<< Back
ราชวงศ์ซ่ง
จากหนังสือ
เกล็ดหิมะในสายหมอก
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 1 ปักกิ่ง หน้า 36-37,41-42
(น.36) พระไตรปิฎกสมัยราชวงศ์ซ้อง เป็นพระไตรปิฎกจีนสำนวนแรกที่ตีพิมพ์ขึ้น ก่อนหน้านี้เป็นฉบับตัวเขียน เพิ่งมารวบรวมตีพิมพ์ในสมัยราชวงศ์ซ้อง เริ่มแกะแม่พิมพ์ไม้เมื่อ ค.ศ. 972 ที่เมืองเฉิงตู แคว้นเสฉวน การแกะแม่พิมพ์สำเร็จเมื่อ ค.ศ. 983 จำนวนแม่พิมพ์ไม้พระไตรปิฎก 130,000 เล่ม เทียบกับฉบับตัวเขียนประมาณ 5,000 ผูก (ม้วน) พระไตรปิฎกฉบับราชวงศ์ซ้องนี้มักเรียกชื่อว่า สำนวน Kai bao เป็นต้นฉบับของพระไตรปิฎกจีนที่ตรวจชำระและที่พิมพ์ในเกาหลีในคริสต์ศตวรรษที่ 13
(น.37) พระไตรปิฎกฉบับจีนที่พิมพ์ในเกาหลีนี้เป็นต้นฉบับพระไตรปิฎกจีนปัจจุบันฉบับต่างๆ ที่ตีพิมพ์ในญี่ปุ่น เช่น Tai Shi ซึ่งเป็นฉบับที่ใช้เป็นมาตรฐานในวงวิชาการ (อ้างอิงจาก Encyclopedia of Religion เล่ม 2 หน้า 506 – 507)
พระคัมภีร์พบที่พระธาตุเหลยเฟิงซึ่งอยู่ที่เมืองหังโจว พระธาตุนี้ถูกฟ้าผ่าล้มเมื่อ 20 กว่าปีมานี้ เป็นของ สมัยซ้องเหนือ (แต่หังโจวเป็นราชธานีของอาณาจักรซ้องใต้)
(น.41) แผนกไมโครฟิล์ม หัวหน้าวิศวกรชื่อเหมาเซียน มีเจ้าหน้าที่ถ่ายไมโครฟิล์มหนังสือเก่าด้วยฟิล์ม 135 ม.ม. เมื่อ
(น.42) ถ่ายเรียบร้อยแล้วก็จะเก็บหนังสือไว้ ให้คนอ่านเฉพาะไมโครฟิล์มถ่ายได้วันละ 1,200 หน้า ได้ความรู้ใหม่อย่างหนึ่งว่า ก่อนสมัยราชวงศ์ซ้องมีแต่หนังสือเป็นม้วน สมัยซ้องจึงมีหนังสือเย็บเล่มแบบกี่ พวกที่เป็นม้วนยังไม่ได้ถ่ายไมโครฟิล์ม หนังสือฝรั่งบางทีก็เย็บแคบ แบะถ่ายไมโครฟิล์มไม่ได้ กี่ถ่ายง่ายกว่าเพราะกระดาษบาง แต่บางเล่มเย็บไว้ติดตัวหนังสือ บางทีเขาก็แกะออกถ่าย บางเล่มเป็นหนังสือที่สำคัญมาก หรือที่แกะแล้วเสีย เขาก็จะเก็บไว้ก่อน รอเทคโนโลยีใหม่ที่จะรักษาหนังสือไว้ไม่ให้เสีย หนังสือที่กำลังถ่ายเป็นเรื่องงานวิศวกรรมขุดคลอง
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 2 เหลียวหนิง หน้า 32-33,40-41
(น.32) ห้องที่ 6 สมัยเหลียว วัฒนธรรมพวกฉีตาน (ค.ศ. 926-1125) คนส่วนนี้กลุ่มหนึ่งไปอยู่ทางตะวันตกแถบมณฑลซินเกียง เรียกว่าเหลียวตะวันตก การศึกษาประวัติศาสตร์ช่วงนี้ค่อนข้างยากเพราะชื่อเมืองก็เรียกต่างๆกันไป ผิดจากที่ใช้กันก่อนสมัยราชวงศ์เหลียว เช่น เมืองปักกิ่งเรียกกันว่าซ่างจิง ส่วนเมืองหลินหวงฝู่ (ปัจจุบันอยู่มองโกเลียใน) กลับเรียกว่าเมืองเป่ยจิง ส่วนเมืองต้าถงเรียกซีจิง เมืองเหลียวหยางเรียกตงจิง เป็นเมืองหลวงในขณะนั้น
(น.33) วัฒนธรรมในแถบนี้คล้ายกับราชวงศ์ฮั่น แต่ที่พิเศษคือมีการโยกย้ายเร่ร่อน เจอสุสานของสตรีสูงศักดิ์ ทำเป็นรูปบ้านคน ศพใส่โลงหิน ของที่ใส่ในสุสานหลายอย่างไม่ใช่ของในท้องถิ่น เป็นของมาจากทางใต้ มีภาชนะเคลือบขาวสมัยราชวงศ์ซ้อง (ถ้าไม่บอกว่าเป็นของเก่าก็ดูไม่ออก คิดว่าเป็นชามก๋วยเตี๋ยวยุคปัจจุบัน) หมากรุกโบราณเรียกว่าชวงลู่ เข้าใจว่าเป็นอย่างเดียวกับที่มีบรรยายไว้ในวรรณคดีเรื่องหงโหลวมิ่ง เครื่องเขิน ผู้ตายสวมเสื้อไหมปักทองซ้อนกันหลายชั้น มีเครื่องประดับม้า มีม้วนภาพเขียน ของทำด้วยแก้วโมรา
(น.40)
7. ภาพที่จักรพรรดิฮุยจงแห่งราชวงศ์ซ้องเป็นผู้เขียนตามเรื่องว่า พระองค์ทอดพระเนตรนกกระเรียนหัวแดงบินเหนือพระตำหนักเป็นสิริมงคล (ทำให้อายุยืน) จึงเขียนภาพไว้ พระนามที่เขียนไว้แปลว่า ผู้เดียวใต้สวรรค์ หมายความว่าเป็นที่ 1 ในโลก จักรพรรดิพระองค์นี้เป็นศิลปินเอก แต่ว่าเป็นนักปกครอง
(น.41) ที่มีพระปรีชาสามารถค่อนข้างน้อย สมัยของพระองค์พวกจินหรือกิมก๊กในหนังกำลังภายในจีนบุกโจมตีภาคเหนือของจีน
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 3 จี๋หลิน หน้า 82,90
(น.82) พิพิธภัณฑ์มณฑลจี๋หลิน
ขึ้นไดชั้นบนมีเรื่องราชวงศ์เหลียว มีทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษ ได้จดภาษาอังกฤษมาบ้าง The Organisational System of Liao บรรพบุรุษเป็นชนเผ่าฉีตาน ต่อมารวมชาติเปลี่ยนชื่อประเทศจากฉีตานเป็นเหลียว สถาปนาการปกครองเป็นกรมการเมืองฝ่ายเหนือและฝ่ายใต้ มีรัฐบาลกลางควบคุม มีรูปถ่ายสถานที่เมืองโบราณ 4 เมือง ตอนนี้ดูเป็นแต่กองดิน พบวัตถุโบราณ เช่น กระเบื้องมุงหลังคา หน้ามังกร เจดีย์ ดินเผาเรียกว่าว่านจินถ่า วังใต้ดิน ภาพวาดกษัตริย์ล่าสัตว์ ทุกคนไว้ผมแกละ 2 ข้าง เหรียญเงิน ชาวฉีตานเคยอยู่ในทุ่งหญ้าขี่ม้ามาก่อน ฉะนั้นสิ่งของเกี่ยวกับการขี่ม้าจึงเป็นของสำคัญ เช่น อานม้าต้องทำให้สุดฝีมือ เครื่องปั้นดินเผาสำหรับใส่น้ำแขวนข้างม้า รูปร่างเลียนแบบของโบราณซึ่งเป็นหนัง เครื่องเซรามิกเคลือบสีขาว โอ่งรูปขาไก่สำหรับใส่น้ำ ภาพวาดสมัยเหลียว ได้อิทธิพลทั้งสมัยถังและซ้อง สุสานหมายเลข 1 พบ ค.ศ. 1971
(น.90) บทกวีของซูตงโพ (ค.ศ. 1037 - 1101) กวีเอกสมัยซ้องเหนือ มีหลายบท แต่ที่เห็นเกี่ยวกับสุรา ชื่อสุราต้งถิง มีคำภาษาจีนโบราณที่น่าสนใจคือ (ตัวอักษร-จีน) อ่านว่า “เหลา” ความหมายหนึ่งแปลว่า เหล้า อีกความหมายหนึ่งหมายถึงเหล้าที่หมักจากผลไม้ คำนี้พ้องเสียงและความหมายในภาษาไทย สุดท้ายเซ็นชื่อว่า ซูตงโพ จวีซื่อ คุณขลุ่ยแปลคำ “จวีซื่อ” ว่า “ธรรมดา” ข้าพเจ้าก็เลยว่าราษฎรเต็มขั้น เพราะตอนนั้นกวีผู้นี้ไปขัดแย้งกับวงราชการ ถูกเนรเทศมาสู่ชนบททางใต้ เขาได้มาพบกับชีวิตที่เงียบสงบเป็นตัวของตัวเอง แต่ก็คงยังมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อความอยุติธรรมของวงการเมืองสมัยนั้นอยู่บ้าง ท้ายเล่มกวีท่านอื่น ๆ มาเขียนต่อท้าย
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 3 จี๋หลิน หน้า 154,157
(น.154) ห้องนิทรรศการชีวประวัติขงจื้อ มีรูปหุ่นขงจื้อและบรรดาศิษย์ มีศิษย์เอก 4 คน คือ เหยียนจื่อ เจิงจื่อ ซือจื่อ และเมิ่งจื่อ (เม่งจื้อ) เปิดสำนักขงจื้อ
(น.157) ลูกศิษย์ชั้นรองอีก 11 คน มีจูจื่อคนเดียวที่ไม่ใช่ลูกศิษย์ เป็นคนสมัยซ้องใต้ มาฟื้นฟูส่งเสริมความคิดของขงจื้ออีกครั้ง เรียกว่า Neo-Confucianism พัฒนาความคิดด้านอภิปรัชญา
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 5 ภาคผนวก หน้า 13-14
(น.13)
ราชวงศ์จิ้นภาคหลัง ค.ศ. 936 – 946
ราชวงศ์ฮั่นภาคหลัง ค.ศ. 947 – 950
ราชวงศ์โจวภาคหลัง ค.ศ. 951 – 960
ในสมัยนี้ยังมีแคว้นต่าง ๆ อีก 10 แคว้น อยู่ทางภาคเหนือ 2 แคว้น และภาคใต้ 8 แคว้น
14. ราชวงศ์ซ่ง (ซ้อง) ค.ศ. 960 – 1279
ราชวงศ์ซ่งตั้งราชวงศ์ใน ค.ศ. 960 แต่รวมจีนได้ทั้งประเทศใน ค.ศ. 979
ราชวงศ์ซ่งเหนือ ค.ศ. 960 – 1126
ราชวงศ์ซ่งใต้ ค.ศ. 1127 – 1279
สมัยราชวงศ์ซ่งเป็นสมัยที่ชนเผ่าต่าง ๆ ที่อยู่ติดกับทางภาคเหนือของจีนได้ยกกำลังมารุกรานจีนและได้ก่อตั้งราชวงศ์ต่าง ๆ หลายราชวงศ์ดังนี้
ราชวงศ์เหลียว (เผ่าฉีตาน) ค.ศ. 946 – 1125
ราชวงศ์เซี่ยตะวันตก (เผ่าตันกุต) ค.ศ. 1038 – 1227
ราชวงศ์จิน (เผ่า Jürchen) ค.ศ. 1115 – 1234 ราชวงศ์จินได้ครองดินแดนภาคเหนือของจีนทั้งหมดในค.ศ. 1126
(น.14)
ราชวงศ์หยวน ก่อตั้งอาณาจักร ค.ศ. 1206
ผนวกราชวงศ์เซี่ยตะวันตก ค.ศ. 1227
ผนวกราชวงศ์จิน ค.ศ. 1234
ตั้งนามราชวงศ์ว่าหยวน ค.ศ. 1271
ผนวกราชวงศ์ซ่งใต้ ค.ศ. 1279
15. ราชวงศ์หยวน ค.ศ. 1279 – 1368
16. ราชวงศ์หมิง ค.ศ. 1368 – 1644
17. ราชวงศ์ชิง ค.ศ. 1644 – 1911
18. สาธารณรัฐ ค.ศ. 1912 – 1949
19. สาธารณรัฐประชาชนจีน ค.ศ. 1949 – ปัจจุบัน
ผนวกราชวงศ์ซ่งใต้ ค.ศ. 1279
คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 63,73-74
(น.63) พิพิธภัณฑ์สุสานกษัตริย์หนานเยว่
ตู้แสดงพระราชลัญจกร ซึ่งมีรูปมังกรอยู่ด้านบน กว้าง 3.1 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตร หนา 1.8 เซนติเมตร หนัก 148.5 กรัม มีตัวอักษรจารึกว่า เหวินตี้ นับว่าเป็นพระราชลัญจกรที่ใหญ่ที่สุด เดิมไม่ชอบทำใหญ่เพราะต้องพกติดตัวไปไหนๆ สมัยถังและซ้องก็ยังทำเล็กๆ ส่วนสมัยหยวนทำขนาดใหญ่
(น.73) ราชวงศ์ถังการค้าขายทางทะเลสำคัญยิ่งขึ้น และเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยซ้อง จากแผนที่จะเห็นได้ว่าสมัยนั้นทางตะวันตกสุดที่คนจีนเดินทางถึงคือที่ลังกา ส่วนชาวตะวันตกก็มาได้ถึงลังกาเช่นเดียวกัน
ตารางแสดงสินค้าออกสินค้าเข้าในสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง
(น.74) ศาสนาต่างๆ ที่เข้ามาพร้อมกับการค้า ได้แก่ พุทธ อิสลาม มีจารึกอักษรอาระบิกของคนเกาหลีที่เดินทางมาเยี่ยมหลุมฝังศพผู้เผยแพร่ศาสนาอิสลาม ใน ค.ศ. 1349 สมัยราชวงศ์หยวน ภาพเตาเผาเครื่องเซรามิกซีซุน เป็นของส่งออกในสมัยราชวงศ์ซ่ง ได้พบเครื่องปั้นดินเผาชนิดนี้ที่ประเทศไทยด้วย
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 142-143
(น.142) สมัยราชวงศ์ซ่งมี ซ่งหวังไถ หรือวังโบราณ เชื่อว่าเป็นที่ประทับของจักรพรรดิที่ซึ่งลี้ภัยมา สมัยราชวงศ์ซ่งนี้มีการค้าขายเครื่องเซรามิกและเกลือ คนที่มาจากทางเหนือนี้มาตั้งเป็นหมู่บ้านในสมัยซ่งและหมิง
(น.143) พวกเปิ่นตี้ หมายถึงคนดั้งเดิม เขาว่ามาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง
เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 12
(น. 12) เมืองเจิ้นเจียง
สมัยสามก๊กเคยเป็นเมืองหลวงของง่อก๊ก (หรืออู๋กั๋วของซุนกวน) มีอยู่คราวหนึ่ง ง่อก๊กพยายามรวมกับจ๊กก๊ก (หรือสู่กั๋วของเล่าปี่) เพื่อไปตีวุ่ยก๊ก (หรือเว่ยกั๋วของโจโฉ) โดยจะให้เจ้าหญิงง่อก๊กแต่งงานกับพระเจ้าเล่าปี่แห่งจ๊กก๊ก แต่การรวมก๊กก็ไม่สำเร็จ การแต่งงานแบบนี้ถือว่าเป็นการสมรสทางการเมือง งิ้วชอบแสดงเรื่องนี้ อีกตอนหนึ่งที่งิ้วชอบแสดงคือเรื่องจับโอรสเล่าปี่ แต่หนีไปได้ (เห็นจะเป็นตอนจูล่งมาช่วย) อีกวัดหนึ่งเป็นสถานที่ที่มีกวีมาเขียนกลอน เช่น ซูซื่อหรือซูตงปัว (ค.ศ. 1037? – ค.ศ. 1101) กวีเอกสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 960 – ค.ศ. 1279) นอกจากนั้นในสมัยราชวงศ์เหนือใต้ (ค.ศ. 317 – ค.ศ. 589) ซึ่งเป็นช่วงแห่งการแตกแยกทางการเมืองเป็นราชวงศ์ทางเหนือและทางใต้ รวมทั้งมีราชวงศ์ปกครองสืบต่อกันทางเหนือ – ใต้หลายราชวงศ์นั้น ราชวงศ์เหลียง (ค.ศ. 502 – ค.ศ. 557) ซึ่งอยู่ทางใต้ ก็มีเจ้านายองค์หนึ่งไม่สนใจการเมือง ชอบแต่การแต่งบทกวี ได้มาแต่งไว้
เจียงหนานแสนงาม หน้า 106,110
(น. 106) หลี่ชิงเจ้า (ค.ศ. 1084 – ค.ศ.1155?) เป็นบุตรีของขุนนางผู้ใหญ่ ในวัยเยาว์ได้เรียนหนังสือ จนมีความรู้แตกฉานในด้านภาษา วรรณคดี และประวัติศาสตร์ มีอัจฉริยภาพในการแต่งบทกวี ฝีมือประพันธ์ดีเยี่ยม เมื่ออายุ 18 ปีแต่งงานกับเจ้าหมิงเฉิง ผู้ซึ่งเป็นบุตรของอัครมหาเสนาบดี เป็นคู่สมรสที่เหมาะเจาะ มีรสนิยมตรงกันทั้งในด้านบทกวี ศิลปะ และวิชาการ ต่อมาหลี่ชิงเจ้าและสามีต้องอพยพจากภาคเหนือลงมาอยู่ทางภาคใต้ เพราะว่าราชวงศ์ซ่งเสียดินแดนแก่ชนเผ่าหนี่ว์เจินแห่งราชวงศ์จิน (พวกกิมก๊ก) จนใน ค.ศ. 1127 ต้องมาตั้งมั่นอยู่ทางใต้ ตั้งเมืองหลวงที่หังโจว เป็นราชวงศ์ซ่งใต้ (หนานซ่ง ค.ศ. 1127 – ค.ศ. 1279) สามีของหลี่ชิงเจ้าถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 1129 เมื่อสามีจากไปแล้ว ชีวิตของหลี่ชิงเจ้าก็ผกผัน ฐานะตกต่ำลง อยู่อย่างลำบาก เงียบเหงา เดียวดาย บทกวีของหลี่ชิงเจ้านั้น ในช่วงแรกชีวิตมีสุข รำพันถึงความรัก ความรื่นรมย์ ชีวิตในช่วงหลังมีความทุกข์ พรรณนาถึงความเศร้า ความเดียวดาย และชะตากรรมของยุคสมัย
(น. 110) เครื่องสำริด เครื่องสำริดตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์จนถึงสมัยราชวงศ์ชิง มีตะเกียงสำริด เครื่องเผากำยาน และเครื่องสำริดทรงต่างๆ โดยมากใช้ในพิธีกรรม
หุ่นสำริดแสดงจุดต่างๆ ขอร่างกาย ตัวโตเท่าคนจริงหรืออาจจะโตกว่าเสียด้วยซ้ำ สำหรับให้นักเรียนฝึกฝังเข็มลงไปในตัวหุ่นซึ่งมีขี้ผึ้ง ถ้าจิ้มถูกที่ ขี้ผึ้งจะไหลออกมา หุ่นชนิดนี้มีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง หุ่นที่มีในพิพิธภัณฑ์นี้เป็นของราชวงศ์หมิง ทางพิพิธภัณฑ์จำลองหุ่นนี้ให้นักศึกษาที่เรียนวิชาแพทย์แผนโบราณได้ฝึก
เจียงหนานแสนงาม หน้า 185,187-188,195,207,210-211
(น. 185) ในสมัยราชวงศ์ซ่งและหยวน เมืองหยังโจวเป็นท่าเรือสำคัญ มาร์โคโปโลก็เคยมา
(น. 187) เขาจินซาน (ภูเขาทอง) น้อย จำลองจากเขาจินซานเมืองเจิ้นเจียง ตรงทางเข้ามองไกลออกไปเห็นสะพานห้าศาลา บริเวณเขาจินซานน้อยมีหอชมจันทร์ สำหรับชมแสงพระจันทร์ในยามค่ำคืน ฟังดนตรี กินขนม ดื่มน้ำชา ชื่นชมกลิ่นอบเชย และเล่นหมากรุก มีประตูเปิดหันไปทางทะเลสาบโซ่วซีหู ปลูกต้นกุ้ยฮวา ภายในมีคำขวัญคู่ (ตุ้ยเหลียน) ฝีมือเจิ้งป่านเฉียว มีใจความว่า พระจันทร์ส่องแสงมาเหมือนน้ำเต็มพื้นดิน เมฆลอยขึ้นฟ้าเป็นดั่งภูเขา ในหอนี้มีฉากลายครามสมัยจักรพรรดิคังซี (ค.ศ. 1662 – 1722) มีเพียงชุดเดียว ความพิเศษคือ
(น. 188)
1. ภาพวาดเป็นสามมิติ
2. เส้นชัดเจน แม้แต่ใบไม้เล็กๆ หรือลายกระเบื้องมุงหลังคาก็เห็นชัด
3. เขียนได้บรรยากาศดี มีเมฆบนท้องฟ้า คลื่นในทะเลสาบลายครามปัจจุบันทำไม่ได้แบบนี้นี้
บริเวณสวนเป็นทางเดินคดเคี้ยว มีกำแพงกั้น แต่เจาะช่องลมให้เห็นว่าสวนกว้าง นอกสวนออกไปยังมีสวนอีก แบบนี้เรียกว่าเป็นสวนแบบเจียงหนาน คือมีทิวทัศน์ทั้งด้านนอกและด้านใน
ออกจากหอชมจันทร์มีอาคารอีกหลัง แต่ทำเป็นร้านขายของที่ระลึกและร้านอาหาร คนมานั่งเล่นไพ่กัน
ด้านนอกมีหินงอกที่จักรพรรดิสมัยราชวงศ์ซ่งขุดมาประดับ เขาว่าหินชนิดนี้ในเวลา 50 ปีงอก 1 เซนติเมตร เขาว่าเป็นหินบรรทุกในเรือ (ไม่ทราบว่าหมายถึง อับเฉาถ่วงเรือใช่หรือไม่?)
(น. 195) หลังไป 1,500 กว่าปี จักรพรรดิเซี่ยวอู่ตี้ แห่งราชวงศ์หลิวซ่งในสมัยราชวงศ์เหนือใต้เป็นผู้สร้างในรัชศกต้าหมิง อันเป็นรัชศกที่ใช้ในช่วง ค.ศ. 457 – 464 หรือกลางศตวรรษที่ 5 จึงเรียกชื่อวัดตามปีรัชศก คำว่า ต้าหมิง แปลว่า สว่างเจิดจ้า
ในสมัยราชวงศ์ถังเปลี่ยนชื่อเป็น วัดซีหลิง แปลว่า ที่สถิตแห่งจิตวิญญาณ ราชวงศ์ซ่งกลับมาใช้ชื่อเดิมว่า วัดต้าหมิง ในสมัยราชวงศ์ชิง จักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จประพาสเมืองหยังโจว เห็นคำว่า ต้าหมิง ทรงไม่พอพระทัย เพราะทรงเกรงว่าจะทำให้ผู้คนคิดถึงราชวงศ์หมิง จึงให้เปลี่ยนชื่อเป็น ฝ่าจิ้งซื่อ หรือ วัดฝ่าจิ้ง คำว่า ฝ่าจิ้ง แปลว่า พระธรรมพิสุทธิ์ ใน ค.ศ. 1980 ได้เปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อดั้งเดิมคือ วัดต้าหมิง เพราะในเดือน 4 ปีนั้นได้อัญเชิญรูปปั้นพระเจี้ยนเจิน (ค.ศ. 688 – 763) จากประเทศญี่ปุ่น กลับมาตั้งบูชาที่วัดนี้
(น. 207)
1.เข็มขัดหยกของซูตงปัว กวีเอกและขุนนางสมัยราชวงศ์ซ่ง เข็มขัดนี้มีหยก 20 ชิ้นร้อยติดกัน มีเรื่องเล่ากันว่าสมัยที่ซูตงปัวเป็นเจ้าเมืองหยังโจว ช่วงหนึ่งเจ็บป่วยมาก อยากลาออก จึงมาปรึกษาเจ้าอาวาสวัดนี้ ซึ่งเป็นเพื่อนกัน เจ้าอาวาสแนะนำให้ลาออกแถมให้ทิ้งเมียน้อยให้หมด เพราะชีวิตเหมือนเทียนใกล้ดับ ส่วนจารึกที่เขียนไว้อยู่ในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง ราชวงศ์ชิง เป็นเรื่องการเสด็จเจียงหนาน
(น. 210) เมืองเจิ้นเจียงนี้มีกวีโบราณ (ราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่ง) มาชุมนุมกันอยู่มาก เขียนโคลงกลอนและบทความมากมาย เช่น หวังเหวย หวังอานสือ หลี่ไป๋ ไป๋จวีอี้ ซูซื่อ (ซูตงปัว) เขียนบทกวีชมเมืองนี้
(น. 211) ในเมืองนี้ยังมีนักวิชาการมีชื่อที่เขียนหนังสือไว้หลายคน เช่น พระโอรสองค์หนึ่งของจักรพรรดิเหลียงอู่ตี้ (ค.ศ. 502 – 519) ได้คัดสรรความเรียงและกวีนิพนธ์ดีๆ มารวมเล่มเผยแพร่ ตอนที่นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่นมาเมืองจีนครั้งแรก ท่านประธานเหมาเจ๋อตงก็มอบหนังสือนี้ให้ มีนักวิชาการชื่อ หลิวเสวีย เขียนตำราเกี่ยวกับกลวิธีการประพันธ์ ตั้งชื่อว่า เหวินซินเตียวหลง (แกะสลักมังกรในหัวใจวรรณคดี) นักวิทยาศาสตร์สมัยราชวงศ์ซ่งชื่อ เสิ่นคั่ว เขียนหนังสือรวมบทความทางวิทยาศาสตร์ ตั้งชื่อหนังสือว่า เมิ่งซีปี่ถาน (เมิ่งซี เป็นชื่อสวนที่เสิ่นคั่วสร้างขึ้น ปี่ถาน แปลว่า งานเขียนเขียนเล่าเรื่อง)
เมืองนี้เป็นเมืองท่องเที่ยว มีภูเขาจินซาน เจียวซาน และเป่ยกู้ซาน ยังมีหนานซาน เป็นป่าอนุรักษ์ เหมาซานเป็นเขาศักดิ์สิทธิ์ของลัทธิเต๋า ส่วนเป่าหัวซานเคยเป็นที่มั่นของพวกต่อต้านญี่ปุ่น ที่นี่มีเจดีย์หลายแห่ง ทั้งเจดีย์ไม้ อิฐ หิน เหล็ก เจดีย์ที่จินซานเป็นเจดีย์ไม้ พรุ่งนี้จะได้เห็นเจดีย์เหล็ก
เมืองเจิ้นเจียงยังเป็นเมืองวีรชนคนกล้า ต่อสู้ศัตรูผู้รุกรานในสมัยราชวงศ์ซ่ง ตอนสงครามฝิ่นก็ต่อสู้กับพวกอังกฤษที่ภูเขาเจียวซาน ขณะนี้ยังมีปืนใหญ่ที่ใช้รบสมัยนั้น สมัยสงครามต่อต้านญี่ปุ่น นายพลเฉินอี้กับนายพลซู่อวี้รบอยู่ที่ภูเขาเหมาซาน ขณะนี้มีอนุสาวรีย์เป็นเครื่องระลึกถึงคุณความดี ที่ภูเขานี้มีปาฏิหาริย์แปลกประหลาดอยู่อย่างหนึ่งคือ เวลาจุดประทัด เสียงประทัดจะสะท้อนดังเหมือนเสียงแตร
เจียงหนานแสนงาม หน้า 219-223,228-229,232,242,244
(น. 219) พิพิธภัณฑ์เจิ้นเจียง
สมัยราชวงศ์ซ่ง มีรูปปั้นดินเผาสัตว์ประจำทิศสำหรับประดับหลังคาดังนี้
(น. 220)
ทิศตะวันออก มังกรสีเขียว
ทิศตะวันตก เสือสีขาว
ทิศเหนือ เต่าพันกับงูสีดำ
ทิศใต้ นกเฟิ่งแดง (หรือนกแดง)
นอกนั้นของที่แสดงไว้มี รูปปั้นดินเผารูปคนและสัตว์ คันฉ่อง กระปุกเครื่องสำอาง ถ้วยชา หมอนเซรามิก พัดที่ด้ามเป็นไม้ไผ่ ตัวพัดดูเหมือนกับเป็นใบตาล ลงรัก ได้จากสุสานสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (ค.ศ. 1127 – 1279)
(น. 221) จากนั้นขึ้นไปบนอาคารที่ 2 เพื่อดูสิ่งของมีค่าของพิพิธภัณฑ์ ผู้อำนวยการบอกว่าพิพิธภัณฑ์นี้มีสิ่งของ 30,000 ชิ้น ที่มีชื่อเสียงคือ เครื่องสำริดสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก เครื่องสำริดทางใต้นี้มีส่วนผสมและแบบอย่างต่างจากทางเหนือ ของเจิ้นเจียงเป็นตัวอย่างที่ดีของศิลปะแคว้นอู๋ในสมัยชุนชิว นักโบราณคดีกล่าวกันว่าถ้าจะศึกษาเรื่องแคว้นอู๋ต้องมาที่เจิ้นเจียง เขานำของมีค่ามาให้ดูดังนี้
1. เครื่องสำริดราชวงศ์โจวตะวันตก ขุดพบที่ไท่หยัง ในเมืองเจิ้นเจียง มีลวดลายเป็นนกและกบ เพราะทางนี้มีน้ำอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์พวกนี้อยู่มากมาย กบเป็นสัญลักษณ์ของการมีลูกหลานมาก คนจีนสมัยนั้นถือว่าเป็นสิริมงคล
2. ไหสำริด มีฝาปิดรูปนก พบในสุสานสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก ในสุสานนี้มีเครื่องสำริดหลายร้อยชิ้น ส่วนมากเป็นของ
(น. 222)ใช้ในพิธีกรรม นอกนั้นมีอาวุธบ้าง ภาชนะใส่เหล้า บางใบเมื่อพบยังมีเหล้าอยู่
3. ถ้วยสำริดใบใหญ่ทำเป็นรูปเป็ดสมัยราชวงศ์โจวตะวันตกใช้ใส่เหล้า ของทางเหนือเป็นรูปเป็ดธรรมดา แต่ทางใต้เป็นเป็ดแมนดาริน ซึ่งมีอยู่ในภูมิประเทศที่นี่
4. ระฆังสำริดสมัยจั้นกั๋ว มีลวดลายเป็นหน้าคน มีหูอยู่ข้างๆ เป็นรูปมังกร ชุดหนึ่งมี 2 ใบ ใบที่เอามาให้ดูเป็นใบเล็กที่สุดในชุด ใช้ในกองทัพสำหรับตีบอกสัญญาณต่างๆ และถือเป็นเครื่องดนตรีกระตุ้นให้ทหารรบ ระฆังชุดนี้อาจเป็นของเก่าที่สุดที่พบในจีน และมีรูปร่างแปลก เพราะที่อื่นเป็นรูป 4 เหลี่ยม
5. เครื่องเคลือบแบบศิลาดล ทางเจิ้นเจียงมีเครื่องเคลือบแบบนี้มาก เพราะมีดินที่เหมาะสม ยังมีเตาเผาเหลืออยู่ ของที่เอามาให้ดูมี กระปุกสมัยราชวงศ์อู๋ หรืออู๋กั๋วของซุนกวนในสมัยสามก๊ก แจกันมีลวดลายนูนต่ำเป็นรูปคน และมีลวดลายแบบนูนสูงปนอยู่ด้วย เป็นรูปนักกายกรรม มีรูปสุนัข เต่า กระต่าย กวาง เชิงเทียนรูปแกะ
6. ที่เผากำยาน มีพระพุทธรูปเล็กๆ อยู่ข้างบน
7. แผ่นทองคำ สลักลายพระพุทธรูป
8. กล่องทองคำ เงิน มีขนาดเล็กใหญ่ลดหลั่นกันไป ชั้นในสุดพบพระบรมสารีริกธาตุ ใส่ขวดไว้ให้ดู มีสีขาวใสอยู่ขวดหนึ่ง สีน้ำตาลใสอีกขวดหนึ่ง ได้จากเจดีย์เหล็กบนเขาเป่ยกู้ซาน
9. พัด ดูเหมือนพัดใบตาล ลงรัก สมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (มีรูปติดไว้ให้ดูที่อาคาร 1)
(น. 223) 10. ผ้าทอไหมทองสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ พบอยู่ในสุสาน เทคนิคการทอดีมาก สามารถเก็บรักษาไว้ได้อย่างดี ผืนนี้เป็นของบัณฑิตสมัยราชวงศ์ซ่งใต้
(น. 228) แต่โบราณภูเขานี้มีแม่น้ำไหลอยู่ทั้งสองด้าน ทางขึ้นมีเจดีย์ซึ่งเริ่มสร้างสมัยราชวงศ์ถัง และสร้างเป็นเหล็กในสมัยราชวงศ์ซ่งเมื่อ ค.ศ. 1078 สมัยนั้นไม่รู้จักการทำสายล่อฟ้า จึงถูกฟ้าผ่าพังลงมา สมัยราชวงศ์หมิงบูรณะขึ้นไปก็ถูกฟ้าผ่าอีก ที่เห็นในปัจจุบันฐานล่างเป็นสมัยราชวงศ์ซ่ง ชั้นบนเป็นของราชวงศ์หมิง แสดงความสามารถของคนสมัยก่อนในการหลอมเหล็ก ใน ค.ศ. 1960 ขุดพบสิ่งของต่างๆ มากมายในเจดีย์ รวมทั้งกล่องใส่ขวดพระธาตุที่เห็นที่พิพิธภัณฑ์
(น. 229) ทางขึ้นวัดกานลู่ ทำเป็นทางเดินมีหลังคาคลุม ในหนังสือเรื่องสามก๊กกล่าวถึงระเบียงทางขึ้นนี้ด้วย แต่ที่เห็นอยู่นี้เป็นของทำขึ้นใหม่ ตรงทางขึ้นใกล้ถึงวัด มีจารึกศิลาเขียนว่า เทียนเซี่ยตี้อีเจียงซาน แปลว่า ทิวทัศน์เป็นที่หนึ่งแห่งแผ่นดิน จักรพรรดิเหลียงอู่ตี้ (ค.ศ. 502 – 519) เคยพูดถึงเขาเป่ยกู้ซานว่าเพิ่มความสง่างามให้แก่เมืองเจิ้นเจียง ลายมือตัวหนังสือที่เขียนบนแผ่นหินนั้นเขียนในสมัยราชวงศ์ซ่ง ฝีมืออู๋จวี แต่มาจารึกบนหินสมัยจักรพรรดิคังซี ราชวงศ์ชิง
(น. 232) หอเทียนเซี่ยตี้อีโหลว เป็นหอชมทิวทัศน์ เดิมมักมีกวีและนักปราชญ์มาชุมนุมกันมาก เพราะเห็นทิวทัศน์แม่น้ำแยงซีและภูเขาได้โดยรอบ วันนี้หมอกลงเลยไม่เห็น ถ้าอากาศโปร่งดีจะเห็นเขาจินซานทางทิศตะวันตก เจียวซานทางทิศตะวันออก ทางเหนือเป็นแม่น้ำใหญ่ เดี๋ยวนี้ตื้นเขิน เป็นสันทรายโดยมาก หอนี้มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยโบราณ ที่เห็นนี่สร้างขึ้นใหม่ และกำลังจะรื้อสร้างใหม่ขยายให้ใหญ่โตเพื่อรับนักท่องเที่ยว หอนี้เป็นหนึ่งในสามของหอที่มีชื่อเสียงสมัยราชวงศ์ซ่ง เดี๋ยวนี้ใช้เป็นร้านน้ำชาและขายของนักท่องเที่ยว
(น. 242) เมืองเก่าซูโจวนั้นเล็กมาก พื้นที่เพียง 14.2 ตารางกิโลเมตรเท่านั้น ตัวเมืองปัจจุบันมีประชากร 300,000 คน ถ้านับคนในพื้นที่รอบๆ เขตเมืองด้วยมี 1,080,000 คน นอกจากเขตเมืองแล้วซูโจวยังมีอีก 6 อำเภอ เมื่อ 2,500 ปีก่อน แถบนี้เป็นดินแดนของแคว้นอู๋ ท่านอู๋จื่อซี เสนาบดีสมัยนั้นเป็นผู้วางแผนสร้างเมือง วางไว้สำหรับคน 50,000 คน ลักษณะเด่นของเมืองนี้คือ มีแม่น้ำลำคลองมาก บ้านเรือนประชาชนอยู่ริมฝั่งน้ำเป็นส่วนใหญ่ แม่น้ำลำคลองมีความสำคัญต่อการคมนาคม และยังเป็นระบบระบายน้ำสมัยราชวงศ์ซ่งไฟไหม้เกือบหมดทั้งเมือง แต่ก็สร้างขึ้นใหม่ตามแบบเดิม มีจารึกแผนที่เมืองไว้บนแผ่นหิน ยังเก็บรักษาไว้จนทุกวันนี้ เมื่อนำมาเทียบกับภาพถ่ายดาวเทียม แผนที่ที่เขียนสมัยราชวงศ์ซ่งนับว่าใกล้เคียงกับสมัยนี้มาก
(น. 244) เมืองซูโจว
เมืองนี้มีวัดในพุทธศาสนามาก พรุ่งนี้จะได้ดูแห่งเดียวคือ วัดซีหยวน มีชื่อเสียงเพราะมีรูปพระอรหันต์ 500 องค์
เมืองนี้เป็นที่อยู่ของบุคคลสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีนหลายคน ซุนจื่อผู้แต่งตำราพิชัยสงครามซุนอู่ (หรือที่รู้จักกันในภาษาไทยว่า ซุนหวู่) อันเลื่องชื่อ ก็เรียบเรียงเรื่องนี้ในซูโจว ยังมีกวีและนักปราชญ์อีกหลายคน เช่น ฟั่นจ้งเอียน (ค.ศ. 989 – 1052) ขุนนางและกวีสมัยราชวงศ์ซ่ง ผู้ซึ่งได้รับราชการทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค วาทะของเขาที่มีชื่อเสียงคือ ทุกข์ก่อนทุกข์ของแผ่นดิน สุขหลังสุขของแผ่นดิน (เซียนเทียนเซี่ยจืออิวเอ๋อร์อิว โฮ่วเทียนเซี่ยจือเล่อเอ๋อร์เล่อ)
เจียงหนานแสนงาม หน้า 256-262,281,282
(น. 256) ใน ค.ศ. 1992 จัดพิพิธภัณฑ์อธิบายเรื่องสวนซูโจวไว้ในสวนจัวเจิ้งหยวน แบ่งเป็นหัวข้อดังนี้
1. การเกิดสวน
2. ประวัติของสวน
3. สนุกกับสวน
4. การจัดสวน
มีภาพสวนต่างๆ ในซูโจว ที่สำคัญคือ ภาพวาดเนินเสือ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งในซูโจว หน้าภาพนี้มีอักษรจีน 7 ตัว ที่มีความหมายว่า สวนทั้งหมด
ภาพเรื่องราวของผู้มีชื่อเสียงในด้านการจัดสวนทุกยุคทุกสมัย ได้รวบรวมงานเขียน จดหมาย และเอกสารต่างๆ เช่น ไป๋จวีอี้ สร้างซีหลี่ซานถาน ในสมัยราชวงศ์ถัง ซูซุ่นชินสร้างศาลาชังลั่งถิงในสวนส่วนตัวของตน ในสมัยราชวงศ์ซ่ง เหวินจื่อหมิง สมัยราชวงศ์หมิง ออกแบบสวนจัวเจิ้ง หมิงจี้เฉิง สมัยราชวงศ์หมิง เขียนหนังสือเกี่ยวกับการจัดสวนชื่อว่า หยวนเอี่ย
สวนในซูโจวพัฒนามาตั้งแต่สมัยชุนชิวคือ สวนเจ้าเมืองซูโจว สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก (ค.ศ. 265 – 317) และสมัยราชวงศ์เหนือใต้ (ค.ศ. 317 – 589) ผู้คนนิยมสร้างสวนทั้งในบ้าน
(น. 257) ส่วนตัวและวัดวาอาราม สมัยราชวงศ์ซ่งและหยวนนิยมศิลปะการจัดต้นไม้และหิน สมัยราชวงศ์ชิงนิยมสวนและศาลา
(น. 258) สถานที่ที่เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองซูโจวในปัจจุบันจึงมีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์จีนในศตวรรษที่ 19 ที่นี่เขาไม่ได้ให้ดูข้าวของต่างๆ ที่จัดแสดงไว้เพราะมีเวลาจำกัด แต่เอาของชิ้นเอกออกมาให้ชมเลย
1. คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร สมัยราชวงศ์ถัง เขียนตัวทอง มี 7 ม้วน พบในเจดีย์เมื่อ ค.ศ. 1976
2. คัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร สมัยราชวงศ์ซ่ง
3. เครื่องถ้วยลายดอกบัว พบที่เนินเสือ เป็นสีเขียวไข่กา จากเตาเผาเย่ว์ ของมณฑลเจ้อเจียง สมัยราชวงศ์เหนือใต้ ใช้อุณหภูมิ
1,000 กว่าองศาในการเผา และจะต้องเผาในสูญญากาศจึงจะออกมาเป็นสีเขียว ถ้าอากาศเข้าจะกลายเป็นสีน้ำตาล กลายเป็นของไม่มีค่า
4. หยกสมัยราชวงศ์ชิง รัชกาลจักรพรรดิเฉียนหลง มาจากเมืองเหอเถียนหรือเมืองโคทาน ในภูมิภาคปกครองตนเองซินเจียง สลักเป็นตัวหนังสือว่า กั๋วไท่หมินอาน แปลว่า ชาติร่มเย็น ประชาเป็นสุข และ ไท่ผิงอู๋เซี่ยง แปลว่า ไม่มีเหตุ ประเทศสงบ หยกสีอย่างนี้หายาก
5. เครื่องปั้นดินเผาสีม่วงแดงรูปพระ เป็นของเมืองซูโจว สมัยราชวงศ์หมิง
Next >>