Please wait...

<< Back

กวางโจว

จากหนังสือ

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 55

(น.55) เมื่อการปฏิรูป 100 วันใน ค.ศ. 1898 ของจักรพรรดิกวางสูล้มเหลว กระแสการปฏิรูปอ่อนลง มีนักปฏิรูปถูกประหารชีวิต บ้านเมืองอ่อนแอ จนถึงการก่อการที่ก่วงโจว (กวางโจว) ครั้งที่ 9 ในปีซินไห้ เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1911 มีชาวฝูเจี้ยนเข้าร่วมกับ ดร.ซุนยัตเซ็นจำนวนมาก ในการปฏิวัติที่กวางโจวมีวีรบุรุษ 72 ท่าน หลายท่านเป็นชาวฝูโจว มีอยู่ 19 ท่านที่จารึกชื่อในอนุสาวรีย์ จริงๆ มีมากกว่านั้น ยังมีชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้าร่วมก่อการครั้งนี้อีก 29 คน พวกนี้ตายหมดในคราวเดียวกัน* คนหนึ่งที่มีบทบาทในการปฏิวัติครั้งนี้ ชื่อ หลินเจว้ยหมิน ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1911 มีจดหมายต่างๆ ที่เขาเขียน มาตั้งแสดงไว้ด้วย ลายมือซุนยัตเซ็นที่เขียนว่า “เทียนเซี่ยเหวยกง” “แผ่นดินนี้เป็นของส่วนรวม” (天下为公) หลินซู แปลนิยายฝรั่งเศสมากมาย มีคนแปลให้ฟังและเรียบเรียง (ลักษณะเดียวกับเจ้าพระยาพระคลังแปลสามก๊ก)

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 155

(น.155) ขึ้นไปชมทิวทัศน์บนชั้นบนของตึก เห็นว่ามหาวิทยาลัยนี้มีที่ตั้งดีมาก มีทิวทัศน์ทั้งทะเลและภูเขา (พวกปริญญาโทเอกเรียนบนเขา ที่จริงน่าจะให้พวกปริญญาโทเอกเรียนที่ราบๆ ปริญญาตรียังหนุ่มสาวเดินคล่องแคล่วไปเรียนบนเขา แต่เขาอาจจะให้คนแก่ออกกำลังกายก็ได้) มีหอพัก หอประชุมอยู่ใกล้ถนนรอบเกาะเซี่ยเหมิน มีสระน้ำแบบเดียวกับมหาวิทยาลัยปักกิ่ง กำลังสร้างอาคารต่างๆ เพิ่มเติม มีสนามกีฬา อาคารพิพิธภัณฑ์หลู่ซุ่น ซึ่งมีป้ายอาคารเป็นลายมือของกัวมั่วรั่ว มีรูปปั้นหลู่ซุ่นเป็นฝีมือของอาจารย์ศิลปะในมหาวิทยาลัยนี้เอง ท่านหลู่ซุ่นเคยอยู่ที่เซี่ยเหมินพักหนึ่ง (4 กันยายน ค.ศ. 1926 – 16 มกราคม ค.ศ. 1927) ขณะนั้นคนรักอยู่ที่กวางโจว คนรักชื่อ สี่กว่างผิง เขียนจดหมายถึงกันมีสาระที่น่าสนใจ


(น.155) รูป

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 194

(น.194) ยังดูไม่ทันจะทั่วดีก็ถึงเวลากลับแล้ว เราเดินทางอีกประมาณชั่วโมงถึงสนามบินเซี่ยเหมิน พวกคณะต้อนรับของเมืองเซี่ยเหมินและมณฑลฮกเกี้ยนมาส่งเราเดินทางไปเกาะไหหลำ (เมืองไหโข่ว) ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า แต่ต้องหยุดกลางทางเพื่อเติมน้ำมันที่เมืองจูไห่ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของจูไห่ และนายสถานีท่าอากาศยานมารับ เขาเล่าว่าที่จูไห่มีเกาะถึง 140 เกาะที่การปกครองขึ้นกับเทศบาล (จู่ไห่) มีแม่น้ำจูเจียงกั้น ที่จูไห่เจริญก้าวหน้าด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิส์ ยา อาหาร เครื่องมือ สภาพของเมืองสวยงามบรรยากาศดี จึงมีนักท่องเที่ยวมาก ตามสถิติเป็นอันดับที่ 5 คือ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เซินเจิ้น และจูไห่ ที่เขาภูมิใจคือ เมืองอื่นๆ เป็นเมืองใหญ่แต่จูไห่เป็นเมืองเล็กยังแข่งขันกับเขาได้ มีรายได้ทั้งจากการท่องเที่ยวและรายได้อื่นๆ

เย็นสบายชายน้ำ
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 74

(น.74) ในศตวรรษที่ 20 นี้ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ถึง 3 ครั้งใน ค.ศ.1931, 1935 และ 1954 ตามลำดับ ภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในค.ศ. 1931 และ 1935 ทำให้พื้นที่เพาะปลูกเสียหายถึง 3.4 และ 1.51 ล้านเฮกตาร์ และผู้คนล้มตายถึง 145,000 คน และ 142,000 คนตามลำดับ ส่วนน้ำท่วมที่เกิดขึ้นใน ค.ศ.1954 นั้นทำให้ท่วมพื้นที่เพาะปลูกถึง 3.15 ล้านเฮกตาร์ ผู้คนล้มตายเพียง 33,000 คน แต่ผู้คนที่ได้รับความเสียหายและมีผลกระทบมากถึง 18.88 ล้านคน ทางรถไฟสายกรุงปักกิ่ง-กวางโจวถูกน้ำท่วมใช้งานไม่ได้ถึง 100 วัน นครอู่ฮั่นถูกน้ำท่วมนานถึง 3 เดือน ดังนั้นเมื่อเขื่อนซานเสียก่อสร้างเสร็จก็จะลดอุทกภัยและความเสียหายลงได้อย่างมากมาย

มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 125

(น.125) ประมาณหกโมงเย็นเครื่องบินเพิ่งมาจากกวางโจว การบินไปหลานโจวใช้เวลาชั่วโมงหนึ่ง ขึ้นไปบนเครื่องบินเลี้ยงน้ำชาจีน เชินเชินโคล่า (Shen Shen Cola) เป็นโคล่าที่จีนทำเอง รสเหมือนยาจีน ขนมสมุนไพร มีสรรพคุณมากตามเคย ขนมปังไส้ถั่วแดง ขนมเค้ก ฯลฯ

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 329,330

(น.329) เมื่อเครื่องบินออกท้องฟ้ายังมืดสนิท ข้าพเจ้าเขียนจดหมายถึงตัวเองอีกครั้งหนึ่งสำหรับส่งที่กวางโจว โดยฝากคุณหลิวให้เป็นคนส่ง เพราะหลังจากที่เรากลับแล้ว คุณหลิวว่าจะพักอยู่กวางโจวต่ออีกสัก 2 – 3 วันกับครอบครัว แล้วจึงกลับปักกิ่ง


(น.330) รูป 213. ถึงสนามบินกวางโจว
(น.330) เครื่องบินลงที่กวางโจว มีท่านกงสุลไทยประจำกวางโจว ผู้ว่าราชการมณฑลกวางโจว ผู้แทนสมาพันธ์สตรีของกวางโจว ซึ่งข้าพเจ้าเคยได้พบที่เมืองไทยมา 2 ครั้งแล้วมารับ พานั่งรถไปที่ห้องรับรองของสนามบิน มีข้าราชการสถานกงสุล นักเรียนไทยที่มาเรียนภาษาจีนก่อนที่จะเข้ามหาวิทยาลัยประมาณ 50 คนมาต้อนรับ ท่านผู้ว่าราชการมณฑลกวางโจวถามถึงการเดินทางที่ผ่านมา และสอนให้ทดลองเดินทางสายแพรไหมทางทะเลด้วย ถามว่าสนใจไหม (จริง ๆ แล้วดูเหมือนว่าในจีนมีแค่ฮกเกี้ยน หางโจว กวางโจว เท่านั้น แล้วกลายเป็นเส้นทางจำหน่ายอย่างอื่น ไม่ใช่แพรไหม) ผู้แทนสมาพันธ์สตรีเล่าถึงตอนที่เข้าไปพบข้าพเจ้าและได้ดูงานศิลปาชีพด้วย

เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 243,244

(น. 243) ผ้าปักด้วยไหมของเมืองซูโจวก็มีชื่อเสียงเช่นกัน เป็น 1 ใน 4 ของการปักไหมอันลือชื่อของจีน เรามีพิพิธภัณฑ์ผ้าปัก สถาบันวิจัย

(น. 244) และฝึกสอนการปักผ้า จะได้เห็นพรุ่งนี้ (อีก 3 แห่งคือ กวางโจวในมณฑลกวางตุ้ง ฉังซาในมณฑลหูหนาน และเฉิงตูในมณฑลเสฉวน)

เจียงหนานแสนงาม หน้า 262


(น. 262) รูป 183 พิพิธภัณฑ์ศิลปะไหมปัก
Suzhou Embroidery Art Museum.

(น. 262) ตอนบ่ายไปที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะไหมปักและสถาบันวิจัยการปักผ้าไหม การปักผ้าไหมเป็นงานศิลปะที่มีชื่อเสียงของจีน และมีมานานแล้ว ได้พบผ้าปักไหมในเจดีย์และในสุสานสมัยราชวงศ์ซ่ง การปักผ้าไหมส่วนใหญ่จะอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีน ที่มีชื่อเสียงมากมี 4 เมือง คือ ซูโจว มณฑลเจียงซู กวางโจว มณฑลกวางตุ้ง ฉังซา มณฑลหูหนาน และเฉิงตู มณฑลเสฉวน จนเรียกขานกันว่า ซื่อต้าหมิงซิ่ว หรือ สี่ศิลปะปักอันเลื่องชื่อ เมื่อหลายปีก่อน สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ได้ร่วมกันจัดนิทรรศการศิลปะปักผ้าไหมจากมณฑลหูหนาน ตั้งชื่อว่า วิจิตรบรรจงปัก ไหมเลิศลักษณ์จากหูหนาน ได้เชิญข้าพเจ้าไปเปิดงาน ครั้งนั้นได้เห็นงานงดงามจำนวนมาก ครั้งนี้ได้เห็นที่ซูโจว ซึ่งมีฝีมืองามยิ่งไม่แพ้กันเลย

คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 5

(น.5) เวลาทุ่มหนึ่ง (เวลาที่ซัวเถาเร็วกว่าเวลาในประเทศไทยชั่วโมงหนึ่ง) นายกเทศมนตรีโจวรื่อฟางเลี้ยงที่โรงแรมนั่นเอง ท่านกล่าวว่าคนซัวเถาติดต่อกับคนไทยเสมอมา ท่านเองก็มีเพื่อนเป็นคนไทยตั้งแต่เรียนหนังสืออยู่ที่โรงเรียนมัธยม การที่ข้าพเจ้ามาครั้งนี้หวังว่าจะได้ดูงานทางวัฒนธรรมและเศรษฐกิจของซัวเถาซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ข้าพเจ้าสงสัยว่าเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ซัวเถาต่างจากเขตเศรษฐกิจที่เสิ่นเจิ้นและจูไห่อย่างไร นายกเทศมนตรีอธิบายว่าเหมือนกัน คือแต่ก่อนเป็นเขตชนบท เป็นเพียงหมู่บ้านชาวประมงแล้วมาพัฒนาขึ้นเป็นเมืองท่าพาณิชย์ ต่อมาใน ค.ศ. 1982 จึงยกระดับเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มาพัฒนาอย่างจริงจังคือเมื่อ ค.ศ. 1993 นี่เอง ระดับการพัฒนาของซัวเถาด้อยกว่าเสิ่นเจิ้นและจูไห่บ้าง เห็นได้จากระดับพนักงานรัฐที่มาปฏิบัติงาน มีตำแหน่งต่ำกว่า ท่านนายกเทศมนตรีมีนโยบายสำคัญในการบริหารนครคือ การพัฒนาด้านต่างๆ ได้แก่ การคมนาคม การขนส่ง การพลังงาน การสื่อสาร และการศึกษา ท่านนายกเทศมนตรีเองเป็นคนพื้นที่นี้ ศึกษามาทางการเกษตร แต่ไปรับราชการเป็นนายอำเภอที่หนานไห่ (อยู่ใกล้กวางโจว) อยู่หลายปีเพิ่งเป็นนายกรัฐมนตรีเมื่อสี่ปีมานี่เอง มาอยู่คนเดียวเพราะภรรยาไป

คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 12

(น.12) วลา 8.30 น. ท่านรองนายกเทศมนตรีกั๋วซื่อคุน มานั่งรถด้วยแทนนายกเทศมนตรี (ซึ่งต้องไปประชุมนายกเทศมนตรีเกี่ยวกับเศรษฐกิจที่นครกวางโจว)

คืนถิ่นจีนใหญ่หน้า 51,52,53,54,56

(น.51) นายเฉินเฮ่าเหวิน รองนายกเทศมนตรีเมืองเฉาโจว (แต้จิ๋ว) ต้อนรับ เขากล่าวว่า นายกเทศมนตรีไม่อยู่เพราะต้องไปประชุมที่กวางโจว เขาอธิบายเรื่องเมืองแต้จิ๋วว่า มีประชากร 2,300,000 คน มี 2 อำเภอ 2 เขต ขึ้นกับรัฐบาลมณฑลกวางตุ้ง มีประวัติยาวนานมาถึง 1,600 กว่าปี มีโบราณสถาน โบราณวัตถุมาก บรรพบุรุษของชาวจีนอพยพส่วนใหญ่มาจากเมืองนี้ โดยเฉพาะพวกที่อยู่เมืองไทย ฉะนั้นจะมีการประชุมชาวแต้จิ๋วทั่วโลกที่นี่

(น.51) รูป 47 อาหารกลางวันที่โรงแรมจินม่าน จากนั้นนั่งรถกลับไปขึ้นเครื่องบินลำเดิมที่สนามบินซัวเถาไปนครกวางโจว นครกวางโจวนี้เป็นเมืองหลวงของมณฑลกวางตุ้งอยู่ตอนบนของที่ราบลุ่มแม่น้ำจูเจียง หรือแม่น้ำไข่มุก นครกวางโจวนี้ถือว่าเก่าแก่มาก มีอายุกว่า 2,200 ปี ตั้งเมืองมาตั้งแต่ก่อนสมัยสามก๊ก มีประวัติเป็นนิทานปรัมปราเล่ากันว่า ในอดีตมีเทวดา 5 องค์ ขี่แพะ 5 ตัว ลงจากสวรรค์ มาที่กวางโจวนี้เพื่อนำรวงข้าวมาให้ชาวบ้าน ทำให้เมืองนี้อุดมสมบูรณ์ ปัจจุบันนี้เป็นเมืองหลักทางตะวันออกเฉียงใต้ของจีนในการค้าระหว่างประเทศ เป็นเมืองขนาด

(น.53) ใหญ่ที่สุดของจีนตอนใต้ มีงานแสดงสินค้าส่งออกของจีนปีละ 2 ครั้งมาตั้งแต่ ค.ศ. 1957 เมื่อไปถึงสนามบินมีนายหลูจงเหอ รองผู้ว่าราชการมณฑลมาต้อนรับ พาไปที่มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศและการค้าต่างประเทศกวางโจว ระหว่างทางได้ชมตัวเมืองกวางโจวซึ่งเป็นเมืองใหญ่ มีการก่อสร้างมาก มีแต่ตึกสูงๆ สร้างแทนตึกเก่าๆ ที่อยู่อาศัยก็ดูจะกลายเป็นคอนโดหรืออาคารสงเคราะห์ไปหมด ถนนหนทางมาก มีถนนให้คนเดิน ถนนจักรยาน ผู้คนมีจำนวนมาก แต่บ้านเมืองก็ดูสะอาดดี มีคนเก็บขยะแต่งชุดสีแดงคอยเก็บกวาด ในเมืองมีป้ายคำขวัญการคืนฮ่องกงตลอดทาง เมื่อไปถึงมหาวิทยาลัย อธิการบดีคือ ศาสตรจารย์หวงเจี้ยนหัวและคณาจารย์ต้อนรับ พาขึ้นไปที่ห้องรับแขก อาคารคณะภาษาตะวันออก ชั้นที่ 5 (เดินขึ้นไป) อธิการบดีแนะนำมหาวิทยาลัยว่ามหาวิทยาลัยนี้ขึ้นตรงกับมณฑลกวางตุ้ง ก่อตั้งเมื่อค.ศ. 1995 โดยการรวมมหาวิทยาลัย 2 แห่งคือ มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศกวางโจว ซึ่งขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการ และมหาวิทยาลัยการค้าต่างประเทศกวางโจว ซึ่งขึ้นกับกระทรวงการคลังเข้าด้วยกัน มหาวิทยาลัยภาษาต่างประเทศกวางโจวตั้งขึ้นตั้งแต่ ค.ศ. 1965 ผู้ตั้งคือ นายกรัฐมนตรี โจวเอินไหล ตั้งแต่ ค.ศ. 1965-1995 มีนักศึกษาที่สำเร็จระดับอนุปริญญาและปริญญาตรีไปกว่า 9,000 คน ปริญญาโทและปริญญาเอกกว่า 200 คน รวมทั้งยังอบรมภาษาให้บุคคลภายนอกอีกกว่า 10,000 คน นับว่าเป็นศูนย์อบรมทางภาษาที่สำคัญ


(น.54) รูป 48 อธิการบดีให้หนังสือประวัติศาสตร์วัฒนธรรมจีน

(น.54) ของจีนตอนใต้ ข้าพเจ้าเข้าใจว่าเป็นด้วยสายตาที่กว้างไกลของท่านโจวเอินไหล เนื่องจากต่อมาเป็นยุคที่จีนต้องเปิดประเทศ ติดต่อกับโลกกว้างกว่าแต่ก่อน ความรู้ทางภาษาเป็นเรื่องจำเป็นมาก สำหรับมหาวิทยาลัยการค้าต่างประเทศกวางโจว ก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1980 มีนักศึกษาจบการศึกษาระดับอนุปริญญาและปริญญาตรีไปแล้วกว่า 2,000 คน จบปริญญาโท 11 คน มีพนักงานของรัฐเข้าอบรมกว่า 6,000 คน มหาวิทยาลัยแห่งนี้เปิดเมื่อจีนยุคเติ้งเสี่ยวผิงเริ่มเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจ จากระบบสังคมนิยม 100% มาเป็นเศรษฐกิจการตลาดมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีบุคคลากรระบบใหม่ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยนี้เปิดสอน 11 คณะ มีการสอนภาษารวม 9 ภาษา คือ อังกฤษ เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน รัสเซีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เวียดนาม และไทย มหาวิทยาลัยเปิดสอนภาษาไทยมาตั้งแต่ค.ศ. 1970 ใช้ระบบการสอนแบบ 5 ปี มีนักศึกษาจบไปแล้ว 5 รุ่น รุ่นที่กำลังศึกษาอยู่นี้ป็นรุ่นที่ 6 (ตอนนี้เขาบอกว่านักศึกษาต้องจบก่อนจึงรับรุ่นใหม่เพราะครูไม่พอ) มีนักศึกษา 12 คน ที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้เคยมีนักศึกษาไทยมาเรียนภาษาจีน 5 คน แต่จบไปแล้ว

(น.56) ครูที่นี่ทำตำราเรียนเอง มีบทอ่าน ศัพท์ เหมือนตำราเรียนภาษาจีนที่ให้คนต่างชาติเรียนภาษาจีน นักศึกษาทำแบบฝึกหัด แต่งประโยค ตอบคำถาม ลายมือดี แต่สำนวนภาษาในหนังสือค่อนข้างจะหวือหวาไปสักหน่อย เช่น หนาวเย็นจนโลหิตเยือกแข็ง เห็นแล้วมานึกถึงการแปลภาษาจีนเป็นภาษาไทยสมัยก่อนที่เขาไม่ใช้แล้วในปัจจุบัน เช่น ขอต้อนรับท่านอย่างเอิกเกริกและเร่าร้อน อีกประการหนึ่งการสอนภาษานั้นจะให้อ่านสำนวนที่หวือหวาหน่อยก็ได้ แต่ต้องบอกให้ชัดว่าภาษาเช่นนั้นใช้ในโอกาสอะไร เรื่องนี้สอนกันยาก นักศึกษาและครูอาจารย์ที่นี่ดูเป็นคนกระตือรือร้นสนใจใฝ่รู้ดี ถ้านักศึกษาได้อ่านหนังสือภาษาไทยทั่วๆ ไปหรือดูหนังดูละครไทยมากหน่อยหรือให้อาจารย์ผู้ใหญ่ของไทยมาแนะนำแนวทางสักเล็กน้อยก็อาจจะเรียนภาษาได้เหมือนคนไทย ดูในห้องสมุดภาษาไทยซึ่งอยู่ในห้องพักครูมีหนังสือน้อยมาก ที่มีส่วนใหญ่เป็นวารสารและนิตยสารเช่น นาวิกศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม เมืองโบราณ ค่อนข้างเก่า มีหนังสือวรรณคดี หนังสือแบบเรียนภาษาไทยของพระยาศรีสุนทรโวหาร หนังสืออื่นๆ เล็กน้อย ท่านรองผู้ว่าราชการมณฑลบอกว่าที่กวางโจวนี้มีมหาวิทยาลัยและวิทยาลัยมาก เช่น มหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ สถาบันศิลปะ ตัวเขาเองเรียนมาทางเคมีสาขาโพลิเมอร์ แต่ก่อนเคยเป็นประธานสภาวิทยาศาสตร์สาขากวางตุ้ง เดี๋ยวนี้ยังดูแลเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 58,60,63,68,69,70,71,72,78,79,80,82,83,84,87,88,106

(น.58) วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน 2540
เช้านี้ลงไปที่ห้องอาหารพบกับอาจารย์อำพล พรรณเชษฐ์เลยชวนอาจารย์รับประทานอาหารเช้าด้วย อาจารย์มาที่มหาวิทยาลัยจงซานเพื่อมาปาฐกถาเกี่ยวกับจีนโพ้นทะเล อาจารย์เคยบรรยายหัวข้อนี้ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งมาแล้ว จากนี้อาจารย์จะไปฮ่องกงเพื่อสังเกตการณ์การคืนสู่เหย้า เวลา 08.30 น. เดินทางไปพิพิธภัณฑ์สุสานกษัตริย์หนานเยว่ริมแม่น้ำจูเจียง มีคนมารำมวยจีน คนที่ขับรถให้เราก็เป็นคนเดียวกับที่ขับให้ที่ซัวเถา แต้จิ๋ว เขาขับรถมาจากซัวเถา 5 ชั่วโมง มาถึงเมื่อคืนนี้ คนที่มานั่งด้วยเป็นรองนายกเทศมนตรีหญิงหวังโช่วชู รองฯ หวังเคยพบกับข้าพเจ้าหลายครั้งแล้ว ทั้งที่เมืองไทย ซึ่งเขาไปในนามสภาสตรีและสโมสรไลอ้อน (เขาแปลของเขาว่า สโมสรสิงโต) และที่กวางโจวเมื่อข้าพเจ้าเดินทางกลับจากการเดินทางตามเส้นทางสายแพรไหมเมื่อ 7 ปีมาแล้ว เขาบอกว่าเมื่อไปส่งข้าพเจ้าที่พิพิธภัณฑ์แล้วก็ต้องขอตัวตามข้าพเจ้าไปตลอดไม่ได้ เพราะจะต้องเป็นประธานเปิดรถไฟใต้ดิน คิดโครงการก็นานแล้ว สร้างก็อีกนาน เพิ่งใช้ได้เพียงส่วนเดียว ยังต้องสร้างต่อไป พิพิธภัณฑ์นี้สร้างครอบสุสานจริงๆ เอาไว้ สร้างด้วยปูนทาสีอิฐ ขุดพบสุสานนี้เมื่อ ค.ศ. 1983 เมื่อจะสร้างอาคารที่อยู่อาศัย นักโบราณคดีมาศึกษาดู พบข้าวของจำนวนมาก สันนิษฐานว่าเป็นที่ฝังพระศพพระเจ้าแผ่นดินแคว้นหนานเยว่

(น.60) คำว่า เยว่ นั้นพจนานุกรมบอกว่าเป็นแคว้นหนึ่งในสมัยโจวตะวันออก (770-256 ก่อนคริสต์กาล) ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเจ้อเจียง และเจียงซู ตัวอักษรจีนเขียนดังนี้ 越 นั่นเป็นพวกที่หนึ่ง พวกนี้ถูกพระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ผนวกดินแดน พวกที่ 2 คือพวกหนานเยว่(南越) มีข้อน่าสังเกตว่าจีนเรียกประเทศเวียดนามว่า เยว่หนาน(越南) และใช้ตัวอักษรเดียวกันกับพวกหนานเยว่ในกวางโจว ข้าพเจ้าคิดว่าพวกหนานเยว่อาจจะเป็นบรรพบุรุษของคนเวียดนามในปัจจุบัน น่าสังเกตว่ามีอีกคำที่อ่านว่า เยว่ เหมือนกันแต่ใช้อักษรคนละตัว 粤 หมายถึงมณฑลกวางตุ้งและกวางสี ข้าพเจ้าเคยได้ยินว่าคนจีนเรียกชนเผ่าต่างๆที่อยู่ทางตอนใต้ว่า ไป่เยว่ แปลว่าเยว่ร้อยเผ่า ในร้อยเผ่านี้มีเผ่าไทอยู่ด้วย สุสานที่เราดูเป็นของพระเจ้าแผ่นดินองค์ที่ 2 ของหนานเยว่ท่านสืบเชื้อสายมาจากทหารของจักรพรรดิจิ๋นซีฮ่องเต้ ซึ่งกรีฑาทัพมาผนวกดินแดนที่หลิ่งหนาน (ปัจจุบันคือ มณฑลกวางตุ้งและกวางสี) ในปี 214 ก่อนคริสต์กาล ปลายสมัยราชวงศ์ฉิน (221-206 ก่อนค.ศ.) บ้านเมืองวุ่นวาย ท่านนายพลเจ้าถัวถือโอกาสสถาปนาอาณาจักรหนานเยว่ สืบราชสมบัติกันมา 5 รัชกาลก็สิ้นวงศ์ รวมเวลา 93 ปี เป็นสมัยเดียวกับอาณาจักรฮั่นตะวันตก

(น.63) ห้องด้านตะวันออกมีศพ 7 ศพ เข้าใจว่าเป็นศพคนรับใช้ มีศพเด็กอายุราว 8 ปีด้วย ศพหมู ศพวัว เขาว่าไม่ใช่ฝังทั้งเป็น ตายแล้วจึงฝัง (ไม่ทราบรู้ได้อย่างไร) ห้องโถงหน้าห้องประธานก็มีศพ นักวิจัยว่าเป็นศพของผู้จัดการสุสาน รวม 16 ศพ (จักรพรรดิ 1 สนม 4 คนใช้ 7 ผู้ดูแล 1 นักดนตรี 1 คนเฝ้าประตู 1 สารถี 1) วัตถุที่พบที่สำคัญที่สุดมีพระราชลัญจกรทองของจักรพรรดิ ตราหยกของมเหสี เครื่องถ้วย เครื่องหยก เครื่องไม้ต่างๆ เมื่อดูวิดีโอจบแล้วเดินดูของจริง เข้าไปในสุสาน ข้างในตั้งรับกล่องบริจาคเงิน สุสานนี้แปลกที่มีทางเข้าได้ 2 ทาง เนินที่เป็นสุสานนี้สูงถึง 18 เมตร เท่ากับตึกสูง 6 ชั้น ขุดยากเพราะว่าเป็นหิน เป็นสุสานหินที่เก่าแก่ที่สุดของจีน ขุดลึก 13 เมตรจึงพบสุสาน ปีที่แล้วฉลองกวางโจวอายุครบ 2,200 ปี กล่าวว่าเป็นเมืองที่จักรพรรดิองค์นี้สร้าง มีตู้แสดงพระราชลัญจกร ซึ่งมีรูปมังกรอยู่ด้านบน กว้าง 3.1 เซนติเมตร ยาว 3 เซนติเมตร หนา 1.8 เซนติเมตร หนัก 148.5 กรัม มีตัวอักษรจารึกว่า เหวินตี้ นับว่าเป็นพระราชลัญจกรที่ใหญ่ที่สุด เดิมไม่ชอบทำใหญ่เพราะต้องพกติดตัวไปไหนๆ สมัยถังและซ้องก็ยังทำเล็กๆ ส่วนสมัยหยวนทำขนาดใหญ่

(น.68) ที่หมายที่ 2 พิพิธภัณฑ์กวางโจว ตึกพิพิธภัณฑ์นี้เป็นตึกโบราณชื่อว่า เจิ้งไห่โหลว แปลตามศัพท์ว่า ตึกหันสู่ทะเล มีความหมายว่า ตึกชมทะเล อยู่บนเนินเขาเยว่ซิ่ว เป็นอาคาร 5 ชั้นแบบจีน สูง 28 เมตร สร้างเมื่อ ค.ศ. 1380 สมัยราชวงศ์หมิง ผู้สร้างคือนายพลจูเลี่ยงลู่ ซึ่งมาปกครองดินแดนกวางตุ้ง


(น.69) รูป 64 พิพิธภัณฑ์กวางโจว

Next >>