Please wait...

<< Back

ราชวงศ์หมิง

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 68-69,74,81

(น.68) กาใส่น้ำและเหล้าของรัฐฉีและหลู่ มีจารึกว่าเป็นของขวัญของกงซุนเจ้าให้บุตรสาวแต่งงาน ลายมือที่สลักละเอียด ภาชนะใส่อาหารที่เรียกว่า ฝู่ ฝังหินไข่นกการเวก เรียกว่า ถั่ว เป็นของสมัยจั้นกว๋อ ของอื่นที่ดูมี เครื่องตกแต่งรถม้า ตัวอักษรเขียนบนไม้ไผ่สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (206 ก่อนคริสตกาล-ค.ศ. 8) แผ่นที่ค่อนข้างบอบบางต้องแช่ไว้ในน้ำ เรื่องที่แสดงไว้เป็นเรื่องตำราพิชัยสงครามของซุนปิ้น มีบางตอนขาดหายไป บ่อน้ำจำลองสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25-220) ตุ๊กตาหินแกะสลัก สมัยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) มีรูปผู้หญิงเล่นโปโล แสดงว่าสมัยราชวงศ์ถังผู้หญิงยังมีสิทธิทำอะไรได้เหมือนผู้ชาย รูปไม้สลักสมัยราชวงศ์ซ่ง และมีไม้เขียนสีลายพระอรหันต์ สมัยราชวงศ์หมิง มีเครื่องเขิน ฝังมุก สมัยราชวงศ์ชิงมีงาช้างสลัก เครื่องเคลือบ 3 สีของราชวงศ์ถัง มีพระมาลาทำด้วยหนัง ปักด้วยดิ้นเป็นของพระเจ้าอู่เหลียน งาช้างสลักตามเรื่องในนวนิยายหงโหลวเมิ่ง (ความฝันในหอแดง) และเรื่องโป๊ยเซียนข้ามสมุทร สมัยราชวงศ์ชิง

(น.69) เรื่องของจูถาน (ค.ศ. 1370-1389) เจ้าแห่งรัฐหลู่ พระองค์เป็นโอรสองค์ที่ 10 ของจูหยวนจัง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง ได้รับแต่งตั้งให้ไปปกครองเมืองเหยียนโจวฝู่ พระองค์สนพระทัยเรื่องศิลปวัฒนธรรม กลอน และเพลง อยากเป็นอมตะจึงเสวยยาอายุวัฒนะขนานต่างๆ จนตาย ได้รับการขานพระนามว่า เป็นอ๋องไร้สาระ พระศพฝังไว้ที่อำเภอโจวในมณฑลซานตงปัจจุบัน ในการขุดค้น ค.ศ. 1970 พบโบราณวัตถุ 432 ชิ้น เป็นตุ๊กตาดินเผาเขียนสี (สีจางไปแล้ว) และนักดนตรีรวม 406 คน ม้า 24 ตัว รถคันหนึ่ง นอกจากนั้นมีหมากล้อม ตราประทับของอ๋องแห่งแคว้นหลู่ ภาพเขียนสมัยราชวงศ์หยวน ปลอกพู่กันหยก ปลอกพู่กันงาช้าง แท่นฝนหมึกหยก ตราประทับหนังสือ เครื่องเซรามิก แผนภูมิแสดงพระโอรสของจักรพรรดิหงอู่ (จูหยวนจัง) ของอื่นๆ มีเครื่องเขียนสมัยราชวงศ์ซ่ง ของใช้ประจำวัน หวายสานเป็นกลองเล็ก กุญแจต่างๆ ทั้งกุญแจประตู กุญแจหีบ เครื่องเรือนเล็กๆ ทำให้ทราบว่าสมัยก่อนเครื่องเรือนเป็นอย่างไร

(น.74) ไปอาคาร ไป๋เสวี่ยโหลว มีประวัติของหลี่พานหลง (ค.ศ. 1514-1570) เป็นชาวจี่หนาน เคยดำรงตำแหน่งเป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ทั้งสมัยจักรพรรดิเจียจิ้ง (ค.ศ. 1522-1566) และจักรพรรดิหลงชิ่ง (ค.ศ. 1567-1572) ของราชวงศ์หมิง ในสวนนี้มีน้ำพุหลายแห่ง เช่น น้ำพุไร้กังวล น้ำพุเป้าทูเกิดจากน้ำใต้บาดาลธรรมชาติ มีอุณหภูมิ 18 องศา คำว่า เป้าทู หมายถึง เต้นหรือกระโดด ในช่วงที่มีน้ำมากที่สุดมีปริมาณน้ำ 24,000 ลูกบาศก์เมตร น้ำใสสะอาดและเขาบอกว่ามีรสออกหวาน ชงน้ำชาเป็นสีอำพัน เวลาจักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จมาก็ใช้น้ำที่นี่ชงน้ำชา น่าเสียดายว่าปีนี้น้ำน้อย ฤดูนี้ก็ยังไม่ใช่หน้าน้ำก็เลยไม่มีน้ำพุ เห็นแต่ในรูปดูเหมือนน้ำซับ ไม่ได้พุพุ่งออกมาสูงๆ

(น.81)
9. เปิ้นถง สมัยราชวงศ์หมิง เป็นกวี
10. หลี่ไคเซียน (ค.ศ. 1502-1568) สมัยราชวงศ์หมิง แต่งบทขับสำหรับเล่นงิ้ว
11. หลี่พานหลง สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1514-1570) กวีเอกและนักปกครอง
12. อวี๋เซิ่นสิง สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1559-1608) นักวิชาการ และเป็นเสนาบดี
13. จังเอ่อร์จือ สมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1612-1678) นักวิชาการขงจื่อ
14. หวังสือเจิน สมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1634-1711) นักแต่งนวนิยาย
15. ผู่ซงหลิง สมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1640-1715) เขียนเรื่องสั้น เรื่องผี เรื่องสัตว์แปลกๆ ประชดประชันสังคมและคนจริงสมัยนั้น มีเรื่องต่างๆ เกิดขึ้นที่ศาลาลี่เซี่ยนี้มากมาย เรื่องหนึ่งเล่ากันว่าตู้ฝู่ กวีเอกราชวงศ์ถัง มาถึงเมืองจี่หนาน หลี่ยง นักเขียนลายมือพู่กัน เป็นเจ้าเมืองเป่ยไห่ ดีใจมากเชิญตู้ฝู่และผู้มีชื่อเสียงทางวรรณศิลป์ทั้งหลายมาชุมนุมกันที่ศาลาลี่เซี่ย แต่งกลอนกันอย่างสนุกสนาน หลี่ยงเจ้าเมืองวัย 67 ส่วนตู้ฝู่เป็นหนุ่มฉกรรจ์อายุเพียง 34 ปี ทั้งสองเป็นเพื่อนต่างวัยที่ศรัทธาซึ่งกันและกัน จักรพรรดิเฉียนหลงเสด็จมาที่ศาลานี้ถึง 3 ครั้ง ครั้งที่ 3 ที่ศาลาลี่เซี่ย ทรงพบหญิงสาวกำลังดีดพิณอยู่ในศาลา หญิงสาวผู้นี้หน้าตาสวยงามยิ่งกว่าหญิงงามสามพันในวัง ยิ่งเมื่อได้ทรงสนทนาก็ยิ่งถูกพระทัย หญิงสาวผู้นี้ชื่ออวี่เหอ เป็นลูกสาวผู้มีตระกูลในเมืองนี้ เป็นผู้รอบรู้ดนตรี บทกวี และความรู้อื่นๆ ทั้งสองได้โต้ตอบบอกรักกันด้วยบทกวีเสมอ เรื่องกบกับงูที่ฉันเขียนก็เกิดขึ้นระหว่างประทับคุยกับนาง ฉันเลยเข้าใจว่าทำไมจักรพรรดิจึงหงุดหงิดพระทัย

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 90,94,96,99,102,104

(น.90) ศาลเจ้าปี้เสียฉือ มีเรื่องเล่าว่าเทพแห่งไท่ซานได้พบกับพระนางซีหวังหมู่หรือเทพมารดรแห่งตะวันตก มีสาวสวรรค์มารับใช้ 7 นาง ศาลนี้สร้างใน ค.ศ. 1009 เมื่อจักรพรรดิซ่งฮุยจงเสด็จมาที่ภูเขาไท่ซาน ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้สร้างศาลเจ้า สมัยราชวงศ์หมิงใช้เป็นที่ทำพิธีเซ่นไหว้ ที่ศาลเจ้ามีนักพรตเต๋าสองท่านออกมาต้อนรับ เล่าว่าเป็นศาลบูชาตงเยี่ยต้าตี้ และปี้เสียหยวนจวิน (ตั้งไว้เป็นประธาน) ซ้ายขวามีเทพมารดาแห่งดวงตา (เชื่อกันว่าไหว้แล้วตาสว่าง ไม่ทราบว่าหมายถึงตาสว่างรู้ความจริงที่คนอื่นหลอก หรือหายง่วง) และเทพมารดาส่งบุตร (ส่งไปไหนไม่ทราบ) นักพรตสวดอวยพรให้ฉันและให้หนังสือเหลาจื่อเล่มเล็กๆ (เต้าเต๋อจิง) ภูเขาไท่ซานมีทิวทัศน์ที่สวยงาม 108 แห่ง เป็นที่รับรองประมุขประเทศและผู้นำมา 108 ท่าน ผู้ที่ฝึกพลังภายในมาที่นี่เชื่อว่าจะได้รับ “ชี่” คือพลัง ตอนที่เดินกลับเห็นจารึกลายมือท่านเผิงเจิน อดีตประธานสภาใน ค.ศ. 1985 เป็นประโยคสั้นๆ มีอักษร 4 ตัว ว่า ซาน เกา วั่ง หย่วน แปลว่า ภูเขาสูง มองได้ไกล อ่านจากตัวท้ายมาตัวหน้าก็ได้ความหมายว่า มองภูเขาสูงที่ไกลลิบ อีกจารึกจารึกอักษรทางศาสนาเต๋าที่คนธรรมดาอ่านไม่รู้เรื่อง มีคนอ่านได้ว่าข้างบนเป็นชื่อเหลาจื่อ ว่าหลีเอ่อร์ ข้างล่าง 4 ตัวแปลว่า ชื่อเสียงระบือไกลเป็นหมื่นปี อาณาเขตของภูเขาไท่ซานกว้างไกลไปเกือบถึงกำแพงเมืองจี่หนาน กว้างถึง 426 ตารางกิโลเมตร ภูเขาไท่ซานเป็นหนึ่งในบรรดาภูเขาสำคัญของจีน
ทิศตะวันตกคือ ฮั่วซาน
ทิศใต้คือ เหิงซาน (ตัวอักษรจีน) เดิมคือ เทียนจู้ซาน ซึ่งอยู่ที่มณฑลอานฮุย จากราชวงศ์สุยเป็นต้นมาเปลี่ยนเป็นเหิงซาน

(น.94) นั่งรถไปเมืองชวีฝู่ ไปศาลเจ้าขงจื่อ ซุ้มประตูแรกคือ ประตูหยั่งเซิ่งเหมิน ป้ายบนประตูเขียนว่า ว่านเริ่นกงเฉียง แปลว่า กำแพงพระราชวังหมื่นเริ่น (เริ่นหนึ่งประมาณ 7-8 ฟุต) ประตูนี้สร้างใน ค.ศ. 1513 ในรัชศกเจิ้งเต๋อ ปีที่ 8 ราชวงศ์หมิง ที่รอบกำแพงมีบ้านคนอยู่ ประตูกลางจะเปิดเฉพาะเวลาจักรพรรดิเสด็จ ทางเมืองรับพระบรมราชโองการ หรือมีพิธีใหญ่ หน้าประตูเป็นทางเดินสู่สวรรค์ เรียกว่าเสินเต้า สองข้างทางมีต้นไม้เก่าแก่อยู่หลายต้น เข้าไปมีอาคารสร้างใน ค.ศ. 1538 สมัยจักรพรรดิเจียจิ้ง นอกจากจะมีหินสลัก ตุ้ยเหลียน 2 คู่บนเสาแล้ว บนฐานเสายังเป็นฐานบัวรองรับสัตว์ประหลาดที่เรียกว่า ตัวปี้ซี่ ซึ่งเป็นสัตว์สิริมงคลสามารถขจัดสิ่งเลวร้ายต่างๆ ได้ เขาว่าสัตว์นี้จะนำมาประดับได้เฉพาะบ้านเสนาบดีผู้ใหญ่เท่านั้น

(น.96) อาคารด้านซ้ายของขุยเหวินเก๋อเป็นอาคารไม้สำหรับเป็นที่ประทับของเหล่าพระประยูรญาติที่เสด็จมาเซ่นไหว้ขงจื่อ ขวามือเป็นศาลาจารึก มีจารึกอยู่สามหลัก จารึกในสมัยราชวงศ์ จิ้น ซ่ง และหมิง มีฐานตั้งป้ายเป็นรูปเต่าและสัตว์อื่นๆ บ้าง มีจารึกหลักหนึ่งที่จักรพรรดิคังซี (ค.ศ. 1662-1722) ทรงย้ายจากปักกิ่งโดยลำเลียงทางคลองขุดใหญ่ เหลือระยะทางอีก 45 กิโลเมตร ใช้วิธีรอให้ถึงหน้าหนาวเอาน้ำราดถนน น้ำกลายเป็นน้ำแข็งแล้วใช้วัวลากมา ใช้เวลาครึ่งเดือน ศิลาจารึกนี้หนักถึง 65 ตัน ต้องใช้วัวลาก 465 ตัว มีต้นไม้ต้นหนึ่งอ้างกันว่าขงจื่อเป็นผู้ปลูก สองข้างต้นไม้มีป้ายสรรเสริญคุณงามความดีและการเผยแพร่ความคิดของขงจื่อ

(น.99) ตามประเพณีที่ปฏิบัติกันมา เมื่อผลัดแผ่นดิน จักรพรรดิองค์ใหม่จะต้องเสด็จมาเซ่นไหว้ขงจื่อ ประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่า มีจักรพรรดิเสด็จมาที่นี่ 12 องค์ ในห้องมีเครื่องดนตรีที่ใช้บรรเลงระหว่างพิธี ด้านนอกอาคารเป็นลานกว้างสำหรับฟ้อนรำในพิธีเซ่นไหว้ ตรงข้ามเป็นที่เซ่นไหว้บรรพบุรุษขงจื่อ ด้านนอกมีจารึกชื่อลูกหลานขงจื่อถึงสมัยราชวงศ์หมิง ปัจจุบัน (ค.ศ. 2000) มี 85 ลำดับชั้น ประมาณ 3 ล้านกว่าคน ผู้ที่มาบรรยาย (ศาสตราจารย์ข่งเซียงหลิน) ให้ฉันวันนี้เป็นลำดับชั้นที่ 75 ฉะนั้นไม่สามารถจารึกชื่อทั้งหมดได้ กำลังทำรายชื่อใส่ซีดีรอม คนแซ่ข่งไม่ใช่มีแต่ในจีน ได้แยกย้ายกันไปอยู่ในต่างประเทศ 10 กว่าประเทศ

(น.102) เขาให้ดูห้องต่างๆ เช่น ห้องลูกสาวสองคนตอนเด็กๆ ห้องภรรยา 2 คน มีรูปถ่ายติดข้างฝา เป็นรูปคนในครอบครัว เล่าประวัติครอบครัว ที่จริงฉันก็จดว่าใครเป็นใคร แต่ขี้เกียจเขียนเพราะรู้สึกว่าไม่ได้ประโยชน์อะไร ด้านหลังมีสวนหลังบ้านและมีอาคารอีกหลังเรียกว่าโฮ่วถังโหลว เป็นบ้านพ่อแม่ของเหยี่ยนเซิ่งกง เมื่อท่านเสียชีวิตแล้วเป็นเรือนหอ มี ทำเนียบบุตรหลาน แต่ใส่ชื่อเพียงบุตรคนโตเท่านั้น ดูตรงนี้เสร็จแล้วนั่งรถไปโรงแรมฉ่วยลี่เพื่อพักผ่อนเข้าห้องน้ำครู่หนึ่งแล้วเดินทางต่อไปที่พิพิธภัณฑ์ขงจื่อ ที่นี่มีวัตถุโบราณราว 80,000 ชิ้น มีที่ขุดขึ้นได้จากดิน รวมแล้วร่วมแสนชิ้น มีเสื้อผ้าของพวกสมัยราชวงศ์หมิงและชิง มีธรรมเนียมว่าเมื่อสิ้นแผ่นดินราษฎรทั้งปวงจะต้องเอาเสื้อผ้าเก่าเผาทิ้งและเปลี่ยนเสื้อผ้าใหม่ อนุญาตแต่บ้านตระกูลข่งเพียงบ้านเดียวให้เก็บเสื้อผ้าเอาไว้ได้ (ฉันไม่เคยได้ยินเรื่องธรรมเนียมเผาเสื้อผ้า มีแต่แต่งไว้ทุกข์โกนหัว ต้องลองค้นคว้าดู)

(น.104)
เสื้อสมัยราชวงศ์หมิง บางมากสำหรับใส่ฤดูร้อน ใช้ในพิธีสำคัญๆ ต้องได้รับพระราชทานจึงใช้ได้ ลายปักเป็นรูปสัตว์คล้ายมังกรและมีแค่ 4 เล็บ รูปขงจื่อและลูกศิษย์ 2 คนคือ เหยียนหุยและเจิงจื่อ มองดูคร่าวๆ เหมือนภาพเขียนธรรมดา แต่เมื่อใช้แว่นขยายส่องดูจะเห็นว่าลายเส้นเป็นตัวหนังสือ คนอธิบายว่าเป็นหลุนอวี่ทั้งคัมภีร์ ทางพิพิธภัณฑ์ให้หนังสือหลุนอวี่เป็นของขวัญ

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 120

(น.120) ไปพิพิธภัณฑ์มณฑลเหอหนาน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รูปร่างอาคารดูสมัยใหม่มาก แต่ที่จริงแล้วทำเลียนแบบหอดูดาวโบราณ ผู้อำนวยการมาต้อนรับอธิบายว่าพิพิธภัณฑ์เหอหนานเริ่มก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1927 แต่ก่อนอยู่ที่เมืองไคเฟิง ปลายทศวรรษ 1950 ต่อต้น 1960 ที่ทำการรัฐบาลย้ายมาอยู่นครเจิ้งโจว พิพิธภัณฑ์จึงย้ายมาด้วย สร้างเสร็จ ค.ศ. 1959 มีพื้นที่ใช้สอย 15,000 ตารางเมตร ได้สร้างอาคารใหม่ระหว่าง ค.ศ. 1991-1994 เปิดให้เข้าชมได้ใน ค.ศ. 1998 จัดแสดงวัตถุโบราณในมณฑลเหอหนาน ซึ่งมีประมาณ 13,000,000 ชิ้น พื้นที่จัดแสดงประมาณ 78,000 ตารางเมตร ได้ดูวัตถุโบราณ 3 ห้อง ได้แก่ วัฒนธรรมโบราณเหอหนาน ศิลปะแกะสลักหิน มี 2 ห้อง คือ 1. ศิลปะชาวบ้าน 2. ศิลปะทางพุทธศาสนา เครื่องหยกโบราณ ส่วนมากค้นพบจากในสุสาน เครื่องทองสำริดของรัฐฉู่ ซึ่งเป็นรัฐที่มิใช่ชนชาติจีน เป็นรัฐใหญ่มากกลางประเทศ อาณาเขตกว้างขวางถึงแถบมณฑลหูเป่ย รัฐฉู่มีภาษาและวัฒนธรรมที่ค่อนข้างแตกต่างจากจีน มีวรรณคดีตกทอดมาจนทุกวันนี้ จิ๋นซีฮ่องเต้มาตีรัฐนี้ จึงรวมประเทศได้ ศิลปกรรมสมัยราชวงศ์หมิงและชิง แสดงงานศิลป์ต่างๆ หลายรูปแบบ นอกจากนั้นมีการแสดงเรื่องของไดโนเสาร์และไข่ไดโนเสาร์ให้เยาวชนชม แสดงประวัติภาคกลางเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ใหญ่ๆ เกิดขึ้นหลายอย่าง วัตถุโบราณที่แสดงในส่วนนี้มีประมาณ 3,000 ชิ้น

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 157,159,163,167

(น.157) จากนั้นไปสุสานกวนอู ตอนนี้กำลังสร้างลานจอดรถ มีที่แสดงงิ้ว ในแต่ละปีที่มีพิธีไหว้กวนอูจะจัดงานในวันขึ้น 13 ค่ำเดือนอ้าย (ทำไมก็ไม่ทราบ) เดือน 5 และเดือน 9 ประตูทางเข้าสร้างในราชวงศ์ชิง ตัวสุสานสร้างในรัชศกว่านลี่ ราชวงศ์หมิง เป็นสุสานฝังหัวกวนอู ส่วนตัวฝังที่ตังหยัง มณฑลหูเป่ย ฉันรู้สึกว่าฝังแบบตัวไปทาง หัวไปทางนี่ไม่ดีเลย แต่ถ้าไม่ถือ คิดเสียว่าตายไปแล้วก็ทิ้งร่างก็ไม่เป็นไร ดูเหมือนว่าโจโฉเป็นผู้ฝังหัวกวนอู เพราะข้าศึกตัดหัวกวนอูส่งให้โจโฉเพื่อเอาความดีความชอบ แต่โจโฉกลับทำพิธีศพให้อย่างสมเกียรติ ทั่วประเทศมีศาลเจ้ากวนอูมากมาย แต่ที่สำคัญมี 3 แห่ง คือ
1. กวนหลิน เมืองลั่วหยัง
2. กวนหลิง อำเภอตังหยัง มณฑลหูเป่ย
3. อำเภออวิ้นเฉิง มณฑลซานซี เป็นบ้านเก่า

(น.159) ทางเดินเข้าศาลเจ้า มีสิงโตเป็นเสาสะพาน ฉันไม่ได้นับ แต่คนจีนเขานับว่ามีทั้งหมด 104 ตัว พ่อค้าสมัยนั้นบริจาค พ่อค้านับถือกวนอู เพราะถือว่าเป็นเทพแห่งความซื่อสัตย์ ถ้าค้าขายอย่างซื่อสัตย์จึงจะเจริญรุ่งเรือง ข้างในมีรูปกวนอู จักรพรรดิสมัยราชวงศ์หมิงตั้งกวนอูเป็นจักรพรรดิ สองข้างรูปกวนอูเป็นรูปบริวารที่ติดตาม ด้านหนึ่งมีโจวชังและเสี่ยวอั่ว อีกด้านเป็นหวังฝู่และกวนผิง ในศาลมีของขาย แต่ฉันไม่ทันได้ซื้อ ป้าจันดูเหมือนจะซื้อบอกว่าของที่นี่ถูกกว่าที่อื่น เขาให้ง้าวของกวนอู (จำลอง) บอกว่ากันผีได้ ด้านหลังมีอาคารอีกสองสามอาคาร ข้างนอกมีต้นไม้ (ต้นไป๋) ลำต้นบิดๆ คำอธิบายเกี่ยวกับกวนอูตามเคย บอกว่ากวนอูขี่ลมไปปราบผี ลมพัดทำให้ต้นไม้ที่อยู่บริเวณนั้นบิดไปตามกระแสลม ซานเตี้ยน เป็นห้องนอนของกวนอู มีภาพปั้นกวนอูกำลังอ่านหนังสือ ด้านหลังสุดมีที่ฝังหัวกวนอู จักรพรรดิเฉียนหลงเขียนคำสรรเสริญไว้ว่า กวนอูเป็นพระมหาราชาที่มีความซื่อสัตย์ เมตตา และกล้าหาญ ได้รับความคุ้มครองจากสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ห้าวหาญ เก่งสามารถ ศักดิ์สิทธิ์ ถือว่าเป็นคำยกย่องที่สูงสุดในประวัติศาสตร์ เขียนเมื่อ ค.ศ. 1765

(น.163) ขณะนี้ในสวนเจดีย์มีเจดีย์ 244 องค์ เก่าที่สุดสมัยราชวงศ์ถัง มีเจดีย์ใหม่ 2 องค์ เขาว่ากันว่าสมัยราชวงศ์ชิงมีกว่า 500 องค์ มีเรื่องว่า จักรพรรดิเฉียนหลงต้องพระประสงค์ทรงทราบจำนวนเจดีย์ ก็ไม่มีใครนับถ้วน เลยให้กองทัพมีทหาร 500 นาย ไปกอดเจดีย์คนละองค์ ก็ยังนับไม่ได้ มีสุสานของพระวัดนี้ สานุศิษย์เป็นผู้นำมาฝังไว้ เจดีย์จะใหญ่เล็กขึ้นกับความดีของพระรูปนั้น ถ้าดีมีคนขึ้นมากเจดีย์ก็ใหญ่ ในราชวงศ์หมิงมีโจรสลัดญี่ปุ่นมาปล้นแถวตะวันออกเฉียงใต้ของจีน พระเซียวซานจากเซ่าหลินสามารถปราบโจรสลัดได้ เจดีย์ของท่านจึงใหญ่ ตอนหลังนี้ไม่ให้ฝังพระอีกแล้วเพราะจะแน่นเกินไป นอกจากพระที่ทำคุณงามความดีจริงๆ มีพระ 2 รูปชื่อ ซือสิงเจิงและซือเต๋อฉาน มีคุณ งามความดีมาก คือ ช่วยไม่ให้พวกเรดการ์ดทำลายวัด

(น.167) ตอนแรก 3 สำนักขัดแย้งกัน ต่อมาสำนึกว่าต้องอยู่ด้วยกันอย่างกลมกลืนผสมผสานกัน ต่างรู้สึกว่า วิชา โลกทัศน์ และค่านิยมของคนก็มาจากความเชื่อทั้งสามนี้ รูปเดียวกัน มองตรงเป็นพระศากยมุนี มองซ้ายเป็นขงจื่อ มองขวาเป็นเหลาจื่อ (ขงจื่อและเต๋าเป็นลัทธิของจีน พุทธเป็นความเชื่อจากอินเดีย มีหลักของการเวียนว่ายตายเกิด ซึ่งไม่ได้มีปรากฏในสองความคิดแรก แต่ก็มากลมกลืนและมีอิทธิพลกับสังคมจีนมาก ประพจน์คิดว่าอย่างไร) ในวิหารใหญ่ต้าสยงมีพระพุทธรูป 3 องค์ เป็นพระพุทธเจ้าในอดีต (พระอมิตาภพุทธเจ้า) พระปัจจุบัน (พระศากยมุนี) และพระในอนาคต (คือพระไมเตรยะ) ที่ลานวัดมีหม้อใบโตสมัยราชวงศ์หมิง สำหรับผัดผักเลี้ยงพระในวัด

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 205

(น.205) มีตู้เก็บเอกสาร ลายมือของบุคคลสำคัญ เมื่อเสียชีวิตแล้วครอบครัวหรือคนใกล้ชิดให้ห้องสมุด หนังสือชุดหย่งเล่อต้าเตี่ยน ซึ่งจัดทำขึ้นในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ แห่งราชวงศ์หมิง รวบรวมเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1408 เป็นประมวลหนังสือที่แยกหมวดหมู่ตามเนื้อเรื่อง นอกจากนั้นมีต้นฉบับลายมือของนักเขียนจีนมีชื่อ เช่น ปาจินที่เขียนนวนิยายเรื่อง บ้าน หลู่ซวิ่นเขียนเรื่องซานเว่ยซูอู เฉาอวี๋เขียนเรื่อง ฝนฟ้าคะนอง กัวมัวรั่วเขียนเรื่อง ชวีหยวน อัลบั้มส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลและหลิวเซ่าฉีตอนไปเยือนต่างประเทศ หนังสือส่วนตัวของท่านโจวเอินไหล มีหนังสือ Das Kapital ของ Karl Marx จดหมายของ Karl Marx หนังสือเรื่อง ประชาธิปไตยใหม่ของประธานเหมา หนังสือโบราณของตะวันตกสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15 ห้องนี้ยังเก็บของโบราณ เช่น จารึกกระดองเต่า หนังสือเขียนบนไม้ไผ่สมัยราชวงศ์ฮั่นที่มาจากสุสานหม่าหวังตุย ไปที่ห้องอ่านหนังสือ มีพจนานุกรมศัพท์หมวดภาษาต่างประเทศเทียบภาษาจีน จักรพรรดิหงอู่โปรดเกล้าให้จัดทำ หลังการตั้งสำนักงานต่างประเทศ (ซื่ออี๋ก่วน) ใน ค.ศ. 1382 เพื่อเป็นแบบเรียนของพวกล่าม มีหลายภาษา เช่น มองโกล ไทย พม่า และอื่นๆ มีคำศัพท์เป็นหมวด เช่น ประตู หน้าต่าง ศาลา มีตัวอักษรและเสียงอ่าน พจนานุกรมนี้มีชื่อว่า หัวอี๋อี้อวี่ หนังสือ เชียนเจียซือ เป็นหนังสือรวมบทกวี 1,000 บทสมัยราชวงศ์ถังและซ่ง หลิวเค่อจวงเป็นผู้รวบรวมในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (ค.ศ. 1127-1279) แยกเป็นหมวดหมู่ เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องทั่วๆ ไป ของเดิมคงจะสูญหายไปแล้ว ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีไม่กี่สิบบท และไม่ใช่ของหลิวเค่อจวงรวบรวม แต่ยังใช้ชื่อ เชียนเจียซือ เป็นหนังสือที่ชาวจีนใช้สอนลูกหลานให้ท่องจำบทกวีดีๆ ฉบับที่ดูนี้อายุ 500 กว่าปีช่วงกลางสมัยราชวงศ์หมิง เป็นหนังสือเขียนด้วยลายมือและมีภาพประกอบด้วย

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 227

(น.227) กำแพงนี้เริ่มสร้างตั้งแต่สมัยจักรพรรดิเซวียนหวัง (827-782 ปีก่อนคริสต์กาล) ราชวงศ์โจวตะวันตก แต่สมัยนั้นมีขนาดเล็ก ก่อด้วยดินเหนียวมาถึงสมัยราชวงศ์หมิง ปีที่ 3 ในรัชสมัยจักรพรรดิหงอู่ (ค.ศ. 1370) ได้ปรับโครงสร้างใหม่ และซ่อมแซมในสมัยราชวงศ์ชิงอีกหลายครั้ง จนเหมือนกับที่เห็นอยู่ตอนนี้ แม้ว่าจะมีอายุถึง 630 ปีแล้ว ก็ยังแข็งแรง กำแพงนี้ยาว 6.4 กิโลเมตร ส่วนความสูงนั้นตามเอกสารว่า กำแพงสูง 10 เมตร เชิงเทิน 2 เมตร รวมเป็น 12 เมตร สร้างตามหลัก “สร้างกำแพงให้สูง สะสมเสบียงให้มาก” มีช่องสี่เหลี่ยมสำหรับส่องดูข้าศึกทั้ง 4 ทิศ ทั้งหมด 3,000 ช่อง มีป้อมบนกำแพง 72 แห่ง นัยว่าสร้างเท่าตัวเลขของศิษย์เอกขงจื่อ 72 คน และศิษย์ทั่วไป 3,000 คน

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 238-239,243,252

(น.238) วัดอยู่ในทำเลที่เหมาะสมมาก มีภูเขากั้นทางลมและมีหน้าผากั้นฝน พายุ และหิมะ ทำให้สภาพของวัดยังสมบูรณ์อยู่มาก บางคนกล่าวว่าหน้าผาที่ตั้งของวัดนี้เหมือนหมอกที่ป้องกันวัดจากภัยธรรมชาติ ใน ค.ศ. 1989 เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ในนครต้าถง สถานที่ต่างๆ เสียหายมาก แต่วัดนี้ได้รับผลกระทบน้อย เดิมวัดอยู่สูงจากพื้นดิน 90 เมตร แต่เกิดอุทกภัยหลายครั้ง ดินทับถมกันจนกระทั่งปัจจุบันนี้สูงกว่าพื้นดินเพียง 58 เมตรเท่านั้น ใน ค.ศ. 1958 รัฐบาลได้สร้างอ่างเก็บน้ำเพื่อรับน้ำจากยอดเขา หน้าวัดเป็นต้นน้ำแม่น้ำหุนเหอ วัดนี้สร้างอาคารหันหน้าทางทิศตะวันตกซึ่งถือว่าเป็นพุทธภูมิ ส่วนประตูใหญ่เข้าวัดนั้นหันทางทิศใต้ ทั้งวัดมีห้องขนาดใหญ่ เล็ก และหอสูง 40 แห่ง (ดูด้วยตาไม่น่าถึง ไม่ทราบว่าเขานับอย่างไร) อาคารแบ่งเป็น 3 ส่วน แต่ละส่วนมี 3 ชั้น มีอาคาร ซานโฝเตี้ยน ซานเซิ่งเตี้ยน และซานกวนเตี้ยน อาคารเหล่านี้มีรูปเคารพทางพุทธศาสนา ลัทธิเต๋า และขงจื่อรวม ๆ กัน ที่เหลือเวลานี้มีรูปเคารพทางพุทธศาสนา 11 แห่ง อาคารศาสนาเต๋า 6 แห่ง และอาคารซานเจี้ยว (รวมกันทั้ง 3 ศาสนา) แห่งหนึ่ง อาจจะเป็นเหตุนี้ที่มีผู้ซ่อมแซมวัดทุกยุคทุกสมัย มีคนมีชื่อเสียงมาชม เช่น หลี่ไป๋ แต่ไม่กล้าเขียนบทกวีชม ตอนหลังมีคนอังกฤษมาชมว่าไม่แต่เป็นความภูมิใจของคนจีนเท่านั้นแต่เป็นของมนุษยชาติด้วย เดินขึ้นไปที่ซานโฝเตี้ยน อาคารนี้มีพระศรีอริยเมตไตรยถือถุงผ้า เชื่อกันว่าหน้าของพระนี้ปั้นตามพระที่มีชีวิตจริง เป็นชาวเจ้อเจียงเกิดในสมัยนั้น หลังคาของอาคารนี้เป็นโลหะ สร้างในสมัยราชวงศ์หมิง เดินต่อไปเป็นต้าสยงเป่าเตี้ยน (ทางเดินสูงมาก ฉันเองตอนเดินขึ้นก็รู้สึกหวาดเสียวเหมือนกัน แต่ไกด์บอกว่า ใน ค.ศ. 1996 สมเด็จป้าเสด็จมาขึ้นได้ถึงชั้นบนสุด) มีรูปพระอมิตาภะ พระไวโรจนะและพระศากยมุนี การหล่อรูปพวกนี้ใช้เทคนิคปั้นดินแล้วถอดแบบ ข้างๆ มีรูปเว่ยถัว ไกด์ว่าเป็นเทพารักษ์ มักสร้างไว้ตรงข้ามกับวิหารใหญ่ ว่ามีหน้าที่รักษาพระไตรปิฎก

(น.239) อีกห้องมีรูปกวนอู สร้างสมัยราชวงศ์หมิง นอกจากกวนอู มีรูปโจวชังและกวนผิง (กวนผิงเป็นลูกชายกวนอู) กวนอูเป็นคนไฮ่โจว (อักษรตัวนี้เขียนแล้วทั่วไปเขาอ่านกันว่า เจี่ย แต่คนเมืองนี้อ่าน ไฮ่ และเชื่อกันว่ากวนอูเป็นเทพเจ้าแห่งเงินตรา) ห้องเล็กๆ อีกห้องเป็นที่ประดิษฐานเทพสูงสุดของเต๋า คือ ไท่อี้เจินเหริน (มหาเทพ) สองข้างมีเด็กรับใช้ คนหนึ่งเรียกว่า เย่าถง มีหน้าที่ต้มยา อีกคนหนึ่งเรียกว่า ซูถง มีหน้าที่รับใช้บุตรหลานผู้มีอันจะกินในเวลาเรียนหนังสือ เช่น ช่วยฝนหมึก หยิบหนังสือให้

(น.243) ถ้ำ เทวดาในลัทธิเต๋า แล้วเข้ามาที่ซานกวนเตี้ยน ตั้งเทวดาเต๋า มีเทวดาฟ้า (เทียนกวน นำสิริมงคล) เทวดาน้ำ (สุ่ยกวน ล้างความไม่ดีไป) ตี้กวน (เทวดาดิน ปลดปล่อยโทษ) และมีอะไรก็ไม่รู้อีก 6 องค์ (เดาว่าเป็นเหยาซุ่นอวี่ หรือจักรพรรดิโบราณ 3 องค์ อีก 3 องค์ไม่รู้) เพดานสลักลวดลายมังกรและดอกไม้ ห้องนี้สมัยราชวงศ์หมิง ลงมาข้างล่างด้วยความโล่งใจ มีบทกวีโบราณชมวัดแขวน มีใจความว่า หยุดรถดู วัดดีๆ ทำไมเอาไว้เสียไกล วันก่อนไม่ได้ขึ้น ไปเซ็นชื่อก่อนลา มีนกกระเรียนบินมาฝูงหนึ่ง เขาเลยเชื่อกันว่าฉันเป็นผู้มีบุญมาเยือน นั่งรถกลับ มาถึงโรงแรมรับประทานอาหาร ตกลงเราซื้อเสื้อให้ประพจน์จนได้ แต่วันนี้เขาขายขึ้นราคาบอกว่าเมื่อวานขายผิด ฉันอุตส่าห์บอกคนขายว่าซื้อให้ลูกชาย เขายังไม่ลด คนอื่นฟังฉันพูดไม่เข้าใจ แต่ตู่อยู่ตรงนั้นหัวเราะใหญ่ ตอนบ่ายไปถ้ำหยุนกั่ง ไม่ไกลนักอยู่ตรงนั้นพอดี เข้าไปนั่งในห้องรับรอง หลี่จื้อกั๋ว อธิบดีกรมโบราณวัตถุอธิบาย มีใจความว่า ประเทศจีนมีประวัติศาสตร์เก่าแก่ 5,000 ปี มีอาณาบริเวณกว้างใหญ่ถึงพันหมื่นลี้ ดังนั้นจึงมีโบราณวัตถุและโบราณสถานมากมาย ที่มณฑลซานซีมีโบราณสถานสร้างมาตั้งแต่โบราณถึงราชวงศ์ชิง มีแหล่งโบราณสถานกว่า 18,000 แห่ง เมืองต้าถงเป็นเมืองที่มีความสำคัญต่อมณฑลมาก เพราะมีประวัติศาสตร์ยาวนาน ได้อนุรักษ์โบราณสถานไว้มากมาย ซึ่งล้วนแต่ทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์และศิลปะ แหล่งโบราณคดีสำคัญหลายแห่ง ยังไม่ได้จดทะเบียนเป็นมรดกของประเทศ

(น.252) ดูแค่นี้ก็เป็นอันว่าหมดเวลา อาจารย์หลี่ให้หนังสือหยุนกั่งเล่มโตสองเล่มจบ กลับโรงแรม เป็นอันว่า e-mail ใช้ไม่ได้ รับประทานอาหาร พวกผู้นำต้าถงเขามารับประทานด้วย แต่ว่าไม่ต้องมีพบปะกันก่อนอาหาร เขาใช้วิธีแจก Sheet เกี่ยวกับต้าถง ก็ดีเหมือนกัน ต้าถงตั้งอยู่ทางเหนือของมณฑลซานซี ติดเหอเป่ยและมองโกเลียใน อยู่บนที่ราบสูงดินเหลือง (loess plateau) สูงกว่าระดับน้ำทะเล 1,000 เมตร ล้อมรอบด้วยภูเขา ประกอบด้วย 4 เขตในเมือง และ 7 อำเภอ มีเนื้อที่รวม 14,127 ตารางกิโลเมตร ประชากร 2.8 ล้านคน ต้าถงดำเนินนโยบาย เปิดสู่ภายนอก รัฐบาลประกาศเป็นเมืองประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมตั้งแต่ ค.ศ. 386-494 เป็นนครหลวงของราชวงศ์เป่ยเว่ย เป็นเมืองหลวงที่ 2 ของราชวงศ์เหลียวและจินระหว่างคริสต์ศตวรรษที่ 11-12 รวมทั้งเป็นที่ตั้งจังหวัดในสมัยราชวงศ์หมิงและชิงด้วย

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก
เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 63

(น.63) ที่จริงยังมีเรื่องสนทนากันอีกมาก แต่เวลาหมดแล้ว เลยต้องลาเดินทางไปที่วัดต้าเจวี๋ย (ซึ่งน่าจะแปลว่า วัดมหาโพธิ) ที่วัดมีคนที่ดูแลวัด คุณซูเสี่ยวเฟิง ซึ่งเป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานวัฒนธรรมกรุงปักกิ่ง อาจารย์มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (มีทั้งที่ตามข้าพเจ้าจากมหาวิทยาลัยแต่แรกและรออยู่ที่วัด) วัดต้าเจวี๋ยตั้งอยู่ที่เชิงเขาหยังไถ ทางตะวันตกเฉียงเหนือของอำเภอไห่เตี้ยน สร้างเมื่อ ค.ศ.1068 สมัยราชวงศ์เหลียว สมัยก่อนเรียกชื่อว่าชิงสุ่ยย่วน แล้วเปลี่ยนชื่อเป็นวัดหลิงเฉวียนในสมัยราชวงศ์จิน (ค.ศ.1115-1234) ในค.ศ.1428 สมัยจักรพรรดิเซวียนเต๋อ (ค.ศ.1426-1435) ราชวงศ์หมิง มีการซ่อมครั้งใหม่เปลี่ยนชื่อเป็น ต้าเจวี๋ย วัดนี้มีลักษณะพิเศษคือ หันทางทิศตะวันออก วัดอื่นๆ หันทางทิศใต้ เรื่องทิศทางของวัดนี้ข้าพเจ้าไม่สู้จะเข้าใจดีนัก สันนิษฐานว่าทิศใต้ถือว่าเป็นทิศหลัก บางคนก็ว่าเลียนแบบวัดที่สร้างวัดแรกที่ภูมิประเทศบังคับให้หันทางทิศใต้ ที่หันทางตะวันออกบางคนว่าเป็นด้วยภูมิประเทศบังคับเช่นกัน หรือเป็นธรรมเนียมของราชวงศ์เหลียว แต่ข้าพเจ้าคิดว่าน่าจะมีเหตุผลทางศาสนาคือ เมื่อสาธุชนเดินเข้าไปไหว้พระ เข้าทางตะวันออกก็จะเป็นพระอยู่ทางตะวันตก คือ ดินแดนสุขาวดี มีวิหารต่างๆ เช่น วิหารจตุโลกบาล วิหารมหาวีระ (ต้าสยงเป่าเตี้ยน) วิหารอมิตภะ (อู๋เลี่ยงโซ่วฝอเตี้ยน) วิหารมหากรุณา (ต้าเปยถาน) นอกจากนั้นยังมีวิหารอะไรต่อมิอะไรอีกแยะ (ซื่ออี ซีหยุน หลิงเย่า หลงหวังถัง) มีหอกลอง หอระฆัง ที่สำคัญอีกอย่างคือ มีธารน้ำและสระน้ำที่มีน้ำตลอดเวลา เราดูปลาที่สระน้ำนี้ได้เพราะว่ามาจากน้ำพุร้อนหลิงเฉวียน น้ำจึงไม่เป็นน้ำแข็งตอนหน้าหนาว

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 77

(น.77) ในห้องมีพัดลมตั้งโต๊ะ Westinghouse แบบโบราณ ตู้อย่างโบราณ เสาแขวนเสื้อ overcoat หีบใส่เสื้อผ้า ตู้ใส่ของเป็นตู้ติดข้างฝา แต่ก่อนดูเหมือนจะไว้หนังสือ ห้องที่เราดูพวกนี้เขาติดกระจกกันไว้คนธรรมดาไม่ได้ให้เข้าไป ตรงลานกลางบ้านเรียกว่า “ลานพลับแดง” มีต้นพลับอยู่ 2 ต้น ปัจจุบันยังออกลูก คุณแม่ (หูเจียฉิง) เป็นคนตั้งชื่อ ห้องรับประทานอาหารจัดเป็นห้องนิทรรศการแสดงประวัติของเหล่าเซ่อ ท่านเป็นลูกคนแมนจูที่มีฐานะค่อนข้างยากจน อยู่ในกองธงสีแดง (ในแปดกองธงหรือปาฉี) ชื่อเดิมว่า ซูชิ่งชุน มีอีกชื่อว่า เซ่อหยู เกิด ค.ศ.1899 ที่เสี่ยวหยังเชวียนหูถง ทางตะวันตกของปักกิ่ง ปัจจุบันเรียกว่า เสี่ยวหยังเจียหูถง คำว่า หูถง เป็นคำทับศัพท์จากภาษามองโกลว่า เซี่ยงทง แปลว่า ตรอก ซอย ออกเสียงเพี้ยนไปเป็น หูถง ในสมัยราชวงศ์หยวนซึ่งตั้งเมืองหลวงที่ปักกิ่งและได้พัฒนาเมืองนี้มาก ทั้งเมืองมีหูถงเพียง 29 สาย เมืองปักกิ่งในสมัยราชวงศ์หยวนเรียกว่า ต้าตู มาถึงราชวงศ์หมิง ในเขตกำแพงเมืองมีหูถง 900 กว่าสาย และนอกกำแพงเมืองมี 300 กว่าสาย สมัยราชวงศ์ชิง ในกำแพงเมืองมี 1,200 กว่าสาย นอกกำแพงเมือง 600 กว่าสาย การสำรวจใน ค.ศ.1946 ได้ข้อมูลว่าทั้งหมดมี 3,065 สาย ปัจจุบันคงเหลือน้อยลง เพราะรื้อทิ้งสร้างตึกสูง

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 99

(น.99) คุณเตาซู่เหรินบอกว่า ต้องการอะไรเกี่ยวกับพุทธศาสนาในประเทศจีนก็ให้บอก ข้าพเจ้าถามถึงบัญชีหนังสือคัมภีร์ใบลานภาษาทิเบตและภาษาสันสกฤต เขาบอกว่าจะไปถามที่สถาบันศึกษาทิเบตให้ ทางพุทธสมาคมไม่ได้เป็นผู้จัดทำ ถามถึงคัมภีร์กัณฑวยูหะ สมัยราชวงศ์หมิง เขาว่าจะไปหาถ้าได้จะเอามาให้ เมื่อคุณเตาซู่เหรินและคณะไปแล้ว ข้าพเจ้าขึ้นมารับประทานอาหารกับอาจารย์นิออน จี้ และครูฟั่น ข้าพเจ้าทำผัดผักต่างๆมีบร๊อกโคลี่ ปวยเล้ง และอะไรอีกอย่างลืมไปแล้ว ใส่น้ำมันหอย (ตามเคย) ใส่ซุปแบรนด์ กระเทียม รากผักชี (ลืมโรยพริกไทย) ที่พิเศษคือใส่ข้าวตัง

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 153

(น.153) ของที่บ้านทำเองมีขนมไส้หัวผักกาดแบบเซี่ยงไฮ้ และขนมอะไรก็ไม่รู้ เป็นของปักกิ่ง พูดถึงภาษาเซี่ยงไฮ้ รุ่นลูกมาดามพูดไม่ได้แล้ว แต่ยังฟังออก แต่รุ่นหลานพูดก็ไม่ได้ฟังก็ไม่ออก มาดามพูดภาษาจีนกลางยังมีสำเนียงเป็นคนใต้ รุ่นลูกพูดเสียงภาษากลางชัดเจน นั่งคุยกัน 4 ชั่วโมงครึ่งพูดภาษาจีนอย่างเดียวไม่รู้สึกว่ามีปัญหาอะไร ขากลับมีตำรวจมานั่งด้วยคนหนึ่ง หงเอี้ยนไปบ้านแล้ว มาถึงหอพัก ข้าพเจ้านั่งเขียนบันทึกต่อ สักประเดี๋ยวป้าจันมา เอาผักชีมาแสดงการทำรากผักชี ให้ตัดรากผักชีขึ้นมา ดึงก้านแล้วสับใส่ครกตำ เมื่อตำละเอียดแล้วใส่กระเทียม (รากผักชี 2 ราก กระเทียมกลีบเดียว พริกไทย 5-6 เม็ด) เวลาจะทำคลุกกับไก่หรือหมูเหยาะน้ำมันหน่อยหนึ่ง เวลาจะทอดเหยาะน้ำปลา น้ำตาลทรายนิดหนึ่ง เพิ่งมาดูเอกสารที่ติดมากับแท่นฝนหมึกที่มาดามเฉียนให้ มีข้อมูลเพิ่มเติมว่าหินถานเจ้อนี้มีเนื้อละเอียดและลื่น สีม่วงแก่เหมือนสีตับหมู เป็นหินที่เหมาะใช้แกะสลักโดยเฉพาะอย่างยิ่งแกะสลักเป็นแท่นฝนหมึก ในพิพิธภัณฑ์พระราชวังหลวง (กู้กง) ก็มีแท่นฝนหมึกแบบนี้ ทำในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง ที่ทำในสมัยปัจจุบันเลียนแบบแท่นฝนหมึกสมัยราชวงศ์หมิง เป็นที่ชื่นชอบของจิตรกรและนักเขียนพู่กันจีนที่มีชื่อเสียง เมื่อฝนหมึกจะไม่มีเสียงดัง ฝนหมึกได้ง่าย หมึกไม่แห้งเร็วเกินไป หินไม่ดูดน้ำ ฉะนั้นไม่เปลืองหมึกและไม่ทำให้พู่กันเสีย

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 225

(น.225) 9 โมงออกเดินทางไปกำแพงเมืองจีน ส่วนที่เรียกว่า มู่เถียนอวี้ กำแพงเมืองจีนส่วนนี้ ข้าพเจ้ายังไม่เคยไป ในรถหงเอี้ยนดูหนังสือฉลองพระชนมายุ 6 รอบ (พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว) ที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งเป็นผู้เขียน ศาสตราจารย์ จี้เซี่ยนหลิน เขียนคำถวายพระพร นอกเมืองเห็นคนขับรถเทียมลากันมาก ไปถึงกำแพงเมืองจีน เดินขึ้นไปหน่อยหนึ่ง ขึ้นกระเช้าไปดูทัศนียภาพกำแพงช่วงนี้อยู่ที่อำเภอหวยโหรว ห่างจากนครปักกิ่งไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 70 กิโลเมตร เริ่มบูรณะ ค.ศ.1983 เปิดให้คนชมได้ ค.ศ.1988 ขึ้นไปมีป้ายเขียนว่า บริษัทเฮงเคลจากเมืองดุสเซลดอร์ฟช่วยซ่อมใน ค.ศ.1989 กำแพงส่วนนี้สร้างสมันราชวงศ์หมิง คำว่า มู่เถียน เป็นชื่อสถานที่ อวี้ แปลว่า หุบเขา กำแพงสร้างตามหลักพิชัยสงคราม มีลักษณะพิเศษคือ สร้าง 3 แนว มีป้อมสำหรับตรวจสถานการณ์อยู่ในที่ที่จะสามารถสั่งการได้ดี มีหอสำหรับจุดไฟส่งสัญญาณ กำแพงด้านในเมืองจะชันน้อยกว่าด้านนอก ฉะนั้นศัตรูจะเข้ามาได้ยาก แถมมีหลุมป้องกันไม่ให้กองทหารม้าของข้าศึกเข้าไปได้


Next >>