Please wait...

<< Back

เสิ่นหยาง

เกล็ดหิมะในสายหมอก
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 1 ปักกิ่ง หน้า111

(น.111) ไปสนามบินพวกสถานทูตมาส่ง คุยกันพักหนึ่ง หวางเมิง ฝากนามบัตรกับหนังสือเล่มใหม่ที่ชื่อว่า “หว่อ- เตอเฮอจิ่ว” แปลว่า “การดื่มเหล้าของผม” มาให้ ขึ้นเครื่องบินบริษัท Northern China บินประมาณ 45 นาที 600 กว่ากิโลเมตร เวลา 21.30 น. เครื่องบินลงสนามบินเสิ่นหยาง มณฑลเหลียวหนิง (เมืองเสิ่นหยางนี้สมัยญี่ปุ่นขึ้นเรียกว่ามุกเดน) อุณหภูมิ -13 ˚C มีท่านรองผู้ว่าราชการมณฑลเกากั๋วจู้กับคณะอีกหลายท่านมารับ ท่านรองฯนั่งรถไปด้วยมีคุณก่วนมู่เป็นล่าม รถยนต์แล่นช้ามากทั้งๆที่ระยะทางก็ไม่ไกลนัก เนื่องจากน้ำแข็งจับถนนลื่นมาก เมื่อปลายปีหิมะตกหนัก ปีนี้หนักกว่าทุกปี ท่านรองฯเป็นคนเมืองนี้ไปโตที่เซี่ยงไฮ้ และกลับมาเป็นนายกเทศมนตรีที่เมืองต้าเหลียน บ้านยังอยู่ต้าเหลียน เวลาสุดสัปดาห์ก็ขับรถจากเสิ่นหยางกลับบ้านประมาณ 3 ชั่วโมง เดี๋ยวนี้มีทางด่วน เปิดใช้มา 4 ปีเศษแล้ว จะสร้างทางไปปักกิ่ง ระยะทาง 700-800 กิโลเมตร

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 2 เหลียวหนิง หน้า44,46,47,55,88

(น.44) คำว่า “ตงหลิง” แปลว่า “สุสานตะวันออก” มีสุสานที่ใช้ชื่อว่า “ตงหลิง” อยู่ 2 แห่ง แห่งหนึ่งคือสุสาน ตงหลิงที่อำเภอจุนฮว้า ในมณฑลเหอเป่ย อยู่นอกเมืองปักกิ่งไปทางตะวันออก อีกแห่งหนึ่งคือสุสานตงหลิงที่อยู่ใกล้ๆเมืองเสิ่นหยางอันเป็นสุสานที่ข้าพเจ้าจะไปเยี่ยมชม ข้าพเจ้ารู้สึกสับสนเรื่องสุสานของพระจักรพรรดิและจักรพรรดินีของราชวงศ์ชิง กลับมาเมืองไทยแล้วจึงได้ศึกษาเพิ่มเติม


(น.46) รูป 63 สุสานตงหลิง

(น.46) ระหว่างเดินทางได้ความรู้ว่าที่ฟูซุ่นมีเหมืองถ่านหินใหญ่ โดยปกติคนที่ทำงานเหมืองต้องลงไปอยู่ใต้ดิน แต่เหมืองที่ฟูซุ่นนี้ตักเอาข้างบนได้ บ้านที่ผ่านไปข้างทาง ถ้าเป็นตึกใหญ่ก็ไม่มีปล่องไฟ แต่ถ้าเป็นบ้างหลังเล็กๆต้องมีปล่องไฟ ตามตึกใช้ central heating บ้านเล็กๆต้องมีเตาผิงใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ถ้าเห็นบ้านไหนมีปล่องไฟสองปล่องหมายถึงมี 2 ครอบครัว อยู่ในบ้านหลังเดียวกัน นี่เป็นความรู้จากคนขับรถ นอกจากบ้านเรือนธรรมดาแล้ว สถานที่ปล่อยควันที่ใหญ่โตของเมืองเสิ่นหยางก็คือโรงงานจ่ายไฟฟ้าด้วยพลังความร้อนที่เรียกว่า เรื่อ (คนเมืองนี้ออกเสียงเป็น แหย) เตี้ยนฉ่าง แต่ถ้าคิดรวมๆแล้วก็ยังน้อยกว่าบ้านเรือน เป็นการลดมลพิษ


(น.47) รูป 64 สุสานตงหลิง

(น.47) สุสานตงหลิงที่เสิ่นหยางนี้มีอีกชื่อหนึ่งว่าฝูหลิงฝู แปลว่าโชคดี หรือความสุข เป็นสุสานของพระเจ้าหนูเอ่อร์ฮาชื่อ ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์ชิงหรือเช็ง และพระมเหสีในราชนิกูลเย่เฮ้อนาลาซื่อ สร้างใน ค.ศ. 1629 เสร็จในปีค.ศ. 1651

(น.55) ไกด์อธิบายว่า สมัยราชวงศ์ชิงมีสุสาน 3 แห่งที่อยู่ใกล้บริเวณเมืองเสิ่นหยาง ได้แก่ สุสานตงหลิงแห่งนี้ สุสานเป่ยหลิงที่จะไปพรุ่งนี้ อีกแห่งชื่อหย่งหลิงอยู่ในเขตปกครองตนเองซินปินหม่านโจว สร้างมาตั้งแต่ราชวงศ์ หมิง เป็นที่ไว้พระศพบรรพบุรุษพระเจ้าหนูเอ่อร์ฮาชื่อหลายชั่วคน แต่ว่าสุสานตงหลิงแห่งนี้ภูมิสถานดีที่สุด ถูกตามตำราทำฮวงซุ้ย คือด้านหน้ามีแม่น้ำหุนเหอ ด้านหลังมีเขาเทียนจู้ สองข้างทางเดินมีต้นสน (2ใบ) ซึ่งเป็นไม้มงคล หมายถึงอายุยืนยาวและเขียวสดเสมอทั้งปี อาคารแรกที่ไปถึงได้แก่เปยถิง คือศาลาศิลาจารึก พระเจ้าคังซีเป็นผู้จารึกในปี ค.ศ. 1688 แสดงพระราชกรณีกิจของพระเจ้าหนูเอ่อร์ฮาชื่อ ศิลารึกนี้เขียนเป็น 3 ภาษา คือภาษาจีน ภาษาแมนจู และภาษามองโกล วางอยู่บนหลังของสัตว์มงคลชนิดหนึ่ง รูปร่างเหมือนเต่า เรียกว่า ปี้ซี่ แบกของหนักได้เก่ง

(น.88) ซิ่วเหยียน เครื่องหยกสมัยราชวงศ์ชิงหลายชิ้นใช้หยกอำเภอนี้เป็นวัตถุดิบ ปีกลายได้หยกมาก้อนหนึ่งสูง 7 เมตร กว้าง 6 เมตร ยาว 5 เมตร หนัก 300 ตัน ได้ขนไปไว้เมืองอันซาน ห่างจากนครเสิ่นหยาง 90 กิโลเมตร บางคนก็เห็นว่าควรจะเก็บไว้ในสภาพเดิมสร้างหลังคาคุมไว้ นายกพุทธสมาคมว่าน่าจะสลักพระพุทธรูป อีกเรื่องทางวัฒนธรรมได้แก่ เรื่องแม่นางเมิ่งเจียงหนู่ที่เจี๋ยสือ เวลานี้สำรวจทราบแล้วว่าพระเจ้าจิ๋นซีเคยเสด็จจริงๆเป็นสถาน ที่สวยงามมาก

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 2 เหลียวหนิง หน้า161

(น.161) วันนี้เป็นวันสุดท้ายในเมืองเสิ่นหยาง มีเรื่องจะเล่าได้อีกมาก แต่เรื่องที่จะเล่าคือ เมื่อปี ค.ศ. 1931 เดือนกันยายน วันที่ 18 ญี่ปุ่นเข้ามายึดครอง เราผ่านอนุสรณ์สถานที่เรียกว่า ฉานลี่ก่วน เป็นอาคารรูปปฏิทินที่เรียกว่า ไถลี่ มีปี เดือน วันเกิดเหตุเขียนไว้ ญี่ปุ่นระเบิดทางรถไฟหนานหม่านซึ่งแต่เดิมเป็นของรัสเซีย แล้วต่อมาญี่ปุ่นควบคุม ญี่ปุ่นจึงใช้เป็นข้ออ้างในการเข้าควบคุมยึดครองเสิ่นหยาง เมื่อญี่ปุ่นแพ้แล้วมีเด็กกำพร้าญี่ปุ่นตกค้างอยู่มากมาย รัฐบาลก็ส่งให้บ้านผู้มีจิตเมตตาเอาไปเลี้ยง กลายเป็นคนจีน

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 3 จี๋หลิน หน้า3

(น.3) ถึงเวลาจะไปให้ของที่ระลึกแก่คณะที่รับรอบที่เสิ่นหยาง ท่านรองผู้ว่าฯ กับทั้งคณะมาส่ง ท่านรองฯ บอกว่าเวลานี้เป็นเวลาอยู่ในช่วงซานจิ่ว คือ 9วันช่วงที่ 3 นับจากวันตงจื้อ จะเป็นช่วงที่หนาวมาก มากกว่านี้ -5 ถึง -10 °C แต่นี่ก็ไม่ค่อยหนาว มาคราวนี้ได้ดูสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่จริงแล้วยังมีที่น่าดูอีกหลายแห่ง เช่นที่เมืองเปิ่นซี 70 กิโลเมตรจากเสิ่นหยาง มีถ้ำธรรมชาติลึก 1,000 กว่าเมตร มีช่องพายเรือได้ จะไปต้องใช้เวลาทั้งวัน มาคราวนี้ก็ได้เจอ “ท่านประธานเหมา” สถานีรถไฟเสิ่นหยางสร้างใหม่เป็นชุมสายรถไฟ สถานีเก่าเลิกไปแล้วใต้สถานีเป็นห้างสรรพสินค้า

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 3 จี๋หลิน หน้า 43,66

(น.43) จักรพรรดิฮิโรฮิโตทรงประกาศยอมแพ้สงคราม 19 สิงหาคม ปูยีถูกจับ ทหารโซเวียตเป็นผู้จับที่สนามบินเสิ่นหยาง แต่แรกว่าจะหนีไปญี่ปุ่นแต่ไปไม่ทัน ปูยีเป็นเชลยศึกที่รัสเซียอยู่ 5 ปี

(น.66) ปี ค.ศ. 1931 ญี่ปุ่นบุกเข้ามาที่เสิ่นหยาง เมื่อยิงกระสุนนัดแรกได้ไม่นานภาคอีสานก็ถูกยึด คนต้องอพยพเข้าไปด่าน (จุงหยวนหรือตงง้วน) เป็นจำนวนมาก หลังจากนั้นมีการสร้างรัฐแมนจูกัว มีภาพปูยีถ่ายกับขุนนางแมนจูกัวและพวกญี่ปุ่น ภาพขุนนางญี่ปุ่นที่เป็นผู้บัญชาการกองพันกวนตง ซึ่งเป็นกองพันทหารญี่ปุ่นประจำแมนจูกัว แสดงว่าแมนจูกัวอยู่ใต้อำนาจญี่ปุ่น (มีเพลงปลุกใจกล่าวถึงเหตุการณ์ตอนนั้น คุณก่วนมู่ฮัมเพลงอยู่ข้างหลัง ไม่กล้าเชิญให้ร้องดังๆ เพราะไม่มีเวลา)

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 3 จี๋หลิน หน้า167


(น.167) รูป 267 เลี้ยงอาหารพื้นเมือง

(น.167) นายกเทศมนตรีเป็นคนชานตุง เป็นผู้เชี่ยวชาญทางคมนาคม เคยสร้างทางจี๋หลิน – ฉางชุน และวางแผนสร้างอีกสายปี ค.ศ. 1995 สร้าง 3 ปี ไปฉางชุน เสิ่นหยาง ปักกิ่ง จากฉางชุนไปอีก 9 เมือง อาหารที่จัดวันนี้เป็นอาหารพื้นเมืองท้องถิ่นจริงๆ ตั้งแต่เหล้าก็เป็นเหล้าแดงทงฮั่ง รากกระเทียมป่า ปลาดิบใบไม้ (ใบต้วน) ห่อข้าวเหนียวไส้ถั่ว ปลานึ่งจากแม่น้ำซงฮัวเจียงเป็นปลาขาว เดิมปลาชนิดนี้เป็นของสำหรับถวายจักรพรรดิโดยเฉพาะ (ของที่เป็นบรรณาการมีอยู่ 4 ชนิดคือ 1. ข้าวไร่ 2. ข้าวฟ่างขาว (อูลาเจียง) 3. ข้าวเจ้า (ปลูกน้ำ) 4. ปลา) นอกจากนั้นมีกบหิมะ (ทั้งคาวและหวาน) เนื้อกวางย่าง ซี่โครงหมูแบบอู๋ซี ซุปข้นเอ็นกวางสามอย่าง (เขา เอ็น หัวใจ) ไก่ฟ้าทอด ที่ข้าพเจ้าชอบมากเป็นพิเศษคือถุงแป้ง ใช้แป้งแบบที่ใช้ห่อเป็ดปักกิ่ง ใส่หอมหัวใหญ่ลงไปก่อน ราดน้ำจิ้มซึ่งเหมือนกับน้ำจิ้มเป็ดปักกิ่ง ใส่ไก่ทอดลงไป สุดท้ายกินสุกี้ใส่หม้อไฟ

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 3 จี๋หลิน หน้า192,193,194

(น.192) ท่านนายกหลี่เผิงเคยทำงานปี ค.ศ. 1955 – 1960 โรงงานนี้เป็นโรงงานแรก ฉะนั้นเป็นสถานที่ผลิตบุคลากรในทางด้านไฟฟ้าพลังน้ำสำหรับทั่วประเทศ (ฝึกงาน) ตอนนั้นใหญ่ที่สุดในเอเชีย คนงาน 1,200 กว่าคน ทำงานห้องควบคุม 5 คน ตัวเขื่อนสร้างสมัยก่อน ปูนคุณภาพไม่ค่อยดี ถึงเวลานี้มีปัญหา –


(น.193) รูป 308 เยี่ยมชมโรงไฟฟ้าที่เฟิงหม่านเป็นโรงไฟฟ้าเก่าแก่ 40 กว่าปีมาแล้ว


รูป 309 เยี่ยมชมโรงไฟฟ้าที่เฟิงหม่านเป็นโรงไฟฟ้าเก่าแก่ 40 กว่าปีมาแล้ว



(น.193) การซ่อมอยู่บ้าง มีการฉีดปูนเสริมความมั่นคงที่รากฐานเพื่อให้ทนน้ำหนักน้ำได้ ตอนนี้จ่ายกระแสไฟฟ้า 8 สายเข้าระบบของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ฮาร์บิน ฉางชุน เสิ่นหยาง (เข้าข่ายไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) มีไฟเพียงพอ ทางน้ำล้น 11 ช่อง
v
(น.194) รูป 310 เยี่ยมชมโรงไฟฟ้าที่เฟิงหม่านเป็นโรงไฟฟ้าเก่าแก่ 40 กว่าปีมาแล้ว

(น.194) ช่วยลดแรงน้ำมิฉะนั้นจะกัดเซาะฝั่งน้ำ หม้อแปลงไฟฟ้าผลิตที่เสิ่นหยาง แปลงกระแสไฟฟ้าเป็น 220,000 โวลท์ มี 2 หม้อ มีหม้อแปลงญี่ปุ่นยี่ห้อฮิตาชิ 40 กว่าปีแล้วยังใช้ได้ดี ท่านรองผู้อำนวยการท่านนี้ทำงานที่นี้ตั้งแต่ ค.ศ. 1952 ตอนนั้นมีแต่เครื่องของสหรัฐฯ กับเยอรมนี เจอน้องสาวคุณก่วนมู่ชื่อก่วนเฟิ่งจือทำงานที่นี่ (คุณก่วนมู่เป็นคนที่นี่)

Next >>