<< Back
ราชวงศ์ซ่ง
(น. 259)
6. ถ้วยสุรา ทำด้วยดินเผาจื่อซา สมัยจักรพรรดิคังซี สลักรูปพืชที่เป็นมงคล เช่น มันฮ่อ (เหอเทา walnut) มีความหมายคือ ให้มีอายุยืน กระจับ ให้ความหมายว่า เฉียบไว ลิ้นจี่ หมายความว่า ได้กำไร มีไหวพริบ ถั่วลิสง หมายความว่า มีลูกหลานมากมาย แปะก๊วย เม็ดแตงโม ไม่ได้บอกว่าหมายความว่าอะไร
7. ที่วางพู่กัน เป็นดินเผาจื่อซา สมัยราชวงศ์ชิง เป็นรูปกิ่งไม้ มีจักจั่นเกาะ
8. ภาพวาดสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ รูปกษัตริย์ 5 พระองค์กำลังทรงพระเกษมสำราญอยู่กับเหล่านางสนมกำนัลในฤดูใบไม้ผลิ ภาพเขียนสีได้สวยงามมาก ภาพเครื่องเรือน อาคาร อาหารสมัยนั้น และการแต่งกายของบุคคลในภาพ แสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่ของคนในสมัยนั้นว่าเป็นเช่นใด
9. ภาพวาดสมัยราชวงศ์หมิง เป็นภาพเหมือนของนักปราชญ์ต่างๆ ในสมัยราชวงศ์ซ่งมาพบปะกัน แล้วร่วมกันเขียนตัวอักษร ที่ซีหยวน ในเมืองลั่วหยัง นักปราชญ์คนหนึ่งที่เห็นในภาพก็คือ ซูตงปัวหรือซูซื่อนั่นเอง
10. ภาพคนแก่ที่เขียนในสมัยราชวงศ์ชิง เขียนแบบโบราณ การใช้เส้นใหญ่ เล็ก หนัก เบา ทำให้ภาพนี้มีชีวิตชีวา ภาพของจงขุย ซึ่งคนจีนเชื่อว่าเป็นยมบาล มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งจักรพรรดิถังเสวียนจง (ค.ศ. 712 – 756) ทรงพระสุบินว่า เห็นผีตัวใหญ่จับผีตัวเล็กกินไปเลย ผีตัวใหญ่ทูลว่า เมื่อเป็นมนุษย์ เคยไปสอบแข่งขันเป็นจอหงวน แต่สอบตก จึงเอาศีรษะชนบันไดหินตายได้ตั้งปณิธานไว้ว่า เมื่อตายแล้ว จะปราบผีไม่ดี เลยกินผีตัวเล็กที่ไม่ดี จงขุยก็คือผีตัวใหญ่นั่นเอง
(น. 260)
11. การเขียนลายมือ (ซูฝ่า) ขนาดใหญ่ คนเขียนชื่อ สวีเหวินฉัง มีชื่อเสียงในการเขียนตัวอักษรจีน นอกจากนั้นยังมีความสามารถทางการพูดและมีความคิดลึกซึ้ง นับถือลัทธิเต๋า ซูฝ่าของเขาเป็นเรื่องธรรมชาติตามแนวลัทธิเต๋า เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างยินและหยัง ธาตุทั้ง 5 หรืออู่สิง (ไม้ ไฟ ดิน โลหะ น้ำ) ลีลาการเขียนของเขาแปลกใหม่ เหมือนกับการร่ายรำที่ต้องอาศัยที่กว้าง ไม่อยู่เฉพาะในกรอบสี่เหลี่ยม
12. คัมภีร์อวตังสกสูตร สมัยราชวงศ์ซ่งใต้ คนแซ่จางเขียนเก็บไว้ที่บ้านของตน มีลักษณะพิเศษคือตัวอักษรตั้งแต่ตัวแรกถึงตัวสุดท้าย ลายมือสม่ำเสมอเหมือนกันหมด มีการตีตารางกรอบสี่เหลี่ยมสำหรับเขียน กระดาษดีมาก ถึงจะเก่าแก่ก็ยังดูเหมือนของใหม่
13. จางอวี่ สมัยราชวงศ์หยวน เขียนบทกวีให้เพื่อนๆ
14. ภาพวาดใบไผ่และดอกกล้วยไม้ มองดูอ่อนๆ แต่มีพลัง เขียนสมัยราชวงศ์หมิง เป็นฝีมือของหวังตั๋ว มีบทกวีประเภทซือประกอบภาพด้วย การเขียนภาพประกอบบทกวีนี้เป็นที่นิยมในสมัยราชวงศ์ซ่งถึงราชวงศ์หมิง
(น. 261)
15. ภาพวาดไม้ไผ่สมัยราชวงศ์หมิง ฝีมือหวังเหมิง ไม้ไผ่นี้ข้างนอกแข็งข้างในกลวงว่างเปล่า
16. ภาพเขียนทิวทัศน์ภูเขาอวี๋ซาน อำเภอฉังสู อยู่ห่างเมืองซูโจวประมาณ 40 กิโลเมตร เป็นภาพสีน้ำขาวดำ ฝีมือหวังเจี้ยน จิตรกรเอกสมัยราชวงศ์ชิง ในสมัยนี้ที่ซูโจวมีศิลปินเขียนภาพที่มีชื่อเสียงอยู่ 4 ท่าน ภาพเขียนของหวังเจี้ยนให้ความรู้สึกต่างๆ ตามฤดูกาล
17. ภาพดอกโบตั๋น ดอกลิลลี่ ดอกโก๋วฉี่หรือเก๋ากี้ (เครื่องยาจีนเม็ดแดงๆ) สมัยจักรพรรดิคังซี ราชวงศ์ชิง
18. ภาพดอกอวี้หลาน เขียนได้สวยงามดี
19. ลายมือของหวังเอ้า เสนาบดีสมัยราชวงศ์หมิง
20. ถ้วยสุราทำด้วยนอแรดสมัยราชวงศ์หมิง จักรพรรดิใช้สำหรับพระราชทานสุราแก่แม่ทัพที่อยู่บนหลังม้า ก่อนออกไปรบ เป็นการพระราชทานขวัญกำลังใจ
21. ภาพวาดท้าวจตุโลกบาลบนหีบไม้ เป็นศิลปวัตถุที่ทำขึ้นใน ค.ศ. 1013 สมัยราชวงศ์ซ่ง สำหรับเป็นที่เก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุ พบในเจดีย์รุ่ยกวง สีที่เขียนทำจากแร่ ทำให้ไม่ซีดจาง มีรูปมังกรทำด้วยมุก หีบใบนี้อยู่ในหีบอีกใบหนึ่ง
(น. 262) พิพิธภัณฑ์ศิลปะไหมปัก การปักผ้าไหมเป็นงานศิลปะที่มีชื่อเสียงของจีน และมีมานานแล้ว ได้พบผ้าปักไหมในเจดีย์และในสุสานสมัยราชวงศ์ซ่ง การปักผ้าไหมส่วนใหญ่จะอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ที่มีชื่อเสียงมากมี 4 เมือง คือ ซูโจว มณฑลเจียงซู กวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ฉังซา มณฑลหูหนาน และเฉิงตู มณฑลเสฉวน จนเรียกขานกันว่า ซื่อต้าหมิงซิ่ว หรือ สี่ศิลปะปักอันเลื่องชื่อ เมื่อหลายปีก่อน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันจัดนิทรรศการศิลปะปักผ้าไหมจากมณฑลหูหนาน ตั้งชื่อว่า วิจิตรบรรจงปัก ไหมเลิศลักษณ์จากหูหนาน ได้เชิญข้าพเจ้าไปเปิดงาน ครั้งนั้นได้เห็นงานงดงามจำนวนมาก ครั้งนี้ได้เห็นที่ซูโจว ซึ่งมีฝีมืองามยิ่งไม่แพ้กันเลย
(น. 281) ซูโจว เป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรมที่น่าสนใจ ซูโจวตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลเจียงซูติดกับฝั่งตะวันออกของทะเลสาบไท่หู มีคลองต้าอวิ้นเหอหรือคลองใหญ่ไหลผ่านทางตะวันตกของตัวเมือง รวมทั้งอยู่บนเส้นทางรถไฟเซี่ยงไฮ้-นานกิงด้วย ซูโจวมีประวัติให้ศึกษาย้อนหลังไปได้ถึงสมัยชุนชิว ในสมัยนี้เคยเป็นเมืองหลวงของแคว้นอู๋ ในสมัยราชวงศ์ฉินเปลี่ยนฐานะเป็นอำเภออู๋ สมัยราชวงศ์สุยปรับฐานะกลับมาเป็นเมืองชื่อว่า ซูโจว โดยได้ชื่อเมืองมาจากภูเขาของที่นี่
(น. 282)ที่ชื่อว่า กูซูซาน สมัยราชวงศ์ซ่งเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นผิงเจียงฝู่ สมัยราชวงศ์หมิงได้เปลี่ยนกลับมาใช้ว่า ซูโจว และได้ใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน
เจียงหนานแสนงาม หน้า 291-292,301-303
(น. 291) สมัยราชวงศ์สุย ถัง ห้าราชวงศ์ แสดงเครื่องประดับ เช่น ปิ่นปักผม และอุปกรณ์เกี่ยวกับอาหารการกิน เช่น ทัพพี ของที่ใช้ในพิธีชงชา กระโถน ชามฝาสลักลายฉลุ สมัยห้าราชวงศ์ ผู้ปกครองเลื่อมใสศาสนา มีเจดีย์กะไหล่ทอง พบในเจดีย์จินหวาโฝ แผ่นเงินสลักคำอธิษฐานขอความคุ้มครองจากเทพมังกร คัมภีร์ศาสนาสมัยราชวงศ์ซ่ง หยวน มีหีบลงรักใส่คัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร หีบพระธาตุสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 10 – 12 ทั้งสี่ด้านเป็นรูปพระพุทธรูปและรูปกวนอิม เขาบอกว่ายังมีพระพุทธรูปงามๆ อยู่ในโกดังไม่ได้เอาออกมาแสดง ถามว่ากลัวขโมยใช่ไหม เขาว่าไม่ใช่ ของบางอย่างที่แสดงเป็นของจำลอง ของจริงอยู่ในพิพิธภัณฑ์อื่น หรืออยู่ไต้หวัน
(น. 292) เครื่องปั้นดินเผาของเจ้อเจียงตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซังถึงราชวงศ์ชิง สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก สมัยชุนชิวพบเครื่องปั้นดินเผาปั้นเลียนแบบเครื่องสำริด สมัยราชวงศ์ฮั่นมีตุ๊กตาหน้าตาเหมือนคนอินเดีย สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก สมัยสามก๊ก สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออกและพวกราชวงศ์ใต้ มีเครื่องปั้นดินเผาสีดำเต๋อชิง สมัยราชวงศ์สุย ถัง ห้าราชวงศ์ มีเครื่องปั้นดินเผาที่ส่งถวายจักรพรรดิ และของที่พบในสุสาน สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือและซ่งใต้ มีของจากหลงเฉวียน นอกจากนั้นยังแสดงเครื่องปั้นดินเผาอื่นๆ ที่ทำในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้และราชวงศ์หยวน ราชธานีของซ่งใต้อยู่ที่หังโจว จึงมีเตาเผาหลวงหลายเตา เครื่องเคลือบหลงเฉวียน สมัยนั้นส่งออกต่างประเทศ เช่น ประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย มีข้อมูลประวัติศาสตร์จีนว่า ตั้งแต่คริสต์ศตวรรรษที่ 13 – 14 ประเทศไทยได้เทคนิคไปทำเอง สมัยราชวงศ์หมิงและชิง มีตู้กระจกบอกวิธีทำเครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่เริ่มหมักดิน ขึ้นรูป เขียนลวดลาย จนถึงเคลือบและนำเข้าเตาเผา และยังมีแผนที่แสดงเส้นทางการค้าทางทะเลที่จีนส่งเรือไปค้าขาย
(น. 301) หังโจวตั้งอยู่ทางตอนเหนือของมณฑลเจ้อเจียง ในช่วงปลายของแม่น้ำเฉียนถังเจียงทางฝั่งเหนือ คลองขุดต้าอวิ้นเหอไหลมาสิ้นสุดที่หังโจว เป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ปรากฏร่องรอยหลักฐานให้ศึกษาย้อนหลังไปได้ถึง 7,000 ปี (วัฒนธรรมหินใหม่เหอมู่ตู้) ในสมัยราชวงศ์ฉินมีชื่อเรียกขานกันว่า เมืองเฉียนถัง ในสมัยราชวงศ์สุยเปลี่ยนชื่อเป็นหังโจว ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 เคยเป็นเมืองหลวงของแคว้นอู๋เย่ว์ [หลังจากที่ราชวงศ์ถังล่มสลายใน ค.ศ. 907 แล้ว ประเทศจีนได้แตกแยกกัน
(น. 302)อีกครั้งหนึ่งอยู่ 70 กว่าปี (ค.ศ. 907 – 979) จึงรวมตัวกันได้ใหม่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 979 – 1279) ช่วงแตกแยกนี้ ในประวัติศาสตร์จีนเรียกกันว่า สมัยห้าราชวงศ์ (ค.ศ. 970 - 960) สิบแคว้น (ค.ศ. 907 – 979) แคว้นอู๋เย่ว์เป็นแคว้นหนึ่งในสิบแคว้น] ต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ซึ่งหนีการรุกรานของพวกกิมก๊กมาอยู่ทางใต้ได้มาตั้งเมืองหลวงที่หังโจว และเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองหลินอาน
(น. 303) ใน ค.ศ. 1127 ราชวงศ์ซ่งได้หนีการรุกรานของชนเผ่าหนี่ว์เจินแห่งราชวงศ์จิน (ราชวงศ์กิม) มาอยู่ทางใต้ ตั้งเมืองหลวงที่หังโจวหรือหลินอาน จึงเรียกกันในทางประวัติศาสตร์ว่า ราชวงศ์หนานซ่งหรือซ่งใต้ เมื่อทุกอย่างเข้าที่เข้าทางแล้ว ผู้นำและพวกขุนนางส่วนหนึ่งก็หลงระเริงใช้ชีวิตสำราญในแดนงามทางใต้จนลืมความทุกข์ของประชาชนและลืมหน้าที่การกอบกู้แผ่นดินคืนมา พวกกวีรู้สึกรันทดกับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงได้เขียนบทกวีจำนวนไม่น้อยพรรณนาถึงชะตากรรมของยุคสมัย บทกวีของหลินเซิง (ประมาณ ค.ศ. 1131 – 1189) ชื่อ ถีหลินอานตี่ หรือ เขียน ณ ที่พักในหลินอาน เป็นบทกวีที่มีชื่อเสียง เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย
เจียงหนานแสนงาม หน้า 311-312,321,330-332
(น. 311) นั่งเรือต่อไปที่สวนท่าดอกไม้ (ฮวากั่ง) สร้างสมัยราชวงศ์ซ่ง มีต้นไม้ใหญ่ๆ หลายอย่าง เช่น สน ท้อ แม็กโนเลีย เมเปิ้ล ตู้จวน มีสระน้ำเป็นที่ชมปลา มีปลามากมาย ผู้คนนิยมซื้อขนมปังเลี้ยงปลา มีศาลา ในศาลามีป้ายหินลายพระหัตถ์จักรพรรดิคังซี มองจากสระเลี้ยงปลาเห็นคันดิน ซึ่งมีความยาว 2.4 กิโลเมตร เดินดูสวน เวลานี้มีการจัดแต่งสวนเป็นพิเศษรับวสันต์เช่นเดียวกับที่อื่นๆ ทำดอกไม้เป็นรูปบอลกลมๆ แผนที่โลก นกยูงยักษ์ และอื่นๆ บริเวณนี้ยังทำเก๋งอยู่ตามที่ต่างๆ เหมาะสมสอดคล้องกับภูมิประเทศ เช่น หอซ่อนเขา
(น. 312) นั่งรถไปเมืองเซ่าซิง ระยะทาง 67 กิโลเมตรจากหังโจวไปทางตะวันออก สุราของเมืองนี้มีชื่อเสียงก้องโลก ผลิตมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 7 จนถึงปัจจุบัน ในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ จักรพรรดิซ่งเกาจงเคยมาประทับที่เมืองนี้ใน ค.ศ. 1130 เป็นเวลา 20 เดือน จึงเป็นเมืองหลวงชั่วคราวในช่วงนั้น
(น. 321) ในสมัยราชวงศ์ซ่ง ซูตงปัวอ่านคำกล่าวของต่งอวี้ แล้วพอใจมาก จึงเขียนกวีนิพนธ์พรรณนาถึงความสุขจากการอ่านหนังสือในยามว่าง มีบาทหนึ่งพรรณนาว่า ฉื่อเซิงโหย่วเว่ยไจ้ซานอวี๋ แปลว่า ชีวิตนี้มีรสชาติที่ 3 ว่าง ซูตงปัวกล่าวถึงการอ่านหนังสือในยามว่าง
(น. 330) อารยธรรมจีนมีจุดกำเนิดที่ลุ่มแม่น้ำหวงเหอหรือฮวงโห พื้นที่ของอารยธรรมเมื่อแรกเริ่มอยู่แถบมณฑลซานซี (ภาษาไทย-ชานสี) ซานตง (ชานตุง) และเหอหนาน (โฮนาน) ในสมัยชุนชิว-จั้นกั๋ว แคว้นต่างๆ ที่อยู่ในเจียงหนาน เช่น แคว้นอู๋ แคว้นเย่ว์ ยังมีความเจริญน้อยกว่าแคว้นต่างๆ ที่อยู่ในจุดเกิดอารยธรรม อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นในเจียงหนาน 2 ช่วง คือสมัยราชวงศ์เหนือใต้ และสมัยราชวงศ์ซ่งใต้
(น. 331) อีกช่วงหนึ่งที่มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญในเจียงหนานคือ สมัยราชวงศ์ซ่งอพยพลงมาอยู่ทางใต้ มาตั้งเมืองหลวงที่หังโจว ผู้คนทั้งชาวบ้าน ปัญญาชน พ่อค้า ขุนนาง และวัฒนธรรม
(น. 332) ความเจริญในสมัยราชวงศ์สุย ถัง และซ่งเหนือได้เคลื่อนลงมาด้วย มาเพิ่มความเจริญยิ่งๆ ขึ้นแก่เจียงหนานซึ่งเจริญอยู่แล้วให้โดดเด่นทางวัฒนธรรม ณ ที่นี้ พวกปัญญาชนได้มาชุมนุมกัน และยังเป็นศูนย์รวมของห้องสมุดส่วนตัวที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง จึงไม่น่าประหลาดใจเลยว่า นับแต่สมัยราชวงศ์หมิงเป็นต้นมา เจียงหนานมีผู้สอบได้เป็นจิ้นซื่อมากกว่าภาคอื่นๆ
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 4,44
(น.4) พิพิธภัณฑ์นครคุนหมิง สร้างเมื่อไรก็ไม่ทราบต้องกลับไปดูหนังสือนำเที่ยวอาจจะมีบอกไว้ แต่เรายังไม่เคยดู เมื่อมาคราวที่แล้วได้ไปแต่พิพิธภัณฑ์ชนเผ่า ที่ไปเพราะปีเตอร์บอกว่ามีเสา Dharani Pillar น่าสนใจ เสานี้สูง 6.6 เมตร มีบทความของ Louis Finot ที่ลงใน Bulletin EFEO อธิบายไว้ ดูรูปร่างคล้ายๆ เจดีย์จีน มี 9 ชั้น มีรูปจตุโลกบาล พระโพธิสัตว์ มีจารึกจีน และจารึกภาษาสันสกฤต ประพจน์ว่าเป็นคาถา ข้างบนเป็นหยดน้ำ ผู้อธิบายย้ำว่าไม่มีอิทธิพลนิกายทิเบต เป็นพุทธศาสนาแบบจีน แต่ดูๆ ก็เหมือนกับมีอิทธิพล เป็นสมบัติของเจ้าแห่งแคว้นต้าลี่ สร้างราวสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 937-1253) ดูเหมือนว่าเสาหินตั้งอยู่ตรงนี้นานแล้ว นครคุนหมิงสร้างพิพิธภัณฑ์คลุมทับเพื่อรักษาเสานี้
(น.44) วัดเจดีย์ 108 องค์ เขาเล่าว่ามีนักท่องเที่ยวชาวฮ่องกง ชาวไต้หวันมานมัสการกันมาก เล่ากันว่าถ้านับเจดีย์ครบ 108 แล้วจะหมดกังวล นักโบราณคดีบอกว่าโบราณสถานแห่งนี้เริ่มสร้างตั้งแต่สมัยที่พวกซีเซี่ยมีอำนาจมารุกรานจีนประมาณ 900 ปีมาแล้ว ตรงกับสมัยราชวงศ์ซ่ง
ใต้เมฆที่เมฆใต้
ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 86-87
(น.86) วัดพระเจดีย์ 3 องค์ หรือที่เรียกกันว่าวัดช่งเซิ่น วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยน่านเจ้า มีพระเจดีย์ 3 องค์อยู่ในวัด พระเจดีย์องค์แรกสร้างในสมัยราชวงศ์ถังราวปี ค.ศ. 823 มีรูปร่างสี่เหลี่ยม สูง 69 เมตร มี 16 ชั้น องค์เล็ก 2 องค์สร้างสมัยราชวงศ์ซ่ง สูง 43 เมตร 10 ชั้น รูปร่างแปดเหลี่ยม เกิดแผ่นดินไหวหลายครั้งในแถบนี้ เมืองและ
(น.87) สิ่งก่อสร้างต่างๆ ในวัดพังไปหมดแต่พระเจดีย์ยังอยู่ รัฐบาลจีนถือว่าเป็นโบราณสถานสำคัญระดับชาติ เมื่อปี ค.ศ. 1978 ขณะบูรณะขุดพบโบราณวัตถุถึง 689 ชิ้น
ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 118-119
(น.118) มหาวิทยาลัยยูนนาน
ห้องหนังสือเก่า มี 1,000 กว่าชื่อเรื่อง หนังสือชนชาติต่างๆ จากท้องถิ่น หนังสือราชการเก่าๆ สมัยราชวงศ์หมิงและชิง หนังสือแบบเรียนจีน แบบเรียนภาษาต่างประเทศ เช่น เกาหลี ญี่ปุ่น เวียดนาม สารานุกรมต่างประเทศ พจนานุกรมต่างๆ หนังสือชนิดต่างๆ หนังสือชนิดโบราณแบบเก่าแก่ มัดเอาไว้ เช่น หนังสือด้านประวัติศาสตร์ ในห้องมีเครื่องป้องกันไฟไหม้ และป้องกันโจรอัตโนมัติ เวลามีโจรมาลักของเสียงจะดัง ส่วนวิธีป้องกันหนอนและความชื้นข้างในหนังสือไม่ทราบว่าทำอย่างไร มีหนังสือประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์ซ่ง อายุ 800 กว่าปี ต้องเอามาปะในกระดาษอื่น ที่มหาวิทยาลัยยูนนานมีอยู่เล่มเดียว นอกจากนั้นมีหนังสือคำอธิบายคัมภีร์ซุนชิว หนังสือประวัติศาสตร์เกาหลี (เกาโกลี่) หนังสือประวัติศาสตร์ชุดนี้ทั่วโลกมีอยู่แค่ 3 ชุดเท่านั้น ที่เกาหลีใต้ก็มีไม่ครบ หนังสือโบราณทั้งหมดมี 162,000 เล่ม เล่มที่เก่าสุดมีอายุ 800 กว่าปี
(น.119) หนังสืออีกเล่มที่น่าสนใจเป็นหนังสือนิเวศวิทยาเล่มแรกของจีน มีลักษณะเป็นพจนานุกรมพฤกษศาสตร์ สมัยราชวงศ์ชิง จักรพรรดิคังซี ที่จริงตำราเล่มนี้เริ่มเขียนมาตั้งแต่สมัยซ่ง แบ่งเป็นแผนกๆ เช่น แผนกดอกไม้ มีดอกเหมย อธิบายว่ามีกี่ชนิด อะไรบ้าง อธิบายลักษณะและอธิบายด้วยว่าดอกไม้นี้เติบโตอยู่ในสวนธรรมดา
ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 209,211-213
(น.209)เขตการปกครองต่างๆ ของจีนทั้งในอดีตและปัจจุบันนั้น ผู้เขียนพยายามหาคำศัพท์ภาษาไทยที่มีความหมายใกล้เคียงสอดคล้องกับคำในภาษาจีน ในขณะเดียวกันก็หาศัพท์ที่คนไทยคุ้นเคย เพื่อสื่อความหมายให้ใกล้เคียงที่สุด และให้คนไทยเข้าใจได้ด้วย คำแปลเหล่านี้จึงเป็นเพียงการเสนอแนะของผู้เขียน เพื่อให้ผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้าทางด้านจีนวิทยาได้ช่วยกันอภิปรายพิจารณากันต่อไป
1. เขตการปกครองของจีนในอดีต
ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นชุมชน ศูนย์กลางของสังคมอยู่ที่หมู่บ้าน แล้วจึงค่อยๆ พัฒนามาเป็นสังคมเมืองที่มีการจัดระเบียบสังคมและการปกครองที่ซับซ้อนขึ้น จีนเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน การจัดระเบียบเขตการปกครองของจีนมีหลักฐานให้ศึกษาย้อนกลับไปได้ถึงสมัยชุนชิว (770-476 ปีก่อน ค.ศ.) ในสมัยนี้มีการจัดตั้งเขตการปกครองที่เรียกว่า “เสี้ยน” (Xian) หลังจากนั้นการจัดตั้งเขตการปกครองได้ปรับเปลี่ยนวิวัฒนาการสืบต่อมา จนกล่าวได้ว่าลงตัวในสมัยราชวงศ์ถัง ในสมัยราชวงศ์ซ่ง หยวน หมิง และชิง มีการปรับเปลี่ยนหรือมีการจัดเขตการปกครองที่ใช้เฉพาะสมัยบ้าง แต่ยังคงใช้โครงสร้างหลักสมัยราชวงศ์ถัง
(น.211) เขตการปกครองด้วย ในสมัยราชวงศ์ถังได้จัดเขตการปกครอง “เต้า” ขึ้นเป็นเขตการปกครองสูงสุดระดับมณฑล ในตอนแรกมี 10 เต้า ต่อมาเพิ่มเป็น 15 เต้า ในสมัยราชวงศ์ซ่งได้เปลี่ยนชื่อเขตการปกครองระดับมณฑลมาเป็น “ลู่” (路) มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ขอบเขตและการรวมอำนาจเข้าส่วนกลาง แต่แนวคิดก็ยังเป็นเขตการปกครองระดับมณฑลอยู่ ในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงได้จัดตั้งเขตการปกครอง “เต้า” ขึ้นอีก แต่มิได้อยู่ในฐานะของมณฑล หากมีฐานะกลางๆ ระหว่าง “มณฑล” และ “เมือง” ทำหน้าที่ตรวจตราราชการของเมืองในฐานะตัวแทนของมณฑล เช่น ในสมัยราชวงศ์ชิงที่มณฑลยูนนานได้จัดตั้ง “ผู่เอ๋อเต้า” ขึ้นที่ด้านเหนือของเชียงรุ่ง เพื่อกำกับดูแลสิบสองปันนาและหัวเมืองใกล้เคียง
1.5 ฝู่ (府) ความหมายเดิมของคำว่า “ฝู่” หมายถึง ทำเนียบ คฤหาสน์ของขุนนางผู้ใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้ในความหมายถึงเขตการปกครองด้วย ในสมัยราชวงศ์ถังได้จัดตั้งเขตการปกครอง “ฝู่” ขึ้น หมายถึง เมืองที่มีขนาดใหญ่และมีความสำคัญ ส่วนเมืองที่ขนาดรองลงมาเรียกว่า “โจว”
การแบ่งเมืองออกเป็นระดับต่างๆ นั้นไทยเราก็แบ่งเช่นกันเป็นเมืองเอก เมืองโท เมืองตรี เมืองจัตวา เมืองเอก เมืองโท เมืองตรีนั้นยังมีเมืองเล็กๆ เป็นเมืองบริวารมาขึ้นอยู่ด้วย ดังนั้น คำว่า “เมือง” ในความรับรู้ของคนไทยจึงสื่อความหมายถึง หน่วยการปกครองเหนือระดับหมู่บ้านขึ้นมาจนถึงประเทศ มีระดับของความเป็นเมืองต่างกัน และตรงกับคำภาษาอังกฤษหลายคำตั้งแต่ town, city จนถึง nation state เช่น เมืองบางละมุง เมืองมโนรมย์ (town) เมืองพิษณุโลก เมืองนครศรีธรรมราช (city) เมืองไทย เมืองจีน เมืองอังกฤษ (nation state)
(น.212) ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง มีทั้งโจวที่ขึ้นกับฝู่ และโจวที่มีฐานะเป็นเมืองอิสระ คำว่า “โจว” เป็นคำเก่าแก่ที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์การปกครองของจีน เช่นเดียวกับคำว่า “เสี้ยน” ทั้งสองคำนี้มีการปรับเปลี่ยนขอบเขตในแต่ละช่วงสมัย และยังเป็นคำที่ใช้อยู่ในการจัดระเบียบเขตการปกครองของจีนในปัจจุบัน คำว่า “ฝู่” ที่แปลว่า “เมือง” นี้ คนไทยออกเสียงเพี้ยนไปเป็น “ฟู” เช่น ต้าหลี่ฝู่ เป็น ตาลีฟู
1.6 ลู่ (路) ความหมายเดิมของคำว่า “ลู่” หมายถึง ทาง เส้นทาง ถนน ลู่ทาง แนวทาง แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้ในความหมายถึงเขตการปกครองด้วย ในสมัยราชวงศ์ซ่งได้จัดเขตการปกครอง “ลู่” ขึ้นเป็นเขตการปกครองสูงสุดระดับมณฑล แทนที่เต้าซึ่งได้จัดขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง การยุบเลิกเต้าเปลี่ยนมาเป็นลู่เป็นการปรับเปลี่ยนในแง่ของพื้นที่ขอบเขตและการรวมอำนาจเข้าส่วนกลาง แต่แนวคิดยังคงเป็นเขตการปกครองระดับมณฑล สมัยราชวงศ์ซ่งในตอนแรกมี 21 ลู่ ต่อมามีการปรับเปลี่ยนขึ้นลงเป็น 15 ลู่บ้าง 18 ลู่บ้าง และ 23 ลู่บ้าง ในสมัยราชวงศ์หยวนได้เปลี่ยนมาเรียกเขตการปกครองระดับมณฑลเป็น “สิงเสิ่ง” หรือ “เสิ่ง” ส่วนคำว่า “ลู่” หมายถึง เขตการปกครองที่รองลงมาและขึ้นกับเสิ่ง “ลู่” ในสมัยราชวงศ์หยวนเทียบเท่า “ฝู่” ในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ถึงสมัยราชวงศ์หมิงได้ยุบเลิก “ลู่” เปลี่ยนมาตั้ง “เต้า” ขึ้นมาแทน เป็นหน่วยการปกครองที่อยู่กึ่งกลางระหว่างมณฑลและเมืองดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
1.7 จวิน (军) ความหมายเดิมของคำว่า “จวิน” หมายถึง ทหาร กองทัพ และเป็นคำนามที่ใช้ประกอบกับคำอื่นๆ ในการจัดระเบียบหน่วยการปกครองของกองทัพมาตั้งแต่สมัยชุนชิว แต่
(น.213) ในสมัยราชวงศ์ซ่งได้ใช้ความหมายถึงเขตการปกครองด้วย จวินเป็นหน่วยการปกครองที่ตั้งขึ้นเฉพาะในราชวงศ์นี้ มีอยู่ 2 ประเภท ประเภทแรกมีฐานะระดับเดียวกับฝู่ โจว และเจี้ยน ขึ้นกับลู่ ส่วนอีกประเภทหนึ่งมีฐานะระดับเดียวกับเสี้ยน ขึ้นกับฝู่หรือโจว หลังสมัยราชวงศ์ซ่ง จวินถูกยุบเลิกไป
1.8 เจี้ยน (监) ความหมายเดิมของคำว่า “เจี้ยน” หากเป็นคำกริยา แปลว่า ควบคุม หากเป็นคำนาม แปลว่า ขุนนาง แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้ในความหมายถึงเขตการปกครองด้วย เจี้ยนก็เช่นเดียวกับจวิน กล่าวคือ เป็นหน่วยการปกครองที่ตั้งขึ้นเฉพาะในสมัยราชวงศ์ซ่ง เจี้ยนจะจัดตั้งในอาณาบริเวณที่เป็นเขตเศรษฐกิจ เช่น บ่อเกลือ เหมืองแร่ ทุ่งเลี้ยงม้า แหล่งหลอมเงินตรา เป็นต้น เจี้ยนมี 2 ประเภทเช่นกัน ประเภทแรกมีฐานะระดับเดียวกับฝู่หรือโจว ขึ้นกับลู่ ส่วนอีกประเภทหนึ่งมีฐานะระดับเดียวกับเสี้ยน ขึ้นกับฝู่หรือโจว หลังสมัยราชวงศ์ซ่งเจี้ยนถูกยุบเลิกไป
มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 19
(น.19) ปี้หยุนซื่อหรือวัดพระอรหันต์ 500 องค์ ในเขตวนอุทยานเซียงซาน (ภูเขาหอม) รูปพระบ้าซึ่งเป็นคนไม่สมประกอบ แต่มีคุณความดีคือสังหารฉินกุ้ย ขุนนางกังฉินที่รับสินบนจากพวกจินหรือพวกกิมก๊ก แล้ววางแผนใส่ร้ายแม่ทัพเย่วเฟยหรืองักฮุย จนจักรพรรดิซ่งเกาจงมีรับสั่งให้ประหารชีวิตเยว่เฟยในค.ศ. 1411 ประชาชนจึงรักนับถือพระบ้าองค์นี้มาก และถือว่าคนเราถึงจะไม่สมประกอบ แต่ว่ามีความตั้งใจจริงจะประสบความสำเร็จได้
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 73
(น.73) สมัยราชวงศ์ซ่ง (ซ้อง) มีเส้นทางแพรไหมทางทะเล ทำให้เส้นทางบกลดบทบาทลง เส้นทางแพรไหมทางทะเลนั้นรุ่งเรืองอยู่ที่มณฑลฟูเจี้ยน(ฮกเกี้ยน) และกว่างตง (กวางตุ้ง) ต่อไปที่สิงคโปร์ ลังกา แอฟริกา และยุโรปตะวันตก
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 122
(น.122) หอระฆังเป็นโบราณสถานมีชื่อ สร้างขึ้นสมัยราชวงศ์ซ่ง เกือบ 800 ปีมาแล้ว ระฆังใบนี้มีน้ำหนัก 10 ตัน ตอนนี้แตกแล้ว แต่ตอนที่ยังดีอยู่ตีได้ยินไปไกล 10 กว่าลี้ ข้างบนทำเป็นรูปมังกร พระจะตีระฆังนี้ทุกวัน ตอนเช้าชาวบ้านได้ยินเสียงระฆังก็รีบออกมาทำนา สำหรับกวีบอกว่าเสียงระฆังทำให้มีบรรยากาศในการเขียนบทกวีดีขึ้น
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 137
(น.137) สมัยราชวงศ์ซ่ง ค.ศ. 960 – 1297 แสดงเครื่องเคลือบต่าง ๆ
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 370
(น.370) รายพระนามพระจักรพรรดิที่กล่าวถึงใน “มุ่งไกลในรอยทราย” และปีที่ครองราชย์
ราชวงศ์ซ่ง ซ่งเกาจง ค.ศ. 1127 – 1162
เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก
เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 101-103
(น.101) รูป 107 เรื่องปลาหลีฮื้อทอง
Chinese opera: the Golden Fish.
(น.101) เรื่องปลาหลีฮื้อเทวดาในอ่างหยก เป็นเรื่องงิ้วที่แต่งขึ้นมาไม่นานนัก (ประมาณเกือบ 30 ปี) แต่สมมติว่าเกิดในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ.960-1279) บัณฑิตจังเจินเดินทางไปเมืองไคเฟิง (เปี้ยนเหลียง) เพื่อไปแต่งงาน แต่ก่อนจังเจินเคยร่ำรวย แต่ภายหลังยากจนลง เมื่อไปถึง จิงฉง บิดาของโบตั๋นคู่หมั้น ไม่ให้พบลูกสาว ให้ไปอยู่ที่บ้านสำหรับอ่านหนังสือของครอบครัวที่อยู่ริมอ่างหยก มีคนใช้มาส่งอาหาร
(น.102) กล่าวถึงปลาหลีฮื้อ เป็นศิษย์ของเจ้าแม่กวนอิม บำเพ็ญตบะมา 3,000 ปี จนมีฤทธิ์ ลาเจ้าแม่กวนอิมเพื่อแสวงหาความรักในโลกมนุษย์ เจ้าแม่กวนอิมเตือนว่าชีวิตในโลกมนุษย์ยากลำบาก ไม่ได้หวานชื่นอะไรเลย แต่เมื่ออยากจะไปก็ไป เมื่อเจอของจริงเข้า ก็จะหนีกลับมาหาเจ้าแม่กวนอิมเอง (มาบำเพ็ญตบะต่อ)
เมื่อมาโลกมนุษย์ปลาหลีฮื้อก็มาอยู่ในอ่างหยก ได้ทราบความในใจของจังเจิน จึงแปลงกายเป็นโบตั๋นมาอยู่กินเป็นสามีภรรยากับจังเจิน เมื่อถึงเทศกาลหยวนเซียว มีการประดับตกแต่งโคมไฟ ทั้ง 2 สามีภรรยาก็ไปเที่ยวงานเจอจินฉงกับลูกสาว ไม่มีใครบอกได้ว่าคนไหนเป็นตัวจริงคนไหนเป็นตัวปลอม จินฉงจึงตัดสินใจไปให้เปาบุ้นจิ้นตัดสิน เต่าวิเศษที่เป็นเพื่อนปลาหลีฮื้อ กลัวปลาหลีฮื้อผิดหวังในความรัก จึงแปลงกายเป็นท่านเปา ชวนปูวิเศษกับกุ้งวิเศษแปลงตัวเป็นผู้ช่วย เมื่อไปถึงศาลทุกคนก็งงกันไปหมดว่าใครเป็นตัวจริงตัวปลอม ในที่สุดช่วยกันตัดสิน จับได้ว่าใครเป็นตัวจริงตัวปลอม โบตั๋นตัวจริงไม่ได้รักจังเจิน ใครๆ เห็นใจในความรักของ
(น.103) ปลา จะให้แต่งงานกัน แต่ปีศาจเอ้อหลัง คือ ปีศาจหมาป่ามาขัดขวางว่า เป็นอมนุษย์ไม่ควรแต่งงานกับมนุษย์ กวนอิมมาบอกว่า ถ้าเด็ดเอาเกล็ด 3 เกล็ดออก จะกลายเป็นคน แต่ต้องเจ็บปวดมาก ให้คิดให้ดีว่าจะละความเพียรซึ่งทำมา 3,000 ปี เสียความเป็นอมตะ ปลาหลีฮื้อบอกว่าเป็นอมตะ โดนปราศจากความรักก็ไม่มีประโยชน์ ในที่สุดก็ไปอยู่กับคนรัก happy ending
เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 236
(น.236) เรื่องจีนโบราณสมัยราชวงศ์ซ่งเล่าว่า มีศิลปินคนหนึ่งชื่อว่า เหวินถง เป็นคนที่ชอบเขียนรูปไผ่เป็นพิเศษ เขาปลูกต้นไผ่ไว้มากมายในสวนของเขาเพื่อจะได้ดูขั้นตอนการเจริญเติบโตของไผ่ และลักษณะของต้นไผ่ในฤดูกาลต่างๆ เขารู้จักไผ่ดีจนกระทั่งหยิบพู่กันขึ้นมาครั้งใด ก็มีภาพต้นไผ่อยู่ในสมอง จึงสามารถเขียนไผ่ได้เหมือนกับต้นไผ่จริง เรื่องนี้เป็นที่มาของคำพังเพยว่า ซยง โหย่ว เฉิง จยู๋ แปลว่า วางแผนการเอาไว้เรียบร้อย (ข้าพเจ้าคิดจะปลูกไผ่เอาไว้ดูเหมือนกัน)
ย่ำแดนมังกร
ย่ำแดนมังกร หน้า 126
(น.126) วัดอรหันต์ห้าร้อย เขาบอกว่าพระอรหันต์แต่ละองค์ทำด้วยไม้ มีวัดพระนอน สมัยราชวงศ์ซ้อง สมัยนั้นอยู่ที่ เหอหนาน อีกทางมีวัด ลามะ แถวนั้นเป็นที่ฝังศพของท่าน ซุนยัดเซ็น เขาเล่าว่าตอนที่ท่าน ซุนยัดเซ็น ถึงแก่อนิจกรรมนั้น โซเวียตส่งโลงศพทำด้วยตะกั่วมาให้
ย่ำแดนมังกร หน้า 145
(น.145) เฉิงตู เป็นเมืองเก่า มีกวีจำนวนมากเขียนบทกลอนพรรณนาเอาไว้ ท่านยกตัวอย่าง มีกวีสมัยฮั่นชื่อ หยางฉยุง (เขียนถูกหรือเปล่าก็ไม่รู้) หลี่ไป๋ ไป๋จูอี้ ตู้ฝู่ กวีสมัยราชวงศ์ ถัง และ ซูตงโพ กวีสมัยซ้อง ที่ เฉิงตู (นครหลวงของมณฑลเสฉวน) ยังมีที่พักของ ตู้ฝู่ และ หลี่ไป๋ จีนมีหนังสือรวมบทกวีของกวีหลายสมัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์ถัง
Next >>