Please wait...

<< Back

ทิเบต

จากหนังสือ

"ไอรัก" คืออะไร?
"ไอรัก" คืออะไร? หน้า 21

(น.21) รูป 14 ลากลับเพื่อเดินทางต่อไปเมืองเทียนสิน
(น.21) ข้าพเจ้าควรวางแผนและทำตามแผนให้บรรลุเป้าหมาย และแต่งเรื่องอีก 7 เรื่อง ส่วนทิเบตก็น่าสนใจแต่ไม่กล้าเสนอเพราะสูงมาก ข้าพเจ้าว่าข้าพเจ้าก็ไม่กล้า กลัวหายใจไม่ออก ท่านว่าเรื่องหายใจไม่ออกนั่นไม่เป็นอะไร แต่ต้องระวังเรื่องหัวใจ ท่านว่าท่านเคยเห็นฝรั่งอายุ 80 ปี บินไปบินกลับได้ไม่เป็นอะไร ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงพระไตรปิฎกที่ท่านนำมา ท่านก็ว่าท่านยินดีที่ได้มอบพระไตรปิฎกให้ไทย เพราะพระไตรปิฎกคือสารานุกรมทางพุทธศาสนา และสรุปเกี่ยวกับความสัมพันธ์ ไทย-จีน ว่ามีความสัมพันธ์การเดินทางไปมาหาสู่มากขึ้น คนจีนชอบเดินทางไปเมืองไทยถึงจะสร้างภาระให้รัฐบาลไทย แต่ไทยก็รับอย่างดี

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล
เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 7

(น.7) มาดามถามถึงหนังสือเรื่อง เจียงหนานแสนงาม ข้าพเจ้าว่าไม่มีแปลเป็นภาษาจีน มาดามจึงไม่ได้อ่าน ขณะนี้ข้าพเจ้าเขียนเรื่องทิเบต แต่ยังพิมพ์ไม่ได้ต้องตรวจสอบเรื่องชื่อใช้เวลานาน มาดามว่าภาษาทิเบตยาก ครูจีนคงช่วยอะไรไม่ได้ ข้าพเจ้าว่ามีคนที่ไปด้วยกันรู้ภาษาทิเบต มาดามเฉียนถามถึงเรื่องน้ำท่วมเมืองไทย ฟางเฟยหยวนนี้ใช้เป็นสถานที่ที่ประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมินถวายพระกระยาหารค่ำสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เมื่อรับเสด็จแล้วซ่อมแซมใหม่ พอเข้าไปดูจำไม่ได้เลย ในห้องมีบอนไซทับทิม อายุประมาณ 200 ปี ออกลูกเต็มไปหมด เป็นของที่ปลูกในเตี้ยวอวี๋ไถ ปกติจะเก็บไว้ที่แผนกสวนของเตี้ยวอวี๋ไถ แต่ตอนนี้ออกผลจึงเอามาประดับห้อง ขึ้นไปรับประทานชั้นบน มาดามเล่าว่าดูโทรทัศน์เห็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประธานสภาหลี่เผิงเข้าเฝ้าฯ ดูแล้วพระสุขภาพดี มาดามดีใจมาก มาดามดูข้าพเจ้าไปรับรางวัลที่ประเทศไทยพัฒนาคนพิการได้ดีด้วย ข้าพเจ้าเล่าว่า ก่อนกลับเมืองไทยจะไปดูความคืบหน้าของการจัดประชุมหญ้าแฝก มาดามว่าตอนมาเยือนเมืองไทย ได้ดูงานการใช้หญ้าแฝกเห็นว่ามีประโยชน์จริงๆ คุยกันเรื่องแนวทางที่จะร่วมมือกันทางการศึกษา

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 29

(น.29) ดูนิทรรศการที่แสดงในอาคาร มีเอกสารลายมือเหอเซิน ว่ากันว่าเขาเป็นคนที่เก่งมาก เป็นมหาบัณฑิต นอกจากภาษาจีนแล้วยังมีความรู้ภาษามองโกล ภาษาแมนจู และภาษาทิเบต เป็นชายรูปงาม ความจำดี จำบทกวีพระราชนิพนธ์จักรพรรดิเฉียนหลงได้ทุกบท ไม่เพียงเท่านั้นยังท่องกลับจากหลังไปหน้าได้ พระราชหัตถเลขาจักรพรรดิเต้ากวง มอบหมายให้กงชิงหวังดูแลแผ่นดิน มีรูปกงชิงหวังเมื่อเป็นเสนาบดีต่างประเทศคนแรกของจีน
ลายมือหงซิ่วฉวน (หัวหน้ากบฏไท่ผิง) ตั้งตนเองเป็นเทียนหวัง (ไท่ผิงเทียนกั๋ว)
สนธิสัญญาเทียนสินสมัยจักรพรรดิเสียนเฟิง
(น.29) รูป

เยือนถิ่นจีนโพ้นทะเล หน้า 171,192

(น.174) รูป
(น.174) ที่สุเหร่ามีนายกสมาคมมุสลิมชื่อ Hajji Abdullah Huang Quirun มารับ ศาสนาอิสลามเข้ามาในจีนราวต้นคริสต์ศตวรรษที่ 7 ลูกศิษย์ของพระมะหะหมัดได้เดินทางมากับเรือสินค้า เข้ามาอยู่ที่เมืองเฉวียนโจวและเผยแพร่ศาสนาอิสลามที่เมืองนี้จนถึงแก่กรรม และมีสุสานอยู่ที่นี่ด้วย มีข้อมูลบอกว่าในสมัยราชวงศ์ซ่งมีชาวมุสลิมจำนวนมากเป็นหมื่นๆ คนอยู่ที่นี่ มาจากเมือง Shiraj บริเวณอ่าวเปอร์เซีย ชาวเปอร์เซีย (อิหร่าน) เป็นผู้บูรณะสุเหร่านี้เมื่อ ค.ศ. 1310 ในสมัยราชวงศ์หยวน ปัจจุบันนี้เหลือเพียงประมาณ 1,000 คน ผู้สร้างสุเหร่าเป็นคนอาหรับ สร้างในปี ค.ศ. 1009 ตามประวัติว่าสร้าง 7 แห่ง ขณะนี้เหลืออยู่แห่งเดียว และเป็นวัด-ศาสนาสถานที่สำคัญ 1 ใน 10 ของจีน ที่รัฐบาลประกาศให้อนุรักษ์ใน ค.ศ. 1992 ที่เขาติดป้ายไว้ให้ดู มีดังนี้
สุเหร่าชิงจิ้ง เฉวียนโจว (คือที่เราดูอยู่)
วัดเส้าหลิน มณฑลเหอหนาน
วัดหันซาน เมืองซูโจว
วัดไป๋หม่า เมืองลั่วหยัง
วัดหลิงอิ่น เมืองหังโจว
วัดเซี่ยงกั๋ว เมืองไคเฟิง
วัดพระนอน ปักกิ่ง
วัดหลงซิง อำเภอติ้ง มณฑลเหอเป่ย
วัดจ๋าสือหลุนปู้ ทิเบต
วัดถ่าเอ่อร์ มณฑลชิงไห่

(น.192) รูป
(น.192) ขึ้นไปชั้นบนเป็นพิพิธภัณฑ์เรือจีน จัดแสดงตั้งแต่เรือสมัยหินใหม่ที่ขุดพบในสุสาน แสดงความแตกต่างของเรือที่เรียกว่า โจว กับที่เรียกว่า ฉวน แสดงแผนที่บริเวณที่ขุดพบเรือโบราณ เรือทิเบตชนิดที่ใช้หนังจามรีขึง (หนังยังมีขน) เรือไม้ขุด แพหนังแพะชนิดที่ข้าพเจ้าเห็นเขาใช้กันในหนิงเซี่ยพิพิธภัณฑ์ซื้อจากเมืองหลานโจว เป็นแพที่ใช้ทั่วไปในแถบแม่น้ำหวงเหอ เรือที่ใช้กันที่เมืองเซ่าซิง (มณฑลเจ้อเจียง) เรือสำราญของจักรพรรดิสุยหยังตี้ เป็นเรือพระที่นั่ง ใช้คนลาก 80,000 คน เพราะทั้งขบวนเสด็จมีเรือ 2,000 กว่าลำ มีเรือของจักรพรรดิที่ใช้สาวอายุ 15 ปี ประมาณ 200-300 คนลากเรือเดินทะเล

เย็นสบายชายน้ำ
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 6,10

(น.6) รูป 3 ศูนย์แสดงสินค้านานาชาติ คุนหมิง
(น.6) งานนี้ (เรียกย่อ ๆ ว่า Kunming Fair) เป็นงานแสดงสินค้าท้องถิ่นซึ่งจัดโดยรัฐบาลมณฑลเสฉวน มณฑลยูนนาน มณฑลกุ้ยโจว ภูมิภาคปกครองตนเองชนชาติจ้วงกวางสี ภูมิภาคปกครองตนเองทิเบต นครเฉิงตูและนครฉงชิ่ง (ซึ่งเป็นนครอยู่ในมณฑลเสฉวน) กระทรวงการค้าต่างประเทศและความร่วมมือทางเศรษฐกิจของรัฐบาลกลางให้ความเห็นชอบ การจัดงานมีหลักการคือ ภาคตะวันตกเฉียงใต้เป็นภาคหนึ่งของจีนที่มีศักยภาพสูงในการพัฒนาเศรษฐกิจ มีพื้นที่ 2,570,000 ตารางกิโลเมตร มีประชากรถึง 200 ล้านคน มีพรมแดนติดต่อกับเวียดนาม ลาว พม่า และสามารถต่อไปถึงประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ภูฏาน เนปาล และอินเดีย ฉะนั้นถือได้ว่าเป็นประตูสู่ประเทศในภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
(น.10) ภาษาอังกฤษ ถ้าเป็นพวกสิบสองปันนาจึงพอจะพูดภาษาไทยได้ ได้ดูสินค้าหลายอย่าง ได้ทราบว่าสินค้าประเภทอาหารเป็นที่สนใจมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาหารทะเล เพราะที่ยูนนานไม่มีพื้นที่ติดทะเล มีน้ำยาล้างคอมพิวเตอร์และน้ำยาล้างอัญมณี ได้ทราบว่าเดี๋ยวนี้คนแถวนี้มีกำลังซื้อมากขึ้น จึงขายของพวกนี้ได้ ยาหม่องน้ำซึ่งคนจีนนิยมมาก มาตรวัดน้ำ ของพลาสติกซึ่งแม่บ้านสนใจ เป็นของส่งออกไม่ขายในประเทศ เครื่องหนัง ข้าวหอมมะลิ การเพาะเนื้อเยื่อ ปลาทูน่ากระป๋อง ของขบเคี้ยว อาหารกระป๋อง กะทิ การขายของพวกนี้ส่งทางเรือไปตามแม่น้ำโขง เขาบอกว่าเมืองต่าง ๆ และมณฑลสนใจกันมาก มีที่ไม่มาคือ ซินเกียง ชิงไห่ กานซู และหนิงเซี่ย ทิเบตก็ยังมา เขามีเหมืองแร่ ผ้าทอ อาหาร ยาสมุนไพร ออกไปนั่งรอพักผ่อนครู่หนึ่ง ข้าพเจ้าถามถึงความสนใจของรัฐบาลกลางต่อมณฑลนี้ ได้ความว่าตั้งแต่ต้นปีนี้ เริ่มใช้แผนพัฒนาฉบับที่ 9 ดูจะสนใจมากขึ้น การเดินทางทางแม่น้ำโขงจากไทยมีปัญหาว่ายังลงนามในข้อตกลงไม่ครบ 4 ชาติ แต่ปลายปีนี้น่าจะเรียบร้อย เดินทางช่วงนี้ดีไม่มีปัญหาด้านน้ำน้อย เดินทางไปสนามบิน ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ ศูนย์แสดงสินค้านี้ ท่านรองฯ ว่าจะขยายสนามบินเจียงเป่ย ออกไปอีก เราขึ้นเครื่องบิน MD - 90 ของบริษัท China Northern มีคนขับคนหนึ่งเป็นชาวอเมริกัน เขาอวดว่าเคยขับเครื่องบินถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ ตอนเสด็จสหรัฐอเมริกา

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 54

(น.54) รูป 54 ภาพขุยเหมิน ซานเสีย ของซ่งก่วงซุ่น
(น.54) หวงสวนจือ เป็นจิตรกรชาวเจียงหนาน ฉะนั้นจึงเขียนวิวเจียงหนานเอาไว้มาก ลูกชายก็เป็นจิตรกร อีกห้องมีภาพของหม่าเจิ้นเชิง ตอนนี้เขาไปปักกิ่ง คนที่อธิบายให้เราฟังอยู่ในกลุ่มนักวาดรูปรุ่นใหม่ ถามว่าอายุเท่าไหร เขาว่า 57 ปี อีกคนชื่อจีเจียต๋าหว่าเป็นคนทิเบต (ไม่ได้อยู่ในหมู่บ้านนี้) อายุราว 50 ปี ซ่งก่วงซุ่น เป็นคนซานเสีย อำเภอปาเซียน ชอบเขียนภาพทิวทัศน์ เช่น ภาพขุยเหมิน ไป๋ตี้เฉิง

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 94

(น.94) ข้างในห้องมีผังทำเป็นรูปยาว ๆ รอบห้องแสดงแนวจุดน้ำ ปัจจุบันและจุดที่น้ำจะขึ้นถึง ในผัง (model) นั้นท่านนายกเทศมนตรีชี้อำเภอจงเซี่ยน บอกว่าที่นี่อาหารอร่อยมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเต้าหู้ น้ำจะท่วมเป็นบางส่วน หวังว่าจะไม่ท่วมโรงงานเต้าหู้ ข้าพเจ้าทักว่าที่สือเป่าไจ้ตามที่แสดงในผังนั้นแนวน้ำท่วมต่ำเกินไป เมืองว่านเซี่ยนจะท่วม 60 กว่าเปอร์เซ็นต์ กลางห้องเป็นโต๊ะทราย แสดงสภาพปัจจุบันและใน ค.ศ. 2010 ที่จะมีเมืองใหม่ มีสาขาของแม่น้ำฉางเจียง ชื่อ แม่น้ำจู้ซีไหลผ่าน แบ่งเป็นเขตหลงเป่า เทียนเฉิง และอู่เฉียว ในเขตอพยพจะเปิดเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่ตัวเมืองเก่าหลงเป่า ถนนสาย 318 เป็นทางหลวงระดับชาติเชื่อมเซี่ยงไฮ้กับนครลาซา (ในทิเบต) มีสะพานข้ามแม่น้ำ อีกด้านเป็นแนวทางรถไฟผ่านต๋าเซี่ยนไปเฉิงตู จะสร้างสนามบินอู่เฉียวปีหน้า ใช้เวลา 2 ปี ที่ทำการเทศบาลจะไม่ย้ายเพราะน้ำไม่ท่วม

(น.94) รูป 84 รอบ ๆ ห้องแสดงระดับน้ำ

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 315

(น.315) เปอร์เซ็นต์ของที่จีนผลิตได้ พืชผลอื่น ๆ คือฝ้าย ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ถั่ว เฮมป์
เมืองใหญ่ตามลุ่มน้ำคือ เซี่ยงไฮ้, นานกิง, อู่ฮั่น, ฉงชิ่ง เมืองเหล่านี้มีประชากรเกินล้านคน
เขตลุ่มน้ำ มีประชากรสองร้อยล้านคน
ลักษณะทางกายภาพ
ต้นน้ำ ไหลผ่านที่ราบสูงทิเบต ประชากรส่วนมากทำการเกษตรรายย่อย อากาศอบอุ่นในฤดูร้อน หนาวในฤดูหนาว เวลาเพาะปลูกประมาณ 4 – 5 เดือน ผู้คนที่อยู่ในเขตนี้มีชาวทิเบตเป็นส่วนใหญ่ นอกนั้นเป็นชาวจีน เนปาล อินเดีย บ้างเล็กน้อย เขตเขาสูงทางตะวันตกเฉียงใต้ มีชาวจีนเป็นส่วนมาก อาชีพทำการเกษตรรายย่อยเช่นกัน ต้นน้ำมีสองแห่ง อยู่ในภูเขา Tang-ku-la Shan-mo เขตที่เป็นต้นน้ำ สูง 18,000 ฟุต (5,500 เมตร) จากระดับน้ำทะเล และต้นน้ำหลัก (อยู่ทางใต้) ชื่อ Ulan Muren (ภาษาทิเบต) แม่น้ำในช่วงนี้ไหลผ่านที่ราบหุบเขากว้าง ๆ ไม่ลึกนัก มีทะเลสาบ บึงบ้างพอสมควร ลักษณะแม่น้ำมาเปลี่ยนมากเมื่อสุดแดนที่ราบสูงทิเบตทางตะวันออก เพราะระดับพื้นที่ต่ำลงอย่างรวดเร็ว แม่น้ำไหลผ่านภูเขา Pa-yen-k’a-la Shan คดเคี้ยวไปมาตามโตรกเขา เกิดเป็นหุบเขาแคบ ๆ ลึกประมาณ 1 – 2 ไมล์ ยอดเขาแต่ละยอดสูงเกิน 16,000 ฟุต มีธารน้ำแข็งและหิมะปกคลุมอยู่ตลอดปี จากนั้นแม่น้ำไหลไปทางตะวันออกเฉียงใต้ แล้วไหลลงไปทางใต้

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 15

(น.15) ร้านเก่าๆ ก็ยังมีเหลืออยู่บ้างไม่ได้รื้อทิ้งไปทั้งหมด เช่นร้านขายขนมที่สร้างขึ้นในทศวรรษ 1930 ไปร้านขายหนังสือซินหัว มีหนังสือขายสารพัด เช่น หนังสือที่กำลังขายดี มีเรื่องที่แม่ของนักศึกษามหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดเขียนวิธีเลี้ยงลูกว่าเลี้ยงอย่างไรลูกจึงเก่งแบบนี้ หนังสือที่นักเรียนมัธยมเขียน ข้าพเจ้าซื้อพจนานุกรม หนังสือเรียนแบบฝึกหัดภาษาจีนสำหรับนักเรียนประถมเอาไว้ฝึกเอง แบบเขียนภาพพู่กันจีน แบบเขียนหนังสือด้วยปากกาทั้งแบบไข่ซูและสิงซู มีคนฉงชิ่งคนหนึ่งมีชื่อเสียงด้านนี้ ซื้อหนังสือว่าด้วยเรื่องชาต่างๆ หนังสือสวนพฤกษศาสตร์ในประเทศจีน หนังสือเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมจีนทั่วประเทศ หนังสือเรื่องทิเบต (น.15) รูป 12 แวะร้านขายหนังสือซินหัว

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 47

(น.47) รับประทานอาหารเย็นกันเองภายในคณะเดินทาง รับประทานเสร็จ ดูแผนที่ชิงไห่กับทิเบต อาจารย์กฤษฎาวรรณเอาภาพพระปัทมสัมภวะ เป็นผ้าทอทังกา พระลามะที่กำลังจะสร้างวัดที่แคนานดาให้มา สำหรับถวายวัดต่างๆ กฤษฎาวรรณนัดคนอเมริกันคนหนึ่งเอาไว้ จบปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยฮาวาย แล้วมาอยู่ที่ชิงไห่ 14 ปีแล้ว กฤษฎาวรรณ ประพจน์และปีเตอร์จะลงไปคุยก่อน ถ้าน่าสนใจข้าพเจ้าจะไปคุยด้วยก็ได้ ข้าพเจ้าทำอะไรๆ อยู่พักหนึ่ง ลงไปร่วมวงสนทนากับคณะ และ Dr. Kevin Stuart ซึ่งมีผลงานทางวิชาการเกี่ยวกับชนชาติทิเบตในชิงไห่ รวมทั้งสอนภาษาอังกฤษให้นักเรียนเผ่าทิเบตที่ชิงไห่ด้วย และยังพยายามช่วยหาทุนทำโครงการพัฒนาเล็กๆ เช่น ช่วยชาวบ้านด้านสุขาภิบาล โรงเรียนประถมศึกษา และเรื่องจัดหาน้ำใช้ เป็นต้น เขาเล่าเรื่องประเพณีชาวบ้านทิเบตที่น่าสนใจ เรื่องภาษาทิเบตต่างๆ คุยกันจนเกือบสองยาม วันนี้จี้ให้รับประทานยาจีน สำหรับปรับตัวไม่ให้แพ้ความสูง บางคนรับประทานยาฝรั่งแล้วแพ้ ชามือชาเท้า แต่บางคนกลับแพ้ยาจีน ชามือชาเท้า เป็นผื่นคัน ข้าพเจ้ารับประทานยาจีนแล้วสบายดี

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 52,57,58,59,60,68,71

(น.52) เข้าไปในวิหารอะไรจำไม่ได้แล้ว ดูเหมือนจะเป็นหอพระไตรปิฎก แต่ก่อนเคยมีพระมาชุมนุมกัน 4,000-5,000 รูป มาจากซินเกียงและมองโกเลียก็มี ฝาผนังเขียนภาพตามเรื่องเล่าทางพุทธศาสนา สีที่เขียนเป็นสีจากแร่ธาตุ ทุกเช้าทุกเย็นพระจะต้องมาทำวัตรเช้าวัตรเย็นที่นี่ ของบูชามีตะเกียงพันดวง รูปพระอาจารย์จงคาปากะไหล่ทอง 1,000 องค์ มีเครื่องบูชาเป็นภาชนะใส่ธัญพืช มีชิงเคอ (ข้าวบาร์เลย์ชนิดหนึ่ง ?) ท้อ สาลี่พันธุ์พิเศษที่ขึ้นในชิงไห่และทิเบต มีรูปพระจงคาปา บัลลังก์ของพระดาไลลามะ และพระปันฉานลามะเวลามาที่วัดนี้ มีธรรมาสน์ของเจ้าอาวาส


(น.52) รูป 41 ท้าวธตรฐ ผู้พิทักษ์ทิศตะวันออก หนึ่งในจตุโลกบาล
Dhrtarastra, the Guardian King of the East.


รูป 42 เครื่องบูชาประจำวัน น้ำในถ้วย (อาจมี 7, 14, 21 ฯลฯ ใบ) เติมใหม่ทุกเช้าและเทออกทุกเย็น
Utensils used in daily prayers.



(น.57) จุดสุดท้ายก่อนจะเดินทางออกจากวัด คือ อาคารปั้นเนย ศิลปะการปั้นเนยถือว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ทางศิลปะอย่างหนึ่งของวัดนี้ มีชื่อเสียงทั้งในประเทศจีนและในต่างประเทศ อาคารนี้สร้างใน ค.ศ. 1988 และต้องติดแอร์เพื่อรักษารูปทรงของเนยเอาไว้ พระในวัดนี้เป็นผู้ปั้นเนย และปั้นใหม่ทุกปี จะปั้นเป็นรูปอะไรนั้นพระที่เป็นผู้นำชมบอกว่าเจ้าอาวาสเป็นผู้กำหนด เมื่อปั้นเสร็จจะเอาไปแสดงกลางแจ้งให้คนดูวันหนึ่ง แล้วเอาไปเก็บในอาคารแทนรูปเก่าของปีก่อน ตามประวัติเล่ากันมาว่า พระอาจารย์จงคาปาสร้างวัดนี้แล้วไปทิเบต เพื่อไปชุมนุมสาวก 100,000 รูป ที่วัดต้าเจ้าในเมืองลาซา ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนยี่ นอนหลับได้บังเกิดนิมิตฝันว่า ในท่ามกลางฤดูหนาว ดอกไม้กลับบานสะพรั่ง พระโพธิสัตว์เสด็จมา เมื่อตื่นขึ้นเล่าฝันให้สาวกทั้งหลาย มีผู้คิดขึ้นมาว่าจะต้องใช้เนยปั้นรูปความฝันของพระอาจารย์เอาไว้ จึงเป็นธรรมเนียมมากระทั่งทุกวันนี้


(น.57) รูป 48 พระพุทธรูปในวิหารพระไมเตรยะ (พระศรีอาริย์)
Buddha images in Maitreya Shrine.


รูป 49 พระพุทธรูปในวิหารพระไมเตรยะ (พระศรีอาริย์)
Buddha images in Maitreya Shrine.

Next >>