป็นรูปแมลงชนิดหนึ่งคล้ายแมงป่อง หัวข้อที่เสี่ยงทายมีเรื่องการเกษตร คนเจ็บป่วย การเลี้ยงสัตว์ จับปลา การเกิดสุริยุปราคา และจันทรุปราคา คนป่วยเขียนเป็นคนนอนเตียง มีรูปตาแปลว่า ตาป่วย หรือตาบอด ซัง แปลว่า เจ็บ หมิง แปลว่า สว่าง สมัยนั้นเขียนหมิงแทนที่จะเอาตัวที่แปลว่าพระอาทิตย์ขึ้นหน้ากลับเอาไว้ข้างหลัง เครื่องปั้นเก่าที่สุดอายุ 3,500 ปี เครื่องสำริดเป็นภาชนะที่ใช้ในพิธี บริเวณนั้น (เมืองอานหยัง) ขุดพบสุสานพระสนมของกษัตริย์ปลายราชวงศ์ซัง ศตวรรษที่ 16-11 ก่อนคริสต์กาล พระสนมฟู่เห่าท่านนี้เมื่อมีชีวิตอยู่คงต้องเป็นคนที่มีบุญวาสนาสูง จึงมีเครื่องสำริดจำนวนมากฝังในสุสาน

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 136,138-139,142

(น.136) อานหยังอยู่ทางเหนือของมณฑล เป็นเมืองหลวงหนึ่งใน 7 เมืองของจีน มีชื่อเสียงเรื่องเป็นต้นกำเนิดของจารึกเสี่ยงทายบนกระดูก มีสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง ด้านทรัพยากรธรรมชาติที่นี่ก็ค่อนข้างจะอุดมสมบูรณ์ มีถ่านหิน เหล็ก เป็นต้น ในด้านการเกษตรมีธัญพืช ฝ้าย ผลไม้ ถั่วลิสง และลูกเกด ปัจจุบันถือว่าอานหยังเป็นเมืองอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเบา เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โลหะ เครื่องจักร เภสัชกรรม ถ่านหิน เคมีภัณฑ์ เครื่องก่อสร้าง และอุตสาหกรรมอาหาร ปัจจุบันนครอานหยังพัฒนาอย่างรวดเร็วในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การศึกษาและวัฒนธรรม มีสถาบันวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายแห่ง มีศูนย์การบินแห่งชาติ ได้มีการแลกเปลี่ยนและร่วมมือทางการค้า วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับต่างประเทศหลายประเทศ มีความร่วมมือกับต่างประเทศหรือบริษัทร่วมทุน รวมทั้งมีความร่วมมือแบบเมืองพี่เมืองน้องกับเมืองในต่างประเทศหลายแห่ง เมื่อไปถึงยังรู้สึกประทับใจว่าเป็นเมืองใหญ่ ฉันนึกภาพว่าเป็นเมืองโบราณ เมืองสมัยใหม่จะเล็ก เมืองเก่าอินซวี อยู่เมืองอานหยังด้านตะวันตกเฉียงเหนือ บริเวณหมู่บ้านเสี่ยวถุนชุนและบริเวณใกล้เคียงสองฝั่งแม่น้ำเหิงเหอ เป็นซากเมืองซังยุคปลาย เริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 ก่อนคริสต์กาล กษัตริย์ผานเกิง ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์ที่ 20 ของราชวงศ์ซังได้ย้ายเมืองหลวงจากเมืองเหยี่ยนมาที่นี่ จึงเรียกว่าเมืองอินตามชื่อเดิมของราชวงศ์ซัง ตั้งแต่กษัตริย์องค์แรกที่ย้ายเมืองมาจนถึงกษัตริย์อินโจ้วองค์สุดท้าย รวมเป็นเมืองหลวงอยู่ 273 ปี ถึงศตวรรษที่ 11 ก่อนคริสต์กาลถูกกษัตริย์โจวอู่หวังโค่นอำนาจ แต่ถึงกระนั้นโจวอู่หวังยังอนุญาตให้โอรสของอินโจ้วชื่อ อู่เกิงอยู่ที่เมืองนี้เพื่อบวงสรวงบรรพบุรุษ ภายหลังอู่เกิงก่อกบฏ จึงถูกปราบราบคาบ เมืองอินซวีจึงกลายเป็นเมืองร้างจนกลายเป็นซากเมืองอยู่จนทุกวันนี้ ได้ขุดพบอักษรกระดองเต่า วังเก่า สุสาน สถานที่ทำพิธี พาหนะ เครื่องใช้ทำพิธีมากมาย

(น.138) ไปที่พิพิธภัณฑ์อินซวี (Yin Xu) พิพิธภัณฑ์นี้ทำเป็นรูปเหมือนกับสุสาน ของที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ดูเหมือนจะไม่ใช่ของจริง แต่ทำขึ้นเพื่อให้คนที่มาชมเข้าใจเรื่องวัฒนธรรมราชวงศ์ซัง หรืออิน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมเก่าแก่กว่า 3,000 ปี ฉันก็ไม่แน่ใจว่าที่นี่เป็นสถานที่สุสานจริงหรือสมมติเอาเองเป็นสุสานของฟู่เห่า มเหสีของกษัตริย์อู๋ติ่ง ราชวงศ์ซัง ซึ่งตามเรื่องเล่าว่าเป็นสตรีที่มีความสามารถยิ่งท่านหนึ่ง ของจริงขุดพบใน ค.ศ. 1975 มีเครื่องสำริดที่มีค่าเกือบ 500 ชิ้น บริเวณนี้มีอายุเก่าแก่ ขุดพบเมืองโบราณ (ราว 1766-1122 ก่อนคริสต์กาล) ที่สำคัญที่สุดคือ ในสมัยนี้มีการเขียนตัวอักษรเป็นครั้งแรก เป็นจารึกบนกระดองเต่าและกระดูกวัว ส่วนมากจะเป็นเรื่องการทำพิธีบวงสรวงเทพเจ้าหรือการทำนายทายทัก (devination) จึงเรียกกระดูกเหล่านี้ว่ากระดูกเสี่ยงทาย (oracle bones)

(น.139) แต่ก่อนไม่มีใครเคยทราบเรื่องกระดูกเหล่านี้ จนใน ค.ศ. 1899 มีคนเห็นกระดูกแบบนี้ที่ร้านขายยา ภายหลังจึงมีการขุดค้นทางโบราณคดีและมีการศึกษาขึ้น อักษรบนกระดองเต่าหรือบนกระดูกนี้เป็นอักษรภาพคล้ายๆ อักษรจีนในปัจจุบัน จะพบกระดูกเหล่านี้รวมกันอยู่มากๆ ในหลุมที่ใช้ทำพิธี ส่วนที่เป็นหลุมศพอย่างที่เขาทำไว้ให้ดูนี้ นอกจากจะมีโครงกระดูกเจ้าของสุสานแล้วยังมีโครงกระดูกข้าทาสบริวารอีกด้วย กระดูกเด็กก็มี (รวม 16 คน) สมัยหลังๆ ไม่ได้เอาข้าทาสจริงๆ ฝังลงไปเหมือนสมัยนี้ แต่จะเป็นตุ๊กตาหรือหุ่นคนรับใช้ คล้ายๆ กับพิธีกงเต๊กที่ทำกันทุกวันนี้ นอกจากคนแล้วยังมีสุนัขอีก 8 ตัวพร้อมทั้งเครื่องหยก เปลือกหอย (ใช้เป็นเงินตรา) มีภาชนะสำริด มีที่สลักชื่อ ฟู่เห่า อาวุธต่างๆ 134 ชิ้น แสดงว่าเจ้าของสุสานต้องเป็นนักรบ เครื่องหุงต้ม คันฉ่อง โลงที่ใส่นั้นเป็นโลงไม้ลงรักอย่างดี แสดงว่าเจ้าของต้องเป็นคนสำคัญสมัยนั้น

(น.142) ไปเรือนจำโบราณโหยวหลี่เฉิง มีอายุกว่า 3,000 ปีมาแล้ว ความสำคัญที่นี้มีเรื่องเล่าว่ากษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์ซังคืออินโจ้วเป็นคนเหลวไหล เอาแต่ความสำราญ การปกครองยุ่งเหยิงไม่เป็นระเบียบ ซีป๋อจีชังหรือโจวเหวินหวังหัวหน้าเผ่าโจว ซึ่งมาจากตะวันตก อาศัยความรู้ ความสามารถพัฒนาการเกษตร ทำให้มีดินแดนใหญ่ขึ้นทุกที อินโจ้วหวัง กษัตริย์ซังไม่พอพระทัยซีป๋อจีชัง หลอกมากักขังถึง 7 ปี ระหว่างที่ถูกกักขัง ได้พยายามศึกษาอี้จิง หรือที่เรียกว่า Book of Changes และเอาสัญลักษณ์ 8 อย่างที่เรียกว่า ปากั้ว (ซึ่งกล่าวกันว่าหัวหน้าเผ่าโบราณชื่อ ฝูซี จำแบบมาจากกระดองเต่า) มาเขียนเพิ่มเติม (88 = 64)

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 216

(น.216) เรื่องน่าสนใจที่ท่านเล่าคือ เมื่อสี่ปีก่อน ค.ศ. 1996 ได้ส่งเสริมให้ทำโครงการศึกษายุคประวัติศาสตร์ขาดช่วง เรื่องและเหตุการณ์จากปี 541 ก่อนคริสต์กาลนั้น ซือหม่าเชียน (ราชวงศ์ฮั่น) ได้บันทึกเรื่องต่างๆ ไว้ เรื่องก่อนหน้านั้นไม่มีใครบันทึก จึงอาศัยแต่ข้อสันนิษฐานทางโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ลงความเห็นกันว่า การแบ่งเวลาระหว่างราชวงศ์เซี่ยกับซัง ควรจะเป็นว่าราชวงศ์เซี่ยเริ่ม 2,000 ปีก่อนคริสต์กาล ราชวงศ์ซัง 1,600 ปีก่อนคริสต์กาล อย่างไรก็ตามเรื่องระยะเวลาระหว่างราชวงศ์เซี่ยและราชวงศ์ซังยังไม่มีความชัดเจน แต่สมัยราชวงศ์โจวเริ่มชัด นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีนับพันคนศึกษาแล้วพบว่า ปี 1146 ก่อนคริสต์กาลมีเรื่องของโจวอู่หวังกับอินโจ้วหวัง