Please wait...

<< Back

ฝูเจี้ยน

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 17

(น.17) ทางเศรษฐกิจก็เปลี่ยนแปลงไป มีเอกลักษณ์พิเศษคือ มีทั้งอุตสาหกรรมหนักและการเกษตร เศรษฐกิจเมืองใหญ่ และชนบท งานโครงการเขื่อนซานเสียก็ต้องดูแล ตัวเขื่อนใหญ่จะอยู่ที่เมืองอี๋ชางในมณฑลหูเป่ย แต่ปิดเขื่อนแล้วส่วนที่เป็นอ่างเก็บน้ำจะอยู่ในฉงชิ่งเป็นส่วนใหญ่ (500 ตารางกิโลเมตร จาก 650 ตารางกิโลเมตร) ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติตามนโยบายเปิดสู่ตะวันตกของประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน ให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของแม่น้ำแยงซีตอนบน มีหน้าที่ดูแลการอพยพผู้คน คาดว่าเมื่อเขื่อนแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2009 จะต้องย้ายคนถึง 1,030,000 คน ขณะนี้น้ำยังไม่ขึ้น ได้ไปตระเตรียมสถานที่ย้ายคนเป็นอย่างดี แต่ยังไม่ได้ย้ายทั้งหมด นอกจากจะย้ายไปอยู่ตามเมืองต่างๆ ที่กะเอาไว้เดิมแล้ว ยังต้องกระจายไปตามมณฑลต่างๆ ด้วย เช่น ซานตง อานฮุย เจียงซู มหานครเซี่ยงไฮ้ (ซั่งไห่) เจ้อเจียง ฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) กวางตุ้ง (ก่วงตง) เจียงซี หูหนาน หูเป่ย เสฉวน (ซื่อชวน) ข้าพเจ้าถามถึงสวนส้มริมฝั่งน้ำ ท่านนายกเทศมนตรีรับรองว่า สวนที่ย้ายไปสร้างใหม่จะมีปริมาณมากขึ้นและรสอร่อยขึ้น เพราะว่ามีเทคโนโลยีดีขึ้น ฉงชิ่งยินดีรับนักลงทุนต่างประเทศ

คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 17,2

(น.17) ท่าเรือจางหลินนี้เดิมเป็นศูนย์กลางของเรือหัวแดงหรืออั้งเท้าจุ๊น ซึ่งเป็นเรือของมณฑลกวางตุ้ง (เรือของมณฑฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยน จะทาสีเขียว) เส้นทางเดินเรือทางเหนือไปถึงต้าเหลียน เซี่ยงไฮ้ หนิงโป ส่วนทางใต้ไปอินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม และไทย เชื่อกันว่าพระราชบิดาของพระเจ้าตากสินก็ใช้ท่าเรือนี้เดินทางมาประเทศไทย สมัยก่อนเขาว่ากันว่าใช้เวลาประมาณเดือนหนึ่ง

(น.28) ตอนบ่ายที่หมายแรกเราไปท่าเรือซัวเถา ท่าเรือนี้นับว่าเป็นท่าเรือที่สำคัญด้านชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลกวางตุ้ง เป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจในมณฑลกวางตุ้ง และมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) อยู่บริเวณปากแม่น้ำสามสายที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นศูนย์กลางด้านส่งออกและสั่งเข้า (export, import) เป็นหน้าต่างของเขตเศรษฐกิจพิเศษซัวเถา

คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 143

(น.143) บ้านของชาวฮักกา มีเรือนและยุ้งข้าว ชาวฮักกาพวกนี้มาจากทางเหนือของชานตุงและเหอหนาน บางคนเรียกว่าแคะ คือฮักกาผสมแคะ ทำโต๊ะอาหารแบบโต๊ะร้านก๋วยเตี๋ยวบ้านเราแสดงเอาไว้ มีขนมโก๋ ติดปฏิทินชาวนา มีของใช้ เช่น เครื่องมือทำนา เครื่องโม่แป้ง เครื่องสีข้าว เศรษฐกิจอุตสาหกรรมรุ่นแรก เสื้อผ้าของคนเผ่าต่างๆ พวกแคะส่วนมากมาจากฝูเจี้ยน เจียงซี ราวคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นพวกที่ทำงานมากขยันขันแข็ง เสื้อเป็นสีน้ำเงินแก่ ตั้นเจีย หรือพวกชาวเรือ (เขาว่าสืบเชื้อสายจากพวก เยว่) พวกฮกโล เป็นพวกชาวจีนแต้จิ๋วที่มาจากมณฑลฝูเจี้ยนหรือฮกเกี้ยน ชาวจีนกลุ่มภาษาพูดอื่นๆ เรียกชาวจีนแต้จิ๋วพวกนี้ว่า ฮกเหลา หรือฮกโล ภาษาจีนกลางออกเสียงว่า ฝูเหล่า พวกเปิ่นตี้ หมายถึงคนดั้งเดิม เขาว่ามาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่ง

(น.143) รูป 129 นิทรรศการในพิพิธภัณฑ์

คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 236,237

(น.236) รัฐบาลกลาง มณฑล ภูมิภาคปกครองตนเอง และมหานครต่างๆ มอบของขวัญให้แก่ HKSAR เวลามอบมีตะกร้าใหญ่ๆ มาตั้งบนเวที มีคนแต่งตัวเป็นชนพื้นเมืองจูงเด็กแต่งตัวเป็นชาติต่างๆ เอาดอกไม้ใส่ตะกร้า ขณะที่ประกาศชื่อว่าใครให้ของอะไร ฉายรูปของขวัญให้ดูชัดๆ ในจอ ฉายแผนที่มณฑลและสถานที่ที่ให้ของ และรูปทิวทัศน์ในที่นั้นด้วย มีคำอธิบายดังนี้ รัฐบาลกลาง ให้รูปปั้นทำด้วยสำริดหุ้มทอง เป็นรูปดอกชงโค (Bauhinia) บานตลอดกาล มีคำอธิบายว่าดอกชงโคเป็นสัญลักษณ์ของ HKSAR ตั้งอยู่บนฐานทำด้วยหินแกรนิตสีแดงจากเสฉวน ทำเป็นรูปกลมและรูปเหลี่ยม เป็นสัญลักษณ์ของทั้งประเทศและรูปกำแพงเมืองจีนที่สลักไว้ด้านใน หมายถึง มาตุภูมิที่ยิ่งใหญ่ รูปดอกชงโคเป็นศิลปะแบบจีน หมายถึง อนาคตอันมั่งคั่งของฮ่องกง รูปปั้นดอกชงโคนี้สูง 6 เมตร มหานครปักกิ่ง ให้แจกันถมปัดแบบจิ่งไท่หลาน แสดงความยินดีทั่วโลก มหานครเทียนสิน ให้พรมแขวนผนังเป็นรูปกำแพงเมืองจีน มณฑลเหอเป่ย ให้ขวดแก้วเจียระไนที่เขียนข้างในขวด แสดงความยินดีระดับชาติ มณฑลซานซี ให้รูปจำลองเจดีย์ที่ตำบลอินเซี่ยงทำด้วยไม้สลัก

(น.237) ภูมิภาคปกครองตนเองมองโกเลียใน ให้รูปปั้นม้าวิ่งสู่อนาคต มณฑลเหลียวหนิง ให้เครื่องรัก วิญญาณของชาติจีน มณฑลจี๋หลิน ให้หินฝนหมึก รูปสนและชงโคหยั่งรากลึกในดินแดนจีน มณฑลเฮยหลงเจียง ให้แจกันรูปดอกชงโคบานอีกครั้งในฤดูใบไม้ผลิ มหานครเซี่ยงไฮ้ ให้หยกสลัก รูปชาวลุ่มน้ำผู่เจียงฉลองการกลับคืนของฮ่องกง มณฑลเจียงซู ให้ผ้าปักซูโจว รูปการเดินทางกลับ มณฑลเจ้อเจียง ให้ไม้สลัก รูปการเดินเรือกลับ มณฑลอันฮุย ให้รูปทำด้วยเหล็ก เป็นรูปอาทิตย์ฉายแสงตลอดกาล มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ให้ฉากเครื่องรัก เป็นเรื่องความรู้สึกเป็นพี่น้องที่ชาวฝูเจี้ยนมีต่อชาวฮ่องกง

คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 289,290

(น.289) โรงงาน Asia Simulation & Control Engineering (Zhuhai) Corporation Limited (ASC) บริษัทนี้เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาและวิจัยระบบการควบคุมและสร้างแบบจำลอง (simulator) ต่างๆ ที่ใช้กับสินค้าที่ต้องเทคโนโลยีระดับสูง ASC ไม่ได้ผลิตสินค้าออกมาขายโดยตรง ส่วนใหญ่จะสร้างต้นแบบให้บริษัทลูกค้า ทำการวิจัยค้นคว้าระบบที่ใช้กับเครื่องบิน เรือดำน้ำ โรงงานไฟฟ้าปรมาณู โรงไฟฟ้าพลังน้ำ เป็นต้น นอกจากนั้นยังเป็นศูนย์อบรมแก่ผู้ที่ต้องใช้สินค้านั้น บริษัทเครื่องบินนำระบบของเครื่องบินมาให้ ASC วิจัยแบบจำลองสำหรับฝึกบิน เพื่อลดต้นทุนการฝึกและลดความเสี่ยงในการฝึกและการปฏิบัติงาน โรงงาน ASC ถือเป็นโรงงานสร้างแบบจำลองใหญ่ที่สุดในจีน มีพื้นที่ 22,000 ตารางเมตร และมีสาขาอีก 2 แห่ง ที่ปักกิ่ง

(น.289) รูป 228 ไปโรงงานที่จูไห่ ผลิตเครื่อง simulator

(น.290) รูป 229 ไปโรงงานที่จูไห่ ผลิตเครื่อง simulator

(น.290) และฝูเจี้ยน โรงงานที่จูไห่มีบุคคลากรประมาณ 270 กว่าคน ส่วนใหญ่เป็นวิศวกรที่เชี่ยวชาญสูง สินค้าของบริษัทได้มาตรฐานสากลและเคยได้รางวัลผลงานยอดเยี่ยมแห่งชาติ มีส่วนทำให้จีนสร้างโรงงานปรมาณูได้

"ไอรัก" คืออะไร?
"ไอรัก" คืออะไร? หน้า 20

(น.20) กวางตุ้ง ฝูเจี้ยน เป็นบริเวณที่เก่าแก่ ฉะนั้นควรไป สำหรับเฮยหลงเจียงกับแมนจูเรียที่ข้าพเจ้าอยากไปนั้น ขณะนี้ไม่เหมาะ อากาศหนาวมาก เดือนธันวาคม-มกราคม อากาศเย็น อุณหภูมิประมาณ -40 ˚C

ใต้เมฆที่เมฆใต้
ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 221

(น.221)ระดับหนึ่ง ส่วนจังหวัดทั่วๆ ไปจะใช้ว่าตี้ชีว์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคำว่า “โจว” เป็นศัพท์เก่าแก่ด้านการปกครองที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์จีนมายาวนานตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อน ค.ศ. – ค.ศ. 220) ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันจึงมีชื่อเขตการปกครองในระดับต่างๆ ของจีนเป็นจำนวนมากที่มีคำว่าโจวติดอยู่ด้วย โดยที่มิได้มีฐานะเป็นจื้อจื้อโจวแต่อย่างไร ทั้งนี้เพราะคำว่าโจวในเขตการปกครองเหล่านั้นได้ใช้กันมาเป็นเวลานานแล้ว ดังตัวอย่างประกอบข้างล่างนี้ นครที่ขึ้นต่อมณฑล (เสิ่งเสียซื่อ) ที่มีคำว่า “โจว” อยู่ด้วย เช่น หลานโจวในมณฑลกานซู เจิ้งโจวในมณฑลเหอหนาน หังโจวในมณฑลเจ้อเจียง และกว่างโจวในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) จังหวัด (ตี้ชีว์) ที่มีคำว่า “โจว” อยู่ด้วย เช่น ฮุยโจวในมณฑลอานฮุย หยางโจวในมณฑลเจียงซู และไถโจวในมณฑลเจ้อเจียง เมืองที่ขึ้นต่อจังหวัด (ตี้ชีว์เสียซื่อ) เช่น สุยโจวในมณฑลหูเป่ย จังโจวในมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) และเฉาโจวหรือที่คนไทยเรียกว่าเมืองแต้จิ๋วในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง)

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล
เยือนจีนถิ่นโพ้นทะเล หน้า 36,53-55,58-60,67-72

(น.36) ไปนครฝูโจว มณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) ถึงสนามบินฉางเล่อ ใช้เวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง นั่งรถต่ออีกชั่วโมงไปโรงแรม Golden Resources International รับประทานอาหารกลางวันที่โรงแรม มีรองนายกเทศมนตรี (หวงซี่ว์เหอ) และรองอธิบดีวิเทศสัมพันธ์ของมณฑลฝูเจี้ยน (หยางเต๋อกุย) ส่วนมากจะสนทนากันเรื่องอาหาร เขาบอกว่าที่นี่อาหารฝูเจี้ยนเรียกว่า อาหารหมิ่น (ชื่อย่อของฝูเจี้ยน) นอกจากนั้นในจีนยังมีอาหารเสฉวน (เผ็ด) เขารู้สึกว่าอาหารทางใต้หวาน อาหารเหนือเค็ม อาหารภาคกลางเผ็ด อาหารฝูโจว ที่มีชื่อเสียงที่สุดคือ พระกระโดดกำแพง ใส่ของทะเลหลายอย่าง เช่น หอยเป๋าฮื้อ ปลิงทะเล หอยเชลล์แห้ง ฯลฯ หอยชนิดหนึ่งเรียกว่า จางกั่งปั้ง เป็นของพิเศษอีกอย่าง เขาว่าหอยชนิดนี้มี 2 แห่งในโลกเท่านั้นคือ ที่เวนิส แต่สูญพันธุ์ไปแล้ว กับที่บริเวณใกล้สนามบินที่เราลงวันนี้ ต้องมีสภาพนิเวศน์ที่พอเหมาะคือ น้ำทะเลและน้ำจืดบรรจบกัน ไม่มีมลภาวะ ตอนโจวเอินไหลรับนิกสัน ฝูเจี้ยนส่งอาหาร 2 ชนิด คือ พระกระโดดกำแพง กับจางกั่งปั้ง ไปให้รับประทาน สมัยราชวงศ์หมิง (ค.ศ. 1368-1644) นายพลเจิ้งเหอ เดินเรือไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มาเทียบเรือที่มณฑลฝูเจี้ยน สร้างระฆังใบหนึ่งไว้เป็นที่ระลึก มีอักษรสลักและมีลวดลายปากั้ว เป็นศิลปะสมัยหมิงที่เลียนแบบซ่ง ภาพแสดงความสามารถของคนในมณฑลนี้สอบจอหงวนได้ มีทั้งจอหงวนสายทหาร (บู๊-อู่) จอหงวนสายพลเรือน (บุ๋น-เหวิน)

(น.53) สมัยหลังสงครามฝิ่น คนจีนเห็นว่าตัวเองสู้ฝรั่งไม่ได้ จึงพยายามเรียนรู้เทคโนโลยีของตะวันตก เพื่อต่อต้านตะวันตก (หรือเพื่อปกป้องตนเองให้พ้นจากการยึดครองของตะวันตก)

(น.54) ผู้นำ เช่น หลินเจ๋อสู เว่ยหยวน เป็นผู้ที่ศึกษาค้นคว้าความรู้แบบตะวันตก ผู้นำอีกท่านหนึ่งชื่อ จั่วจงถัง ผู้ว่าราชการมณฑลฝูเจี้ยนและมณฑลเจ้อเจียง สงครามเกาะไต้หวัน ขณะนั้นขึ้นกับมณฑลฝูเจี้ยน จีนรบกับฝรั่งเศส ถึงแม้ว่าจีนจะเพลี่ยงพล้ำ แต่ว่าฝรั่งเศสก็สูญเสียกำลังทหารไปมาก

(น.55) เมื่อการปฏิรูป 100 วันใน ค.ศ. 1898 ของจักรพรรดิกวางสูล้มเหลว กระแสการปฏิรูปอ่อนลง มีนักปฏิรูปถูกประหารชีวิต บ้านเมืองอ่อนแอ จนถึงการก่อการที่ก่วงโจว (กวางโจว) ครั้งที่ 9 ในปีซินไห้ เมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1911 มีชาวฝูเจี้ยนเข้าร่วมกับ ดร.ซุนยัตเซ็นจำนวนมาก ในการปฏิวัติที่กวางโจวมีวีรบุรุษ 72 ท่าน หลายท่านเป็นชาวฝูโจว มีอยู่ 19 ท่านที่จารึกชื่อในอนุสาวรีย์ จริงๆ มีมากกว่านั้น ยังมีชาวจีนโพ้นทะเลที่เข้าร่วมก่อการครั้งนี้อีก 29 คน พวกนี้ตายหมดในคราวเดียวกัน* คนหนึ่งที่มีบทบาทในการปฏิวัติครั้งนี้ ชื่อ หลินเจว้ยหมิน ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 27 เมษายน ค.ศ. 1911 มีจดหมายต่างๆ ที่เขาเขียน มาตั้งแสดงไว้ด้วย ลายมือซุนยัตเซ็นที่เขียนว่า “เทียนเซี่ยเหวยกง” “แผ่นดินนี้เป็นของส่วนรวม” (天下为公) หลินซู แปลนิยายฝรั่งเศสมากมาย มีคนแปลให้ฟังและเรียบเรียง (ลักษณะเดียวกับเจ้าพระยาพระคลังแปลสามก๊ก) ที่จริงมีห้องที่ว่าด้วยฝูเจี้ยนยุคใหม่ แต่ไม่มีเวลาดู (

น.58) ห้องต่อไปที่ดูคือ เรื่องการแสดงในมณฑลฝูเจี้ยน งิ้วมีหลายประเภท แม้แต่ในมณฑลฝูเจี้ยนเท่านั้นก็มีหลายแบบ งิ้วเริ่มมีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซ่งและหยวน มีงิ้วแบบผู่เซียน (อยู่ใต้ฝูโจวประมาณ 100 กิโลเมตร) หลีหยวน (แถวๆ เฉวียนโจว) สมัยราชวงศ์หมิง ราชวงศ์ชิง จึงมีงิ้วเกาเจี่ย งิ้วหมิ่น งิ้วเซียง (แถวฮกเกี้ยนตอนใต้นิยมเล่นกันจนถึงปัจจุบันและแพร่ไปที่ไต้หวัน)

(น.59) บริเวณที่แสดงเรื่องงิ้วและหุ่น (คือเป็นงิ้วเหมือนกัน แต่ไม่ใช้คนแสดงใช้หุ่น) แสดงเครื่องดนตรีประกอบ และบทงิ้ว มีแผนที่แสดงสถานที่ที่มีงิ้วประเภทต่างๆ เดิมมีมากเป็นร้อยประเภท เดี๋ยวนี้เหลือเพียงประมาณ 30 เท่านั้น เครื่องดนตรีมี ปี่ ขลุ่ย กรับพวง ซอ พิณ เครื่องประกอบจังหวะอื่นๆ
งิ้วหมิ่นหนาน ไม่มีร้อง มีแต่ดนตรีท้องถิ่นที่มีมาแต่สมัยราชวงศ์ถัง มีรูปปรากฏที่วัดไคหยวน ปี่ที่ใช้กับงิ้วแบบนี้ยังมีใช้ที่ญี่ปุ่น เครื่องดนตรีผีผาก็มีแบบพิเศษ เล่นทางนอน ผีผาอื่นๆ ต้องวางตั้ง
งิ้วหลีหยวน มีแถวๆ เฉวียนโจว เป็นงิ้วเก่าแก่ที่สุด มีกล่องยาเจี๋ยวกู่ เวลาเล่นวางขาซ้ายบนกลอง วางเท้าที่ต่างกัน เสียงดังออกมาต่างกัน
งิ้วเกาเจี่ย มักเขียนหน้าแต้มสีขาว แต่แรกแสดงกลางแจ้ง กลางถนน ภายหลังจึงเข้าไปแสดงในโรง
งิ้วเซียง เริ่มมีที่ฝูเจี้ยนก่อน แล้วจึงแพร่ไปที่ไต้หวัน เรียกว่า กอเกี้ย กวางตุ้งเรียกว่า เกอไจ่หรือเกอจื่อ ได้รับอิทธิพลงิ้วปักกิ่งมาก งิ้วเซียงเป็นชื่อทางการ


(น.59) รูป

(น.60) งิ้วต่าเฉิง จะเรียกว่างิ้วธรรมะก็คงจะได้เพราะว่าเดิมพระภิกษุร้อง มาจากพิธีสวดมนต์ของสงฆ์ เล่นเรื่องนรก สวรรค์ ปราบผีปีศาจ เครื่องประกอบมีอาวุธต่างๆ ที่ใช้ปราบผี มีทั้งอาวุธเต็มรูปและอาวุธสำหรับแสดงเมื่อฟันลงไปบนตัวผีแล้ว เช่น มีดที่เว้าเป็นหน้า ดาบที่ขาดกลาง เพื่อให้ดูเหมือนจริงว่าฟันเข้าตัวผี งิ้วหมิ่นซีฮั่น เล่นทางตะวันตกของฝูเจี้ยน แถวๆ หลงเหยียน งิ้วแบบนี้มาจากมณฑลหูหนาน มีบทงิ้วและเสื้อผ้าแสดงไว้ นอกจากนั้นมีงิ้วเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่แพร่หลายอีกหลายอย่าง เช่น ซื่อผิง เป่ยลู่ ซานเจี่ยว ฯลฯ

(น.67) กลับโรงแรม Golden Resources International (จินหยวน) แล่นรถผ่านสวนสาธารณะซีหู เมื่อถึงเวลาไปโรงแรม Lake View ผู้ว่าราชการมณฑลเลี้ยง กล่าวต้อนรับว่า ขอต้อนรับในนามประชาชน 34.5 ล้านคน นับเป็นวันที่ 3 ที่มารับตำแหน่ง (เป็นคนเจ้อเจียงไม่ได้เป็นคนฮกเกี้ยน) เนื่องจากข้าพเจ้ามามณฑลฮกเกี้ยนเป็นครั้งแรก จึงขอแนะนำมณฑลนี้ ประวัติศาสตร์-ภูมิศาสตร์ มณฑลฝูเจี้ยน (หรือฮกเกี้ยน) มีชื่อย่อว่า หมิ่น ได้ชื่อจากแม่น้ำหมิ่น (หมิ่นเจียง) ส่วนชื่อฮกเกี้ยนก็เรียกกันมานานกว่า 1,300 ปีแล้ว มณฑลนี้เปิดสู่โลกภายนอกมานาน มาร์โคโปโลบันทึกไว้ว่า ท่าเรือแห่งหนึ่งที่ฮกเกี้ยนมีพ่อค้ามาจากทั่วโลก ฮกเกี้ยนเป็นจุดเริ่มต้นของเส้นทางแพรไหมทางทะเล เมืองฝูโจวและเมืองเซี่ยเหมินเป็นเมืองท่าที่อนุญาตให้ชาวต่างชาติมาค้าขายได้ เป็น 2 แห่งในจำนวน 5 แห่งแรก มีจังหวัด 9 จังหวัด 85 อำเภอ เนื้อที่ 120,000 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ติดกับมณฑลกวางตุ้ง เจ้อเจียง และเจียงซี ทางใต้ใกล้กับเกาะไต้หวัน มีพื้นที่ทางทะเล 130,000 ตารางกิโลเมตร มีแนวชายฝั่งยาวกว่า 3,300 กิโลเมตร ยาวเป็นอันดับ 2 ในบรรดามณฑลต่างๆ ของจีน มีประชากร 34.5 ล้านคน เป็นถิ่นฐานเดิมของชาวจีนโพ้นทะเลจำนวนมาก ปัจจุบันมีคนเชื้อสายฮกเกี้ยนอยู่ในต่างประเทศถึงสิบล้านคน อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มากที่สุด ในไทยมี 230,000 คน ฮ่องกง มาเก๊า 123,000 คน ชาวไต้หวัน 80% (ประมาณ 20 ล้านคน) ย้ายถิ่นฐานมาจากฮกเกี้ยน ผู้คนระหว่าง 2 ฝั่งจึงผูกพันกันมาก ในด้านทรัพยากร มีอยู่มากมาย ที่เป็นพิเศษคือ
1. ป่าไม้ มีประมาณ 4% ของจีน พื้นที่มณฑล 80% เป็นภูเขา มีป่าสมบูรณ์ถึง 60.5% สูงสุดของประเทศจีน
(น.68)
2. ทรัพยากรทางน้ำ มีระบบทางน้ำ 29 ระบบ แม่น้ำ 660 สาย ผลิตกระแสไฟฟ้าพลังน้ำได้ มีทรัพยากรทางน้ำอีกประมาณ 60% ที่ยังไม่ได้พัฒนา
3. ทรัพยากรทางทะเล มีพื้นที่ทางทะเลและทางบกเท่ากัน มีพื้นที่เลี้ยงสัตว์น้ำ 2,700 ตารางกิโลเมตร การประมงเจริญมาก กำลังค้นคว้าวิจัยผลิตไฟฟ้าด้วยพลังของระดับน้ำทะเลขึ้นลง
4. แร่ธาตุ มีอยู่มาก มีทรายและหินหลายชนิด
5. ทรัพยากรการท่องเที่ยว ที่สำคัญคือ เขาอู่อี๋ซาน ยูเนสโกให้เป็นมรดกโลกทั้งด้านธรรมชาติและวัฒนธรรม นอกจากนั้นมีวัด ศาลเจ้า มีศาสนาหลายศาสนา ทั้งพุทธ คริสต์ และอิสลาม ศาสนาอิสลามของจีนเริ่มที่ฮกเกี้ยน มีลูกศิษย์พระมะหะหมัดขึ้นเรือมาเฉวียนโจว มาเผยแพร่ศาสนา มีสุเหร่า ซึ่งมีสุสานของลูกศิษย์พระมะหะหมัด


(น.68) รูป


(น.69) รูป

(น.69) มีประเพณีพื้นเมือง เทพเจ้าพื้นเมืองที่สำคัญคือ เจ้าแม่หมาจู่ นับถือกันทั้งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ศาลหมาจู่มีมากกว่า 1,500 ศาลในเอเชีย ต้นกำเนิดของความเชื่อหมาจู่อยู่ที่ฮกเกี้ยน ส่วนด้านการพัฒนานั้น มณฑลฮกเกี้ยนพัฒนาเศรษฐกิจได้อย่างรวดเร็วหลังการเปิดประเทศ ทั้งด้านสาธารณูปโภค การคมนาคมสื่อสารที่ทันสมัย การขนส่งทางทะเล มีท่าเรือใหญ่ที่เมืองฝูโจว เซี่ยเหมิน สามารถเทียบเรือขนาดหมื่นตันได้คราวละ 40 ลำ แต่ละปีมีสินค้าขนถ่ายถึง 80 ล้านตัน ตู้สินค้า 2 ล้านตู้ ท่าอากาศยานมี 4 แห่งคือ ฝูโจว เซี่ยเหมิน จิ้นเจียง อู่อี๋ซาน กำลังก่อสร้างที่เหลียนเฉิง ซึ่งจะทำให้ไปเที่ยวเขากวนจ้านได้สะดวก

(น.70) รถไฟมี 3 สาย และกำลังก่อสร้างเส้นทางเวินโจว-ฝูโจว หลานโจว-หลงเหยียน อีกสายกำลังสำรวจ ทางด่วนมี 3 เส้นทาง เลียบทะเลเหนือใต้ ไปทางตะวันตก กำลังสร้างอีกหลายเส้น ปีหน้า (พ.ศ. 2546) จะเสร็จสมบูรณ์ มีที่อนุมัติแล้วให้สร้างเพิ่ม ผลิตไฟฟ้าได้ 10.75 ล้านกิโลวัตต์ การสื่อสารถือว่าอยู่ในระดับโลก การพัฒนาเศรษฐกิจก้าวหน้ารวดเร็ว ก่อนปฏิรูปอยู่ลำดับ 22 เมื่อพัฒนามา 20 ปี อยู่ลำดับ 11 GDP ค.ศ. 1978 อยู่ลำดับ 23 ปีที่แล้วเป็นอันดับ 7 ท่านผู้ว่าบอกตัวเลขการค้ากับต่างประเทศ มูลค้าส่งออกนำเข้า แต่จดไม่ทัน ปีนี้คาดว่าการค้าจะเจริญขึ้น


(น.70) รูป

(น.71) ประเทศไทยเป็นตลาดหลักในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของมณฑลฮกเกี้ยน ปีที่แล้วค้าขายกันมูลค่า 240 ล้าน ส่งออก 100 ล้าน นำเข้า 140 ล้าน (คิดเป็นเหรียญสหรัฐ) ปีนี้พัฒนารวดเร็ว คาดว่าจะเพิ่ม 30% ส่งออกไป ประเทศไทยอาจเพิ่ม 10% แต่นำเข้าจะเพิ่มมากว่า 40% การลงทุนจากต่างประเทศนั้นปริมาณการลงทุนค่อนข้างดี เมื่อเปิดประเทศ มีบริษัทมากกว่า 3,000 บริษัทมาลงทุน นักธุรกิจไทยมาลงทุนมากกว่าร้อยบริษัท มูลค่าประมาณ 100 ล้านเหรียญสหรัฐ และขณะนี้กำลังเจรจากันอีก รายได้ประชากรของมณฑลในตัวเมืองกว่า 8,000 หยวน/ปี ในชนบทกว่า 3,300 หยวน เมื่อเทียบกับมณฑลอื่น นับว่าอยู่ระดับแนวหน้า แต่ยังไม่ได้อยู่ในกลุ่มระดับดีที่สุด การพัฒนาด้านการศึกษา เจริญดี คนฮกเกี้ยนชอบเรียนหนังสือ ค้นคว้าหาความรู้มาแต่โบราณ มีสถาบันอุดมศึกษา 36 แห่ง นักศึกษา 200,000 คน แต่ละปีมีนักศึกษาไปเข้ามหาวิทยาลัยต่างมณฑลได้มาก นักวิทยาศาสตร์ วิศวกรชั้นนำของประเทศจีน 1 ใน 4 มาจากฮกเกี้ยน มีโรงเรียนมัธยมศึกษา 2,827 แห่ง นักเรียนราว 3 ล้านคน ตามนโยบายรัฐบาลกลาง ให้การศึกษาฟรี 9 ปี ขณะนี้เมืองหลักๆ ทดลองขยายถึงมัธยมปลาย ด้านการอนามัย วัฒนธรรม การกีฬา ก็ค่อนข้างดี เอเชียนเกมส์คราวนี้ มีนักกีฬาฮกเกี้ยนได้เหรียญทองหลายเหรียญ ความสัมพันธ์ไทย-จีน มณฑลฮกเกี้ยนกับไทยติดต่อกันมานานแล้ว มีสมาคมฮกเกี้ยนในไทย 3 สมาคม คือ สมาคมชาวฮกเกี้ยนแห่งประเทศไทย สมาคมชาวฮกจิว (ฝูโจว) สมาคมฮกเกี้ยนปักษ์ใต้ สมาคมเหล่านี้มีบทบาทเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างฮกเกี้ยนกับไทยเป็นอย่างมาก หวังว่าการเยือนครั้งนี้จะเป็นเครื่องเชื่อมสัมพันธ์ให้ดียิ่งๆ ขึ้น

Next >>