Please wait...

<< Back

หย่งเล่อ

จากหนังสือ

"ไอรัก"คืออะไร?
"ไอรัก"คืออะไร? หน้า 25

(น.25) พิพิธภัณฑ์มักจัดนิทรรศการพิเศษ มีงานวิจัยหลายอย่างที่พิมพ์เผยแพร่ ส่วนที่เราดูคือกำเนิดเมืองเทียนสิน ช่วงที่พระจักรพรรดิหย่งเล่อ ราชวงศ์หมิงเสด็จผ่านมา เห็นเมืองเทียนสินงดงาม จึงตั้งชื่อ “Tianjin” ซึ่งหมายถึงเมืองท่าของจักรพรรดิ ส่วนที่เกี่ยวกับบทบาทชาวต่างประเทศ มีภาพท่าเรือต้ากูโช่ว เริ่มมีปัญหาที่ชาวต่างประเทศนำฝิ่นมาขาย มาที่เทียนสินด้วย จนถึงตอนที่เมืองเทียนสินถูกกองกำลังต่างชาติ 8 ชาติยึดครอง หลังสงคราม

หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 205

(น.205) มีตู้เก็บเอกสาร ลายมือของบุคคลสำคัญ เมื่อเสียชีวิตแล้วครอบครัวหรือคนใกล้ชิดให้ห้องสมุด หนังสือชุดหย่งเล่อต้าเตี่ยน ซึ่งจัดทำขึ้นในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ แห่งราชวงศ์หมิง รวบรวมเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1408 เป็นประมวลหนังสือที่แยกหมวดหมู่ตามเนื้อเรื่อง นอกจากนั้นมีต้นฉบับลายมือของนักเขียนจีนมีชื่อ เช่น ปาจินที่เขียนนวนิยายเรื่อง บ้าน หลู่ซวิ่นเขียนเรื่องซานเว่ยซูอู เฉาอวี๋เขียนเรื่อง ฝนฟ้าคะนอง กัวมัวรั่วเขียนเรื่อง ชวีหยวน อัลบั้มส่วนตัวของนายกรัฐมนตรีโจวเอินไหลและหลิวเซ่าฉีตอนไปเยือนต่างประเทศ หนังสือส่วนตัวของท่านโจวเอินไหล มีหนังสือ Das Kapital ของ Karl Marx จดหมายของ Karl Marx หนังสือเรื่อง ประชาธิปไตยใหม่ของประธานเหมา หนังสือโบราณของตะวันตกสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 15 ห้องนี้ยังเก็บของโบราณ เช่น จารึกกระดองเต่า หนังสือเขียนบนไม้ไผ่สมัยราชวงศ์ฮั่นที่มาจากสุสานหม่าหวังตุย ไปที่ห้องอ่านหนังสือ มีพจนานุกรมศัพท์หมวดภาษาต่างประเทศเทียบภาษาจีน จักรพรรดิหงอู่โปรดเกล้าให้จัดทำ หลังการตั้งสำนักงานต่างประเทศ (ซื่ออี๋ก่วน) ใน ค.ศ. 1382 เพื่อเป็นแบบเรียนของพวกล่าม มีหลายภาษา เช่น มองโกล ไทย พม่า และอื่นๆ มีคำศัพท์เป็นหมวด เช่น ประตู หน้าต่าง ศาลา มีตัวอักษรและเสียงอ่าน พจนานุกรมนี้มีชื่อว่า หัวอี๋อี้อวี่ หนังสือ เชียนเจียซือ เป็นหนังสือรวมบทกวี 1,000 บทสมัยราชวงศ์ถังและซ่ง หลิวเค่อจวงเป็นผู้รวบรวมในสมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (ค.ศ. 1127-1279) แยกเป็นหมวดหมู่ เนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องทั่วๆ ไป ของเดิมคงจะสูญหายไปแล้ว ที่มีอยู่ในปัจจุบัน มีไม่กี่สิบบท และไม่ใช่ของหลิวเค่อจวงรวบรวม แต่ยังใช้ชื่อ เชียนเจียซือ เป็นหนังสือที่ชาวจีนใช้สอนลูกหลานให้ท่องจำบทกวีดีๆ ฉบับที่ดูนี้อายุ 500 กว่าปีช่วงกลางสมัยราชวงศ์หมิง เป็นหนังสือเขียนด้วยลายมือและมีภาพประกอบด้วย ผู้อำนวยการบอกว่าได้เคยทำสำเนาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแล้ว (แต่ฉันนึกไม่ออก)

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 175, 181

(น.175) คำว่า ชิงจิ้ง ที่เป็นชื่อสุเหร่านั้น หมายถึง การถือศีล ภาษาอาหรับเรียกสุเหร่านี้ว่า Ashab Mosque ตั้งตามชื่อเพื่อนพระมะหะหมัด สมัยราชวงศ์หมิง จักรพรรดิหย่งเล่อประกาศพระบรมราชโองการในรัชศกหย่งเล่อปีที่ 5 ตรงกับ ค.ศ. 1407 จารึกในหลักศิลามีความตอนหนึ่งว่าให้รักษาศาสนาอิสลามในจีน ไม่ว่าข้าราชการ ชาวบ้าน ทหาร ในพื้นที่ที่มีสุเหร่า ห้ามรังแกชาวอิสลาม ถ้ารังแกจะลงโทษ เข้าไปข้างในมีห้องละหมาด หันหน้าไปทางกรุงเมกกะ มีลักษณะศิลปะแบบจีน แต่ก่อนมีประวัติว่าเป็นศิลปะแบบอาหรับ แต่ชำรุดผุพังไปตามกาลเวลา ที่เห็นอยู่นี้ทำขึ้นสมัยจักรพรรดิเจียชิ่ง ราชวงศ์ชิง
(น.181) บริเวณสุสานมีแผ่นศิลาจารึกโบราณที่สำคัญอยู่ 5 แผ่น สมัยราชวงศ์หยวนและราชวงศ์หมิง เป็นภาษาอาหรับ แผ่นแรก ค.ศ. 1322 มีเนื้อหาเกี่ยวกับการบูรณะศาสนสถาน อีกแผ่นหนึ่ง ค.ศ. 1417 ปีที่ 15 ของจักรพรรดิหย่งเล่อ นายพลเจิ้งเหอได้มาคารวะสุสานนี้และได้ไปที่ต่างๆ หลายแห่ง มีการกล่าวถึงเมืองล่าถง เมืองถง เมืองหลี่เฉิง ทั้งหมดนี้เป็นชื่อของเมืองเฉวียนโจว คนอาหรับชื่อถังซง กล่าวถึงศิษย์พระมะหะหมัดที่พูดว่า “เราจะไปหาความรู้ จะไม่กลัวทางไกล” (ไปประเทศจีน) คริสต์ศตวรรษที่ 17 สมัยราชวงศ์ชิง มีจารึกกล่าวถึงข้าราชการชั้นสูงที่นับถือศาสนาอิสลามต้องมาคารวะที่นี่

ย่ำแดนมังกร
ย่ำแดนมังกร หน้า 28

(น.28) ตลาดอยู่แล้ว น่าจะมีการชักแนะเด็กให้เรียนสิ่งที่รัฐต้องการ ทุกคนจะได้มีงานทำให้มีประโยชน์ เช่นขณะนี้ในตลาดแรงงานกำลังขาดแคลนช่างฟิต ก็พยายามจัดสรรให้เด็กฝึกไปทางนั้น เขาบอกว่าเขาก็ทำอย่างนั้นอยู่แล้ว หลังจากนั้นเราไปที่ เทียนถาน หรือหอฟ้า อันเป็นที่ซึ่งจักรพรรดิตั้งแต่ราชวงศ์เหม็ง (หรือ หมิง) มากระทำพิธีพืชมงคลแบบจีนเพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์แก่รัฐ เมื่อไปถึงลมแรงมากจนต้องควักแว่นตาขึ้นมาใส่ปะทะผงต่างๆ ที่จะเข้าตาเอาไว้ก่อนอาคารแรกที่ไปเป็นอาคารกลมๆ ชื่อว่า ซิ่นเเหนียนเตี้ยน ผู้ดูแลบอกว่าสร้างเสร็จเมื่อ ค.ศ. 1420 ในรัชกาลพระจักรพรรดิหย่งเล่อ (ใช้เวลาสร้าง 14 ปี) หลังคา 3 ชั้น มุงด้วยกระเบื้องสีน้ำเงินสวยงามมาก สีน้ำเงินเป็นสีที่บ่งบอกความหมายถึงสวรรค์ เป็นสถานที่พำนักของเทพเจ้าหรือเรียกว่า เทียน (ถ้าเป็นพระราชวังหลังคาจะมุงด้วยกระเบื้องสีเหลืองซึ่งเป็นสีของกษัตริย์) อาคารนี้ถูกเผาในปี 1889 และได้บูรณะใหม่ให้เสร็จสิ้นใน ค.ศ. 1971 ภายในช่างใช้วิธีก่อสร้างอย่างไรก็ไม่ทราบ ทำให้มองเพดานสูงลิบ มีเสาสูงๆเป็นไม้ทั้งต้น เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณเมตรกว่า สูงเกือบ 20 เมตร ไม้ที่ใช้ทำเสานี้เห็นเขาบอกว่าภาษาจีนเรียกว่าไม้ หนานมู่ ไม่ทราบว่าภาษาไทยจะว่าอะไร ข้าพเจ้าเข้าใจว่าคงจะมีในเมืองไทยเพราะเป็นไม้ที่ได้จากป่าแถวๆ มณฑล ยูนนาน และ เสฉวน ซึ่งอากาศ

ย่ำแดนมังกร หน้า 63

(น.63) รถแล่นเข้าเขตที่มีสุสาน เราจะมองเห็นได้ตามเขตภูเขา มีเก๋งจีนเป็นเครื่องหมายว่าตรงนี้มีฮวงซุ้ย ทางเข้าฮวงซุ้ย ติ้งหลิง สองข้างทางเป็นรูปสัตว์ต่างๆ เช่น สิงโตแบบ “ไลอ้อน” (ไม่ใช่สิงโตเมืองจีนแบบอับเฉาเรือที่มาตั้งอยู่ตามที่ต่างๆ ในเมืองไทย) มีเสือ อูฐ 2 ตะโหงก ช้างนั่ง ช้างยืน ม้า ตอนที่เข้าใกล้สุสานทำเป็นรูปคนข้าราชการฝ่ายบู๊ ฝ่ายบุ๋น ทั้งตงฉิน กังฉิน พร้อมมูล รถผ่าน ฉางหลิง ซึ่งเป็นสุสานที่ใหญ่ที่สุดแต่ยังไม่ได้ขุดขึ้นมา เมื่อถึงหน้าประตูมีผู้ดูแลสุสานมารับ พาเข้าไปในห้อง “บรรยายสรุป” ซึ่งเเต็มไปด้วยขนมกับผลไม้ “มหาดเล็กหญิง” ซึ่งเป็นคนเสิร์ฟน้ำประจำทั้งที่บ้านพักและหิ้วตามไปที่ต่างๆ ก็หันมายิ้มหลิ่วตากับข้าพเจ้าทีหนึ่งก่อน แล้วหันไปสาละวนอยู่กับการจัดน้ำหวานให้พวกเรา ไกด์อธิบายว่าบริเวณที่นี้เป็นสุสานของจักรพรรดิ 13 องค์ใน 16 องค์ ของราชวงศ์เหม็ง สร้างระหว่าง ค.ศ. 1365 – 1641 รวมทั้งสิ้นเป็นเวลา 277 ปี สุสานของจักรพรรดิองค์แรกคือ พระเจ้า หงอู่ อยู่ที่ นานกิง จักรพรรดิองค์ที่สองคือพระเจ้า เจี้ยนเหวิน เกิดความวุ่นวายในแผ่นดินเรื่องแย่งชิงบัลลังก์ พอเป็นจักรพรรดิได้ 4 ปีก็ฆ่าตัวตาย ของจักรพรรดิองค์ที่ 7 ไปอยูที่ เซียงซาน ส่วนสุสานจักรพรรดิ หย่งเล่อ (Yunglo) องค์ที่ส่งขันทีชื่อ เจิ้งเหอ (Cheng-Ho) มาแถวๆ Southeast Asia และมหาสมุทรอินเดียนั้นยังมิได้เปิดศึกษา สุสาน ติ้งหลิง นี้เป็นของจักรพรรดิองค์ที่ 14 หรือพระเจ้า ว่านลี่ พระองค์ครองราชย์ใน ค.ศ. 1573 เมื่อพระชนม์ได้ 10 พรรษา เริ่มสร้างสุสานตอนพระชนม์ได้ 22 พรรษา สร้างเสร็จ

มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 30

(น.30) เมษายน ประกาศใช้นโยบายนี้ในวันที่ 6 เมษายน ที่ประชุมคือที่มหาศาลาประชาชน ท่านนายกว่าถ้าสนใจก็ไปดูได้ เขามีห้องของแต่ละมณฑล ซึ่งจะนำของจากมณฑลนั้น ๆ มาตกแต่ง พูดถึงชนกลุ่มน้อยที่มีมากที่สุดคือพวกจ้วง รองลงมาได้แก่พวกเววูเอ๋อร์ซึ่งมีมากในซินเกียง ที่เป็นมณฑลปกครองตนเอง มีคนเววูเอ๋อร์ถึง 6 ล้านคน ชาวฮั่น 5 ล้านคน คาซัก (เป็นพวกเชื้อสายรัสเซีย) ประมาณ 1ล้านคน พวกแมนจูเคยมาปกครองจีนอยู่นาน โดยมีเมืองหลวงอยู่ที่ปักกิ่งนี้ย้อนไปพูดถึงราชวงศ์หมิง ซึ่งแต่แรกตั้งเมืองหลวงอยู่ที่นานกิง หย่งเล่อ เคยมาปกครองปักกิ่ง เมื่อได้ราชสมบัติจึงย้ายเมืองหลวงมาอยู่ที่เมืองนี้ หย่งเล่อได้ทำประโยชน์แก่จีนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการทำพจนานุกรมหย่งเล่อต้าเตี่ยน ประวัติศาสตร์จีนมีความแน่นอน เพราะแต่ละราชวงศ์จะมีพนักงานจดบันทึกเหตุการณ์ไว้ พนักงานเหล่านี้มักจะเป็นผู้มีใจเป็นธรรม คือจดตามความเป็นจริง กษัตริย์ทำไม่ดีก็จดไว้ ขณะนี้เรียบเรียงไว้เป็น 24 เล่ม ยังไม่รวมประวัติราชวงศ์ชิง และกล่าวถึงการแบ่งหน่วยราชการกระทรวงของจีน เมื่อรับประทานอาหารเสร็จพักผ่อนระยะหนึ่ง บ่ายสองโมงออกไปวัดลามะหย่งเหอกง พระที่มารับเป็นคนมองโกล อธิบายว่าที่นี่สร้างขึ้นในค.ศ.1694 ซึ่งเป็นปีที่ 33 ในรัชกาลพระเจ้าคังซี เคยเป็นตำหนักของพระราชโอรสองค์ที่ 4 (องค์ชาย 4 ในภาพยนตร์ทีวีเรื่องศึกสายเลือด) ต่อมาองค์ชาย 4 ขึ้นครองราชย์เป็นพระเจ้าหย่งเจิ้งอยู่ 13 ปีก็สวรรคต (ค.ศ. 1723-1736)

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 370

(น.370) ราชวงศ์ซ่ง ซ่งเกาจง ค.ศ. 1127 – 1162 ราชวงศ์หมิง หงอู่ ค.ศ. 1368 – 1398 หย่งเล่อ ค.ศ. 1403 – 1424 เจิ้งเต๋อ ค.ศ. 1506 – 1522 ว่านลี่ ค.ศ. 1573 – 1620 ราชวงศ์ชิง คังซี ค.ศ. 1661 – 1722 หย่งเจิ้ง ค.ศ. 1723 – 1736 เฉียนหลง ค.ศ. 1736 – 1795 ซวนถ่ง (หรือปูยี) ค.ศ. 1908 – 1911 นอกจากพระจักรพรรดิต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว ในหนังสือได้กล่าวถึงเจงกิสข่านด้วย เจงกิสข่านมีชื่อเดิมว่าเตมูจิน เกิดเมื่อประมาณ ค.ศ. 1167 ก่อตั้งอาณาจักรมองโกลใน ค.ศ. 1206 ปกครองอาณาจักรในช่วง ค.ศ. 1206 – 1227 เป็นปู่ของกุบิไลข่าน ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งราชวงศ์หยวน

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 41

(น.41) ขึ้นมาแล้วเดินทางต่อไปเกาเมี่ยว อยู่ในเมืองจงเว่ย วัดนี้สร้างในสมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ ราชวงศ์หมิง มีอีกชื่อว่า วัดเป่าอัน (รักษาสันติ) ที่เรียกว่าเกาเมี่ยว (แปลว่า วัดสูง) อาจเป็นเพราะสร้างอยู่บนป้อมเก่า ทำให้สูงกว่าวัดธรรมดา วัดนี้พังเสียหายและซ่อมสร้างขึ้นใหม่หลายครั้ง เช่น หลังแผ่นดินไหวสมัยจักรพรรดิคังซี ราชวงศ์ชิง ต่อมาใน ค.ศ. 1942 ไฟไหม้ต้องบูรณะใหม่อีก เดิมเป็นศาสนสถานของ 3 ศาสนา คือ พุทธ ขงจื้อ และเต๋า แต่ว่าปัจจุบันมีแต่ศาสนาพุทธ เรามีเวลาไม่มากเลยเดินดูคร่าวๆ เท่านั้น วิหารหน้าสุดเมื่อเข้าไปถึงเป็นวิหารจตุโลกบาล มีพระไมเตรยะอยู่ตรงกลาง ขึ้นบันไดไป บันไดชันมาก ผ่านเข้าประตูหัวจ้าง เข้าไปถึงวิหาร 3 ชั้น ชั้นล่างมีรูปพระศากยมุนีกับพระสาวก 2 องค์คือ พระอานนท์กับพระมหากัสสปะ รูปพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ขี่ช้างและพระมัญชุศรีขี่สิงห์ นอกจากนั้นยังมีพระอรหันต์ 18 องค์ พระกษิติครรภ ชั้นที่ 2 เป็นไม้แกะสลัก มีรูปพระอมิตาภะ พระอวโลกิเตศวร พระมหาสถามปราปตะ ชั้นบนสุดมีรูปพระพุทธเจ้าประจำทิศทั้ง 5 คือ พระไวโรจนะ ทิศกลาง พระอมิตายุส (พระอมิตาภะ) อยู่ทิศตะวันตก พระอโมฆสิทธิทิศเหนือ พระอักโษภยะยู่ทิศตะวันออก และพระรัตนสัมภวะอยู่ทิศใต้

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 101

(น.101) เหวัชระและศักติ เขาแพะใหญ่มาก อธิบายว่าแพะตัวนี้เขาใหญ่ยาวมาก ทำให้เกะกะก้มลงกินหญ้าไม่ได้ จึงอดตาย ข้าพเจ้าว่าคนน่าไปช่วยป้อนอาหารให้มัน เขาบอกว่ามีแพะหลายตัวป้อนไม่ทัน ภาพทังกาต่างๆ มีรูปพระพุทธรูปทรงเครื่อง เป็นต้น รองเท้าขององครักษ์ดาไลลามะ มีมัณฑละประดับด้วยไข่มุก 200,000 เม็ด และหินโมรา ทำสมัยคริสต์ศตวรรษที่ 20 นี้เอง ในตู้มีคัมภีร์ใบลาน เขียนภาษาสันสกฤต มาจากอินเดีย กุญแจดอกโต (มาก) เกราะสมัยถู่โป๋ เครื่องแต่งกายทำด้วยงาช้าง ในตู้มีพระไตรปิฎก มหาปรัชญาปารมิตาสูตร สมัยจักรพรรดิหย่งเล่อ เป็นฉบับแรกที่เขียนเป็นภาษาทิเบต เขียนด้วยทองคำ เขาเชิญไปนั่งพักในห้องรับแขก ในห้องนั้นมีลายมือประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินที่เขียนใน ค.ศ. 1990 มีคนอธิบายว่า วังโปตาลานี้ ได้รับยกย่องเป็นมรดกโลกใน ค.ศ. 1994 ที่จริงก่อนหน้านั้นรัฐบาลกลางยกย่องเป็นแหล่งโบราณสถานระดับชาติตั้งแต่ ค.ศ. 1960 และช่วยในการบูรณะมาตลอด ระหว่าง ค.ศ. 1989-1994 ใช้เงินซ่อมแซมไป 53 ล้านหยวน

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 186, 193

(น.186) มีห้องนิทรรศการให้ดู มีประวัติศาสตร์ทิเบตตั้งแต่สมัยราชวงศ์หยวน มีของให้ดู เช่น พระบรมราชโองการ กฎมณเฑียรบาลสมัยราชวงศ์หมิง มีเอกสารแสดงการใช้นโยบายพระราชทานตำแหน่งแก่ข้าราชการทิเบตและอื่นๆ เอกสารราชวงศ์ชิง รัชศกซุ่นจื่อ ตั้งพระดาไลลามะ พระปันฉานลามะ และขุนนางทิเบต เข้าไปในห้องนิทรรศการประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์หยวนถึงปัจจุบัน กฎหมายราชวงศ์หยวน ค.ศ. 1304 พระบรมราชโองการเป็นภาษามองโกล เขาอธิบายว่ามณฑลอื่นจะไม่ค่อยพบพระบรมราชโองการแบบนี้ มีป้ายทองภาษามองโกลด้วย จักรพรรดิหงอู่ (จูหยวนจาง) ในราชวงศ์หมิง มีพระบรมราชโองการให้ตั้งจวนผู้ว่าราชการทั้งทหารและพลเรือนของเขตอาหลี่ใน ค.ศ. 1373 (เดือนที่ 2 ปีที่ 6) กระดาษที่เขียนเป็นสีๆ จวนที่ตั้งนี้เป็นทั้งบ้านพักและที่ทำการ จดหมายเหตุสมัยราชวงศ์หมิง จักรพรรดิหย่งเล่อให้พระนิกายกาตัมปะของทิเบตไปปักกิ่ง สมัยราชวงศ์ชิง มีเอกสารการแต่งตั้งดาไลลามะและพระปันฉานลามะ สมัยจักรพรรดิคังซีตั้งนายพลท่านหนึ่งที่ชนะกบฏของมองโกล เป็นปีที่ 60 ในรัชกาล ใน ค.ศ. 1724 สมัยจักรพรรดิยงเจิ้งพระราชทานตราทองคำดาไลลามะองค์ที่ 7 มีภาษาทิเบต มองโกลและแมนจู (ไม่มีภาษาจีน) รวมทั้งมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเสนาบดีทิเบตที่ปราบมองโกลได้
(น.193) ตามประวัติว่า ค.ศ. 1414 จัมเชน เชอเจ (Jamchen Chojey) ลูกศิษย์คนหนึ่งของพระอาจารย์จงคาปาไปเฝ้าจักรพรรดิหย่งเล่อ ได้รับพระสูตรและรูปพระอรหันต์ ทำด้วยไม้จันทน์ พระอาจารย์แนะให้ลูกศิษย์ท่านนี้สร้างวัดเพื่อบรรจุสิ่งเหล่านี้ จึงสร้างวัดใน ค.ศ. 1419 เมื่อเข้าไปมีพระลามะมาต้อนรับ พระองค์ที่มาอธิบายพูดภาษาอังกฤษได้ พระท่านเล่าว่าวัดนี้มีวิทยาลัย 3 แห่ง น่าจะหมายถึงว่าสอน 3 สาขาวิชา แต่เราไม่ได้ดู เข้าไปที่วิหารกลาง ภาพเขียนฝาผนังเป็นเรื่องราวตามความเชื่อของนิกายเกลุกปะ มีพระพุทธรูปพระไมเตรยะ พระกัสปะ พระกวนอิม 11 เศียร 8 กร

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 264, 266

(น.264) กายของพระอวโลกิเตศวร พวกเขาจึงนิยมเดินทางมาจาริกแสวงบุญและเดินประทักษิณรอบพระราชวังนี้ พระราชวังโปตาลามี 999 ห้อง หากรวมวิหารที่เป็นถ้ำชื่อ เชอเกียลดรุบพุก (ถ้ำสมประสงค์ของธรรมราชา) หรือฝ่าหวังต้งในภาษาจีนแล้ว ก็จะนับได้ 1,000 ห้องพอดี วิหารเชอเกียลดรุบพุกเป็นที่เก็บพระบรมรูปของกษัตริย์ซงซันกัมโปและพระรูปมเหสี 2 พระองค์คือ เจ้าหญิงเหวินเฉิงจากจีนและเจ้าหญิงทรีซุน (ภฤกุตี) จากเนปาล นอกจากนี้ยังมีรูปปั้นของอำมาตย์ทนมี สัมโภตา ผู้ประดิษฐ์ตัวอักษรทิเบต และอำมาตย์สกุลการ์ผู้ไปรับเจ้าหญิงเหวินเฉิงมาจากจีน เชอเกียลดรุบพุกเป็นวิหารที่เก่าแก่ที่สุดในพระราชวังนี้ พระบรมรูปและรูปปั้นในวิหารนี้สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 8 และ 9 เชื่อกันว่ากษัตริย์ซงซันกัมโปเคยทรงนั่งสมาธิที่นี่ วิหารสำคัญ เช่น วิหารทรุงรับ (วิหารต้นตระกูล) ในวังแดง มีพระพุทธรูปศากยมุนี รูปปั้นดาไลลามะองค์ที่ 5 สถูปบรรจุพระศพดาไลลามะองค์ที่ 11 ซึ่งสิ้นพระชนม์เมื่อมีพระชนมายุได้เพียง 17 พรรษา ระหว่างสถูปกับหิ้งพระหลักในวิหารมีพระพุทธเจ้า 3 ภพ และพระพุทธเจ้าไภษัชยคุรุ (แมงลา) ที่ดูแลเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ พระไตรปิฎกวางอยู่บนชั้นตามผนัง พระไตรปิฎกเหล่านี้จักรพรรดิหย่งเล่อพระราชทานดาไลลามะองค์ที่ 7 ใน ค.ศ. 1725 คัมภีร์เหล่านี้เขียนด้วยน้ำหมึกทองและสีตามธรรมชาติ วิหารที่สำคัญที่สุดวิหารหนึ่งของวังแดงคือ วิหารไตรโลก ซึ่งมีชื่อภาษาทิเบตว่า “ซาซุม นัมเกียล” (วิหารชัยชนะเหนือสามโลก) เป็นวิหารของพระโพธิสัตว์อวโลติเกศวร 11 เศียร 1,000 กร ทำด้วยเงินแท้ สูง 3 เมตร หนักประมาณ 300 กิโลกรัม สร้างในปี ค.ศ. 1903 สมัยดาไลลามะองค์ที่ 13 ในวิหารนี้มีภาพทังกาวาดรูปจักรพรรดิเฉียนหลง (ค.ศ. 1736-1795) แขวนอยู่บนผนังด้านเหนือ ภาพนี้จักรพรรดิเฉียนหลงถวายดาไลลามะองค์ที่ 8 ใต้ภาพมีป้ายสลัก 4 ภาษา คือ ภาษาทิเบต จีน แมนจู และมองโกล เขียนว่า “ขอให้จักรพรรดิคังซีมีพระชนมายุนับหมื่นปี” ป้ายนี้จักรพรรดิเฉียนหลง
(น.266) วิหารกุนซังลาคังเก็บพระพุทธรูปและสถูปเล็กๆ ที่พ่อค้าชาวทิเบตชื่อเต็มปาต้าชี่เป็นผู้นำมาถวาย หอสมบัติเป็นที่แสดงของมีค่าต่างๆ ได้แก่ เสื้อผ้าและของใช้ของดาไลลามะและราชองครักษ์ เครื่องใช้ในการออกว่าราชการ เช่น หอยสังข์แกะสลักเป็นรูปมังกร พระพุทธรูปและเครื่องบูชาในการประกอบพิธีทางศาสนา เช่น พระพุทธรูปทำจากหินคริสตัลของจีนในคริสต์ศตวรรษที่ 16 พระรูปทำด้วยทองแดงชุบทองของเหวัชระ (เกย ดอร์เจ) ซึ่งเป็นเทพตามลัทธิตันตระ ทรงยืนบนดอกบัวพร้อมชายา มันดาลาหรือภาพจำลองจักรวาล 3 มิติ สร้างในต้นคริสต์ศตวรรษที่ 20 ทำจากไข่มุก 200,000 เม็ด ภาชนะใส่น้ำมนต์ทำจากปะการังและกัลปังหา เครื่องแต่งกายในการประกอบพิธีชัม ซึ่งเป็นการรำทางศาสนาที่มีพระเป็นผู้แสดง ทำจากกระดูกและหนังวัว สมบัติที่น่าสนใจอื่นๆ เช่น กุญแจใหญ่ที่สุดของพระราชวัง แบบจำลองพระราชวัง เขาแพะของแพะที่มีเขายาวมากจนกินหญ้าไม่ได้และต้องตายในที่สุด นอกจากนี้ยังมีคัมภีร์ต่างๆ เช่น คัมภีร์การแพทย์ของยูทก ยนเต็น โกนโป ผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นบิดาการแพทย์ของทิเบต คัมภีร์โหราศาสตร์ และที่สำคัญคือ คัมภีร์ปรัชญาปารมิตาสูตรที่จักรพรรดิหย่งเล่อพระราชทาน ด้านตะวันออกของวังขาวเป็นลานกว้างขนาด 1,500 ตารางเมตร ชื่อว่าเตยังชาร์ ลานนี้เป็นที่แสดงพิธีทางศาสนารวมทั้งการแสดงพิธีชัม สองด้านของลานนี้เป็นกุฏิพระ 2 ชั้นและห้องเก็บของ ทางปีกตะวันออกของเตยังชาร์เป็นที่ตั้งของโรงเรียนสอนธรรมะชื่อว่า เซล็อบต้า (โรงเรียนบนยอดเขา) สร้างโดยดาไลลามะองค์ที่ 7 ใน ค.ศ. 1749 บนฝาผนังของวังขาวมีภาพเขียนฝาผนังที่วิจิตร เป็นภาพโลกบาล การสร้างวิทยาลัยการแพทย์บนภูเขาชักโปรี ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับภูเขามาร์โปรี ที่ตั้งของพระราชวังโปตาลา การเสด็จเข้าสู่ทิเบตของเจ้าหญิงเหวินเฉิง การสร้างวัดต้าเจาซื่อ และการเสด็จไปปักกิ่งของดาไลลามะองค์ที่ 5 เพื่อเข้าเฝ้าจักรพรรดิราชวงศ์ชิง