Please wait...

<< Back

กวางตุ้ง

(น.56) ท่านรองผู้ว่าราชการมณฑลบอกว่าที่กวางโจวนี้มีมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยมาก เช่น มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ สถาบันศิลปะ ตัวเขาเองเรียนมาทางเคมีสาขาโพลิเมอร์ แต่ก่อนเคยเป็นประธานสภาวิทยาศาสตร์สาขากวางตุ้ง เดี๋ยวนี้ยังดูแลเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

(น.57) ไปถึงโรงแรม White Swan อยู่ริมแม่น้ำจูเจียง มาถึงยังไม่มีอะไรทำก็เลยเดินดูในร้านขายของในโรงแรม ซื้อหนังสือได้หลายเล่มเกี่ยวกับจีนและภาษาจีน เวลา 19.00 น. รองผู้ว่าราชการมณฑลเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหาร หลังจากกล่าวต้อนรับเกี่ยวกับความสัมพันธ์ไทยจีนแล้วเชิญรับประทานอาหาร ที่นี่มีพิเศษอยู่อย่างหนึ่งคือพอเขายกหมูหันเข้ามา มีเพลงประกอบเป็นเพลงกวางตุ้ง คนอื่นๆ ที่มาในงาน เช่น นายเฉาเจินเหวย รองเลขาธิการรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง และอธิบดีสำนักงานการต่างประเทศ มณฑลกวางตุ้ง นางหวังโช่วชู รองนายกเทศมนตรีนครกวางโจว นายผังเชิงชู ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของเทศบาล


(น.57) รูป 50 คณะอาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยการค้าต่างประเทศกวางโจว

คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 60,63-64,68,79,82-83,99-100

(น.60) คำว่า เยว่ นั้นพจนานุกรมบอกว่าเป็นแคว้นหนึ่งในสมัยโจวตะวันออก (770-256 ก่อนคริสต์กาล) ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเจ้อเจียง และเจียงซู ตัวอักษรจีนเขียนดังนี้ 越 นั่นเป็นพวกที่หนึ่ง พวกนี้ถูกพระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ผนวกดินแดน พวกที่ 2 คือพวกหนานเยว่(南越) มีข้อน่าสังเกตว่าจีนเรียกประเทศเวียดนามว่า เยว่หนาน(越南) และใช้ตัวอักษรเดียวกันกับพวกหนานเยว่ในกวางโจว ข้าพเจ้าคิดว่าพวกหนานเยว่อาจจะเป็นบรรพบุรุษของคนเวียดนามในปัจจุบัน น่าสังเกตว่ามีอีกคำที่อ่านว่า เยว่ เหมือนกันแต่ใช้อักษรคนละตัว 粤 หมายถึงมณฑลกวางตุ้งและกวางสี ข้าพเจ้าเคยได้ยินว่าคนจีนเรียกชนเผ่าต่างๆที่อยู่ทางตอนใต้ว่า ไป่เยว่ แปลว่าเยว่ร้อยเผ่า ในร้อยเผ่านี้มีเผ่าไทอยู่ด้วย สุสานที่เราดูเป็นของพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 ของหนานเยว่ท่านสืบเชื้อสายมาจากทหารของจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งกรีฑาทัพมาผนวกดินแดนที่หลิ่งหนาน (ปัจจุบันคือ มณฑลกวางตุ้งและกวางสี) ในปี 214 ก่อนคริสต์กาล ปลายสมัยราชวงศ์ฉิน (221-206 ก่อนค.ศ.) บ้านเมืองวุ่นวาย ท่านนายพลเจ้าถัวถือโอกาสสถาปนาอาณาจักรหนานเยว่ สืบราชสมบัติกันมา 5 รัชกาลก็สิ้นวงศ์ รวมเวลา 93 ปี เป็นสมัยเดียวกับอาณาจักรฮั่นตะวันตก

(น.63) เข้าไปในสุสาน ข้างในตั้งรับกล่องบริจาคเงิน สุสานนี้แปลกที่มีทางเข้าได้ 2 ทาง เนินที่เป็นสุสานนี้สูงถึง 18 เมตร เท่ากับตึกสูง 6 ชั้น ขุดยากเพราะว่าเป็นหิน เป็นสุสานหินที่เก่าแก่ที่สุดของจีน ขุดลึก 13 เมตรจึงพบสุสาน ปีที่แล้วฉลองกวางโจวอายุครบ 2,200 ปี กล่าวว่าเป็นเมืองที่จักรพรรดิองค์นี้สร้าง มีตู้แสดงพระราชลัญจกร ซึ่งมีรูปมังกรอยู่ด้านบน กว้าง 3.1 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตร หนา 1.8 เซนติเมตร หนัก 148.5 กรัม มีตัวอักษรจารึกว่า เหวินตี้ นับว่าเป็นพระราชลัญจกรที่ใหญ่ที่สุด เดิมไม่ชอบทำใหญ่เพราะต้องพกติดตัวไปไหนๆ สมัยถังและซ้องก็ยังทำเล็กๆ ส่วนสมัยหยวนทำขนาดใหญ่


(น.64) รูป 56 ป้ายแสดงสายสกุลกษัตริย์เยว่


รูป 57 แผนที่อาณาจักรเยว่

(น.64) มีตารางแสดงการสืบวงศ์ แผนที่แสดงเขตแคว้น การแบ่งส่วนการปกครองแบบโบราณ แสดงว่าอาณาเขตครอบคลุมที่ปัจจุบันเป็นมณฑลกวางตุ้ง กวางสี บางส่วนของยูนนาน ผ่านช่องเขาเมฆลงมาตอนเหนือของเวียดนาม

(น.68) ที่หมายที่ 2 พิพิธภัณฑ์กวางโจว ตึกพิพิธภัณฑ์นี้เป็นตึกโบราณชื่อว่า เจิ้งไห่โหลว แปลตามศัพท์ว่า ตึกหันสู่ทะเล มีความหมายว่า ตึกชมทะเล อยู่บนเนินเขาเยว่ซิ่ว เป็นอาคาร 5 ชั้นแบบจีน สูง 28 เมตร สร้างเมื่อ ค.ศ. 1380 สมัยราชวงศ์หมิง ผู้สร้างคือนายพลจูเลี่ยงลู่ ซึ่งมาปกครองดินแดนกวางตุ้ง

(น.79) กล่าวโดยสรุป ผู้ที่สนใจประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของเมืองกวางโจว และมณฑลกวางตุ้งจะศึกษาได้เหมือนกับอ่านหนังสือเล่มใหญ่ นอกจากนั้นยังสามารถเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศจีน และน่าเปรียบเทียบกับการแก้ปัญหาของไทยเราในสมัยจักรวรรดินิยม


(น.82) รูป 81 บ้านตระกูลเฉิน

(น.82) ที่หมายที่ 4 คือ บ้านตระกูลเฉิน และพิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นเมือง รองนายกเทศมนตรีเปิดรถไฟใต้ดินแล้วกลับมารับ นายหลี่จัวฉีเป็นคนนำชม บ้านหลังนี้สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1890-1894 ผู้ที่ริเริ่มสร้างเป็นบุคคลตระกูลเฉิน 3 คน คือ เฉินหุ่ยหลาน เฉินซีหลาน และเฉินเจียงหลิน มีคนคิดว่าคนตระกูลเฉินที่สอบคัดเลือกมาจากอำเภอแล้วจะต้องมาสอบระดับสูงขึ้นที่กวางโจว น่าจะมีสถานที่เป็นที่พักและศึกษาหาความรู้เพื่อเตรียมตัวสอบ จึงเรี่ยไรคนในตระกูลเฉินรวม 72 ครอบครัว เพื่อสร้างเป็นสถานศึกษา ครั้งแรกได้เงินไม่พอต้องเรี่ยไรอีกครั้งหนึ่ง โดยแจ้งวัตถุประสงค์เสียใหม่ว่า เพื่อสร้างเป็นศาลเจ้าของตระกูล การเรี่ยไรคราวนี้เพียงพอ


(น.83) รูป 82 ประตูสลัก ภาพไก่ลูกดก กล้วยใบใหญ่

(น.83) เมื่อก๊กมินตั๋งเข้ามาปกครองประเทศ ใช้สถานที่นี้เป็นที่ฝึกหัดนักกีฬาของมณฑลกวางตุ้ง จนถึง ค.ศ. 1957 จึงประกาศเป็นโบราณสถาน ใน ค.ศ. 1957 จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ศิลปะพื้นเมืองของกวางตุ้ง เก็บของต่างๆ ถึง 20,000 ชนิด การก่อสร้างเป็นศาลเจ้าจีนตามแบบสถาปัตยกรรมแบบจีนตอนใต้ ประกอบด้วยอาคารน้อยใหญ่ 19 อาคาร การก่อสร้างใช้ไม้เชื่อมต่อกันโดยไม่ใช้ตะปู มีเนื้อที่ใช้สอยทั้งหมดราว 15,000 ตารางเมตร แบ่งเป็น 3 ส่วน คือส่วนหน้า ส่วนกลาง และส่วนหลัง เครื่องประดับตกแต่งอาคารทั้งหมดถือได้ว่าเป็นการรวบรวมแบบอย่างศิลปกรรมมณฑลกวางตุ้ง คือ มีทั้งการสลักอิฐ สลักไม้ ประดับกระเบื้องและเครื่องปั้นดินเผา

(น.99) ที่หมายสุดท้ายของวันนี้คือ สำนักงานชลประทานจูเจียง ก่อนไปถึงต้องหยุดรถเพราะว่ามีรถชนอยู่ข้างหน้าทำให้รถติดมาก (แต่เราไม่เห็น) ในที่สุดต้องอ้อมไปอีกทาง เมื่อเกือบ 11 ปีมาแล้ว (Nov. 23-29, 1998) ข้าพเจ้าได้เข้าร่วมประชุม Asian Conference on Remote Sensing ครั้งที่ 9 จัดที่ประเทศไทย และได้เสนอการวิจัยซึ่งทำร่วมกับศิริวรรณ ศิลาพัชรนันท์ และกรพินธุ์ ศรีสุขสวัสดิ์ เรื่อง Land use/Land cover Map Accuracy Assessment of Landsat Themetic Mapper Data using The DIMAPS Image Processing System for Narathiwat Province. ได้พบกับนักวิชาการจีนหลายคน ครั้งนั้นเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้ฟังคำอธิบายเกี่ยวกับแม่น้ำจูเจียงหรือแม่น้ำไข่มุกนี้ นักวิชาการจีนให้นามบัตรเอาไว้ ข้าพเจ้าก็เอาไปเขียนไว้ในสมุดจดที่อยู่และหมายเลขโทรศัพท์เล่มเก่าซึ่งปัจจุบันเขียนเต็มเล่มและไม่ได้ใช้แล้ว (แต่แปลกที่ไม่หาย) นามบัตรเหล่านั้นหายไปไหนแล้วก็ไม่ทราบ ข้าพเจ้าก็ไม่เคยติดต่อพวกเขาเลย เมื่อจะเตรียมการเดินทางมามณฑลกวางตุ้ง ข้าพเจ้าเกิดความคิดว่านอกจากมาดูเรื่องประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมแล้ว น่าจะมีโอกาสได้ศึกษาเกี่ยวกับสภาพภูมิศาสตร์และเทคโนโลยีบ้าง แม่น้ำจูเจียงนั้นเป็นแม่น้ำที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ที่หล่อเลี้ยงสร้างสรรค์ความเจริญก้าวหน้าให้จีนตอนใต้ จึงอยากไปศึกษาดู เกิดคิดออกว่าเคยมีที่อยู่ใครที่เคยทำงานโครงการนี้ จึงไปเปิดสมุดเก่าดู พบชื่อคุณหวังลี่หยู ที่ทำงานอยู่ที่โครงการแม่น้ำจูเจียง จึงขอให้เจ้าหน้าที่ไป


(น.100) รูป 106 สำนักงานชลประทานจูเจียง

(น.100) สอบถามดูว่าเขายังทำงานอยู่หรือเปล่า ปรากฏว่าหาตัวพบและสามารถจัดให้ไปเยี่ยมสำนักงานโครงการได้ แต่จะดูอะไรมากกว่านั้นก็ไม่ได้เพราะเวลามีน้อย แม่น้ำจูเจียงเป็นแม่น้ำที่ใหญ่ที่สุด 1 ใน 7 ของจีน ไหลผ่านมณฑลยูนนาน กุ้ยโจว กวางสี และกวางตุ้ง และยังมีส่วนหนึ่งที่ไหลผ่านประเทศเวียดนามอีกด้วย มีพื้นที่ลุ่มแม่น้ำทั้งหมดประมาณ 453,700 ตารางกิโลเมตร

คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 116,118,120,122-123,141

(น.116) ตอนที่ 3 การติดต่อทางการค้าระหว่างจีนกับอังกฤษก่อนสงครามฝิ่น ชาวตะวันตกต้องการสินค้าของจีน เช่น ผ้าไหม และเส้นไหมดิบ เครื่องกระเบื้อง (porcelain) ชา (มีตัวอย่างให้ดูในตู้) แต่ว่าไม่มีสินค้าตะวันตกที่จีนต้องการ จีนมีเศรษฐกิจดี ทำเองได้หมด อังกฤษไม่สามารถแทรกแซงได้ ต้องดำเนินนโยบายให้เศรษฐกิจจีนอ่อนแอลง จึงทดลองนำฝิ่นจากอินเดียเข้ามาขาย ร่วมมือกับชาวอเมริกันที่นิวยอร์ก โดยเริ่มมาจำหน่ายที่หวงผู่ในมณฑลกวางตุ้ง คนอังกฤษ 2 คนคือนายวิลเลียม จาร์ดีนส์ และนายเจมส์ แมธีสันร่วมมือกันตั้งบริษัทค้าฝิ่น นายจาร์ดีนส์เป็นนายแพทย์ ดังนั้นใครๆ จึงเข้าใจว่าใช้ฝิ่นเป็นยา

(น.118) บริษัทอินเดียตะวันออกไม่ได้นำฝิ่นเข้าจีนเอง ให้พ่อค้ารายย่อยเป็นผู้นำฝิ่นจากอินเดียเข้าจีนโดยการลักลอบไปให้พวกนำเข้าอีกกลุ่มเข้าทางชายฝั่งทะเล เงินแท่งทองแท่งที่ได้จากการค้าก็จะต้องนำมาส่งที่บริษัทอินเดียตะวันออกที่กวางตุ้ง พวกพ่อค้าจะได้เป็นตั๋วแลกเงินปอนด์ไปขึ้นเงินได้ที่ลอนดอน ส่วนบริษัทอินเดียตะวันออก (หลัง ค.ศ. 1858 รัฐบาลอังกฤษเข้าปกครองอินเดียโดยตรง) เอาเงินแท่งทองแท่งซื้อสินค้าจีนไปขาย

(น.120) ตอนที่ 6 เป็นห้องที่ว่าด้วยหลินเจ๋อสูทั้งห้อง หลินเจ๋อสู (ค.ศ. 1785-1850) เป็นชาวฝูเจี้ยน เขาเป็นคนที่คนจีนถือว่าเป็นวีรบุรุษ ที่พยายามคุ้มครองคนจีนให้พ้นจากภัยฝิ่น คนจีนจึงเป็นชาติแรกที่พยายามหามาตรการเลิกยาเสพติด ใน ค.ศ. 1839 เขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหูเป่ยและหูหนาน ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจราชการมีภารกิจไปตรวจสอบเรื่องกรณีฝิ่นที่กวางตุ้ง

(น.122) ตอนที่ 2 การบุกของอังกฤษและการตั้งรับของจีนในกวางตุ้ง อังกฤษนำเรือรบเข้ามาเดือนเมษายน ค.ศ. 1840 มีเรือรบ 48 ลำ ปืนใหญ่ 500 กระบอก ทหาร 4,000 นาย มาถึงจีนในเดือนมิถุนายนถือเป็นการเริ่มสงคราม

(น.123) การรบที่ชวนปี่ หลังจากจีนแตกพ่ายที่ซาเจี่ยวแล้ว มีรูปป้ายศิลาที่ทำสรรเสริญม้าของแม่ทัพ แม่ทัพตาย ม้าถูกจับ แต่ศัตรูก็ไม่สามารถบังคับม้าได้ ต้องเอาไปปล่อยบนภูเขา ม้าตายไปเองเพราะคิดถึงเจ้าของ ชาวจีนจึงเขียนป้ายสรรเสริญม้าตัวนั้น รูปแม่ทัพเรือจีน และกล้องส่องทางไกลที่แม่ทัพผู้นี้ใช้ รูปป้อมที่เขาถูกฆ่าใน ค.ศ. 1841 การรบที่หู่เหมิน ของที่แสดงให้ดูเห็นได้ว่า ทหารจีนยังใช้เกราะแบบโบราณ อาวุธโบราณต่างๆ เช่น ดาบ หอก ง้าว โตมร ขณะที่อังกฤษใช้อาวุธที่มีประสิทธิภาพสูงกว่า เรื่องการต่อต้านของประชาชนในหมู่บ้านซานหยวนหลี่ อยู่ใกล้กวางโจว ถือเป็นชัยชนะของฝ่ายจีนครั้งแรก เพราะฝ่ายอังกฤษชนะแล้วก็เข้าปล้นสะดม ประชาชนจึงร่วมกันต่อต้าน ล้อมทหารได้อาวุธไว้เป็นจำนวนมาก ตอนที่ 3 สงครามฝิ่นสิ้นสุด ในขณะรบมีแม่ทัพจีนถูกฆ่าตายที่ติ้งไห่ 3 คนคือ เกอหยวนฟา หวังซีเผิง และเจิ้งกั๋วหง ที่อู่ซงก็มีนายพลถูกฆ่า อังกฤษให้ไปเจรจาและลงนามที่นานกิงในวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1842 ผลของสัญญาทำให้จีนต้องเปิดเมืองท่า 5 เมือง คือ กวางโจว เอ้หมึง ฝูโจว หนิงโป เซี่ยงไฮ้ ยกเกาะฮ่องกงให้อังกฤษ ยกเลิกการค้าผูกขาดระบบหัง (行) ในมณฑลกวางตุ้ง และให้มีสิทธิสภาพนอกอาณาเขต เสียเงินชดใช้ให้อังกฤษเป็นค่าฝิ่นที่ทำลายไป

(น.141) ฮ่องกงสมัยราชวงศ์ฉินและฮั่น (Qin-Han) ทางตะวันออกเฉียงใต้ (มณฑลกวางตุ้ง) มีเมืองชื่อ เมืองพานหยู

ใต้เมฆที่เมฆใต้
ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 222-224,232

(น.222) ผู้บริหารสูงสุดของเสิ่งเสียซื่อหรือจื้อจื้อชีว์เสียซื่อก็คือนายกเทศมนตรี หากเทียบกับการจัดระเบียบการปกครองของไทย เสิ่งเสียซื่อหรือจื้อจื้อชีว์เสียซื่อก็คือจังหวัดขนาดใหญ่ที่มีเทศบาลนครในการปกครองส่วนท้องถิ่น เสิ่งเสียซื่อหรือจื้อจื้อชีว์เสียซื่อจะมีเขต (District, ชีว์) ที่อยู่ในเมืองและอำเภอในพื้นที่บริเวณรอบนอกออกไปอยู่ใต้การปกครองเมืองหลวงของมณฑลหรือภูมิภาคปกครองตนเองจะมีฐานะเป็นเสิ่งเสียซื่อหรือจื้อจื้อชีว์เสียซื่อ นอกจากนั้นบางมณฑลหรือบางภูมิภาคปกครองตนเองมี 2-3 หรือ 3-4 เสิ่งเสียซื่อหรือจื้อจื้อชีว์เสียซื่อ แต่ก็มีบางมณฑลที่มีถึง 10 เช่น มณฑลเหลียวหนิง มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง)

(น.223) ประเทศจีนมีอำเภอ

(น.224) ปกครองตนเองทั้งหมด 110 อำเภอ มณฑลที่มีมากที่สุดคือมณฑลหยุนหนาน (ยูนนาน) มี 28 อำเภอ ภูมิภาคปกครองตนเองชนชาติจ้วงกว่างซี (กวางสี) มี 12 อำเภอ มณฑลกุ้ยโจวมี 11 อำเภอ มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) มี 8 อำเภอ มณฑลกานซู มณฑลชิงไห่ และมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) มีมณฑลละ 7 อำเภอ ภูมิภาคการปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ซินเจียง (ซินเกียง) มี 6 อำเภอ มณฑลหูหนานมี 6 อำเภอ มณฑลเหลียวหนิงมี 5 อำเภอ มณฑลเห่อเป่ย มี 4 อำเภอ มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) มี 3 อำเภอ มณฑลจี๋หลินและมณฑลหูเป่ยมีมณฑลละ 2 อำเภอ มณฑลเจ้อเจียงและมณฑลเฮยหลงเจียงมีมณฑลละ 1 อำเภอ

(น.232) ภูมิอากาศ
- มณฑลยูนนานได้รับอิทธิพลของลมมรสุมทางทิศตะวันตกเฉียงใต้จากมหาสมุทรอินเดีย ลมมรสุมทางทิศตะวันออกเฉียงใต้จากทะเลจีนใต้และมวลอากาศ (air mass) จากที่ราบสูงทิเบต ฤดูฝนระหว่างเดือนเมษายน - ตุลาคม ฝนตกหนักช่วงเดือนกรกฎาคม - กันยายน เนื่องจากภูมิประเทศเป็นภูเขาสูง ปริมาณฝนเฉลี่ยรายปีจึงแตกต่างกันอย่างมากในแต่ละท้องที่ บางแห่งมีปริมาณฝนมากกว่า 1,500 มม./ปี (ชายแดนภาคตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลและชายแดนใต้ของ

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 37-39,43-44,67

(น.37) มีปลาอบใส่ซอสแดงๆ รองอธิบดีวิเทศสัมพันธ์บอกว่า เป็นคนมาจากมณฑลเหอเป่ย รับประทานซอสแดงไม่เป็น เขาไม่ค่อยชอบอาหารทะเล แถวๆ อู่อี๋ซานเป็นภูเขา อาจมีแต่ของป่า เมื่อรับประทานแล้วไป หออนุสรณ์สถานวีรบุรุษ-นายพลหลินเจ๋อสู (ค.ศ. 1785-1850) อนุสรณ์สถานนี้สร้าง ค.ศ. 1905 เป็นปีที่หลินเจ๋อสูเสียชีวิตครบ 55 ปี

Next >>