Please wait...

<< Back

ราชวงศ์หมิง


(น. 112) รูป 92 เรือโบราณ
Ancient boat.

(น. 112) มีเครื่องเคลือบเตาเต๋อฮว่า สมัยราชวงศ์หมิง เป็นเครื่องเคลือบสีขาวงาช้างที่มีชื่อเสียงของมณฑลฮกเกี้ยน ที่ทำได้สวยเป็นที่รู้จักคือ รูปเจ้าแม่กวนอิม เครื่องเคลือบสีต่างๆ เครื่องปั้นพบในเรือของเนเธอร์แลนด์ที่จม สีคราม แดง เหลือง เป็นพวกของทำส่งออกที่เรียกว่า Exportware มีเครื่องลายครามจากเรือที่จม มีผู้ซื้อบริจาคให้ พิมพ์ต่างๆ เป็นรูปหน้าตุ๊กตาสมัยราชวงศ์ถัง เรือต่างๆ เรือขุดอายุ 2,000 กว่าปี มีลักษณะคล้ายเรือมาด แต่มีขนาดใหญ่กว่า ได้จากหังโจว ขาดไปเหลือเพียงครึ่งลำ เรือมังกรจำลองทำด้วยไม้ และหุ่นจำลองเรือชนิดต่างๆ นอกจากนั้นมีเครื่องเซรามิกจัดแสดงไว้ด้วย

(น. 113) สมัยราชวงศ์หมิง มีอู่ต่อเรือใหญ่อยู่ที่นานกิง เรือที่ต่อที่นานกิงนี้สามารถออกทะเลใหญ่ได้ เช่น เรือที่เจิ้งเหอ ขันทีผู้ใหญ่ในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ (ค.ศ. 1402 – ค.ศ. 1424) แห่งราชวงศ์หมิงใช้เดินทางสำรวจย่านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อแสดงแสนยานุภาพของจีน ยังมีสมอเหล็กของเรือยุคนั้นเก็บเอาไว้ มีขนาดใหญ่มาก พาหนะทางบก ได้แก่ รถ มีเครื่องประดับรถ ชิ้นส่วนต่างๆ ของรถทำด้วยสำริด ตั้งแต่ 770 ปีก่อนคริสตกาล มีหุ่นจำลองรถสมัยราชวงศ์ฮั่น และราชวงศ์ถัง รถกลอง รถลาก เกี้ยวเจ้าสาว เครื่องทอผ้าชนิดต่างๆ เรื่องของผ้า แสดงตุ๊กตาแต่งกายสมัยต่างๆ แสดงให้ดูว่ากิโมโนของญี่ปุ่นก็ดัดแปลงมาจากเสื้อผ้าสมัยราชวงศ์ถัง

(น. 133) อุปกรณ์ที่เรียกว่า Armilla เริ่มใช้ต้นราชวงศ์หยวนในการศึกษาดาวในท้องฟ้า เครื่องมือที่ตั้งแสดงให้ดูนี้สร้างใน ค.ศ. 1437 เป็นปีที่ 2 ในรัชกาลจักรพรรดิเจิ้งถ่ง (ค.ศ. 1436 – ค.ศ. 1449) แห่งราชวงศ์หมิง เครื่องมือนี้เคยถูกทหารเยอรมันปล้นเอาไปขณะที่ทหารต่างชาติบุกเข้าปักกิ่งเมื่อ ค.ศ. 1900 ใน ค.ศ. 1918 หลังสงครามโลกครั้งที่ 1 มีการประชุมสันติภาพและลงนามในสนธิสัญญา จีนจึงได้เครื่องมือคืนใน ค.ศ. 1920

(น. 135) เครื่องมืออีกชนิดเป็นนาฬิกาแดด ถือว่าเป็นอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์ที่เก่าแก่ที่สุดในจีน ศึกษาฤดูกาลที่แบ่งเป็น 24 ระยะ เห็นได้จากเงาที่ทอดลงมาบนเสา เครื่องนี้สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1439 เป็นปีที่ 4 ในรัชกาลจักรพรรดิเจิ้งถ่งแห่งราชวงศ์หมิง การใช้เครื่องสมัยใหม่กับเครื่องชนิดนี้ต่างกันแค่ 29 วินาที ที่จริงดาราศาสตร์สมัยใหม่เขาก็มีการวิจัยหลายอย่าง แต่เขาไม่ได้ให้เราดู กลับมาพักผ่อนพักหนึ่ง ตอนค่ำพบกับผู้ว่าราชการมณฑลเจียงซู ผู้ว่าราชการกล่าวต้อนรับและอธิบายเรื่องเจียงซูว่า ช่วงนี้เป็นฤดูกาลที่ดีที่สุดของเจียงหนาน วันนี้อากาศดี ขอต้อนรับในนามของรัฐบาลมณฑลและประชาชน 72 ล้านคน เจียงซูเป็นมณฑลที่เศรษฐกิจเติบโตเร็ว มีพื้นที่ 100,000 ตารางกิโลเมตร คิดเป็นร้อยละ 1 ของประเทศจีน ใน ค.ศ. 1998 มีประชากร 71.8 ล้าน ประมาณร้อยละ 5.8 ของคนทั้งประเทศ GDP 720,000 ล้านหยวน เป็นร้อยละ 9.8 ของประเทศ ตามสถิติ มีเนื้อที่เพียงร้อยละ 1 ประชากรร้อยละ 6 แต่ GDP ได้ถึงร้อยละ 10 ส่วนการเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 12.7 สูงกว่าอัตราเฉลี่ยร้อยละ 2 ปีที่แล้วได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจตกต่ำในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็ยังเติบโตถึงร้อยละ 11 การที่เป็นเช่นนั้นได้ก็เพราะการดำเนินนโยบาย และการชี้นำของท่านเติ้งเสี่ยวผิงและพรรค รวมทั้งความร่วมมือของประชาชน ปีนี้พยายามให้เจริญราวร้อยละ 10 มากกว่าอัตราเฉลี่ยร้อยละ 3

(น. 140)ยาว 7 กิโลเมตรจากตะวันออกไปตะวันตก แลดูเหมือนหนึ่งมังกรมหึมานอนขดอยู่กับที่ ส่วนทางตะวันตกมีภูเขาชิงเหลียงซาน แลดูเหมือนเสือดุร้ายหมอบอยู่ ในต้นราชวงศ์หมิงซึ่งตั้งเมืองหลวงอยู่ที่นานกิง จักรพรรดิหงอู่ (ค.ศ. 1368 – ค.ศ. 1398) โปรดให้สร้างกำแพงเมืองยาวถึง 34 กิโลเมตร ความสูงโดยเฉลี่ย 12 เมตร มีป้อมน้อยใหญ่รวม 10,000 กว่าป้อม และค่ายทหารขนาดเล็กอีก 200 ค่าย นับเป็นกำแพงเมืองหลวงที่ใหญ่โตที่สุด ยาวที่สุด และสูงที่สุดในโลก ปัจจุบัน เมืองนานกิงเป็นเมืองหลวงของมณฑลเจียงซู และเป็นเมืองอุตสาหกรรมที่ใหญ่ที่สุดของมณฑลนี้

เจียงหนานแสนงาม หน้า 181,195-196,207

(น. 181) อาคารนี้ยังมีสิ่งของอื่นๆ จัดแสดงไว้ ตั้งแต่เครื่องสำริดสมัยต่างๆ เช่น กลองมโหระทึกมีอักษรจารึก เครื่องปั้นดินเผา เครื่องเคลือบ เช่น ตุ๊กตาอูฐ ม้าสมัยราชวงศ์ถัง เครื่องเคลือบ 5 สี สมัยราชวงศ์หมิง เครื่องประดับเงิน ไม้แกะสลัก สมัยราชวงศ์ชิง มีการสลักรากไผ่อย่างละเอียดประณีต แกะงาเป็นรูปตั๊กแตนในผักกาด แกะรูปปู นอกจากนั้นยังมีเครื่องหยก หินแกะสลัก และเครื่องเขิน

(น. 195) หลังไป 1,500 กว่าปี จักรพรรดิเซี่ยวอู่ตี้ แห่งราชวงศ์หลิวซ่งในสมัยราชวงศ์เหนือใต้เป็นผู้สร้างในรัชศกต้าหมิง อันเป็นรัชศกที่ใช้ในช่วง ค.ศ. 457 – 464 หรือกลางศตวรรษที่ 5 จึงเรียกชื่อวัดตามปีรัชศก คำว่า ต้าหมิง แปลว่า สว่างเจิดจ้า ในสมัยราชวงศ์ถังเปลี่ยนชื่อเป็น วัดซีหลิง แปลว่า ที่สถิตแห่งจิตวิญญาณ ราชวงศ์ซ่งกลับมาใช้ชื่อเดิมว่า วัดต้าหมิง ในสมัยราชวงศ์ชิง จักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จประพาสเมืองหยังโจว เห็นคำว่า ต้าหมิง ทรงไม่พอพระทัย เพราะทรงเกรงว่าจะทำให้ผู้คนคิดถึงราชวงศ์หมิง จึงให้เปลี่ยนชื่อเป็น ฝ่าจิ้งซื่อ หรือ วัดฝ่าจิ้ง คำว่า ฝ่าจิ้ง แปลว่า พระธรรมพิสุทธิ์ ใน ค.ศ. 1980 ได้เปลี่ยนกลับมาใช้ชื่อดั้งเดิมคือ วัดต้าหมิง เพราะในเดือน 4 ปีนั้นได้อัญเชิญรูปปั้นพระเจี้ยนเจิน (ค.ศ. 688 – 763) จากประเทศญี่ปุ่น กลับมาตั้งบูชาที่วัดนี้ พระเจี้ยนเจินเป็นพระสงฆ์ที่มีชื่อเสียงของวัดต้าหมิง ใน ค.ศ. 753 สมัยราชวงศ์ถังได้เดินทางไปเผยแผ่พุทธศาสนาที่เมืองนาราในประเทศญี่ปุ่น ได้ตั้งนิกายวินัยขึ้นที่นั่น และอยู่ที่ญี่ปุ่นจนถึงแก่กรรมใน ค.ศ. 763 ท่านเคยฟันฝ่าอุปสรรคเดินทางไปญี่ปุ่นหลายครั้งแต่ไปไม่ถึง จนในครั้งที่ 6 จึงประสบผลสำเร็จ ที่วัดต้าหมิงมีหออนุสรณ์พระเจี้ยนเจินที่สร้างตามลักษณะสถาปัตยกรรมราชวงศ์ถัง สร้างแล้วเสร็จใน ค.ศ. 1973 เจ้าอาวาสบอกว่า วัดที่เห็นกันอยู่ทุกวันนี้สร้างในสมัยราชวงศ์หมิงแทนวัดเก่าที่ถูกไฟไหม้ไป บูรณะในสมัยราชวงศ์ชิงและสมัยปัจจุบัน ช่วงปฏิวัติวัฒนธรรม (ค.ศ. 1966 – 1975) วัดนี้

(น. 196) ไม่ถูกทำลาย เพราะท่านโจวเอินไหล มาห้ามไว้ทัน ข้าพเจ้ามองดูแล้วก็ดูไม่ออกว่าจะมีร่องรอยโบราณของราชวงศ์หมิงเหลืออยู่ ดูจะเป็นของบูรณะใหม่ สถานที่มีชื่อเสียงของวัดต้าหมิงคือ หอผิงซาน และสวนฟังผู่ เมื่อวันที่ไปพบท่านรองประธานาธิบดีหูจิ่นเทา (5 เมษายน) ท่านบอกว่าวัดต้าหมิงสร้างใหม่ในสมัยราชวงศ์ชิง ข้อมูลของใครถูกต้องก็ไม่ทราบ ตัดสินไม่ได้ โอวหยังซิว (ค.ศ. 1007 – 1072) กวีเอกและขุนนางผู้ใหญ่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง เมื่อครั้งมารับราชการอยู่ที่หยังโจวได้สร้างหอผิงซานใน ค.ศ. 1048 จากหอนี้ มองออกไปข้างนอกไกลโพ้นจะเห็นภูเขาและทิวทัศน์ต่างๆ เสมือนอยู่ระดับเดียวกับหอจึงเรียกว่า ผิงซานถัง มีความหมายว่า หอสูงเสมอภูเขา หลังจากโอวหยังซิวถึงแก่กรรมไปแล้ว ซูตงปัวมารับราชการอยู่ที่หยังโจว ได้ไปนั่งบนหอผิงซาน ขับบทกวี (ฉือ) รำลึกถึงโอวหยังซิว ส่วนสวนฟังผู่ สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1741 จักรพรรดิเฉียนหลงเคยเสด็จมาที่สวนนี้ เข้าไปในวิหารใหญ่ พระตีกลองต้อนรับ แล้วให้ไหว้พระวางพุ่มดอกไม้ที่นำมาจากเมืองไทย และจุดธูปเทียน ปักกำยาน เห็นวัดนี้มีไม้ขีดตราของวัดเอง เลยขอมาเป็นที่ระลึก พระพาชมรอบๆ แล้วไปที่พระเจดีย์ชีหลิง ตามประวัติว่าสร้างสมัยราชวงศ์สุย มี 9 ชั้น ทุกชั้นมีพระพุทธรูป แต่เขาไม่ได้ให้ปีนขึ้นไป ให้ดูแต่ชั้นล่างมีพระหินขาวของพม่า ทั้งพระนั่งและพระนอน ผู้ว่าราชการเมืองย่างกุ้งเป็นผู้ถวาย ชมรอบๆ วัดอีกนิดหน่อย แล้วกลับที่พัก

(น. 207) ท่านเล่าว่าวัดนี้มีประวัติมา 1,600 ปีแล้ว มีเนินเขา 2 แห่ง ที่มีชื่อเสียงในเมืองนี้คือ จินซานกับเจียวซาน เหมือนหยก 2 ก้อนลอยอยู่ในแม่น้ำ ที่นี่มีของสำคัญเก็บไว้คือ ติ่ง คือภาชนะสำริด 3 ขา สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ภาชนะแบบนี้มีวิธีใช้ 2 อย่างคือ ใช้ในกองทัพ (ทหารทำกับข้าวหรือพิธีกรรม) และใช้ในพิธีกรรม ติ่งใบนี้เป็นของโจวซวนหวัง มีคำจารึกอยู่ข้างใน เข็มขัดหยกของซูตงปัว กวีเอกและขุนนางสมัยราชวงศ์ซ่ง เข็มขัดนี้มีหยก 20 ชิ้นร้อยติดกัน มีเรื่องเล่ากันว่าสมัยที่ซูตงปัวเป็นเจ้าเมืองหยังโจว ช่วงหนึ่งเจ็บป่วยมาก อยากลาออก จึงมาปรึกษาเจ้าอาวาสวัดนี้ ซึ่งเป็นเพื่อนกัน เจ้าอาวาสแนะนำให้ลาออกแถมให้ทิ้งเมียน้อยให้หมด เพราะชีวิตเหมือนเทียนใกล้ดับ ส่วนจารึกที่เขียนไว้อยู่ในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง ราชวงศ์ชิง เป็นเรื่องการเสด็จเจียงหนาน ภาพวาดจินซานอยู่กลางน้ำ สมัยราชวงศ์หมิง รัชกาลจักรพรรดิเจียจิ้ง (ค.ศ. 1522 – 1566) ฝีมือเหวินจื่อหมิง

เจียงหนานแสนงาม หน้า 220,224,228

(น. 220) ทิศตะวันออก มังกรสีเขียว
ทิศตะวันตก เสือสีขาว
ทิศเหนือ เต่าพันกับงูสีดำ
ทิศใต้ นกเฟิ่งแดง (หรือนกแดง)
นอกนั้นของที่แสดงไว้มี รูปปั้นดินเผารูปคนและสัตว์ คันฉ่อง กระปุกเครื่องสำอาง ถ้วยชา หมอนเซรามิก พัดที่ด้ามเป็นไม้ไผ่ ตัวพัดดูเหมือนกับเป็นใบตาล ลงรัก ได้จากสุสานสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (ค.ศ. 1127 – 1279)
ชั้นล่างอีกปีกหนึ่ง แสดงเรื่องไหม ผ้าไหม และของอื่นๆ ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง
1. ไหมต่างๆ ประดิษฐ์เป็นผ้าห่อสิ่งของ ถุงปัก ปลอกแว่นตา กระเช้า
2. เสื้อผ้าไหมปัก พื้นน้ำเงิน ลายทอง ของจักรพรรดิเฉียนหลงเมื่อคราวเสด็จมาเจิ้นเจียง เสื้อตัวนี้เป็นของเจ้าอาวาสวัดจินซานให้พิพิธภัณฑ์
3. ภาพสลักไม้เป็นรูปดอกเหมย ไม้ไผ่ ดอกกล้วยไม้ และดอกเบญจมาศ
4. เสื้อผ้ารากไผ่ เอามาทำเป็นท่อนเล็กๆ เหมือนก้านไม้ขีดแล้วร้อยเป็นเสื้อใส่ในหน้าร้อน
5. เครื่องลงรักประดับหินและมุก
6. ถ้วยมังกร 2 ใบ

(น. 224) ส่วนภาพเขียนต่างๆ ที่นำมาให้ดูมีดังนี้
1. ม้วนภาพ เป็นรูปนก ไม้ เขา หิน มีลักษณะเป็นสมุดแบบฝึกหัดเขียนรูปหรือภาพร่าง ภาพม้วนนี้ถือเป็นสมบัติของชาติ ม้วนภาพแบบนี้หาได้ยาก เป็นผลงานของจิตรกรปลายสมัยราชวงศ์หมิงต่อต้นราชวงศ์ชิงชื่อ ปาต้าซันเหริน เป็นเชื้อพระวงศ์ราชวงศ์หมิง มีรูปฝูหรง กล้วยไม้ บัวเห็นแต่ใบ ดอกเหมย ก้อนหิน ทับทิม รูปกา ศิลปินมีความสามารถในการเขียนดวงตาของกา ผู้บรรยายบอกว่าอีกาตาโปนดูดุร้าย (ลูกตากลับขึ้นไปด้านบน) เพราะโกรธพวกราชวงศ์ชิงที่มายึดเมืองทางใต้

(น. 228) รูป 167 ขึ้นเขา แต่โบราณภูเขานี้มีแม่น้ำไหลอยู่ทั้งสองด้าน ทางขึ้นมีเจดีย์ซึ่งเริ่มสร้างสมัยราชวงศ์ถัง และสร้างเป็นเหล็กในสมัยราชวงศ์ซ่งเมื่อ ค.ศ. 1078 สมัยนั้นไม่รู้จักการทำสายล่อฟ้า จึงถูกฟ้าผ่าพังลงมา สมัยราชวงศ์หมิงบูรณะขึ้นไปก็ถูกฟ้าผ่าอีก ที่เห็นในปัจจุบันฐานล่างเป็นสมัยราชวงศ์ซ่ง ชั้นบนเป็นของราชวงศ์หมิง แสดงความสามารถของคนสมัยก่อนในการหลอมเหล็ก ใน ค.ศ. 1960 ขุดพบสิ่งของต่างๆ มากมายในเจดีย์ รวมทั้งกล่องใส่ขวดพระธาตุที่เห็นที่พิพิธภัณฑ์

เจียงหนานแสนงาม หน้า 249,256,259,261,263,266,278,280,282

(น. 249) เช้านี้ไปที่สวนจัวเจิ้งหยวน หนังสือนำเที่ยว Lonely Planet ถือว่าสวนนี้เป็นสวนซูโจวที่ดีที่ 2 ต่อจากสวนหวั่งซือ แต่ทางการจีนถือว่าเป็นหนึ่งใน 4 ของสวนสำคัญของประเทศ โดยประกาศใน ค.ศ. 1961 พร้อมๆ กับสวนอี้เหอหยวนในปักกิ่ง สถานตากอากาศเฉิงเต๋อ และสวนซูโจวหลิวหยวน หวังเซี่ยนเฉินสร้างสวนจัวเจิ้งหยวนขึ้นใน ค.ศ. 1513 สมัยราชวงศ์หมิง มีผู้เล่าประวัติของสวนนี้ต่างๆ กันไป ทางหนึ่งเล่าว่าหวังเซี่ยนเฉินถูกกลั่นแกล้งให้ออกจากราชการ จึงเหนื่อยหน่ายชีวิตการเป็นขุนนาง ขอมาอยู่อย่างสงบท่ามกลางธรรมชาติ คำว่า จัว ซึ่งเป็นคำหนึ่งในชื่อสวน แปลตามศัพท์ว่า โง่ เงอะงะ หรือหยาบ เนื่องจากผู้สร้างไม่ประสบความสำเร็จในงานราชการ จึงใช้คำนี้เป็นส่วนหนึ่งของชื่อสวนเพื่อประชดสังคม ยังมีเรื่องเล่าอีกว่า ท่านผู้นี้โกงเงินราชการมาสร้างสวน และภายหลังก็ต้องเสียสวนนี้ไปเนื่องจากต้องหาเงินไปใช้หนี้ที่บุตรเสียการพนัน ในขณะที่มีนักวิชาการบางคนกล่าวว่า จัวเจิ้ง ใช้ในความหมายว่า การทำนาปลูกผักเป็นงานของขุนนางที่ไม่สันทัดงานราชการ ความหมายของคำว่า จัวเจิ้ง ในนัยนี้มาจากความเรียงของพานเย่ว์ (? – ค.ศ. 300) ขุนนางในสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก

(น. 256) มีเรื่องหนึ่งที่ผู้บรรยายเล่าให้ฟังไม่ทราบว่าจริงหรือเปล่า เขากล่าวว่ารูปสัตว์ประดับหลังคา ถ้าเห็นอ้าปากอยู่แสดงว่าเจ้าของอาคารนี้ยังอยู่ในราชการ ยังมีสิทธิที่จะพูดอะไรได้ แต่ถ้าสัตว์ปิดปากแปลว่า เจ้าของออกนอกราชการแล้ว ไม่มีสิทธิพูดอะไร ต้องปิดปาก เป็นคำอธิบายที่ประหลาดมาก
ใน ค.ศ. 1992 จัดพิพิธภัณฑ์อธิบายเรื่องสวนซูโจวไว้ในสวนจัวเจิ้งหยวน แบ่งเป็นหัวข้อดังนี้
1. การเกิดสวน
2. ประวัติของสวน
3. สนุกกับสวน
4. การจัดสวน มีภาพสวนต่างๆ ในซูโจว ที่สำคัญคือ ภาพวาดเนินเสือ ซึ่งเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญแห่งหนึ่งในซูโจว หน้าภาพนี้มีอักษรจีน 7 ตัว ที่มีความหมายว่า สวนทั้งหมด ภาพเรื่องราวของผู้มีชื่อเสียงในด้านการจัดสวนทุกยุคทุกสมัย ได้รวบรวมงานเขียน จดหมาย และเอกสารต่างๆ เช่น ไป๋จวีอี้ สร้างซีหลี่ซานถาน ในสมัยราชวงศ์ถัง ซูซุ่นชินสร้างศาลาชังลั่งถิงในสวนส่วนตัวของตน ในสมัยราชวงศ์ซ่ง เหวินจื่อหมิง สมัยราชวงศ์หมิง ออกแบบสวนจัวเจิ้ง หมิงจี้เฉิง สมัยราชวงศ์หมิง เขียนหนังสือเกี่ยวกับการจัดสวนชื่อว่า หยวนเอี่ย สวนในซูโจวพัฒนามาตั้งแต่สมัยชุนชิวคือ สวนเจ้าเมืองซูโจว สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก (ค.ศ. 265 – 317) และสมัยราชวงศ์เหนือใต้ (ค.ศ. 317 – 589) ผู้คนนิยมสร้างสวนทั้งในบ้าน

(น. 259)
6. ถ้วยสุรา ทำด้วยดินเผาจื่อซา สมัยจักรพรรดิคังซี สลักรูปพืชที่เป็นมงคล เช่น มันฮ่อ (เหอเทา walnut) มีความหมายคือ ให้มีอายุยืน กระจับ ให้ความหมายว่า เฉียบไว ลิ้นจี่ หมายความว่า ได้กำไร มีไหวพริบ ถั่วลิสง หมายความว่า มีลูกหลานมากมาย แปะก๊วย เม็ดแตงโม ไม่ได้บอกว่าหมายความว่าอะไร
7. ที่วางพู่กัน เป็นดินเผาจื่อซา สมัยราชวงศ์ชิง เป็นรูปกิ่งไม้ มีจักจั่นเกาะ
8. ภาพวาดสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ รูปกษัตริย์ 5 พระองค์กำลังทรงพระเกษมสำราญอยู่กับเหล่านางสนมกำนัลในฤดูใบไม้ผลิ ภาพเขียนสีได้สวยงามมาก ภาพเครื่องเรือน อาคาร อาหารสมัยนั้น และการแต่งกายของบุคคลในภาพ แสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่ของคนในสมัยนั้นว่าเป็นเช่นใด
9. ภาพวาดสมัยราชวงศ์หมิง เป็นภาพเหมือนของนักปราชญ์ต่างๆ ในสมัยราชวงศ์ซ่งมาพบปะกัน แล้วร่วมกันเขียนตัวอักษร ที่ซีหยวน ในเมืองลั่วหยัง นักปราชญ์คนหนึ่งที่เห็นในภาพก็คือ ซูตงปัวหรือซูซื่อนั่นเอง
10. ภาพคนแก่ที่เขียนในสมัยราชวงศ์ชิง เขียนแบบโบราณ การใช้เส้นใหญ่ เล็ก หนัก เบา ทำให้ภาพนี้มีชีวิตชีวา ภาพของจงขุย ซึ่งคนจีนเชื่อว่าเป็นยมบาล มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งจักรพรรดิถังเสวียนจง (ค.ศ. 712 – 756) ทรงพระสุบินว่า เห็นผีตัวใหญ่จับผีตัวเล็กกินไปเลย ผีตัวใหญ่ทูลว่า เมื่อเป็นมนุษย์ เคยไปสอบแข่งขันเป็นจอหงวน แต่สอบตก จึงเอาศีรษะชนบันไดหินตายได้ตั้งปณิธานไว้ว่า เมื่อตายแล้ว จะปราบผีไม่ดี เลยกินผีตัวเล็กที่ไม่ดี จงขุยก็คือผีตัวใหญ่นั่นเอง

(น. 261)
15. ภาพวาดไม้ไผ่สมัยราชวงศ์หมิง ฝีมือหวังเหมิง ไม้ไผ่นี้ข้างนอกแข็งข้างในกลวงว่างเปล่า
16. ภาพเขียนทิวทัศน์ภูเขาอวี๋ซาน อำเภอฉังสู อยู่ห่างเมืองซูโจวประมาณ 40 กิโลเมตร เป็นภาพสีน้ำขาวดำ ฝีมือหวังเจี้ยน จิตรกรเอกสมัยราชวงศ์ชิง ในสมัยนี้ที่ซูโจวมีศิลปินเขียนภาพที่มีชื่อเสียงอยู่ 4 ท่าน ภาพเขียนของหวังเจี้ยนให้ความรู้สึกต่างๆ ตามฤดูกาล
17. ภาพดอกโบตั๋น ดอกลิลลี่ ดอกโก๋วฉี่หรือเก๋ากี้ (เครื่องยาจีนเม็ดแดงๆ) สมัยจักรพรรดิคังซี ราชวงศ์ชิง
18. ภาพดอกอวี้หลาน เขียนได้สวยงามดี
19. ลายมือของหวังเอ้า เสนาบดีสมัยราชวงศ์หมิง
20. ถ้วยสุราทำด้วยนอแรดสมัยราชวงศ์หมิง จักรพรรดิใช้สำหรับพระราชทานสุราแก่แม่ทัพที่อยู่บนหลังม้า ก่อนออกไปรบ เป็นการพระราชทานขวัญกำลังใจ
21. ภาพวาดท้าวจตุโลกบาลบนหีบไม้ เป็นศิลปวัตถุที่ทำขึ้นใน ค.ศ. 1013 สมัยราชวงศ์ซ่ง สำหรับเป็นที่เก็บรักษาพระบรมสารีริกธาตุ พบในเจดีย์รุ่ยกวง สีที่เขียนทำจากแร่ ทำให้ไม่ซีดจาง มีรูปมังกรทำด้วยมุก หีบใบนี้อยู่ในหีบอีกใบหนึ่ง ดูพิพิธภัณฑ์เสร็จแล้วกลับไปรับประทานอาหารกลางวันที่โรงแรม

(น. 263) พิพิธภัณฑ์แห่งนี้แสดงผ้าไหมปักต่างๆ ไว้ในตู้ ส่วนมากเป็นของสมัยราชวงศ์หมิงและชิง เป็นของที่ใช้ในพระราชสำนัก เช่น ฉลองพระองค์ (จำลอง) ของจักรพรรดิเฉียนหลง ผู้ปักใช้เวลาปักปีหนึ่ง มังกรที่ฉลองพระองค์นี้ปักด้วยเส้นทอง (เส้นทองใช้ทองแท้ทำเป็นเส้น ซื้อที่นานกิง) ฉลองพระองค์ (จำลอง) ของจักรพรรดิว่านลี่ (ค.ศ. 1573 – 1620) แห่งราชวงศ์หมิง ของจริงเสียไปแล้ว ฉลองพระองค์นี้ใช้ขนนกยูงปัก เป็นรูปพระอาทิตย์ พระจันทร์ ลายมงคลต่างๆ ซึ่งมีหลายลาย เช่น ลายที่หมายถึง พระบารมี ที่หมายถึง การบูชาบรรพบุรุษ ใบไม้ แปลว่า ความสะอาด ไฟ แปลว่า ความสว่าง ข้าวสาร แปลว่า การมีพอกิน ขวาน แปลว่า การตัดสินใจถูกต้อง และยังมีลายอื่นๆ ด้วย นอกจากนั้นมีเสื้อของขุนนางผู้ใหญ่ เสื้อผ้าที่ใช้ในงานแต่งงาน มีชุดที่มารดาของมาดามซ่งชิ่งหลิงให้ลูกสาวในวันสมรส เครื่องแต่งกายที่ใช้ในพิธีศาสนา ของใช้ต่างๆ อาทิ ปลอกใส่คันฉ่อง กระเป๋าเล็กๆ สำหรับแขวนเอว ลายที่ปักมีรูป 12 นักษัตร รูปหมู กระต่าย เสือ มังกร

(น. 266) ของต่างๆ ในพิพิธภัณฑ์ยังมีอีกหลายอย่าง เช่น ผ้าปักสมัยราชวงศ์หมิงเป็นรูปผู้หญิง มีไข่มุกปักไว้ด้วย รูปกวางสมัยราชวงศ์หมิง ผู้ปักเป็นช่างสำนักอาจารย์แซ่กู้ มาจากเซี่ยงไฮ้ (ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าเป็นญาติกับอาจารย์กู้หยาจ่งที่เคยสอนภาษาจีนข้าพเจ้าหรือเปล่า อาจารย์กู้มาจากเซี่ยงไฮ้เหมือนกัน) รูปปักเครื่องหมายทางราชการ ถ้าเป็นภาพสัตว์ต่างๆ เช่น สิงโต กิเลน หมายถึงข้าราชการทหาร นกชนิดต่างๆ หมายถึงข้าราชการพลเรือน

(น. 278) ทางเข้าสวนเป็นซอยเล็กๆ สำหรับคนเดินชื่อ ซอยกั้วเจิ่นโถว สองข้างมีร้านขายของกระจุกกระจิก สิ่งก่อสร้างในสวนนี้มองไม่เห็นเลยเพราะมาตอนกลางคืน ต้องอธิบายไปตามหนังสือว่าด้านตะวันออกเป็นที่อยู่อาศัย มีที่เก็บเกี้ยว ห้องรับแขก และห้องนั่งเล่น มีระเบียงคดเคี้ยวถึงกัน ตรงกลางเป็นสวนมีสระน้ำมีศาลา มีห้องทำงานของเจ้าของสวน ด้านตะวันตก ประดับด้วยเครื่องเรือนแบบราชวงศ์หมิง มีโคมไฟสวยงาม (จำลองไปสร้างที่ Metropolitan Museum of Art ที่นิวยอร์ก เมื่อ ค.ศ. 1981 และ ที่ Centre Pompidou ในปารีส จำลองหุ่นของสวนนี้ทั้งสวนไปตั้งแสดง เมื่อ ค.ศ. 1982) ความดีเด่นของสวนนี้คือ การใช้พื้นที่ พื้นที่สวนไม่มาก อาคารค่อนข้างใหญ่ แต่สามารถออกแบบได้ดี ไม่อึดอัด มองทิวทัศน์ใกล้ให้เป็นไกลได้จากหน้าต่างและธารน้ำที่คดเคี้ยว เข้าไปนั่งดูการแสดงในห้อง ดูในหนังสือ จีนตะวันออก ที่สมเด็จป้าเล่าเรื่องเสด็จจีนเมื่อ 5 ปีก่อน การแสดงก็คล้ายๆ แบบที่ดูคืนนี้คือ
1. ขุนนางเต้นระบำ เป็นการอวยพร แต่งเป็นตัวงิ้ว เต้นอยู่สองคน ตอนสุดท้ายมีป้ายอวยพรเป็นภาษาจีนและอังกฤษ สุดท้ายแจกช็อกโกแลต ฉากนี้ยืนดู
2. เดินไปห้องที่ 2 เป็นงิ้วซูโจว เรื่องอะไรก็ไม่ทราบ เล่าว่าขโมยชื่อ หลิวอาสู่ ขโมยน้ำมัน ผู้ว่าราชการมณฑลซูโจวปลอมตัวเป็นพระเต๋าหมอดู ให้ขโมยเสี่ยงเซียมซี คำทำนายออกมาว่าขโมยของคนอื่น จึงจับได้ว่านายคนนี้เป็นขโมย

(น. 280)
4. ห้องที่ 4 เรียกว่า ห้องกินเจ ที่จริงคือห้องอ่านหนังสือ ฟังดนตรีขิมโบราณ (กู่เจิง) เพลงปู้ปู้เกา หมายถึง ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้น เพลงที่สองเป็นการเล่นพิณผีผาเพลงของชนชาติอี๋ที่อยู่แถวๆ เมืองฉู่สง มณฑลยูนนาน เพลงที่สามสาวร้องเพลงเดี่ยว กล่าวถึงภาพทิวทัศน์ซูโจวสวยงาม
5. รำพัดเพลงพระจันทร์ค่อยๆ ขึ้นจากแม่น้ำในฤดูใบไม้ผลิ
6. เดินออกมาที่ข้างนอก ตรงที่เป็นห้องจัดแบบสมัยราชวงศ์หมิง มีงิ้วซูโจว สาวน้อยไปเที่ยวสวนที่ศาลาโบตั๋น ชมดอกตู้จวน คุยกันเรื่องไปพบหนุ่มที่มาสอบจอหงวนแล้วจากกัน พอหนุ่มมาอีก สาวตายแล้ว มีภาพอยู่ในสวน ภายหลังกวนอิมมาชุบให้ฟื้น

(น. 282)ที่ชื่อว่า กูซูซาน สมัยราชวงศ์ซ่งเปลี่ยนชื่อเมืองเป็นผิงเจียงฝู่ สมัยราชวงศ์หมิงได้เปลี่ยนกลับมาใช้ว่า ซูโจว และได้ใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน เมืองซูโจวมีทั้งประวัติศาสตร์อันยาวนานและสภาพภูมิศาสตร์ที่ดี ทั้งเมืองเต็มไปด้วยแม่น้ำลำคลองและทะเลสาบใหญ่น้อย การคมนาคมทางน้ำสะดวก น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ภูมิอากาศอบอุ่น จึงเหมาะแก่การเพาะปลูกรวมทั้งการติดต่อค้าขาย ทั้งการค้าภายในและการค้ากับต่างประเทศ ซูโจวเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าแพรไหมมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ช่วงที่ราชวงศ์ชิงยังรุ่งเรืองเมืองซูโจวมีเครื่องทอแพรไหมถึง 3,000 - 4,000 เครื่อง มีคนงานหมื่นกว่าคน ด้วยประวัติความเป็นมาและสภาพภูมิศาสตร์ที่กล่าวมาข้างต้น ซูโจวจึงเป็นเมืองหนึ่งที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจจีนไปสู่ความทันสมัยตามนโยบายสี่ทันสมัยที่รัฐบาลจีนใช้เป็นนโยบายในการพัฒนาประเทศมาตั้งแต่ ค.ศ. 1978 (พ.ศ. 2521) ซูโจวเป็นเมืองแห่งศิลปวัฒนธรรม สวนสวย แพรไหมงาม เศรษฐกิจดี เป็นเมืองงามน่ายลมาตั้งแต่อดีตคู่มากับเมืองหังโจว จนเรียกรวมๆ กันว่า ซู-หัง และก่อเกิดคำกล่าวที่ว่า “บนฟ้ามีสวรรค์ บนแผ่นดินมีซูหัง” ในนวนิยายกำลังภายในหลายเรื่องก็ได้ใช้เมืองซูโจวหรือโซวจิวตามภาษาจีนแต้จิ๋วเป็นฉากของเรื่อง จังจี้ กวีในสมัยราชวงศ์ถังที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 8 ได้แต่งบทกวีเกี่ยวกับเมืองซูโจวชื่อว่า “จอดเรือที่สะพานเฟิงเฉียวยามราตรี” บทกวีนี้ใช้ภาษาเรียบง่าย กระชับ และบรรยาย

เจียงหนานแสนงาม หน้า 292,294

(น. 292) ไปอีกตึกหนึ่ง แสดงเครื่องปั้นดินเผาของเจ้อเจียงตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซังถึงราชวงศ์ชิง สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก สมัยชุนชิวพบเครื่องปั้นดินเผาปั้นเลียนแบบเครื่องสำริด สมัยราชวงศ์ฮั่นมีตุ๊กตาหน้าตาเหมือนคนอินเดีย สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก สมัยสามก๊ก สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออกและพวกราชวงศ์ใต้ มีเครื่องปั้นดินเผาสีดำเต๋อชิง สมัยราชวงศ์สุย ถัง ห้าราชวงศ์ มีเครื่องปั้นดินเผาที่ส่งถวายจักรพรรดิ และของที่พบในสุสาน สมัยราชวงศ์ซ่งเหนือและซ่งใต้ มีของจากหลงเฉวียน นอกจากนั้นยังแสดงเครื่องปั้นดินเผาอื่นๆ ที่ทำในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้และราชวงศ์หยวน ราชธานีของซ่งใต้อยู่ที่หังโจว จึงมีเตาเผาหลวงหลายเตา เครื่องเคลือบหลงเฉวียน สมัยนั้นส่งออกต่างประเทศ เช่น ประเทศทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมทั้งประเทศไทย มีข้อมูลประวัติศาสตร์จีนว่า ตั้งแต่คริสต์ศตวรรรษที่ 13 – 14 ประเทศไทยได้เทคนิคไปทำเอง สมัยราชวงศ์หมิงและชิง มีตู้กระจกบอกวิธีทำเครื่องปั้นดินเผาตั้งแต่เริ่มหมักดิน ขึ้นรูป เขียนลวดลาย จนถึงเคลือบและนำเข้าเตาเผา และยังมีแผนที่แสดงเส้นทางการค้าทางทะเลที่จีนส่งเรือไปค้าขาย

(น. 294)มนุษย์สร้างขึ้น แต่หังโจวมีทัศนียภาพธรรมชาติที่ต้องอนุรักษ์ไว้ จะปรับสภาพบ้างก็เฉพาะแต่ที่จำเป็น ทะเลสาบซีหูก็มีการขุดลอกเป็นระยะๆ สมัยราชวงศ์หยวนมีการถมทะเลสาบเพื่อเพิ่มเนื้อที่ทำนา สมัยราชวงศ์หมิงและชิงมีการขุดลอก เอาดินที่ขุดลอกออกจากทะเลสาบไปใช้ประโยชน์ ขณะนี้ก็มีการพัฒนาสร้างสวนสาธารณะ สวนนานาชาติ เมืองสมัยราชวงศ์ซ่ง เพื่อต้อนรับการท่องเที่ยว

เจียงหนานแสนงาม หน้า 310,324,332

(น. 310) เรือเทียบฝั่งเกาะซานถานอิ้นเย่ว์ หรือเกาะโคมหินสะท้อนเงาจันทร์ เกาะนี้แต่เดิมเรียกกันว่า เกาะเสี่ยวอิ๋งโจว บนเกาะนี้มีทะเลสาบ ในทะเลสาบมีโคมหิน 3 โคม สร้างใน ค.ศ. 1621 สมัยราชวงศ์หมิง ลักษณะคล้ายเจดีย์ มีฐานเสาใต้น้ำ โคมหินสูงเหนือน้ำ 2 เมตรเศษ ใจกลางโคมเป็นโพรงว่าง ส่วนกลางโคมมีลักษณะกลมเหมือนลูกบอล บนพื้นผิวส่วนกลางนี้มีรูทรงกลม 5 รูเว้นระยะระหว่างแต่ละรูเท่ากัน คืนพระจันทร์เต็มดวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฤดูชิวเทียน ชาวบ้านนิยมจุดเทียนใส่ในช่องทั้ง 5 ของโคม แล้วคลุมรูทรงกลมแต่ละรูด้วยกระดาษบาง เมื่อแสงไฟจากเทียนส่องผ่านรูทรงกลมออกไป ก็ปรากฏเป็นภาพสะท้อนบนผิวน้ำเป็นพระจันทร์ดวงเล็กๆ โคมหิน 3 โคมก็จะสะท้อนออกมา 15 ดวง ประชันกับพระจันทร์จริงและเงาจันทร์ ก็จะรวมกันเป็น 17 ดวง

(น. 324) รัฐบาลยอมทำตามข้อ 2 และข้อ 3 แต่ไม่ทำตามข้อ 1 ชิวจิ่นอยากให้ศพของเธอฝังไว้ใกล้ศพของเย่ว์เฟยหรืองักฮุย และให้อยู่บริเวณทะเลสาบซีหูอันสวยงาม แต่ว่าไม่สมหวัง ศพถูกย้ายที่ถึง 9 ครั้ง จึงได้มาอยู่ที่ซีหูตามความต้องการของเธอ บุตรอยู่ในความดูแลของสามี เมื่อเติบใหญ่ได้มีครอบครัว และไปอยู่ที่ไต้หวันกับสหรัฐอเมริกา ชิวจิ่นใช้บ้านหลังนี้เป็นที่พบปะของพวกนักปฏิวัติ เก็บเอกสารอาวุธปืน และลูกระเบิด ใน ค.ศ. 1981 ได้มีการซ่อมแซมบ้านหลังนี้ ค.ศ. 1988 รัฐบาลประกาศให้เป็นโบราณสถานระดับประเทศสำหรับให้เยาวชนศึกษาเรื่องความรักชาติ ของที่ประดับในบ้านมีตุ้ยเหลียนต่างๆ เขียนคำสุภาษิตเตือนใจ เช่น วีรบุรุษต้องอุตสาหะพยายาม นอกจากนั้นมีรูปถ่าย เช่น รูปชิวจิ่นแต่งกิโมโนซึ่งเป็นเครื่องแบบนักเรียนตอนไปเรียนที่ญี่ปุ่น ภาพชิวจิ่นแต่งกายเป็นชาย ห้องนอนเก็บปืนไว้ด้วย รูปของครอบครัว คำที่ชิวจิ่นเขียนพู่กันว่า ตัวไม่ใช่ผู้ชาย แต่ใจเข้มแข็งกว่า ไปบ้านบรรพบุรุษของท่านนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหล บ้านหลังนี้บรรพบุรุษของท่านอยู่มาตั้งแต่ปีที่ 13 รัชกาลจักรพรรดิหงอู่แห่งราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1380) ท่านโจวเอินไหลเองเกิดที่มณฑลเจียงซู เข้าไปที่ห้องโถงใหญ่ตระกูลโจว ปัจจุบันชาวเมืองใช้เป็นที่แสดงนิทรรศการและจัดงานต่างๆ

(น. 332) ความเจริญในสมัยราชวงศ์สุย ถัง และซ่งเหนือได้เคลื่อนลงมาด้วย มาเพิ่มความเจริญยิ่งๆ ขึ้นแก่เจียงหนานซึ่งเจริญอยู่แล้วให้โดดเด่นทางวัฒนธรรม ณ ที่นี้ พวกปัญญาชนได้มาชุมนุมกัน และยังเป็นศูนย์รวมของห้องสมุดส่วนตัวที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง จึงไม่น่าประหลาดใจเลยว่า นับแต่สมัยราชวงศ์หมิงเป็นต้นมา เจียงหนานมีผู้สอบได้เป็นจิ้นซื่อมากกว่าภาคอื่นๆ ดินแดนเจียงหนานได้สร้างสรรค์วัฒนธรรมของตนมาแต่โบราณ และได้พัฒนาให้งอกเงยสืบต่อมาไม่ขาดสาย และเมื่อประกอบกันเข้ากับสภาพภูมิศาสตร์ที่อุดม ทิวทัศน์ที่งดงาม จึงเป็น เจียงหนานเห่า หรือเจียงหนานแสนงาม งามตั้งแต่ประสบการณ์ทางประวัติศาสตร์ ภูเขา แม่น้ำ ทะเลสาบ วัด เจดีย์ แหล่งโบราณคดี สวนสวย แพรไหมงาม ศิลปะน่ายล หัตถกรรมงามล้ำ การแสดงหลากหลาย ดนตรีไพเราะ ชาดีหลายชนิด อาหารอร่อย เศรษฐกิจดี และอื่นๆ อีกหลายอย่าง เจียงหนานมีทิวทัศน์งดงาม อากาศดี ดนตรีไพเราะ กวีมาเยือนกันมาก จึงมีบทกวีหลากเรื่องหลายรสหลายอารมณ์ เพิ่มสีสันภูมิปัญญาและสุนทรีย์แก่เจียงหนาน เจียงหนานแสนงามจึงเป็นที่กล่าวขวัญถึงกันทั่วไป

เจียงหนานแสนงาม หน้า 347

(น. 347) สวนสมุนไพรเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งของการจัดนิทรรศการครั้งนี้ ในสวนสมุนไพรมีรูปปั้นของหมอหลี่สือเจิน (ค.ศ. 1518 – 1593) เป็นแพทย์และเภสัชกรที่มีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์หมิง ท่านเกิดในครอบครัวที่เป็นแพทย์มาหลายชั่วคน บิดาของท่านมักรักษาคนจนโดยไม่คิดเงิน ท่านอยากเป็นแพทย์ แต่บิดาไม่อยากให้เป็น เพราะสมัยนั้นแพทย์เป็นอาชีพที่ไม่มีเกียรติ ผู้คนดูถูก แต่ท่านแอบเรียนอย่างตั้งใจ วันหนึ่งบิดาคิดไม่ออกว่าจะรักษาโรคได้อย่างไร ท่านช่วยบอกยาซึ่งผู้ป่วยกินแล้วอาการดีขึ้น ตั้งแต่นั้นมาบิดาจึงยอมให้เป็นแพทย์ นอกจากจะรักษาโรคแล้ว ท่านยังค้นคว้าเรื่องยาสมุนไพร นำตำรายาเก่าๆ มาศึกษาทดลอง เขียนตำราเกี่ยวกับฤทธิ์ของยาชนิดต่างๆ บางครั้งพบว่าตำราเก่าไม่ถูกต้องก็มี หมอหลี่เดินทางขึ้นเขาลงห้วยไปเก็บตัวยา ไปถามคนเฒ่าคนแก่ในชนบท เพื่อเก็บรักษาภูมิปัญญาชาวบ้านไว้ ต่อมาได้ใช้ข้อมูลที่เก็บสะสมได้เขียนหนังสือรวบรวมความรู้เกี่ยวกับยาจีน (Compedium Materia Medica) ถ่ายทอดแก่คนรุ่นหลัง

หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 36-37

(น.36) รับประทานอาหารเช้าแล้ว ไปที่เจดีย์เป๋าถ่าซาน ตอนแรกคนอธิบายพูดเป็นภาษาอังกฤษ ฉันฟังไม่ทัน เพราะสมองยังคิดอยู่ว่าต้องเป็นภาษาจีน และ แปลเป็นไทย ที่จริงก็เป็นแบบฝึกหัดที่ดีคือ หัดฟังภาษาจีน แต่ยังฟังไม่เก่งพอที่จะจับเนื้อหาเป็นภาษาจีนได้ครบถ้วน ตอนหลังเห็นจะเป็นนกกุ๊กกูที่จัดการให้เขาพูดเป็นภาษาจีน ได้ความว่าบริเวณนี้เรียกว่า เขาเจียงหลิง เจดีย์นี้สร้างสมัยราชวงศ์ถังใน ค.ศ. 766-778 แต่ว่าที่เราเห็นนี้เป็นส่วนที่ บูรณะใหม่ในสมัยราชวงศ์หมิง สมัยใหม่นี้ก็บูรณะอีก มีบริษัทไฟฟ้าที่เซี่ยงไฮ้มาบริจาคไฟติดที่เจดีย์

(น.37) ความสำคัญของเจดีย์นี้ในยุคปัจจุบันที่พอจะมองเห็นได้คือ เป็นสัญลักษณ์ของเมืองที่จะใช้เป็นจุดอ้างอิงได้อย่างหนึ่ง อีกอย่างหนึ่งคือเจดีย์ตั้งอยู่ที่สูง ถ้าไต่ขึ้นไปถึงยอดชั้นที่ 9 ก็ยิ่งสูงเข้าไปใหญ่ (เขาไม่ได้เชิญให้ฉันไต่ขึ้นไปและฉันก็ไม่ได้เรียกร้องที่จะไต่) รอบๆ บริเวณนั้นมีระฆังสมัยราชวงศ์หมิง สร้างในเดือนเมษายน ค.ศ. 1628 ตรงกับรัชศกฉงเจิน ปีที่ 1 มีรูปยันต์ 8 ทิศ ระฆังนี้เคยเก็บรักษาไว้ที่วัดเต๋า ตอนสงครามต่อต้านญี่ปุ่นจึงยกมาใช้ที่นี่ ค.ศ. 1938 มีเครื่องบินญี่ปุ่นมาทิ้งระเบิดที่เหยียนอาน ทำให้ฝ่ายคอมมิวนิสต์ต้องย้ายที่มั่นอยู่เรื่อยๆ มองภูมิประเทศเหมือนกับที่อนุสรณ์สถานที่ดูเมื่อวานนี้ แต่เป็นของจริง คือมีภูเขาล้อมรอบ 3 ด้าน และมีแม่น้ำผ่านกลาง มองเห็นยอดเขาเฟิ่งหวง เขาชิงเหลียน ตึก 9 ชั้นในเมือง ไกด์บอกว่าแม่น้ำเหยียนเหอและแม่น้ำหนานชวน รวมกันทางภาคตะวันตกกลายเป็นส่วนหนึ่งของแม่น้ำหวงเหอ มีสะพานข้ามแม่น้ำเหยียนเหอ สร้างเสร็จใน ค.ศ. 1958 สะพานเป๋าถ่าสร้างเสร็จ ค.ศ. 1975 เขาเล่าว่าเมืองนี้สมัยราชวงศ์สุยราว ค.ศ. 607 เป็นจังหวัดเหยียนอานจวิ้น สมัยราชวงศ์ถังเปลี่ยนเป็นเหยียนอานฝู่ เชิงเขามีซากเมืองโบราณ แสดงว่าแถวนี้เป็นแหล่งอารยธรรมเก่าแก่

Next >>