Please wait...

<< Back

เซี่ยงไฮ้

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก
เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอกหน้า122

(น.122) เรียนศัพท์หน้าที่ 73 ครูเล่าเรื่องในหนังสือและให้ข้าพเจ้าสรุปเพื่อดูว่าจะฟังออกหรือไม่ ปรากฏว่าฟังได้ดี ก่อนเลิกให้การบ้านและศึกษาประวัติของสำนวนจีนว่า เหมาสุ้ย จื้อเจี้ยน ที่แปลว่า เสนอตัวเอง อาจารย์จังซิ่วหวนมาบอกว่าไปหาข้อมูลแล้ว นิทรรศการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีนั้นมีที่ปักกิ่งจริงๆ (ดูทีวีรายการเดียวกัน ข้าพเจ้าฟังถูก หงเอี้ยนฟังผิด) หนูที่มีหูคนอยู่บนหลังที่ข้าพเจ้าเห็นในทีวีนั้นเอามาจากเซี่ยงไฮ้ ตอนนี้ไม่ได้แสดงแล้ว ให้พักผ่อนอยู่ที่โรงพยาบาลทหาร เข้าไปดูไม่ได้ เตรียมส่งกลับเซี่ยงไฮ้ งานนิทรรศการยังดำเนินต่อไป วันที่ 8 จัดให้พบศาสตราจารย์จี้เซี่ยนหลิน อาจารย์สอนภาษาสันสกฤต เวลา 16:30 น. ปีที่แล้วตอนที่ข้าพเจ้ารับรางวัลมิตรภาพภาษาและวัฒนธรรมจีน ท่านมาร่วมงานและกล่าวปาฐกถาด้วย อาจารย์ท่านนี้อายุ 90 ปีแล้ว ได้ยินว่าช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมท่านก็ถูกทำร้ายด้วยประการต่างๆ แต่ก็ทนได้มาจนทุกวันนี้ เห็นจะอาศัยการศึกษาพุทธศาสนา อีกเรื่องคือ อธิการบดีจะไปต่างประเทศวันที่มหาวิทยาลัยจะเลี้ยง ฉะนั้นจะเชิญไปรับประทานข้าวกันก่อน แต่ยังไม่ทราบว่าไปที่ไหน เรียนสนทนาภาษาจีน เตรียมเรื่องปัญหาสตรี

(น.122) รูป 135 ดอกไม้ประจำวัน

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอกหน้า131


(น.131) รูป 144 ที่โรงละคร คุยกับรองอธิการบดีก่อนดูบัลเล่ต์
Talking with the Vice Chancellor at the University theatre.

(น.131) รายการแรก เป็นบัลเล่ต์เรื่อง หวงเหอ มีผู้แต่งเพลงเอาไว้นานแล้ว แต่นักเปียโนเพิ่งเอามาแต่งเป็นบทสำหรับเล่นเปียโนและใช้แสดงระบำบัลเล่ต์ได้ ท่อนที่เอามาเล่นคืนนี้เล่นเรื่องแม่น้ำหวงเหอว่าเป็นแม่น้ำที่ทรงพลัง (มีคลื่น) หล่อเลี้ยงชีวิตคนจีน ต่อมาเกิดภัยญี่ปุ่นบุก และคนจีนลุกขึ้นต่อต้านญี่ปุ่น รายการที่สอง เป็นเรื่องที่นำมาจากนิทานโบราณ เรื่อง เหลียงซานโป๋กับจู้อิงไถ ดูเหมือนว่าผู้ที่เอามาเป็นบัลเล่ต์จะเป็นชาวสวิส เล่นครั้งแรกที่เซี่ยงไฮ้ ปรากฏว่าประสบความสำเร็จมาก ผู้ชมซาบซึ้งถึงกับร้องไห้ เรื่องมีอยู่ว่า มีสาวน้อยแสนสวยแสนฉลาดคนหนึ่งชื่อ จู้อิงไถ อายุ 17 ปี เธออยากจะไปเรียนหนังสือ แต่พ่อแม่ไม่อนุญาต ในที่สุดก็ต้องยอมให้แต่งตัวเป็นผู้ชายไปเรียนหนังสือที่หังโจว ระหว่างทางได้พบชายหนุ่มชื่อ

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอกหน้า153

(น.153) รูป 170 ป้าจันเตรียมเครื่องปรุงสำหรับทำกระเทียมพริกไทยรากผักชี

(น.153) ของที่บ้านทำเองมีขนมไส้หัวผักกาดแบบเซี่ยงไฮ้ และขนมอะไรก็ไม่รู้ เป็นของปักกิ่ง พูดถึงภาษาเซี่ยงไฮ้ รุ่นลูกมาดามพูดไม่ได้แล้ว แต่ยังฟังออก แต่รุ่นหลานพูดก็ไม่ได้ฟังก็ไม่ออก มาดามพูดภาษาจีนกลางยังมีสำเนียงเป็นคนใต้ รุ่นลูกพูดเสียงภาษากลางชัดเจน นั่งคุยกัน 4 ชั่วโมงครึ่งพูดภาษาจีนอย่างเดียวไม่รู้สึกว่ามีปัญหาอะไร ขากลับมีตำรวจมานั่งด้วยคนหนึ่ง หงเอี้ยนไปบ้านแล้ว มาถึงหอพัก ข้าพเจ้านั่งเขียนบันทึกต่อ สักประเดี๋ยวป้าจันมา เอาผักชีมาแสดงการทำรากผักชี ให้ตัดรากผักชีขึ้นมา ดึงก้านแล้วสับใส่ครกตำ เมื่อตำละเอียดแล้วใส่กระเทียม (รากผักชี 2 ราก กระเทียมกลีบเดียว พริกไทย 5-6 เม็ด) เวลาจะทำคลุกกับไก่หรือหมูเหยาะน้ำมันหน่อยหนึ่ง เวลาจะทอดเหยาะน้ำปลา น้ำตาลทรายนิดหนึ่ง เพิ่งมาดูเอกสารที่ติดมากับแท่นฝนหมึกที่มาดามเฉียนให้ มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าหินถานเจ้อนี้มีเนื้อละเอียดและลื่น สีม่วงแก่เหมือนสีตับหมู เป็นหินที่เหมาะใช้แกะสลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งแกะสลักเป็นแท่นฝนหมึก ในพิพิธภัณฑ์พระราชวังหลวง (กู้กง) ก็มีแท่นฝนหมึกแบบนี้ ทำในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง ที่ทำในสมัยปัจจุบันเลียนแบบแท่นฝนหมึกสมัยราชวงศ์หมิง เป็นที่ชื่นชอบของจิตรกรและนักเขียนพู่กันจีนที่มีชื่อเสียง เมื่อฝนหมึกจะไม่มีเสียงดัง ฝนหมึกได้ง่าย หมึกไม่แห้งเร็วเกินไป หินไม่ดูดน้ำ ฉะนั้นไม่เปลืองหมึกและไม่ทำให้พู่กันเสีย

ใต้เมฆที่เมฆใต้
ใต้เมฆที่เมฆใต้หน้า 219

(น.219) อีกความหมายหนึ่งว่า “อำเภอ” เช่น ไปแจ้งย้ายทะเบียนที่เขต ในขณะที่คำว่า “ภูมิภาค” สื่อความหมายถึงพื้นที่ที่กว้างใหญ่ เช่น ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูมิภาคเอเชีย - แปซิฟิก มีข้อน่าสังเกตว่า จื้อจื้อชีว์ของจีนมีพื้นที่กว้างใหญ่ นอกจากนั้นในความรับรู้ของคนไทย จังหวัดหลายๆ จังหวัดจะรวมกันเป็นภาค เช่น ภาคเหนือ ภาคใต้ ภาคกลาง คำว่า “ภาค” นั้นภาษาอังกฤษใช้ว่า “Region” ด้วยเหตุนี้ คำว่า “จื้อจื้อชีว์” จึงน่าจะแปลว่า “ภูมิภาคปกครองตนเอง”
2.3 จื๋อเสียซื่อ (直辖市) ในประเทศจีนมีเมืองขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญในด้านการเมืองเศรษฐกิจ หรือทั้ง 2 ด้าน รัฐบาลจีนได้จัดระเบียบการปกครองเมืองเหล่านี้ให้ขึ้นกับรัฐบาลกลางโดยตรง ไม่ขึ้นกับรัฐบาลมณฑล และแยกพื้นที่ออกมาต่างหาก เรียกกันว่า “จื๋อเสียซื่อ” มีฐานะเทียบเท่ามณฑล จื้อเสียซื่อจะมีเขต (District,ชีว์) ทั้งที่อยู่ในเมืองและชานเมือง รวมทั้งอำเภอในพื้นที่บริเวณรอบนอกออกไปอยู่ใต้การปกครอง ประเทศจีนมีจื้อเสียซื่ออยู่ 3 เมือง คือ เป่ยจิง (ปักกิ่ง) เทียนจิน (เทียนสิน) และซ่างไห่ (เซี่ยงไฮ้) จื๋อเสียซื่อของจีนนั้นภาษาอังกฤษใช้ว่า “Municipality directly under the Central Government” หากเทียบกับการจัดระเบียบเขตการปกครองของไทยก็คงจะเทียบได้กับกรุงเทพมหานคร ซึ่งเราก็มีกฎหมายในการจัดระเบียบการปกครองกรุงเทพมหานครโดยเฉพาะแยกออกจากจังหวัดอื่นๆ คำว่า “จื๋อเสียซื่อ” จึงน่าจะแปลว่า “มหานครที่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลกลาง” และน่าจะเรียกสั้นๆ ว่า “มหานคร”
2.4 ตี้ชีว์ (地区) คำว่า “ตี้ชีว์” ในภาษาจีนหมายถึง เขตการปกครองที่ลดหลั่นจากมณฑล และขึ้นต่อรัฐบาลมณฑล ภาษา

ย่ำแดนมังกร
ย่ำแดนมังกร หน้า 351

(น.351) แห่งแรกเราไป Chinese Arts and Crafts (H.K.) Ltd. ขายของทำจากเมืองจีนหลายๆ อย่าง เท่าที่จำได้มีเครื่องเงินเครื่องทองที่ราคาแพงมาก ข้าพเจ้าคิดว่าใครจะไปซื้อ (ถึงแม้จะสวยก็ตาม) ผู้ดูแลร้านบอกว่าคนไทยนั่น แหละมาซื้อ! ข้าพเจ้าได้แต่จดรายการของต่างๆ เพื่อเป็นตัวอย่าง ม้าทำด้วยทอง 18 เค น้ำหนัก 1026.18 กรัม ราคา 170,000 เหรียญฮ่องกง (อัตราแลกเปลี่ยน 1 เหรียญฮ่องกง = 4 บาท) มังกรทำด้วยทอง 14 เค น้ำหนัก 224 กรัม ราคา 29,000.00 เหรียญฮ่องกง ช้าง 14 เค น้ำหนัก 724.34 กรัม ราคา 84,000 เหรียญฮ่องกง เด็กนอนในเปลือกถั่ว ทอง 14 เค น้ำหนัก 97.24 กรัม ราคา 10,000 เหรียญฮ่องกง ม้า 18 เค น้ำหนัก 451.3 กรัม ราคา 67,000 เหรียญฮ่องกง นอกจากนั้นมีจิ่งไท่หลานทำเป็นตลับซึ่งราคาถูกกว่าในประเทศจีน เล่นเอาเปาะชักโมโหเพราะว่าเพิ่งซื้อมาหยกๆ ในราคาสูงกว่านี้ เครื่องดนตรีจีนขนาดจิ๋วทำด้วยเงินลงยา 8 ชิ้น ราคา 680 เหรียญ (เราน่าจะเอามาทำเป็นชุดเครื่องดนตรีไทย) มุกน้ำจืดจาก เซี้ยงไฮ้ งาสลักซึ่งมาจาก 2 แหล่ง คือปักกิ่งและเซี้ยงไฮ้ แต่เขาอธิบายว่าของจากปักกิ่งมีคุณภาพดีกว่า มีภาพปักใส่กรอบเป็นรูป Long march เครื่องไม้แกะสลัก สินค้าไม้ไผ่ เหล็กดัด ภาพปัก –

เย็นสบายชายน้ำ
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 13

(น.13) ก็ใหญ่มาก มีประชากรถึง 130 ล้านคน นครฉงชิ่งก็เป็นเมืองสำคัญคือเป็นเสมือนเมืองหลวงระหว่าง ค.ศ. 1949 - 1953 การเดินทางจากนครเฉิงตูมาที่นี่ระยะทาง 336 กิโลเมตร ถือว่าเป็นเมืองภูเขาและแม่น้ำ มีแม่น้ำสำคัญ 2 สายคือ ฉางเจียงและเจียหลิงเจียง ในนครฉงชิ่งมีประชากร 15 ล้านคน นับได้ว่ามากที่สุดในจีน แบ่งการปกครองเป็น 3 เมือง 11 เขต 7 อำเภอ เขาถือว่าฉงชิ่งเป็นเขตอุตสาหกรรมเก่า ทั้งยังดีในทางการเกษตรด้วย มีเกษตรกรราว 10 ล้านคน อยู่ในเมือง 5 ล้านคน พืชหลักคือ ข้าวโพด อุตสาหกรรมของฉงชิ่งมีมาประมาณ 50 ปีตั้งแต่สมัยต่อต้านญี่ปุ่น ในสมัยปลดปล่อยรัฐบาลย้ายอุตสาหกรรมาฉงชิ่งอีกหลายอย่าง ฉะนั้นจึงเป็นพื้นฐานที่ดี ปัจจุบันอุตสาหกรรมประเภทเครื่องยนต์มีความสำคัญเป็นอันดับที่ 3 ในประเทศจีนรองจากเซี่ยงไฮ้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นแหล่งผลิตจักรยานยนต์มากที่สุดในจีน ผลิตได้สองล้านสองแสนกว่าคันต่อปี เป็น 1/3 ของจักรยานยนต์ทั้งหมด รัฐบาลกลางของจีนตั้งเป้าไว้ว่าใน ค.ศ. 2000 จะผลิตจักรยานยนต์ให้ได้ 26 ล้านคันต่อปี โรงงานในฉงชิ่งต้องผลิตให้ได้ 10 ล้านคัน มีโรงงานร่วมทุนกับญี่ปุ่นหลายบริษัท เช่น อีซูซุผลิตรถยนต์ ยามาฮ่าและซูซูกิผลิตจักรยานยนต์ ใช้ยี่ห้อจีน เช่น ยี่ห้อเจียหลิง อุตสาหกรรมเหล็กกล้าก็เป็นอุตสาหกรรมที่สำคัญ นอกจากนั้นมีอุตสาหกรรมยา อาหาร สิ่งทอ และอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านอาคารสูง มาดามหลู่อธิบายว่าเป็นหอพัก มีทั้งที่สิงคโปร์และฮ่องกงมาลงทุน มีอาคารส่งเสริมการค้าต่างประเทศ

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 73

(น.73) ก่อสร้างแล้วเสร็จในระยะที่สองเช่นกัน แล้วจึงก่อสร้างโรงไฟฟ้าฝั่งขวาและปีกเขื่อนในบริเวณคลองผัน รวมทั้งติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้าทั้งหมด 26 เครื่องให้แล้วเสร็จภายใน ค.ศ.2009 ด้วย ความก้าวหน้าของการก่อสร้างตั้งแต่เริ่มแรกจนถึงปัจจุบันซึ่งอยู่ในแผนการก่อสร้างระยะแรก ได้ขุดดินและหินทางด้านฝั่งขวาในบริเวณคลองผันน้ำ และก่อสร้างกำแพงคอนกรีตแบบบดอัดตามแนวยาวซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของตัวทำนบและคลองผันน้ำชั่วคราว จะแล้วเสร็จและผันน้ำได้ประมาณเดือนพฤษภาคม ค.ศ.1997 รวมทั้งการขุดดินและหินทางด้านฝั่งซ้ายและก่อสร้างประตูและคลองเดินเรือชั่วคราวเพื่อใช้ในการเดินเรือได้ให้แล้วเสร็จ ได้ก่อสร้างและปรับปรุงถนนจากเมืองอี๋ชางระยะทาง 40 กิโลเมตร และสะพานแขวนซีหลิงข้ามแม่น้ำทางด้านท้ายน้ำของบริเวณตัวเขื่อนแล้วเสร็จเช่นกัน เมื่อเขื่อนสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว นอกจากประโยชน์ที่ได้รับจากการผลิตไฟฟ้าได้ถึง 18,200 เม็กกะวัตต์ และให้พลังงานเฉลี่ยปีละ 84,700 กิกะวัตต์ชั่วโมง เพื่อส่งไปใช้ในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกของประเทศจีนจนถึงนครเซี่ยงไฮ้ รวมทั้งบริเวณพื้นที่ภาคตะวันออกของมณฑลเสฉวน สามารถทดแทนการเผาเชื้อเพลิงที่เป็นถ่านหินอันจะทำให้เกิดมลภาวะได้ปีละ 40-50 ล้านตันแล้ว ยังอำนวยประโยชน์ทางด้านการเดินเรือเหนือเขื่อนขึ้นไปถึงนครฉงชิ่งซึ่งยาวถึง 600 กิโลเมตร และสามารถให้เรือขนาด 10,000 ตันแล่นไปได้โดยสะดวก ทำให้เพิ่มปริมาณการขนส่งทางน้ำได้ถึง 5 เท่า คือเพิ่มจากเดิมปีละ 10 ล้านตันเป็น 50 ล้านตันและลดค่าใช้จ่ายได้ถึง 35 % ส่วนทางด้านท้ายเขื่อนลงไปถึงปากน้ำก็จะเดินเรือได้ดีขึ้นในช่วงหน้าแล้ง เพราะสามารถปล่อยน้ำจากเขื่อนลงมาช่วยได้

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 93,97

(น.93) รูป 83 ไกด์บรรยายสรุปเรื่องผังเมืองใหม่ ข้างหน้าห้องโถงมีป้าย ไกด์บรรยายสรุปเรื่องผังเมืองใหม่ว่าโครงการซานเสียนี้มีคนสนใจมาก การสร้างถึงจะนำความเสียหายมาให้ แต่ก็นำโอกาสมาให้ด้วย ในวันแรกที่สร้างเสร็จจะเกิดเมืองใหม่ชื่อว่านโจว กลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจพิเศษ ขณะเดียวกันเมืองนี้จะเป็นแหล่งอุตสาหกรรมเกลือและแก๊สธรรมชาติด้วย




(น.97) รูป 87 เสาสะพาน

(น.97) นั่งรถไปดูสะพานที่กำลังสร้าง ในรถนายกเทศมนตรีเล่าว่า เมืองนี้ในฤดูร้อน อุณหภูมิสูงสุด 40 องศาเซลเซียส หนาวที่สุด 5 องศาเซลเซียส จึงได้เปรียบในด้านการเพาะปลูก สามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละ 3 ครั้ง ด้านอุตสาหกรรมมีอุตสาหกรรมเคมี อาหาร ทอผ้า เครื่องกล ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเบา ปัจจุบันมีวัสดุก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ ดินเผา พลาสติก เครื่องตกแต่งภายใน มหาวิทยาลัยว่านเซี่ยนเพิ่มการพัฒนาอบรมในด้านต่าง ๆ สำหรับการเปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดโครงการซานเสีย สะพานขนส่งทางบกนี้เป็นส่วนของถนน 318 ที่จะเชื่อมนครต่าง ๆ คือ ลาซา เฉิงตู ฉงชิ่ง ว่านเซี่ยน อู่ฮั่น หนานจิง (นานกิง) เซี่ยงไฮ้ เป็นโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม สะพานนี้ยาว 856 เมตร กว้าง 24 เมตร สูง 250 เมตร การสร้างใช้คอนกรีตเหล็กกล้า ข้ามแม่น้ำโดยใช้โครงสร้างโค้งเดี่ยว ยาว 420 เมตร โครงสร้างลักษณะนี้ในประเทศจีนที่นี่ใหญ่ที่สุด เท่าที่ท่านนายกเทศมนตรีทราบ ยูโกสลาเวียก็มีโครงสร้างแบบนี้ แต่ยาวเพียง 390 เมตร เขตสะพานนี้ต่อไปจะเป็นเมืองใหม่ เริ่มย้ายโรงงานเกลือมาทางนี้แล้ว กำลังสร้างโรงงานดินเผา ศูนย์พาณิชย์ และธนาคารประชาชน

เย็นสบายชายน้ำ หน้า150

(น.150) การบุกเบิกแม่น้ำฉางเจียงเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจนี้ต่อไปคงจะได้แสวงหาความร่วมมือกับไทยด้วย การทำโครงการซานเสียเมื่อได้กระแสไฟฟ้า เริ่มต้นส่งไฟที่ภาคกลางไปจดเซี่ยงไฮ้ทางทิศตะวันออก ไปทางทิศตะวันตกถึงเสฉวน ภายหลังเมื่อผลิตได้ครบตามที่โครงการกำหนดแล้ว ก็จะส่งกระแสไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้าของประเทศ ฉะนั้นการสร้างเขื่อนจึงมิได้เป็นประโยชน์เฉพาะบริเวณนี้ แต่เป็นประโยชน์แก่ประเทศจีนเกือบทั้งประเทศ ท่านทูตถามว่าเคยพบปัญหาอะไรที่ไม่เคยพบไหม เขาบอกว่าตั้งแต่ทำงานมา 3 ปีนี้ ยังไม่เคยพบปัญหาใหญ่เลย ต่อไปในอนาคตจะเป็นอย่างไรยังพูดไม่ถูก คุณถังมาแนะนำข้าพเจ้าให้ถามเรื่องเงินทุน (ข้าพเจ้าเคยถามคุณถัง แต่คุณถังยังไม่ทันอธิบายพอดีถึงเวลาต้องลงจากเรือ) คุณหลี่อธิบายว่า เงินทุนส่วนที่มาจากต่างประเทศไม่มีปัญหาอะไร ถึงสหรัฐฯ ขัดขวางไม่ให้จีนกู้เงินจากธนาคารในสหรัฐฯ ก็ไม่เป็นไร เพราะประเทศในยุโรปและเอเชียหลายประเทศตื่นเต้นโครงการนี้ อยากมีส่วนร่วม ให้เงินกู้และมาประมูลงานก่อสร้าง ประมูลขายเครื่องกำเนิดไฟฟ้า เครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ ข้าพเจ้าถามต่อเรื่องปัญหาตะกอน เขาว่าเรื่องนี้มีประสบการณ์จากเขื่อนเก่อโจวป้า ซึ่งได้ดำเนินการทดลองและออกแบบให้มีประตูระบายไว้แล้ว จึงไม่มีปัญหาทางเทคนิค ส่วนที่ข้าพเจ้าเกรงว่าปุ๋ยในน้ำจะมีน้อยลงนั้น ปัจจุบันนักวิชาการกำลังศึกษาอยู่

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 204

ตะวันตก ท่านจะปราศจากเพื่อนเก่า (น.204) บทกวีตรงนี้ทำให้รู้สึกถึงความชุ่มชื้น แต่เมื่อไปถึงดินแดนแถบตะวันตกจริง ๆ ในเวลานี้แห้งแล้งเป็นทะเลทราย ฝ่ายจีนกำลังพยายามป้องกันไม่ให้ทะเลทรายขยายตัว ข้าพเจ้ากล่าวว่าเมื่อตอนไปตามเส้นทางแพรไหม ได้ยินว่ามีสถาบันศึกษาทะเลทราย ไม่ได้ไปที่สถาบัน ที่จริงเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับประเทศไทยด้วย ท่านประธานาธิบดีกล่าวว่าท่านเคยไปดูงานที่สถาบันนั้นและฟังการบรรยายเรื่องการหยุดยั้งการเติบโตของทะเลทราย ดูเป็นภาระที่หนัก กลับไปพูดถึงการที่ข้าพเจ้ามาจีน 7 ครั้ง เป็นนิมิตหมายอันดีของความสัมพันธ์ที่มีมาถึง 21 ปี ความสัมพันธ์เป็นไปด้วยดีมาก ตอนที่เป็นผู้ว่า ฯ มหานครเซี่ยงไฮ้ เคยรับเสด็จสมเด็จพระบรม-โอรสาธิราช คราวนี้ก็ถือว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถโปรดเกล้าฯ ให้ข้าพเจ้ามา เพราะทรงเล็งเห็นถึงความสัมพันธ์ไทย – จีน จึงขอฝากกราบบังคมทูลถวายพระพรชัยมงคลที่ทรงทำให้ความสัมพันธ์เจริญขึ้น ท่านประธานาธิบดีทราบว่าข้าพเจ้าเขียนหนังสือเกี่ยวกับประเทศจีนหลายเล่ม มีผู้อ่านเป็นจำนวนมาก หวังว่าคราวนี้จะเขียนอีก ข้าพเจ้าว่าโครงการซานเสียนี้น่าสนใจเป็นพิเศษ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็สนพระราชหฤทัย เมื่อมีการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็มีพระราชกระแสกับผู้นำอาเซียนเกี่ยวกับความสำคัญของโครงการ เมื่อมีผู้นำจีนไปก็จะพูดกันเรื่องนี้อีก

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 227

(น.227) WTO ก็จะเป็นเพียงแค่ Regional Trade Organization (RTO) เท่านั้น ผู้ที่ฟังอยู่พอใจคำตอบนี้มาก หนังสือบันทึกเรื่องนี้ไว้ คุยเรื่องหนังสือแล้ว กลับไปพูดเรื่องซานเสียซึ่งมีการพัฒนาสังคมไปพร้อม ๆ กัน หาผู้ที่จะมาลงทุน และให้เมืองที่มีฐานะดีช่วยเมืองที่จะถูกน้ำท่วม ยกตัวอย่างเช่น มหานครเซี่ยงไฮ้มีหน้าที่ช่วยดูแลนครว่านเซี่ยน หาธุรกิจไปลงทุนจากเซี่ยงไฮ้ เช่น บริษัทซีพีก็จะไปช่วยในด้านการเลี้ยงหมู ส่วนเมืองฝูหลิง มณฑลเจ้อเจียงก็จะเป็นผู้ช่วยเหลือ ได้ลงทุนตั้งโรงงานน้ำดื่มวาฮาฮา (บริษัทนี้นอกจากจะผลิตน้ำดื่มแล้วยังผลิตอาหารเสริมทารก) คนที่นั่งข้างขวาข้าพเจ้าเป็นผู้อำนวยการฝ่ายต่างประเทศของสำนักนายกรัฐมนตรีชื่อ หลิวหัวชิว เมื่อรับประทานเสร็จแล้วเตรียมเก็บข้าวของไปสนามบินเวลา 15.10 น. ไปเมืองหวงซานโดยสายการบินจีนเที่ยวบิน CA 1545 ใช้เวลาบิน 2 ชั่วโมง 20 นาที เวลาประมาณบ่ายโมงครึ่งไปถึงท่าอากาศยานเมืองหวงซาน มีผู้นำท้องถิ่นมารับ พาไปที่โรงแรมชื่อหวงซาน อินเตอร์เนชั่นแนล โรงแรมนี้เพิ่งเปิดใหม่เมื่อปีที่แล้ว ชาวฮ่องกงมาลงทุน ดูสมัยใหม่ดี ผู้จัดการที่มาดูแลเป็นผู้หญิง เขาบอกว่าเป็นคนมณฑลอันฮุยนี่เอง เดิมเป็นครู เพิ่งมาทำงานโรงแรมเมื่อโรงแรมนี้เปิด ดูเป็นคนคล่องแคล่ว อัธยาศัยดี โรงแรมก็สบายเหมือนบ้าน ตอนค่ำท่านเลขาธิการพรรค ชื่อ หลูหรงจิ่ง เป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหาร ท่านเลขาธิการพรรคอายุ 63 ปี เคยเป็นนักอุตสาหกรรมเหล็ก ท่านเลขาธิการกล่าวว่า มณฑลอันฮุยอยู่กลางกลุ่มมณฑล

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 263,264,265,267,268,270,271,272,273

(น.263) วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2539
รับประทานอาหารเช้า แล้วไปสนามบินขึ้นเครื่องบินสายการบิน China Eastern 5512 ไปเซี่ยงไฮ้ ใช้เวลาบินไม่ถึงชั่วโมง เมื่อไปถึงที่เซี่ยงไฮ้ มาดามจั่วห่วนเฉิน รองนายกเทศมนตรีมหานครเซี่ยงไฮ้มาต้อนรับ แต่ก่อนมาดามเคยเป็นอาจารย์ด้านกายวิภาคอยู่ที่มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ขณะนี้รับผิดชอบงานด้านสาธารณสุข ผังเมือง และการโยธา เป็นรองนายกเทศมนตรีหญิงคนเดียวในแปดคน มาดามเล่าว่าเซี่ยงไฮ้เปิดเมืองเมื่อ ค.ศ. 1990 ให้มีการลงทุนตั้งแต่นั้นนครก็เจริญขึ้นมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจาก ค.ศ. 1992 เริ่มสร้างเขตเศรษฐกิจพิเศษผู่ตง เพื่อให้เซี่ยงไฮ้เป็นหัวมังกรนำเศรษฐกิจจีนให้ก้าวหน้า ฉะนั้นจึงต้องมีการสร้างถนนหนทาง เช่น ทางยกระดับซึ่งสร้างยังไม่เสร็จ ตึกใหม่ ๆ ก็มีมากมาย ต้องย้ายชาวบ้านออกไปอยู่ชานเมืองเป็นจำนวนมาก แม่น้ำหวงผู่แบ่งเมืองออกเป็นสองด้านคือ ผู่ซีซึ่งเป็นเมืองเก่า และผู่ตงซึ่งเป็นเมืองใหม่ เมืองอื่น ๆ สองฝั่งแม่น้ำมักจะเจริญเท่า ๆ กัน แต่ที่เซี่ยงไฮ้นี้ ผู่ซีเจริญมาก่อน การพัฒนาเป็นเมืองใหม่จึงทำได้ยาก ขณะนี้จึงพัฒนาเขตผู่ตง มีสะพานและอุโมงค์ลอดใต้แม่น้ำ ทำให้การคมนาคมสะดวกขึ้น แต่ก่อนต้องใช้เรือข้ามฟากอย่างเดียว มีท่าเรือถึง 24 ท่า


(น.264) รูป 243 ที่ทำการของศุลกากรและโรงแรมสันติภาพ

(น.264) ในด้านการศึกษา ที่เซี่ยงไฮ้นี้มีมหาวิทยาลัยมาก จนคนที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยได้อาจจะคะแนนต่ำกว่าที่อื่น ไปถึงโรงแรมจิ่นเจียง (ใหม่) ถนนฉางเล่อ เป็นโรงแรมใหญ่มาก ห้องที่ให้ข้าพเจ้าอยู่นั้นใหญ่โตเสียจนเดินหลงทาง มีห้องนอน ห้องน้ำสองห้อง ห้องเขียนหนังสือกับรับแขก ห้องเขียนหนังสือเฉย ๆ ห้องรับประทานอาหาร และห้องครัว ดูก็กว้างขวางดี แต่เดินหลงทางได้ง่าย เดินมาคนละทางก็ไม่เห็นกัน จึงมักจะชนกัน รับประทานอาหารกลางวันแล้วไปท่าเรือไว่ทัน ลงเรือล่องแม่น้ำหวงผู่ เรือลำนี้มีชื่อว่าโหยวเห่า แปลว่า มิตรภาพดี ผู้นำจีนเคยนั่งเรือลำนี้ เช่น ท่านเติ้งเสี่ยวผิง นายกรัฐมนตรีหลี่เผิง ท่านประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน มีภาพถ่ายเติ้งเสี่ยวผิงนั่งเรือนี้เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1992

(น.265) แม่น้ำหวงผู่ไหลมาจากทะเลสาบไท่หูในเมืองหังโจว ไหลผ่านเซี่ยงไฮ้ แบ่งนครเซี่ยงไฮ้ออกเป็นสองฝั่งดังที่ได้กล่าวมาแล้ว ชมทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำ เห็นที่ทำการของศุลกากร (ไห่กวน) และโรงแรมสันติภาพ แต่ก่อนเป็นอาคารที่ชาวอังกฤษชื่อวิกเตอร์ แซสซูน มาสร้างใน ค.ศ. 1928 ต่อไปเป็นธนาคารแห่งประเทศจีน มีคนเล่าว่าตั้งใจสร้างให้สูงกว่าอาคารของชาวต่างประเทศคือ โรงแรมสันติภาพ ฝั่งขวามีอนุสาวรีย์ปลดแอก และหอไข่มุกตะวันออก ผ่านปากแม่น้ำซูโจวซึ่งไหลมาบรรจบกับแม่น้ำหวงผู่ แม่น้ำหวงผู่นี้ยาวราว 114 กิโลเมตร กว้างราว 500 เมตร ลึกราว 9 เมตร เรือหนัก 20,000 ตันผ่านได้


(น.265) รูป 244 นั่งเรือชมทิวทัศน์เห็นหอไข่มุกตะวันออก

(น.267) ตอนนี้มีเรื่องประวัติศาสตร์เล่าแทรกว่า แต่เดิมเป็นเมืองท่าไม่ได้อยู่ตรงนี้ อยู่ลึกไปอีก ในสมัยชุนชิว จ้านกว๋อ สองพันกว่าปีมาแล้วมีขุนนางชื่อ ชุนเฉินจุน นำทหารมาขุดคลอง ชื่อจริงของขุนนางผู้นี้คือ หวงเจี๋ย คนทั้งหลายจึงเรียกคลองหรือแม่น้ำนี้ว่า หวงเจี๋ยผู่ หรือ หวงผู่ คำว่า ผู่ เป็นภาษาโบราณ แปลว่า แม่น้ำ คำอธิบายชื่อแม่น้ำนี้มีอีกอย่างคือ สมัยก่อนเรียกแม่น้ำที่ไหลจากตะวันออกไปตะวันตกว่า เจียง แม่น้ำที่ไหลจากเหนือลงใต้เรียกว่า ผู่ เนื่องจากแม่น้ำนี้ไหลทางขวางซึ่งภาษาจีนเรียกว่า เหิง แปลว่า ขวาง จึงเรียกว่า เหิงผู่ ต่อมาเพี้ยนเป็น หวงผู่ ที่เซี่ยงไฮ้มีสะพานใหญ่อยู่ 3 แห่ง เป็นสะพานแขวน แห่งแรกชื่อ สะพานหยางผู่ มีลวดขึงเป็นรูปตัวเหริน (人) สะพานที่สอง คือ สะพานหนานผู่ ลวดขึงเป็นรูปตัว H สะพานที่สาม คือ สะพานสูว์ผู่ นอกจากนั้นยังมีสะพานอีกแห่งอยู่ชานเมืองเซี่ยงไฮ้ ใช้งบประมาณของอำเภอเฟิ่งเซี่ยนสร้าง จึงเรียกว่า สะพานเฟิ่ง เมืองเซี่ยงไฮ้เป็นเมืองสำคัญที่สุดทางด้านอุตสาหกรรม เพราะนอกจากจะมีสถานีกำเนิดไฟฟ้าหลายโรงแล้ว (โรงไฟฟ้าเก่า ๆ ใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง แต่โรงใหม่ใช้น้ำมัน) ยังมีโรงงานแก๊สธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมัน โรงงานเหล็กกล้า โรงงานอุตสาหกรรมเบา เช่น โรงงานอาหารนมที่ดีที่สุด มีอู่ต่อเรือขนาดใหญ่อีกหลายแห่ง (ที่สำคัญ 6 แห่ง) เรือหลวงสิมิลันก็ต่อที่เซี่ยงไฮ้ นอกจากนั้นยังเป็นท่าเรือที่สำคัญ เพราะอยู่ตรงกลางระหว่างเมืองสำคัญ ๆ ในเอเชียแปซิฟิกคือ ฮ่องกง ไต้หวัน กรุงเทพฯ

(น.268) แม่น้ำหวงผู่บรรจบกับแม่น้ำฉางเจียงที่ปากน้ำอู๋ซง บริเวณนั้นมีประภาคารสีขาวสลับแดง สีของน้ำก็ผิดกันมาก แม่น้ำหวงผู่สีเขียวใส ในขณะที่แม่น้ำฉางเจียงขุ่นสีเหลือง ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับแม่น้ำใหญ่ ๆ ในแม่น้ำมีเรือสินค้าของประเทศต่าง ๆ จอดอยู่ มีเรือของกองทัพเรือจีน เรือขุดตะกอนลำใหญ่ที่สุดของโลก เรือขนถ่านหิน เรือพ่วง ฯลฯ ที่ดินในเซี่ยงไฮ้แพงมาก ทุกตารางเมตรมีราคามหาศาล แต่เนื่องจากจีนมีนโยบายทำให้เมืองเป็นสีเขียว เมืองเซี่ยงไฮ้จึงแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งปลูกต้นไม้ ปลูกมา 40 ปีแล้ว บัดนี้กลายเป็นสวนป่าที่สวยงาม ที่ปากน้ำมีท่าเรือปลอดภาษี มองเห็นเกาะฉางซิง เป็นแหล่งปลูกส้มที่มีชื่อเสียง และถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย ขณะนี้ดอกส้มกำลังบาน ไม่ใช่ฤดูที่ส้มออกผล เวลาส้มออกผลทางการท่องเที่ยวจัดเทศกาลส้ม ต่อสะพานเข้าไปถึงในสวนส้ม มีเกาะอีกเกาะเป็นเกาะของจีนที่ใหญ่เป็นที่ 3 รองจากไต้หวันและไหหลำ ที่ปากน้ำอู๋ซงนี้เป็นฐานทัพที่ 81 (ตึกที่มีดาวแดงติด) ในสมัยสงครามโลก ญี่ปุ่นเข้าโจมตีเซี่ยงไฮ้ตรงนี้ เราขึ้นจากเรือที่ท่าอู๋ซงนี้ นั่งรถไปอู่เรือหู้ตง ดูเรือ ร.ล. สิมิลัน เขาให้ไปเฉพาะคนไทย เจ้าหน้าที่จีนที่ตามข้าพเจ้านั้นก็ให้หงเอี้ยนคนเดียว

(น. 270) ร.ล. สิมิลันนี้เป็นเรือส่งกำลังบำรุงที่ใหญ่ที่สุดของกองทัพเรือ ใช้เวลาต่อเกือบสองปี จะกลับเมืองไทยเร็ว ๆ นี้ เมื่อไปถึงเจ้าของอู่ต่อเรือ (บริษัทไชน่าสเตทชิปบิลดิ้ง) จัดสิงโตและตีม้าล่อต้อนรับ น.อ. ไชยยศ สุนทรนาค ร.น. และผู้แทนกองทัพเรือพาดูเรือ ดูเรือครู่ใหญ่ ถ่ายภาพหมู่กับข้าราชการกองทัพเรือที่ปฏิบัติราชการบน ร.ล. สิมิลันนี้ แล้วกับไปโรงแรม เนื่องจากคืนพรุ่งนี้มีเวลาว่างที่จะเลี้ยงขอบคุณฝ่ายจีนเพราะเป็นคืนสุดท้าย พอดีตรงกับวันเกิดดร.สุเมธ ก็ต้องมีการเตรียมการกันหน่อย มีการสั่งเค้กจีน ข้าพเจ้าต้องทำการ์ดวันเกิดและซองก็เขียนเอาตรงนั้นเอง มีกระดาษที่น้อยซื้อมาเมื่ออยู่หวงซาน พอดีข้าพเจ้ามีพู่กันและสีติดมาด้วยก็เลยเขียนรูปได้ ตัดรูปจากแมกกาซีนจีนประกอบ แล้วล่าลายเซ็นทุกคนทั้งไทยและจีน ตอนค่ำราวหกโมงครึ่งไปที่ห้องอาหารชั้น 4 พบกับท่านนายกเทศมนตรีมหานครเซี่ยงไฮ้ชื่อ สูว์ควงตี๋ ท่านนาย ฯ อายุ 58 ปี เคยเป็นอาจารย์ด้านโลหวิทยา ท่านบอกว่า ท่านได้เห็นข้าพเจ้าในโทรทัศน์เมื่อข้าพเจ้าไปเปิดโรงงานเหล็กกล้าที่เมืองไทยซึ่งไทยและจีน (จากเซี่ยงไฮ้) ลงทุนร่วมกัน ท่านอธิบายว่ามหานครเซี่ยงไฮ้นั้นเป็นเมืองใหญ่ มี 5 เขตในเมือง และมีอีก 6 อำเภอ ประชากร 13 ล้านคน มีเนื้อที่ประมาณ 6,430 ตารางกิโลเมตร เศรษฐกิจของเซี่ยงไฮ้แต่เดิมพัฒนาแต่เพียงเขตตะวันตก แต่หลังจากใน ค.ศ. 1992 ท่านเติ้งเสี่ยวผิงมาเยี่ยมเซี่ยงไฮ้ สั่งให้พัฒนาด้านตะวันออกด้วยคือแถบผู่ตง กล่าวได้ว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา 4 ปีนี้ เซี่ยงไฮ้เจริญเร็วมาก แต่ก่อนอัตราความเจริญทางเศรษฐกิจต่ำกว่าที่อื่น 1 – 2% แต่ปัจจุบันนี้เจริญโดยเฉลี่ย 14% ที่เจริญแบบนี้เพราะให้ชาวต่างประเทศเข้ามา

(น.271) ร่วมลงทุน แต่ก่อนนี้สินค้าประมาณ 75% อยู่ในความควบคุมดูแลของรัฐบาล เป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวทางการค้า ปัจจุบันรัฐบาลลดการควบคุม จะมาเกี่ยวข้องก็เฉพาะค่าเช่าบ้าน ค่าไฟฟ้า อาหารบางประเภทที่ยังจำเป็นต้องควบคุมราคา เช่น นมซึ่งเป็นอาหารที่จำเป็นสำหรับเด็กและคนชรา สินค้าประมาณ 80% ผลิตในเซี่ยงไฮ้ สินค้าประมาณ 97% ที่เซี่ยงไฮ้กำหนดราคาเองโดยไม่อยู่ในความควบคุมของรัฐบาล ระยะเวลา 4 ปีที่ผ่านมานี้มีการลงนามในสัญญาเกี่ยวกับการทำธุรกิจในเซี่ยงไฮ้มากถึง 341 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังจากเปิดผู่ตงเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษแล้ว มีปัญหาหลายประการ ท่านนายกเทศมนตรีกล่าวว่าข้าพเจ้าเป็นมิตรที่ดีของประเทศจีนและเสมือนเป็นญาติ จึงมีความประสงค์จะเล่าถึงปัญหาต่าง ๆ ด้วยนอกเหนือจากเรื่องความสำเร็จ กล่าวคือ การพัฒนาเขตพิเศษผู่ตงต้องย้ายคนมากถึง 1.2 ล้านคนให้ไปอยู่ที่อื่นที่ไกลออกไป การวางแผนเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของคนที่ถูกย้ายก็ทำยากเพราะทุกคนย่อมชอบอยู่ที่เจริญ ไม่ชอบอยู่ที่ห่างไกล ทางการต้องจัดบริการด้านการศึกษาและการสาธารณสุขให้ดี นอกจากนั้นคนจีนชอบอยู่ในเมืองชอบสนุก ตอนเย็นก็ชอบไปนั่งอยู่ที่โรงน้ำชา ไม่เหมือนคนในยุโรปหรืออเมริกาที่ชอบอยู่ชานเมือง (ลืมถามว่าเรื่องนี้แก้อย่างไร) ปัญหาใหญ่อีกอย่างหนึ่งคือ เรื่องผู้ใช้แรงงาน เมื่อมีการปรับปรุงโครงสร้างของอุตสาหกรรม ทำให้ผู้ใช้แรงงานตกงานมากถึง 870,000 คน รัฐบาลพยายามแก้ไขเรื่องนี้มาหลายปีแล้ว จัดหางานให้คนประมาณ 670,000 คน อีกสองแสนคนยังไม่เรียบร้อย เมื่อเทียบกับเมืองอุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็ยังนับว่ามีผู้ใช้แรงงานไม่มาก

(น.272) ประมาณ 4% เท่านั้น แต่เป็นคนอยู่ในวัย 35 – 45 ปี มีภาระเป็นหัวหน้าครอบครัว อีกปัญหาคือ เซี่ยงไฮ้มีประชากรหนาแน่น ฉะนั้นจึงมีมลภาวะมาก พยายามแก้ปัญหาดังนี้
1. เทศบาลพยายามรณรงค์ให้รถที่แล่นในเมืองหรือในเขตใหญ่ ๆ ใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว (จะให้ใช้น้ำมันไร้สารตะกั่วให้หมดในศตวรรษนี้) และไม่ให้ใช้จักรยานยนต์ที่ใจกลางเมือง คือไม่อนุญาตให้จดทะเบียนจักรยานยนต์ในเมือง (ในเขตเทศบาล?) และต้องใช้น้ำมันไร้สารตะกั่ว
2. อุตสาหกรรมที่ใช้ถ่านหินก็จะพยายามให้เลิก บังคับให้โรงงานมีมาตรการกำจัดมลพิษ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงงานที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำหวงผู่และแม่น้ำซูโจว (ในเซี่ยงไฮ้มีโรงงานประมาณ 800 โรง) ตอนนี้แม่น้ำซูโจวมีปัญหาเรื่องมลภาวะมาก
3. ภายในศตวรรษนี้จะต้องให้ชาวเซี่ยงไฮ้ทุกคนมีที่พักอาศัยครอบครัวละ 10 ตารางเมตรให้ได้ ใน ค.ศ. 1990 มีครอบครัวละ 6.6 ตารางเมตร ท่านนายกเทศมนตรีอยากไปกรุงเทพฯ เพื่อศึกษาเปรียบเทียบ พอดีท่านทูตถือหนังสือเชิญมาด้วย

Next >>