Please wait...

<< Back

ราชวงศ์ซ่ง

ย่ำแดนมังกร หน้า 213

(น.213) อาคารเก็บศิลาจารึกหรือ ป่าจารึก (เปยหลิน) เห็นนกกระจอกเอาหญ้ามาทำรังบนหลังคา ภัณฑารักษ์เขาบอกว่าไม่รู้จะทำอย่างไรดี นกพวกนี้บางทีมาถ่ายมูลรดหลังคา ในขี้นกมีเมล็ดหญ้าปนอยู่ด้วย หญ้าก็งอกบนหลังคาต้องคอยถอนกันเรื่อยๆ ป่าจารึกนี้เป็นที่รวบรวมศิลาจารึกทั้งหมดหลานสมัย ตั้งแต่สมัย ฮั่น ถัง ซ้อง เช่น บทเรียน 12 เล่ม (จารึก 12 แผ่น) ของสมัยโบราณเขาจะจารึกใส่หินและวางไว้ในห้องสมุด ให้นักเรียนไปคัดเอาเอง จีนรวบรวมหนังสือเรียนถึง 7 ครั้ง มาสมบูรณ์ที่สุดในสมัยราชวงศ์ ถัง มีตัวหนังสือถึง 6 แสน 5 หมื่นกว่าตัว ฐานของจารึกทำเป็นรูปเต่า ลายที่กระดองของเต่าแต่ละตัวทำไม่เหมือนกันเลย จีนถือว่าเต่าเป็นสัญลักษณ์ของความมีอายุยืน เขาเอาคนที่ลายมือสวยในราชวงศ์ ถัง เขียน ฉะนั้นคนที่จะฝึกหัดคัดลายมือ เขาจะถือลายมือในจารึกที่อยู่ในเปยหลินนี้เป็นหลัก แม้แต่ลายมือของท่านประธาน เหมาเจ๋อตง เขาก็ว่าเลียนแบบจากจารึกสมัยราชวงศ์ ฮั่น (เป็นลายมือหวัดที่ดีที่สุด) มีบางคนว่าสมัยจิ้น

ย่ำแดนมังกร หน้า 324-325

(น.324) โรงงิ้ว
เรื่องแรกเรื่องการเอาชนะ เจียวจ้าน มีเรื่องย่อว่าในสมัยราชวงศ์ ซ้อง เกิดมีศึกทางชายแดนทางภาคเหนือ หยางเหยนเจา ซึ่งเป็นแม่ทัพได้ส่งนายพล เมิ่งเหลียง (หนวดสีแดง) กลับไปที่เมืองหลวงเพื่อไปขอกำลังเพิ่ม เมิ่งเหลียงเลือกเด็กรับใช้ในครัว

(น.325) คนหนึ่งชื่อ หยางผายเฟิง เป็นแม่ทัพ นายพลอีกคนคือ นายพล เจียวจ้าน (หนวดดำ) ดูถูกหยางผายเฟิงว่าเป็นผู้หญิงจะทำอะไรได้ จึงทดลองประลองยุทธ์กัน หยางผายเฟิงเก่งจริงๆ กระโดดตีลังกาไปมา หยางผายเฟิงแกล้งทำแพ้ 3 ครั้ง อีกครั้งจึงจะชนะ ในระหว่างการแสดงมีดนตรี เวลาคนแสดงร้องอะไรออกมาคำหนึ่งก็จะมีเสียงตีม้าล่อดังแผ่งๆๆๆ อยู่สักพัก ก็มีดนตรีประกอบ มีปี่ ซออู้ พิณรับ ท่าทางงิ้วชอบทำท่าชี้นิ้วสองนิ้ว คงจะเป็นทำนองวิทยายุทธ์ หรือเลียะพะ หรือจะเป็นมวยจีนก็ไม่ทราบ มีสู้ด้วยทวน ที่ตลกคือมีการเคาะพุงกันด้วย เผลอๆ ก็ร้องดังไอ๊ย่า สำหรับไอ้ตัวหนวดยาวเวลาครุ่นคิดก็ต้องมีการลูบหนวดด้วย ผู้ชายรู้สึกจะใส่หน้ากากบางส่วน บางคนก็บอกว่าไม่ได้ใส่ เป็นการแต่งหน้าผู้หญิงไม่ได้ใส่แต่ใช้วิธีแสดงความรู้สึกด้วยการกลอกตาไปมา

เย็นสบายชายน้ำ
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 11

(น.11) คำว่า ฉงชิ่ง หมายถึง การเฉลิมฉลองสิริมงคลสองครั้ง เรื่องมีอยู่ว่าพระจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ซ่งใต้ประสูติที่นี่ แล้วได้รับการสถาปนาเป็นพระเจ้ากงตี้ (ครองราชย์ ค.ศ. 1275 - 1276) ได้สืบราชสมบัติ ทรงถือว่าเป็นโชคสิริมงคลสองชั้น

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 19,23

(น.19) เป๋าติ่งซาน ซุ้มหน้าประตูเขียนชื่อภูเขาเป๋าติ่ง เป็นลายมือของท่านเจ้าผู่ชู นายกพุทธสมาคมจีน การแกะสลักภูเขานี้ราว ค.ศ. 1179 - 1249 (ราชวงศ์ซ่ง) ในช่วงเวลาเพียง 70 ปีนี้ แกะรูปพระและรูปอื่นๆ ได้ถึง 10,000 รูป ศิลาจารึกในบริเวณนี้มีทั้งสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงกล่าวถึงรายชื่อผู้ที่บริจาคเงินบำรุงหรือซ่อมสร้างรูปสลักต่างๆ

(น.23) ในถ้ำนั้นอาจารย์กัวอธิบายว่า เป็นภาพพระโพธิสัตว์ อยู่ 2 ข้างพระพุทธเจ้า ข้างละ 6 องค์ รวมแล้วมี 12 องค์ แต่ละองค์มาถามธรรมะ พระพุทธเจ้าทรงเฉลยข้อสงสัย คำไขข้อธรรมะของพระพุทธองค์ รวมแล้วเป็นพระสูตร สันนิษฐานว่าเป็นอวตังสกสูตร ภาพในถ้ำนี้อยู่ในสภาพที่ดีมาก ถึงสีจะลอกไปบ้างแต่สภาพทั่วไปเรียกว่าดี 90% ศิลปะของถ้ำนี้เป็นแบบราชวงศ์ซ่ง ยังมีอิทธิพลของราชวงศ์ถังคือ อ้วนๆ หน้าปากถ้ำมีสิงโต ซึ่งถือเป็นสัตว์สวรรค์ในจินตนาการคือว่าจะเฝ้าสถานที่ประกอบพิธีศาสนา

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 177,179

(น.177) หอนกกระเรียนเหลือง

ไปที่ห้องหนึ่ง ซึ่งทำหอจำลองนกกระเรียนเหลืองในสมัยต่างๆ เล่าประวัติว่าหอนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสามก๊กประมาณ ค.ศ. 223 ซุนกวนสร้างเป็นหอดูข้าศึก เขาเล่าเรื่องสามก๊กตอนเล่าปี่ตีกังตั๋ง เรื่องกวนอูฆ่าตัวตาย
สมัยราชวงศ์ถัง เป็นสถานที่ใหญ่โตหรูหรา มีหลายตึก
สมัยราชวงศ์ซ่ง ก็ใหญ่เหมือนราชวงศ์ถัง
สมัยราชวงศ์หยวน ใช้ในทางยุทธศาสตร์อย่างแท้จริงคือ เอาไว้ดูข้าศึก

(น.179) ฝาห้องติดลายมือเขียนต่างๆ มีบทประพันธ์ของนักปราชญ์สมัยราชวงศ์ถัง ใช้ตัวอักษร 246 ตัว รำลึกถึงการสร้างหอนี้ในสมัยราชวงศ์ถัง มีหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับประวัติของหอนี้ไว้ด้วย ข้างบน ได้เห็นว่าหอนี้สร้างด้วยเหล็กกล้าผสมคอนกรีต แม้แต่หน้าต่างประตูก็เป็นเหล็กดัด แต่ทำเหมือนไม้ทาสีแดงแบบเก๋งจีน มีรูปกวีต่างๆ เช่น ลู่โหยว สมัยราชวงศ์ซ่ง งักฮุย (เยว่เฟย) สมัยราชวงศ์ซ่ง เลี้ยงเสือดำ ที่จริงไม่ได้มีประวัติว่างักฮุยเลี้ยงเสือดำ แต่เป็นการเปรียบเทียบว่าสังคมมืดมิด สมัยราชวงศ์ถังมีกวี เช่น เมิ่งฮ่าวหราน หลี่ไป๋ ตู้ฝู่ ตู้มู่ ชุยเฮ่า หวังเหวย ไป๋จูอี้ กวีแต่ละคนก็มีบทกวีที่คนเองแต่งเขียนไว้ ทุกคนเขียนบทกวีเกี่ยวกับหอนกกระเรียนเหลืองนี้

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 203,205

(น.203) ในวรรณคดีจีนนั้น บทกวีสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่งเป็นคำสั้น ๆ ที่สรุปสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในจีนได้ดีที่สุด เกี่ยวกับซานเสียนั้น หลี่ไป๋แต่งบทกวีมีชื่อเสียง เคยท่องได้เมื่ออายุ 10 ปี ก็ไม่ค่อยเข้าใจ เมื่อเวลาผ่านไปจึงเข้าใจลึกซึ้งขึ้น (ท่านท่องบทกวีเดินทางจากเมืองไป๋ตี้แต่เช้าให้ฟัง) หลี่ไป๋ยังได้ไปที่หอนกกระเรียนเหลือง ท่านท่องบทกวี ที่หอนกกระเรียนเหลืองส่งเมิ่งฮ่าวหรานไปกว่างหลิง ของหลี่ไป๋ให้ฟัง

(น.205) ราชวงศ์ถังมีบทกวีมีชื่อ แต่ที่เห็นที่ฝาผนังเป็นบทกวีสมัยราชวงศ์ซ่ง เป็นฉือไม่ใช่ซือ เรื่องที่กวีพูดเปรียบเสมือนกรณีของประเทศกำลังพัฒนา เรื่องการพัฒนาและสันติภาพเป็นเรื่องสำคัญที่สุด บทนี้ซูตงโพเป็นคนแต่ง ยืนดูพระจันทร์แล้วคิดถึงน้องชาย บทกวีไม่ว่าของชาติไหนๆ มักมีความหมายลึกซึ้ง

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 215

(น.215) เรื่องสุริยุปราคา จันทรุปราคา มีบันทึกอยู่ในหนังสือโบราณของจีน ตั้งแต่สมัยชุนชิวไปจนถึงราชวงศ์ชิง ดาวหางแบ่งเป็น 29 ประเภท สะเก็ดดาวและอุกกาบาต Nova and Supernova ดาวเหนือบอกฤดู กลุ่มดาว 28 กลุ่ม โครงสร้างจักรวาล (cosmic structure) โหราศาสตร์ แผนที่ดาวสมัยราชวงศ์ถัง (ถ่ายรูปมา ของจริงอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ในลอนดอน) แผนที่ดาวสมัยราชวงศ์ซ่ง (ของจริงอยู่ที่ซูโจว)

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 305-309

(น.305) พู่กันที่มีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์ถังและซ่งคือ พู่กันฝีมือจูเก๋อ เรียกกันว่า พู่กันจูเก๋อ ราชวงศ์หยวนมีพู่กันฝีมือจางจิ้นจงและเฝิงยิ่งเคอ ราชวงศ์หมิงมีพู่กันของลู่จี้เวิง จางเหวินกุ้ย และราชวงศ์ชิงมีพู่กันฝีมือซุนจือฟาและเฮ่อเหลียงชิง แหล่งผลิตพู่กันที่มีชื่อสมัยราชวงศ์ถังและซ่งคือ เมืองซวนเฉิง มณฑลอันฮุย สมัยราชวงศ์หยวนนิยมพู่กันที่ทำจากตำบลซ่านเหลียนสั่ว อำเภออู๋ซิ่ง มณฑลเจ้อเจียง เดิมอำเภอนี้เรียกว่า เมือง

(น.306) หูโจว พู่กันที่ทำที่เมืองนี้จึงเรียกกันว่า หูปี่ นับถือกันว่ามีคุณสมบัติเป็นเลิศครบ 4 ประการคือ หัวพู่กันกลมมน ขนพู่เสมอกัน ด้ามแข็งแรง ปลายแหลมคม พู่กันนี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า เหมิงซี เป็นอนุสรณ์แด่เหมิงเถียนผู้ประดิษฐ์พู่กันชนิดใช้ขนสัตว์เป็นพู่ การผลิตพู่กันที่เมืองนี้เจริญรุ่งเรืองมาก และทำส่งใช้ในราชสำนักด้วย พู่กันมีหลายขนาด ที่ใช้เขียนหนังสือตัวโตๆ เรียกว่า โต้วปี่ หัวพู่กันใหญ่ ขนหนา อุ้มน้ำหมึกได้มาก ขนาดมีลดหลั่นกันลงมาจนถึงขนาดเล็กปลายแหลมมาก พระเจ้าหย่งเจิ้ง ราชวงศ์ชิงโปรดทรงใช้พู่กันขนาดเล็กชื่อเสี่ยวจื่อหยิ่ง ปลายแหลม แต่พู่แตกง่าย เมื่อทรงพระอักษรแต่ละครั้งจึงต้องทรงใช้พู่กันเป็นร้อยๆ ด้ามทีเดียว
หมึก (โม่)
การใช้หมึกน่าจะมีมาแล้วตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชาง ในการขุดค้นสุสานสมัยจ้านกว๋อและสมัยฮั่นพบหมึกก้อนฝังอยู่ด้วย ตรงกับที่หนังสือจวงจื่อว่าในสมัยชุนชิวจ้านกว๋อมีหมึกใช้กันแพร่หลายแล้ว แต่เดิมชาวจีนใช้พู่กันจุ่มรักเขียนหนังสือ ต่อมาจึงรู้จักทำหมึกใช้ มีการขุดพบกระบอกไม้ไผ่โบราณ มีตัวอักษรที่ใช้รักปนกับที่ใช้หมึก ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เริ่มทำหมึกนั้นมีกล่าวไว้ต่างๆ กันไปไม่เป็นที่ยุติ ในหนังสือต่างๆ กล่าวถึงผู้ผลิตหมึกที่มีชื่อเสียงในสมัยต่างๆ เช่น สมัยสามก๊ก เหวยต้าน ชาวเว่ย ผลิตหมึกคุณภาพเยี่ยม สีประดุจรัก สมัยราชวงศ์จิ้นมีหมึกของจางจิ้น ราชวงศ์ซ่งมีหมึกของจางหย่ง หลิวฝาในราชวงศ์จิน หูเหวินจงในราชวงศ์หยวน หลอหลงเหวิน เฉินจนฝัง หูคายหยวน ฯลฯ ในราชวงศ์หมิงและชิง ตระกูลเหล่านี้ต่างก็จัดทำหนังสือเรื่องการผลิตหมึก มีภาพแสดงหมึกแบบ

(น.307) ต่างๆ เป็นการแข่งขันทางการค้า เป็นผลงานที่เหลือตกทอดมาถึงรุ่นหลัง

(น.308) กระดาษที่มีชื่อเสียงอื่นๆ มีกระดาษของต้วนเฉิงซื่อ เมืองจิ่วเจียง เรียกกันว่า หยุนหลานจื่อ มีผู้นิยมใช้มาก นอกจากนี้ที่เสฉวนมีกระดาษที่มีชื่อเสียงหลายอย่าง ที่นิยมมากคือ กระดาษสีแดงที่นางคณิกาเสวียเถาคิดผลิตขึ้นเรียกว่า เสวียเถาเจียน กวีและจิตรกรนิยมใช้เขียนจดหมาย โคลงกลอน วาดภาพ ตู้มู่ ไป๋จู้อี้ หลิวอวี้ก็ชอบใช้กระดาษชนิดนี้ สมัยราชวงศ์ซ่งกระดาษที่นิยมกันคือกระดาษของเฉินซินถัง กระดาษนี้เนื้อขาวละเอียดเป็นมันเงา ราชวงศ์ชิงมีกระดาษที่ทำจากนุ่นและจากต้นไผ่

(น.309) แท่นฝนหมึก (เอี้ยน)
ชาวจีนเริ่มใช้แท่นฝนหมึกเมื่อไรไม่มีใครทราบ มีหนังสือเล่มหนึ่งกล่าวว่า ในราชวงศ์ฮั่นมีใช้แล้ว เดิมชาวจีนใช้มีดแกะสลักตัวอักษร หรือใช้พู่กันจุ่มรักเขียนไม่ต้องใช้แท่นฝนหมึก เมื่อนิยมทำหมึกเป็นก้อน เป็นแท่งจากตะกั่วดำก็ใช้อิฐหรือกระเบื้องแผ่นเป็นที่ฝนเพราะแท่งหมึกอ่อน ต่อมาทำหมึกจากวัสดุอื่น หมึกแข็งขึ้นจึงเริ่มใช้หินทำที่ฝน แหล่งหินฝนหมึกที่มีชื่อคือ ที่เมืองตวนซี มณฑลกวางตุ้ง มีภูเขาลูกหนึ่งชื่อฝู่เคอซาน มีผาหินสีม่วงเมื่อแช่น้ำจะเป็นสีเขียวแก่ ยอดเขามีหินสีแดงเป็นหินที่ถือว่าเป็นยอดแห่งหินฝนหมึก หินจากผามีเนื้อละเอียดชุ่มชื้นเงามัน ลวดลายงาม ฝนหมึกออกได้มาก สึกช้า สมัยราชวงศ์ถังและซ่งถึงกับมีการตั้งข้าราชการมาดูแลการผลิตเพื่อนำส่งราชสำนักโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีแหล่งหินเมืองเส่อ เริ่มผลิตสมัยราชวงศ์ถังเช่นกัน คุณภาพหินเหมือนเมืองตวนซี แต่สมัยราชวงศ์ซ่งใช้หินที่นี่มากจนแหล่งหินหมดสิ้น

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 50-52,56-58,68

(น.50) สุสานมเหสีหมิ่น มีตุ๊กตาคนรับใช้ตัวเล็กๆ ตัวเป็นคนหน้าเป็นสัตว์ 12 ราศี (บางตัวเล็กกว่าตุ๊กตาสุสานที่เห็นของราชวงศ์ฮั่น) เรือ (จำลอง) แบบที่ใช้ในการค้าขายต่างประเทศสมัยราชวงศ์ซ่ง คริสต์ศตวรรษที่ 12

(น.51) สุสานของผู้หญิงสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ต่อราชวงศ์หยวน เสียชีวิตอายุ 17 ปี บิดามารดาของผู้หญิงคนนี้เป็นข้าราชการชั้นสูง ประจำด่านเมืองเฉวียนโจว
มีเสื้อผ้าทำด้วยไหม สภาพยังดี มีกางเกงขนาดกางเกงเด็ก
ในสุสานนี้พบโบราณวัตถุ 300 กว่าชิ้น
ภาชนะเงินสมัยราชวงศ์ซ่ง ชิ้นหนึ่งเป็นถ้วยเงิน จารึกตัวอักษรเล่าความรู้สึกที่สอบจอหงวนได้ ถาดของถ้วยนี้จารึกเป็นรูปอาคาร
ภาพสะพานลั่วหยัง เป็นสะพานที่สร้างขึ้นสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ต่อกับราชวงศ์หยวน เป็นสะพานหินข้ามแม่น้ำลั่วหยัง จากเฉวียนโจว ไปฮุ่ยอาน
สมัยที่มีการติดต่อกับต่างประเทศอย่างเต็มที่คือ สมัยราชวงศ์ซ่ง พบสิ่งของต่างๆ ที่มาจากสุเหร่า แผ่นจารึกภาษาอาหรับ สิ่งของจากโบสถ์คริสต์ศาสนา เทวรูปศาสนาฮินดู (สันนิษฐานว่าเป็นนางทุรคา) ศาสนามานีเคี่ยน (Manichean) จากเปอร์เซีย ภาษาจีนเรียกว่า หมิงเจี้ยว (ภาษาแต้จิ๋ว เรียกว่า เม้งก่า)



(น.51) รูป

(น.52) สมัยราชวงศ์ซ่งถือเป็นจุดสุดยอดของการศึกษาแบบประเพณี การศึกษาเจริญมาก มีบุคคลสำคัญหลายท่าน เช่น หลี่กัง นักปรัชญาจูซี
แสดงแท่นฝนหมึกแบบต่างๆ กระจกทองแดง (สำริด?) รูปเซียนข้ามสมุทร
ลัทธิเต๋า สมัยราชวงศ์ซ่งต่อกับราชวงศ์หยวน
สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644) นายพลเจิ้งเหอ เดินเรือไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเทียบเรือที่มณฑลฝูเจี้ยน สร้างระฆังใบหนึ่งไว้เป็นที่ระลึก มีอักษรสลักและมีลวดลายปากั้ว เป็นศิลปะสมัยหมิงที่เลียนแบบซ่ง

(น.56) ลงไปชั้นล่างเป็นภาพโบราณตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งถึงราชวงศ์ชิง ภาพของจินหนง (ค.ศ. 1687-1764) สมัยราชวงศ์ชิง เป็นคนหยังโจว อยู่ในกลุ่มจิตรกรแปลกประหลาดทั้ง 8 แห่งหยังโจว ภาพของจินหนงหายาก ส่วนมากจะเป็นฝีมือลูกศิษย์ แต่ภาพนี้ของจินหนงจริงๆ
เจิ้งไหน่กวง (ค.ศ. 1912-?) ชาวฝูเจี้ยน
สีว์เป่ยหง เขียนภาพม้า
หวงเซิ่น (ค.ศ. 1687-1770) ภาพคนแก่กำลังปลดปลาออกจากเบ็ด
จิตรกร 4 คน ร่วมกันเขียนภาพเขาหวงซาน (น.57) หลี่เขอหร่าน เขียนรูปเขาจิ่งกังซานในมณฑลเจียงซี

รูปดอกเหมย หงส์ ปลา ฯลฯ เป็นภาพใหญ่ กว้างกว่ารูปที่ใหญ่ที่สุดในพระราชวังหลวงปักกิ่ง ผู้เขียนชื่อ หลี่ว์จี้ ลงไปชั้นล่าง มีรูปต้อนควายเวลาหน้าหนาว สมัยราชวงศ์ซ่ง เป็นรูปที่เก่าแก่ที่สุดในพิพิธภัณฑ์นี้ ไม่ทราบมาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์เมื่อไร ใครเขียน

(น.58) ห้องต่อไปที่ดูคือ เรื่องการแสดงในมณฑลฝูเจี้ยน งิ้วมีหลายประเภท แม้แต่ในมณฑลฝูเจี้ยนเท่านั้นก็มีหลายแบบ งิ้วเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งและหยวน มีงิ้วแบบผู่เซียน (อยู่ใต้ฝูโจวประมาณ 100 กิโลเมตร) หลีหยวน (แถวๆ เฉวียนโจว) สมัยราชวงศ์หมิง ราชวงศ์ชิง จึงมีงิ้วเกาเจี่ย งิ้วหมิ่น งิ้วเซียง (แถวฮกเกี้ยนตอนใต้นิยมเล่นกันจนถึงปัจจุบันและแพร่ไปที่ไต้หวัน)

((น.65) ข. สมัยราชวงศ์ซ่ง ราชวงศ์หยวน การค้าส่งเครื่องถ้วยไปต่างประเทศรุ่งเรือง มีเตาเผามากขึ้นขยายเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ มีการเผาเคลือบ 3 แบบ
เตาหลงเฉวียน เคลือบสีน้ำเงิน
เตาเจี้ยน เคลือบดำ (ส่งขายญี่ปุ่น)

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 93-95

(น.93) แล่นรถไปตามอู่อี๋ซานไปหยุดที่พิพิธภัณฑ์ในพื้นที่ (site museum) เป็นเตาเผาเซรามิก ชื่อ อวี้หลินถิง สมัยราชวงศ์ซ่ง ในกำหนดการใช้คำว่าโรงงาน พวกเราฝ่ายที่เป็นนักซื้อถึงกับเตรียมเงินจะซื้อเครื่องปั้นดินเผากัน แต่ไม่มีของขาย

(น.94) เครื่องเคลือบดินเผาจากเตานี้เป็นที่นิยมทั่วไปในจีนและญี่ปุ่น รวมทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เตาตรงนี้ขุดค้นพบใน ค.ศ. 1998 จึงจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ 2 ส่วน คือ ส่วนที่เรามาดูนี้มีคำอธิบายต่างๆ ทั้งภาษาจีนและอังกฤษ ถ่ายรูปเมื่อขุดพบเตา และอธิบายขั้นตอนการผลิต การขุดแต่ง ขุดค้นบริเวณเตา สิ่งที่พบ ชามต่างๆ เครื่องเคลือบดินเผาที่ญี่ปุ่นชอบใช้ในพิธีชงชา เขาถ่ายรูปและอธิบายสภาพภูมิศาสตร์และสภาพแวดล้อมบริเวณนี้ มีบ่อน้ำพุซันเตี๋ย มีรูปสะพานโบราณสำหรับขนส่งของไปทางมณฑลเจียงซี มณฑลเจ้อเจียง สมัยราชวงศ์ซ่ง เขาพบบ่อน้ำที่ใช้ทำเครื่องถ้วย เมืองตรงนั้นพบซ้อนกันหลายชั้น

(น.95) ของที่ใช้ในพิธีชงชามักเป็นเครื่องเคลือบสีดำมีจุดเงินทอง เชื่อว่าใส่ถ้วยอย่างนี้แล้วทำให้สีชาดูดีขึ้น ก่อนลงเคลือบดำ เขียนลายเงินทองลงไปก่อนเป็นรูปตัวอักษรดอกไม้ ตอนนี้ที่ญี่ปุ่นยังใช้เทคนิคนี้อยู่ เดิมคนญี่ปุ่นไม่เชื่อว่าเป็นเทคนิคของจีน ที่จริงจีนผลิตได้มานานกว่า 800 ปีแล้ว มีรูปเตาเผาที่ 1 เป็นเตาเผาผลิตเครื่องปั้นดินเผาเคลือบดำ วัดตามความยาวเอียงลาด 73.2 เมตร ตามระนาบ 71.35 เมตร กว้าง 1.15-2.2 เมตร เผาได้คราวละ 50,000 ชิ้น เตาเผาที่ 2 ความยาวตามเอียงลาด 113.5 เมตร วัดตามระนาบ 107.65 เมตร กว้าง 2 เมตร เผาได้คราวละ 80,000 ชิ้น มีคำอธิบายเรื่องชาและการชงชาบริเวณอู่อี๋ซาน แถบนี้เป็นแหล่งผลิตชาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งใต้ ชอบใช้ถ้วยเคลือบดำข้างในหนากว่าถ้วยแบบอื่น เขาว่าจะเห็นสีชาเขียวสดใส ซึ่งจะเห็นได้อย่างไรก็ไม่ทราบถ้าถ้วยดำมืดไปหมด พันธุ์ชาที่มีชื่อเสียงแถบนี้ เรียกว่า ต้าหงเผา (ตัวอักษรจีน) มีต้นชาโบราณขึ้นอยู่บนภูเขาหน้าถ้ำ ถ้ำนั้นจึงได้ชื่อว่า ถ้ำชา มีรูปสวนชาหลวง (Imperial Tea Garden) สมัยราชวงศ์หยวน

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 130-131

(น.130) พิพิธภัณฑ์อนุสรณ์สถานของจูซี นักปรัชญาสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ เกิดที่เจียงซี เป็นปรมาจารย์ของลัทธิหลี่เสวียเจียคือ Neo Confucianism หรือขงจื่อใหม่ รวมแนวคิดลัทธิขงจื่อ พุทธ และเต๋าเข้าด้วยกัน ลูกศิษย์ของเขามักมีตำแหน่ง

(น.131) ที่สำคัญ ที่พิพิธภัณฑ์แสดงประวัติชีวิตของจูซี รูปต้นกุ้ยฮัวที่เขาปลูกเอง 800 กว่าปี ป้ายศิลาจารึกที่เขียนเอง คิดถึงพ่อเลี้ยง เป็นบทกวีที่ยาวมาก มีรูปสวนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีลายพระหัตถ์จักรพรรดิคังซีที่พูดถึงจูซี

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 163-164,169-171,174

(น.163) นั่งรถต่อไปอีกชั่วโมงกว่า ไปทางเมืองเฉวียนโจว ถึงวัดไคหยวน ซึ่งสร้าง ค.ศ. 686 สมัยราชวงศ์ถัง แต่ก่อนนี้เคยเป็นสวนหม่อน และมีนิทานเล่าว่าหม่อนที่สวนนี้ออกดอกมาเป็นดอกบัวซึ่งถือว่าเป็นสิริมงคล เพราะเป็นสัญลักษณ์ของพุทธศาสนา วัดนี้จะเหลือต้นหม่อนเก่าแก่อยู่ต้นหนึ่ง เรียกกันว่า หม่อนพันปี ค.ศ. 1925 ฟ้าผ่าต้นหม่อนต้นนี้เป็น 3 ส่วน ทางวัดเอาเสามาค่ำเอาไว้ ค.ศ. 1994 พายุพัดมาอีก นอกจากนั้นมีต้นโพธิ์มาจากวัดหนานผู่ถัวคู่หนึ่งอายุราว 100 กว่าปี

(น.164) วัดนี้ก็เหมือนวัดอื่นๆ คือ มีต้าสยงเป่าเตี้ยน (หรือวิหารมหาวีระวิหารกลาง) อยู่ด้านหน้า ที่วิหารนี้มีป้ายเขียนว่า ซางเหลียนฝ่าเจี้ย แปลว่า หม่อนบัวธรรมะ มีเสาหินกว่า 100 ต้น จึงเรียกกันอีกอย่างว่า อาคารเสา 100 ต้น วัดนี้ถือตามนิกายเป่ยฉวน หรืออุตรนิกาย มีพระพุทธรูป 5 องค์ มีพระยูไล อู่จื้อ เป็นนิกายมี่จงหรือตันตระ ลักษณะพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ ตรงหัวเสามีรูปเทวดาเหาะ 24 องค์ เรียกว่า เป็นเฟยเทียน ดูคล้ายๆ กับเทวดาบินที่พบตามเส้นทางสายแพรไหม ที่นี่ในมือถือคัมภีร์ แต่เจ้าอาวาสเพิ่งไปเมืองลังกาก็เลยบอกว่าเหมือนลังกา ข้าพเจ้าจะไปว่าไม่เหมือนก็ไม่ได้เพราะไม่เคยไปลังกา ด้านหลังมีรูปพระอรหันต์ 18 องค์ และมีรูปกวนอิม เสาหินของวิหารนี้ดูเหมือนกับว่าเป็นเสาแบบแขก พระเล่าว่าสมัยราชวงศ์ซ่งในเมืองนี้มีวัดฮินดู ต่อมาวัดฮินดูพังจึงเอาเสามาไว้ที่วัดนี้ ตามเสามีรูปจำหลัก เช่น รูปนรสิงหาวตาร ด้านบนเป็นรูปพระกฤษณะ เสาบางต้นดูเป็นฝีมือจีนไม่เป็นแขก

(น.169) ชิงหยวนซาน (ภูเขาสวนน้ำใส) เป็นสวนสาธารณะ ในสวนดูหินแกะเป็นรูปเหลาจื่อ (เล่าจื้อ) สูง 5.5 เมตร สร้างสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 1017) รูปเหลาจื่อ ทำให้คิดโยงไปถึงเรื่องศาสนาเต้า (เต้าเจี้ยว) คำว่า “เจี้ยว” แปลว่า ศาสนา ศาสนาเต้าหรือเต้าเจี้ยวก่อกำเนิดในสมัยจักรพรรดิซุ่นตี้ (ค.ศ. 125-144) ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ผู้ก่อตั้งชื่อ จางหลิง แนวคิดศาสนานี้ รวมแนวคิดหลายๆ แนวเข้าด้วยกัน ทั้งเรื่องความเชื่อผีสางเทวดา คำพยากรณ์ ฮวงจุ้ย และลัทธิเต๋า เอาคัมภีร์ของเหลาจื่อมาเป็นคัมภีร์หลัก และยกย่องเหลาจื่อเป็นใหญ่สูงสุด ลัทธิเต้าที่เหลาจื่อเป็นเจ้าลัทธินั้น (หรือเต๋า ในภาษาไทย) มีมาตั้งแต่สมัยชุนชิว (770-481 ก่อนคริสต์กาล) ต่อมาถูกจางหลิงอ้างเป็นเต้าเจี้ยว (ศาสนาเต้า) จึงควรแยกกันระหว่าง ลัทธิเต้า (เต้าเจีย) และศาสนาเต้า เพราะต่างกัน

(น.170) ศาสนาเต้าหรือเต้าเจี้ยวเจริญมากในสมัยราชวงศ์ถังและซ่ง

(น.171) จุดหมายที่ 4 คือ สะพานลั่วหยัง สร้างสมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ใช้เวลา 6 ปี 8 เดือน ระหว่าง ค.ศ. 1053-1059 ผู้สร้างชื่อไช่เสียง ผู้ว่าราชการจังหวัดเฉวียนโจว เป็นหนึ่งใน 8 คนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนดี 8 คนของฮกเกี้ยน สะพานยาว 731 เมตร กว้าง 4.5 เมตร ทำด้วยหินแกรนิต สร้างมา 940 กว่าปีแล้ว แต่ยังใช้ได้ดี ซ่อมครั้งแรกเมื่อ ค.ศ. 1431 สมัยราชวงศ์หมิง รวมซ่อมใหญ่ 19 ครั้ง ครั้งสุดท้ายซ่อมเมื่อ ค.ศ. 1993 แต่แรกสะพานนี้ชื่อ สะพานว่านอาน เป็นคำอวยพรให้ปลอดภัย เนื่องจากการข้ามแม่น้ำลั่วหยังบริเวณนี้ค่อนข้างอันตราย การสร้างสะพานช่วยให้ชีวิตชาวบ้านปลอดภัยขึ้นมาก

(น.174) มีข้อมูลบอกว่าในสมัยราชวงศ์ซ่งมีชาวมุสลิมจำนวนมากเป็นหมื่นๆ คนอยู่ที่นี่ มาจากเมือง Shiraj บริเวณอ่าวเปอร์เซีย ชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) เป็นผู้บูรณะสุเหร่านี้เมื่อ ค.ศ. 1310 ในสมัยราชวงศ์หยวน ปัจจุบันนี้เหลือเพียงประมาณ 1,000 คน ผู้สร้างสุเหร่าเป็นคนอาหรับ สร้างในปี ค.ศ. 1009 ตามประวัติว่าสร้าง 7 แห่ง ขณะนี้เหลืออยู่แห่งเดียว และเป็นวัด-ศาสนาสถานที่สำคัญ 1 ใน 10 ของจีน ที่รัฐบาลประกาศให้อนุรักษ์ใน ค.ศ. 1992

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 203-205,208-209

(น.203) ที่หมายที่ 2 คือ อู่กงฉือ เป็นหอบรรพบุรุษผู้มีชื่อเสียง 5 ท่าน เป็นอาคารแรกที่สร้างในเกาะไหหลำ สร้างสมัยจักรพรรดิกวางสู ปีที่ 15 (ค.ศ. 1889) เป็นสถานที่แสดงความเคารพ เสนาบดีผู้มีความรู้สมัยราชวงศ์ถังและซ่งใต้รวม 5 ท่าน ที่ถูกเนรเทศมาอยู่เกาะไหหลำ ที่สร้างอาคารชื่อ จูไฉ่ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นคนที่มีอำนาจมากที่สุดในเกาะไหหลำสมัยนั้น เสนาบดีผู้ใหญ่ทั้ง 5 คือ
1. หลี่เต๋ออวี้ (ค.ศ. 787-850) เป็นขุนนางจากมณฑลเหอเป่ยสมัยราชวงศ์ถัง เคยเป็นอัครมหาเสนาบดี (ไจ่เซี่ยง-นายกรัฐมนตรี) ถึง 2 ครั้ง ในสมัยนั้นท่านขัดแย้งกับนักการเมือง กลุ่มหนิวเซิงหรู ในด้านการปฏิรูปการปกครองและระบบสอบรับราชการ ท่านหลี่เต๋ออวี้และพวกต้องการเพิ่มอำนาจให้รัฐบาลกลางด้วยการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ให้คุมอิทธิพลท้องถิ่นได้ แต่พวกกลุ่มหนิวเซิงหรูมีนโยบายกระจายอำนาจ ต้องการให้ทหารระดับภูมิภาคปกครองตนเอง ทั้งสองกลุ่มขัดแย้งกัน 40 ปี เมื่อจักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ จักรพรรดิเชื่อกลุ่มหนิวเซิงหรู หลี่เต๋ออวี้จึงถูกเนรเทศไปเกาะไหหลำ สมัยนั้นเรียกว่า หยาโจว (涯州) และไปตายที่นั่น
2. หลี่กัง (ค.ศ. 1083-1140) เป็นคนมณฑลฮกเกี้ยน รับราชการในสมัยราชวงศ์ซ่ง แต่แรกจักรพรรดิตั้งเป็นขุนนางระดับสูงถึงอัครมหาเสนาบดี ตอนที่มีแผนจะรบกับพวกจิน (กิมก๊ก) แต่ต่อมาจักรพรรดิคิดจะยอมแพ้ก็เลยเนรเทศหลี่กังมาที่เกาะไหหลำ เมื่อเนรเทศได้ 3 วัน จักรพรรดิก็ยกโทษให้ (ค.ศ. 1129)
3. เจ้าติ่ง (ค.ศ. 1085-1147) เป็นคนมณฑลซานซี สอบเป็นขุนนางได้ ได้รับแต่งตั้งเป็นอัครมหาเสนาบดี เป็นฝ่ายที่สนับสนุนเย่วเฟย (งักฮุย) ให้รบกับพวกกิมก๊ก ถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองแต้จิ๋วใน ค.ศ. 1138 หลังจากนั้นถูกเนรเทศไปเกาะไหหลำใน ค.ศ. 1144 เพราะฉินฮุ่ย เสนาบดีผู้ใหญ่ที่ฝักใฝ่พวกกิมก๊ก (คนไทยรู้จักในนามฉินกุ้ย) ไม่ชอบ เสียชีวิตใน ค.ศ. 1147 เพราะอดอาหารประท้วง

(น.204)
4. หลี่กวง (ค.ศ. 1078-1159) เป็นคนอำเภอซ่างอวี๋ มณฑลเจ้อเจียง เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ถูกเนรเทศใน ค.ศ. 1141 เพราะฉินฮุ่ยแค้นที่ไปวิจารณ์ซึ่งๆ หน้าตอนเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิ เมื่อมาที่เกาะไหหลำ ได้สร้างโรงเรียนเผยแพร่วัฒนธรรมจีน
5. หูฉวน (ค.ศ. 1102-1180) เป็นพวกที่เสนอให้ต่อสู้กับพวกจิน เขียนหนังสือว่าถ้าตัดหัวฉินฮุ่ยแล้วประเทศจึงจะมีเสถียรภาพ เป็นเหตุให้ถูกเนรเทศ แต่แรกถูกเนรเทศไปมณฑลเจียงซีแล้วต่อไปที่เกาะไหหลำใน ค.ศ. 1148 อยู่ที่ซานย่า ได้สร้างโรงเรียนเผยแพร่วัฒนธรรมจีนภาคกลาง

(น.205) ทั้ง 4 ท่านนี้เป็นพวกที่ต้องการรบกับพวกจิน ต้านฉินฮุ่ย ถึงจะถูกขับไล่ไปอยู่ไกล แต่ยังคงซื่อสัตย์และทำงานเป็นประโยชน์ต่อประเทศไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากจะเผยแพร่วัฒนธรรมส่วนกลางแล้ว ยังทำคุณประโยชน์ให้ท้องถิ่นไหหลำด้วย

(น.208) ศาลเหลี่ยงฝูปอฉือ เป็นศาลรำลึกถึงทหารราชวงศ์ฮั่น 2 คน (สมัยฮั่นตะวันตก) รบกับคนกลุ่มน้อยทางภาคใต้ของจีนชื่อ ลู่ป๋อเต๋อ อีกคนหนึ่งอยู่สมัยฮั่นตะวันออกชื่อ หม่าหยวน ทั้ง 2 คน มาตั้งระบบราชการในไหหลำ ปัจจุบันศาลนี้ใช้เป็นที่เก็บลายมือของนักเขียนพู่กันจีนที่มีชื่อเสียง ด้านนอกมีจารึกที่วางบนหลังเต่าเป็นลายพระหัตถ์จักรพรรดิฮุยจง สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือ ค.ศ. 1119 พระองค์ทรงนับถือลัทธิเต๋า ให้เขียนจารึกเผยแพร่ลัทธินี้ไปทั่วประเทศจีน

(น.209) จักรพรรดิองค์นี้เป็นจิตรกรและเป็นนักเขียนตัวอักษรพู่กันจีน มีเทคนิคการเขียนพู่กันจีนแบบพิเศษที่เรียกว่า โซ่วจินถี่ และเขียนภาพกงปี่ฮั่ว คือเขียนรูปนก ไม้ อย่างละเอียด

หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 14

(น.14) ศาลเจ้าจักรพรรดิเหลือง ตามประวัติกล่าวไว้ว่า สร้างขึ้นสมัยราชวงศ์ฮั่น พอถึงราชวงศ์ซ่ง ย้ายมาอยู่ที่ตั้งปัจจุบัน หน้าศาลเจ้ามีต้นสนที่เล่ากันว่าจักรพรรดิเหลืองเป็นผู้ปลูกเมื่อ 5,000 ปีมาแล้ว เมื่อ ค.ศ. 1982 ผู้เชี่ยวชาญเรื่องต้นไม้จากอังกฤษมาสำรวจกล่าวว่าต้นไม้ต้นนี้เก่าแก่ที่สุด มีขนาดใหญ่ 7 คนโอบไม่รอบ ต้นไม้นี้สูง 19 เมตร ตรงโคนเส้นรอบวง 10 เมตร กลางต้น 6 เมตร ตรงยอด 2 เมตร

Next >>