Please wait...

<< Back

ราชวงศ์ถัง

(น.91) ดังที่กล่าวแล้วว่าประเทศจีนสมัยราชวงศ์ถังมีความสัมพันธ์กับแคว้นต่าง ๆ กว่า 300 แคว้น ฉะนั้นพอจักรพรรดิถังเกาจงสวรรคต จึงมีผู้แทนจากประเทศต่าง ๆ ประมาณ 60 ประเทศมาร่วมพิธีพระศพ และพระนางอู่เจ๋อเทียนได้สั่งให้แกะหินเอาไว้ บางชาติก็ไม่มีจารึกอะไรไว้ แต่บางชาติมีจารึกชื่อประเทศ เช่น ชาติจากเอเชียกลาง อัฟกานิสถาน เป็นเมืองที่มีการคมนาคมสะดวกที่สุดในสมัยนั้น พุทธศาสนาในจีนอาจจะเข้ามาทางนี้ด้วยทางหนึ่ง ที่อัฟกานิสถานก็มีถ้ำแกะสลักเป็นรูปพระเช่นเดียวกัน

(น.93) จารึกสรรเสริญพระนางอู่เจ๋อเทียน และถังเกาจง เรื่องพระนางอู่เจ๋อเทียนนี้มีทั้งคนรักมากเกลียดมาก คนบางคนเขาบอกว่าพระนางทำประโยชน์แก่บ้านเมืองหลายอย่าง แต่ก็เสียตรงที่มีความรุนแรงในการกำจัดผู้ที่ขัดแย้ง จารึกสรรเสริญหลักนี้ผู้เขียนคือจักรพรรดิถังจงจงลูกชาย

(น.94) ภาพวาดชีวิตความเป็นอยู่สมัยถังในสวน เขาให้สังเกตคนว่าต้นราชวงศ์ถังคนจะผอม ส่วนถังตอนกลางที่รุ่งเรืองที่สุดนั้นคนจะอ้วน ในเมื่ออ้วน ๆ

(น.95) กันทั้งนั้น ความงามในอุดมคติก็เลยต้องเป็นความงามอย่างอ้วน ๆ เรียกว่าสวยท้วมคงจะดีกว่า อีกอย่างหนึ่งเล่ากันว่านางหยางกุ้ยเฟย พระสนมคนโปรดของพระเจ้าถังเสวียนจงเป็นคนท้วม (หรือจะอ้วนเลยก็ไม่ทราบ) จึงทรงกำหนดว่าภาพเขียนทุก ๆ ภาพต้องอ้วน ข้อนี้เรียกว่าเป็นพระราชนิยม

(น.105) ระบำปิงอู่ เป็นระบำอ่อนช้อยตามแบบราชวงศ์ถัง แสดงความยินดีของชาวนาในการเก็บเกี่ยว

(น.106) ระบำต้าหนั่ว การเต้นแสดงความเข้มแข็ง ระบำแม่มดสมัยฮั่นและถัง เพื่อไล่ผีปีศาจโรคระบาด เพื่อความสวัสดีมีชัย ใส่หน้ากาก

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 110,120,122

(น.110) กำแพงเมืองที่เห็นเป็นของราชวงศ์หมิงแต่มีรากฐานราชวงศ์ถัง ผ่านวังซิ่งชิงกงของพระเจ้าถังเสวียนจงหรือหมิงหวงรัชกาลที่ 7 ของราชวงศ์ถัง ขณะนี้ใช้เป็นสวนสาธารณะ หมิงหวงโปรดกีฬาตีคลี โปรดการดนตรี มีความสามารถหลายอย่าง ยุคนั้นราชวงศ์ถังรุ่งเรืองมาก ภายหลังทรงหลงใหลพระสนมหยางกุ้ยเฟย (ที่กล่าวถังหลายครั้งแล้ว) พระสนมจึงเป็นคนมีอิทธิพลมากในวงราชการ ใครอยากได้อะไรก็ต้องไปหาเธอ พวกกวีบางคนเป็นพวกมีอุดมคติไม่พอใจ ฉะนั้นจึงไม่ยอมอยู่ในวัง ออกไปเร่ร่อนแต่งบทกวี ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่จะไปสู่ความเสื่อมนี้ กวีหลายคนเห็นความขัดแย้งในสังคมว่าในวังมีอาหารอุดมสมบูรณ์ แต่ในถนนมีคนตาย สังคมซบเซา ก็แต่งบทกวีบรรยายไว้ แต่บทกวีเหล่านี้ก็ไม่ได้เตือนใจจักรพรรดิตอนนั้นเลย ให้ดูบทกวีที่ตู้ฝู่เขียนตอนไปสุสานของพระราชบิดาพระเจ้าหมิงหวง บทกวีบทยาวของไป๋จู่อี้ เรื่องเพลงแห่งความแค้นอันยาวนาน ฉางเหิ้นเกอเป็นบทที่บรรยายความเจริญรุ่งเรือง ความงามของพระสนมหยาง และพระราชวัง ภายหลังเมื่อเกิดการกบฏขึ้น ทุกสิ่งทุกอย่างเหลือเป็นเพียงฝุ่นธุลี กวีเขียนได้ลึกซึ้งกินใจ แสดงถึงธรรมะของโลกที่ทุกอย่างมีการเกิด เสื่อมสลาย และแตกดับไปเป็นธรรมดา

(น.120) วัดที่นี่สร้างขึ้นในค.ศ. 684 เพื่อเป็นที่ทำพิธี 100 วัน พระบรมศพพระจักรพรรดิถังเกาจง ชื่อว่าวัดเซี่ยนฟู่ หมายถึงวัดสำหรับทำพิธีบูชาเพื่อให้ความสุข ตอนนั้นพระจักรพรรดิถังจงจงยังครองราชย์อยู่ครองได้ไม่นานจักรพรรดิอู่เจ๋อเทียนพระมารดาก็ขึ้นครองแทน และให้วัดนี้เป็นวัดหลวง สำหรับเจดีย์ห่านฟ้าเล็กเป็นของหลวงจีนอี้จิงซึ่งไปจาริกแสวงบุญและไปสืบหาพระคัมภีร์ที่อินเดีย ในตอนนั้นพระถังซำจั๋งกลับมาแล้ว หลวงจีน

(น.121) อี้จิงไปลงเรือที่กวางตุ้ง ใน ค.ศ. 671 เดินทางผ่านมะละกาไปอินเดีย เรียนอยู่ทีอินเดียเป็นเวลาถึง 25 ปี แสดงให้เห็นว่าสมัยราชวงศ์ถังน่าจะมีเส้นทางแพรไหมทั้งทางบกและทางทะเล บุคคลสำคัญคนหนึ่งที่เดินทางตามเส้นทางแพรไหมทางบกได้แก่ พระถังซำจั๋ง ส่วนผู้ที่เดินทางเรือที่สำคัญคือ หลวงจีนอี้จิง เมื่อท่านกลับมาถึงประเทศจีนใน ค.ศ. 695 ท่านได้เดินทางไปที่ลั่วหยาง ขณะนั้นพระจักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียนประทับอยู่ลั่วหยาง ไปรับพระอี้จิงด้วยพระองค์เอง พระอี้จิงได้ตามเสด็จกลับมาเมืองฉางอานเพื่อแปลคัมภีร์ในวัดนี้ เมื่อ ค.ศ. 705 จักรพรรดิอู่เจ๋อเทียนสวรรคต จักรพรรดิจงจงได้ขึ้นครองราชย์อีกครั้ง หลวงจีนอี้จิงแปลคัมภีร์ไปได้ 56 ม้วน 230 เล่ม ถึง ค.ศ. 707 จึงได้สร้างเจดีย์ ใช้เวลาก่อสร้าง 2 ปี การก่อสร้างเจดีย์ห่านฟ้าเล็กใช้วัสดุคล้ายคลึงกับเจดีย์ห่านฟ้าใหญ่ของพระถังซำจั๋ง แต่รูปแบบต่างกัน และการก่อสร้างเจดีย์ห่านฟ้าเล็กทำอย่างประณีตกว่า
เจดีย์ห่านฟ้าเล็กชำรุด เพราะมีแผ่นดินไหวบ่อยครั้ง
1. สมัยราชวงศ์หมิง ค.ศ. 1487 แผ่นดินไหว ระดับ 6 (ทราบได้อย่างไร) แผ่นดินไหวครั้งนี้ทำให้เกิดรอยร้าวตรงกลาง
2. ค.ศ. 1521 แผ่นดินไหวอีกครั้ง รอยร้าวที่มีอยู่เลยปิดสนิทไปเองโดยธรรมชาติ ทำให้มีการเล่าลือกันในหมู่ประชาชนว่าเทวดามาช่วยปิด
3. ค.ศ. 1556 แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ ระดับ 8 ยอดเจดีย์พังลงมา เจดีย์นี้จึงไม่มียอด ไม่ได้บูรณะมา 400 ปีแล้ว น้ำฝนไหลมาตามช่อง ช่องจึงโตขึ้นจนเกือบเหมือนช่องหน้าต่าง สมัยนี้ได้มีการสำรวจดู ปรากฏว่าเจดีย์นี้ไม่มีการเอียงข้าง ยังตรงดี ๆ อยู่ ตามที่นักโบราณคดีสำรวจอิฐ บอกว่า 99% เป็นของสมัยราชวงศ์

(น.122) ถัง ในรอยต่อใช้สอด้วยดินเหลืองอย่างละเอียด ไม่ได้ผสมอย่างอื่น แสดงว่าคนโบราณวางโครงการอย่างละเอียด ทำให้เจดีย์นี้อยู่ได้พันกว่าปี

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 136-137,152-156

(น.136) ราชวงศ์สุย (ค.ศ. 581 – 618) ซึ่งยึดอำนาจจากราชวงศ์โจวภาคเหนือ และราชวงศ์ฉินในภาคใต้ได้ ราชวงศ์ถัง (ค.ศ. 618 – 907) แสดงหีบใส่พระธาตุซึ่งมี 3 ชั้น พระพุทธรูปสมัยสุยและสมัยถังหน้าตาเหมือนคนจีน (แบบอ้วน ๆ ) ส่วนพระพุทธรูปสมัยราชวงศ์ฮั่นยังหน้าตามีเค้าอินเดีย

(น.137) เครื่องเคลือบสมัยราชวงศ์ถังเป็นเคลือบ 3 สี รูปทวารบาลเป็นสัตว์ประหลาดสำหรับป้องกันภูตผีปิศาจ

(น.152) สมัยราชวงศ์ฮั่นเป็นช่วงที่บุกเบิกการติดต่อค้าขายกับตะวันตก ก็มีเส้นทางที่จะเรียกว่าเส้นทางแพรไหม เส้นทางสมัยฮั่นต่างจากยุคหลัง คือ มี 3 เส้น ดังนี้
1. เส้นที่จะเรียกว่าเป็นเส้นทุ่งหญ้า เดินทางจากฉางอาน (ซีอาน) ข้ามแม่น้ำหวงเหอ ผ่านมองโกเลียใน มองโกเลียนอก เข้าไซบีเรีย รัสเซีย ไปยุโรป
2. เส้นทางทะเลทราย มี 2 เส้น เส้นเหนือ และ เส้นใต้

(น.153)
เส้นเหนือจากซีอานไปตุนหวง โหลวหลาน คอร์ลา คูเชอ อักซู ข่าชือ เฟอร์กานา ซามาร์คาน แล้วต่อไปอัฟกานิสถาน และอิหร่าน เส้นใต้จากตุนหวง เฉี่ยม่อ เหอเถียน ยาร์คาน บรรจบกับทางแรกที่ข่าชือ หรือจะไปต่อทาชเคอร์คานก็ได้ แล้วไปต่อแบกเทรียในอัฟกานิสถานปัจจุบัน ออกอิหร่านไปริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ยังมีเส้นทางอื่นอีกหลายเส้น แต่พูดเฉพาะเส้นทางหลัก ๆ ที่รู้จักกันดี พอถึงสมัยราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถัง เส้นทางหลักจะเปลี่ยนแปลงไปบ้าง อาจจะเป็นเพราะมีการติดต่อกันมากขึ้น สมัยราชวงศ์ถังอาจจะเรียกได้ว่าเป็นยุคทองของอารยธรรมจีนสมัยโบราณ คนจึงรู้จักกันมาก เมื่อพูดถึงเส้นทางแพรไหมก็มักจะคิดถึงเส้นทางสมัยราชวงศ์ถัง ในสมัยราชวงศ์ใต้และเหนือซึ่งเป็นยุคที่แตกแยกกันเป็นก๊กเป็นเหล่าหลายแคว้นหลายราชวงศ์ ก่อนที่จะเป็นปึกแผ่นในราชวงศ์สุย หลวงจีนฟาเซียนได้เดินทางไปตะวันตกเพื่อสืบหาพระพุทธศาสนาในอินเดีย ออกจากจีนใน ค.ศ. 399 ตามทางสายใต้ ข้ามภูเขาฮินดูกูชไปอินเดีย และเดินทางกลับจีนทางทะเลใน ค.ศ. 414 สมัยราชวงศ์ถังคนที่มีชื่อเสียงที่สุดได้แก่พระถังซำจั๋ง ซึ่งเดินทางไปอินเดียใน ค.ศ. 629 ท่านผู้ที่มีความมุ่งมั่นในการที่จะศึกษาพระพุทธศาสนา ถ้าจะศึกษาให้ถ่องแท้ก็ต้องอ่านคัมภีร์เดิม ประเทศอินเดียเป็นแหล่งกำเนิดพุทธศาสนา ฉะนั้นต้องไปให้ถึงที่อินเดียจึงจะแก้ข้อสงสัยในเรื่องคัมภีร์พุทธศาสนาได้ ในช่วงนั้นทางการกำหนดว่าใครจะออกนอกประเทศจะต้องขออนุญาตคณะของพระถังซำจั๋ง (มีหลายองค์) ขอพระราชทานพระบรมราชา

(น.154) นุญาตจากพระเจ้าถังไท่จง (มีพระนามเดิมว่าหลี่ซื่อหมิ่น) แต่พระเจ้าถังไท่จงไม่ทรงอนุญาต เพราะว่าในช่วงนั้นเพิ่งจะตั้งราชวงศ์ยังไม่มีความมั่นคง พระสงฆ์องค์อื่นก็เลิกล้มความตั้งใจ เหลือแต่พระถังซำจั๋งเท่านั้นที่ยังมีความคิดอยู่ ใช้เวลาที่คอยเรียนภาษาอินเดีย ขณะนั้นที่ฉางอานเกิดทุพภิกขภัย จักรพรรดิมีพระราชบัญชาให้ประชาชนไปที่อื่นที่อุดมสมบูรณ์ พระถังซำจั๋งเลยถือโอกาสเดินทางไปตะวันตก ท่านเดินทางผ่านหลานโจวไปถึง เหลียงโจว (ปัจจุบันเรียกอู่เว่ย) พวกขุนนางที่อยู่ที่นั่นจะบังคับให้กลับไป ท่านก็ไม่ยอม จึงหนีออกไป ขุนนางให้นักรบไล่ตาม พอดีพระสงฆ์ท้องถิ่นที่เลื่อมใสท่านจึงส่งลูกศิษย์ตามไปส่งอย่างลับ ๆ คณะสงฆ์นอนกลางวันเดินทางกลางคืน เพราะไม่กล้าปรากฏตัว จนถึงกานโจว (จางเย่) ข้าราชการที่นั่นเป็นพุทธศาสนิกชนจึงอำนวยความสะดวกถวาย ในการเดินทางผ่านหอไฟรักษาการณ์ต่าง ๆ (นอกเขตตุนหวง) ต้องเสี่ยงกับการที่ขุนนางประจำหอจะไม่เห็นด้วยกับการเดินทาง แต่โชคดีที่ทุกคนเลื่อมใสท่าน จากนั้นรอนแรมไปในทะเลทรายที่มีแต่หัวกะโหลกคนตายกับขี้ม้าเป็นเครื่องบอกทางสู่ทิศตะวันตก เดินทางไปร้อยลี้ไม่พบน้ำเป็นเวลา 4 คืน 5 วัน เดินทางไปร้อยลี้ (แถว ๆ ฮามี) กลางวันลมร้อน พัดทรายเข้าตา กลางคืนมีแต่แสงเรืองแห่งฟอสฟอรัส ในที่สุดก็ล้มลงทั้งคนทั้งม้า จนมีลมพัดจึงฟื้น ทันใดนั้นม้าพาเดินไปที่บ่อน้ำ ท่านได้ดื่มน้ำบรรเทาความกระหายและเติมใส่ถุงหนัง เดินทางอีก 2 วันจึงผ่านทะเลทรายไปเมืองอีอู่หรือฮามี กษัตริย์เมืองนี้ปฏิบัติต่อพระถังซำจั๋งเป็นอย่างดี ท่านจึงพักอยู่ 10 วัน และเดินทางต่อไปถึงเมืองเกาชาง (เป็นเมืองโบราณ ปัจจุบันอยู่ในเขตเมืองทู่หลู่ฟัน) กษัตริย์เมืองเกาชางเคารพท่านอย่างจริงใจ จึงไม่อยากให้ท่านจากไป ท่านรู้สึกเกรงใจแต่ก็จำเป็นจะต้องไปให้บรรลุจุดหมายจึงใช้วิธีอดข้าว กษัตริย์เกาชางเห็นความเด็ดเดี่ยวจึงยอมให้ท่านไป โดย

(น.155) ขอให้อยู่สอนคัมภีร์อีกสักเดือน เมื่อถึงที่หมายกลับมาแล้วขอให้พักที่เกาชางสักสามปี พระถังซำจั๋งก็รับคำ จากเกาชางเดินทางไปทางตะวันตกตามเส้นทางแพรไหมเส้นเหนือถึงเมืองคูเชอ จนถึงเขตที่ราบสูงปามีร์ เข้าทัชเคนท์ ข้ามไปอินเดีย ขากลับ (ค.ศ. 645) ไม่ได้แวะเกาชางเพราะได้ตกเป็นของทางราชการจีนแล้ว จึงไม่ต้องปฏิบัติตามสัญญา (กลับทางเส้นทางสายใต้ กาชการ์ ยาร์คาน เหอเถียน) เรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในการสนทนากับนักวิชาการ และไม่ค่อยเข้ากับเรื่องตอนนี้สักเท่าไรนัก แต่ข้าพเจ้าอยากใส่ลงไปเพราะข้าพเจ้าชอบพระถังซำจั๋งมาก จริง ๆ แล้วเรื่องที่ข้าพเจ้าทราบมามีรายละเอียดยาวกว่านี้อีก แต่ว่าเกรงจะนอกเรื่องนานเกินไป ถ้าใครสนใจเรื่องพระถังซำจั๋งก็ขอเชิญอ่านไซอิ๋ว ซึ่งจะพูดถึงเมืองต่าง ๆ ที่พระถังซำจั๋งเดินทางไปอย่างละเอียด (อาจารย์สารสินแนะนำ) ข้าพเจ้าอ่านตั้งแต่อายุ 7 – 8 ขวบ ลืมไปหมดแล้ว เส้นทางแพรไหมสมัยถังนี้เปลี่ยนแปลงไป เส้นทางสายทุ่งหญ้าหายไป ซึ่งอาจจะเป็นเพราะพวกฉยุงหนูย้ายถิ่นไป เส้นทางเดินทางนั้นจะต้องมีการค้าขายตลอดทาง ฉยุงหนูเป็นผู้ร้าย แต่จะรบกันตลอดก็เป็นไปไม่ได้ คงต้องค้าขายกันไปบ้าง นี่ก็เป็นทฤษฎีหนึ่ง หรือว่าเส้นทางอื่นสะดวกกว่า เส้นทางแพรไหมสายสำคัญในสมัยราชวงศ์ถังมี 3 ทาง ยึดตามภูเขาสำคัญคือ
1. เทียนซานเป่ยลู่ คือเส้นทางเหนือของเทือกเขาเทียนซาน ผ่านเมืองสำคัญคือเมื่อไปถึงอานซีแล้วจะแยกขึ้นทางฮามี อู่หลู่มู่ฉีหรืออุรุมชีเข้ารัสเซียทางทัชเคนท์ ซามาร์คาน

(น.156)
2. เทียนซานหนานลู่ คือเส้นทางใต้ของเทือกเขาเทียนซาน ถึงอานซีแล้วจะไปต่อที่ทู่หลู่ฟัน คอร์ลา (คู่เอ๋อเล่อ) คูเชอ ไป้เฉิง อาเคอซู (อักซู) ปาฉู่ ข่าชือ ต่อไปเฟอร์กานา ซามาร์คาน บรรจบกับทางแรก
3. คุนลุ้นเป่ยลู่ หรือจะเรียกว่ากู่หนานเต้า คือเส้นทางเหนือภูเขาคุนลุ้น คือจากอานซีไปตุนหวง โหลวหลาน ทะเลสาบลบนอร์ หมี่หลาน รั่วเจียง เฉี่ยม่อ (ชาร์ชาน) เหอเถียน ยาร์คาน แล้วบรรจบกับสายที่สองที่เมืองข่าชือหรือกาชการ์ ยังมีเส้นทางอื่นอีกแล้วแต่จะลัดไป เมืองเหล่านี้ส่วนใหญ่มีร่องรอยทางโบราณคดีเหลืออยู่ แต่ละเมืองมีชื่อกันคนละหลาย ๆ ชื่อ ได้แก่ชื่อ สมัยใหม่ที่จีนเรียก ชื่อที่ฝรั่งเรียกตามภาษาคนกลุ่มน้อย เช่น ภาษาเตอร์กหรือมองโกล ข้าพเจ้าจะพยายามรวบรวมชื่อพวกนี้ใส่ไว้ในภาคผนวก ตอนนี้ขอผ่านไปก่อน

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 212

(น.212) นิทานเรื่องซิยิ่นกุ้ยปราบตะวันตก ในรัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์ถัง อาหารที่ติดมาเป็นเสบียงไม่เพียงพอ ต้องขุดรากหญ้ามากิน หญ้าชนิดนี้เรียกว่าซั่วหยวน ภายหลังจึงตั้งเป็นอำเภอซั่วหยวน แถบนี้แต่โบราณเป็นสนามรบ จีงมีสุสานอยู่มากมาย เส้นทางที่จะไปถ้ำโมเกาเป็นสถานที่ที่ทุกคนจะต้องช่วงชิง ในสมัยฮั่นและสมัยถังถ้าควบคุมบริเวณนี้ได้เมืองซีอานก็ปลอดภัย ถ้าชนชาติกลุ่มน้อยควบคุมได้ตอนไหนก็ต้องเดือดร้อนกัน

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 225-226,232,249

(น.225) พระอมิตาภะ ในคัมภีร์สุขาวตีวยูหะก็ได้ (ข้าพเจ้าคิดเอง) ภาพพระพุทธเจ้าประจำ 4 ทิศ
ถ้ำที่ 130 มีพระพุทธรูปถังปางมารวิชัย สร้างขึ้นในปีที่ 7 ของรัชกาลที่ 7 (ถังเสวียนจง) พระพุทธรูปนี้ไม่ได้ซ่อมแซม นอกจากที่พระหัตถ์นิดหน่อย ข้างๆ เขียนรูปพระโพธิสัตว์ ราชวงศ์ถัง (หน้าดำ) สูงประมาณ 10 เมตร ถือว่าเป็นภาพฝาผนังที่สูงที่สุด รัศมีของพระพุทธรูปเป็นลายสมัยซีเซี่ย อาจารย์ต้วนเล่าว่าในตอนแรกพระพุทธรูปองค์นี้ปิดทองทั้งองค์ แต่ถึงราชวงศ์ชิงมีขโมยมาขโมยทองไป สังเกตว่าพระพุทธรูปในสมัยราชวงศ์ถังจะแสดงความอุดมสมบูรณ์ แข็งแรง และสง่างาม
ถ้ำที่ 220 ดูนายช่างกำลังลอกภาพ ถ้ำนี้สร้างในปีที่ 16 แห่งรัชกาลพระเจ้าถังไท่จง
ถ้ำที่ 217 เป็นถ้ำราชวงศ์ถังในสมัยที่เจริญที่สุด การเขียนลายละเอียดมาก มีสีมากขึ้น แสดงสวรรค์ในพุทธศาสนา ตามคัมภีร์ฝ่าหัวจิง

(น.226) (สัทธรรมปุณฑริก?) มีใจความว่าพระพุทธเจ้าทรงเกื้อกูลประชาชนทั่วทั้งปฐพี เบิกลู่ทางให้สัตว์โลกทั้งปวงให้ล่วงพ้นภัยในวัฏสังสาร ภาพที่เขียนประกอบเป็นภาพผู้ที่เลื่อมใสในพุทธศาสนาขอคัมภีร์ภาพพุทธประวัติตอนเสด็จกลับกรุงกบิลพัสดุ์ ข้อที่ควรสังเกตคือการเขียนรูปพระได้อย่างมีชีวิตชีวา แฝงลักษณะของคนจีนไว้ ออกมาข้างนอกเพื่อเดินลงมาชั้นล่าง อาจารย์ต้วนอธิบายว่าถ้ำนี้สมัยราชวงศ์ถังทำเป็น 3 ชั้น สมัยอู่ใต้ (ห้าราชวงศ์) เป็น 5 ชั้น ราชวงศ์ชิง เพิ่มเป็น 9 ชั้น
ถ้ำที่ 96 เป็นถ้ำพระพุทธรูปที่ว่าสูงเป็นที่ 4 อนุญาตให้ประชาชนเข้าบูชาได้ แต่เดิมไม่อนุญาต คนก็โยนเงินบริจาคเอาไว้ แล้วก็มีคนมาเก็บ ดูไม่เข้าที ก็เลยตั้งตู้เผื่อจะได้เงินไปบูรณะ
ถ้ำที่ 254 สมัยก่อนราชวงศ์ถัง มีพระพุทธรูปสมัยราชวงศ์เป่ยเว่ย สร้างประมาณในช่วง ค.ศ. 439-534 ประทับขัดสมาธิหลวมๆ หรือห้อยพระบาท

(น.232) ถ้ำที่ 017 ถ้ำนี้เป็นที่เก็บคัมภีร์และเอกสารต่างๆ เป็นที่เร้นลับไม่มีใครทราบ พระลัทธิเต๋ารูปหนึ่งชื่อหวางเต้าซือ มาบำเพ็ญพรตอยู่ที่นี้ วันหนึ่ง (ปรามาณ ค.ศ. 1900) ทรายก็ร่วงลงมา หวางเต้าซือจึงเรียกพวกลูกน้องให้มาช่วยกันขุดทรายออกไป ก็ได้พบประตูเปิดเข้าไปเป็นห้องเต็มไปด้วยคัมภีร์และเอกสาร ผ้าไหมและภาพวาดอยู่เต็มถ้ำ เอาผ้ามัดไว้ เป็นของสมัยราชวงศ์ถัง พวกภาพวาดมี 800 กว่าชิ้น มีคัมภีร์และเอกสารประมาณ 4-5 หมื่นเล่ม ได้ความว่าฝรั่งเช่นเซอร์ออเรล สไตน์มาซื้อไปถูกๆ ก็ตั้งแยะ ที่ยังคงเหลือที่จีนเก็บไว้ที่หอสมุดแห่งชาติปักกิ่งประมาณ 10,000 กว่าเล่ม เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ประเพณี วรรณคดี ศิลปะ คณิตศาสตร์ การแพทย์ เศรษฐกิจ ฯลฯ ข้างในห้องมีรูปปั้นพระหงเปี้ยน อยู่ในสมัยปลายราชวงศ์ถัง รับหน้าที่เป็นพระที่ควบคุมฉนวนเหอซี เมื่อมรณภาพแล้วลูกศิษย์จึงสร้างรูปปั้นนี้ขึ้น จารึกประวัติที่ฝาผนังมีรูปต้นโพธิ์ 2 ต้น มีกระเป๋าคัมภีร์แขวนไว้ (กระเป๋าคัมภีร์ดูยังกับกระเป๋าถือสมัยใหม่) มีลูกศิษย์ถือผ้ามือหนึ่ง อีกมือถือไม้เท้า แม่ชีถือพัดบังแดดบังลม ภาพสมัยถังตอนปลายใช้วิธีเขียนเส้นง่ายๆ มีชีวิตชีวา

(น.249) ในคริสต์ศตวรรษที่ 8 พวกทิเบตยึดอำนาจในตุนหวงพักหนึ่ง กองทัพจีนยึดคืนในสมัยราชวงศ์ถังในคริสต์ศตวรรษที่ 9 ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 10 พวกอุยกูร์ (บรรพบุรุษของเววูเอ๋อร์) ครองอำนาจในแคว้นซาโจว (ตุนหวง) มีการแต่งงานระหว่างตระกูลขุนนางจีนที่ตุนหวงกับตระกูลกษัตริย์เหอเถียน คริสต์ศตวรรษที่ 11 ตกอยู่ใต้อิทธิพลอาณาจักรซีเซี่ย พอคริสต์ศตวรรษที่ 13 เป็นของอาณาจักรมองโกล

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 261

(น.261) เมืองโบราณเกาชาง อยู่ห่างทู่หลู่ฟันไปทางตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 47 ก.ม. สร้างขึ้นประมาณศตวรรษที่ 2 ก่อนคริสตกาล เป็นศูนย์รวมชาวฮั่น (จีน) ในซินเกียงเคยเป็นค่ายทหาร ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 7 รับพุทธศาสนา ต่อมาเมื่อพระถังซำจั๋งเดินทางไปอินเดียเพื่อหาคัมภีร์ได้เดินทางผ่านตุนหวง ฮามี (สมัยนั้นเรียกอีอู่) และได้มาถึงเมืองนี้ หยุดสอนคัมภีร์แก่กษัตริย์พักหนึ่งแล้วจึงเดินทางต่อไป โดยมีสัญญาว่าถ้าไปได้คัมภีร์เมืองอินเดียกลับมาแล้วจะต้องมาสอนที่เกาชาง 3 ปี แต่ปรากฏว่าขากลับได้ข่าวว่าพระเจ้าถังไถ่จงมาตีเมืองเกาชางกลายเป็นส่วนหนึ่งของราชวงศ์ถังแล้ว ก็ถือว่าไม่ต้องกระทำตามสัญญา และตอนขากลับก็กลับทางเส้นทางสายใต้ ผ่านเมืองเหอเถียน

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 315

(น.315) ตามนิทานปรัมปราเล่ามาว่าชายคนหนึ่งแต่งงานกับหมาป่าศัตรูได้ฆ่าชายผู้นั้นเสียชีวิตไป เหลือแต่หมาป่าซึ่งออกลูกมาเป็นคน 10 คน เป็นต้นกำเนิดของพวกเตอร์ก ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 6 มาอยู่บริเวณเทือกเขาอัลไต คริสต์ศตวรรษที่ 8 เกิดเป็นอาณาจักรเววูเอ๋อร์ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับจีนราชวงศ์ถังในช่วงที่มีกบฏอันลูชาน (ค.ศ. 755 – 763) แต่ถูกเผ่าเคอร์กิซตีออกไปตั้งอาณาจักรอยู่ที่ตุนหวงและจางเย่กับแถว ๆ เทียนซานควบคุมเส้นทางการค้า แต่เดิมนับถือเจ้าถือผี ต่อมารับนับถือมานีเคียนพุทธ และถืออิสลาม ในคริสต์ศตวรรษที่ 10 และได้ให้อิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมแก่พวกมองโกลอย่างมาก แม้แต่ในด้านตัวอักษร

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 367,369

(น.367) 12. ราชวงศ์ถัง ค.ศ. 618 – 907

(น.369) รายพระนามพระจักรพรรดิที่กล่าวถึงใน “มุ่งไกลในรอยทราย” และปีที่ครองราชย์
ราชวงศ์ฉิน ฉินซื่อหวงตี้ (จิ๋นซีฮ่องเต้) เจ้าผู้ครองแคว้นฉิน ก่อน ค.ศ. 246 - 221 จักรพรรดิองค์แรกของราชวงศ์ฉินก่อน ค.ศ. 221 – 210
ราชวงศ์ฮั่น ฮั่นอู่ตี้ ก่อน ค.ศ. 140 – 87
ราชวงศ์ถัง
ถังไท่จง ค.ศ. 626 – 649
ถังเกาจง ค.ศ. 649 – ปลาย ค.ศ. 683
ถังจงจง ค.ศ. 684 ครองราชย์ได้เพียงเดือนเศษก็ถูกพระนางอู่เจ๋อเทียน(บูเช็กเทียน) ซึ่งเป็นพระราชมารดาปลดออกจากตำแหน่ง
ถังรุ่ยจง ค.ศ. 684 – 690 เป็นจักรพรรดิแต่ในพระนามอำนาจการปกครองอยู่ที่พระนางอู่เจ๋อเทียน
จักรพรรดินีอู่เจ๋อเทียน ค.ศ. 690 – 705 (ตั้งนามราชวงศ์ว่าโจว)
ถังจงจง ค.ศ. 705 – 707
พระมเหสีของจักรพรรดิถังจงจง และพระญาติของพระนาง (ตระกูลเว่ย) ยึดอำนาจการปกครองอยู่ 3 ปี ค.ศ. 707 – 710
ถังรุ่ยจง ค.ศ. 710 – 712
ถังเสวียนจง (หมิงหวง) ค.ศ. 712 – 756

ย่ำแดนมังกร
ย่ำแดนมังกร หน้า 145,150-152,162-163,180

(น.145) เฉิงตู เป็นเมืองเก่า มีกวีจำนวนมากเขียนบทกลอนพรรณนาเอาไว้ ยกตัวอย่าง มีกวีสมัยฮั่นชื่อ หยางฉยุง (เขียนถูกหรือเปล่าก็ไม่รู้) หลี่ไป๋ ไป๋จูอี้ ตู้ฝู่ กวีสมัยราชวงศ์ ถัง และ ซูตงโพ กวีสมัยซ้อง ที่ เฉิงตู (นครหลวงของมณฑลเสฉวน) ยังมีที่พักของ ตู้ฝู่ และ หลี่ไป๋ จีนมีหนังสือรวมบทกวีของกวีหลายสมัยโดยเฉพาะอย่างยิ่งราชวงศ์ถัง

(น.150) เมืองซีอานและสถานที่ต่างๆ ซึ่งข้าพเจ้าพยายามจดเอาไว้ อาจจะวิปลาสคลาดเคลื่อนอยู่บ้างก็ขออภัยเป็นครั้งที่ 2 เขาว่าเมืองซีอาน เคยเป็นเมืองหลวงของจีนมาหลายยุคหลายสมัย กว่าสองพันปีมาแล้ว จนถึงราชวงศ์ ถัง เคยมีจักรพรรดิอยู่ถึง 11 ราชวงศ์ มีซากเมืองโบราณสมัย โจว ฉิน ฮั่น ถัง และ เหม็ง เมืองปัจจุบันเป็นเมืองสมัย เหม็ง แต่ก่อนนี้เมือง ซีอาน เรียกกันว่า ฉางอัน หรือ เฉี่ยงอาน ในภาษาแต้จิ๋ว ต่อมาเปลี่ยนเป็นชื่อ ซีจิง ภายหลังที่ย้ายนครหลวงไป ปักกื่ง แล้วมีบางคนเรียกเมืองปักกิ่งว่าฉางอานด้วย ปัจจุบันนี้ซีอานเป็นเมืองสำคัญของจีนในตะวันตกเฉียงเหนือ เป็นศูนย์กลางการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม และการคมนาคมของมณฑล ส่านซี อุตสาหกรรมหลักของเมืองซี-อานคือการทอผ้า และอุตสาหกรรมเบาโดยทั่วไป เครื่องจักรมีอยู่บ้าง

(น.151) สุสานราชวงศ์ ถัง หรือสุสาน เฉียนหลง เป็นฮวงซุ้ยของจักรพรรดินี อู่เจ๋อเทียน หรือที่คนไทยเรียกว่า บู่เช็กเทียน และฮวงซุ้ยบุคคลอื่นๆ ทางจีนจะเปิดค้นคว้าสุสาน อู่เจ๋อเทียน เร็วๆ นี้ บริเวณฮวงซุ้ยมีศิลาจารึก รูปปั้นหิน มีฮวงซุ้ยใต้ดิน แห่งหนึ่งเปิดแล้ว ทางการจีนได้นำวัตถุที่พบแสดงในพิพิธภัณฑ์

(น.152) ประตูสันติภาพ พอดีเห็นเจดีย์ห่านอยู่แถวๆ นั้น คุณซุนหมิงเลยอดจะเล่าไม่ได้ทั้งๆ ที่พรุ่งนี้ก็จะได้ไปอยู่แล้ว ข้าพเจ้าเลยได้ฟังเรื่องล่วงหน้าว่า เจดีย์นั้นสร้างในราชวงศ์ ถัง ศตวรรษที่ 7 ผู้สร้างเจดีย์ 7 ชั้น สูง 46 เมตรนี้คือพระถังซำจั๋ง (เสวียนจ้าง) ผู้ที่เดินทางไปอินเดีย เพื่ออัญเชิญพระไตรปิฎกมาสู่ประเทศจีน เจดีย์เก่าสร้างในศตวรรษที่ 7 ผุพังไปแล้ว ที่เห็นในปัจจุบันสร้างในศตวรรษที่ 13 บูรณะเสร็จในศตวรรษที่ 16 พระถังซำจั๋งนี้ใครๆ ก็รู้จักเพราะเราชอบอ่านเรื่อง ไซอิ๋ว ที่เขาพิมพ์ออกมาเป็นเล่มเล็กๆ มีรูปเขียนภาษาไทยและจีน ดูเหมือนจะออกอาทิตย์ละเล่ม คนจีนในปัจจุบันนี้ยกย่องท่านในฐานะที่เป็นบุคคลที่มีบทบาทในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ตำนานอีกอย่างว่า พระถังซำจั๋งเห็นว่าที่อินเดียบริเวณที่เป็นอัฟกานิสถานปัจจุบันมีเจดีย์เช่นนี้ เมื่อเอาพระไตรปิฎกจากอินเดีย ก็ต้องสร้างเจดีย์ให้เหมือนกัน

(น.162) ตำนานเกี่ยวกับหวาชิงฉืออีกเรื่องหนึ่งว่า ในสมัยราชวงศ์ ถัง พระจักรพรรดิแห่งสมัยราชวงศ์ ถัง มีพระสนทคนหนึ่งชื่อ หยางกุ้ยเฟย ซึ่งเป็นพระสนมที่พระจักรพรรดิทรงรักมา ถึงกับสร้างที่ประทับบริเวณบ่อน้ำร้อนนี้เพื่อมาประทับแรมกับพระสนมในฤดูหนาว ครั้งเหล่าเสนาบดีพยายามจะเอาพระทัยพระจักรพรรดิ จึงเอาหยก

(น.163) ขนาดใหญ่แกะสลักเป็นรูปมังกร เอาไปใส่ไว้ในบ่อน้ำที่พระจักรพรรดิจะมาสรงน้ำกับพระสนม เมื่อจักรพรรดิมาถึงเห็นมังกรอยู่ในน้ำกระเพื่อมๆ ก็ตกพระทัยสะดุ้งกลัว เพราะคิดว่าเป็นมังกรเป็นๆ เลยสรงน้ำไม่ได้ จนเสนาบดีต้องมาเอามังกรหยกออก

(น.180) หวาชิงฉือ เป็นบ่อน้ำร้อนธรรมชาติ อยู่เชิงเขา หลีซาน นี้ อยู่ทางด้านตะวันออกของซีอานประมาณ 36 กิโลเมตร เริ่มใช้บ่อน้ำนี้ตั้วแต่สมัยราชวงศ์ ซีโจว (โจว ตะวันตก) ราชวงศ์ต่างๆ มี โจว ฉิน ฮั่น ถัง ต่างได้มาตั้งเมืองหลวงที่นี่ ราชวงศ์ ถัง ได้มาสร้างพระราชวังฤดูร้อนที่ใหญ่ที่สุด

(น.205) เจดีย์ห่านฟ้านั้นสมัยราชวงศ์ถังใช้เป็นสถานที่สอนพระไตรปิฎกซึ่งพระถังซำจั๋งนำมาจากอินเดีย เจดีย์นี้อยู่ในเขตวัดซึ่งพระเจ้าถังเกาจง เป็นผู้สร้าง ต้าสยุงเป่าเตี้ยน ซึ่งเป็นอาคาร มีพระพุทธรูป 2 องค์ และพระอรหันต์ 18 องค์ แล้วจึงไปที่เจดีย์ห่านฟ้า หรือ ต้าเอี้ยนถ่า ซึ่งสร้างเป็น 5 ชั้น สมัยจักรพรรดินี อู่เจ๋อเทียน เพิ่มเป็น 10 ชั้น ต่อมาเกิดสงคราม เจดีย์ได้รับความเสียหายสร้างขึ้นใหม่เป็น 7 ชั้น

(น.206) จากชั้นบนของหอ เราจะเห็นทิวทัศน์ของเมืองซีอาน แนวต้นไม้ซึ่งปลูกในสมัย ถัง ทางทิศตะวันออกมีสุสานของหลายราชวงศ์ และเห็นเจดีย์ห่านฟ้าเล็ก ซึ่งสร้างขึ้นเมื่อหลวงจีน อี้จิง ไปสืบพระศาสนาที่อินเดีย บนชั้นสูงของเจดีย์ห่านฟ้า บริเวณรอบๆ เขาจัดบริเวณไว้สวยงาม มีต้นไม้และพุ่มไม้ต่างๆ รอบนอกของเจดีย์มีจารึกที่พระเจ้าถังเกาจงเขียนชมเชยพระถังซำจั๋ง เบื้องบนเป็นรูปพระพุทธรูปประทับห้อยพระบาท ดูมีเค้าศิลปะอมราวดี บนทับหลังเหนือประตูก็มีภาพสลักบนหินเป็น

(น.212) รูปม้า 6 ตัวที่พระเจ้า ถังไท่จง เคยทรง (เหมือนที่ทำ postcard ที่ข้าพเจ้าซื้อฝากน้องเล็กเมื่อคืนนี้) มีประวัติว่าพระเจ้า ถังไท่จง เคยทรงม้าเหล่านี้ตั้งแต่ยังมิได้ครองราชย์ เมื่อครองราชย์แล้วโปรดฯ ให้สลักหินเป็นรูปม้าทั้ง 6 เขาบอกว่าม้าพวกนี้เป็นม้าของจีนจากมณฑณ ซิน เกียง และ มองโกเลีย ในม้าแต่ละตัวมีชื่อบอกไว้ เขาสลักเป็นทางทางต่างๆ ไม่เหมือนกัน มีตัวหนึ่งถูกลูกศรยิง ตามตู้มีพระพุทธรูป ดูเหมือนจะเป็นสมัยฮั่น ซึ่งเป็นระยะต้นๆ ที่จีนรับพุทธศาสนาจากอินเดีย ลักษณะพระพุทธรูปองค์นี้จึงมีเค้าคนอินเดีย หรือพระพุทธรูปอินเดียมากทีเดียว มาถึงสมัย ถัง พระพุทธรูปจะมีเค้าพระพักตร์กระเดียดไปทางจีนมากขึ้น

(น.213) อาคารเก็บศิลาจารึกหรือ ป่าจารึก (เปยหลิน) ป่าจารึกนี้เป็นที่รวบรวมศิลาจารึกทั้งหมดหลานสมัย ตั้งแต่สมัย ฮั่น ถัง ซ้อง เช่น บทเรียน 12 เล่ม (จารึก 12 แผ่น) ของสมัยโบราณเขาจะจารึกใส่หินและวางไว้ในห้องสมุด ให้นักเรียนไปคัดเอาเอง จีนรวบรวมหนังสือเรียนถึง 7 ครั้ง มาสมบูรณ์ที่สุดในสมัยราชวงศ์ ถัง มีตัวหนังสือถึง 6 แสน 5 หมื่นกว่าตัว ฐานของจารึกทำเป็นรูปเต่า ลายที่กระดองของเต่าแต่ละตัวทำไม่เหมือนกันเลย จีนถือว่าเต่าเป็นสัญลักษณ์ของความมีอายุยืน เขาเอาคนที่ลายมือสวยในราชวงศ์ ถัง เขียน ฉะนั้นคนที่จะฝึกหัดคัดลายมือ เขาจะถือลายมือในจารึกที่อยู่ในเปยหลินนี้เป็นหลัก แม้แต่ลายมือของท่านประธาน เหมาเจ๋อตง เขาก็ว่าเลียนแบบจากจารึกสมัยราชวงศ์ ฮั่น (เป็นลายมือหวัดที่ดีที่สุด) มีบางคนว่าสมัยจิ้น

เย็นสบายชายน้ำ
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 22-23

(น.22) มีถ้ำที่มีชื่อว่าเป็นสถานที่ตรัสรู้ของพระโพธิสัตว์ ภาษาจีนเขียนว่า หยวนจย๋วยเต้าฉ่าง คำว่า จย๋วย คือ การรู้แจ้งนั้นจะเกิดได้จากเหตุ 3 ประการ คือ จากสำนึกของตนเอง ประพจน์บอกว่าหมายถึงโยนิโสมนสิการในพุทธศาสนา ภาษาจีนเรียกว่า จื้อจย๋วย สำนึกจากภายนอก หรือที่ภาษาจีนเรียกว่า ทาจย๋วย ข้อนี้ประพจน์ว่าคือกัลยาณมิตร ที่ประเสริฐที่สุด (กุ้ยจย๋วย) มาจากการบำเพ็ญบารมี เรียกว่า ซิวสิง มาจากธรรมชาติคือ การตรัสรู้ธรรมะสูงสุด ทั้ง 3 ประการนี้รวมเรียกว่า หยวนจย๋วย

(น.23) ในถ้ำนั้น เป็นภาพพระโพธิสัตว์ อยู่ 2 ข้างพระพุทธเจ้า ข้างละ 6 องค์ รวมแล้วมี 12 องค์ แต่ละองค์มาถามธรรมะ พระพุทธเจ้าทรงเฉลยข้อสงสัย คำไขข้อธรรมะของพระพุทธองค์ รวมแล้วเป็นพระสูตร สันนิษฐานว่าเป็นอวตังสกสูตร ภาพในถ้ำนี้อยู่ในสภาพที่ดีมาก ถึงสีจะลอกไปบ้างแต่สภาพทั่วไปเรียกว่าดี 90% ศิลปะของถ้ำนี้เป็นแบบราชวงศ์ซ่ง ยังมีอิทธิพลของราชวงศ์ถังคือ อ้วนๆ หน้าปากถ้ำมีสิงโต ซึ่งถือเป็นสัตว์สวรรค์ในจินตนาการคือว่าจะเฝ้าสถานที่ประกอบพิธีศาสนา

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 76

(น.76) ลิง ในบริเวณนี้มีหินสลักอยู่ใต้น้ำหลายสมัย เริ่มตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ประมาณ 10 ปีน้ำจะลดพอที่จะมองเห็นหินสลักเหล่านี้ ทางการจีนกำลังคิดหาวิธีการสร้างโครงกระจกคลุมหินสลักเอาไว้ หาวิธีให้คนดำน้ำหรือทำเรือดำน้ำให้คนลงไปดูหินสลักได้ ฝ่ายจีนยืนยันว่าถ้าทำโครงการแล้วน้ำจะใสกว่านี้ บริเวณที่มีหินสลักมีระยะทางราว 2 กิโลเมตร มองเห็นปากแม่น้ำอูเจียง

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 177,179

(น.177) หอนกกระเรียนเหลือง
ไปที่ห้องหนึ่ง ซึ่งทำหอจำลองนกกระเรียนเหลืองในสมัยต่างๆ เล่าประวัติว่าหอนี้สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสามก๊กประมาณ ค.ศ. 223 ซุนกวนสร้างเป็นหอดูข้าศึก เขาเล่าเรื่องสามก๊กตอนเล่าปี่ตีกังตั๋ง เรื่องกวนอูฆ่าตัวตาย
สมัยราชวงศ์ถัง เป็นสถานที่ใหญ่โตหรูหรา มีหลายตึก
สมัยราชวงศ์ซ่ง ก็ใหญ่เหมือนราชวงศ์ถัง
สมัยราชวงศ์หยวน ใช้ในทางยุทธศาสตร์อย่างแท้จริงคือ เอาไว้ดูข้าศึก

(น.179) ฝาห้องติดลายมือเขียนต่างๆ มีบทประพันธ์ของนักปราชญ์สมัยราชวงศ์ถัง ใช้ตัวอักษร 246 ตัว รำลึกถึงการสร้างหอนี้ในสมัยราชวงศ์ถัง มีหนังสือที่เขียนเกี่ยวกับประวัติของหอนี้ไว้ด้วย

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 203

(น.203) บทกวีสมัยราชวงศ์ถังและราชวงศ์ซ่งเป็นคำสั้นๆ ที่สรุปสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในจีนได้ดีที่สุด เกี่ยวกับซานเสียนั้น หลี่ไป๋แต่งบทกวีมีชื่อเสียง หลี่ไป๋ยังได้ไปที่หอนกกระเรียนเหลือง ท่านท่องบทกวี ที่หอนกกระเรียนเหลืองส่งเมิ่งฮ่าวหรานไปกว่างหลิง

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 304-309

(น.304) พู่กัน (ปี่)
ไม่มีหลักฐานแน่นอนว่าชาวจีนเริ่มใช้พู่กันเมื่อใด ต้นกำเนิดของพู่กันนั้นเล่ากันไปต่าง ๆ ในสมัยราชวงศ์ถังมีพระเถระรูปหนึ่งเล่า

(น.305) นิทานต้นกำเนิดพู่กันไว้ว่า เทพเจ้าจุ้ยเซิ่งลอกหนังตนเองมาเป็นกระดาษ ใช้เลือดเป็นหมึก กระดูกมาทำพู่กัน อีกเรื่องกล่าวว่าเมื่อมีการประดิษฐ์ตัวอักษรน่าจะคิดทำพู่กันไว้เขียนด้วย หนังสือหวยหนานจื่อกล่าวถึงการนำขนกระต่ายมาทำพู่ของพู่กัน แต่มีหนังสืออีกเล่มหนึ่งกล่าวว่าเดิมนั้นปลายพู่กันเป็นไม้ไผ่ พู่กันสมัยแรก ๆ คงทำจากไม้ไผ่ เหลาปลายให้แหลมใช้จุ่มหมึกเขียนลงบนแผ่นไม้ไผ่ เมื่อเขียนผิดก็จะตัดไม้ไผ่ส่วนนั้นออก ดังนั้นตำแหน่งอาลักษณ์จดกระแสรับสั่งจึงเรียกในภาษาจีนว่า เตาปี่ลี่ แปลว่า ผู้ที่ต้องใช้มีด (ตัดไม้ไผ่) และพู่กัน ต่อมาสมัยราชวงศ์จิ้น เหมิงเถียนคิดทำพู่กันชนิดที่มีปลายเป็นขนกวางและขนแพะ พู่กันชนิดใหม่เป็นที่นิยมกันมาจนทุกวันนี้ พู่ของพู่กันนั้นนิยมใช้ขนแพะ ขนกระต่าย หรือขนกวาง มีผู้ใช้ขนสัตว์ชนิดอื่นบ้าง เช่น ขนชะมด ขนสุนัขจิ้งจอก ขนเสือ ขนเป็ด ขนห่าน ขนไก่ หนวดหนู ผมของเด็กอ่อน เป็นต้น ด้ามพู่กันนั้นนิยมใช้ไม้ไผ่ ถ้าจะให้มีราคาขึ้นก็ใช้งาช้าง นอแรด หยก หินคริสตัล หรือถ้าจะให้แปลก บางทีก็ใช้เปลือกผลน้ำเต้า ก้านสน พู่กันที่มีชื่อเสียงในสมัยราชวงศ์ถังและซ่งคือ พู่กันฝีมือจูเก๋อ เรียกกันว่า พู่กันจูเก๋อ ราชวงศ์หยวนมีพู่กันฝีมือจางจิ้นจงและเฝิงยิ่งเคอ ราชวงศ์หมิงมีพู่กันของลู่จี้เวิง จางเหวินกุ้ย และราชวงศ์ชิงมีพู่กันฝีมือซุนจือฟาและเฮ่อเหลียงชิง แหล่งผลิตพู่กันที่มีชื่อสมัยราชวงศ์ถังและซ่งคือ เมืองซวนเฉิง มณฑลอันฮุย สมัยราชวงศ์หยวนนิยมพู่กันที่ทำจากตำบลซ่านเหลียนสั่ว อำเภออู๋ซิ่ง มณฑลเจ้อเจียง เดิมอำเภอนี้เรียกว่า เมือง

Next >>