Please wait...

<< Back

หังโจว

เจียงหนานแสนงาม หน้า156

(น. 156) ท่านเลขาธิการกล่าวต้อนรับ และกล่าวต่อไปว่าข้าพเจ้ามาประเทศจีน 8 ครั้งแล้ว ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 9 ถ้าจะพูดถึงมณฑลเจียงซูของเรานั้นมีคำพูดมาแต่โบราณว่า บนฟ้ามีสวรรค์ บนแผ่นดินมีซูหัง (หมายถึง ซูโจวในมณฑลเจียงซู และหังโจวในมณฑลเจ้อเจียง)

เจียงหนานแสนงาม หน้า197

(น. 197) เมืองหยังโจวตั้งอยู่กลางมณฑลเจียงซูทางฝั่งเหนือของแม่น้ำฉังเจียง และอยู่ริมฝั่งคลองต้าอวิ้นเหอหรือคลองใหญ่ (Grand Canal) ที่ผ่านเมืองนี้ด้วย จักรพรรดิสุยหยังตี้เกณฑ์แรงงานมหาศาลมาขุดคลองนี้เพื่อเชื่อมการคมนาคมทางน้ำระหว่างภาคเหนือและภาคใต้ โดยอาศัยแนวคลองหันโกวเป็นหลัก คลองต้าอวิ้นเหอเริ่มจากอำเภอทงเซี่ยนในปักกิ่ง ผ่านเทียนสิน มณฑลเหอเป่ย มณฑลซานตง มณฑลเจียงซู และมาสิ้นสุดที่หังโจว

เจียงหนานแสนงาม หน้า236

(น. 236) ความเหมาะสมของซูโจวคือ การอยู่ใกล้เซี่ยงไฮ้ (ข้าพเจ้ายังไม่ค่อยเข้าใจว่าตกลงการอยู่ใกล้เซี่ยงไฮ้นั้นเป็นเรื่องดีหรือไม่ดี เรื่องดีคือติดต่อกับเซี่ยงไฮ้ได้ง่ายเพราะเป็นศูนย์ความเจริญของประเทศอยู่แล้ว จะได้ใช้บริการต่างๆ แต่บางคนว่าไม่ดีคือ เซี่ยงไฮ้จะแย่งการบริการต่างๆ ไปหมด) มีทะเลสาบจิงจี้ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าทะเลสาบซีหูในหังโจว ห้าปีแรกเป็นการพัฒนาด้านใต้ของเขตที่ 1 ภายใน 15 ปีจะพัฒนาอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง โครงการนี้รัฐบาลสนับสนุนเต็มที่ มีผู้นำมาเยี่ยมชมกว่า 40 คนแล้ว เช่น ท่านหลี่เผิง ท่านจูหรงจี ผู้นำต่างชาติก็มา

(น. 242) จีนมีเมืองโบราณอยู่หลายเมือง เช่น ปักกิ่ง ซีอาน หังโจว แต่เมืองโบราณที่ไม่ได้ย้ายไปไหนเลยคือ เมืองซูโจว

เจียงหนานแสนงาม หน้า282

(น. 282) เมืองซูโจวมีทั้งประวัติศาสตร์อันยาวนานและสภาพภูมิศาสตร์ที่ดี ทั้งเมืองเต็มไปด้วยแม่น้ำลำคลองและทะเลสาบใหญ่น้อย การคมนาคมทางน้ำสะดวก น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ภูมิอากาศอบอุ่น จึงเหมาะแก่การเพาะปลูกรวมทั้งการติดต่อค้าขาย ทั้งการค้าภายในและการค้ากับต่างประเทศ ซูโจวเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าแพรไหมมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ช่วงที่ราชวงศ์ชิงยังรุ่งเรืองเมืองซูโจวมีเครื่องทอแพรไหมถึง 3,000 - 4,000 เครื่อง มีคนงานหมื่นกว่าคน ด้วยประวัติความเป็นมาและสภาพภูมิศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้น ซูโจวจึงเป็นเมืองหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนไปสู่ความทันสมัยตามนโยบายสี่ทันสมัยที่รัฐบาลจีนใช้เป็นนโยบายในการพัฒนาประเทศมาตั้งแต่ ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521) ซูโจวเป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม สวนสวย แพรไหมงาม เศรษฐกิจดี เป็นเมืองงามน่ายลมาตั้งแต่อดีตคู่มากับเมืองหังโจว จนเรียกรวมๆ กันว่า ซู-หัง และก่อเกิดคำกล่าวที่ว่า “บนฟ้ามีสวรรค์ บนแผ่นดินมีซูหัง” ในนวนิยายกำลังภายในหลายเรื่องก็ได้ใช้เมืองซูโจวหรือโซวจิวตามภาษาจีนแต้จิ๋วเป็นฉากของเรื่อง

เจียงหนานแสนงาม หน้า284,285,286,289,292,293,294,295,296,298,300,301,302,303

(น. 284) วันอาทิตย์ที่ 11 เมษายน 2542
เช้านี้อึ่งบอกว่าทางโรงแรมตกใจว่าเขาอุตส่าห์โทรมาปลุกแล้วทำไมข้าพเจ้าไม่รับโทรศัพท์ ตื่นหรือเปล่าให้ช่วยไปดู ที่จริงข้าพเจ้าลุกไปไหนๆ เสียนานแล้ว รับประทานอาหารเช้าแล้ว ไปสถานีรถไฟ ทางการจีนจัดรถไฟให้ แต่ให้ข้าพเจ้านั่งในห้องพิเศษอยู่สองคนกับท่านทูตจังเหลียน ตอนนี้ไม่ค่อยจะเดือดร้อนแล้วเรื่องนั่งกับคนจีน เพราะข้าพเจ้าพอจะพูดกับเขาเข้าใจแล้ว ท่านทูตจังเหลียนพูดภาษาอังกฤษได้ แต่ข้าพเจ้าพยายามพูดภาษาจีน ถือว่าเป็นโอกาสฝึก ตอนแรกเขาเปิดเพลงออกลำโพงดังมาก ข้าพเจ้าไม่กล้าว่าเขา แต่ท่านทูตจังเหลียนออกไปจัดการ เพลงก็หยุดไป เดี๋ยวนี้เป็นแฟชั่นว่าทุกคนต้องฟังเพลงดังๆ เมืองไทยก็เหมือนกัน ไปงานที่ไหนก็ทรมานกับเรื่องนี้ รถหยุดที่เมืองคุนซาน ชมทิวทัศน์สองข้างทางรถไฟเห็นไร่นาอุดมสมบูรณ์ดี ช่วงนี้หลังการเก็บเกี่ยวข้าว เขาปลูกผักกวางตุ้ง ผักกาด มีสวนผลไม้บ้าง หยุดที่เซี่ยงไฮ้อีกแห่ง ก่อนจะไปถึงหังโจว ในรถไฟข้าพเจ้าพยายามใช้เวลาเขียนเรื่องเกี่ยวกับการเดินทางครั้งนี้ ที่จริงก็ยากหน่อย เพราะไม่ได้เขียนมาพักใหญ่แล้ว เล่าให้ท่านทูตจังเหลียนฟังว่า การเขียนเรื่องไปเยือนต่างประเทศ แล้วพิมพ์เผยแพร่นั้น นอกจากจะเป็นการบันทึกเรื่องไว้แล้ว ยังเป็นการหาทุนสำหรับส่งนักเรียนเรียนหนังสือด้วย เรามีปัญหาที่คนยากจนไม่สามารถเรียนระดับสูงได้ ทุกคนต้องช่วยกัน มีคนเอาเงินมาให้

(น. 285) ข้าพเจ้ามาก รวมทั้งช่วยซื้อหนังสือที่พิมพ์ขาย เขาทราบว่าข้าพเจ้าใช้เงินส่วนใหญ่ในการสนับสนุนเรื่องทุนการศึกษา แสดงว่าเขาเห็นด้วยในการทำกิจกรรมเช่นนี้ เมื่อถึงที่หังโจว รองผู้ว่าราชการมณฑลเจ้อเจียง มาดามเย่ว์หรงเปามารับ มาดามเล่าว่าเมืองหังโจวเป็นเมืองหลวงของมณฑลเจ้อเจียง มีประชากร 1,160,000 คน เมืองระดับอำเภอ 7 เมือง ตอนนี้ใช้สถานีรถไฟเก่าไปก่อน กำลังสร้างสถานีรถไฟใหม่ให้ทันวันที่ 1 ตุลาคมนี้ บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปมาก 4,000 กว่าปีก่อนแถวนี้ยงมีทะเล ต่อมาแม่น้ำทำให้ทรายงอก สองปีมานี้ขยายถนนใหม่ มีบ้านเรือนใหม่ๆ สร้างขึ้นมามาก จีนมีทะเลสาบที่ชื่อว่า ซีหู 25 แห่ง แต่ซีหูที่นี่ถือว่าทิวทัศน์งามที่สุด มีภูเขาล้อมอยู่ 3 ด้าน อีกด้านหนึ่งเป็นเมือง


(น. 285) รูป 202 หังโจว
Upon arrival at the railway station in Hangzhou.

(น. 286) ปัจจุบันมณฑลเจ้อเจียงมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ มี GNP เป็นที่ 4 ของประเทศรองจากมณฑลกวางตุ้ง เจียงซู ซานตง ปัจจุบันพัฒนาการค้าและอุตสาหกรรมมาก ใช้ระบบกลไกตลาดแบบสังคมนิยม มีการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน อุตสาหกรรมที่นี่มีด้านโทรคมนาคมและอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลัก สร้างเครื่องโทรศัพท์มือถือและเพจเจอร์ นอกนั้นมีเวชภัณฑ์ เครื่องจักร รถ รถตู้ รถจักรยานยนต์ เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับน้ำมันบางอย่าง เสื้อผ้า เครื่องไฟฟ้าจำพวกตู้เย็น โทรทัศน์ เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ มาดามเองเคยไปเมืองไทยเมื่อ ค.ศ. 1987 เพื่อไปดูการผลิตและได้นำเข้า compressor ตู้เย็นที่ไทยผลิตร่วมกับสหรัฐอเมริกาในนิยมอุตสาหกรรม ข้าพเจ้าถามว่ามีปัญหาเรื่องแรงงานประท้วงบ้างไหม มาดามว่าเคราะห์ดีที่หังโจวเศรษฐกิจดีจึงมีปัญหาน้อย ที่อื่นมีมากกว่า ตอนนี้เริ่มมีปัญหาคนว่างงาน ทางมณฑลมีศูนย์ฝึกอบรมเพื่อให้แรงงานสามารถเข้าทำงานใหม่ มีเบี้ยเลี้ยงให้ 280 หยวน ในช่วงการฝึกอบรม เป็นการประกันสังคม และให้ค่ารักษาพยาบาลในวงเงิน 500 หยวน แต่ถ้าครบ 3 ปียังไม่ได้ทำงาน ก็เลิกกันไป พยายามหาแนวทางหลายอย่างที่จะช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย เช่น การกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ค่าดำรงชีวิตขั้นต่ำ การช่วยเหลือสอดส่องดูแลด้านสวัสดิการสังคม เป็นการสังคมสงเคราะห์ เช่น พยายามดูแลแต่ละครอบครัวสามีภรรยาให้ว่างงานเพียงคนเดียว ไม่ให้ว่างทีเดียวสองคน พยายามสร้างงานใหม่ๆ เช่น งานโรงงาน ธุรกิจการท่องเที่ยว การบริการในภัตตาคาร การส่งเสริมกิจการส่วนตัว เช่น ส่งเสริมให้เปิดร้านค้าหรือกิจการย่อย ลดหย่อนค่าธรรมเนียมต่างๆ เป็นต้น

(น. 289) วัฒนธรรมหินใหม่เก่าแก่อีกแห่งที่พบคือ วัฒนธรรมหม่าเจียปัง พบทางตอนใต้ของแม่น้ำเฉียนถังเจียงในทศวรรษ 1950 พบเครื่องมือหิน ขวานหิน เครื่องปั้นดินเผา อายุประมาณ 6,000 หรือ 7,000 ปี วัฒนธรรมซงเจ๋ออยู่ใกล้เซี่ยงไฮ้ ประมาณ 5,900 ปีมาแล้ว พบเครื่องมือเกษตรที่ก้าวหน้าขึ้น แต่เครื่องปั้นยังมีลักษณะแบบโบราณ วัฒนธรรมเหลียงจู่ประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว อยู่ชานเมืองหังโจว แถบทะเลสาบไท่หู พบเมื่อ ค.ศ. 1936 มีเครื่องหยก เป็นหยกโปร่งแสงซึ่งหายาก ก่อนพบหยกในวัฒนธรรม

(น. 292) ไปอีกตึกหนึ่ง แสดงเครื่องปั้นดินเผาของเจ้อเจียงตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซังถึงราชวงศ์ชิง สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก สมัยชุนชิวพบเครื่องปั้นดินเผาปั้นเลียนแบบเครื่องสำริด สมัยราชวงศ์ฮั่นมีตุ๊กตาหน้าตาเหมือนคนอินเดีย สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก สมัยสามก๊ก สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออกและพวกราชวงศ์ใต้ มีเครื่องปั้นดินเผาสีดำเต๋อชิง สมัยราชวงศ์สุย ถัง ห้าราชวงศ์ มีเครื่องปั้นดินเผาที่ส่งถวายจักรพรรดิ และของที่พบในสุสาน สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือและซ่งใต้ มีของจากหลงเฉวียน นอกจากนั้นยังแสดงเครื่องปั้นดินเผาอื่นๆ ที่ทำในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้และราชวงศ์หยวน ราชธานีของซ่งใต้อยู่ที่หังโจว จึงมีเตาเผาหลวงหลายเตา เครื่องเคลือบหลงเฉวียน สมัยนั้นส่งออกต่างประเทศ เช่น ประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย มีข้อมูลประวัติศาสตร์จีนว่า ตั้งแต่คริสต์ศตวรรรษที่ 13 – 14 ประเทศไทยได้เทคนิคไปทำเอง สมัยราชวงศ์หมิงและชิง มีตู้กระจกบอกวิธีทำเครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่เริ่มหมักดิน ขึ้นรูป เขียนลวดลาย จนถึงเคลือบและนำเข้าเตาเผา และยังมีแผนที่แสดงเส้นทางการค้าทางทะเลที่จีนส่งเรือไปค้าขาย

(น. 293) จากพิพิธภัณฑ์เดินทางต่อไปที่หมู่บ้านเหมยเจียอู ฝนตกไปตลอดทาง ทิวทัศน์ระหว่างทางสวยงาม รองผู้ว่าฯ เย่ว์เล่าว่ามีนโยบายอนุรักษ์ต้นไม้ ถึงจะขยายถนน ก็ไม่ตัดต้นไม้ ที่มีคำกล่าวว่า บนฟ้ามีสวรรค์ บนแผ่นดินมีซูหัง คือซูโจวและหังโจวนั้น สองเมืองมีลักษณะไม่เหมือนกัน ความงามของซูโจวอยู่ที่สวนที่

(น. 294) รูป 208 สาวเก็บชา (น. 294) มนุษย์สร้างขึ้น แต่หังโจวมีทัศนียภาพธรรมชาติที่ต้องอนุรักษ์ไว้ จะปรับสภาพบ้างก็เฉพาะแต่ที่จำเป็น ทะเลสาบซีหูก็มีการขุดลอกเป็นระยะๆ สมัยราชวงศ์หยวนมีการถมทะเลสาบเพื่อเพิ่มเนื้อที่ทำนา สมัยราชวงศ์หมิงและชิงมีการขุดลอก เอาดินที่ขุดลอกออกจากทะเลสาบไปใช้ประโยชน์ ขณะนี้ก็มีการพัฒนาสร้างสวนสาธารณะ สวนนานาชาติ เมืองสมัยราชวงศ์ซ่ง เพื่อต้อนรับการท่องเที่ยว
(น. 294) รูป 208 สาวเก็บชา
Girls picking tea leaves.

(น. 294) มนุษย์สร้างขึ้น แต่หังโจวมีทัศนียภาพธรรมชาติที่ต้องอนุรักษ์ไว้ จะปรับสภาพบ้างก็เฉพาะแต่ที่จำเป็น ทะเลสาบซีหูก็มีการขุดลอกเป็นระยะๆ สมัยราชวงศ์หยวนมีการถมทะเลสาบเพื่อเพิ่มเนื้อที่ทำนา สมัยราชวงศ์หมิงและชิงมีการขุดลอก เอาดินที่ขุดลอกออกจากทะเลสาบไปใช้ประโยชน์ ขณะนี้ก็มีการพัฒนาสร้างสวนสาธารณะ สวนนานาชาติ เมืองสมัยราชวงศ์ซ่ง เพื่อต้อนรับการท่องเที่ยว


(น. 295) รูป 209 คั่วชา
Roasting tea leaves.

(น. 295) ไปถึงที่หมู่บ้านเหมยเจียอูที่ผลิตใบชาหลงจิ่ง เขาปลูกต้นชาตามเนินเขา เนื่องจากฝนตก เลยดูพอเป็นสังเขป สาวเก็บชาเขาจะรู้จักเลือกยอดชาที่กำลังพอดี กิโลกรัมหนึ่งประมาณ 80,000 ยอด วันหนึ่งเก็บได้ครึ่งกิโล ชาที่เก็บในฤดูใบไม้ผลิ คือในช่วงนี้เป็นชาดีที่สุด เมื่อเก็บมาแล้วต้องมาคั่วในกระทะ ใช้มือคนคั่ว เวลานี้ใช้กระทะไฟฟ้า มีปุ่มสำหรับหมุนตั้งอุณหภูมิ เริ่มต้นอุณหภูมิประมาณ 40 องคศาเซลเซียส ต้องคั่วอยู่ประมาณ 20 ชั่วโมง ตอนที่นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลมาชมจึงกล่าวว่าเป็นศิลปหัตถกรรม คนที่มาทำงานด้านชานี้ต้องฝึกอยู่กับอาจารย์ 5 ปี เข้าไปในห้อง ผู้จัดการเป็นอาจารย์โรงเรียนใบชา อธิบายเกี่ยวกับเรื่องชา ให้คนมาสาธิตการชงชา และชวนดื่มชาด้วย

(น.296) น้ำที่ใช้ชงชามาจากธารน้ำหู่เผาเฉวียนของเมืองหังโจว ถือว่าเป็นน้ำที่ดี เมื่อชงแล้วชารสไม่เปลี่ยน เวลาจะชงชาต้องปูผ้า สาวที่มาสาธิตการชงชามานั่งคุกเข่าชง ทำท่าเหมือนรำละคร มีคนเล่นเจิงคลอเป็นเพลง ก่อนอื่นจุดธูปปักไว้ เพื่อทำใจให้สงบ มีสมาธิ หลังจากนั้นจะเอาน้ำที่จะชงชาและใบชาที่จะชงมาให้แขกดูและดม แล้วตักใบชาออกมาจากถ้ำชาดีบุก ใส่ถ้วยแล้วเทน้ำประมาณสามในสิบของแก้ว ถ้าเป็นน้ำเดือดจะทำให้ชาเสียรส ต้องใช้น้ำอุณหภูมิประมาณ 85 องศา แล้วให้แขกดมกลิ่นอีก สักพักจึงเทน้ำจนเต็มถ้วย ลีลาการเทน้ำลงถ้วยเรียกว่า หงส์ผงกหัวสามครั้ง การเทน้ำให้เทประมาณ 3 ใน 4 ของแก้ว สำหรับชาเขียวหลงจิ่งนี้เมื่อเทน้ำร้อนลงไปแล้วไม่ควรปิดฝา ถ้าปิดฝาแล้วจะอบเกินไป ส่วนดีจะเสียไป ท่านหลู่ซวิ่นกล่าวว่า คนที่รู้จักดื่มชา มีใบชาดีถือว่าเป็นความสุขยิ่ง จักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จมาหลายครั้ง แต่แรกทรงรู้สึกว่าชาที่นี่จืด ไม่มีรสมีชาติ ภายหลังจึงทรงทราบว่ามีรสหอมหวานออกมาจากปาก นายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลมาที่นี่ 5 ครั้ง นอกจากดื่มหมดแล้ว ยังรับประทานใบชาเข้าไปอีก กล่าวว่า ใบชามีค่าสูง หาไม่ง่าย และอีกประการหนึ่ง รับประทานใบชาทำให้ได้ประโยชน์ทางโภชนาการครบถ้วนทั้งหมด คนท้องถิ่นหังโจวไม่เรียกว่า ดื่มน้ำชา จะเรียกว่า กินน้ำชา นักธุรกิจชาวฮ่องกงคนหนึ่งให้พ่อครัวประจำตัวทำกุ้งผัดชาหลงจิ่ง ผู้หญิงที่คลอดลูกใหม่ๆ ต้องการอาหารบำรุง แม่ผัวจะตุ๋นไก่ให้ลูกสะใภ้ จะมีกลิ่นคาว คนที่เพิ่งออกลูกจะรับประทานไม่ลง แม่ผัวเอาใบชาใส่ถุงผ้าใส่ในตัวไก่ที่จะตุ๋น จะหมดกลิ่นคาว มีแต่หอมใบชา

(น. 298) บ้านเรือนเกษตรกรในหังโจวนี้ใหญ่โต เดี๋ยวนี้พวกเกษตรกรที่นี่มีเงิน สร้างบ้านเรือน มีห้องนอน ห้องน้ำ ห้องรับแขก ห้องครัว และมีอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้ามากมาย

(น. 300) พอดีมีอาหารชนิดหนึ่งเรียกว่า เจี้ยวฮวาจี หรือ ไก่ขอทาน ห่อกระดาษหนังสือพิมพ์มาเสิร์ฟ ตอนที่จักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จเจียงหนานเคยได้เสวย ข้าพเจ้าคิดถึงเรื่องมังกรหยกที่มีเฒ่าขอทานอั้งชิดกงชอบกินไก่ กิมย้งคงได้ความคิดจากไก่ขอทานของหังโจวนี่เอง ท่านผู้ว่าฯ บอกว่ากิมย้งเป็นเพื่อนท่าน มาอยู่ที่หังโจว 20 วัน เพิ่งไปเมื่อเช้านี้เอง เดี๋ยวนี้ท่านไม่ได้แต่งนิยาย ทำแต่งานวิชาการและสอนหนังสือ (เช่น วิชาประวัติศาสตร์จีน วรรณกรรมจีน และอื่นๆ) สอนทั้งในประเทศจีนและในยุโรป ผู้ว่าราชการมณฑลมีแผนพัฒนามณฑลว่าจะให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานคือ ตัดถนนสร้างทางด่วน สร้างเขื่อนริมทะเลป้องกันลม เมื่อรับประทานอาหารเสร็จแล้ว มาดามจังนำช่างตัดเสื้อของมาดามมาวัดตัวข้าพเจ้า จะเอาไปตัดเสื้อให้ ซุป (ศุภรัตน์) ผู้ซึ่งชอบเรื่องมังกรหยกมากมาหา บอกว่าถามข้อมูลไก่ขอทานจากพวกชาวจีนที่รับประทานอาหารด้วยกัน เขาเล่าว่าไก่ขอทานเป็นอาหารที่มีชื่อของมณฑลเจียงซู มีทั้งที่ซูโจว หังโจว วิธีทำปรับปรุงมาจากวิธีปรุงไก่ของพวกขอทานสมัยราชวงศ์ชิง พวกขอทานขโมยไก่มา แต่ไม่มีหม้อหรือกระทะ (น. 301) เลยเอาไก่ทั้งตัว มิได้ถอนขน พอกด้วยดินเหนียว แล้วเผาไฟ เมื่อไก่สุกแกะดินที่ติดขนและหนังออก ก็ได้เนื้อไก่แสนอร่อยกิน ต่อมามีคนนำวิธีทำนี้มาประยุกต์ กล่าวคือ นำไก่สดที่เอาเครื่องในออกหมดแล้ว ล้างให้สะอาด นำเนื้อหมูและแฮม (หัวถุ่ย) ที่สับเป็นเม็ดเล็กๆ รวมกับกุ้งแห้ง พร้อมกับเครื่องปรุงรส ยัดเข้าไปในท้องไก่ ห่อไก่ด้วยใบบัว แล้วพอกตัวไก่ด้วยดินเหนียวสีเหลือง นำไปเผาหรือหมกในถ่านไฟจนไก่สุกได้ที่ แกะดินเหนียวและใบบัวออก ก็รับประทานได้เอร็ดอร่อย เนื่องจากประยุกต์วิธีปรุงแบบพิสดารมาจากวิธีทำของพวกขอทาน จึงเรียกว่า เจี้ยวฮวาจี หรือ ไก่ขอทาน มีอีกชื่อหนึ่งว่า หวงหนีเว่ยจี หรือ ไก่ห่อดินเหนียวสีเหลืองหมกถ่านไฟ แต่ชื่อแรกฮิตกว่า ไก่ขอทานของภัตตาคารหวังซื่อ ที่อำเภอฉังสู อยู่ห่างจากเมืองซูโจวประมาณ 40 กิโลเมตร ขึ้นชื่อว่าอร่อยที่สุด เมื่อซุปไปแล้ว ข้าพเจ้าเอาหนังสือเกี่ยวกับเมืองหังโจวที่อยู่ในห้องพักมาอ่าน หังโจวตั้งอยู่ทางตอนเหนือของมณฑลเจ้อเจียง ในช่วงปลายของแม่น้ำเฉียนถังเจียงทางฝั่งเหนือ คลองขุดต้าอวิ้นเหอไหลมาสิ้นสุดที่หังโจว เป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ปรากฏร่องรอยหลักฐานให้ศึกษาย้อนหลังไปได้ถึง 7,000 ปี (วัฒนธรรมหินใหม่เหอมู่ตู้) ในสมัยราชวงศ์ฉินมีชื่อเรียกขานกันว่า เมืองเฉียนถัง ในสมัยราชวงศ์สุยเปลี่ยนชื่อเป็นหังโจว ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 เคยเป็นเมืองหลวงของแคว้นอู๋เย่ว์ [หลังจากที่ราชวงศ์ถังล่มสลายใน ค.ศ. 907 แล้ว ประเทศจีนได้แตกแยกกัน

(น. 302) อีกครั้งหนึ่งอยู่ 70 กว่าปี (ค.ศ. 907 – 979) จึงรวมตัวกันได้ใหม่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 979 – 1279) ช่วงแตกแยกนี้ ในประวัติศาสตร์จีนเรียกกันว่า สมัยห้าราชวงศ์ (ค.ศ. 970 - 960) สิบแคว้น (ค.ศ. 907 – 979) แคว้นอู๋เย่ว์เป็นแคว้นหนึ่งในสิบแคว้น] ต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ซึ่งหนีการรุกรานของพวกกิมก๊กมาอยู่ทางใต้ได้มาตั้งเมืองหลวงที่หังโจว และเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองหลินอาน หังโจวเป็นเมืองที่ทิวทัศน์ธรรมชาติทั้งภูเขาและทะเลสาบงดงามยิ่ง ทะเลสาบที่มีชื่อเสียงเลื่องลือคือ ทะเลสาบซีหู และที่ตำบลเอี๋ยนกวน อำเภอไห่หนิงซึ่งพื้นที่ทางใต้ติดกับอ่าวหังโจวนั้นเป็นที่ชมคลื่นทะเลเฉียนถังอันเลื่องชื่อ มาร์โคโปโลเคยมาเที่ยวหังโจวและชื่นชอบมาก จนกล่าวว่า หังโจวเป็นเมืองสวรรค์ซึ่งสวยงามและภูมิฐานที่สุดของโลก ไป๋จวีอี้ กวีเอกผู้ซึ่งเคยมาเป็นเจ้าเมืองหังโจวอยู่ 2 ปีในช่วง ค.ศ. 822 – 824 ก็ชมชอบเมืองหังโจวมาก จนเคยแต่งบทกวีพรรณนาถึงเองหังโจวโดยขึ้นต้นบาทแรกว่า “คิดถึงเจียงหนาน คิดถึงหังโจวที่สุด” (เจียงหนานอี้ จุ้ยอี้ซื่อหังโจว) หังโจวเป็นเมืองงาม แดนอุดมมาแต่โบราณ เป็นแหล่งผลิตผ้าแพร ผ้าไหม และมีหัตถกรรมการปักผ้า การทำร่มแพรไหม พัดไม้จันทน์หอม กรรไกร รวมทั้งเป็นแหล่งผลิตชาหลงจิ่งที่มีคุณภาพสูง รสชาติดี และชาอื่นอีกหลายชนิด อาหารที่อร่อยก็มีหลายอย่าง นอกจากนั้นยังเป็นเมืองหลวงสำคัญหนึ่งในเจ็ดเมืองของจีน (ปักกิ่ง ซีอาน ไคเฟิง ลั่วหยัง อานหยัง หนานจิง และหังโจว ในประเทศจีน ยังมีเมืองที่เคยเป็นเมืองหลวงของแคว้น

(น. 303) ต่างๆ ในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา เมืองเหล่านี้มิได้อยู่ในกลุ่มเมืองหลวงสำคัญของประเทศ) ด้วยสภาพภูมิศาสตร์และความอุดมสมบูรณ์ หังโจวจึงเป็นเมืองหนึ่งที่ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนไปสู่ความทันสมัยตามนโยบายสี่ทันสมัยที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ ค.ศ. 1978 เมืองหังโจวหรือฮั่งจิวในภาษาแต้จิ๋วเป็นสถานที่ที่เป็นฉากสำคัญของเรื่องมังกรหยกอยู่หลายตอน รวมทั้งนวนิยายกำลังภายในอื่นๆ อีกหลายเรื่องด้วย ใน ค.ศ. 1127 ราชวงศ์ซ่งได้หนีการรุกรานของชนเผ่าหนี่ว์เจินแห่งราชวงศ์จิน (ราชวงศ์กิม) มาอยู่ทางใต้ ตั้งเมืองหลวงที่หังโจวหรือหลินอาน จึงเรียกกันในทางประวัติศาสตร์ว่า ราชวงศ์หนานซ่งหรือซ่งใต้ เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว ผู้นำและพวกขุนนางส่วนหนึ่งก็หลงระเริงใช้ชีวิตสำราญในแดนงามทางใต้จนลืมความทุกข์ของประชาชนและลืมหน้าที่การกอบกู้แผ่นดินคืนมา พวกกวีรู้สึกรันทดกับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงได้เขียนบทกวีจำนวนไม่น้อยพรรณนาถึงชะตากรรมของยุคสมัย บทกวีของหลินเซิง (ประมาณ ค.ศ. 1131 – 1189) ชื่อ ถีหลินอานตี่ หรือ เขียน ณ ที่พักในหลินอาน เป็นบทกวีที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย บทกวีพรรณนาความว่า
นอกเขา มีเขาเขียว นอกหอ ยังมีหอ
ร้องรำทำเพลงข้างซีหู เมื่อไหร่จะพัก
ลมอุ่นมอมเมาคนเดินทาง
จนหลงว่าหังโจวเป็นเปี้ยนโจว