<< Back
อู่ฮั่น
เย็นสบายชายน้ำ
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 45
(น.45) นายกเทศมนตรีกล่าวต้อนรับว่าถึงข้าพเจ้าจะมาที่ประเทศจีนเป็นครั้งที่ 7 แต่มาฉงชิ่งเป็นครั้งแรก ประเทศจีนและไทยมีความสัมพันธ์กันดี เขาดีใจที่ข้าพเจ้ามาศึกษาค้นคว้าเรื่องจีนและเขียนหนังสือ กล่าวต่อไปถึงนครฉงชิ่งว่า เมืองนี้สำคัญที่สุดในภาคตะวันตกเฉียงใต้ เป็นเมืองสำคัญในการขนส่งในแม่น้ำแยงซี ปัจจุบันมีเนื้อที่ 2,300 ตารางกิโลเมตร ประชากร 15.3 ล้านคน นครฉงชิ่งมีความสำคัญด้านอุตสาหกรรมและเกษตรกรรม มีพื้นฐานทางเศรษฐกิจดี ที่ตั้งของนครทำให้เมืองนี้สำคัญในการสร้างสรรค์เศรษฐกิจของประเทศจีน
ตอนที่เปิดประเทศเพื่อปฏิรูปเศรษฐกิจ ฉงชิ่งก็มีความมั่งคงทางเศรษฐกิจและสังคม ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมฉบับที่ 8 เศรษฐกิจเติบโต 8.5 % อุตสาหกรรมในฉงชิ่งมีอุตสาหกรรมเคมี เครื่องกล อุตสาหกรรมยา และอุตสาหกรรมเบาอื่น ๆ หลายปีมานี้เทศบาลปรับปรุงเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมรถยนต์ รถจักรยานยนต์ ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี ขณะเดียวกันเทศบาลก็ตระหนักถึงความสำคัญของการรักษาสิ่งแวดล้อม มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อเป็นการดึงดูดการลงทุน เรื่องการคมนาคมยังมีปัญหา เพราะเมืองนี้เป็นเมืองภูเขา จะต้องตัดถนนใหม่ไปต้าจู๋ ปัจจุบันได้ลงทุนตัดทางด่วนจากฉงชิ่งไปอู่ฮั่น เลียบไปตามแม่น้ำแยงซี อีกสายจากฉงชิ่งไปจ้านเจียงจะสร้างปีหน้า ขณะเดียวกันก็ประสบความสำเร็จในการเปิดให้ชาวต่างประเทศมาลงทุนตามนโยบายของรัฐบาลกลาง มีผู้มาลงทุนจากต่างประเทศถึง 2,500 ล้านเหรียญสหรัฐ
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 74,80
(น.74) ในศตวรรษที่ 20 นี้ได้เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ถึง 3 ครั้งใน ค.ศ.1931, 1935 และ 1954 ตามลำดับ ภัยน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในค.ศ. 1931 และ 1935 ทำให้พื้นที่เพาะปลูกเสียหายถึง 3.4 และ 1.51 ล้านเฮกตาร์ และผู้คนล้มตายถึง 145,000 คน และ 142,000 คนตามลำดับ ส่วนน้ำท่วมที่เกิดขึ้นใน ค.ศ.1954 นั้นทำให้ท่วมพื้นที่เพาะปลูกถึง 3.15 ล้านเฮกตาร์ ผู้คนล้มตายเพียง 33,000 คน แต่ผู้คนที่ได้รับความเสียหายและมีผลกระทบมากถึง 18.88 ล้านคน ทางรถไฟสายกรุงปักกิ่ง-กวางโจวถูกน้ำท่วมใช้งานไม่ได้ถึง 100 วัน นครอู่ฮั่นถูกน้ำท่วมนานถึง 3 เดือน ดังนั้นเมื่อเขื่อนซานเสียก่อสร้างเสร็จก็จะลดอุทกภัยและความเสียหายลงได้อย่างมากมาย
(น.80) โตรกเขาแรกซึ่งยาวประมาณ 8 กิโลเมตร ตอนทุ่มหนึ่งจอดพักแรมที่อำเภออูซาน อีกวัน (18 สิงหาคม พ.ศ. 2539) จะไปเที่ยวซานเสียเล็กเข้าแม่น้ำต้าหนิงเหอ แล้วผ่านอูเสีย โตรกเขาที่สองยาวประมาณ 44 กิโลเมตร ไปถึงอำเภอจื่อกุย ตอนเย็นดูศาลเจ้าชูหยวน ค่ำวันที่ 18 สิงหาคม เวลาประมาณ 20.30 น. บริษัทท่องเที่ยวจัดการแสดงต่าง ๆ มาให้ชม วันที่ 19 สิงหาคม ออกจากอำเภอจื่อกุย 6 โมงเช้า เข้าซีหลิงเสีย โตรกเขาที่สาม ยาวประมาณ 76 กิโลเมตร 08.00 น.- 10.00 น. ดูโครงการก่อสร้างเขื่อนซานเสีย 12.00 น. ผ่านเขื่อนเก่อโจวป้า 18.00 น. ผ่านเมืองซาซื่อ ในมณฑลหูเป่ย สมัยก่อนเป็นที่ตั้งเมืองโบราณเกงจิ๋วหรือเมืองจิงโจว (เมืองของเล่าปี่) วันที่ 20 สิงหาคม เวลา 07.30 น. ผ่านหน้าผาชื่อปี้ เป็นที่โจโฉแตกทัพเรือ บ่าย 2 โมง ไปนครอู่ฮั่น
เราถามคุณถังกันอีก 2 - 3 เรื่อง คุณถังเล่าเรื่องปลาในแม่น้ำฉางเจียง มีอยู่อย่างหนึ่งเป็นปลาโบราณ มีมาตั้งแต่สมัยไดโนเสาร์ อีกชนิดหนึ่งคือปลาโลมาขาว เป็นปลาที่ต้องอนุรักษ์เช่นเดียวกัน พบในแม่น้ำฉางเจียง 200 – 300 ตัว สถาบันประมงแห่งชาติที่อี๋ชางค้นคว้าวิจัยเรื่องปลาโบราณ สามารถขยายพันธุ์ได้ ปล่อยไปในแม่น้ำแล้วราว 7 แสนตัว โตเต็มที่ยาวเมตรสองเมตร สถาบันที่อู่ฮั่นศึกษาเรื่องปลาโลมาขาว ที่สถาบันมีอยู่ 2 ตัว
ข้าพเจ้าถามถึงปากแม่น้ำว่าน้ำเค็มขึ้นหรือเปล่า คุณถังบอกว่าเดือนมกราคมถึงเดือนเมษายนน้ำลดมาก ฉะนั้นน้ำทะเลจะเข้ามาต้องแก้ไขโดยควบคุมระดับน้ำในแม่น้ำฉางเจียง ยิ่งทำเขื่อนซานเสียจะควบคุมได้ดีขึ้น
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 97
(น.97) นั่งรถไปดูสะพานที่กำลังสร้าง ในรถนายกเทศมนตรีเล่าว่า เมืองนี้ในฤดูร้อน อุณหภูมิสูงสุด 40 องศาเซลเซียส หนาวที่สุด 5 องศาเซลเซียส จึงได้เปรียบในด้านการเพาะปลูก สามารถเก็บเกี่ยวได้ปีละ 3 ครั้ง ด้านอุตสาหกรรมมีอุตสาหกรรมเคมี อาหาร ทอผ้า เครื่องกล ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมเบา ปัจจุบันมีวัสดุก่อสร้าง ปูนซีเมนต์ ดินเผา พลาสติก เครื่องตกแต่งภายใน มหาวิทยาลัยว่านเซี่ยนเพิ่มการพัฒนาอบรมในด้านต่าง ๆ สำหรับการเปลี่ยนแปลงเมื่อเกิดโครงการซานเสีย
สะพานขนส่งทางบกนี้เป็นส่วนของถนน 318 ที่จะเชื่อมนครต่าง ๆ คือ ลาซา เฉิงตู ฉงชิ่ง ว่านเซี่ยน อู่ฮั่น หนานจิง (นานกิง) เซี่ยงไฮ้ เป็นโครงการสำคัญของกระทรวงคมนาคม สะพานนี้ยาว 856 เมตร กว้าง 24 เมตร สูง 250 เมตร การสร้างใช้คอนกรีตเหล็กกล้า ข้ามแม่น้ำโดยใช้โครงสร้างโค้งเดี่ยว ยาว 420 เมตร โครงสร้างลักษณะนี้ในประเทศจีนที่นี่ใหญ่ที่สุด เท่าที่ท่านนายกเทศมนตรีทราบ ยูโกสลาเวียก็มีโครงสร้างแบบนี้ แต่ยาวเพียง 390 เมตร เขตสะพานนี้ต่อไปจะเป็นเมืองใหม่ เริ่มย้ายโรงงานเกลือมาทางนี้แล้ว กำลังสร้างโรงงานดินเผา ศูนย์พาณิชย์ และธนาคารประชาชน
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 159
(น.159) รับประทานอาหารกลางวันแล้วไปที่หัวเรือ ตอนนี้แม่น้ำกว้างมาก พื้นที่เป็นที่ราบ ไม่มีภูเขาแล้ว ตอนนี้ไม่มีอะไรทำ (หมายความว่าไม่ต้องดูอะไร) ก็เลยพยายามเขียนเรื่องต่อ โดยเอาผ้าห่มมาปูที่หัวเรือ เอาหมอนมาด้วย อาจารย์สารสินแต่งกลอนเป็นภาษาอังกฤษเกี่ยวกับซานเสีย ข้าพเจ้าเองว่าจะแต่งอะไรก็ยังแต่งไม่สำเร็จเลย มัวแต่พยายามเขียนเรื่องที่ได้ไปเที่ยวไปดูมา อาจารย์อธิบายว่าจากเขื่อนเก่อโจวป้า ผ่านนครอี๋ชาง ซึ่งเป็นเมืองที่มีฝรั่งต่างชาติมาค้าขายนานแล้ว ต่อไปก็จะถึงนครอู่ฮั่นซึ่งก็เป็นเมืองที่เป็นเมืองท่าค้าขายตามเคย คนอื่น ๆ ก็ออกมาคุย เหมือนกับประชุมกันหน้าเรือตามเคย เช่น ประพจน์ ซุป พี่หวาน ส่วนอ้อยก็มาบ่นเรื่องว่า เท่าที่ฟังมารู้สึกสับสนในเรื่องหน่วยของกระแสไฟฟ้า ไม่รู้ว่าตรงไหนเป็นกิโลวัตต์ เม็กกะวัตต์ กิกะวัตต์ ข้าพเจ้าว่างงอยู่เหมือนกัน คงต้องไปเทียบเอกสารต่าง ๆ ที่ได้มาและถามผู้รู้ ถ้าจะต้องเอาเร็ว ๆ เพื่อเขียนข่าวก็ต้องถามคุณถังให้แน่อีกที
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 172,173,180,181,190,191
(น.172) ขึ้นไปบนเรือ ครูหวางเอาข้อมูลต่าง ๆ ที่จดไว้มาให้ แล้วบ่นว่าเสียดายที่เวลาในแต่ละแห่งน้อยเกินไป หาข้อมูลไม่ค่อยทัน ครูได้ไปสัมภาษณ์คนโน้นคนนี้และเก็บข้อสังเกตไว้ ข้อมูลมากจริง ๆ เวลาจะเขียนต้องหาข้อมูล ลมแรงมาก สักประเดี๋ยวฝนตกแรง เลยชมวิวอยู่ในห้อง ทิวทัศน์ดูแปลกเหมือนกัน ทำคันกั้นน้ำเอาไว้ปลูกต้นไม้บนคัน
อาจารย์สารสินแต่งกลอนภาษาจีนมาได้อีกบทแล้ว
บ่ายสองโมงถึงนครอู่ฮั่น ที่ท่าเรือมีปั้นจั่นเยอะแยะ เห็นหอสูงคงเป็นหอโทรคมนาคม หอนกกระเรียนเหลือง เป็นหอแบบจีน
เมื่อเรือเทียบท่ามีมาดามเกา รองเลขาธิการมณฑลหูเป่ยมาต้อนรับ มาดามเป็นชาวอู่ฮั่น เพิ่งกลับมาจากต่างจังหวัด ไปช่วยน้ำท่วม
นครอู่ฮั่นนี้แบ่งออกเป็น 3 เมือง คือ ฮั่นโข่ว (ฮันเค้า) ฮั่นหยางและอู่ชาง ท่าเรือนี้อยู่ในเมืองฮั่นโข่ว ส่วนหอสูงหวงเฮ่อ (นกกระเรียนเหลือง) อยู่ที่เมืองอู่ชาง ยืนอยู่บนหอนั้น จะมองเห็นเมืองได้ทั้ง 3 ส่วน ที่ท่าเรือมีตึกศุลกากร ซึ่งเป็นตึกเก่าแก่
มาดามเล่าว่าตอนน้ำท่วมนับว่าสูญเสียมาก ในเมืองไม่ท่วมเพราะมีคันกั้นน้ำและกระสอบทราย แต่ชนบทและชานเมืองเสียหายมาก เพราะที่อู่ฮั่นนี้เป็นจุดรวมของน้ำทั้งฉางเจียงและฮั่นสุ่ย น้ำท่วมทุกปีไม่มากก็น้อย (ตอนที่น้ำท่วมข้าพเจ้าดูข่าวโทรทัศน์ ในข่าวก็พูดอย่างนี้เหมือนกัน ไม่ทราบว่าที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ต่ำกว่าที่อื่นหรือไม่) มีคันกั้นน้ำ 70 กว่าแห่ง แต่ปีนี้น้ำท่วมมากสูงกว่าคันกั้นน้ำบ้านเรือนไร่นาของประชาชน พวกชาวบ้านที่มีญาติอยู่ที่อื่นที่น้ำไม่ท่วมก็ไป
(น.173) อยู่กับญาติ บางคนก็เข้าเมืองไปนอนตามโรงเรียน เคราะห์ดีโรงเรียนปิด
น้ำที่ท่วมนั้นเขาว่ามาจากฝนที่ตกหนักมากในเดือนกรกฎาคม น้ำท่วมมากมาประมาณเดือนหนึ่งแล้ว ฝนตกมากแบบนี้ไม่เคยมีมาก่อนในรอบ 100 ปี (คงเหมือนกับที่เราเรียกว่า ฝนพันปี) น้ำท่วมใหญ่ ค.ศ. 1931 ดูตามบันทึกฝนไม่ตกหนักเท่าปีนี้ แต่คนตายถึง 140,000 คน ปีนี้คนตายกว่า 600 คน น้ำท่วมใน ค.ศ. 1931 เจียงไคเช็คมาตรวจสถานการณ์เอง จับผู้นำท้องถิ่นเข้าคุก คราวนี้ดูแลไม่ให้ใครอดตาย ปัญหาคือ ข้าวสารสำหรับแจก เท่าไร ๆ ก็ไม่พอ เกิดโรคต่าง ๆ ต้องเอาหน่วยแพทย์ไปช่วย ต้องพยายามแก้ไขปัญหาที่อยู่อาศัย โรงเรียนก็ใกล้จะเปิดแล้ว ต้องเตรียมให้เด็กเรียนหนังสือได้ การเกษตรปีนี้เก็บเกี่ยวไม่ได้เลย เพราะน้ำท่วมหลายครั้งต้องรอปีหน้า จะต้องใช้วิธีให้ชาวบ้านมีรายได้จากอาชีพอื่น เช่น งานอุตสาหกรรม โรงงานเหล็กของอู่ฮั่นใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศจีน นอกจากนั้นยังมีการประกอบรถยนต์ โรงงานทอผ้า สองสามปีมานี้อุตสาหกรรมเคมีก้าวหน้าเร็วมาก
ข้ามสะพานฮั่นสุ่ยเฉียวซึ่งเชื่อมฮั่นโข่วกับฮั่นหยาง ฮั่นหยางมีโรงงานทำอาวุธสมัย ค.ศ. 1910 – 1920
(น.180) รูป 167 ทิวทัศน์เมืองอู่ฮั่น
(น.181) ขึ้นไปขั้น 5 มองลงมาเห็นอู่ชาง ข้ามฉางเจียงไปฮั่นโข่ว สะพาน 2 ชั้น รถยนต์อยู่ชั้นหนึ่ง ชั้นล่างเป็นทางรถไฟ ส่วนสะพานข้ามฮั่นสุ่ยไปฮั่นโข่ว มองเห็นรถติดน่าดูเหมือนกัน มีป้ายติดคำขวัญไว้ 4 ด้าน จดมาได้แค่ 3 ด้านดังนี้
1. จากจุดนี้มองได้ทั่วแคว้นฉู่
2. ตรงนี้เป็นจุดสูงสุดของภาคใต้
3. สูงเสมอดาวเหนือ
ลงมาข้างล่าง มีป้ายติดที่หอเอาไว้ว่า ได้รางวัลหลู่ปัน เป็นรางวัลสูงสุดทางการก่อสร้าง หลู่ปันเป็นเทพทางสถาปัตยกรรมของจีน
เดินทางไปพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหูเป่ย พิพิธภัณฑ์อยู่เขตฮั่นโข่ว ผ่านที่ว่าราชการมณฑล ย่านการค้า ร้านสรรพสินค้าใหญ่ ศูนย์การค้าจงหนาน ตอนนี้ยังสร้างไม่เสร็จ ถ้าเสร็จแล้วจะเป็นศูนย์การค้าใหญ่ที่สุดของอู่ฮั่น รอบ ๆ ทะเลสาบตงหูมีมหาวิทยาลัย ริมน้ำมีต้นไม้ปลูกเรียงเป็นแถว ผ่านบ้านประธานเหมา ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ที่ผู้นำมณฑลมาประชุม
(น.190) เข้าไปที่ห้องแสดง มีระฆังแถวจำลองสำหรับแสดง เขาเตรียมเก้าอี้เอาไว้ให้พวกเรานั่ง มีคนเล่นระฆังแถว หินแขวน พร้อมกัน 2 คน คนที่ 3 ถือไม้อันโตคอยกระทุ้งให้เป็นเสียงต่ำ ๆ เพลงแรกที่เล่นคือ พระอาทิตย์ขึ้นในทุ่งกว้าง เพลงที่มาจากบทประพันธ์ของชูหยวนคือเพลงอาลัยรัฐฉู่ มีคนเล่นเจิง 2 คน เล่นขลุ่ยอีกคนหนึ่ง ต่อจากนั้นเล่นเพลงของเบโธเฟน เพลงสุดท้ายเป็นเพลง พระเจ้าแผ่นดินออกว่าราชการ
แสดงจบออกไปหน้าพิพิธภัณฑ์ มีร้านแบกะดิน ขายอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะ มีหนังสือสีแดงของท่านประธานเหมา มีหนังสือต่าง ๆ แสตมป์ เป็นต้น
ไปโรงแรม ผ่านมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์หูเป่ย
ถึงโรงแรมนี้ก็แปลก ตึกทุกตึกทาสีแดง ห้องข้าพเจ้าเข้าข้างในก็ตกแต่งแบบจีน
ถึงเวลา 6 โมงครึ่งเดินไปนั่งในห้องรับรอง มีการแนะนำผู้ว่าราชการมณฑล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของมณฑล ฯลฯ ท่านผู้ว่า ฯ บรรยายว่า ท่านอายุ 55 ปี เคยอยู่การบินจีน มาที่นี่ได้ปีเดียว เป็นคนเจียงซู ท่านกล่าวต้อนรับในนามประชาชนหูเป่ย 57 ล้านคน พูดเรื่องโครงการซานเสียและการพัฒนาเศรษฐกิจ ขอถือโอกาสอธิบายเรื่องมณฑลหูเป่ย
มณฑลหูเป่ยอยู่ภาคกลาง เป็นแหล่งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมที่สำคัญของจีน จากอี๋ชางมาอู่ฮั่นเป็นที่ราบ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นเมืองหลวงเมืองใหญ่ มีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมยาวนาน เป็นศูนย์กลางการคมนาคมจาก 9 มณฑล มีพื้นที่ 185,900 ตารางกิโลเมตร
(น.191) ประชากรราว 57.72 ล้าน อุณหภูมิเฉลี่ย 15 – 17 องศาเซลเซียส ฝนตกถึง 1,300 - 1,700 มิลลิเมตรต่อปี อากาศไม่หนาวนัก จึงเพาะปลูกได้ผลดี การอุตสาหกรรมมีมานานแล้ว มีแหล่งเหล็กกล้า การทอผ้า เครื่องเคมี การประกอบเครื่องยนต์ บริษัทเหล็กกล้าของอู่ฮั่นแต่ละปีผลิตเหล็กกล้าได้ 900 กว่าตัน ประกอบรถยี่ห้อตงเฟิง ซานเสียก็อยู่ในหูเป่ย หูเป่ยสำคัญมากเพราะเป็นศูนย์การคมนาคม 9 มณฑล มีแม่น้ำ 6 สาย แม่น้ำฉางเจียงที่ไหลผ่านมณฑลนี้ยาว 1,061 กิโลเมตร แม่น้ำฮั่นสุ่ย 800 กว่ากิโลเมตร ใช้แม่น้ำเหล่านี้ในการคมนาคมขนส่งของมณฑล การศึกษาเป็นอันดับ 5 ในประเทศ มีมหาวิทยาลัย 62 แห่ง ระบบการศึกษาก้าวหน้า แต่ละปีส่งนักเทคนิคไปศึกษาต่างประเทศ ตามนโยบายการปฏิรูปเปิดประเทศ การค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น มีบริษัทที่ร่วมทุนกับทางมณฑล 6,200 บริษัท มวลรวมการผลิต 12.9 % มณฑลหูเป่ยปีนี้น้ำท่วมมาก 100 ปีไม่เคยมีแบบนี้เลย การเกษตรเสียหายมาก ทั้ง ๆ ที่จวนจะเก็บเกี่ยวได้แล้ว ผู้นำประเทศให้ผู้นำของมณฑลต่อสู้ต่อไป เพื่อสร้างเศรษฐกิจให้ชาวบ้าน เรื่องเขื่อนซานเสียนั้น การก่อสร้างที่ซานโต่วผิงจะเป็นประโยชน์ทั่วประเทศ การก่อสร้างส่วนใหญ่อยู่ที่หูเป่ย ปีหน้าจะกั้นเขื่อนแล้ว (พูดเรื่องโครงการเขื่อนซานเสีย)
น้ำท่วมคราวนี้มณฑลหูเป่ยถูกน้ำท่วมหนักที่สุด 6 เมือง รวมทั้งอำเภอผู่ฉีที่ข้าพเจ้าไปดูสถานที่ที่โจโฉแตกทัพเรือ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นไปด้วยดี ผู้นำมณฑลออกไปช่วยชาวบ้านกันหมด มาดามเกา รองเลขา ฯ ก็เพิ่งกลับมา ท่านผู้ว่าราชการมณฑลเองก็เพิ่งนั่งรถกลับมา ใช้เวลา 4 ชั่วโมงเพื่อต้อนรับข้าพเจ้า เที่ยวนี้พยายามเต็มที่ไม่ให้ใครอดตาย น้ำสูงมากอยู่ 20 กว่าวัน ตอนนี้ลดลงมาบ้าง
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 208
(น.208) ข้าพเจ้ากล่าวว่าได้ไปเห็นน้ำท่วมที่อู่ฮั่น ท่านรองนายกรัฐมนตรีว่าแถบนั้นเป็นเขตน้ำมาก การทำเขื่อนบริเวณนั้นจึงเป็นการป้องกันน้ำท่วมอย่างหนึ่ง ข้าพเจ้ามอบเงินจำนวน 80,000 เหรียญสหรัฐของรัฐบาลไทยที่ให้นำมาแก่ท่าน
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 224,225
(น.224) เขื่อนนี้แม้สำคัญในการผลิตไฟฟ้า แต่ก็ทำขึ้นเพื่อป้องกันน้ำท่วมด้วย น้ำในแม่น้ำฉางเจียงท่วมอู่ฮั่นเสมอ เป็นอันตรายมาก ค.ศ. 1993 ก็ท่วม ปีนี้ท่วมหนักกว่า แต่การป้องกันดีกว่า จึงไม่เกิด
(น.225) เหตุเหมือนคราวก่อน ยิ่งถ้าสร้างเขื่อนเสร็จจะลดปริมาณน้ำท่วมไปมาก
ข้าพเจ้าสงสัยว่าการทำเขื่อนนี้จะป้องกันน้ำท่วมอู่ฮั่นได้อย่างไร เนื่องจากใต้เขื่อนยังมีแม่น้ำอีกหลายสาย มีระบบเขื่อนเล็กๆ ที่อื่นอีกหรือเปล่า
ท่านนายกรัฐมนตรีบอกว่ายังมีโครงการเล็กๆ อีกหลายโครงการ เช่น แถวๆ อู่ฮั่นมีแม่น้ำชิงเจียง แม่น้ำฮั่นสุ่ย ที่มณฑลหูหนานอีก 4 แห่ง และยังมีอีกหลายเขื่อน เช่น ที่แม่น้ำหย่าหลงเจียงในมณฑลเสฉวน มีศักยภาพผลิตไฟฟ้าได้ 33,438.8 เม็กกะวัตต์ นอกจากนี้ยังมีที่ทะเลสาบต้งถิงหู แม่น้ำเซียงเจียง แม่น้ำจือสุ่ย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่น่าสนใจที่สุดคือ เขื่อนเออร์ทาน ซึ่งจะผลิตไฟฟ้าได้ 3,300 เม็กกะวัตต์ โครงการเขื่อนเออร์ทานอยู่บนลุ่มน้ำสาขาของแม่น้ำฉางเจียงช่วงตอนบน ชื่อ แม่น้ำจินซาเจียง เป็นเขื่อนคอนกรีตรูปโค้ง (arch dam) กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้าง คาดว่าเครื่องแรกจะเสร็จใน ค.ศ. 1998 ติดตั้งเครื่องกำเนิดไฟฟ้า 6 เครื่อง เครื่องละ 550 เม็กกะวัตต์
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 314,315,318
แม่น้ำแยงซี
แม่น้ำสายนี้เรียกชื่อภาษาจีนว่า ฉางเจียง (Chang Jiang) แปลว่า แม่น้ำยาว คำว่า แยงซี (Yangtze, Yangze Kiang) ได้ชื่อมาจากรัฐโบราณชื่อ Yang (เข้าใจว่าอยู่ตอนล่างของแม่น้ำ) การนำมาใช้เป็นชื่อของแม่น้ำตลอดสาย ชาวตะวันตกเป็นผู้ริเริ่มขึ้นก่อน เดิมมีชื่อภาษาอังกฤษว่า Blue River แต่ที่จริงไม่ค่อยตรง เพราะโดยมากสีเป็นสีกาแฟใส่นม ตอนต้น ๆ เท่านั้นที่ใสเรียกเป็นแม่น้ำเขียวหรือฟ้าได้
แม่น้ำสายนี้เป็นแม่น้ำที่ยาวที่สุดในประเทศจีนและของทวีปเอเชีย ยาวเป็นที่สี่ของโลก
- ความยาวตลอดสาย 3,434 ไมล์ (5,525 กิโลเมตร)
- เขตลุ่มน้ำ ยาว 2,000 ไมล์ จากตะวันตกไปตะวันออกกว้างมากกว่า 600 ไมล์
- ไหลผ่านมณฑลต่าง ๆ ตลอดมณฑลหรือบางส่วน รวม 12 มณฑล
- มีแควใหญ่ไหลลงสู่แม่น้ำทั้งหมด 8 แคว
ลุ่มน้ำแยงซีเป็นอู่ข้าวอู่น้ำของเมืองจีน ผลผลิตทางการเกษตรประมาณครึ่งหนึ่งของจีน ได้จากลุ่มน้ำแยงซี เฉพาะข้าวนับเป็น 70
(น.315) เปอร์เซ็นต์ของที่จีนผลิตได้ พืชผลอื่น ๆ คือฝ้าย ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ถั่ว เฮมป์
เมืองใหญ่ตามลุ่มน้ำคือ เซี่ยงไฮ้, นานกิง, อู่ฮั่น, ฉงชิ่ง เมืองเหล่านี้มีประชากรเกินล้านคน
เขตลุ่มน้ำ มีประชากรสองร้อยล้านคน
ลักษณะทางกายภาพ
ต้นน้ำ ไหลผ่านที่ราบสูงทิเบต ประชากรส่วนมากทำการเกษตรรายย่อย อากาศอบอุ่นในฤดูร้อน หนาวในฤดูหนาว เวลาเพาะปลูกประมาณ 4 – 5 เดือน ผู้คนที่อยู่ในเขตนี้มีชาวทิเบตเป็นส่วนใหญ่ นอกนั้นเป็นชาวจีน เนปาล อินเดีย บ้างเล็กน้อย เขตเขาสูงทางตะวันตกเฉียงใต้ มีชาวจีนเป็นส่วนมาก อาชีพทำการเกษตรรายย่อยเช่นกัน
ต้นน้ำมีสองแห่ง อยู่ในภูเขา Tang-ku-la Shan-mo เขตที่เป็นต้นน้ำ สูง 18,000 ฟุต (5,500 เมตร) จากระดับน้ำทะเล และต้นน้ำหลัก (อยู่ทางใต้) ชื่อ Ulan Muren (ภาษาทิเบต) แม่น้ำในช่วงนี้ไหลผ่านที่ราบหุบเขากว้าง ๆ ไม่ลึกนัก มีทะเลสาบ บึงบ้างพอสมควร ลักษณะแม่น้ำมาเปลี่ยนมากเมื่อสุดแดนที่ราบสูงทิเบตทางตะวันออก เพราะระดับพื้นที่ต่ำลงอย่างรวดเร็ว แม่น้ำไหลผ่านภูเขา Pa-yen-k’a-la Shan คดเคี้ยวไปมาตามโตรกเขา เกิดเป็นหุบเขาแคบ ๆ ลึกประมาณ 1 – 2 ไมล์ ยอดเขาแต่ละยอดสูงเกิน 16,000 ฟุต มีธารน้ำแข็งและหิมะปกคลุมอยู่ตลอดปี จากนั้นแม่น้ำไหลไปทางตะวันออกเฉียงใต้ แล้วไหลลงไปทางใต้
(น.318) แก่การเพาะปลูก ช่วงเวลาที่เพาะปลูกได้ประมาณ 8 – 11 เดือน บางที่สามารถปลูกพืชได้ 2 – 3 ครั้งต่อปี
เขตนี้เป็นเขตที่มีการเกษตร การอุตสาหกรรมหนาแน่น และพัฒนามากที่สุดของจีน มีคนจีนอยู่โดยมาก ประชากรหนาแน่น
แม่น้ำในช่วงนี้ มีแควใหญ่น้อยมากมาย ระบบแม่น้ำซับซ้อนขึ้นมาก มีทะเลสาบอยู่เป็นตอน ๆ แม่น้ำไหลผ่านเมืองอู่ฮั่นไปสู่ที่ราบลุ่ม นำตะกอนที่พัดพามาทับถมในเขตทะเลสาบหยุนเหมิน ทะเลสาบในเขตนี้มีหลายแห่งเป็นแหล่งเศรษฐกิจสำคัญ เพราะมีปลา สัตว์น้ำอุดมสมบูรณ์ แม่น้ำในช่วงนี้อาจกว้างถึง 2,600 ฟุต ลึกกว่า 100 ฟุต กระแสน้ำไหลประมาณ 2 – 3 ฟุตต่อวินาที มีการก่อคันกั้นตามตลิ่งเพื่อกันน้ำท่วม
บนฝั่งแยงซีตรงที่รวมกับฮั่นสุ่ย (แม่น้ำฮั่น) มีเมืองฮั่นหยาง และฮั่นโข่ว ทางฝั่งซ้าย อู่ชาง ทางขวา ต่อมารวมกันเป็นเมืองขนาดใหญ่ชื่อ อู่ฮั่น เป็นเขตที่มีการทำเหมืองโลหะ มีโรงงานถลุงโลหะ และเป็นเมืองท่าสำคัญ เมื่อไหลต่อไปทางตะวันออก แม่น้ำไหลผ่านเขตที่มีทัศนียภาพสวยงามออกไปสู่เขตที่เป็นที่ราบ มีทะเลสาบใหญ่อีกแห่งหนึ่งชื่อ โป๋หยาง แล้วจึงไหลขึ้นไปทางตะวันออกเฉียงเหนือ แม่น้ำตอนนี้ขยายกว้างถึง 3,000 – 6,000 ฟุต บางแห่งลึกถึง 100 ฟุต เขตนี้มีเมืองใหญ่ ๆ หลายเมือง เช่น ซูโจว เซี่ยงไฮ้ คลองใหญ่ (The Grand Canal) ก็ขุดจากบริเวณปากน้ำนี้
เขตดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำ บริเวณนี้แม่น้ำแยกเป็นสายเล็กสายน้อย มีทะเลสาบ แนวน้ำเก่า เขตที่ลุ่มน้ำขัง ในฤดูน้ำหลากเขตนี้จมน้ำทั้งหมด ทะเลสาบไท่หูเป็นทะเลสาบใหญ่ที่สุดใน
มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 5
(น.5) เครื่องบินการบินไทยเที่ยวพิเศษ (ธรรมดาไม่มีบินวันนี้) บินตรงไปปักกิ่ง ผ่านพม่า ยูนนาน (คุนหมิง) เมืองอู่ฮั่น ออกเดินทาง 11 โมง เวลาไทย ถึงปักกิ่ง 16.45 น.(เวลาปักกิ่งเร็วกว่าเวลากรุงเทพฯชั่วโมงหนึ่ง)
ใต้เมฆที่เมฆใต้
ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 92
(น.92) กลับโรงแรม คนอื่นๆ ไปซื้อของกันพักหนึ่ง แล้วกลับมาบอกว่าได้กลับมาเร็ว เพราะว่าไปซื้อของในร้านของรัฐบาลซึ่งปิดหกโมงเย็น ถ้าเป็นร้านของเอกชนปิดสามทุ่ม รับประทานอาหารคุยกันเรื่องการไปล่องแม่น้ำแยงซีเกียง ซึ่งปัจจุบันมีเรือแล่นจากฉงชิ่งไปอู่ฮั่น ถ้าจะไปต่อก็ไปถึงปากน้ำเมืองเซี่ยงไฮ้ ต้องศึกษาดูก่อนว่าจะไปได้อย่างไร และต้องรีบไปเมื่อมีโอกาส เกรงว่าถ้าต่อไปเมื่อจีนสร้างเขื่อนไฟฟ้าแล้ว ภูมิประเทศแถบนี้จะเปลี่ยนไป อยากเห็นในช่วงนี้ก่อนการสร้างเขื่อน
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 244
(น.244) รูป 184 ถ่ายรูปกับ Prof. โฮห์นโฮลซ์-ภริยา Prof. เฉินซูเผิง และ Prof. เสี่ยวเค่อ ที่ร้านอาหารเย่ซานจุน
With Professor Hohnholz and his wife, Professor Chen Shupeng and Professor Xiaoke at Yeshanjun restaurant.
(น.244) โปรเฟสเซอร์โฮห์นโฮลซ์เดิมเป็นศาสตราจารย์ทางภูมิศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัย Tübingen ประเทศเยอรมนี และเป็นผู้อำนวยการสถาบันความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์ ต่อมาโปรเฟสเซอร์เกษียณอายุ สถาบันก็ล้มไปแล้ว พอดีมีคนจีนไปร่วมประชุมวิชาการที่มาเลเซียได้ฟังโปรเฟสเซอร์พูดพอใจ จึงชวนมาเป็นที่ปรึกษานายกเทศมนตรีนครอู่ฮั่น ภริยาของโปรเฟสเซอร์ออกจากงานติดตามมาได้ เพราะทำงานเป็นครูภูมิศาสตร์ครบ 40 ปี ข้าพเจ้ารู้จักโปรเฟสเซอร์โฮห์นโฮลซ์มาเกือบ 20 ปีแล้ว ติดต่อเขียนจดหมายถึงกันในเรื่องภูมิศาสตร์มาตลอด
เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 93
(น. 93) ข้าพเจ้าว่า เมื่อสามปีก่อนไปล่องแม่น้ำฉังเจียง ลงเรือที่นครฉงชิ่งไปขึ้นบกที่นครอู่ฮั่น ต่อทางบกไปหวงซาน เซี่ยงไฮ้ คราวนี้เหมือนได้ดูต่อลงมา คราวก่อนดูโครงการเขื่อนซานเสีย เมื่อโครงการเสร็จเรียบร้อยแล้วจะไปอีกเพื่อดูว่ามีความเปลี่ยนแปลงอย่างไร
คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 44,50
(น.44) รูป 33 ป้ายอธิบายเกี่ยวกับหันหยู
(น.44) ที่หมายที่ 3 วัดไคหยวน
(น.50) รูป 45 เจ้าอาวาสให้ของที่ระลึก
(น.50) ก่อนที่จะออกจากวัด มีคนไทยมาทัก เขาบอกว่าเขาไปล่องแม่น้ำแยงซีไปถึงอู่ฮั่นและบินมาเที่ยวที่นี่ต่อ
เกล็ดหิมะในสายหมอก
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 1 ปักกิ่ง หน้า 98
(น.98) สถานีทดลองนี้มีชื่อว่า จิ้งเยว่ถาน ศึกษาเรื่องการแผ่รังสีของดวงอาทิตย์ ใช้เครื่อง Radiometer วัด ติดตามผลผลิตป่าไม้ มีสถาบันภูมิศาสตร์ (Institute of Geography) ทำโมเดลทางคณิตศาสตร์เรื่องผลผลิตทางการเกษตร เน้นหนักเรื่องข้าวโพด (ข้าวเจ้าทำที่อู่ฮั่นและนานกิง ข้าวสาลีทำที่ปักกิ่ง) ศาสตราจารย์วังอันฝูเป็นผู้อำนวยการโครงการ