<< Back
ไหหลำ
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 194-195
(น.194) เดินทางไปเกาะไหหลำ (เมืองไหโข่ว) ใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมงกว่า แต่ต้องหยุดกลางทางเพื่อเติมน้ำมันที่เมืองจูไห่ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของจูไห่ และนายสถานีท่าอากาศยานมารับ เขาเล่าว่าที่จูไห่มีเกาะถึง 140 เกาะที่การปกครองขึ้นกับเทศบาล (จู่ไห่) มีแม่น้ำจูเจียงกั้น ที่จูไห่เจริญก้าวหน้าด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิส์ ยา อาหาร เครื่องมือ สภาพของเมืองสวยงามบรรยากาศดี จึงมีนักท่องเที่ยวมาก ตามสถิติเป็นอันดับที่ 5 คือ ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ กวางโจว เซินเจิ้น และจูไห่ ที่เขาภูมิใจคือ เมืองอื่นๆ เป็นเมืองใหญ่แต่จูไห่เป็นเมืองเล็กยังแข่งขันกับเขาได้ มีรายได้ทั้งจากการท่องเที่ยวและรายได้อื่นๆ
(น.195) มาถึงสนามบินเมืองไหโข่ว มณฑลไหหลำ มืดแล้ว มีคณะของคุณวันชัย จิราธิวัฒน์ และคุณทรงศักดิ์ เอาฬาร จากสมาคมไหหลำไทยมารับ นั่งรถมาที่โรงแรม Mandarin ผู้จัดการมาจากสิงคโปร์
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 198-199,201,203-206
(น.198) ออกมาปลูกต้นไม้เป็นที่ระลึก แล้วไปที่ Hainan Biodiversity Museum มีอาจารย์ท่านหนึ่งมาอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ เป็นพิพิธภัณฑ์เกี่ยวกับความหลากหลายทางพันธุกรรมแห่งแรกของไหหลำ ผู้สร้างคือมหาวิทยาลัยฝึกหัดครูไห่หนานใน ค.ศ. 2000 พิพิธภัณฑ์นี้เกี่ยวกับความหลากหลายทางชีววิทยาและด้านวัฒนธรรมในเกาะไหหลำ ตั้งขึ้นเพื่อเป็นการศึกษา เป็นแหล่งสันทนาการ และสร้างสำนึกในด้านการอนุรักษ์ให้ประชาชนทั่วๆ ไป ทางพิพิธภัณฑ์พยายามจัดกิจกรรมให้เป็นที่สนใจของผู้มาชม มีการสาธิตต่างๆ เช่น สาธิตการปั้นหม้อ การแสดงดนตรีและการเล่นเกม มีการเปลี่ยนข้าวของที่แสดง จัดใหม่เป็นระยะๆ และยังติดต่อพิพิธภัณฑ์อื่นๆ ให้มาจัดนิทรรศการพิเศษเป็นครั้งคราว
(น.199) รูป
(น.199) ที่เราดูเริ่มต้นด้วยภาพถ่ายดาวเทียมของทะเลจีนใต้ มีเกาะต่างๆ อยู่หลายเกาะ เช่น ซีซา หนานซา จงซา ไหหลำเป็นเกาะใหญ่มีพื้นที่ประมาณ 34,380 ตารางกิโลเมตร มีระบบนิเวศน์แบบต่างๆ เช่น ป่าชายเลน ป่าดิบชื้น หาดปะการังที่ซานย่า พืชสัตว์สปีชีส์ต่างๆ ที่เราได้ศึกษาทางด้านพันธุศาสตร์ (genetics) มีทั้งชิ้นส่วนกระดูกไดโนเสาร์ ฟอสซิลที่สูญพันธุ์ไปแล้วตั้งแต่สมัย Cretaceus ปะการังในเกาะนี้ หอยสังข์ หอย nautilus (ดูคล้ายๆ กับหอยกิ้งกือ แต่ตัวโตกว่า) หอยมือเสือ (giant clams) แมงดา (king crab) หอยเบี้ย ปลา แมลง ผีเสื้อ และตัวด้วงชนิดต่างๆ ผีเสื้อที่แปลก เช่น leopard butterfly (Kalima inactus) ดูลักษณะเหมือนใบไม้ ตัวด้วงที่มีรูปร่างลวดลายเหมือนงิ้ว
(น.201) ถึงแม้ว่าไหหลำจะเป็นเกาะที่อยู่ในเขตอากาศร้อนชื้น มีพื้นที่ป่าปกคลุมมาก แต่ภาคตะวันออกเริ่มกลายสภาพเป็นทะเลทราย (desertification) ไปบ้างแล้ว วิธีแก้ไขก็คือ ปลูกเตย (pandanus) ให้เกาะยึดดินเอาไว้ ไม่ให้ปลิวไป การเกิดน้ำเสียในทะเลจีนใต้ (contamination of South China Sea) เนื่องจากสารเคมี เช่น ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส ทำให้สาหร่ายสีแดง (red algae) ซึ่งเป็นพืชเซลล์เดียวเจริญเติบโตมากเกินไป
พิพิธภัณฑ์มีห้องดูวิดีโอ (แต่เราไม่มีเวลาดู) มีการ์ตูนส่งเสริมการรักษาสิ่งแวดล้อม (ภาควิชาสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัยนี้มีผู้เรียนประมาณ 400 คน)
อีกห้องหนึ่งมีนิทรรศการเกี่ยวกับสัตว์ทะเลที่เลี้ยงลูกด้วยนม เช่น แมวน้ำ ปลาพะยูน (มีในเกาะไหหลำ) พฤติกรรมต่างๆ ของปลาวาฬชนิดต่างๆ (ถ่ายรูปมาให้ดู) เช่น การพ่นน้ำ
(น.201) รูป
(น.203) ที่หมายที่ 2 คือ อู่กงฉือ เป็นหอบรรพบุรุษผู้มีชื่อเสียง 5 ท่าน เป็นอาคารแรกที่สร้างในเกาะไหหลำ สร้างสมัยจักรพรรดิกวางสู ปีที่ 15 (ค.ศ. 1889) เป็นสถานที่แสดงความเคารพ เสนาบดีผู้มีความรู้สมัยราชวงศ์ถังและซ่งใต้รวม 5 ท่าน ที่ถูกเนรเทศมาอยู่เกาะไหหลำ ที่สร้างอาคารชื่อ จูไฉ่ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นคนที่มีอำนาจมากที่สุดในเกาะไหหลำสมัยนั้น
เสนาบดีผู้ใหญ่ทั้ง 5 คือ
1. หลี่เต๋ออวี้ (ค.ศ. 787-850) เป็นขุนนางจากมณฑลเหอเป่ยสมัยราชวงศ์ถัง เคยเป็นอัครมหาเสนาบดี (ไจ่เซี่ยง-นายกรัฐมนตรี) ถึง 2 ครั้ง ในสมัยนั้นท่านขัดแย้งกับนักการเมือง กลุ่มหนิวเซิงหรู ในด้านการปฏิรูปการปกครองและระบบสอบรับราชการ ท่านหลี่เต๋ออวี้และพวกต้องการเพิ่มอำนาจให้รัฐบาลกลางด้วยการรวมอำนาจเข้าสู่ศูนย์กลาง ให้คุมอิทธิพลท้องถิ่นได้ แต่พวกกลุ่มหนิวเซิงหรูมีนโยบายกระจายอำนาจ ต้องการให้ทหารระดับภูมิภาคปกครองตนเอง ทั้งสองกลุ่มขัดแย้งกัน 40 ปี เมื่อจักรพรรดิองค์ใหม่ขึ้นครองราชย์ จักรพรรดิเชื่อกลุ่มหนิวเซิงหรู หลี่เต๋ออวี้จึงถูกเนรเทศไปเกาะไหหลำ สมัยนั้นเรียกว่า หยาโจว (涯州) และไปตายที่นั่น
2. หลี่กัง (ค.ศ. 1083-1140) เป็นคนมณฑลฮกเกี้ยน รับราชการในสมัยราชวงศ์ซ่ง แต่แรกจักรพรรดิตั้งเป็นขุนนางระดับสูงถึงอัครมหาเสนาบดี ตอนที่มีแผนจะรบกับพวกจิน (กิมก๊ก) แต่ต่อมาจักรพรรดิคิดจะยอมแพ้ก็เลยเนรเทศหลี่กังมาที่เกาะไหหลำ เมื่อเนรเทศได้ 3 วัน จักรพรรดิก็ยกโทษให้ (ค.ศ. 1129)
3. เจ้าติ่ง (ค.ศ. 1085-1147) เป็นคนมณฑลซานซี สอบเป็นขุนนางได้ ได้รับแต่งตั้งเป็นอัครมหาเสนาบดี เป็นฝ่ายที่สนับสนุนเย่วเฟย (งักฮุย) ให้รบกับพวกกิมก๊ก ถูกเนรเทศไปอยู่ที่เมืองแต้จิ๋วใน ค.ศ. 1138 หลังจากนั้นถูกเนรเทศไปเกาะไหหลำใน ค.ศ. 1144 เพราะฉินฮุ่ย เสนาบดีผู้ใหญ่ที่ฝักใฝ่พวกกิมก๊ก (คนไทยรู้จักในนามฉินกุ้ย) ไม่ชอบ เสียชีวิตใน ค.ศ. 1147 เพราะอดอาหารประท้วง
(น.204)
4. หลี่กวง (ค.ศ. 1078-1159) เป็นคนอำเภอซ่างอวี๋ มณฑลเจ้อเจียง เป็นขุนนางชั้นผู้ใหญ่ ถูกเนรเทศใน ค.ศ. 1141 เพราะฉินฮุ่ยแค้นที่ไปวิจารณ์ซึ่งๆ หน้าตอนเข้าเฝ้าพระจักรพรรดิ เมื่อมาที่เกาะไหหลำ ได้สร้างโรงเรียนเผยแพร่วัฒนธรรมจีน
5. หูฉวน (ค.ศ. 1102-1180) เป็นพวกที่เสนอให้ต่อสู้กับพวกจิน เขียนหนังสือว่าถ้าตัดหัวฉินฮุ่ยแล้วประเทศจึงจะมีเสถียรภาพ เป็นเหตุให้ถูกเนรเทศ แต่แรกถูกเนรเทศไปมณฑลเจียงซีแล้วต่อไปที่เกาะไหหลำใน ค.ศ. 1148 อยู่ที่ซานย่า ได้สร้างโรงเรียนเผยแพร่วัฒนธรรมจีนภาคกลาง
(น.204) รูป
(น.205) ทั้ง 4 ท่านนี้เป็นพวกที่ต้องการรบกับพวกจิน ต้านฉินฮุ่ย ถึงจะถูกขับไล่ไปอยู่ไกล แต่ยังคงซื่อสัตย์และทำงานเป็นประโยชน์ต่อประเทศไม่เปลี่ยนแปลง นอกจากจะเผยแพร่วัฒนธรรมส่วนกลางแล้ว ยังทำคุณประโยชน์ให้ท้องถิ่นไหหลำด้วย
อาคารเสวียผู่ถัง สร้างในราชวงศ์ชิง สมัยจักรพรรดิเจียชิ่ง รัชศกปีที่ 14 ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้สร้างโรงเรียนนี้ เพื่อคัดสรรคนที่มีสติปัญญาดีเยี่ยมของไหหลำไปสอบรับราชการในภาคกลาง เชิญอาจารย์ที่เก่งๆ มาสอนที่โรงเรียนนี้
ขณะนี้เก็บวัสดุโบราณ เช่น ฐานตั้งปืนใหญ่ที่เคยตั้งไว้ที่ชายหาดไหโข่ว ระฆังที่ผู้บัญชาการทหารบริจาคเงินสร้าง
(น.205) รูป
(น.206) อาคารซูกงฉือ เป็นศาลเจ้าของกวีซูตงปัว (ค.ศ. 1037-1100) และลูกชาย ใน ค.ศ. 1097 ซูตงปัวถูกเนรเทศมาอยู่ที่เกาะไหหลำ 3 ปี (ถึง ค.ศ. 1100) แล้วจักรพรรดิพระราชทานอภัยโทษจึงกลับไปบ้านเมือง และเสียชีวิตที่มณฑลเจียงซู
เมื่อมาอยู่ที่เกาะไหหลำ ได้ทำคุณประโยชน์ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ตอนที่เขาได้กลับภาคเหนือนั้น ที่ไหหลำมีคนสอบจิ้นซื่อได้ 12 คน เหตุที่ซูตงปัวถูกเนรเทศคือ ในขณะนั้นมีนักปฏิรูป 2 ฝ่าย คือ หวังอานสือ และซือหม่ากวง มีความคิดไม่เหมือนกัน ซูตงปัวไม่เข้าข้างใครและแถมตำหนิแนวคิดของทั้ง 2 คนด้วย
ขณะที่ถูกเนรเทศ อายุ 61 ปีแล้ว อยู่ที่เกาะไหหลำในสมัยนั้นลำบากแร้นแค้นมาก พื้นที่ทุรกันดาร ไม่มีอาหารหมูเห็ดเป็ดไก่ เป็นอันตรายต่อสุขภาพของผู้สูงอายุ
(น.206) รูป
เย็นสบายชายน้ำ
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 42
(น.42) ชั้นล่าง มีรูปเติ้งอิ่งเชากับหลี่เผิง บิดาของท่านหลี่เผิงเป็นสมาชิกพรรคคนสำคัญในเกาะไหหลำ เสียชีวิตไป เพื่อนสมาชิกส่งหลี่เผิงมาให้ท่านโจวเอินไหลเลี้ยงอยู่เดือนหนึ่งก็ส่งไปอยู่เหยียนอาน ผู้อธิบายบอกว่าตอนแรกท่านหลี่เผิงเองก็ไม่ทราบว่ามีรูปนี้ ผู้ถ่ายภาพคือเลขานุการของโจวเอินไหลชื่อ ต่งเสี่ยวเผิง เป็นคนชอบถ่ายรูป
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 268
(น.268) ที่ปากน้ำมีท่าเรือปลอดภาษี มองเห็นเกาะฉางซิง เป็นแหล่งปลูกส้มที่มีชื่อเสียง และถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย ขณะนี้ดอกส้มกำลังบาน ไม่ใช่ฤดูที่ส้มออกผล เวลาส้มออกผลทางการท่องเที่ยวจัดเทศกาลส้ม ต่อสะพานเข้าไปถึงในสวนส้ม มีเกาะอีกเกาะเป็นเกาะของจีนที่ใหญ่เป็นที่ 3 รองจากไต้หวันและไหหลำ
ที่ปากน้ำอู๋ซงนี้เป็นฐานทัพที่ 81 (ตึกที่มีดาวแดงติด) ในสมัยสงครามโลก ญี่ปุ่นเข้าโจมตีเซี่ยงไฮ้ตรงนี้ เราขึ้นจากเรือที่ท่าอู๋ซงนี้ นั่งรถไปอู่เรือหู้ตง ดูเรือ ร.ล. สิมิลัน เขาให้ไปเฉพาะคนไทย เจ้าหน้าที่จีนที่ตามข้าพเจ้านั้นก็ให้หงเอี้ยนคนเดียว
ใต้เมฆที่เมฆใต้
ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 223-224
(น.223) ประเทศจีนมีอำเภอ
(น.224) ปกครองตนเองทั้งหมด 110 อำเภอ มณฑลที่มีมากที่สุดคือมณฑลหยุนหนาน (ยูนนาน) มี 28 อำเภอ ภูมิภาคปกครองตนเองชนชาติจ้วงกว่างซี (กวางสี) มี 12 อำเภอ มณฑลกุ้ยโจวมี 11 อำเภอ มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) มี 8 อำเภอ มณฑลกานซู มณฑลชิงไห่ และมณฑลไห่หนาน (ไหหลำ) มีมณฑลละ 7 อำเภอ ภูมิภาคการปกครองตนเองชนชาติอุยกูร์ซินเจียง (ซินเกียง) มี 6 อำเภอ มณฑลหูหนานมี 6 อำเภอ มณฑลเหลียวหนิงมี 5 อำเภอ มณฑลเห่อเป่ย มี 4 อำเภอ มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) มี 3 อำเภอ มณฑลจี๋หลินและมณฑลหูเป่ยมีมณฑลละ 2 อำเภอ มณฑลเจ้อเจียงและมณฑลเฮยหลงเจียงมีมณฑลละ 1 อำเภอ
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 209
(น.209) รู้สึกดีใจที่ข้าพเจ้ามาเยือนจีนเป็นครั้งที่ 14 ถือเป็นเพื่อนเก่าที่ทราบเรื่องวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมของจีนเป็นอย่างดี การเขียนหนังสือเกี่ยวกับการเยือนจีน ช่วยให้ความสัมพันธ์จีนไทยดีขึ้น ทั้ง 7 เล่มคนจีนก็ชอบอ่าน ข้าพเจ้าพูดถึงประเทศจีนอีก 6 มณฑลที่ยังไม่ได้ไป (กุ้ยโจว เจียงซี ฮกเกี้ยน ไหหลำ หูหนาน และภูมิภาคปกครองตนเองมองโกเลียใน) ขอบคุณรัฐบาลจีนที่ช่วยส่งครูสอนภาษาจีนให้ และจัดการต้อนรับดีทุกๆ ครั้งที่มาเยือน ท่านนายกรัฐมนตรีจูหรงจีบอกว่าท่านเป็นคนหูหนาน ข้าพเจ้าบอกว่ายังไม่เคยไปหูหนาน แต่ว่าเคยได้รับประทานอาหารหูหนานที่ปักกิ่งรู้สึกว่าอร่อยมาก หลังจากนั้นพูดคุยกันถึงเรื่องอื่นๆ เกี่ยวกับไทย-จีน
เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 148
(น. 148) ชาวจีนที่มาตั้งถิ่นฐานในไทยส่วนมากมาจากมณฑลกวางตุ้ง (ชาวจีนแต้จิ๋ว จีนกวางตุ้ง และจีนแคะบางส่วน) นอกจากนั้นมีที่มาจากมณฑลฮกเกี้ยน (ชาวจีนฮกเกี้ยน) ในขณะที่บางส่วนมาจากภูมิภาคปกครองตนเองกวางสี (ชาวจีนแคะ) และเกาะไหหลำ (ชาวจีนไหหลำ)
Next >>