Please wait...

<< Back

พระถังซัมจั๋ง

จากหนังสือ

เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 205

(น. 205)หลวงพี่ยังเล่าเรื่องพระถังซำจั๋งเป็นทารกลอยน้ำมา และเจ้าอาวาสวัดจินซานช่วยเก็บเอามาเลี้ยง เป็นเรื่องประหลาดไม่เคยได้ยิน

เจียงหนานแสนงาม หน้า 269

(น. 269)อีกด้านหนึ่งเป็นรูปพระไภษัชยคุรุ นอกจากนั้นมีพระกัสสปะ พระอานนท์ พระกวนอิมขี่ปลา เจ้าอาวาสเอาพระสูตรที่เขียนเป็นอักษรข่ายซู ลายมืองาม ทั้งชุดมี 81 เล่ม เขาว่าใช้เลือดเขียน ไม่ทราบว่าจริงหรือเปล่า ข้าพเจ้าถามว่าทำไมจึงต้องใช้เลือดเขียน คำตอบว่าเป็นการแสดงน้ำใจ เพราะพระถังซำจั๋งไปนำพระไตรปิฎกจากอินเดีย ต้องพบกับความยากลำบากมากมาย เป็นธรรมเนียมประหลาด ของในวัดนี้ยังมีพระอรหันต์ 500 อยู่ในตู้ในห้องโถงพระอรหันต์ มีรูปร่างลักษณะท่าทางและอากัปกิริยาต่างๆ กัน รูปที่พิเศษคือ รูปปั้นพระอรหันต์จี้กงที่มีอาการ 3 อย่าง คือมองข้างซ้ายยิ้ม ข้างขวาร้องไห้โฮๆ ตรงกลางทำหน้าพะอืดพะอม

มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 120-121

(น.120)สำหรับเจดีย์ห่านฟ้าเล็กเป็นของหลวงจีนอี้จิงซึ่งไปจาริกแสวงบุญและไปสืบหาพระคัมภีร์ที่อินเดีย ในตอนนั้นพระถังซำจั๋งกลับมาแล้ว หลวงจีน
(น.121) อี้จิงไปลงเรือที่กวางตุ้ง ใน ค.ศ. 671 เดินทางผ่านมะละกาไปอินเดีย เรียนอยู่ทีอินเดียเป็นเวลาถึง 25 ปี แสดงให้เห็นว่าสมัยราชวงศ์ถังน่าจะมีเส้นทางแพรไหมทั้งทางบกและทางทะเล บุคคลสำคัญคนหนึ่งที่เดินทางตามเส้นทางแพรไหมทางบกได้แก่ พระถังซำจั๋ง ส่วนผู้ที่เดินทางเรือที่สำคัญคือ หลวงจีนอี้จิง เมื่อท่านกลับมาถึงประเทศจีนใน ค.ศ. 695 ท่านได้เดินทางไปที่ลั่วหยาง ขณะนั้นพระจักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียนประทับอยู่ลั่วหยาง ไปรับพระอี้จิงด้วยพระองค์เอง พระอี้จิงได้ตามเสด็จกลับมาเมืองฉางอานเพื่อแปลคัมภีร์ในวัดนี้ เมื่อ ค.ศ. 705 จักรพรรดิอู่เจ๋อเทียนสวรรคต จักรพรรดิจงจงได้ขึ้นครองราชย์อีกครั้ง หลวงจีนอี้จิงแปลคัมภีร์ไปได้ 56 ม้วน 230 เล่ม ถึง ค.ศ. 707 จึงได้สร้างเจดีย์ ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี การก่อสร้างเจดีย์ห่านฟ้าเล็กใช้วัสดุคล้ายคลึงกับเจดีย์ห่านฟ้าใหญ่ของพระถังซำจั๋ง แต่รูปแบบต่างกัน และการก่อสร้างเจดีย์ห่านฟ้าเล็กทำอย่างประณีตกว่า

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 153-155

(น.153)สมัยราชวงศ์ถังคนที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่พระถังซำจั๋ง ซึ่งเดินทางไปอินเดียใน ค.ศ. 629 ท่านผู้ที่มีความมุ่งมั่นในการที่จะศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าจะศึกษาให้ถ่องแท้ก็ต้องอ่านคัมภีร์เดิม ประเทศอินเดียเป็นแหล่งกำเนิดพุทธศาสนา ฉะนั้นต้องไปให้ถึงที่อินเดียจึงจะแก้ข้อสงสัยในเรื่องคัมภีร์พุทธศาสนาได้ ในช่วงนั้นทางการกำหนดว่าใครจะออกนอกประเทศจะต้องขออนุญาตคณะของพระถังซำจั๋ง (มีหลายองค์) ขอพระราชทานพระบรมราชา
(น.154) นุญาตจากพระเจ้าถังไท่จง (มีพระนามเดิมว่าหลี่ซื่อหมิ่น) แต่พระเจ้าถังไท่จงไม่ทรงอนุญาต เพราะว่าในช่วงนั้นเพิ่งจะตั้งราชวงศ์ยังไม่มีความมั่นคง พระสงฆ์องค์อื่นก็เลิกล้มความตั้งใจ เหลือแต่พระถังซำจั๋งเท่านั้นที่ยังมีความคิดอยู่ ใช้เวลาที่คอยเรียนภาษาอินเดีย ขณะนั้นที่ฉางอานเกิดทุพภิกขภัย จักรพรรดิมีพระราชบัญชาให้ประชาชนไปที่อื่นที่อุดมสมบูรณ์ พระถังซำจั๋งเลยถือโอกาสเดินทางไปตะวันตก ท่านเดินทางผ่านหลานโจวไปถึง เหลียงโจว (ปัจจุบันเรียกอู่เว่ย) พวกขุนนางที่อยู่ที่นั่นจะบังคับให้กลับไป ท่านก็ไม่ยอม จึงหนีออกไป ขุนนางให้นักรบไล่ตาม พอดีพระสงฆ์ท้องถิ่นที่เลื่อมใสท่านจึงส่งลูกศิษย์ตามไปส่งอย่างลับ ๆ คณะสงฆ์นอนกลางวันเดินทางกลางคืน เพราะไม่กล้าปรากฏตัว จนถึงกานโจว (จางเย่) ข้าราชการที่นั่นเป็นพุทธศาสนิกชนจึงอำนวยความสะดวกถวาย ในการเดินทางผ่านหอไฟรักษาการณ์ต่าง ๆ (นอกเขตตุนหวง) ต้องเสี่ยงกับการที่ขุนนางประจำหอจะไม่เห็นด้วยกับการเดินทาง แต่โชคดีที่ทุกคนเลื่อมใสท่าน จากนั้นรอนแรมไปในทะเลทรายที่มีแต่หัวกะโหลกคนตายกับขี้ม้าเป็นเครื่องบอกทางสู่ทิศตะวันตก เดินทางไปร้อยลี้ไม่พบน้ำเป็นเวลา 4 คืน 5 วัน เดินทางไปร้อยลี้ (แถว ๆ ฮามี) กลางวันลมร้อน พัดทรายเข้าตา กลางคืนมีแต่แสงเรืองแห่งฟอสฟอรัส ในที่สุดก็ล้มลงทั้งคนทั้งม้า จนมีลมพัดจึงฟื้น ทันใดนั้นม้าพาเดินไปที่บ่อน้ำ ท่านได้ดื่มน้ำบรรเทาความกระหายและเติมใส่ถุงหนัง เดินทางอีก 2 วันจึงผ่านทะเลทรายไปเมืองอีอู่หรือฮามี กษัตริย์เมืองนี้ปฏิบัติต่อพระถังซำจั๋งเป็นอย่างดี ท่านจึงพักอยู่ 10 วัน และเดินทางต่อไปถึงเมืองเกาชาง (เป็นเมืองโบราณ ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองทู่หลู่ฟัน) กษัตริย์เมืองเกาชางเคารพท่านอย่างจริงใจ จึงไม่อยากให้ท่านจากไป ท่านรู้สึกเกรงใจแต่ก็จำเป็นจะต้องไปให้บรรลุจุดหมายจึงใช้วิธีอดข้าว กษัตริย์เกาชางเห็นความเด็ดเดี่ยวจึงยอมให้ท่านไป โดย
(น.155) ขอให้อยู่สอนคัมภีร์อีกสักเดือน เมื่อถึงที่หมายกลับมาแล้วขอให้พักที่เกาชางสักสามปี พระถังซำจั๋งก็รับคำ จากเกาชางเดินทางไปทางตะวันตกตามเส้นทางแพรไหมเส้นเหนือถึงเมืองคูเชอ จนถึงเขตที่ราบสูงปามีร์ เข้าทัชเคนท์ ข้ามไปอินเดีย ขากลับ (ค.ศ. 645) ไม่ได้แวะเกาชางเพราะได้ตกเป็นของทางราชการจีนแล้ว จึงไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญา (กลับทางเส้นทางสายใต้ กาชการ์ ยาร์คาน เหอเถียน) เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในการสนทนากับนักวิชาการ และไม่ค่อยเข้ากับเรื่องตอนนี้สักเท่าไรนัก แต่ข้าพเจ้าอยากใส่ลงไปเพราะข้าพเจ้าชอบพระถังซำจั๋งมาก จริง ๆ แล้วเรื่องที่ข้าพเจ้าทราบมามีรายละเอียดยาวกว่านี้อีก แต่ว่าเกรงจะนอกเรื่องนานเกินไป ถ้าใครสนใจเรื่องพระถังซำจั๋งก็ขอเชิญอ่านไซอิ๋ว ซึ่งจะพูดถึงเมืองต่าง ๆ ที่พระถังซำจั๋งเดินทางไปอย่างละเอียด (อาจารย์สารสินแนะนำ) ข้าพเจ้าอ่านตั้งแต่อายุ 7 – 8 ขวบ ลืมไปหมดแล้ว

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 260-261

(น.260) รถผ่านภูเขาหั่วเหยียน ภูเขาลูกนี้อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของทู่หลู่ฟัน เป็นภูเขาหินสีแดง เมื่อแสงอาทิตย์ส่องมาดูคล้ายกับเป็นสีของไฟ อากาศแถวนั้นก็ร้อนมาก (เรารู้กันซึ้งดี) มีนิทานที่เกี่ยวกับภูเขานี้มากมาย เช่นในเรื่องไซอิ๋ว พระถังซำจั๋ง เห้งเจีย ตือโป๊ยก่าย ซัวเจ๋ง พยายามจะข้ามภูเขานี้ แต่ไม่สามารถผ่านเปลวไฟไปได้ เห้งเจียไปขโมยพัดวิเศษมาจากเจ้าหญิงพัดเหล็ก พัด 49 ครั้งทำให้ฝนตกหนักดับไฟไปได้ ยังมีเรื่องเล่าพื้นบ้านต่อว่า ตอนที่พยายามข้ามภูเขาเห้งเจียโดนไฟไหม้หาง พวกลิงเลยก้นแดงกันไปหมด
(น.261)ไปถึงเมืองโบราณเกาชาง อยู่ห่างทู่หลู่ฟันไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 47 ก.ม. สร้างขึ้นประมาณศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล เป็นศูนย์รวมชาวฮั่น (จีน) ในซินเกียงเคยเป็นค่ายทหาร ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 7 รับพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อพระถังซำจั๋งเดินทางไปอินเดียเพื่อหาคัมภีร์ได้เดินทางผ่านตุนหวง ฮามี (สมัยนั้นเรียกอีอู่) และได้มาถึงเมืองนี้ หยุดสอนคัมภีร์แก่กษัตริย์พักหนึ่งแล้วจึงเดินทางต่อไป โดยมีสัญญาว่าถ้าไปได้คัมภีร์เมืองอินเดียกลับมาแล้วจะต้องมาสอนที่เกาชาง 3 ปี แต่ปรากฏว่าขากลับได้ข่าวว่าพระเจ้าถังไถ่จงมาตีเมืองเกาชางกลายเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์ถังแล้ว ก็ถือว่าไม่ต้องกระทำตามสัญญา และตอนขากลับก็กลับทางเส้นทางสายใต้ ผ่านเมืองเหอเถียน

ย่ำแดนมังกร
ย่ำแดนมังกร หน้า 152

(น.152) พอดีเห็นเจดีย์ห่านอยู่แถวๆ นั้น คุณซุนหมิงเลยอดจะเล่าไม่ได้ทั้งๆ ที่พรุ่งนี้ก็จะได้ไปอยู่แล้ว ข้าพเจ้าเลยได้ฟังเรื่องล่วงหน้าว่า เจดีย์นั้นสร้างในราชวงศ์ ถัง ศตวรรษที่ 7 ผู้สร้างเจดีย์ 7 ชั้น สูง 46 เมตรนี้คือพระถังซำจั๋ง (เสวียนจ้าง) ผู้ที่เดินทางไปอินเดีย เพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎกมาสู่ประเทศจีน เจดีย์เก่าสร้างในศตวรรษที่ 7 ผุพังไปแล้ว ที่เห็นในปัจจุบันสร้างในศตวรรษที่ 13 บูรณะเสร็จในศตวรรษที่ 16 พระถังซำจั๋งนี้ใครๆ ก็รู้จักเพราะเราชอบอ่านเรื่อง ไซอิ๋ว ที่เขาพิมพ์ออกมาเป็นเล่มเล็กๆ มีรูปเขียนภาษาไทยและจีน ดูเหมือนจะออกอาทิตย์ละเล่ม คนจีนในปัจจุบันนี้ยกย่องท่านในฐานะที่เป็นบุคคลที่มีบทบาทในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม คุณซุนหมิง บอกว่า เจดีย์อิฐนี้มีความแข็งแรงมาก มีบันไดเวียนขึ้นไป แต่ก่อนมีพระไตรปิฎกอยู่บนยอด มีประวัติมาว่า แต่ก่อนในแถบนี้เกิดทุพภิกขภัย ผู้คนยากจนมาก ไม่มีอะไรจะกิน พอดีมีห่านฟ้าบินมาตัวหนึ่งตกลงตรงบริเวณที่ต่อมาเป็นตั้งเจดีย์ คนได้กินเนื้อห่านรอดตายไปได้ จึงระลึกถึงบุญคุณของห่านจึงสร้างเจดีย์ไว้เป็นที่ระลึก ตำนานอีกอย่างว่า พระถังซำจั๋งเห็นว่าที่อินเดียบริเวณที่เป็นอัฟกานิสถานปัจจุบันมีเจดีย์เช่นนี้ เมื่อเอาพระไตรปิฎกจากอินเดีย ก็ต้องสร้างเจดีย์ให้เหมือนกัน

ย่ำแดนมังกร หน้า 205

(น.205)เจดีย์ห่านฟ้านั้นสมัยราชวงศ์ถังใช้เป็นสถานที่สอนพระไตรปิฎกซึ่งพระถังซำจั๋งนำมาจากอินเดีย เจดีย์นี้อยู่ในเขตวัดซึ่งพระเจ้าถังเกาจง เป็นผู้สร้าง ตอนแรกที่เราเข้าไปก็มีคณะเจ้าหน้าที่ผู้อธิบายมารอรับอยู่ตามเคยและพาพกวเราไปที่ ต้าสยุงเป่าเตี้ยน ซึ่งเป็นอาคาร มีพระพุทธรูป 2 องค์ และพระอรหันต์ 18 องค์ แล้วจึงไปที่เจดีย์ห่านฟ้า หรือ ต้าเอี้ยนถ่า ซึ่งสร้างเป็น 5 ชั้น สมัยจักรพรรดินี อู่เจ๋อเทียน เพิ่มเป็น 10 ชั้น ต่อมาเกิดสงคราม เจดีย์ได้รับความเสียหายสร้างขึ้นใหม่เป็น 7 ชั้น ชั้นล่างมีพระพุทธรูปสำริดอายุ 400ปี มี rubbing รูปพระถังซำจั๋งผู้นำพระไตรปิฎก 600 กว่าเล่มจากอินเดียมาแปลเป็นพระไตรปิฎกจีน 75 เล่ม ที่วัดพระมหากรุณาธิคุณนี้ นอกจากรูปท่าน เสวียนจ้าง (พระถังซำจั๋ง) แล้ว ยังมีรูปลูกศิษย์ก้นกุฏิอีก 2 ท่าน คือ หยวนเช่อ ตามประวัติว่าเป็นหลานของพระเจ้าแผ่นดินเกาหลี และ ขุยจี เป็นชาวจีน นอกจากนั้นก็มีจารึกลายมือของคน