Please wait...

<< Back

ราชวงศ์ถัง

เจียงหนานแสนงาม หน้า 219

(น. 219) พิพิธภัณฑ์เจิ้นเจียง
โบราณคดีในสมัยนี้ทำให้ได้พบข้อมูลที่สำคัญคือ เดิมนักวิชาการคิดกันว่าป้ายหลุมศพเกิดในสมัยราชวงศ์ถัง แต่ที่นี่ในสมัยหกราชวงศ์ก็มีแล้ว รวมทั้งพบวิธีเขียนลายมือแบบที่เขาจัดแสดงอยู่

3. โบราณวัตถุสมัยราชวงศ์ถัง รูปจำลองดินเผาสมัยนี้เป็นดินเผาเคลือบสี ใน ค.ศ. 1980 พบเครื่องเงินเครื่องทองของสมัยนี้ เขาเขียนภาพสันนิษฐานว่าในสมัยก่อนใช้เครื่องมือเครื่องใช้เหล่านี้อย่างไรบ้าง เช่น เครื่องเล่นเกมพนันกินเหล้า ทำเป็นฉลากเงินมีอักษรจารึก มี 50 อัน ใส่ไว้ในกระบอกวางไว้บนเต่าสำริด

เจียงหนานแสนงาม หน้า 258-259,282-283

(น. 258)สถานที่ที่เป็นพิพิธภัณฑ์เมืองซูโจวในปัจจุบันจึงมีความเกี่ยวพันกับประวัติศาสตร์จีนในศตวรรษที่ 19 ที่นี่เขาไม่ได้ให้ดูข้าวของต่างๆ ที่จัดแสดงไว้เพราะมีเวลาจำกัด แต่เอาของชิ้นเอกออกมาให้ชมเลย
1. คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตร สมัยราชวงศ์ถัง เขียนตัวทอง มี 7 ม้วน พบในเจดีย์เมื่อ ค.ศ. 1976
2. คัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร สมัยราชวงศ์ซ่ง
3. เครื่องถ้วยลายดอกบัว พบที่เนินเสือ เป็นสีเขียวไข่กา จากเตาเผาเย่ว์ ของมณฑลเจ้อเจียง สมัยราชวงศ์เหนือใต้ ใช้อุณหภูมิ
1,000 กว่าองศาในการเผา และจะต้องเผาในสูญญากาศจึงจะออกมาเป็นสีเขียว ถ้าอากาศเข้าจะกลายเป็นสีน้ำตาล กลายเป็นของไม่มีค่า
4. หยกสมัยราชวงศ์ชิง รัชกาลจักรพรรดิเฉียนหลง มาจากเมืองเหอเถียนหรือเมืองโคทาน ในภูมิภาคปกครองตนเองซินเจียง สลักเป็นตัวหนังสือว่า กั๋วไท่หมินอาน แปลว่า ชาติร่มเย็น ประชาเป็นสุข และ ไท่ผิงอู๋เซี่ยง แปลว่า ไม่มีเหตุ ประเทศสงบ หยกสีอย่างนี้หายาก
5. เครื่องปั้นดินเผาสีม่วงแดงรูปพระ เป็นของเมืองซูโจว สมัยราชวงศ์หมิง

(น. 259)
6. ถ้วยสุรา ทำด้วยดินเผาจื่อซา สมัยจักรพรรดิคังซี สลักรูปพืชที่เป็นมงคล เช่น มันฮ่อ (เหอเทา walnut) มีความหมายคือ ให้มีอายุยืน กระจับ ให้ความหมายว่า เฉียบไว ลิ้นจี่ หมายความว่า ได้กำไร มีไหวพริบ ถั่วลิสง หมายความว่า มีลูกหลานมากมาย แปะก๊วย เม็ดแตงโม ไม่ได้บอกว่าหมายความว่าอะไร
7. ที่วางพู่กัน เป็นดินเผาจื่อซา สมัยราชวงศ์ชิง เป็นรูปกิ่งไม้ มีจักจั่นเกาะ
8. ภาพวาดสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ รูปกษัตริย์ 5 พระองค์กำลังทรงพระเกษมสำราญอยู่กับเหล่านางสนมกำนัลในฤดูใบไม้ผลิ ภาพเขียนสีได้สวยงามมาก ภาพเครื่องเรือน อาคาร อาหารสมัยนั้น และการแต่งกายของบุคคลในภาพ แสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่ของคนในสมัยนั้นว่าเป็นเช่นใด
9. ภาพวาดสมัยราชวงศ์หมิง เป็นภาพเหมือนของนักปราชญ์ต่างๆ ในสมัยราชวงศ์ซ่งมาพบปะกัน แล้วร่วมกันเขียนตัวอักษร ที่ซีหยวน ในเมืองลั่วหยัง นักปราชญ์คนหนึ่งที่เห็นในภาพก็คือ ซูตงปัวหรือซูซื่อนั่นเอง
10. ภาพคนแก่ที่เขียนในสมัยราชวงศ์ชิง เขียนแบบโบราณ การใช้เส้นใหญ่ เล็ก หนัก เบา ทำให้ภาพนี้มีชีวิตชีวา ภาพของจงขุย ซึ่งคนจีนเชื่อว่าเป็นยมบาล มีเรื่องเล่าว่า วันหนึ่งจักรพรรดิถังเสวียนจง (ค.ศ. 712 – 756) ทรงพระสุบินว่า เห็นผีตัวใหญ่จับผีตัวเล็กกินไปเลย ผีตัวใหญ่ทูลว่า เมื่อเป็นมนุษย์ เคยไปสอบแข่งขันเป็นจอหงวน แต่สอบตก จึงเอาศีรษะชนบันไดหินตายได้ตั้งปณิธานไว้ว่า เมื่อตายแล้ว จะปราบผีไม่ดี เลยกินผีตัวเล็กที่ไม่ดี จงขุยก็คือผีตัวใหญ่นั่นเอง

(น. 282) เมืองซูโจวมีทั้งประวัติศาสตร์อันยาวนานและสภาพภูมิศาสตร์ที่ดี ทั้งเมืองเต็มไปด้วยแม่น้ำลำคลองและทะเลสาบใหญ่น้อย การคมนาคมทางน้ำสะดวก น้ำท่าอุดมสมบูรณ์ ภูมิอากาศอบอุ่น จึงเหมาะแก่การเพาะปลูกรวมทั้งการติดต่อค้าขาย ทั้งการค้าภายในและการค้ากับต่างประเทศ ซูโจวเป็นศูนย์กลางการผลิตและการค้าแพรไหมมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ช่วงที่ราชวงศ์ชิงยังรุ่งเรืองเมืองซูโจวมีเครื่องทอแพรไหมถึง 3,000 - 4,000 เครื่อง มีคนงานหมื่นกว่าคน จังจี้ กวีในสมัยราชวงศ์ถังที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 8 ได้แต่งบทกวีเกี่ยวกับเมืองซูโจวชื่อว่า “จอดเรือที่สะพานเฟิงเฉียวยามราตรี” บทกวีนี้ใช้ภาษาเรียบง่าย กระชับ และบรรยาย

(น. 283) ภาพได้ดี จึงเป็นบทกวีที่รู้จักกันแพร่หลาย และมักจะพูดถึงเมื่อเอ่ยถึงเมืองซูโจว รวมทั้งทำให้วัดหานซานที่เอ่ยถึงในบทกวีนี้มีชื่อเสียงโด่งดัง นักท่องเที่ยวปรารถนามาเยี่ยมเยือน บทกวีนี้พรรณนาว่า

เจียงหนานแสนงาม หน้า 291-292,301-302

(น. 291) พิพิธภัณฑ์มณฑลเจ้อเจียง
สมัยราชวงศ์สุย ถัง ห้าราชวงศ์ แสดงเครื่องประดับ เช่น ปิ่นปักผม และอุปกรณ์เกี่ยวกับอาหารการกิน เช่น ทัพพี ของที่ใช้ในพิธีชงชา กระโถน ชามฝาสลักลายฉลุ

(น. 292) ไปอีกตึกหนึ่ง แสดงเครื่องปั้นดินเผาของเจ้อเจียงตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซังถึงราชวงศ์ชิง สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก สมัยชุนชิวพบเครื่องปั้นดินเผาปั้นเลียนแบบเครื่องสำริด สมัยราชวงศ์ฮั่นมีตุ๊กตาหน้าตาเหมือนคนอินเดีย สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก สมัยสามก๊ก สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออกและพวกราชวงศ์ใต้ มีเครื่องปั้นดินเผาสีดำเต๋อชิง สมัยราชวงศ์สุย ถัง ห้าราชวงศ์ มีเครื่องปั้นดินเผาที่ส่งถวายจักรพรรดิ และของที่พบในสุสาน

(น. 301) หังโจวตั้งอยู่ทางตอนเหนือของมณฑลเจ้อเจียง ในช่วงปลายของแม่น้ำเฉียนถังเจียงทางฝั่งเหนือ คลองขุดต้าอวิ้นเหอไหลมาสิ้นสุดที่หังโจว เป็นเมืองที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน ปรากฏร่องรอยหลักฐานให้ศึกษาย้อนหลังไปได้ถึง 7,000 ปี (วัฒนธรรมหินใหม่เหอมู่ตู้) ในสมัยราชวงศ์ฉินมีชื่อเรียกขานกันว่า เมืองเฉียนถัง ในสมัยราชวงศ์สุยเปลี่ยนชื่อเป็นหังโจว ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 10 เคยเป็นเมืองหลวงของแคว้นอู๋เย่ว์ [หลังจากที่ราชวงศ์ถังล่มสลายใน ค.ศ. 907 แล้ว ประเทศจีนได้แตกแยกกัน

(น. 302) อีกครั้งหนึ่งอยู่ 70 กว่าปี (ค.ศ. 907 – 979) จึงรวมตัวกันได้ใหม่ในสมัยราชวงศ์ซ่ง (ค.ศ. 979 – 1279) ช่วงแตกแยกนี้ ในประวัติศาสตร์จีนเรียกกันว่า สมัยห้าราชวงศ์ (ค.ศ. 970 - 960) สิบแคว้น (ค.ศ. 907 – 979) แคว้นอู๋เย่ว์เป็นแคว้นหนึ่งในสิบแคว้น] ต่อมาในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ซึ่งหนีการรุกรานของพวกกิมก๊กมาอยู่ทางใต้ได้มาตั้งเมืองหลวงที่หังโจว และเปลี่ยนชื่อเป็นเมืองหลินอาน

เจียงหนานแสนงาม หน้า 327,331-332

(น. 327) การไปชมเมืองเซ่าซิงทำให้ข้าพเจ้านึกถึงบทกวีชื่อ หุยเซียงโอ่วซู หรือ เขียนเขียนไปเมื่อกลับบ้านเกิด ที่ข้าพเจ้าเรียนและแปลไว้ตั้งแต่เมื่อ พ.ศ. 2525 ตอนที่เรียนอาจารย์บอกว่า เป็นบทกวีสมัยราชวงศ์ถัง กวีที่เขียนชื่อ เฮ่อจือจาง (ค.ศ. 659 – 744) เป็นชาวเซ่าซิง และเป็นเพื่อนกับหลี่ไป๋ เฮ่อจือจางมีพรสวรรค์ในการประพันธ์ เขียนบทกวีมาตั้งแต่เยาว์วัย และเขียนต่อเนื่องมาจนมีชื่อเสียง ชอบดื่มเหล้า เป็นหนึ่งในกวี 8 คนที่เป็นเซียนขี้เมาในสมัยราชวงศ์ถัง ในด้านการงานสอบได้เป็นจิ้นซื่อเมื่อ ค.ศ. 695 สมัยจักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน หรือบูเช็กเทียน (ค.ศ. 684 – 705) จึงได้เข้ารับราชการเป็นขุนนาง ซึ่งดำเนินไปด้วยดี จนได้เป็นขุนนางผู้ใหญ่ ตอนที่ลาออกจากราชการนั้นอายุ 80 กว่าปี จักรพรรดิถังเสวียนจงจัดงานเลี้ยงส่งและเขียนบทกวีให้ด้วย นอกจากจะเป็นกวีที่มีชื่อเสียงแล้ว ยังได้รับยกย่องว่าเขียนตัวอักษรจีนสวย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเขียนแบบหวัด บทกวี หุยเซียงโอ่วซู เขียนพรรณนาว่า
จากบ้านเมื่อเยาว์วัย กลับมายามชรา
ยังคงสำเนียงท้องถิ่น แต่จอนผมบาง
เด็กเด็กพานพบก็ไม่รู้จัก
ถามยิ้มยิ้ม แขกท่านนี้มาจากไหน
คำอ่านภาษาจีน เ
ส้าเสี่ยวหลีเจียเหล่าต้าหุย
เซียงอินอู๋ไก่ปิ้นเหมาชุย
เอ๋อร์ถงเซียงเจี้ยนปู้เซียงซื่อ
เสี้ยวเวิ่นเค่อฉงเหอชู่ไหล

(น. 331) ช่วงที่ราชวงศ์จิ้นมาอยู่ทางใต้นั้นได้นำวัฒนธรรมจีนในภาคเหนือลงมาด้วย ดินแดนเจียงหนานซึ่งได้สร้างความเจริญด้านวัฒนธรรมของตนเองมาแล้วตั้งแต่สมัยโบราณ จึงได้รับวัฒนธรรมจาดจุดก่อเกิดพัฒนาให้งอกเงยยิ่งๆ ขึ้น ต่อจากราชวงศ์จิ้นตะวันออก มีราชวงศ์ต่างๆ สืบต่อมาจนถึง ค.ศ. 589 อีก 4 ราชวงศ์ เรียกรวมกันว่า ราชวงศ์ใต้ (หนานเฉา) ประวัติศาสตร์จีนในช่วง ค.ศ. 317 – 589 จึงเรียกกันว่า สมัยราชวงศ์เหนือใต้ (หนานเป่ยเฉา) เป็นช่วงแห่งการแตกแยกทางการเมือง มารวมประเทศได้อีกครั้งหนึ่งในสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581 – 618) ต่อด้วยราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 – 907) แม้การเมืองในสมัยนี้จะแตกแยกกันอยู่ 200 กว่าปี แต่วัฒนธรรมรุ่งเรือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งพุทธศาสนาและพุทธศิลป์ อีกช่วงหนึ่งที่มีความเปลี่ยนแปลงสำคัญในเจียงหนานคือ สมัยราชวงศ์ซ่งอพยพลงมาอยู่ทางใต้ มาตั้งเมืองหลวงที่หังโจว ผู้คนทั้งชาวบ้าน ปัญญาชน พ่อค้า ขุนนาง และวัฒนธรรม

(น. 332) ความเจริญในสมัยราชวงศ์สุย ถัง และซ่งเหนือได้เคลื่อนลงมาด้วย มาเพิ่มความเจริญยิ่งๆ ขึ้นแก่เจียงหนานซึ่งเจริญอยู่แล้วให้โดดเด่นทางวัฒนธรรม ณ ที่นี้ พวกปัญญาชนได้มาชุมนุมกัน และยังเป็นศูนย์รวมของห้องสมุดส่วนตัวที่มีชื่อเสียงหลายแห่ง จึงไม่น่าประหลาดใจเลยว่า นับแต่สมัยราชวงศ์หมิงเป็นต้นมา เจียงหนานมีผู้สอบได้เป็นจิ้นซื่อมากกว่าภาคอื่นๆ

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 59

(น.59) มีหลักฐานการตั้งถิ่นฐานในชิงไห่เมื่อ 30,000 ปีมาแล้ว มีตำนานว่าในสมัยราชวงศ์ถัง กษัตริย์ซงจ้านกานปู้แห่งราชวงศ์ถู่โป๋ของทิเบต ส่งเสนาบดีไปเมืองฉังอานสู่ขอพระราชธิดาของจักรพรรดิจีน คือ เจ้าหญิงเหวินเฉิง เจ้าหญิงเดินทางไปทิเบตต้องผ่านชิงไห่

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 105,111,118

(น.105) วัดต้าเจาซื่อมีประวัติยาวนานถึงกว่า 1,300 ปี สมัยราชวงศ์ถัง สร้างเมื่อ ค.ศ. 647 สมัยกษัตริย์ซงจ้านกานปู้ เล่ากันว่าเจ้าหญิงเหวินเฉิงพระมเหสีสร้างวัดนี้เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปพระศากยมุนีที่นำมาจากจีน (เชื่อกันว่าพระพุทธรูปองค์นี้หล่อจากพระพักต์ของพระพุทธเจ้าเมื่อมีพระชนมายุได้ 12 พรรษา ใช้โลหะหลายชนิดผสมกัน หล่อที่แคว้นมคธ) มีอีกวัดคือ วัดเสี่ยวต้าเจา เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปของพระมเหสีที่เป็นเจ้าหญิงเนปาล เนื่องจากเล่ากันว่าวัดนี้ตะเกียงเนยสว่างตลอดเวลา เพราะชาวบ้านเอาเนยมาถวายเป็นเชื้อไฟตลอด บริเวณที่ตั้งวัดต้าเจาซื่อ เดิมเป็นทะเลสาบ เล่าเรื่องกันว่า เจ้าหญิงเหวินเฉิงศึกษาภูมิประเทศของทิเบต มองเห็นเป็นรูปนางยักษ์ วิธีปราบก็คือ สร้างวัดตามบริเวณสำคัญของนางยักษ์ เพื่อต่อต้านอำนาจของนาง ทะเลสาบนี้อยู่ตรงกลางหัวใจของนางยักษ์พอดี จึงควรสร้างวัดเพื่อกำจัดสิ่งชั่วร้ายบริเวณนั้น (เข้าใจว่าใช้วิธีการดูฮวงจุ้ยตามแบบจีน)

(น.111) ส่วนที่ 2 มีสาระข้อมูลประวัติศาสตร์ที่แสดงว่าทิเบตไม่แบ่งแยกจากจีน เช่น เรื่องเจ้าหญิงเหวินเฉิงและศิลาจารึกพันธมิตรลุง-หลาน ค.ศ. 823 (แสดงการยุติสงครามระหว่างราชวงศ์ถังและอาณาจักรถู่โป๋) แผนที่ทิเบตที่เจ้าหญิงเหวินเฉิงคิดขึ้นเป็นภาพนางยักขินี สร้างวัดที่บริเวณส่วนต่างๆ ของร่างกายนางยักษ์ วัดต้าเจาซื่ออยู่ที่หัวใจ ในคริสต์ศตวรรษที่ 13 ทิเบตมีรัฐบาลท้องถิ่น มีศูนย์กลางอยู่ที่เมืองสาเกีย (Sakya) บัณฑิตสาเกียมีจดหมายเจริญไมตรีกับมองโกล มีตราที่กุบไลข่านให้หลานเจ้าเมืองสาเกียมีอำนาจปกครองทิเบต

(น.118) ตอนค่ำมาดามปาซังเลี้ยง มาดามปาซังเป็นรองประธานสภาที่ปรึกษาการเมืองทิเบต และประธานสมาพันธ์สตรีทิเบต มาดามเล่าว่าทิเบตแบ่งแยกไม่ได้จากจีน ตั้งแต่สมัยราวงศ์ถังก็มีเรื่องเจ้าหญิงเหวินเฉิง ใน ค.ศ. 1279 สมัยพระเจ้ากุบไลข่านแห่งราชวงศ์หยวนจีนกับทิเบตได้รวมกันเป็นปึกแผ่น สมัยราชวงศ์หมิง

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 217

(น.217) ท่านรองนายกฯ ท่องกลอนให้ฟัง เป็นบทกวีของหวังฉังหลิงที่ได้ประพันธ์ไว้เป็นชุด รวม 7 บท ชื่อ บทเพลงเดินทัพ (從軍行 ฉงจวินสิง) มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับสภาพและทหารที่ไปประจำอยู่ ณ ชายแดน บทนี้เป็นบทที่ 4 เส้นทางชิงไห่-กานซู่ ไปด่านอวี้เหมินนั้น ระยะทางห่างกันมาก มีภูเขาหิมะ (ฉีเหลียนซาน) ซึ่งยาวมาก อยู่ระหว่างมณฑลทั้งสอง มีเมืองเดี่ยวเมืองหนึ่งอยู่โดดๆ ซึ่งก็คือ เมืองชายแดนที่ทหารไปประจำการอยู่ ในสมัยราชวงศ์ถังทหารชายแดนพวกนี้ทำหน้าที่ 2 ประการคู่กันไป กล่าวคือ ป้องกันไม่ให้ชนเผ่าถู่โป๋ (ทิเบต) ซึ่งอยู่ทางเหนือรุกรานเข้ามา ในขณะเดียวกันก็ป้องกันการรุกรานของพวกถูเจี๋ย (เตอร์ก) และคอยป้องกันไม่ให้พวกถู่โป๋-ถูเจี๋ย ติดต่อเชื่อมโยงกันได้ด้วย บทกวีมีความตามคำแปลภาษาไทยว่า
ชิงไห่ เมฆทอดยาว ภูเขาหิมะมืดครึ้ม
เมืองโดดเดี่ยว มองไปไกลยังด่านอวี้เหมิน
ทรายสีเหลือง รบร้อยครั้ง เกราะโลหะสึก
หากพิชิตโหลวหลานมิได้ ไม่กลับบ้าน

ใต้เมฆที่เมฆใต้
ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 12

(น.12) การมัดผ้าและย้อมนั้นเขาว่ามีมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง

ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 49-50,86

(น.49) อีกด้านหนึ่งของห้องมีตารางแสดงพระนามกษัตริย์ต้าหลี่ซึ่งเป็นคนแซ่ต้วน ส่วนพวกน่านเจ้านั้นเขาว่าเป็นคนแซ่เหมิง น่านเจ้าเคยทำสงครามกับราชวงศ์ถัง ต่อมามีการทำสัญญาตกลงกันยอมอยู่ในอิทธิพล

(น.50) ของราชวงศ์ถัง กษัตริย์จีนราชวงศ์ถังตั้งเจ้าเมืองที่ปกครองแถบนี้ (มีจารึก) จารึกที่น่าสนใจคือจารึกที่เขียนในรัชสมัยพระนางอู๋เสอเทียน (บูเช็กเทียน) คือคำว่า กว๋อ ที่แปลว่า ประเทศ ใช้ตัวอักษร แทนตัว 國 ซึ่งใช้เช่นนี้จนสิ้นราชวงศ์หมิง ที่ให้ใช้ตัว เพราะอักษร 方 ที่อยู่ด้านในสี่เหลี่ยม หมายถึง ทิศ คือ การคุมอำนาจได้ 4 ทิศ จารึกปี ค.ศ. 766 เล่าประวัติอาณาจักรน่านเจ้าอยู่ที่เต๋อหัวเหนือไท่เหอ 5 กิโลเมตรจากพิพิธภัณฑ์นี้

(น.86) วัดพระเจดีย์ 3 องค์ หรือที่เรีกกันว่าวัดช่งเซิ่น วัดนี้สร้างขึ้นในสมัยน่านเจ้า มีพระเจดีย์ 3 องค์อยู่ในวัด พระเจดีย์องค์แรกสร้างในสมัยราชวงศ์ถังราวปี ค.ศ. 823 มีรูปร่างสี่เหลี่ยม สูง 69 เมตร มี 16 ชั้น องค์เล็ก 2 องค์สร้างสมัยราชวงศ์ซ่ง สูง 43 เมตร 10 ชั้น รูปร่างแปดเหลี่ยม เกิดแผ่นดินไหวหลายครั้งในแถบนี้

ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 209-212,214,216-217,223

(น.209)เขตการปกครองต่างๆ ของจีนทั้งในอดีตและปัจจุบันนั้น ผู้เขียนพยายามหาคำศัพท์ภาษาไทยที่มีความหมายใกล้เคียงสอดคล้องกับคำในภาษาจีน ในขณะเดียวกันก็หาศัพท์ที่คนไทยคุ้นเคย เพื่อสื่อความหมายให้ใกล้เคียงที่สุด และให้คนไทยเข้าใจได้ด้วย คำแปลเหล่านี้จึงเป็นเพียงการเสนอแนะของผู้เขียน เพื่อให้ผู้ที่สนใจศึกษาค้นคว้าทางด้านจีนวิทยาได้ช่วยกันอภิปรายพิจารณากันต่อไป
1. เขตการปกครองของจีนในอดีต ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เมื่อมนุษย์มาอยู่รวมกันเป็นชุมชน ศูนย์กลางของสังคมอยู่ที่หมู่บ้าน แล้วจึงค่อยๆ พัฒนามาเป็นสังคมเมืองที่มีการจัดระเบียบสังคมและการปกครองที่ซับซ้อนขึ้น จีนเป็นประเทศที่มีประวัติศาสตร์อันยาวนาน การจัดระเบียบเขตการปกครองของจีนมีหลักฐานให้ศึกษาย้อนกลับไปได้ถึงสมัยชุนชิว (770-476 ปีก่อน ค.ศ.) ในสมัยนี้มีการจัดตั้งเขตการปกครองที่เรียกว่า “เสี้ยน” (Xian) หลังจากนั้นการจัดตั้งเขตการปกครองได้ปรับเปลี่ยนวิวัฒนาการสืบต่อมา จนกล่าวได้ว่าลงตัวในสมัยราชวงศ์ถัง ในสมัยราชวงศ์ซ่ง หยวน หมิง และชิง มีการปรับเปลี่ยนหรือมีการจัดเขตการปกครองที่ใช้เฉพาะสมัยบ้าง แต่ยังคงใช้โครงสร้างหลักสมัยราชวงศ์ถัง คำศัพท์เกี่ยวกับเขตการปกครองของจีนในอดีตที่จะกล่าวถึงในภาคผนวกนี้มี 10 คำ คือคำว่า เสี้ยน (Xian) จวิ้น (Jun) โจว (Zhou) เต้า (Dao) ฝู่ (Fu) ลู่ (Lu) จวิน (Jun) เจี้ยน (Jian) สิงเสิ่ง (Xing Sheng) หรือเสิ่ง (Sheng) และทิง (Ting) ดังจะได้กล่าวอย่างสังเขปตามลำดับต่อไป
1.1 เสี้ยน (县) ตามหลักฐาน การจัดตั้งเขตการปกครองที่เรียกว่า “เสี้ยน” มีขึ้นครั้งแรก เมื่อประมาณ 688 หรือ 687 ปีก่อน ค.ศ. ดังที่ปรากฏคำนี้ในแคว้นฉิน แคว้นจิ้น และแคว้นฉู่ “เสี้ยน”

(น.210)ได้พัฒนาต่อมาจนลงตัวดีในสมัยการปฏิรูปของซางหยางแห่งแคว้นฉินระหว่าง 359-350 ปีก่อน ค.ศ. เขตการปกครอง “เสี้ยน” จะประกอบด้วยเมืองที่มีกำแพงเมืองล้อมรอบกับบริเวณรอบนอกตัวเมือง “เสี้ยน” ในความหมายดั้งเดิมจึงหมายถึงเขตการปกครองระดับ “เมือง” ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Perfecture” ในสมัยราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581-618) “เสี้ยน” ถูกลดระดับให้เล็กลงจากเดิม ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Subprefecture” ถึงสมัยราชวงศ์ถัง “เสี้ยน” หมายถึง เขตการปกครองระดับ “อำเภอ” ภาษาอังกฤษใช้ว่า “County” บ้าง หรือ “District” บ้าง คำว่า “เสี้ยน” ที่หมายถึงเขตการปกครองระดับอำเภอได้ใช้มาจนถึงปัจจุบัน
1.2 จวิ้น (郡) ในสมัยการปฏิรูปของซางหยางได้มีการจัดตั้งเขตการปกครองที่เรียกว่า “จวิ้น” ตามอาณาบริเวณพรมแดนของแคว้น เป็นเขตการปกครองที่เน้นเรื่องการทหาร มีฐานะต่ำกว่า “เสี้ยน” เมื่อพระเจ้าฉินสื่อหวงตี้ทรงรวมประเทศจีนได้แล้ว ได้ขยายและปรับเขตการปกครอง “จวิ้น” ให้ใหญ่ขึ้น แบ่งการปกครองประเทศจีนออกเป็น 36 จวิ้น ต่อมาเพิ่มเป็น 42 จวิ้น จวิ้นในสมัยนี้จึงหมายถึงเขตการปกครองระดับ “แคว้น” และปกครองดูแล “เสี้ยน” “จวิ้น” ถูกยกเลิกไปในสมัยราชวงศ์สุย
1.3 โจว (洲) เป็นเขตการปกครองที่เริ่มใช้ครั้งแรกในสมัยพระเจ้าฮั่นหวู่ตี้ (140-87 ปีก่อน ค.ศ.) ในสมัยนี้ได้แบ่งประเทศจีนเป็น 13 โจว ระดับการปกครองลดหลั่นจากโจว (แคว้นใหญ่) จวิ้น (แคว้นเล็ก) - เสี้ยน (เมือง) ต่อมาในสมัยราชวงศ์ถัง “โจว” จะถูกลดระดับลงมามีฐานะเป็น “เมือง”
1.4 เต้า (道) ความหมายเดิมของคำว่า “เต้า” หมายถึง หนทาง วิถี วิธีการ เหตุผล แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้ในความหมายถึง

(น.211) เขตการปกครองด้วย ในสมัยราชวงศ์ถังได้จัดเขตการปกครอง “เต้า” ขึ้นเป็นเขตการปกครองสูงสุดระดับมณฑล ในตอนแรกมี 10 เต้า ต่อมาเพิ่มเป็น 15 เต้า ในสมัยราชวงศ์ซ่งได้เปลี่ยนชื่อเขตการปกครองระดับมณฑลมาเป็น “ลู่” (路) มีการปรับเปลี่ยนพื้นที่ขอบเขตและการรวมอำนาจเข้าส่วนกลาง แต่แนวคิดก็ยังเป็นเขตการปกครองระดับมณฑลอยู่ ในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิงได้จัดตั้งเขตการปกครอง “เต้า” ขึ้นอีก แต่มิได้อยู่ในฐานะของมณฑล หากมีฐานะกลางๆ ระหว่าง “มณฑล” และ “เมือง” ทำหน้าที่ตรวจตราราชการของเมืองในฐานะตัวแทนของมณฑล เช่น ในสมัยราชวงศ์ชิงที่มณฑลยูนนานได้จัดตั้ง “ผู่เอ๋อเต้า” ขึ้นที่ด้านเหนือของเชียงรุ่ง เพื่อกำกับดูแลสิบสองปันนาและหัวเมืองใกล้เคียง
1.5 ฝู่ (府) ความหมายเดิมของคำว่า “ฝู่” หมายถึง ทำเนียบ คฤหาสน์ของขุนนางผู้ใหญ่ แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้ในความหมายถึงเขตการปกครองด้วย ในสมัยราชวงศ์ถังได้จัดตั้งเขตการปกครอง “ฝู่” ขึ้น หมายถึง เมืองที่มีขนาดใหญ่และมีความสำคัญ ส่วนเมืองที่ขนาดรองลงมาเรียกว่า “โจว” การแบ่งเมืองออกเป็นระดับต่างๆ นั้นไทยเราก็แบ่งเช่นกันเป็นเมืองเอก เมืองโท เมืองตรี เมืองจัตวา เมืองเอก เมืองโท เมืองตรีนั้นยังมีเมืองเล็กๆ เป็นเมืองบริวารมาขึ้นอยู่ด้วย ดังนั้น คำว่า “เมือง” ในความรับรู้ของคนไทยจึงสื่อความหมายถึง หน่วยการปกครองเหนือระดับหมู่บ้านขึ้นมาจนถึงประเทศ มีระดับของความเป็นเมืองต่างกัน และตรงกับคำภาษาอังกฤษหลายคำตั้งแต่ town, city จนถึง nation state เช่น เมืองบางละมุง เมืองมโนรมย์ (town) เมืองพิษณุโลก เมืองนครศรีธรรมราช (city) เมืองไทย เมืองจีน เมืองอังกฤษ (nation state)

(น.212) ในสมัยราชวงศ์หมิงและชิง มีทั้งโจวที่ขึ้นกับฝู่ และโจวที่มีฐานะเป็นเมืองอิสระ คำว่า “โจว” เป็นคำเก่าแก่ที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์การปกครองของจีน เช่นเดียวกับคำว่า “เสี้ยน” ทั้งสองคำนี้มีการปรับเปลี่ยนขอบเขตในแต่ละช่วงสมัย และยังเป็นคำที่ใช้อยู่ในการจัดระเบียบเขตการปกครองของจีนในปัจจุบัน คำว่า “ฝู่” ที่แปลว่า “เมือง” นี้ คนไทยออกเสียงเพี้ยนไปเป็น “ฟู” เช่น ต้าหลี่ฝู่ เป็น ตาลีฟู
1.6 ลู่ (路) ความหมายเดิมของคำว่า “ลู่” หมายถึง ทาง เส้นทาง ถนน ลู่ทาง แนวทาง แต่ในขณะเดียวกันก็ใช้ในความหมายถึงเขตการปกครองด้วย ในสมัยราชวงศ์ซ่งได้จัดเขตการปกครอง “ลู่” ขึ้นเป็นเขตการปกครองสูงสุดระดับมณฑล แทนที่เต้าซึ่งได้จัดขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง การยุบเลิกเต้าเปลี่ยนมาเป็นลู่เป็นการปรับเปลี่ยนในแง่ของพื้นที่ขอบเขตและการรวมอำนาจเข้าส่วนกลาง แต่แนวคิดยังคงเป็นเขตการปกครองระดับมณฑล สมัยราชวงศ์ซ่งในตอนแรกมี 21 ลู่ ต่อมามีการปรับเปลี่ยนขึ้นลงเป็น 15 ลู่บ้าง 18 ลู่บ้าง และ 23 ลู่บ้าง ในสมัยราชวงศ์หยวนได้เปลี่ยนมาเรียกเขตการปกครองระดับมณฑลเป็น “สิงเสิ่ง” หรือ “เสิ่ง” ส่วนคำว่า “ลู่” หมายถึง เขตการปกครองที่รองลงมาและขึ้นกับเสิ่ง “ลู่” ในสมัยราชวงศ์หยวนเทียบเท่า “ฝู่” ในสมัยราชวงศ์หมิงและราชวงศ์ชิง ถึงสมัยราชวงศ์หมิงได้ยุบเลิก “ลู่” เปลี่ยนมาตั้ง “เต้า” ขึ้นมาแทน เป็นหน่วยการปกครองที่อยู่กึ่งกลางระหว่างมณฑลและเมืองดังที่ได้กล่าวมาแล้ว
1.7 จวิน (军) ความหมายเดิมของคำว่า “จวิน” หมายถึง ทหาร กองทัพ และเป็นคำนามที่ใช้ประกอบกับคำอื่นๆ ในการจัดระเบียบหน่วยการปกครองของกองทัพมาตั้งแต่สมัยชุนชิว แต่

(น.214)
2. เขตการปกครองของจีนในปัจจุบัน
หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองใน ค.ศ. 1949 รัฐบาลจีนได้ยกเลิกการจัดระเบียบเขตการปกครองแบบเสิ่ง ฝู่ โจว และเสี้ยน และได้จัดระเบียบเขตการปกครองขึ้นใหม่ แต่ยังคงยึดหลักการปกครองลดหลั่นกันตามลำดับ เพียงแต่ว่าในแต่ละระดับมีการแบ่งแยกออกไป เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมหรือความสำคัญของพื้นที่ มีฐานะที่เท่ากันในระดับนั้นๆ แต่มีการจัดองค์กรที่แตกต่างกันไปบ้าง ดังแผนผังที่แสดงดังต่อไปนี้

(น.216) ต่อจากจังหวัดและจังหวัดปกครองตนเองลงมา หน่วยงานที่มีฐานะเท่ากันในระดับนี้ก็จะเป็น “อำเภอ” (เสี้ยน) “อำเภอปกครองตนเอง” (จื้อจื้อเสี้ยน) และ “เมืองที่ขึ้นต่อจังหวัดหรือจังหวัดปกครองตนเอง” (ตี้ชีว์เสียซื่อ, จื้อจื้อโจวเสียซื่อ) ส่วนนครที่ขึ้นต่อมณฑล หรือภูมิภาคปกครองตนเองก็จะมีเขตและอำเภออยู่ใต้การปกครองเช่นกัน ในด้านสาระสำคัญของเขตการปกครองต่างๆ ที่แสดงในแผนผังนั้นอาจสรุปได้ดังนี้
2.1 เสิ่ง (省) คำว่า “เสิ่ง” ที่เป็นศัพท์แสดงเขตการปกครองในภาษาจีนนั้นเริ่มใช้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน และใช้สืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Province” ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง

(น.217) พัฒนาจัดระเบียบเขตการปกครอง “เต้า” ขึ้นแล้ว กล่าวได้ว่าการจัดระเบียบการปกครองส่วนภูมิภาคได้ลงตัว รัฐบาลกลางได้เข้าไปมีบทบาทและอำนาจในการควบคุมการปกครองส่วนภูมิภาคเพิ่มขึ้น สภาพการณ์ดังกล่าวได้ดำเนินสืบเนื่องต่อมาในสมัยหลัง เพียงแต่ว่ามีการปรับปรุงระดับการควบคุมและขอบเขตพื้นที่บ้างในราชวงศ์ต่อๆ มา รวมทั้งมีการเปลี่ยนชื่อเขตการปกครองแบบ “เต้า” ไปเป็น “ลู่” บ้าง “เสิ่ง” บ้าง ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว

(น.223)
2.7 เสี้ยน (县) คำว่า “เสี้ยน” เป็นศัพท์เก่าแก่ทางด้านการปกครองของจีนที่ใช้กันมาตั้งแต่สมัยชุนชิว (770-476 ปีก่อน ค.ศ.) ในระยะแรกมีฐานะเป็นเมือง ต่อมาได้ลดฐานะลงเป็นเพียงแค่อำเภอในสมัยราชวงศ์ถัง นับจากนั้นเป็นต้นมาคำนี้ก็ใช้สื่อความหมายถึงเขตการปกครองระดับอำเภอมาจนถึงทุกวันนี้ คำว่า “เสี้ยน” ภาษาอังกฤษใช้ว่า “County” ส่วนในภาษาไทยนั้นก็แปลลงตัวกันดีใช้ว่า “อำเภอ” ซึ่งก็สอดคล้องกับความหมายในภาษาจีนและสื่อสารได้ตรงกับความรับรู้ของคนไทยถึงเขตการปกครองระดับนี้ ปัจจุบันประเทศจีนมีอำเภอทั้งหมดประมาณ 2,200 อำเภอ

มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 53,63

(น.53) ห้องมณฑลส่านซี จุดเน้นของห้องนึ้คือสุสานของจิ๋นซีฮ่องเต้ เรื่องราวสมัยราชวงศ์ถัง รูปนางสนมหยางกุ้ยเฟยซึ่งเป็นบุคคลที่สวยงามมาก จักรพรรดิถังเสวียนจงมัวแต่หลงใหลนางจนกระทั่งต้องเสียบ้านเสียเมือง สตรีในสมัยราชวงศ์ถังนั้นจะต้องอ้วน หน้ากลมจึงจะถือว่าเป็นสาวงาม มีลายผ้าปักแบบส่านซี มีภาพวาดเมืองเยียนอัน ซึ่งเป็นที่มั่นของพรรคคอมมิวนิสต์ในสมัยต่อต้านญี่ปุ่น

(น.63) วัดแห่งหนึ่งชื่อฝ่าเหมินซื่อ เพิ่งค้นพบเมื่อ 2 ปีก่อน เปิดนิทรรศการปีที่แล้ว พบพระธาตุนิ้วพระหัตถ์พระพุทธเจ้า มีประวัติว่าเคยนำไปบูชาในวัง 7 ครั้ง มีของล้ำค่าจากราชวงศ์ถังมากมาย เป็นของถวายเป็นพุทธบูชา ถ้วยชามของถังซีจง ปลายราชวงศ์ถัง มีแพรไหมที่ใช้ในวัง แพรไหมที่พบมีจำนวนมากมายกว่าที่เคยพบมา การรักษาแพรไหมเป็นงานที่ละเอียดมาก แพรไหมที่รักษาไว้ได้ดีที่สุดคือแพรไหมที่ทอกับเส้นทอง นอกจากนั้นมีเครื่องแก้ว บางส่วนมาจากอาหรับ ท่านรองบอกว่าจะหาข้อมูลไว้ให้ทั้งภาพถ่าย หนังสือ ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์บอกว่าจะถ่ายเอกสารเรื่องสุสานเฉียนหลิง และจุดเริ่มต้นเส้นทางแพรไหมมาให้

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 71,76-77,79,81,83,87-88,91,93-95,105-106

(น.71)ถนนในซีอานปัจจุบันตามแบบราชวงศ์หมิง สมัยถังกว้างกว่าปัจจุบัน 8 เท่า ถ้าอยากจะทราบว่าบรรยากาศราชวงศ์ถังเป็นอย่างไรก็ต้องอ่านบทกวีต่าง ๆ เช่น หลี่ไป่ ตู้ฝู่ หวางเหว่ย บทกวีเหล่านี้กล่าวถึงวัฒนธรรมชีวิตของคนในประวัติศาสตร์เมื่อประกอบกับสิ่งที่เราเห็นในปัจจุบัน จะประสานอดีตและปัจจุบันเข้าด้วยกันได้

(น.76) สุสานเฉียงหลิงที่เรากำลังจะไปให้ฟังอย่างย่อ ๆ ว่าเป็นสุสานของพระจักรพรรดิถังเกาจง (หลี่จื้อ) จักรพรรดิองค์ที่ 3 ของราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 628 – 683) และจักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน หรือบูเช็กเทียน (ค.ศ. 624 – 705) สุสานนี้อยู่บนเขาเหลียงซานอยู่ห่างอำเภอเฉียนเซียนไป 6 กิโลเมตร ถังเกาจงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ 9 ของหลี่ซื่อหมิ่น (ถังไท่จง) จักรพรรดิองค์ที่ 2 ของราชวงศ์ถัง ได้ขึ้นครองราชย์เมื่อ ค.ศ. 649 สวรรคตใน

(น.77) เมืองลั่วหยางเมื่อ ค.ศ. 683 (เมืองลกเอี๋ยงในวรรณคดีเรื่องสามก๊ก) และฝังที่เฉียนหลิงนี้ อู่เจ๋อเทียนมีนิวาสถานเดิมอยู่ที่เหวินสุ่ย (มณฑลส่านซีในปัจจุบัน) เคยเป็นพระสนมที่มีฐานะอยู่ในกลุ่มพระสนมอันดับ 5 ของพระเจ้าถังไท่จง เมื่อพระเจ้าถังไท่จงสวรรคตแล้วตามปกติพวกสนมจะต้องไปบวชชีกันหมด แต่อู่เจ๋อเทียนทำอย่างไรไม่ทราบ สึกออกมาเป็นมเหสีของพระเจ้าถังเกาจงได้ มีอายุมากกว่าถังเกาจง 4 ปี เห็นจะเป็นเพราะฉลาด มีความรู้ เมื่อพระเจ้าถังเกาจงเริ่มประชวรใน ค.ศ. 659 พระเนตรบอด ปวดพระเศียรทุกวัน ราชการงานเมืองอะไรก็ปล่อยให้อู่เจ๋อเทียนทำหมด พอพระเจ้าถังเกาจงสวรรคต พระนางก็ตั้งตัวเองเป็นจักพรรดิ เป็นองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีนที่เป็นผู้หญิง เมื่อได้ขึ้นครองราชย์ก็ปฏิรูปภายในประเทศ เปลี่ยนชื่อราชวงศ์เป็นราชวงศ์โจว ภายหลังได้มอบอำนาจให้ลูกชายคือถังจงจง ซึ่งได้เปลี่ยนราชวงศ์กลับไปเป็นราชวงศ์ถังตามเดิม อู่เจ๋อเทียนสวรรคตที่ลั่วหยาง เมื่อ ค.ศ. 705 และถูกนำมาฝังที่เฉียนหลิงเช่นเดียวกับพระเจ้าถังเกาจง (ที่เรียกว่าเฉียน เพราะอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของซีอาน) หมอดูจีนโบราณเรียกทิศนี้ (เวลาผูกดวง) ว่าเฉียน รอบ ๆ สุสานเฉียนหลิงมีสุสานเจ้าชาย เจ้าหญิง และเสนาบดี สุสานเฉียนหลิงสูงประมาณ 1,040 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล ในบริเวณส่านซีมีสุสาน 72 แห่ง คุณหันพูดว่าคนกล่าวกันบ่อย ๆ ว่าสุสานใหญ่จะถูกขโมย แต่เฉียนหลิงไม่มีคนขโมย ไม่มีในเอกสาร และไม่มีร่องรอยการถูกขโมยด้วย ฉะนั้นข้างในอาจมีศิลปวัตถุอยู่

(น.79) สุสานของเจ้าหญิงหย่งไท่ เจ้าหญิงหย่งไท่มีพระนามเดิมว่าหลี่เสี่ยนหุ้ย (ค.ศ. 684-701) เป็นหลานของพระเจ้าถังเกาจง พระธิดาพระเจ้าถังจงจง (หลี่เสี่ยน) สิ้นพระชนม์ที่ลั่วหยาง และภายหลังย้ายมาฝังที่นี่

(น.81) ภาพวาดในสุสานนี้ส่วนใหญ่เป็นภาพวาดที่เขาวาดขึ้นใหม่ แทนของเดิมที่ลอกไปไว้พิพิธภัณฑ์ เป็นภาพแสดงชีวิตประจำวัน เป็นแฟชั่นที่ผู้หญิงจะแต่งตัวแบบผู้ชาย คือส่วนใหญ่จะแต่งตัวทำผมแบบสตรีชั้นสูงสมัยถัง ของใช้ต่าง ๆ มีหีบ พัด ไม้เกาหลัง กาน้ำแบบราชวงศ์ถัง ซึ่งได้ทราบว่ามาจากทิศตะวันตก องุ่นเป็นพันธุ์มาจากอิหร่าน ตามเส้นทางค้าแพรไหม

(น.83) ออกจากสุสานเข้าในพิพิธภัณฑ์ เขามีภาพแสดงสุสานของจักรพรรดิราชวงศ์ถังที่อยู่ที่ซีอาน 18 แห่ง ในราชวงศ์ถังมีกษัตริย์ 21 พระองค์ สุสานมีอยู่ที่ซีอาน 18 ที่ขาดไปอยู่ที่ซานตงกับลั่วหยาง นักโบราณคดียังไม่ได้ขุดค้นสุสานมากนัก แต่ก็มีคนลักลอบขุด ในสมัยก่อนมีขุนศึกเจิ้นเถาซึ่งเที่ยวไปขุดค้นสุสานต่าง ๆ แต่ไม่ได้ขุดเฉียนหลิง เพราะเมื่อจะขุดเกิดฝนตก ลมพัดแรงขุดไม่ได้ (ไม่ทราบว่าเป็นเรื่องบุญญาบารมีของจักรพรรดิหรือเปล่า) ตามหลักฐานโบราณคดีก็เห็นว่าคงไม่มีการทำลาย ประตูทางเข้าก็ยังอยู่ดี

(น.87) รูปอูฐบรรทุกผ้าแพรไหม มีถุงน้ำแขวนข้าง ๆ สมัยฮั่นนั้นคนมั่งมีจะต้องมีข้าวแยะ ส่วนคนมั่งมีสมัยราชวงศ์ถังคนมีผ้าไหมแยะแปลว่ารวย

(น.88) ภาพฝาผนังต่าง ๆ ที่คัดลอกมาจากสุสานเป็นเรื่องการรับทูต มีเจ้าหน้าที่กรมพิธี และทูตจากโรมัน เกาหลี ชนกลุ่มน้อย ในสมัยราชวงศ์ถังมีหลักฐานว่าจีนมีความสัมพันธ์กับประเทศต่าง ๆ 300 กว่าประเทศ
สุสานจำลองจากสุสานเจ้าหญิงหย่งไท่ (ทำด้วยไม้อัดปะกระดาษ)
ภาพตีคลี เกมนี้เป็นเกมจากอิหร่าน แต่เป็นที่นิยมมากในสมัยราชวงศ์ถัง สถานที่ราชการหรือตามหมู่บ้านมักจะมีสนามตีคลี ในประวัติศาสตร์กล่าวไว้ว่าครั้งหนึ่งมีทีมตีคลีจากทิเบตมาแข่งขันกับทีมชาติของราชวงศ์ถัง ปรากฏว่าทีมชาติแพ้ จักรพรรดิองค์ที่ 7 (ถังเสวียนจง-หมิงหวง) ซึ่งยังไม่ขึ้นครองราชย์จึงจัดนักกีฬาไปแข่งอีกครั้งและเอาชนะทิเบตได้ สมัยราชวงศ์ถังพวกเจ้านาย ขุนนางตีคลีกันเป็นส่วนมาก นับว่าเป็นกีฬาใหม่ที่มาตามเส้นทางค้าแพรไหม ปัจจุบันเข้าใจว่ายังมีเหลืออยู่แต่ที่มองโกเลีย

Next >>