Please wait...

<< Back

ซานตง

จากหนังสือ

แกะรอยโสม
แกะรอยโสม หน้า 95

(น.95)การใช้ GIS ช่วยในการพยากรณ์การเกิดน้ำท่วม สร้างโมเดลซึ่งสามารถ plot อดีตและคาดอนาคตได้เช่นโครงการศึกษาทะเลสาบตงถิงซึ่งมีแนวโน้มที่จะมีขนาดเล็กลง ศึกษาแม่น้ำหวงเหอในมณฑลซานตง เพื่อให้ทราบว่าส่วนไหนเป็นที่อันตราย และเพื่อให้ย้ายประชาชนไปที่ปลอดภัยได้ทัน โครงการทำแผนที่ ความสามารถที่จะพัฒนา (Potential map) ที่เกาะไหหลำ เพื่อประโยชน์ในการพัฒนาท้องถิ่น

เย็นสบายชายน้ำ
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 214

(น.214) ไปที่พิพิธภัณฑ์ดาราศาสตร์ มีเวลาน้อยจึงดูได้คร่าว ๆ มีหินสลักแผนที่ดาวตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น ทำให้คิดว่าสัตว์ประจำทิศทั้ง 4 น่าจะเป็นกลุ่มดาว คงจะต้องไปค้นเรื่องนี้ต่อ มีเรื่องดาว Altair ที่หนุ่มเลี้ยงวัว (หนิวหลาง) กับสาวทอผ้า (จื๋อหนู่ว์) ปีหนึ่งสองหนุ่มสาวจะได้พบกันบนทางช้างเผือกหนหนึ่ง ในตู้มีเครื่องปั้นศิลปะหยางเชา จากมณฑลเหอหนาน อายุประมาณ 5,000 กว่าปี ลายสีเขียนเป็นเรื่องดาราศาสตร์ ที่ซานตงก็พบเครื่องปั้นที่เขียนเรื่องดาราศาสตร์ อายุ 4,500 ปี แผนที่ดาวพบในสุสานที่อำเภอผู่หยาง มณฑลเหอหนาน เรื่องของจุดดับในดวงอาทิตย์ (sun spot) คนจีนโบราณสังเกตเห็นและบันทึกเอาไว้ว่า มีนกอยู่ในดวงอาทิตย์ อยู่ในหนังสือหวายหนานจื่อ

เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 21-22

(น. 21) หลังอาหารเช้าไปพิพิธภัณฑ์ประวัติธรรมชาติกรุงปักกิ่ง รองผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ชื่อ ไอ้ฉุนชู ต้อนรับ เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์พาชม นิทรรศการรอยเท้าของชีวิตก่อนประวัติศาสตร์ มีตารางบอกเวลาทางธรณีวิทยาและมีรูปว่ามีต้นไม้และสัตว์อะไรบ้างในแต่ละช่วงเวลา นิทรรศการแสดงซากสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์และเรื่องต่างๆ

(น. 22) มีหัวไดโนเสาร์ T-Rex มาจากรัฐมอนตานา สหรัฐอเมริกา วางไว้สำหรับเปรียบเทียบกับไดโนเสาร์ของจีน Tsintaosaurus spinorhinus มีเขาขึ้นมาที่จมูก อายุปลายยุคครีเตเชียส ระหว่าง 65-95 ล้านปี เป็นสัตว์กินพืช พบที่อำเภอไหลหยัง มณฑลซานตง ยาว 7 เมตร สูง 5.5 เมตร

เจียงหนานแสนงาม หน้า 70,72

(น. 70) ไปที่พิพิธภัณฑ์ศิลปะและโบราณคดีอาเธอร์ เอ็ม. แซคเกลอร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Arthur M. Sackler Museum of Art and Archaeology at Peking University) พิพิธภัณฑ์นี้เป็นตึกใหญ่สร้างเสร็จใน ค.ศ. 1993 เป็นที่เก็บศิลปวัตถุที่อาจารย์และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยได้มาจากการขุดค้นหรือมีผู้บริจาค เราไม่มีเวลาดูครบทั้งหมด

(น. 72)
1. ห้องแรก แสดงโบราณวัตถุที่อาจารย์และนักศึกษาคณะโบราณคดีของมหาวิทยาลัยขุดค้นในการศึกษาภาคปฏิบัติที่เขาจินหนิว มณฑลเหลียวหนิง เรียกว่า วัฒนธรรมหงซาน พบซากโครงกระดูกคนและสัตว์ต่างๆ อายุประมาณ 280,000 ปี
2. วัฒนธรรมยุคหินใหม่ พบเครื่องมือที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับหินขัดของไทย แต่จะใช้ทำอะไรเราก็ไม่ทราบ พบกระดูกที่ใช้ในการเสี่ยงทาย (ตรงทางเดินมีแจกันใบใหญ่ปากกว้างที่มีตัวอักษรจีนเขียนไว้)
3. วัฒนธรรมยุคหินใหม่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน (Neolithic in North West China) ลุ่มแม่น้ำฉังเจียง แสดงเครื่องมือเครื่องใช้ หม้อต่างๆ ที่ใช้ในพิธีกรรม
4. วัฒนธรรมหินใหม่ในมณฑลซานตง (Neolithic in Shandong) มีภาชนะ 3 ขา และถ้วยเหล้าดินเผาทำได้บางมาก ความสูง 20 เซนติเมตร หนักเพียง 40 กรัมเท่านั้น ทำเมื่อ 2,500-200 ปีก่อนคริสตกาล

เจียงหนานแสนงาม หน้า 169

(น. 169) ที่อำเภอเป่าหลินซึ่งขึ้นกับหยังโจว มีชื่อเสียงในเรื่องรากบัว ทำนารากบัวพื้นที่ถึงแสนโหม่ว พวกที่ทำนารากบัวจะไม่มีเม็ดบัว ถ้าจะเอาเม็ดบัวต้องไปแถวๆ มณฑลซานตง

เจียงหนานแสนงาม หน้า 197

(น. 197) ข้าพเจ้ามาเยือนหยังโจวสั้นๆ เพียงวันเดียว ได้ไปเยี่ยมชมสถานที่ 4 แห่ง เมื่อกลับมาแล้วได้ค้นข้อมูลเพิ่มเติม หยังโจวเป็นเมืองเก่าแก่ มีหลักฐานให้ศึกษาย้อนหลังไปถึงปลายสมัยชุนชิว (ก่อน ค.ศ. 770 – ก่อน ค.ศ. 476) เป็นเมืองในแคว้นอู๋ เดิมมีชื่อว่า หันเฉิง ตามชื่อคลองขุดหันโกว ที่พระเจ้าฟูชาโปรดให้ขุดขึ้นในปี 486 ก่อนคริสตกาล เพื่อเชื่อมแม่น้ำฉังเจียงและแม่น้ำหวยเหอ ในสมัยราชวงศ์ฮั่นตั้งเป็นแคว้นชื่อว่า ก่วงหลิง แล้วเปลี่ยนชื่อเป็น หยังโจว ในสมัยราชวงศ์สุย และได้ใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน เมืองหยังโจวตั้งอยู่กลางมณฑลเจียงซูทางฝั่งเหนือของแม่น้ำฉังเจียง และอยู่ริมฝั่งคลองต้าอวิ้นเหอหรือคลองใหญ่ (Grand Canal) ที่ผ่านเมืองนี้ด้วย จักรพรรดิสุยหยังตี้เกณฑ์แรงงานมหาศาลมาขุดคลองนี้เพื่อเชื่อมการคมนาคมทางน้ำระหว่างภาคเหนือและภาคใต้ โดยอาศัยแนวคลองหันโกวเป็นหลัก คลองต้าอวิ้นเหอเริ่มจากอำเภอทงเซี่ยนในปักกิ่ง ผ่านเทียนสิน มณฑลเหอเป่ย มณฑลซานตง มณฑลเจียงซู และมาสิ้นสุดที่หังโจวใน

เจียงหนานแสนงาม หน้า 286

(น. 286) ปัจจุบันมณฑลเจ้อเจียงมีความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ มี GNP เป็นที่ 4 ของประเทศรองจากมณฑลกวางตุ้ง เจียงซู ซานตง

เจียงหนานแสนงาม หน้า 330

(น. 330) อารยธรรมจีนมีจุดกำเนิดที่ลุ่มแม่น้ำหวงเหอหรือฮวงโห พื้นที่ของอารยธรรมเมื่อแรกเริ่มอยู่แถบมณฑลซานซี (ภาษาไทย-ชานสี) ซานตง (ชานตุง) และเหอหนาน (โฮนาน) ในสมัยชุนชิว-จั้นกั๋ว แคว้นต่างๆ ที่อยู่ในเจียงหนาน เช่น แคว้นอู๋ แคว้นเย่ว์ ยังมีความเจริญน้อยกว่าแคว้นต่างๆ ที่อยู่ในจุดเกิดอารยธรรม อย่างไรก็ตาม มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญเกิดขึ้นในเจียงหนาน 2 ช่วง คือสมัยราชวงศ์เหนือใต้ และสมัยราชวงศ์ซ่งใต้

หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 16

(น.16) มีป้ายจารึกต่างๆ ใน ค.ศ. 1900 ท่านซุนยัดเซ็นแต่งกลอนรำลึกถึงจักรพรรดิเหลืองว่า ตั้งบ้านเมืองมา 5,000 ปี สืบทอดกันมาจนกระทั่งทุกวันนี้ ท่านเป็นผู้ประดิษฐ์เข็มทิศชี้ทาง นายพลเจียงไคเช็คเขียนป้ายใน ค.ศ. 1944 ใน ค.ศ. 1937 พรรคคอมมิวนิสต์จีนกับก๊กมินตั๋งมารวมกันต่อต้านญี่ปุ่น ตั้งพิธีไหว้จักรพรรดิเหลือง ท่านประธานเหมาเป็นผู้เขียนบทเซ่นไหว้ มีต้นสนต้นหนึ่งใหญ่พอใช้ มีเรื่องเล่าว่าจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้เสด็จมาแขวนเสื้อเกราะเอาไว้ที่ต้นสนนี้ ยังมีรอยตาปูปรากฏ (ฉันไม่เห็นรอยอะไรเลย) สนที่นี้เขาว่ามีมากกว่า 10 ชนิด แต่เรียกรวมๆ ว่าสนจีน ในศาลเจ้ามีภาพสลักนูนรูปจักรพรรดิเหลือง จำลองภาพมาจากสุสานที่มณฑลซานตง

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 51-53

(น.51) ไปถึงสนามบินจี่หนาน มณฑลซานตง นครจี่หนานเป็นเมืองหลวงของมณฑล มีคุณอู่จงชู่ ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ต้อนรับ มานั่งในรถด้วย อธิบายเรื่องต่างๆ ตอนที่ไปถึงมืดแล้ว ฉันขอให้คนขับรถเปิดไฟจะได้จดที่คุณอู่พูดได้ คนรถบอกว่าไฟเสียเปิดไม่ได้ แต่แรกฉันเขียนมืดๆ โดยใช้วิธีเอานิ้วจิ้มในกระดาษเป็นเครื่องหมายว่าเขียนถึงบรรทัดไหนแล้ว สักพักค่อยฉลาดขึ้นมาหน่อย นึกขึ้นมาได้ว่ามีไฟฉายอยู่ในกระเป๋า เลยเขียนได้ปกติ คุณอู่เล่าว่า ดินแดนซานตงเป็นที่ตั้งของแคว้นฉีและแคว้นหลู่ในสมัยชุนชิว จั้นกว๋อ เมื่อ 2,500 กว่าปีมาแล้ว มีความเจริญในการผลิต การถลุงเหล็ก นอกจากนั้นยังเลิกทาส และมีอารยธรรมสูงกว่ารัฐอื่นๆ ในสมัยเดียวกัน ในสมัยนั้นขงจื่อรับราชการในแคว้นหลู่ และได้รวบรวมความคิดตั้งลัทธิขงจื่อ รัฐต่างๆ ได้ใช้ลัทธิขงจื่อเป็นหลักในการปกครองในสังคมศักดินา ถิ่นกำเนิดขงจื่ออยู่ในอำเภอจี้หนิง ปัจจุบันมีศาลเจ้าขงจื่อ บ้านตระกูลข่งสร้างในสมัยราชวงศ์ซ่ง ยังมีสุสานตระกูลข่งซึ่งคนแซ่นี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก เมื่อตายแล้วเอาศพมาฝังได้ สมัยนี้จีนให้ความสำคัญแก่การวิจัยขงจื่อถึงกับจัดกองทุนสำหรับศึกษาขงจื่อไว้ ประธานคนปัจจุบันชื่อหานจงไถ มีสถาบันวิจัยลัทธิขงจื่อในวิทยาลัยครูชวีฝู่และมหาวิทยาลัยซานตง (ฉันไม่รู้จะเขียนขงจื่อ ขงจื้อ หรือขงจื๊อ ดี ซุปว่าขงจื่อก็แล้วกัน จีนกลางเรียกแบบนี้ แต้จิ๋วเรียกขงจื้อ แต่ไทยเรียกขงจื๊อ)

(น.52) มหาวิทยาลัยซานตงเป็นมหาวิทยาลัยรวมวิชา มีทุกสาขาทั้งวรรณคดี ประวัติศาสตร์ ปรัชญา และวิทยาศาสตร์แขนงต่างๆ มีคณะโบราณคดี ครูอาจารย์ขุดพบของโบราณในซานตง เขาจะให้ดูของที่ขุดได้

(น.53) บริเวณที่น่าสนใจอีกแห่งหนึ่งคือแหลมซานตง ซึ่งเป็นแหลมที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน มีระยะทาง 3,100 กิโลเมตร ติดทะเล มีท่าเรือชายฝั่งทะเล 22 ท่า ใหญ่ที่สุดคือชิงเต่า เมื่อ ค.ศ. 1999 เศรษฐกิจดีเป็นอันดับ 3 ของประเทศ ก่อนที่จะมีนโยบายเปิดสู่โลกภายนอก ประชาชนยากจนมาก ได้พัฒนามา 20 ปี เศรษฐกิจดีขึ้น ซานตงมีแม่น้ำหวงเหอไหลผ่าน แต่ก่อนมักเกิดอุทกภัยและมีการสู้รบในมณฑล ประชาชนอพยพหนีความอดอยากไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ คนจีนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเชื้อสายซานตง ในเวลา 20 ปีบ้านเมืองพัฒนาเร็ว มีประชากรมาก ถึงรายได้ GDP จะมาก แต่พอเอาจำนวนคนหารก็เหลือน้อย จากอันดับ 3 เป็นอันดับ 10 พูดถึงแค่นี้รถไปถึงเรือนรับรองหนานเจียว ที่ใช้เป็นสถานที่รับแขกเมืองของมณฑล หลังที่จัดให้ฉันอยู่ คืออาคารหลังที่ 7 เขาอวดว่าท่านประธานเหมาเคยอยู่เวลามาที่ซานตง เรือนรับรองนี้อยู่ติดกับสวนสาธารณะ

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 57,61,66,69,70,83

(น.57) การศึกษาวัฒนธรรมโบราณของจีนเป็นวิชาหนึ่งที่สำคัญของมหาวิทยาลัยซานตง มหาวิทยาลัยนี้ตั้งขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1901 เป็นมหาวิทยาลัยเก่าแก่ของจีน เป็นสถานศึกษาแห่งเมืองที่ขึ้นกับกระทรวงศึกษาธิการของรัฐบาลกลาง เหตุที่การวิจัยภาษาจีน ประวัติศาสตร์จีน ปรัชญาโบราณโดดเด่น สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะมณฑลซานตงเป็นแหล่งวิชาการจีน ที่จริงแล้วลักษณะพิเศษของมหาวิทยาลัยนี้คือ วิชาการด้านวิทยาศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ และการบริหาร ได้เจริญรุดหน้าอย่างรวดเร็ว กลายเป็นวิชาเด่นของมหาวิทยาลัย รัฐบาลกลางให้งบประมาณมามาก โดยเฉพาะด้านวิจัย มหาวิทยาลัยพยายามเปิดสู่โลกภายนอก ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่างประเทศ แลกเปลี่ยนนักศึกษา มหาวิทยาลัยมีสำนักพิมพ์และโรงพิมพ์เอง รองอธิการบดีเป็นนักคณิตศาสตร์ ศึกษาจากมหาวิทยาลัยซานตงและมหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมนี คณาจารย์ที่มานั่งอยู่ในห้องมีทั้งอาจารย์ที่ศึกษาขงจื่อ ศึกษาคัมภีร์และพงศาวดารจีนโบราณ วิจัยกวีนิพนธ์จีนโดยเฉพาะสมัยราชวงศ์ซ่ง (อาจารย์หลิวหน่ายฉังท่านนี้มีผลงานเขียนเล่มใหม่คือ วิเคราะห์บทกวีของหลี่ชิงเจ้า) ปรัชญาต่างประเทศเปรียบเทียบกับปรัชญาจีน ศึกษาอักษรโบราณจีน และการเขียนตัวหนังสือ (shufa-calligraphy) วรรณคดีโบราณจีน วิจัยประวัติท้องถิ่นมณฑลซานตง วิจัยสุนทรียศาสตร์ตะวันตก วิจัยลัทธิเต๋า

(น.61) ในห้องพิพิธภัณฑ์ ผู้อำนวยการหลู่เหวินเซิงเป็นคนพาชม เล่าประวัติว่าภาควิชาโบราณคดีของคณะประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยซานตง ตั้งขึ้นใน ค.ศ. 1972 ยี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาภาควิชาโบราณคดีเน้นความสำคัญของการทำงานภาคสนาม ของที่แสดงในพิพิธภัณฑ์นี้เลือกมาจากสิ่งของต่างๆ มากมายที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญด้านศิลปะและเป็นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดีอิ่นเจียเฉิงซึ่งขุดค้นตั้งแต่ ค.ศ. 1973-1986 ในอำเภอซื่อสุ่ย ทำให้สามารถค้นคว้าเรื่องวัฒนธรรมหลงซานและเยี่ยสือ ทางตอนใต้ของแม่น้ำหวงเหอและแม่น้ำไหวเหอ รายงานของการขุดค้นครั้งนี้มีชื่อว่า “แหล่งโบราณคดีอิ่นเจียเฉิงที่ซื่อสุ่ย” ได้รางวัลที่ 2 ในด้านการวิจัยดีเด่นสาขาสังคมศาสตร์ซึ่งมณฑลซานตงเป็นผู้ให้ และวิจัยดีเด่นทางด้านมนุษยศาสตร์ ผู้ที่ให้คือคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ

(น.66) ในสมัยเมื่อ 4,600-6,000 ปีมาแล้วซานตงตั้งอยู่ริมแม่น้ำเหลืองหรือแม่น้ำหวงเหอ มีอารยธรรมที่โดดเด่น วัฒนธรรมเก่าแก่สมัยหินใหม่เรียกว่า ต้าเวิ่นโข่ว ที่จัดแสดงมีภาชนะดินเผาเขียนสีมีลายเป็นรูปดาว 8 แฉก มีนักวิชาการตีความว่าเป็นการแสดงความเคารพพระอาทิตย์ เห็นได้ว่าคนในยุคนี้เวลาฝังศพจะหันศีรษะทางทิศตะวันออก

(น.69) เรื่องของจูถาน (ค.ศ. 1370-1389) เจ้าแห่งรัฐหลู่ พระองค์เป็นโอรสองค์ที่ 10 ของจูหยวนจัง ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์หมิง ได้รับแต่งตั้งให้ไปปกครองเมืองเหยียนโจวฝู่ พระองค์สนพระทัยเรื่องศิลปวัฒนธรรม กลอน และเพลง อยากเป็นอมตะจึงเสวยยาอายุวัฒนะขนานต่างๆ จนตาย ได้รับการขานพระนามว่า เป็นอ๋องไร้สาระ พระศพฝังไว้ที่อำเภอโจวในมณฑลซานตงปัจจุบัน

(น.70) สุดท้ายไปดูเรื่องของสัตว์โบราณ ฉันชอบไดโนเสาร์มาก เพราะการดูไดโนเสาร์ทำให้เราได้ศึกษาเรื่องเปลือกโลกสมัยต่างๆ ได้รู้จักชั้นหินด้วย ไดโนเสาร์ที่โตที่สุดในที่นี้ชื่อว่า Shantungosaurus giganteus พบที่เหวยฟัง ปากเหมือนเป็ด สูง 8 เมตร ยาว 12 เมตร ขุดพบใน ค.ศ. 1958 ตอนที่พบอยู่กระจัดกระจาย 20 กว่าชิ้น แล้วเอามาประกอบกัน มีชนิดที่พบที่ไหลหยัง ตัวเหมือนหมา ปากเหมือนนกแก้ว เป็นพวกกินเนื้อ ในซานตงเจอไดโนเสาร์ 24 ชนิด

(น.83) กลับที่เรือนรับรอง ตอนค่ำมีเลี้ยง รองผู้ว่าราชการมณฑลเป็นเจ้าภาพ ก่อนอื่นคุณอู่ทำตัวเป็นพิธีกรแนะนำใครๆ และเชิญรองผู้ว่าราชการมณฑลกล่าวบรรยายสรุป ท่านรองผู้ว่าราชการฯ บอกว่า ผู้ว่าราชการมณฑลซึ่งประชุมอยู่ที่ปักกิ่งโทรศัพท์มากำชับให้ดูแลรับรองฉันให้ดี และแนะนำสถานที่ว่า จี่หนานเป็นเมืองหลวงของมณฑล มณฑลซานตงมีประชากร 86,820,000 คน เนื้อที่ 156,000 ตารางกิโลเมตร ขงจื่อเกิดในมณฑลนี้ที่ชวีฝู่ ซึ่งเป็นเมืองหลวงแคว้นหลู่ สมัยชุนชิว จั้นกว๋อ (ส่วนทางตะวันออกของจี่หนานเป็นเมืองหลวงของแคว้นฉี ซึ่งอยู่สมัยเดียวกัน) ที่จี่หนานแต่ดั้งเดิมเศรษฐกิจขึ้นกับการเกษตร ราวทศวรรษ 1950 อุตสาหกรรมเริ่มเติบโต ปีหลังๆ นี้การเกษตรก็ก้าวหน้าเช่นกันเพราะใช้เทคโนโลยีใหม่และเทคโนโลยีที่มาจากต่างประเทศ เขาถือว่าไวน์แดงจังอวี้เป็นไวน์แดงที่ดีที่สุดของจีน ผลไม้ก็ปลูกได้ดี มณฑลนี้มีที่ติดชายทะเลยาว เพราะฉะนั้นการผลิตอาหารทะเลนั้นสำคัญ มีการเลี้ยงปลา เลี้ยงสัตว์น้ำอื่นๆ ในด้านการเกษตร การพัฒนาชลประทานเป็นเรื่องสำคัญ ถึงกระนั้นบางแห่งก็ยังแห้งแล้ง ต้องพัฒนาพืชทนแล้ง ด้านอุตสาหกรรมขณะนี้สำคัญมาก มีอุตสาหกรรมเครื่องจักรอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอ การทำเหมืองถ่านหิน มีโรงงานแปรรูปผลิตภัณฑ์เกษตร ผลิตอาหารสัตว์ ลงทุนร่วมกับบริษัทไทย และยังคิดพัฒนาด้านการท่องเที่ยว

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 87,105-106,108

(น.87)อำเภอไท่อานเป็นเมืองระดับกลาง มีฐานะสำคัญมากในมณฑลซานตง เพราะเป็นที่ตั้งของภูเขาไท่ซาน ซึ่งอุดมด้วยแร่ธาตุถึงครึ่งหนึ่งของแร่ธาตุที่มีในมณฑล นอกจากนั้นยังอยู่ในเส้นทางจากปักกิ่งไปเซี่ยงไฮ้และปักกิ่งไปฝูโจว การคมนาคมสะดวกมาก

(น.105) กว่าจะกลับถึงที่พักก็ค่ำแล้ว รับประทานอาหารค่ำแบบกันเอง แถมก็ต้องคุยเรื่องประพจน์ด้วยตามเคย เมื่อรับประทานแล้วนักข่าวทีวีมณฑล ซานตง หรือ Shan Dong Televisions – SDTV ของซานตงมาสัมภาษณ์ คนสัมภาษณ์ออกตัวว่าเขาแต่งตัวไม่ดีเพราะวันนี้เดินทางทั้งวัน ฉันว่าไม่เป็นอะไรเพราะที่จริงฉันก็แต่งไม่ค่อยจะดีเท่าไร แต่วันนี้ซุปเขาดูแลจัดการให้แต่งดีๆ

(น.106) ตกลงฉันพูดเป็นภาษาไทยและให้คุณอู๋จื้ออู่แปล ก็จะดีเพราะว่าทีวีไทยก็จะได้ถ่ายด้วย ฉันจะเล่าคำถามคำตอบคร่าวๆ ดังนี้
1. สาเหตุที่มาเยือนซานตง ฉันว่าเป็นมณฑลที่เป็นแหล่งกำเนิดอารยธรรมหวงเหอ (ฮวงโห) มีวัฒนธรรมจีนโบราณที่น่าสนใจ เป็นสถานที่กำเนิดขงจื่อและกวีสำคัญหลายท่าน ปัจจุบันเป็นมณฑลที่ก้าวหน้า และฉันรู้จักคนซานตงหลายคน
2. ความประทับใจที่นครจี่หนานในวันแรกที่มา ตอบว่า บ้านเมืองสะอาด ถนนหนทางกว้างขวางได้มาตรฐาน การต้อนรับที่ดี ได้ไปมหาวิทยาลัยซานตง ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่มีมาตรฐานทางวิชาการ ดูสวนน้ำพุ มีการรวบรวมความรู้ต่างๆ ไว้ทั้งจิตรกรรมและประวัติบุคคลสำคัญต่างๆ ของมณฑล ทะเลสาบต้าหมิงหูก็สวยงาม
3. พิพิธภัณฑ์ของมหาวิทยาลัยเป็นอย่างไร ตอบว่า มหาวิทยาลัยมีการสอนวิชาโบราณคดี อาจารย์และนักศึกษาได้เรียนและสอนภาคทฤษฎีแล้วมีโอกาสได้ไปทำงานภาคปฏิบัติ ไปขุดค้นที่แหล่งโบราณคดี เมื่อขุดแล้วก็ได้นำวัตถุโบราณที่น่าสนใจมาจัดแสดง เขียนคำอธิบาย ค้นคว้าและเขียนบทความวิชาการเผยแพร่ในวงวิชาการ นอกจากนั้น ยังได้ทราบว่ากำลังทำฐานข้อมูลลงคอมพิวเตอร์ด้วย การศึกษาอย่างเป็นระบบจะเป็นตัวอย่างแก่สถาบันการศึกษาอื่นๆ ทั้งในและนอกประเทศ ได้ดูพิพิธภัณฑ์เป็นเวลาสั้นมากเพราะไม่มีเวลา แต่ก็นับว่าได้ประโยชน์ดี เขาสามารถนำสิ่งที่สำคัญเป็นหลักๆ มาไว้ด้วยกัน ใช้เวลาไม่มากก็สามารถเข้าใจวัฒนธรรมของซานตงได้ ฉันชอบห้องที่แสดงสัตว์โบราณเพราะสนใจเรื่องสัตว์โบราณ ไดโนเสาร์ต่างๆ ซึ่งให้ความรู้ด้านธรณีวิทยาด้วย

(น.108)
4. สนใจวัฒนธรรมจีนด้านไหน ตอบว่าสนใจทุกด้าน เพราะวัฒนธรรมคือวิถีชีวิตของมนุษยชาติในแต่ละสังคมซึ่งต้องมีครบทุกด้าน รวมทั้งปัจจัยสี่ที่จะสนองความต้องการทั้งด้านร่างกาย สติปัญญาและอารมณ์ จะศึกษาวัฒนธรรมต้องสนใจและเข้าใจทุกด้าน จึงจะเข้าใจประชาชนและสังคมนั้นๆ ได้
5. มาครั้งนี้คิดว่าจะช่วยให้ไทยและมณฑลซานตงมีการแลกเปลี่ยนด้านวิชาการได้อย่างไร ตอบว่ามาคราวนี้มีอาจารย์ 6 ท่านจากมหาวิทยาลัย 4 แห่งตามมาด้วย เมื่อกลับไปแล้ว อาจารย์เหล่านี้คงจะไปหารือกับผู้บริหารมหาวิทยาลัยของเขาให้ดำเนินการตามขั้นตอนที่สมควร
6. ขอให้กล่าวกับคนจีน ฉันก็เลยเอากลอนที่แต่งขยายความบทกวีชุนเสี่ยว (รุ่งอรุณฤดูใบไม้ผลิ) ของเมิ่งเฮ่าหราน ซึ่งฉันแต่งเป็นเนื้อร้อง เพลงจีนเด็ดดอกไม้ ที่กำนันสำราญ เกิดผล ขอให้ช่วยแต่ง ฉันท่องบทกวีของเมิ่งเฮ่าหราน แล้วหยิบเอาหนังสือ หยกใส่ร่ายคำ มาอ่านต่อกลอนที่ฉันแต่ง จะให้คุณอู๋อ่านคำแปลภาษาจีน คนที่สถานีเขาบอกว่าไม่ต้องอ่าน ขอบทไปแล้วเขาจะจัดการเองเป็นอันเสร็จเรียบร้อย เขาจะออกอากาศวันที่ 22 มีนาคมนี้ ฉันดูไม่ได้เพราะไม่ได้ตั้งไว้ แต่ที่สถานทูตจีนที่เมืองไทยบอกว่าเขาดูได้

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 110,112,114,116,119-121

(น.110)คุณอู่นั่งรถไปส่งที่สนามบิน บอกว่าที่จริงมณฑลซานตงยังมีอะไรให้ดูอีกมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านวัฒนธรรม แถวๆ ริมทะเลก็ควรไป สมัยก่อนซานตงเป็นที่กันดาร คนซานตงจึงไปภาคตะวันออกเฉียงเหนือกันมาก

(น.112) การบริหารงานแก้ไขปัญหาแม่น้ำหวงเหอภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์จีนนั้นได้เริ่มงานมาตั้งแต่ ค.ศ. 1946 การบริหารงานที่ดำเนินมา 50 กว่าปีได้กำไร 1.32 ล้านล้านหยวน

(น.114) ท่านประธานเหมากำชับเรื่องการจัดการลุ่มน้ำหวงเหอนี้มาก ต้นน้ำหวงเหอตั้งแต่ที่ราบสูงดินเหลืองที่ทิเบต ชิงไห่ ซินเจียง กานซู่ หนิงเซี่ย เหอหนาน และซานตง ไปลงที่ทะเลโป๋ไห่ ในประวัติศาสตร์มีน้ำท่วม เกิดปัญหามาก ประธานเหมาไปดู ค.ศ. 1952 ใน ค.ศ. 1999 ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินได้มาดูเรื่องการผลิตไฟฟ้า

(น.116) แม่น้ำหวงเหอเป็นแม่น้ำยาวอันดับสองของจีน มีต้นน้ำจากเทือกเขาที่ราบสูงทิเบต-ชิงไห่ ในเขตกลางมณฑลชิงไห่ สูงเหนือระดับน้ำทะเล 4,500 เมตร ไหลผ่านมณฑลชิงไห่ เสฉวน กานซู่ หนิงเซี่ย มองโกเลียใน ส่านซี ซานซี เหอหนาน และซานตง ออกสู่ทะเลโป๋ไห่ที่รอยต่ออำเภอเขิ่นลี่กับอำเภอลี่จิน

(น.119) การพัฒนาระบบน้ำแก้ไขน้ำท่วม นอกจากการสร้างคันกั้นน้ำแล้ว ยังใช้วิธีสร้างอ่างเก็บน้ำ (detention basin) เช่น ให้น้ำไหลเข้าทะเลสาบตงหลิง โดยทำเป็นประตูน้ำผันน้ำเข้าทะเลสาบในเวลาน้ำมาก ถ้าน้ำน้อยก็เอาน้ำมาเข้าแม่น้ำ โครงการนี้จะเสร็จในปีหน้า ฟังๆ ดูฉันว่าคล้ายๆ โครงการแก้มลิงที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทำในบ้านเรา ทะเลสาบตงผิงอยู่ทางตะวันตกของมณฑลซานตง ระหว่างอำเภอตงผิงกับเหลียงซาน ทางตะวันออกและทางเหนือของทะเลสาบติดกับแม่น้ำหวงเหอ แต่เดิมทะเลสาบนี้ในฤดูร้อนจะมีพื้นที่เพียง 153 ตารางกิโลเมตร แต่ใน ค.ศ. 1953 เมื่อสร้างเขื่อนกักเก็บน้ำแล้ว พื้นที่ของทะเลสาบขยายกว้างขึ้นถึง 600 ตารางกิโลเมตร

(น.120) ไปพิพิธภัณฑ์มณฑลเหอหนาน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รูปร่างอาคารดูสมัยใหม่มาก แต่ที่จริงแล้วทำเลียนแบบหอดูดาวโบราณ ผู้อำนวยการมาต้อนรับอธิบายว่าพิพิธภัณฑ์เหอหนานเริ่มก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1927 แต่ก่อนอยู่ที่เมืองไคเฟิง ปลายทศวรรษ 1950 ต่อต้น 1960 ที่ทำการรัฐบาลย้ายมาอยู่นครเจิ้งโจว พิพิธภัณฑ์จึงย้ายมาด้วย สร้างเสร็จ ค.ศ. 1959 มีพื้นที่ใช้สอย 15,000 ตารางเมตร ได้สร้างอาคารใหม่ระหว่าง ค.ศ. 1991-1994 เปิดให้เข้าชมได้ใน ค.ศ. 1998 จัดแสดงวัตถุโบราณในมณฑลเหอหนาน ซึ่งมีประมาณ 13,000,000 ชิ้น พื้นที่จัดแสดงประมาณ 78,000 ตารางเมตร ได้ดูวัตถุโบราณ 3 ห้อง ได้แก่ วัฒนธรรมโบราณเหอหนาน ศิลปะแกะสลักหิน มี 2 ห้อง คือ 1. ศิลปะชาวบ้าน 2. ศิลปะทางพุทธศาสนา

(น.121) เขาบอกว่าเมื่อ 500,000-600,000 ปีมาแล้วแถวนี้เคยมีช้างแมมมอธ มีภูเขาซงซาน พระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่สุด หอดูดาวที่ไคเฟิง เจดีย์อายุ 1,500 ปีสมัยเป่ยเว่ย อยู่กลางหุบเขาซงซานใกล้วัดเซ่าหลิน เมืองไคเฟิงเป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ซ่งสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 11 ที่พื้นปูกระเบื้องทำเป็นสัญลักษณ์ของลัทธิเต๋า มณฑลซานตงเป็นแหล่งกำเนิดลัทธิขงจื่อ แต่ที่มณฑลเหอหนานนั้นเป็นแหล่งกำเนิดของลัทธิเต๋า

มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 83

(น.83) ภาพแสดงสุสานของจักรพรรดิราชวงศ์ถังที่อยู่ที่ซีอาน 18 แห่ง ในราชวงศ์ถังมีกษัตริย์ 21 พระองค์ สุสานมีอยู่ที่ซีอาน 18 ที่ขาดไปอยู่ที่ซานตงกับลั่วหยาง

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 173

(น.173) ก่อนออกจากเมืองรถไปหยุดที่รูปหินสลักซึ่งเขาให้ชื่อว่าแม่หวงเหอ เป็นรูปแม่และลูก ทำด้วยหินแกรนิตจากมณฑลซานตง ผู้ออกแบบรูปหินสลักนี้เป็นผู้หญิง ที่เขาเห็นความสำคัญของแม่น้ำหวงเหอเพราะเขาถือว่าเป็นอู่อารยธรรมจีน