Please wait...

<< Back

ราชวงศ์สุย

จากหนังสือ

เกล็ดหิมะในสายหมอก
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 2 เหลียวหนิง หน้า 31

(น.31) พุทธศาสนาเข้ามาทางตะวันตกประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 4 ตามเส้นทางแพรไหมสายทุ้งหญ้า โดยที่คนกลุ่มน้อยนำเข้ามา มีศิลาจารึกวางบนหลังเต่า สมัยราชวงศ์เหนือ-ใต้ สิ่งที่แปลกอย่างหนึ่งคือ รองเท้าหนามสำหรับเดินบนหิมะ สมัยสุยและถังมีเครื่องเคลือบ 3 สี พิพิธภัณฑ์แสดงรูปจำลองหลุมศพ พบในเฉาหยางซึ่งอยู่ทางตะวันตกของเหลียวหนิง หลุมศพสมัยนี้มีตุ๊กตาเช่นเดียวกับสุสานจิ๋นซี แต่ตัวขนาดเล็ก

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 5 ภาคผนวก หน้า 12

(น.12) 11. ราชวงศ์สุย ค.ศ. 581 – 618
ราชวงศ์สุยยึดอำนาจจากราชวงศ์โจวเหนือใน ค.ศ. 581 พอถึง ค.ศ. 589 ก็ล้มราชวงศ์เฉินในภาคใต้ได้ ประเทศจีนจึงรวมเป็นปึกแผ่นอีกครั้งหนึ่ง

แกะรอยโสม
แกะรอยโสม หน้า 162-163

(น.162) จากบริเวณที่อยู่ของมนุษย์ปักกิ่ง เราไปวัดกันต่ออีก วัดนี้ชื่อวัดหยุนจู สร้างขึ้นในสมัยช่วงคาบเกี่ยวกันระหว่างตอนปลายราชวงศ์สุย ต้นราชวงศ์ถัง มีชื่อเรียกอีกชื่อว่าวัดซีหยูว อยู่ที่หมู่บ้านฉุ่ยโถว ตำบลฝังชาน ทางตะวันตกเฉียงใต้ของปักกิ่ง เมื่อเราไปถึงมีผู้ดูแลวัดเป็นฆราวาสมาต้อนรับ

(น.163) ให้ไก๊ด์คนหนึ่งเป็นผู้หญิงพูดภาษาอังกฤษได้ช่วยอธิบาย บางทีก็พูดเป็นภาษาจีนให้คุณก่วนมู่แปล สิ่งสำคัญที่สุดในวัดนี้ก็คือแผ่นศิลาจารึกพระไตรปิฎก ข้าพเจ้ามีข้อเสียที่อ่านหนังสือได้น้อยมากจึงได้แต่ฟังจากที่เขาอธิบายเป็นส่วนใหญ่ เข้าใจว่าแผ่นศิลาจารึกนั้นมิได้มีเฉพาะแต่พระไตรปิฎก จะมีประวัติการสร้างพระไตรปิฎกนี้ด้วย จึงทำให้ผู้อ่านได้รับความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ พุทธศาสนา การสลักพระไตรปิฎกนี้ก็ไม่ได้ทำเสร็จภายในคราวเดียวกัน เขาว่าทำในราชวงศ์สุย ถัง เหลียว จิน หยวน หมิง ชิง และน่าภาคภูมิใจว่าเป็นพระไตรปิฎกภาษาจีนที่สมบูรณ์ที่สุด วัดนี้อยู่ระหว่างการบูรณะฟื้นฟู ค่าใช้จ่ายมาจากเงินบริจาคของราษฎร และการอุดหนุนของรัฐบาล เขาว่าที่นี่เป็นถ้ำตุนหวงของปักกิ่งทีเดียว

เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 175,184-185,196-197

(น. 175) ราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581 - 618) ซึ่งเป็นสมัยที่ขุดคลองใหญ่จากทางเหนือลงมาทางใต้ ทำให้เมืองหยังโจวเป็นศูนย์กลางการคมนาคมทั้งทางบกและทางน้ำ พบเรือขุดที่บริเวณคลองใหญ่ ทำจากไม้หนานมู่ขนาดใหญ่ต้นเดียว มีผู้กล่าวว่าสุสานของจักรพรรดิสุยหยังตี้ก็อยู่ในเมืองนี้ ของที่พบมีแท่นฝนหมึกรูปกลม เครื่องกระเบื้อง กระเบื้องมุงหลังคา แสดงว่าบริเวณนี้มีการสร้างวัดกันมาก

(น. 184) ทะเลสาบโซ่วซีหู ทิวทัศน์ที่เลื่องชื่อลือนามของทะเลสาบนี้มีอยู่ 24 จุด และมีสะพานแบบต่างๆ 10 แบบ เดือนที่ดีที่สุดคือเดือนนี้ เพราะจะได้เห็นท้อสีแดงกับหลิวสีเขียว หลิวที่เห็นที่นี่เรียกว่า หยังหลิว (ต้นหลิวนั้นภาษาจีนกลางออกเสียงว่า หลิ่ว แต่คนไทยออกเสียงว่า หลิว จนคุ้นกับเสียงนี้) มีประวัติว่าสมัยจักรพรรดิสุยหยังตี้ (ค.ศ. 605 – 617) ประทับเรือมังกรให้ผู้หญิงลาก อากาศร้อนเหงื่อออกดูไม่งาม จึงให้ปลูกต้นหลิวเพื่อกันแดด ต้นหลิวทั้งสวยทั้งเป็น

(น. 185)ประโยชน์ จึงให้แซ่ของพระองค์ (แซ่ราชวงศ์สุย) ซึ่งใช้ชื่อแซ่ว่า หยัง เป็นส่วนหนึ่งของชื่อต้นหลิว ในสมัยราชวงศ์ซ่งและหยวน เมืองหยังโจวเป็นท่าเรือสำคัญ มาร์โคโปโลก็เคยมา มีบทกวีที่กล่าวถึงเสียงนกร้อง 1,000 เสียง สีเขียวของหลิวและสีแดงของท้อตัดกันงดงาม มีตลาดดอกไม้และนก รวมทั้งมีสวนไม้ดัด (แบบบอนไซ) สมัยราชวงศ์สุยการทำไม้ดัดมีชื่อเสียงมาก มีอิทธิพลต่อการดัดบอนไซในญี่ปุ่น การดัดต้องเริ่มตั้งแต่ต้นไม้ยังเล็กๆ กว่าจะได้ดีๆ สักต้นต้องใช้เวลาหลายชั่วอายุคน ฝีมือละเอียดมาก

(น. 196) พระเจดีย์ชีหลิง ตามประวัติว่าสร้างสมัยราชวงศ์สุย มี 9 ชั้น ทุกชั้นมีพระพุทธรูป แต่เขาไม่ได้ให้ปีนขึ้นไป ให้ดูแต่ชั้นล่างมีพระหินขาวของพม่า ทั้งพระนั่งและพระนอน ผู้ว่าราชการเมืองย่างกุ้งเป็นผู้ถวาย ชมรอบๆ วัดอีกนิดหน่อย แล้วกลับที่พัก

(น. 197) ข้าพเจ้ามาเยือนหยังโจวสั้นๆ เพียงวันเดียว ได้ไปเยี่ยมชมสถานที่ 4 แห่ง เมื่อกลับมาแล้วได้ค้นข้อมูลเพิ่มเติม หยังโจวเป็นเมืองเก่าแก่ มีหลักฐานให้ศึกษาย้อนหลังไปถึงปลายสมัยชุนชิว (ก่อน ค.ศ. 770 – ก่อน ค.ศ. 476) เป็นเมืองในแคว้นอู๋ เดิมมีชื่อว่า หันเฉิง ตามชื่อคลองขุดหันโกว ที่พระเจ้าฟูชาโปรดให้ขุดขึ้นในปี 486 ก่อนคริสตกาล เพื่อเชื่อมแม่น้ำฉังเจียงและแม่น้ำหวยเหอ ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตั้งเป็นแคว้นชื่อว่า ก่วงหลิง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น หยังโจว ในสมัยราชวงศ์สุย และได้ใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน เมืองหยังโจวตั้งอยู่กลางมณฑลเจียงซูทางฝั่งเหนือของแม่น้ำฉังเจียง และอยู่ริมฝั่งคลองต้าอวิ้นเหอหรือคลองใหญ่ (Grand Canal) ที่ผ่านเมืองนี้ด้วย จักรพรรดิสุยหยังตี้เกณฑ์แรงงานมหาศาลมาขุดคลองนี้เพื่อเชื่อมการคมนาคมทางน้ำระหว่างภาคเหนือและภาคใต้ โดยอาศัยแนวคลองหันโกวเป็นหลัก คลองต้าอวิ้นเหอเริ่มจากอำเภอทงเซี่ยนในปักกิ่ง ผ่านเทียนสิน มณฑลเหอเป่ย มณฑลซานตง มณฑลเจียงซู และมาสิ้นสุดที่หังโจวใน

เจียงหนานแสนงาม หน้า 281

(น. 281) ซูโจวตั้งอยู่ทางตอนใต้ของมณฑลเจียงซูติดกับฝั่งตะวันออกของทะเลสาบไท่หู มีคลองต้าอวิ้นเหอหรือคลองใหญ่ไหลผ่านทางตะวันตกของตัวเมือง รวมทั้งอยู่บนเส้นทางรถไฟเซี่ยงไฮ้-นานกิงด้วย ซูโจวมีประวัติให้ศึกษาย้อนหลังไปได้ถึงสมัยชุนชิว ในสมัยนี้เคยเป็นเมืองหลวงของแคว้นอู๋ ในสมัยราชวงศ์ฉินเปลี่ยนฐานะเป็นอำเภออู๋ สมัยราชวงศ์สุยปรับฐานะกลับมาเป็นเมืองชื่อว่า ซูโจว โดยได้ชื่อเมืองมาจากภูเขาของที่นี่

เจียงหนานแสนงาม หน้า 291-292

(น. 291) พิพิธภัณฑ์มณฑลเจ้อเจียง
สมัยราชวงศ์สุย ถัง ห้าราชวงศ์ แสดงเครื่องประดับ เช่น ปิ่นปักผม และอุปกรณ์เกี่ยวกับอาหารการกิน เช่น ทัพพี ของที่ใช้ในพิธีชงชา กระโถน ชามฝาสลักลายฉลุ

(น. 292) หังโจวตั้งอยู่ทางตอนเหนือของมณฑลเจ้อเจียง ในช่วงปลายของแม่น้ำเฉียนถังเจียงทางฝั่งเหนือ คลองขุดต้าอวิ้นเหอไหลมาสิ้นสุดที่หังโจว เป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ปรากฏร่องรอยหลักฐานให้ศึกษาย้อนหลังไปได้ถึง 7,000 ปี (วัฒนธรรมหินใหม่เหอมู่ตู้) ในสมัยราชวงศ์ฉินมีชื่อเรียกขานกันว่า เมืองเฉียนถัง ในสมัยราชวงศ์สุยเปลี่ยนชื่อเป็นหังโจว ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 เคยเป็นเมืองหลวงของแคว้นอู๋เย่ว์

เจียงหนานแสนงาม หน้า 331-332

(น. 331) ช่วงที่ราชวงศ์จิ้นมาอยู่ทางใต้นั้นได้นำวัฒนธรรมจีนในภาคเหนือลงมาด้วย ดินแดนเจียงหนานซึ่งได้สร้างความเจริญด้านวัฒนธรรมของตนเองมาแล้วตั้งแต่สมัยโบราณ จึงได้รับวัฒนธรรมจาดจุดก่อเกิดพัฒนาให้งอกเงยยิ่งๆ ขึ้น ต่อจากราชวงศ์จิ้นตะวันออก มีราชวงศ์ต่างๆ สืบต่อมาจนถึง ค.ศ. 589 อีก 4 ราชวงศ์ เรียกรวมกันว่า ราชวงศ์ใต้ (หนานเฉา) ประวัติศาสตร์จีนในช่วง ค.ศ. 317 – 589 จึงเรียกกันว่า สมัยราชวงศ์เหนือใต้ (หนานเป่ยเฉา) เป็นช่วงแห่งการแตกแยกทางการเมือง มารวมประเทศได้อีกครั้งหนึ่งในสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581 – 618) ต่อด้วยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 – 907) แม้การเมืองในสมัยนี้จะแตกแยกกันอยู่ 200 กว่าปี แต่วัฒนธรรมรุ่งเรือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธศาสนาและพุทธศิลป์ อีกช่วงหนึ่งที่มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญในเจียงหนานคือ สมัยราชวงศ์ซ่งอพยพลงมาอยู่ทางใต้ มาตั้งเมืองหลวงที่หังโจว ผู้คนทั้งชาวบ้าน ปัญญาชน พ่อค้า ขุนนาง และวัฒนธรรม

(น. 332) ความเจริญในสมัยราชวงศ์สุย ถัง และซ่งเหนือได้เคลื่อนลงมาด้วย มาเพิ่มความเจริญยิ่งๆ ขึ้นแก่เจียงหนานซึ่งเจริญอยู่แล้วให้โดดเด่นทางวัฒนธรรม ณ ที่นี้ พวกปัญญาชนได้มาชุมนุมกัน และยังเป็นศูนย์รวมของห้องสมุดส่วนตัวที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง จึงไม่น่าประหลาดใจเลยว่า นับแต่สมัยราชวงศ์หมิงเป็นต้นมา เจียงหนานมีผู้สอบได้เป็นจิ้นซื่อมากกว่าภาคอื่นๆ

ใต้เมฆที่เมฆใต้
ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 209-210

(น.209)เขตการปกครองต่างๆ ของจีนทั้งในอดีตและปัจจุบันนั้น ผู้เขียนพยายามหาคำศัพท์ภาษาไทยที่มีความหมายใกล้เคียงสอดคล้องกับคำในภาษาจีน ในขณะเดียวกันก็หาศัพท์ที่คนไทยคุ้นเคย เพื่อสื่อความหมายให้ใกล้เคียงที่สุด และให้คนไทยเข้าใจได้ด้วย คำแปลเหล่านี้จึงเป็นเพียงการเสนอแนะของผู้เขียน เพื่อให้ผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้าทางด้านจีนวิทยาได้ช่วยกันอภิปรายพิจารณากันต่อไป
1. เขตการปกครองของจีนในอดีต ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นชุมชน ศูนย์กลางของสังคมอยู่ที่หมู่บ้าน แล้วจึงค่อยๆ พัฒนามาเป็นสังคมเมืองที่มีการจัดระเบียบสังคมและการปกครองที่ซับซ้อนขึ้น จีนเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน การจัดระเบียบเขตการปกครองของจีนมีหลักฐานให้ศึกษาย้อนกลับไปได้ถึงสมัยชุนชิว (770-476 ปีก่อน ค.ศ.) ในสมัยนี้มีการจัดตั้งเขตการปกครองที่เรียกว่า “เสี้ยน” (Xian) หลังจากนั้นการจัดตั้งเขตการปกครองได้ปรับเปลี่ยนวิวัฒนาการสืบต่อมา จนกล่าวได้ว่าลงตัวในสมัยราชวงศ์ถัง ในสมัยราชวงศ์ซ่ง หยวน หมิง และชิง มีการปรับเปลี่ยนหรือมีการจัดเขตการปกครองที่ใช้เฉพาะสมัยบ้าง แต่ยังคงใช้โครงสร้างหลักสมัยราชวงศ์ถัง คำศัพท์เกี่ยวกับเขตการปกครองของจีนในอดีตที่จะกล่าวถึงในภาคผนวกนี้มี 10 คำ คือคำว่า เสี้ยน (Xian) จวิ้น (Jun) โจว (Zhou) เต้า (Dao) ฝู่ (Fu) ลู่ (Lu) จวิน (Jun) เจี้ยน (Jian) สิงเสิ่ง (Xing Sheng) หรือเสิ่ง (Sheng) และทิง (Ting) ดังจะได้กล่าวอย่างสังเขปตามลำดับต่อไป
1.1 เสี้ยน (县) ตามหลักฐาน การจัดตั้งเขตการปกครองที่เรียกว่า “เสี้ยน” มีขึ้นครั้งแรก เมื่อประมาณ 688 หรือ 687 ปีก่อน ค.ศ. ดังที่ปรากฏคำนี้ในแคว้นฉิน แคว้นจิ้น และแคว้นฉู่ “เสี้ยน”

(น.210)ได้พัฒนาต่อมาจนลงตัวดีในสมัยการปฏิรูปของซางหยางแห่งแคว้นฉินระหว่าง 359-350 ปีก่อน ค.ศ. เขตการปกครอง “เสี้ยน” จะประกอบด้วยเมืองที่มีกำแพงเมืองล้อมรอบกับบริเวณรอบนอกตัวเมือง “เสี้ยน” ในความหมายดั้งเดิมจึงหมายถึงเขตการปกครองระดับ “เมือง” ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Perfecture” ในสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581-618) “เสี้ยน” ถูกลดระดับให้เล็กลงจากเดิม ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Subprefecture” ถึงสมัยราชวงศ์ถัง “เสี้ยน” หมายถึง เขตการปกครองระดับ “อำเภอ” ภาษาอังกฤษใช้ว่า “County” บ้าง หรือ “District” บ้าง คำว่า “เสี้ยน” ที่หมายถึงเขตการปกครองระดับอำเภอได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
1.2 จวิ้น (郡) ในสมัยการปฏิรูปของซางหยางได้มีการจัดตั้งเขตการปกครองที่เรียกว่า “จวิ้น” ตามอาณาบริเวณพรมแดนของแคว้น เป็นเขตการปกครองที่เน้นเรื่องการทหาร มีฐานะต่ำกว่า “เสี้ยน” เมื่อพระเจ้าฉินสื่อหวงตี้ทรงรวมประเทศจีนได้แล้ว ได้ขยายและปรับเขตการปกครอง “จวิ้น” ให้ใหญ่ขึ้น แบ่งการปกครองประเทศจีนออกเป็น 36 จวิ้น ต่อมาเพิ่มเป็น 42 จวิ้น จวิ้นในสมัยนี้จึงหมายถึงเขตการปกครองระดับ “แคว้น” และปกครองดูแล “เสี้ยน” “จวิ้น” ถูกยกเลิกไปในสมัยราชวงศ์สุย

มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 136,152-153

(น.136) ราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581 – 618) ซึ่งยึดอำนาจจากราชวงศ์โจวภาคเหนือ และราชวงศ์ฉินในภาคใต้ได้ ราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 – 907) แสดงหีบใส่พระธาตุซึ่งมี 3 ชั้น พระพุทธรูปสมัยสุยและสมัยถังหน้าตาเหมือนคนจีน (แบบอ้วน ๆ ) ส่วนพระพุทธรูปสมัยราชวงศ์ฮั่นยังหน้าตามีเค้าอินเดีย

(น.152) สรุปว่าสมัยราชวงศ์ฮั่นเป็นช่วงที่บุกเบิกการติดต่อค้าขายกับตะวันตก ก็มีเส้นทางที่จะเรียกว่าเส้นทางแพรไหม เส้นทางสมัยฮั่นต่างจากยุคหลัง คือ มี 3 เส้น ดังนี้
1. เส้นที่จะเรียกว่าเป็นเส้นทุ่งหญ้า เดินทางจากฉางอาน (ซีอาน) ข้ามแม่น้ำหวงเหอ ผ่านมองโกเลียใน มองโกเลียนอก เข้าไซบีเรีย รัสเซีย ไปยุโรป
2. เส้นทางทะเลทราย มี 2 เส้น เส้นเหนือ และ เส้นใต้

(น.153)

เส้นเหนือจากซีอานไปตุนหวง โหลวหลาน คอร์ลา คูเชอ อักซู ข่าชือ เฟอร์กานา ซามาร์คาน แล้วต่อไปอัฟกานิสถาน และอิหร่าน
เส้นใต้จากตุนหวง เฉี่ยม่อ เหอเถียน ยาร์คาน บรรจบกับทางแรกที่ข่าชือ หรือจะไปต่อทาชเคอร์คานก็ได้ แล้วไปต่อแบกเทรียในอัฟกานิสถานปัจจุบัน ออกอิหร่านไปริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ยังมีเส้นทางอื่นอีกหลายเส้น แต่พูดเฉพาะเส้นทางหลัก ๆ ที่รู้จักกันดี พอถึงสมัยราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง เส้นทางหลักจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง อาจจะเป็นเพราะมีการติดต่อกันมากขึ้น สมัยราชวงศ์ถังอาจจะเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของอารยธรรมจีนสมัยโบราณ คนจึงรู้จักกันมาก เมื่อพูดถึงเส้นทางแพรไหมก็มักจะคิดถึงเส้นทางสมัยราชวงศ์ถัง ในสมัยราชวงศ์ใต้และเหนือซึ่งเป็นยุคที่แตกแยกกันเป็นก๊กเป็นเหล่าหลายแคว้นหลายราชวงศ์ ก่อนที่จะเป็นปึกแผ่นในราชวงศ์สุย หลวงจีนฟาเซียนได้เดินทางไปตะวันตกเพื่อสืบหาพระพุทธศาสนาในอินเดีย ออกจากจีนใน ค.ศ. 399 ตามทางสายใต้ ข้ามภูเขาฮินดูกูชไปอินเดีย และเดินทางกลับจีนทางทะเลใน ค.ศ. 414

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก
เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 98

(น.98) หอสมุดแห่งชาติปักกิ่ง
พระไตรปิฎกโบราณนี้เริ่มสลักสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ.581-618) พระสงฆ์ชื่อจิงหวั่นเป็นผู้เริ่มสลัก ทำอยู่ 30 ปี ได้เพียงพระสูตรเดียว คือ มหาปรินิวาณสูตรใน ค.ศ.639 ต่อจากนั้นได้สลักต่อๆ กันมาจนมาถึงราชวงศ์ชิง เป็นเวลาพันปีเศษ จึงแล้วเสร็จใน ค.ศ.1691 มีจำนวนแผ่นหิน 15,061 แผ่น รวม 900 กว่าพระสูตร ถ้าจะอ่านก็ต้องใช้แว่นขยายดู ขณะนี้ที่วัดฝังซานดูของจริงได้แล้ว ที่เขาบอกว่าฝังดิน ที่จริงก็คือเอาไว้ห้องใต้ดิน ซึ่งเขาเรียกว่าถ้ำ มีประตูเปิดเข้าได้ ตู้ทำด้วยไม้การบูรสำหรับใส่พระไตรปิฎกนี้ การบูรช่วยรักษาหนังสือได้เป็นอย่างดี ไม้มาจากมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) สลักหน้าตู้ว่า พระไตรปิฎกหินจากฝังซาน พุทธสมาคมมอบให้เจ้าฟ้าสิรินธร และมีประกาศนียบัตรกำกับด้วย เขาบอกว่าให้ข้าพเจ้าเป็นคนแรก ให้พระปานชานลามะเป็นชุดที่สอง แต่ที่จริงดูในประกาศนียบัตรให้ข้าพเจ้าหมายเลข 2 แต่ก็ไม่เป็นไร ถวายพระก่อนก็ถูกต้องแล้ว

ย่ำแดนมังกร
ย่ำแดนมังกร หน้า 102

(น.102) พระที่นั่ง เป่าเหอ เป็นที่สำหรับจัดงานฉลองสิ้นปี จักรพรรดิจะพระราชทานเลี้ยงขุนนางและเสนาบดี พวกนี้จะต้องคุกเข่ารับประทานบนพื้นและจะต้องเอาหัวโขกกับพื้นแล้วจึงดื่มถวายพระพรจักรพรรดิ สำหรับในราชวงศ์ เช็ง ใช้สถานที่นี้สอบ จอหงวน ด้วย การสอบข้าราชการนี้แบ่งเป็นหลายระดับ มีสอบระดับอำเภอ มณฑล แล้วจะมาสอบทั้งประเทศ ผู้ที่สอบชนะในครั้งสุดท้ายนี้เรียกว่า จิ้นซื่อ แล้วยังต้องมาสอบต่อพระพักตร์อีกครั้ง คนที่ชนะจึงจะได้เป็น จ้วงหยวน หรือ จอหงวน พิธีสอบนี้เริ่มมีตั้งแต่ราชวงศ์สุย แต่เดิมเอาแต่คนที่มีฐานะ มีชาติตระกูลดีเท่านั้น เมื่อมีสอบจะทำให้คนมีโอกาสทำงานได้เสมอภาคขึ้น

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 192

(น.192) พิพิธภัณฑ์เรือจีน จัดแสดงตั้งแต่เรือสมัยหินใหม่ที่ขุดพบในสุสาน แสดงความแตกต่างของเรือที่เรียกว่า โจว กับที่เรียกว่า ฉวน แสดงแผนที่บริเวณที่ขุดพบเรือโบราณ เรือทิเบตชนิดที่ใช้หนังจามรีขึง (หนังยังมีขน) เรือไม้ขุด แพหนังแพะชนิดที่ข้าพเจ้าเห็นเขาใช้กันในหนิงเซี่ยพิพิธภัณฑ์ซื้อจากเมืองหลานโจว เป็นแพที่ใช้ทั่วไปในแถบแม่น้ำหวงเหอ เรือที่ใช้กันที่เมืองเซ่าซิง (มณฑลเจ้อเจียง) เรือสำราญของจักรพรรดิสุยหยังตี้ เป็นเรือพระที่นั่ง ใช้คนลาก 80,000 คน เพราะทั้งขบวนเสด็จมีเรือ 2,000 กว่าลำ มีเรือของจักรพรรดิที่ใช้สาวอายุ 15 ปี ประมาณ 200-300 คนลากเรือเดินทะเล

หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 29

(น.29) เหล้าขาวของเหยียนอาน เหล้านี้เรียกว่าเหล้าสุยถังเยี่ยนปินจิ่ว ว่าเป็นเหล้าที่ใช้เลี้ยงแขกในสมัยราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง พูดถึงการรับแขก เขาบอกว่าชาวบ้านแถวนี้ร้องเพลงเก่งและมีน้ำใจงาม เวลารับแขกจะทำอาหารที่ดีที่สุดเท่าที่จะหาได้

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 126

(น.126) พิพิธภัณฑ์มณฑลเหอหนาน
สมัยราชวงศ์สุยและถัง ในเมืองลั่วหยัง สมัยราชวงศ์สุยเมื่อ 1,500 ปีมาแล้วเน้นความสมดุลมีอาคารที่พระนางบูเช็กเทียนเคยประทับและทรงงานว่าราชการ แต่ภายหลังถูกไฟไหม้ ใน ค.ศ. 1980 พบซากรากฐาน

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 244

(น.244) ถ้ำหยุนกั่งสร้างสมัยราชวงศ์เป่ยเว่ย สร้างก่อนหลงเหมินที่ลั่วหยัง (ตุนหวง ค.ศ. 366 มีทั้งภาพสลักและภาพเขียน หยุนกั่ง ค.ศ. 460 หลงเหมิน ค.ศ. 494 สองถ้ำหลังนี้เป็นหินแกะสลัก) วัดถ้ำที่มีหินแกะสลักสวยงามมีมากที่ซินเกียง กานซู่ เสฉวน รวม 500 กว่าแห่ง บริเวณวัดถ้ำหยุนกั่งกว้างมาก ผู้สร้างเจาะเข้าไปในภูเขา ให้วัดหันหน้าทางทิศใต้ ถ้ำที่ขุดเจาะเข้าไปเป็นแนวตะวันตก ตะวันออก มี 53 ถ้ำ มีพระพุทธรูปกว่า 51,000 กว่าองค์ ที่เก่าที่สุดคือ ที่สลักในสมัยราชวงศ์เป่ยเว่ย เป็นแบบอย่างของศิลปะจีนที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะคันธาระของอินเดีย ต่อไปจะให้อิทธิพลต่อศิลปะสมัยราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง