Please wait...

<< Back

ราชวงศ์จิ้น

จากหนังสือ

เกล็ดหิมะในสายหมอก
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 2 เหลียวหนิง หน้า 29

(น.29) พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์แห่งมณฑลเหลียวหนิง
ห้องที่ 5 สมัยเว่ย จิ้น จนถึงถัง (คริสต์ศตวรรษที่ 3-8) ของที่ตั้งแสดงมีจานฝนหมึก ภาชนะ เครื่องประดับ คนแถวเหลียวหนิงตะวันตกเรียกว่าพวกเซียนเปย เป็นบรรพบุรุษของพวกหนู่เจิน พวกนี้เป็นเผ่าพันธุ์ใกล้เคียงกับพวกกลุ่มชนที่อยู่

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 5 ภาคผนวก หน้า 3-5

(น.2) ราชวงศ์ที่ปกครองจีน
1. ราชวงศ์เซี่ย ประมาณก่อน ค.ศ. 2205 – 1766 บางหลักฐานระบุว่าประมาณก่อน ค.ศ. 1994 – 1523
2. ราชวงศ์ซาง ประมาณก่อน ค.ศ. 1766 – 1122 บางหลักฐานระบุว่าประมาณก่อน ค.ศ. 1523 – 1027

(น.3) 3. ราชวงศ์โจว ประมาณก่อน ค.ศ. 1122 – 770 บางหลักฐานระบุว่าประมาณก่อน ค.ศ. 1027 – 770
4. ยุคชุนชิว ก่อน ค.ศ. 770 – 476
5. ยุคจ้านกว๋อ ก่อน ค.ศ. 476 – 221
6. ราชวงศ์ฉิน ก่อน ค.ศ. 221 – 206
7. ราชวงศ์ฮั่น ก่อน ค.ศ. 206 – ค.ศ. 220
ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ก่อน ค.ศ. 206 – ค.ศ. 8
หวังหมางยึดอำนาจ (ราชวงศ์ซิน) ค.ศ. 8 – 23
ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ค.ศ. 25 – 220
8. สมัยสามก๊ก ค.ศ. 220 – 265
ราชวงศ์เว่ย (ก๊กของโจโฉ ตั้งเมืองหลวงที่ลั่วหยาง) ค.ศ. 220 – 265
ราชวงศ์สู่หรือสู่ฮั่น (ก๊กของเล่าปี่ ตั้งเมืองหลวงที่เฉิงตู) ค.ศ. 221 – 263
ราชวงศ์หวู (ก๊กของซุนกวน ตั้งเมืองหลวงที่หนานจิง) ค.ศ. 222 – 280
9. ราชวงศ์จิ้นตะวันตก ค.ศ. 265 – 317 ราชวงศ์นี้สามารถรวบรวมประเทศจีนหลังสมัยสามก๊กให้เป็นปึกแผ่นอยู่ประมาณ 50 ปีเศษ
10. ราชวงศ์ใต้และราชวงศ์เหนือ (สมัยแห่งการแตกแยกทางการเมือง)

(น.4) ราชวงศ์ใต้
ราชวงศ์จิ้นตะวันออก ค.ศ. 317 – 420 ราชวงศ์นี้สืบสันตติวงศ์มาจากราชวงศ์จิ้นตะวันตก ใน ค.ศ. 317 อพยพหนีการรุกรานของพวกอนารยชน 5 เผ่ามาอยู่ทางใต้ และมาตั้งเมืองหลวงที่หนานจิง
ราชวงศ์หลิวซ่ง ค.ศ. 420 – 479
ราชวงศ์ฉีใต้ ค.ศ. 479 – 502
ราชวงศ์เหลียง ค.ศ. 502 – 557
ราชวงศ์เฉิน ค.ศ. 557 – 589

(น.5) ราชวงศ์ต่าง ๆ ทางภาคใต้ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่หนานจิง เมื่อรวมกับราชวงศ์หวูของซุนกวน ซึ่งเคยตั้งเมืองหลวงอยู่ที่หนานจิงเหมือนกัน จะมีจำนวนทั้งหมด 6 ราชวงศ์ จึงเรียกราชวงศ์ทางใต้รวมกันว่า ราชวงศ์เหนือใต้ หรือหกราชวงศ์ ได้แก่ ราชวงศ์หวู จิ้นตะวันออก หลิวซ่ง ฉีใต้ เหลียง และเฉิน

คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 9

(น.9) เมืองแต้จิ๋วเป็นเมืองเก่าแก่ ตั้งขึ้นเมื่อประมาณศตวรรษที่ 3 เป็นเขตห่างไกลล้าหลัง ต่อมาในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 5 ตรงกับปลายราชวงศ์จิ้นตะวันออก (ค.ศ. 317-420) ได้รับการพัฒนาขึ้นเป็นศูนย์กลางการปกครองแห่งหนึ่งในดินแดนตะวันออกเฉียงใต้ และมาเจริญรุ่งเรืองมากในราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618-907) เมืองแต้จิ๋วได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงไปตามมณฑลกวางตุ้ง ซึ่งป็นมณฑลที่มีสภาพทำเลที่ตั้งที่เปิดกว้างต่อการติดต่อกับต่างประเทศ

เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 174

(น. 174) พิพิธภัณฑ์หยังโจว
สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันตก (ค.ศ. 265 – 317) มีคัมภีร์ทางพุทธศาสนา (อวตังสกสูตร)
สมัยหกราชวงศ์ มีเครื่องปั้นดินเผาโบราณ ที่เรียกว่า หกราชวงศ์ นั้น หมายถึง ราชวงศ์ทางใต้ห้าราชวงศ์ (จิ้นตะวันออก หลิวซ่ง ฉีใต้ เหลียง และเฉิน) ในสมัยราชวงศ์เหนือใต้ ซึ่งอยู่ในช่วง ค.ศ. 317 – 589 ทั้ง 5 ราชวงศ์นี้ตั้งเมืองหลวงอยู่ที่หนานจิงหรือนานกิง เมื่อรวมกับราชวงศ์อู๋ (ค.ศ. 222 – 280) ของซุนกวน

เจียงหนานแสนงาม หน้า 271,274

(น. 271) หู่ชิว (หู่ = เสือ ชิว = เนินเขา) หรือเนินเสือ อยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 3.5 กิโลเมตร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของซูโจว ในบริเวณนี้มีบ่อน้ำ สระกระบี่ ลานหินพันคนหรือลานพันคนนั่ง เจดีย์ และสิ่งน่าสนใจอื่นๆ รวมทั้งมีเรื่องเล่าอยู่มากเกี่ยวกับสิ่งต่างๆ บนเนินเขานี้ เริ่มจากตัวสถานที่เล่ากันว่า เนินเสือเป็นสุสานฝังศพของพระเจ้าเหอหลีว์ (ก่อน ค.ศ. 514 – ก่อน ค.ศ. 496) แห่งแคว้นอู๋ ในสมัยชุนชิว พระเจ้าเหอหลีว์เป็นบิดาของพระเจ้าฟูชา (ก่อน ค.ศ. 496 – ก่อน ค.ศ. 473) ที่มีพระสนมชื่อ นางไซซี เป็นสาวงามเลอลบที่พระเจ้าโกวเจี้ยนแห่งแคว้นเย่ว์ ส่งมาถวายพระเจ้าฟูชา ตามแผนการใช้สาวงามมาล่มเมือง เล่าขานกันว่า หลังจากฝังพระศพพระเจ้าเหอหลีว์ที่เนินนี้ได้ 3 วัน ก็มีเสือไปหมอบบนสุสานที่สร้างเป็นเนิน เลยเรียกที่ตรงนี้ว่า หู่ชิว หรือ เนินเสือ

(น. 274) ติดกับสระกระบี่มีลานหินเรียกว่า ลานหินพันคน หรือลานพันคนนั่ง (เชียนเหรินสือ หรือ เชียนเหรินจั้ว เชียนเหริน = พันคน สือ = หิน จั้ว = นั่ง) เล่ากันว่าสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก (ค.ศ. 317 - 420) ในสมัยราชวงศ์เหนือใต้ พระเต้าเซิงหรือเซิงกง (ค.ศ. 355 – 434) มานั่งเทศนาที่ลานหินนี้ มีคนมาฟังเทศน์นับพันคน จึงเรียกชื่อลานหินตามที่กล่าวมาข้างต้น ท่านเทศน์ได้ดี แม้แต่หินฟังแล้วยังพยักหน้าชอบใจ จึงมีก้อนหินที่เรียกว่า หินพยักหน้า มีหนังสือคู่มือนักท่องเที่ยวเขียนว่าพระเซิงกงเป็นพระสมัยราชวงศ์เหลียง ได้ตรวจสอบหนังสือพุทธศาสนาในจีนบอกว่าเป็นพระในสมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออก

เจียงหนานแสนงาม หน้า 292

(น. 292) พิพิธภัณฑ์มณฑลเจ้อเจียง
ไปอีกตึกหนึ่ง แสดงเครื่องปั้นดินเผาของเจ้อเจียงตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซังถึงราชวงศ์ชิง สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก สมัยชุนชิวพบเครื่องปั้นดินเผาปั้นเลียนแบบเครื่องสำริด สมัยราชวงศ์ฮั่นมีตุ๊กตาหน้าตาเหมือนคนอินเดีย สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก สมัยสามก๊ก สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออกและพวกราชวงศ์ใต้ มีเครื่องปั้นดินเผาสีดำเต๋อชิง

เจียงหนานแสนงาม หน้า 330-331

(น. 330) อารยธรรมจีนมีจุดกำเนิดที่ลุ่มแม่น้ำหวงเหอหรือฮวงโห พื้นที่ของอารยธรรมเมื่อแรกเริ่มอยู่แถบมณฑลซานซี (ภาษาไทย-ชานสี) ซานตง (ชานตุง) และเหอหนาน (โฮนาน) ในสมัยชุนชิว-จั้นกั๋ว แคว้นต่างๆ ที่อยู่ในเจียงหนาน เช่น แคว้นอู๋ แคว้นเย่ว์ ยังมีความเจริญน้อยกว่าแคว้นต่างๆ ที่อยู่ในจุดเกิดอารยธรรม อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นในเจียงหนาน 2 ช่วง คือสมัยราชวงศ์เหนือใต้ และสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ ใน ค.ศ. 317 ราชวงศ์จิ้นได้หนีการรุกรานของพวกอนารยชนมาตั้งมั่นทางภาคใต้ ตั้งเมืองหลวงที่หนานจิง เรียกกันว่า

(น. 331) ราชวงศ์จิ้นตะวันออก (ค.ศ. 317 – 420) ส่วนทางเหนือนั้นพวกอนารยชน 5 เผ่า (สงหนู เจี๋ย เซียนเปย ตี และเชียง) ได้ตั้งแคว้นต่างๆ ขึ้นในช่วง ค.ศ. 304 – 439 มีอยู่ 16 แคว้น เรียกกันว่า 16 แคว้นของชน 5 เผ่า ใน 16 แคว้นนี้สันนิษฐานว่ามีอยู่ 3 แคว้นที่ชาวจีนเป็นผู้ก่อตั้ง นอกจากนี้ในช่วง ค.ศ. 386 – 581 ทางภาคเหนือยังมีราชวงศ์ต่างๆ อยู่ 5 ราชวงศ์ ดังนั้นในช่วง 260 กว่าปี (ค.ศ. 317 – 581) นับตั้งแต่ราชวงศ์จิ้นอพยพลงไปใต้ ประวัติศาสตร์ของภาคเหนือจึงเป็นเรื่องของ 5 ราชวงศ์ 16 แคว้น เรียกรวมๆ กันว่า ราชวงศ์เหนือ (เป่ยเฉา) ช่วงที่ราชวงศ์จิ้นมาอยู่ทางใต้นั้นได้นำวัฒนธรรมจีนในภาคเหนือลงมาด้วย ดินแดนเจียงหนานซึ่งได้สร้างความเจริญด้านวัฒนธรรมของตนเองมาแล้วตั้งแต่สมัยโบราณ จึงได้รับวัฒนธรรมจาดจุดก่อเกิดพัฒนาให้งอกเงยยิ่งๆ ขึ้น ต่อจากราชวงศ์จิ้นตะวันออก มีราชวงศ์ต่างๆ สืบต่อมาจนถึง ค.ศ. 589 อีก 4 ราชวงศ์ เรียกรวมกันว่า ราชวงศ์ใต้ (หนานเฉา) ประวัติศาสตร์จีนในช่วง ค.ศ. 317 – 589 จึงเรียกกันว่า สมัยราชวงศ์เหนือใต้ (หนานเป่ยเฉา) เป็นช่วงแห่งการแตกแยกทางการเมือง มารวมประเทศได้อีกครั้งหนึ่งในสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581 – 618) ต่อด้วยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 – 907) แม้การเมืองในสมัยนี้จะแตกแยกกันอยู่ 200 กว่าปี แต่วัฒนธรรมรุ่งเรือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธศาสนาและพุทธศิลป์

ใต้เมฆที่เมฆใต้
ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 209

(น.209)เขตการปกครองต่างๆ ของจีนทั้งในอดีตและปัจจุบันนั้น ผู้เขียนพยายามหาคำศัพท์ภาษาไทยที่มีความหมายใกล้เคียงสอดคล้องกับคำในภาษาจีน ในขณะเดียวกันก็หาศัพท์ที่คนไทยคุ้นเคย เพื่อสื่อความหมายให้ใกล้เคียงที่สุด และให้คนไทยเข้าใจได้ด้วย คำแปลเหล่านี้จึงเป็นเพียงการเสนอแนะของผู้เขียน เพื่อให้ผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้าทางด้านจีนวิทยาได้ช่วยกันอภิปรายพิจารณากันต่อไป
1. เขตการปกครองของจีนในอดีต ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นชุมชน ศูนย์กลางของสังคมอยู่ที่หมู่บ้าน แล้วจึงค่อยๆ พัฒนามาเป็นสังคมเมืองที่มีการจัดระเบียบสังคมและการปกครองที่ซับซ้อนขึ้น จีนเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน การจัดระเบียบเขตการปกครองของจีนมีหลักฐานให้ศึกษาย้อนกลับไปได้ถึงสมัยชุนชิว (770-476 ปีก่อน ค.ศ.) ในสมัยนี้มีการจัดตั้งเขตการปกครองที่เรียกว่า “เสี้ยน” (Xian) หลังจากนั้นการจัดตั้งเขตการปกครองได้ปรับเปลี่ยนวิวัฒนาการสืบต่อมา จนกล่าวได้ว่าลงตัวในสมัยราชวงศ์ถัง ในสมัยราชวงศ์ซ่ง หยวน หมิง และชิง มีการปรับเปลี่ยนหรือมีการจัดเขตการปกครองที่ใช้เฉพาะสมัยบ้าง แต่ยังคงใช้โครงสร้างหลักสมัยราชวงศ์ถัง คำศัพท์เกี่ยวกับเขตการปกครองของจีนในอดีตที่จะกล่าวถึงในภาคผนวกนี้มี 10 คำ คือคำว่า เสี้ยน (Xian) จวิ้น (Jun) โจว (Zhou) เต้า (Dao) ฝู่ (Fu) ลู่ (Lu) จวิน (Jun) เจี้ยน (Jian) สิงเสิ่ง (Xing Sheng) หรือเสิ่ง (Sheng) และทิง (Ting) ดังจะได้กล่าวอย่างสังเขปตามลำดับต่อไป
1.1 เสี้ยน (县) ตามหลักฐาน การจัดตั้งเขตการปกครองที่เรียกว่า “เสี้ยน” มีขึ้นครั้งแรก เมื่อประมาณ 688 หรือ 687 ปีก่อน ค.ศ. ดังที่ปรากฏคำนี้ในแคว้นฉิน แคว้นจิ้น และแคว้นฉู่ “เสี้ยน”

มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 135

(น.135) พิพิธภัณฑ์กานซู
หลังจากสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เป็นสมัยสามก๊ก (ค.ศ. 220 – 265) ได้พบอิฐเขียนสีสมัยราชวงศ์เว่ย (ก๊กของโจโฉ) ตั้งเมืองหลวงอยู่ลั่วหยาง (ค.ศ. 220 – 265) และราชวงศ์จิ้นตะวันตก ค.ศ. 265 – 317 (ซึ่งรวบรวมประเทศไว้ได้ราว 50 ปี) ช่วงนี้พบอิฐเขียนสีจากเจียยู่กวน (ที่แสดงไว้เป็นของทำจำลอง) อิฐพวกนี้แสดงชีวิตประจำวันของคนสมัยนั้น เช่น การล่าสัตว์ ห่อกองฟาง การเลี้ยงสัตว์ ไถนา หาบน้ำ เป็นต้น

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 364

(น.364) 9. ราชวงศ์จิ้นตะวันตก ค.ศ. 265 – 317 ราชวงศ์นี้สามารถรวบรวมประเทศจีนหลังสมัยสามก๊กให้เป็นปึกแผ่นอยู่ประมาณ 50 ปีเศษ
10. ราชวงศ์ใต้และราชวงศ์เหนือ (สมัยแห่งการแตกแยกทางการเมือง)
ราชวงศ์ใต้
ราชวงศ์จิ้นตะวันออก ค.ศ. 317 – 420 ราชวงศ์นี้สืบสันตติวงศ์มาจากราชวงศ์จิ้นตะวันตก ใน ค.ศ. 317 อพยพหนีการรุกรานของพวกอนารยชน 5 ชนเผ่ามาอยู่ทางใต้ และมาตั้งเมืองหลวงที่หนานจิง

เย็นสบายชายน้ำ
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 305-307

(น.305) นิทานต้นกำเนิดพู่กันไว้ว่า เทพเจ้าจุ้ยเซิ่งลอกหนังตนเองมาเป็นกระดาษ ใช้เลือดเป็นหมึก กระดูกมาทำพู่กัน อีกเรื่องกล่าวว่าเมื่อมีการประดิษฐ์ตัวอักษรน่าจะคิดทำพู่กันไว้เขียนด้วย หนังสือหวยหนานจื่อกล่าวถึงการนำขนกระต่ายมาทำพู่ของพู่กัน แต่มีหนังสืออีกเล่มหนึ่งกล่าวว่าเดิมนั้นปลายพู่กันเป็นไม้ไผ่ พู่กันสมัยแรกๆ คงทำจากไม้ไผ่ เหลาปลายให้แหลมใช้จุ่มหมึกเขียนลงบนแผ่นไม้ไผ่ เมื่อเขียนผิดก็จะตัดไม้ไผ่ส่วนนั้นออก ดังนั้นตำแหน่งอาลักษณ์จดกระแสรับสั่งจึงเรียกในภาษาจีนว่า เตาปี่ลี่ แปลว่า ผู้ที่ต้องใช้มีด (ตัดไม้ไผ่) และพู่กัน ต่อมาสมัยราชวงศ์จิ้น เหมิงเถียนคิดทำพู่กันชนิดที่มีปลายเป็นขนกวางและขนแพะ พู่กันชนิดใหม่เป็นที่นิยมกันมาจนทุกวันนี้ พู่ของพู่กันนั้นนิยมใช้ขนแพะ ขนกระต่าย หรือขนกวาง มีผู้ใช้ขนสัตว์ชนิดอื่นบ้าง เช่น ขนชะมด ขนสุนัขจิ้งจอก ขนเสือ ขนเป็ด ขนห่าน ขนไก่ หนวดหนู ผมของเด็กอ่อน เป็นต้น

(น.306) หมึก (โม่)
การใช้หมึกน่าจะมีมาแล้วตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชาง ในการขุดค้นสุสานสมัยจ้านกว๋อและสมัยฮั่นพบหมึกก้อนฝังอยู่ด้วย ตรงกับที่หนังสือจวงจื่อว่าในสมัยชุนชิวจ้านกว๋อมีหมึกใช้กันแพร่หลายแล้ว แต่เดิมชาวจีนใช้พู่กันจุ่มรักเขียนหนังสือ ต่อมาจึงรู้จักทำหมึกใช้ มีการขุดพบกระบอกไม้ไผ่โบราณ มีตัวอักษรที่ใช้รักปนกับที่ใช้หมึก ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นผู้เริ่มทำหมึกนั้นมีกล่าวไว้ต่าง ๆ กันไปไม่เป็นที่ยุติ ในหนังสือต่าง ๆ กล่าวถึงผู้ผลิตหมึกที่มีชื่อเสียงในสมัยต่าง ๆ เช่น สมัยสามก๊ก เหวยต้าน ชาวเว่ย ผลิตหมึกคุณภาพเยี่ยม สีประดุจรัก สมัยราชวงศ์จิ้นมีหมึกของจางจิ้น ราชวงศ์ซ่งมีหมึกของจางหย่ง หลิวฝาในราชวงศ์จิน หูเหวินจงในราชวงศ์หยวน หลอหลงเหวิน เฉินจนฝัง หูคายหยวน ฯลฯ ในราชวงศ์หมิงและชิง ตระกูลเหล่านี้ต่างก็จัดทำหนังสือเรื่องการผลิตหมึก มีภาพแสดงหมึกแบบ

(น.307) ต่างๆ เป็นการแข่งขันทางการค้า เป็นผลงานที่เหลือตกทอดมาถึงรุ่นหลัง

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 49

(น.49) พิพิธภัณฑ์ฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน)
อาณาจักรหมิ่นเยว่ (ปี 202-110 ก่อนคริสต์กาล) พวกหมิ่นเยว่เป็นชนพื้นถิ่นในฮกเกี้ยน ซึ่งเราจะได้ไปดูต่อไป ของที่แสดงไว้มีอุปกรณ์การก่อสร้างเข้าใจว่าเป็นอุปกรณ์เครื่องมือที่ใช้ในวังโบราณ
สมัยราชวงศ์จิ้น ทั้งจิ้นตะวันตกและจิ้นตะวันออก และราชวงศ์ใต้ มีเครื่องดินเผาเคลือบเขียวอ่อนๆ ลักษณะเป็นศิลาดล
สมัยราชวงศ์ถัง แสดงกระจกสำริด (เป็นสำริดขัดมันด้านหนึ่ง ส่องได้เหมือนกระจก อีกด้านสลักลวดลายต่างๆ)

หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 126

(น.126) พิพิธภัณฑ์มณฑลเหอหนาน
สมัยราชวงศ์ฮั่น เว่ย (ก๊กของโจโฉ) จิ้น ราชวงศ์เหนือใต้ มีรูปอาคารจำลองทำด้วยเครื่องปั้นดินเผาสำหรับฝังลงไปในสุสาน หวังว่าบุคคลผู้ตายจะมีความเป็นอยู่ในปรโลกเหมือนเมื่อยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนั้นยังมีนักดนตรี นักละคร พวกคนแคระ ซูโม่ อาวุธต่างๆ สันนิษฐานว่าสมัยราชวงศ์ฮั่นและถังนำการแสดงซูโม่ไปที่ญี่ปุ่น จนปัจจุบันคนญี่ปุ่นถือว่าซูโม่เป็นกีฬาสำคัญ มีภาพฝาผนังสมัยราชวงศ์ฮั่น ขุดพบใน ค.ศ. 1980 บริเวณมณฑลเหอหนานภาคตะวันออก สุสานนี้สวยมาก (เขาว่ากัน) ขึ้นไปชั้นสอง มีศิลาจารึกราชวงศ์จิ้น เป็นข้อมูลล้ำค่าที่สุด แสดงประวัติการตั้งโรงเรียนหลวง มีรายชื่อครูและนักเรียน นอกจากนั้นมีบันทึกว่าจักรพรรดิเคยเสด็จทอดพระเนตรที่นี่ 3 ครั้ง จารึกลายนก ลายเป็นภาพสุริยุปราคา สมัยราชวงศ์ฮั่น