Please wait...

<< Back

จี๋หลิน

จากหนังสือ

มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 28

(น.28) ท่านเล่าว่าได้เป็นประธานปล่อยปลาที่สวนหลวง ร.9 ถามถึงกำหนดการเดินทาง แล้วท่านอธิบายให้ฟังว่าเส้นทางแพรไหมนี้มีสมบัติทางวัฒนธรรมอยู่มาก น่าเสียดายที่ถูกชาวต่างประเทศมาลักไป ทำลายเสียหายเสียมากมาย แสดงให้เห็นโทษของการขาดความรู้ และอำนาจทางการเมือง ที่หลานโจวมีโรงไฟฟ้าใหญ่ มีแม่น้ำหวงเหอซึ่งทำให้ไฟฟ้าและใช้ในการชลประทานได้ เฉพาะที่หลานโจวก็มี 6 แห่ง ถึงแม่น้ำหวงเหอจะหล่อเลี้ยงประเทศจีน แต่ในอดีตก็นำภัยพิบัติมาให้มาก ครั้งสุดท้าย ใน ค.ศ. 1937 ท่านเล่าถึงการส่งจรวดนำดาวเทียมโทรคมนาคมเมื่อคืนนี้ ปรับระบบ 4 วัน และใช้ได้ใน 15 วัน รับประทานอาหาร มีออร์เดิร์ฟ ซุปเต้าหู้ ซุปหูฉลาม สเต๊กเนื้อกับเห็ด กุ้ง ผัก ที่เป็นของพิเศษในอาหารมื้อนี้ได้แก่น้ำมันของกบภูเขาใส่น้ำเชื่อม มาจากมณฑลจี๋หลิน (อยู่ติดกับเกาหลี) เป็นไขมันที่กบสะสมไว้ในร่างกายสำหรับช่วงจำศีล คนเอามารับประทาน เป็นยาจีน ช่วยรักษาไขข้อและกล้ามเนื้อ ขนมมีหนวดมังกรอย่างเมื่อคืน และขนมเค้ก ผลไม้มีแตงโม ส้ม และมะม่วง

เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงามหน้า 42


(น. 42) รูป 29 ภาพเหตุการณ์ กันยายน ค.ศ. 1931 – กรกฎาคม ค.ศ. 1937
Pictures displaying the events from September 1931 - July 1937

(น. 42) วันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1931 ญี่ปุ่นเปิดฉากโจมตีเมืองเสิ่นหยัง ภายใน 4 เดือนก็สามารถยึดได้เมืองเสิ่นหยัง (มณฑลเหลียวหนิง) ฉังชุน (มณฑลจี๋หลิน) และฮาร์บิน (มณฑลเฮยหลงเจียง) แล้วยึดเมืองอื่นๆ ต่อเนื่องมา ภาคอีสานของจีนก็อยู่ใต้การยึดครองของญี่ปุ่น ญี่ปุ่นจัดตั้งหม่านโจวกั๋วขึ้น (ประเทศแมนจูเรีย ภาษาไทยถอดเสียงเคลื่อนเป็น แมนจูกัว) พอถึง ค.ศ. 1934 ญี่ปุ่นสถาปนาพระเจ้าผู่อี๋เป็นจักรพรรดิหม่านโจวกั๋ว หลังจากญี่ปุ่นบุกตงเป่ย พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้เป็นแกนนำรวมพลังประชาชนต่อต้านญี่ปุ่น จัดตั้งเป็นกองทัพพันธมิตรภาคตะวันออกเฉียงเหนือต่อต้านญี่ปุ่น ค.ศ. 1935 นักศึกษามหาวิทยาลัยต่างๆ ที่อยู่ในกรุงปักกิ่งได้รวมพลังกันเดินขบวนให้โค่นล้มลัทธิจักรวรรดินิยมญี่ปุ่น และคัดค้านพวกขุนศึกในภาคเหนือที่ตั้งตนขึ้นมามีอำนาจปกครองตนเอง ในช่วงนั้น พรรคก๊กมินตั๋งและพรรคคอมมิวนิสต์จีนสู้รบกัน ปลาย ค.ศ. 1936 เจียงไคเช็กไปบัญชาการปราบปรามพวกคอมมิวนิสต์ที่เมืองซีอาน วันที่ 12 ธันวาคม ค.ศ. 1936 นายพลจังเสวียเหลียงและนายพลหยังหู่เฉิง ขุนศึกภาคเหนือจับเจียงไคเช็กไปขังไว้ ในที่สุดพรรคคอมมิวนิสต์และพรรคก๊กมินตั๋งสามารถเจรจารอมชอมกันได้ เหตุการณ์เมืองซีอานจึงยุติลงอย่างสันติ

เจียงหนานแสนงามหน้า 329

(น. 329) ค่ำนี้รองผู้ว่าฯ เย่ว์เลี้ยงส่งที่เรือนรับรองซีหู มาดามเย่ว์ “สอบ” ทุกคนว่ามีความคิดเห็นเรื่องหังโจวอย่างไร และเล่าว่าที่นี่มีความสำคัญหลายอย่าง เกาะดอกท้อในเรื่องมังกรหยกก็ไม่ไกลจากที่นี่นัก คิสซินเจอร์กับนิกสันก็มาที่นี่ ตอนนี้มีผู้มาลงทุนมาก มาดามไปที่เมืองไทยเห็นมีนิคมอุตสาหกรรม กลับมาก็เลยผลักดันให้ที่นี่มีบ้าง แสดงว่าการออกไปศึกษาจากต่างประเทศมีประโยชน์ ตอนนี้พยายามปรับปรุงการตลาด ผลิตของให้มีคุณภาพ บริการส่งให้ถึงลูกค้า สร้างความสัมพันธ์กับมณฑลอื่น เช่น นำถ่านหินจากมณฑลส่านซี ใบยาสูบจากมณฑลยูนนาน มณฑลเจ้อเจียงผลิตชิ้นส่วนของรถยนต์ป้อนโรงงานผลิตรถยนต์ในมณฑลหูเป่ย จี๋หลินและมหานครเซี่ยงไฮ้ การติดต่อเช่นนี้กับต่างประเทศก็ทำได้เหมือนกัน เช่น สัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาในการผลิตโทรศัพท์มือถือโมโตโรลา มณฑลนี้ทรัพยากรมีไม่มากนัก ต้องรับจากมณฑลอื่น ต้องวางแผนการลงทุนในที่อื่น เช่น เมื่อที่เซี่ยงไฮ้เปิดเขตอุตสาหกรรมผู่ตง บริษัทในมณฑลเจ้อเจียงก็ไปลงทุนทำกิจการที่นั่นด้วย

เกล็ดหิมะในสายหมอก
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 1 ปักกิ่ง หน้า 19

(น.19) พอดีรับประทานเสร็จ สองทุ่มตรง จึงยุติการสนทนาแต่เพียงเท่านี้ ก่อนจะลา ท่านซ่งแนะนำว่า เดินทางไปตะวันออกเฉียงเหนือต้องสวมเสื้อหนาๆ และดื่มน้ำมากๆ ซึ่งตรงกับคำแนะนำที่ข้าพเจ้าได้รับตอนไปแอนตาร์-กติกา อาหารวันนี้อร่อยดีตามเคย มีออร์เดิฟ ซุปเยื่อไผ่ใส่ไข่นกพิราบ หูฉลามปนกับปลิงทะเล กระเพาะปลา หอยเป๋าฮื้อ ปลานึ่งในกระดาษฟอยล์ เป็ดปักกิ่ง ( เขาเติมให้ข้าพเจ้า ! ) ผักต้ม แถมบะหมี่เสฉวน ของหวานมีเค้ก มันกบ (ที่จริงคือต่อมหลังใบหูของกบ) ลอยแก้ว เป็นอาหารพิเศษของมณฑลจี๋หลิน (รักษาโรคได้หลายอย่าง) ซาละเปาทอด และผลไม้

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 1 ปักกิ่ง หน้า 64,65

(น.64) แยงซีเกียงว่าต้องมีการย้ายประชาชนเช่นเดียวกัน (ได้ทราบว่าประมาณล้านกว่าคน) แต่ที่ใหม่จะดีกว่าเดิม จะสร้างโรงงานเพิ่มขึ้นเพื่อให้คนมีงานทำ ปรับปรุงดินให้มีคุณภาพดีขึ้น เพิ่มผลการผลิต ส่งเสริมการปลูกส้มในที่ดินที่เหมาะสม ท่านเล่าถึงโครงการไฟฟ้าพลังน้ำเฟิงหม่านที่จี๋หลินที่ข้าพเจ้าจะไป ท่านว่าคำว่า “เฟิงหม่าน”หมายถึงความอุดมสมบูรณ์ ท่านและภรรยาเคยไปทำงาน

(น.65) ที่นั่นระหว่างปี ค.ศ. 1955 – 1960 คนมีอายุในแถบนั้นจะรู้จักท่านเป็นอย่างดี สิ่งที่หน้าแปลกคือแม้ในหน้าหนาวใต้เขื่อนจะไม่มีน้ำเขื่อน แต่ว่าเหนือเขื่อนน้ำแข็งหนา 4 - 5 เมตร ใต้น้ำแข็งเป็นน้ำ น้ำบริเวณเขื่อนอุณหภูมิสูงกว่าที่อื่น เพราะมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เมื่อน้ำไหลถึงเมืองจี๋หลินระยะทาง 24 กิโลเมตร มีน้ำอุ่น มีไอน้ำ

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 2 เหลียวหนิง หน้า 138


(น.138) รูป 179 น้ำแข็งเกาะบนต้นสน


รูป 178 บริเวณที่เขาจัดฉากให้นักท่องเที่ยวถ่ายรูป

(น.138) มงคลกับเสาหวาเปี่ยวเหมือนที่ตงหลิง ที่นี่เขามีเสื้อผ้าให้เช่าแต่งตัวถ่ายรูป ชุดทหารจีนแบบเต็มยศ มีฉากให้ถ่าย เอาหิมะมาทำสโนว์แมน และทำเกล็ดน้ำแข็งบนต้นสนแบบที่ภาษาจีนเรียกว่าอู้ซง ที่เราจะไปดูของจริงที่จี๋หลิน ถามเขาว่าทำอย่างไร เขาว่าง่ายมาก ไปเก็บกิ่งสนมาเสียบๆบนต้นสนจริงๆ (ให้พุ่มโตขึ้น) เอาน้ำราดแล้วก็จะมีน้ำแข็งจับเป็นก้อนๆบนใบสน ดูสวยดี

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 4 เฮยหลงเจียง หน้า 100,104

(น.100) สมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ.1644-1911) รวบรวมดินแดนแถบลุ่มแม่น้ำเฮยหลงเจียงเข้าด้วยกัน มีแม่ทัพแห่งอ้ายฮุยหรือแม่ทัพแห่งเฮยหลงเจียงมาอยู่ประจำการ ตั้งที่บัญชาการซึ่งขึ้นตรงต่อกองบัญชาการทหารที่จี๋หลิน แม่ทัพมีอำนาจบังคับบัญชาราชการทั้งบู๊ (การทหาร) และบุ๋น (การพลเรือน) ในตู้มีสิ่งของสมัยราชวงศ์จิน เช่น หัวไถ มีดตัดหญ้า ตราของที่ทำการเก่า นอกจากนั้นมีลายครามสมัยราชวงศ์ชิง ของพวกนี้ชาวบ้านบริจาคบ้าง ซื้อชาวบ้านมาบ้าง ที่น่าสนใจคือ มีแผนที่แสดงอาณาบริเวณแถบนี้ ได้เห็นที่ต่างๆ เช่น เกาะซักคาริน (Sakharin) จีนเรียกว่าคู่เย่ะ เดิมเป็นที่อยู่ของพวกเร่ร่อนเผ่าเอ้อหลุนชุน ทะเลสาบชิงไห่เป็นของจีน 1 ใน 3 เป็นของรัสเซีย 2 ใน 3 แผนที่แสดงส่วนที่แม่น้ำเฮยหลงเจียงบรรจบกับแม่น้ำอูซูหลี่เจียง อันเป็นบริเวณที่รัสเซียและจีนเคยรบกันเรื่องปัญหาชายแดน

(น.104)และการขุดค้นหาทองที่ภาคใต้ของไซบีเรีย ตามสนธิสัญญานี้ทั้งจีนและรัสเซียตกลงกันว่า แนวเขตแดนด้านตะวันออกเฉียงเหนือไปตามเส้นทางของแม่น้ำ Argun และแม่น้ำ Kiakhta ปัญหาข้อพิพาทเรื่องชายแดนได้ดำเนินต่อมา ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นช่วงที่ราชวงศ์ชิงเสื่อมอำนาจลงเรื่อยๆ จึงต้องเสียดินแดนให้แก่รัสเซียไปเป็นจำนวนมาก รวมดินแดนที่เสียไปประมาณ 1 ล้านกว่าตารางกิโลเมตร ปี 1858 เซ็นสัญญาอ้ายฮุย เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม สัญญานี้ฝรั่งเรียกว่า Argun Peace Treaty ตัดพื้นที่จีนไป 600,000 กว่าตารางกิโลเมตร ต่อมาทำสนธิสัญญาปักกิ่งปี ค.ศ.1900 ตัดพื้นที่ไปอีก 400,000 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่นั้นมาแม่น้ำเฮยหลงเจียงก็กลายเป็นเส้นกำหนดชายแดนระหว่างจีนและรัสเซีย มีรูปรัสเซียมาทุบร้านของชาวบ้านแล้วก็ไป ปี ค.ศ.1900 นี้ทหารรัสเซียรุกเข้ามาในภาคอีสาน 3 มณฑล ตามแผนที่มีแมนจูเรีย จี๋หลิน ต้าเหลียน เทียนสิน เป็นช่วงที่เกิดกบฏนักมวย (Boxer Rebellion) ภาพวาดที่แสดงไว้เห็นการกวาดต้อนผู้คน ช่วงนั้นคนที่เกิดในดินแดนที่ตกเป็นของฝั่งรัสเซียมีอยู่ 64 หมู่บ้านที่ถูกตัดออกไป พวกที่หนีมาจีนบ้านเกิดนั้น บ้านช่องก็ถูกยึดไป เขาไปสัมภาษณ์คนที่เคยอยู่ทางฝั่งรัสเซียที่หนีมา แต่กว่าจะไปสัมภาษณ์พวกนี้ก็อายุมากแล้ว คนหนึ่งไปสัมภาษณ์เมื่อปี ค.ศ.1965 ที่อยู่ใหม่อยู่ที่ชานตุง อายุ 76 ปี ภาพประชาชนช่วยกันต่อต้านรัสเซีย ในปี ค.ศ.1900 นี้มีแม่ทัพเฮยหลงเจียง

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 4 เฮยหลงเจียง หน้า 152

(น.152) วันจันทร์ที่ 17 มกราคม
จางจู่เริ่น (จางหุ้ยฟาง) ให้หนังสือพจนานุกรรมประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมสำหรับครู ผู้ที่รวบรวมเป็นประธานคณะกรรมการการศึกษาของจี๋หลิน เหลียวหนิง และเฮยหลงเจียงกับอาจารย์มหาวิทยาลัยอีกคน เป็นเรื่องวัฒนธรรม ตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์จนถึงปัจจุบัน อันเป็นเรื่องที่ครูต้องรู้ ยังมีอีกเล่มเกี่ยวกับความคิดของขงจื้อกับเม่งจื้อ อีก 2 ปีจึงจะพิมพ์เสร็จ หนังสือเช่นนี้ครูทุกคนต้องศึกษา

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 5 ภาคผนวก หน้า 48

(น.48) พระราชนิพนธ์บทกวีของพระเจ้าคังซีเกี่ยวกับแม่น้ำซงฮัวเจียง ใน ค.ศ. 1682 พระเจ้าคังซีได้เสด็จประพาสภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้เสด็จทอดพระเนตรอู่ต่อเรือที่เมืองจี๋หลิน และสักการะเขาฉางไป๋ซาน การเสด็จประพาสในครั้งนั้นได้ทรงพระราชนิพนธ์บทกวี เกี่ยวกับแม่น้ำซงฮัวเจียงไว้ด้วยมีความดังนี้ ลำน้ำซงฮัวเจียง น้ำใสสะอาด ฝนเมื่อค่ำคืนที่ผ่านมาได้ก่อเกลียวคลื่นแห่งฤดูใบไม้ผลิ ระลอกคลื่นลูกแล้วลูกเล่างามวิจิตรตระการตา (ซัดกระทบกราบเรือ) แลเห็นเนื้อไม้ต้นกู่ (榖)1 เด่นชัด ใบเรือหลากสีที่แต่งแต้มด้วยรูปนกเป็ดน้ำพลิ้วไหวลู่ลม


จัดหมวดหมู่สารสนเทศ

จี๋หลิน

มณฑลจี๋หลินอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของจีน มีชายแดนติดต่อกับต่างประเทศ มีเนื้อที่ 187,400 ตารางกิโลเมตร ด้านตะวันออกถึงตะวันตก 600 กิโลเมตร ใต้เหนือ 300 กิโลเมตร ด้านตะวันออกมีประเทศเกาหลี รัสเซียพรมแดน 1,340 กม. แม่น้ำถูเหมินเจียงไปลงทะเลญี่ปุ่น ทิศตะวันออกเป็นภูเขา ภาคกลางเป็นที่ราบ ตะวันตกเป็นทุ่งหญ้า ทางตะวันออกของมณฑลนี้มีเทือกเขาฉางไป๋ซาน ยอดของภูเขาสูง 2,690 เมตร บนยอดมีทะเลสาบเทียนฉือ ปี ค.ศ. 1644 สมัยราชวงศ์ชิงเข้าสู่ภาคกลาง ก็สถาปนาภูเขานี้ให้เป็นเขาเทวดาที่เทิดทูนบูชา เพราะเป็นแหล่งกำเนิดชาติแมนจู จึงเป็นสถานที่อนุรักษ์มากกว่า 300 ปี เป็นป่าดงดิบมีพื้นที่มาก สหประชาชาติประกาศเป็นมรดกโลก เป็นแหล่งของแม่น้ำถูเหมิน ยาลู่ ซงฮัว เป็นแหล่งทรัพยากรมีชื่อคือ สัตว์ แร่ธาตุ ป่าไม้ พืชต่าง ๆ หน้าร้อนก็มีนักท่องเที่ยวมาชมทิวทัศน์กันมาก เวลานี้ติดหิมะขึ้นไปไม่ได้ ทะเลสาบน้ำลึกราว 350 เมตร น้ำในทะเลสาบดื่มได้ น้ำไหลออกมาไม่แห้งเลย นอกจากเทียนฉือใหญ่ ยังมีเทียนฉือน้อย น้ำจากเทียนฉือใหญ่ไหลลงเทียนฉือน้อย แต่ว่าน้ำเทียนฉือน้อยก็ไม่เต็มสักที มีเทพนิยายเกิดขึ้นหลายเรื่อง มีน้ำพุร้อน ที่ราบลุ่มแม่น้ำเพาะปลูกได้ดี ฉะนั้นแถบนี้จึงถือได้ว่าเป็นฉางข้าวของประเทศชาติ การเกษตร การพัฒนาอุตสาหกรรม การศึกษาและเทคโนโลยีเจริญดี มีโรงถ่ายภาพยนตร์ฉางชุน โรงงานรถยนต์อันดับ 1 มีคนที่มีชื่อเสียง เช่น หลี่หลานชิง เจียงเจ๋อมิน เคยทำงานที่โรงงานรถยนต์นี้ 8 ปี ปศุสัตว์เจริญทางตะวันตก เพราะมีทุ่งหญ้า เลี้ยงแกะขน มีชนชาติต่าง ๆ 43 ชนชาติ ที่สำคัญคือ เกาหลี อยู่ทางตะวันตก แถบเหยียนเปียน ผู้หญิงใส่กระโปรง มีพวกหม่าน หุย มองโกล (มีเขตการปกครองตนเองอยู่ตอนเหนือของมณฑล) เมื่อเปิดประเทศได้ติดต่อกับต่างชาติไทยก็ได้ร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไทยลงทุน 22 รายการ เป็นเงินมากกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ [1]

ประวัติศาสตร์

ประวัติศาสตร์ของมณฑลแต่ครั้งโบราณ เริ่มยุคหินเป็นห้องแรก เรื่องมนุษย์โบราณอายุประมาณล้านปีมาแล้ว เช่น แหล่งที่หมู่บ้านหวังฝู่ถุนพบใน ค.ศ. 1989 กระดูกมนุษย์โบราณพบที่อำเภอหยูซู่ พบ ค.ศ. 1951 อายุประมาณ 70,000 – 40,000 ปีมาแล้ว มนุษย์อันถูพบเมื่อ ค.ศ. 1963 พบแต่ฟันกรามล่าง อายุประมาณ 26,000 ปี ค.ศ. 1984 พบวัฒนธรรมหินใหม่ 7,000 – 8,000 ปี สิ่งที่น่าสนใจเป็นพิเศษคือด้ามมีดทำด้วยกระดูกปลา คมมีดทำด้วยหิน มีปี้คือหยกกลม มีรูตรงกลาง ที่ฮุนชุนพบร่องรอยที่อยู่อาศัย รูปร่างสี่เหลี่ยมผืนผ้า ทำเครื่องปั้นใช้ทรายแดง วัฒนธรรมตอนนี้เริ่มมีเกษตรกรรม มีบ้านเรือนอยู่เป็นหลักเป็นแหล่ง ยุคสำริด ราชวงศ์ซาง พบที่หยวนเป่าโถว มีกริชสำริด เครื่องปั้นดินเผาเรียกว่าเถาติ่ง มี 3 ขา เครื่องปั้นจากเต๋อหุ้ยเป่ยหลิง เครื่องปั้นที่มาจากสุสานเรียกว่าเถาโต้ว ยุคเหล็ก ประมาณ 3 ศตวรรษก่อนคริสตกาล มีพวกเกาหลี เหลียว จิน หยวน ช่วงนี้ประมาณ 2,000 กว่าปี มีชนชาติฟูหยู มีประเทศฟูหยูในสมัยฮั่นตะวันตก เมืองหลวงอยู่แถบจี๋หลิน สมัยนี้มีเครื่องปั้นมีหูห้อย เกราะที่นักรบใช้ดาบขนาด 95 ซ.ม. ถือว่าเป็นดาบเหล็กที่ยาวที่สุดในภาคอีสาน อาณาจักรเกาหลีหรือเกาโกลี มีวัง หอคอย อ่างเก็บน้ำ มีจอกสุราทำด้วยหยกสีขาวจากซิน-เกียง เป็นของที่กษัตริย์ฮั่นพระราชทาน กษัตริย์เกาโกลี เหล็กไถอันโต ภาชนะทองแดง ภาพสุสานมีภาพวาดที่วาดลงไปบนหิน มีรูปเทวดาประจำทิศ 4 ด้าน ได้แก่ มังกรเขียว (ชิงหลง) ทิศตะวันออก เสือขาว (ไป๋หู่) ทิศตะวันตก นกกระจอกเทศสีแดง (จูช่วย) ทิศใต้ งูพันเต่า (เสวียนหวู่) ทิศเหนือ ภายหลังกลายเป็นสัญลักษณ์ของสำนักบู๊ตึ้ง เพดานเป็นรูปหนู่วา เทพสตรีที่สร้างมนุษย์คนแรก เสินหนง เทพแห่งการเกษตร คนซ่อมฟ้าสร้างโลก จู้หลุนทำล้อเหล็กคนแรก และฝูซี ถลุงเหล็กเป็นคนแรก เครื่องปั้นกระเบื้องจากเกาโกลี เตาหุงข้าวใส่ไว้ในหลุมฝังศพ แสดงถึงความเป็นห่วงว่าคนตายแล้วจะต้องทำกับข้าว กฎหมายปศุสัตว์ ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 4 – 5 พบสุสานรูปร่างคล้ายพีระมิดมี 7 ชั้น ขึ้นบันได 22 ชั้น สุสานอยู่กลางเป็นของจีน เมืองจี๋อัน ตู้ต่อไปเป็นเรื่องราชวงศ์โป๋ไห่ ตอนราชวงศ์ถังของจีนมีอำนาจ มีเข็มขัดทอง (คนตายเป็นเชื้อพระวงศ์) ส่งพระโอรสไปเรียนที่ราชสำนักถัง มีภาพทูตราชวงศ์ถังนำพระราชโองการของกษัตริย์โป๋ไห่ มีการชนแก้วกัน เครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน เครื่องดินเผาปากเบี้ยว มีผู้พบสุสานเจ้าหญิงโป๋ไห่ มีภาพวาดและจารึกภาพคน 4 คน อธิบายว่าเป็นองครักษ์ประจำเป็นหญิงแต่งเป็นชาย และมีแท่นบูชาทางพุทธศาสนา ราชวงศ์เหลียว มีทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ได้จดภาษาอังกฤษมาบ้าง The Organisational System of Liao บรรพบุรุษเป็นชนเผ่าฉีตาน ต่อมารวมชาติเปลี่ยนชื่อประเทศจากฉีตานเป็นเหลียว สถาปนาการปกครองเป็นกรมการเมืองฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ มีรัฐบาลกลางควบคุม มีรูปถ่ายสถานที่เมืองโบราณ 4 เมือง ตอนนี้ดูเป็นแต่กองดิน พบวัตถุโบราณ เช่น กระเบื้องมุงหลังคา หน้ามังกร เจดีย์ ดินเผาเรียกว่าว่านจินถ่า วังใต้ดิน ภาพวาดกษัตริย์ล่าสัตว์ ทุกคนไว้ผมแกละ 2 ข้าง เหรียญเงิน ชาวฉีตานเคยอยู่ในทุ่งหญ้าขี่ม้ามาก่อน ฉะนั้นสิ่งของเกี่ยวกับการขี่ม้าจึงเป็นของสำคัญ เช่น อานม้าต้องทำให้สุดฝีมือ เครื่องปั้นดินเผาสำหรับใส่น้ำแขวนข้างม้า รูปร่างเลียนแบบของโบราณซึ่งเป็นหนัง เครื่องเซรามิกเคลือบสีขาว โอ่งรูปขาไก่สำหรับใส่น้ำ ภาพวาดสมัยเหลียว ได้อิทธิพลทั้งสมัยถังและซ้อง สุสานหมายเลข 1 พบ ค.ศ. 1971 ราชวงศ์จิน แสดงเครื่องอาวุธต่าง ๆ เช่น หัวลูกศรหนามแหลม ๆ ที่ใช้โปรยป้องกันไม่ให้ข้าศึกเข้ามา ข้าพเจ้าเคยได้ยินคนเรียกของแบบนี้ว่าเรือใบ ใช้โปรยแล้วปล้นรถตามทางหลวง ธนูสมัยโบราณ ตราประทับของขุนนางและเข็มขัดหยก กระจกทองแดงด้านที่ไม่เป็นเงามีลายต่าง ๆ หลายลาย เครื่องปั้นดินเผา สุสานเสนาบดีว่านเอี้ยนซีซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์อักษรจีน มีแจกันเคลือบขาว สมัยหยวน คริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นพวกมองโกล ภาพพระเจ้ากุบไลข่าน มีตั๋วแลกเงินเป็นใบแรกของจีน เครื่องกระเบื้อง ราชวงศ์หมิง ตั้งแต่จูหยวนจางตั้งราชวงศ์ มีตั๋วแลกเงินใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ หน้าตาคล้ายโพยก๊วนบ้านเรา ราชวงศ์ชิง ปี ค.ศ. 1682 จักรพรรดิคังซีเสด็จมาจี๋หลิน เพราะต้นราชวงศ์อยู่ที่แม่น้ำซงฮัวและเขาฉางไป๋ จักรพรรดิทุกองค์ที่มาอีสาน ต้องมาทอดพระเนตรน้ำในแม่น้ำนี้ เครื่องแต่งตัวขุนนางสมัยพระเจ้าหวงไท่จี๋ ป้าย 3 ภาษา (จีน แมนจู มองโกล) อานม้า โกลนม้า สมัยพระเจ้าเฉียนหลง มีเครื่องแต่งกายขุนนางทั้งฝ่ายบู๊และบุ๋น เครื่องใช้ในกระโจมของอาลาซูเกีย ผู้บัญชาการทหารแมนจู ทั้งเสื้อผ้าและของอื่น ๆ ของเหล่านี้อายุประมาณ 90 ปี[2]

การรุกรานของญี่ปุ่น

ปี ค.ศ. 1931 ญี่ปุ่นบุกเข้ามาที่เสิ่นหยาง เมื่อยิงกระสุนนัดแรกได้ไม่นานภาคอีสานก็ถูกยึด คนต้องอพยพเข้าไปด่าน (จุงหยวนหรือตงง้วน) เป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นมีการสร้างรัฐแมนจูกัว มีภาพปูยีถ่ายกับขุนนางแมนจูกัวและพวกญี่ปุ่น ภาพขุนนางญี่ปุ่นที่เป็นผู้บัญชาการกองพันกวนตง ซึ่งเป็นกองพันทหารญี่ปุ่นประจำแมนจูกัว แสดงว่าแมนจูกัวอยู่ใต้อำนาจญี่ปุ่น (มีเพลงปลุกใจกล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนั้น คุณก่วนมู่ฮัมเพลงอยู่ข้างหลัง ไม่กล้าเชิญให้ร้องดังๆ เพราะไม่มีเวลา) มีภาพเด็กทารกที่ญี่ปุ่นวางกอง ๆ ไว้แล้วเผา ตอนนั้นฆ่าคนไปมาก ที่จริงแล้วพวกกองทหารญี่ปุ่นที่มาอยู่ในจีนไม่ได้ฟังเสียงโตเกียวสักเท่าไร มีภาพปูยีส่งขุนนางไปพบฮิตเล่อร์เพื่อเข้า Triple Entente ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นคิดทำสงครามเชื้อโรค หน่วยงานสงครามเชื้อโรคเรียกว่าหน่วยซี่จุน หรือหน่วย 731 เอาคนจีนเป็นเครื่องทดลอง เขาเอาเครื่องมือมาแสดงให้ดู โรคที่ใช้คล้าย ๆ กับกาฬโรค (สู่ยี่) มีหนังสือเขียนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เขาเก็บสถิติยุทธปัจจัยที่ญี่ปุ่นเอาไป เช่น ถ่านหิน เหล็ก ทองคำ ทองแดง เสบียงอาหาร ไม้ซุงมีรูปแสตมป์แมนจูกัว (ดูแล้วเหมือนอากรแสตมป์) ธนบัตรแมนจูกัว ภาพการนำคนอีสานไปใช้งานโยธาในญี่ปุ่น เช่น ไปเป็นคนงานเหมือง เครื่องมือที่ใช้ก็แย่มาก ห้องต่อไปกล่าวถึงการต่อต้านญี่ปุ่นของพรรคคอมมิวนิสต์ในภาคอีสาน พวกต่อสู้ญี่ปุ่นมีผู้นำคือท่านเหมาและท่านจูเต๋อ มีท่านนายพลเหลียงจิ้งอู่ต่อสู้ญี่ปุ่นจนญี่ปุ่นเกรงกลัวซูฮกว่าเก่ง ผ่าศพออกมาในท้องมีแต่รากไม้ ใบไม้ เม็ดข้าวสักเม็ดก็ไม่มี ต้านญี่ปุ่นอยู่ 14 ปี 15 สิงหาคม ค.ศ. 1945 ญี่ปุ่นแพ้สงคราม ของที่จีนยึดได้มีปืนใหญ่ ธงแมนจูกัว (มี 5 สี แดง น้ำเงิน ขาว ดำ เหลือง) สรุปนิทรรศการว่า อย่าลืมประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา มนุษย์ต้องการพัฒนา และโลกต้องการสันติภาพ[3]

ธรรมชาติ/พืชและสัตว์

ฉางไป๋ซาน

ฉางไป๋ซาน ซึ่งข้าพเจ้าอยากไปเหลือเกิน แต่เขาบอกว่า หน้าหนาวเดินทางไม่สะดวก ยิ่งดูวีดีโอนี่แล้วยิ่งเห็นว่าเป็นพื้นที่น่าสนใจ มีระบบนิเวศน์หลายอย่าง ทั้งไม้ใบกว้าง เนื้อแข็ง ป่าสนก็มีสนหลายประเภท พืชสมุนไพร ดอกไม้ป่า ต้นไม้พุ่มแปลก ๆ ในหนังมีต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิงที่จับแมลงกินเป็นอาหารได้ (ชื่อต้นนี้ดูภาพแล้วเขียนเอาเอง) ดอกไม้จีนซึ่งกินได้แก้วัณโรค (ข้าพเจ้าเคยรับประทานแต่ไม่ทราบว่าเป็นยาแก้อะไร) ขิงป่าแก้รูมา-ติสม์ ฯลฯ มีพืชพรรณต่าง ๆ ราว 900 ชนิด โสมพันปี องุ่นป่า ลูกกีวี Hawthornberry สตรอเบอรี่ เห็ดหัวลิง (ขึ้นบนต้นไม้) ว่าเป็นเนื้อแห่งอาณาจักรพืช (เพราะโปรตีนสูง) เห็ดมีหลายชนิด เช่น เห็ดหูหนู เห็ดหลิงจือที่แก้โรคมะเร็งได้ ป่าสนมีเรือนยอดที่หนาทึบ แสงส่องผ่านมาไม่มาก จึงทำให้มีร่มเงาสำหรับพืชที่ขึ้นอยู่ใต้ยอดสน เช่น มอส เป็นที่แขวนของกาฝาก เช่นหนวดฤาษี – ยังมีจุลินทรีย์ย่อยสลายรากและต้นของต้นไม้ใหญ่ที่ตาย ทำให้เกิดเป็นฮิวมัสที่ช่วยเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กล้าไม้เล็ก ๆ เติบโตขึ้นเรียกได้ว่าต้นไม้ใหญ่ให้กำเนิดแก่ชีวิตในรุ่นต่อไป ต้นไม้ที่ขึ้นในสภาพพิเศษจะมีลักษณะพิเศษ เช่น ต้นเบิช ซึ่งปกติเป็นต้นไม้ใหญ่ (ต้นมีสีขาว ๆ กระดำกระด่าง) ทนอากาศได้ ทนลมแรง ๆ ได้แต่ต้องพัฒนาตนเองให้ต้นแคระแกร็น ข้าพเจ้าเคยเห็นต้นเบิช (birch) แคระที่นอร์เวย์เหนือเส้น Arctic circle ขึ้นไป มีภูมิอากาศแบบ Tundra พืชบางอย่างอยู่ในที่ลมแรง น้ำจากใบจะระเหยได้ง่าย ต้องพัฒนาใบให้เล็กเหมือนเข็ม ไม้ใบกว้างอยู่ไม่ได้ ในเขตที่เป็น Tundra มีพืชที่มีดอกสวยงาม พวก Saxifrage ที่ข้าพเจ้าเคยเห็นที่นอร์เวย์เช่นเดียวกัน พืชในภูมิอากาศแบบ Alpine ก็มี จะต้องพัฒนาตนเองให้อยู่ได้ในสภาพดินที่มีแร่ธาตุน้อย หน้าดินตื้นต้องพยายามออกดอกให้ครบวงจรชีวิตอย่างรวดเร็ว เพราะว่าบริเวณนั้นมีช่วงเวลาที่ไม่มีน้ำแข็งเพียง 60 วันเป็นอย่างมาก จากนั้นเป็นช่วง “จำศีล” เป็นพวกต้นโรโดเดนดรอนเป็นส่วนใหญ่ ตอนที่ข้าพเจ้าไปสก็อตแลนด์เห็นในสวน “Alpine” ใน Botanical Garden ที่ Edinburgh ส่วนใหญ่เก็บตัวอย่างจากจีน สัตว์มีหลายชนิด เช่น กวางแดง กวางดาว Otter (เตียวน้ำ) ชอบกินปลา เวลาจับปลากินแล้วต้องล้างปากด้วยหิมะ กลิ้งตัวเพื่อย่อยอาหาร กบฮาชื่อมาจำศีลในฤดูหนาว ออกไข่ในน้ำ ต้องออกไข่เยอะ ๆ เพราะว่าอันตรายมาก อัตราการตายสูง สัตว์หายาก ๆ ก็มี เช่น Manchurian Salamander นอกจากนั้นเขาถ่ายภาพนกออกจากไข่ เป็ดปักกิ่งหัดบินนกขมิ้น นกอะไรก็ไม่ทราบจีบกัน 2 ตัว ตัวผู้มาขอความรักแต่ตัวเมียบอกว่าต้องมีของกำนัลถูกใจ ตัวผู้ต้องไปหาหนอนมาให้ตัวหนึ่งจึงโอเค นกเลี้ยงลูกกัน ทั้งพ่อนกแม่นกต้องทำรังซ่อนไม่ให้ศัตรูเห็น นกที่จับแมลงในอากาศ นกหัวขวานทำรังในโพรงไม้ก็ปลอดภัยดี แต่การจิกหาเหยื่อของนกหัวขวานเป็นอันตราย ต่อต้นไม้ ปกตินกก็ช่วยจิกหนอนที่เป็นอันตรายต่อต้นไม้ ตอนกลางคืนมีนกฮูกออกหาเหยื่อ เสือโคร่งออกกลางวัน หมีดำหนีเสือขึ้นต้นไม้ เสือปีนต้นไม้ไม่เก่งก็เลยเลิกคิดกินหมี เรื่องนี้สรุปว่าบนเขาฉางไป๋ซานเย็น ไม่มียุง ถึงจะเป็นภูเขาไฟ แต่ก็ไม่เคยระเบิดมาเลยตั้งแต่ปี ค.ศ. 1702 มีน้ำพุร้อน มีทะเลสาบเทียนฉือ ซึ่งน้ำลึกมาก มีน้ำตกที่ตกตลอดปี (น้ำไม่แข็ง)[4]

Next >>