Please wait...

<< Back

ราชวงศ์ฮั่น

จากหนังสือ

เกล็ดหิมะในสายหมอก
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 2 เหลียวหนิง หน้า 25-26

(น.25) ขึ้นไปชั้น 2 ห้อง 4 สมัยฉินและสมัยฮั่นที่จริงเขามีคำอธิบายภาษาอังกฤษ แต่ไม่มีเวลาอ่าน ถึงปลายสมัย จ้านกว๋อ มีการปกครองเป็นมณฑลและเมือง สมัยฮั่นขยายอิทธิพลไปเกาหลี จิ๋นซีฮ่องเต้สร้างกำแพงเมืองจีนกั้นพวกเผ่าอนารยชน รวมประเทศ สร้างมาตราชั่งตวงวัดเป็นระบบเดียวกัน ของที่มีในสมัยนั้นมีเครื่องถ่วงน้ำหนักสำหรับชั่ง หัวคันไถซึ่งใหญ่มาก เศษกระเบื้องเชิงชาย วังของจิ๋นซี แถวๆซานไห่กวานใกล้มณฑลเหลียวหนิงแต่อยู่ในเขตเหอเป่ย เป็นสถานที่เกิดเรื่องเล่าซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีว่าเมิ่งเจียงหนู่ซึ่งสามีถูกเกณฑ์มาสร้างกำแพงเมืองจีนแล้วตายไปมาร้องไห้แล้วโดดทะเลกลายเป็นหิน แถบนี้กล่าวกันว่าจิ๋นซีฮ่องเต้เคยเสด็จ พบหมู่บ้านสมัยจ้านกว๋อ พบสุสานสมัยฉิน อายุราว 2,000 ปี มีภาพการล่าสัตว์ เครื่องเซรามิกของพวกเหลียวเหนือ

(น.26) และพวกเหลียวใต้ ตอนเหนือของมณฑลเหลียวหนิงมีพวกฉยุงหนู (ซึ่งเป็นผู้ร้ายใหญ่ในเรื่องเส้นทางสายไหม) ของสมัยฮั่นตะวันตก พบดาบชนิดต่างๆทำด้วยเหล็ก คันฉ่องโลหะซึ่งใช้เป็นเครื่องมือใส่ในหลุมศพ

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 5 ภาคผนวก หน้า 3

(น.3) 7. ราชวงศ์ฮั่น ก่อน ค.ศ. 206 – ค.ศ. 220
ราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ก่อน ค.ศ. 206 – ค.ศ. 8
หวังหมางยึดอำนาจ (ราชวงศ์ซิน) ค.ศ. 8 – 23
ราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ค.ศ. 25 – 220

คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 72

(น.72) ขึ้นไปดูที่ชั้น 2 แสดงประวัติศาสตร์สมัยฮั่นถึงสมัยหยวน ตั้งแต่สมัยฮั่น กวางโจวเป็นเมืองท่าที่ส่งเรือออกไปติดต่อเกาะไหหลำ เกาะพาราเซลส์ (จีนเรียกซีชา) และทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีเครื่องปั้นดินเผาสมัยราชวงศ์ฮั่น ทั้งที่เป็นภาชนะถ้วยชาม และของอื่นๆ เช่น มีรูปบ้านจำลองยกพื้นสูง ดูลักษณะเหมือนบ้านไทยมากกว่าบ้านจีน คอกสัตว์ มีวัว ไก่ ม้า ยุ้งข้าวทรงกลม แผนที่แสดงเส้นทางแพรไหมทางทะเล (ที่จริงสินค้าสำคัญของเส้นทางนี้เป็นเครื่องถ้วยจีนมากกว่าไหม) เขาทำให้เห็นว่าการค้าขายทางทะเลนั้น ในยุคไหนคนจีนเดินทางไปทางไหน และคนต่างชาติยุคไหนเดินทางมาจีน และเดินทางโดยใช้เส้นทางใด

เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 74,76

(น. 74) พิพิธภัณฑ์ศิลปะและโบราณคดีอาเธอร์ เอ็ม. แซคเกลอร์ มหาวิทยาลัยปักกิ่ง (Arthur M. Sackler Museum of Art and Archaeology at Peking University)
8. เครื่องปั้นดินเผาสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (ก่อน ค.ศ. 206 – ค.ศ. 8) มีเครื่องปั้นดินเผาเป็นรูปเครื่องใช้ประจำวันของคนตาย แต่ก่อนเคยมีธรรมเนียมพิธีศพของผู้มีอำนาจจะต้องฝังข้าทาสบริวารลงไปด้วย เป็นการฝังทั้งเป็น แต่ในสมัยราชวงศ์ฉินมีการเปลี่ยนประเพณีเป็นการใช้ตุ๊กตาฝังลงไปแทน และได้ปฏิบัติสืบต่อมาในสมัยหลัง มีอาคารบ้านเรือนจำลองของผู้คน ทำเป็นเรือน มีเล้าหมู (มีห้องสุขาอยู่มุมเล้าหมู) คอกแพะ ยุ้งข้าว บ่อน้ำ สิ่งของเครื่องใช้ เช่น ครกกระเดื่อง

(น. 76)
11. ของที่พิพิธภัณฑ์ได้มาใหม่ เครื่องปั้นดินเผาจำลองและหม้อเผากำยานสมัยราชวงศ์ฮั่น เครื่องเคลือบสมัยราชวงศ์ถังและสมัยห้าราชวงศ์ (ค.ศ. 907 – ค.ศ. 960) จากหูหนาน มีชาวเกาหลีไปซื้อมาบริจาคให้

เจียงหนานแสนงาม หน้า 109,111,117-118

(น. 109) พิพิธภัณฑ์นานกิง หรือ พิพิธภัณฑ์มณฑลเจียงซู ห้องหยก แสดงหยกโบราณจนถึงสมัยราชวงศ์ชิง ใส่ตู้ตั้งเรียงรายไปแบบเดิม มีคำอธิบายดีพอประมาณ ผู้อำนวยการอธิบายไปพลางออกตัวไปพลางว่า พิพิธภัณฑ์นี้ไม่ดีเท่าไร เพราะว่าสร้างมานานแล้ว อาคารใหม่เสร็จจะจัดแสดงได้ดีกว่านี้ ของเขาดีๆ ทั้งนั้น มีชุดหยกที่ใช้บรรจุศพ สมัยก่อนเชื่อกันว่าจะทำให้ศพไม่เน่า (แต่ก็ไม่เป็นจริงเพราะศพที่ขุดได้ก็เน่าทั้งนั้น) ด้ายที่ร้อยแผ่นหยก แบ่งออกเป็นหลายชั้น ถ้าเป็นของจักรพรรดิจะเป็นทอง ของเจ้านายชั้นสูงเป็นเงิน ทองแดงและไหม ลดหลั่นกันไป เสื้อที่จัดแสดงอยู่นี้ร้อยด้วยเงิน พบสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก (ค.ศ. 25 - ค.ศ. 220)

(น. 111) เครื่องเขิน เดิมลงรักไปบนเครื่องปั้นดินเผาสมัยเมื่อ 5,000 – 6,000 ปีมาแล้ว ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่นเป็นต้นมาจึงใช้โครงไม้แล้วลงรัก ในตู้นี้เขาเก็บเครื่องลงรักทั้งสีดำและสีแดงของทุกสมัย เครื่องลงรักแบบหยังโจว คือลงรักสีแดงให้หนาแล้วแกะลายของบางชิ้นก็ฝังมุก มีทองแดงลงรักปิดทองก็มี หรูอี้ลงรักแดงแกะลายสมัยจักรพรรดิเสียนเฟิง (ค.ศ. 1851 – ค.ศ. 1861) แห่งราชวงศ์ชิง ข้าพเจ้าไม่เคยเห็นหรูอี้แบบนี้ เคยเห็นแต่ที่เป็นหยก นอกจากนั้นมีกล่องใส่อาหารลงรักแดงบนพื้นดำ แกะลายเป็นทิวทัศน์และเขียนตัวหนังสือ ยางรักส่วนใหญ่มาจากมณฑลยูนนาน เครื่องปั้นดินเผา มีศิลาดล มีประวัติว่าพวกเย่ว์เป็นผู้ทำตั้งแต่สมัยหินใหม่ พวกเย่ว์นี้อยู่ทางใต้ของแม่น้ำแยงซีในสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก จากนั้นมีมาเรื่อยจนถึงราชวงศ์ชิง

(น. 117) พิพิธภัณฑ์นานกิง
จากนั้นผู้อำนวยการให้ดูของสำคัญของพิพิธภัณฑ์
1. แจกันสำริด สมัยจั้นกั๋ว สูงฟุตกว่า ตัวแจกันฝังลายทองตลอด ลายดอกเหมยถักตาข่าย ขุดพบเมื่อ ค.ศ. 1982 แสดงความรู้ทางเทคนิคการหล่อสำริดชั้นสูง

(น. 118)
2. จักจั่นทองเกาะใบไม้หยก เป็นของสมัยราชวงศ์ชิง เข้าใจว่าเป็นเครื่องประดับศีรษะของผู้หญิง
3. เสือดาวทองคำสมัยราชวงศ์ฮั่น ขุดพบพร้อมกับแจกันสำริด วางอยู่บนแจกัน ที่รู้ว่าเป็นของสมัยราชวงศ์ฮั่นนั้น เพราะขุดพบในสนามรบบ้านเกิดของนายพลสมัยฮั่น ทองคำหนัก 9 กิโลกรัม เสือดาวนี้ถือเป็นสัญลักษณ์ของการมีทรัพย์

เจียงหนานแสนงาม หน้า 173-174,207

(น. 173) รายการแรกวันนี้ไปพิพิธภัณฑ์หยังโจว เดิมเป็นวัดในสมัยราชวงศ์ชิง ต่อมาเป็นโรงพิมพ์ที่ใช้แม่พิมพ์ไม้ แล้วเป็นพิพิธภัณฑ์

(น. 174) “วิหาร” หลังใหญ่เป็นที่เก็บโบราณวัตถุที่พบในเมืองหยังโจว เมืองนี้มีประวัติมายาวนานมาก มี 3 ช่วงที่เจริญรุ่งเรืองยิ่งคือสมัยราชวงศ์ฮั่น ถัง และชิง จึงเป็นเมืองหนึ่งใน 24 เมืองที่รัฐบาลประกาศเป็นเมืองสำคัญทางประวัติศาสตร์ ได้ดูของต่างๆ ที่จัดแสดงไว้ตามลำดับเวลาดังนี้ สมัยราชวงศ์ฮั่น หยังโจวมีฐานะเป็นแคว้นชื่อว่า ก่วงหลิง ขุดพบสิ่งของในสุสานของหลิวลี่หวัง อยู่บนเขาเกาฉวน ของที่พบมีกระเบื้อง เครื่องใช้ในสุสาน ตราลัญจกรรูปเต่า เครื่องประดับทองคำและอาวุธ สมัยนั้นมีการขุดบ่อน้ำ มีการใช้วงท่อคล้ายๆ กับที่เราใช้กรุบ่อน้ำสมัยนี้ นอกจากนั้นมีเครื่องสำริด เครื่องเขินสีแดง (เวลาจัดแสดงต้องแช่น้ำเพื่อกันเสีย) เครื่องปั้นดินเผาสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก ทำเป็นรูปเล้าหมู เสื้อสำหรับสวมให้ศพราวๆ สมัยกลางราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ทำด้วยกระจกเคลือบ (ไม่ได้ทำด้วยหยก) กระจกพวกนี้ผู้บรรยายว่านำเข้าจากโรม บางส่วนทำเองในประเทศจีนสีเหมือนหยก ทำลวดลายมังกร เครื่องไม้ต่างๆ ก็ต้องแช่น้ำกันเสียเช่นเดียวกับเครื่องเขิน

((น. 207) ท่านเล่าว่าวัดนี้มีประวัติมา 1,600 ปีแล้ว มีเนินเขา 2 แห่ง ที่มีชื่อเสียงในเมืองนี้คือ จินซานกับเจียวซาน เหมือนหยก 2 ก้อนลอยอยู่ในแม่น้ำ ที่นี่มีของสำคัญเก็บไว้คือ
1. ติ่ง คือภาชนะสำริด 3 ขา สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ภาชนะแบบนี้มีวิธีใช้ 2 อย่างคือ ใช้ในกองทัพ (ทหารทำกับข้าวหรือพิธีกรรม) และใช้ในพิธีกรรม ติ่งใบนี้เป็นของโจวซวนหวัง มีคำจารึกอยู่ข้างใน
2. เข็มขัดหยกของซูตงปัว กวีเอกและขุนนางสมัยราชวงศ์ซ่ง เข็มขัดนี้มีหยก 20 ชิ้นร้อยติดกัน มีเรื่องเล่ากันว่าสมัยที่ซูตงปัวเป็นเจ้าเมืองหยังโจว ช่วงหนึ่งเจ็บป่วยมาก อยากลาออก จึงมาปรึกษาเจ้าอาวาสวัดนี้ ซึ่งเป็นเพื่อนกัน เจ้าอาวาสแนะนำให้ลาออกแถมให้ทิ้งเมียน้อยให้หมด เพราะชีวิตเหมือนเทียนใกล้ดับ ส่วนจารึกที่เขียนไว้อยู่ในสมัยจักรพรรดิเฉียนหลง ราชวงศ์ชิง เป็นเรื่องการเสด็จเจียงหนาน
3. ภาพวาดจินซานอยู่กลางน้ำ สมัยราชวงศ์หมิง รัชกาลจักรพรรดิเจียจิ้ง (ค.ศ. 1522 – 1566) ฝีมือเหวินจื่อหมิง

เจียงหนานแสนงาม หน้า 218

(น. 218)พิพิธภัณฑ์เจิ้นเจียง จัดแสดงสิ่งของในสมัยต่างๆ ดังนี้
ขึ้นไปชั้นบน จัดแสดงสิ่งของในสมัยต่างๆ ดังนี้
1. สมัยราชวงศ์ฮั่น จัดแสดงพวกบ้านเรือนจำลองทำด้วยดินเผาสำหรับใส่ในสุสานไว้ให้คนตายอาศัยอยู่ในปรโลก ทำนองเดียวกับบ้านและข้าวของต่างๆ ในพิธีกงเต๊ก รูปแบบสถาปัตยกรรมเป็นแบบจีนใต้ สังเกตได้ว่าบ้านเรือนนิยมสร้างบนเสาสูง มีใต้ถุนเพราะบริเวณทางใต้มีน้ำมาก บนหลังคามีรังไก่เพื่อระบายอากาศหรือระบายความชื้น มีหอสูง ใช้ดูไร่นา มีบ้านอีกแบบหนึ่งเป็นบ้านสองชั้น มีเฉลียงรอบบ้าน ใช้กระเบื้องดินเผามุงหลังคา สมัยนั้นยังไม่มีการใช้ดีบุก

เจียงหนานแสนงาม หน้า 291-292

(น. 291) สมัยราชวงศ์ฉิน ฮั่น หกราชวงศ์ ในสมัยราชวงศ์ฮั่นเริ่มพบว่ามีการหลอมเหล็กและหลอมทองแดง พบเครื่องมือทำการเกษตร คันฉ่อง ตุ๊กตาดินเผา ศิลาจารึกของหวังซีจือ และศิลาจารึกอื่นๆ

(น. 292) ไปอีกตึกหนึ่ง แสดงเครื่องปั้นดินเผาของเจ้อเจียงตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซังถึงราชวงศ์ชิง สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก สมัยชุนชิวพบเครื่องปั้นดินเผาปั้นเลียนแบบเครื่องสำริด สมัยราชวงศ์ฮั่นมีตุ๊กตาหน้าตาเหมือนคนอินเดีย สมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก สมัยสามก๊ก สมัยราชวงศ์จิ้นตะวันออกและพวกราชวงศ์ใต้ มีเครื่องปั้นดินเผาสีดำเต๋อชิง สมัยราชวงศ์สุย ถัง ห้าราชวงศ์ มีเครื่องปั้นดินเผาที่ส่งถวายจักรพรรดิ และของที่พบในสุสาน

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 162-163

(น.162) วัดนี้สร้างเสร็จใน ค.ศ. 779 ก่อนหน้านี้ถึงแม้ว่าพุทธศาสนาจะเข้ามาในทิเบตแล้ว แต่ยังไม่มีพระสงฆ์และการประกอบพิธีกรรมที่ถูกต้อง กษัตริย์ฉือซงเต๋อจ้าน (ตรีซงเตเซน Trisong Detsen) ผู้สร้างวัดซังเยจึงตัดสินใจเชิญพระ 3 รูป คือ พระศานตรักษิตะ พระปัทมสัมภวะ แต่ต่อมาเชิญพระกมลศีละจากอินเดีย พระปัทมสัมภวะเป็นผู้เลือกสถานที่ก่อสร้าง และพระศานตรักษิตะเป็นผู้ออกแบบ เมื่อสร้างเสร็จแล้วพุทธศาสนากลายเป็นศาสนาประจำรัฐ ทางวัดเชิญพระผู้มีความรู้จากจงหยวนและอินเดียมาแปลพระสูตรเป็นภาษาทิเบต (คำว่า จงหยวน ภาษาจีนแต้จิ๋วว่า ตงง้วน หรือ China Proper ในภาษาอังกฤษนั้น คือ พื้นที่ช่วงกลางและช่วงใต้ของลุ่มแม่น้ำหวงเหอ ที่เป็นจุดกำเนิดอารยธรรมลุ่มแม่น้ำหวงเหอ พื้นที่ส่วนใหญ่ของจงหยวนอยู่ในมณฑลเหอหนาน บางส่วนอยู่ทางตะวันตกของมณฑลซานตง ทางใต้ของมณฑลเหอเป่ยกับมณฑลซานซี) กษัตริย์ฉือซงเต๋อจ้านคัดเลือกขุนนาง 7 คนมาบวชเป็นลามะ 7 รูปแรก วัดซังเยจึงเป็นวัดแรกที่ถึงพร้อมด้วยพระรัตนตรัย คำว่า ซัมเย่ (หรือ ซังเย ตามเสียงภาษาจีน) เป็นภาษาทิเบต แปลว่า “คิดไม่ถึง” เมื่อกษัตริย์ฉือซงเต๋อจ้านกล่าวขึ้นว่าจะสร้างวัด พระปัทมสัมภวะใช้เวทมนตร์เสกภาพวัดขึ้นมาในอุ้งมือ
เมื่อเข้าไปเป็นห้อง มีรูปปั้นนักแปลมีชื่อเสียง มีรูปผู้สร้าง 3 ท่านที่ได้กล่าวนามมาข้างต้น
สถาปัตยกรรมของวัดนี้เลียนแบบเขาพระสุเมรุ สูง 3 ชั้น มี 3 แบบ คือ แบบทิเบต แบบจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น และแบบเนปาล

(น.163) ชั้นล่างเป็นแบบจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น เป็นที่ประกอบพิธีศาสนา มีลามะ 130 รูป บนภูเขายังมีที่บำเพ็ญภาวนาอยู่อีก 10 กว่ารูป ฝึกสมาธิ 250 รูป มีสถาบันศึกษาคัมภีร์ศาสนา มีนักเรียน 170 กว่ารูป อายุ 18 จึงมาเรียนได้ หลักสูตรที่เรียน 5-6 ปี เริ่มต้นต้องเรียนภาษาทิเบต พระอธิบายว่าหนังสือที่เรียนมี 13 เล่มที่สำคัญ ตอนต้นสอนเรื่องอะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป (สอนศีลธรรม)

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 217-218

(น.217) ท่านรองนายกฯ ท่องกลอนให้ฟัง เป็นบทกวีของหวังฉังหลิงที่ได้ประพันธ์ไว้เป็นชุด รวม 7 บท ชื่อ บทเพลงเดินทัพ (從軍行 ฉงจวินสิง) มีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับสภาพและทหารที่ไปประจำอยู่ ณ ชายแดน บทนี้เป็นบทที่ 4 เส้นทางชิงไห่-กานซู่ ไปด่านอวี้เหมินนั้น ระยะทางห่างกันมาก มีภูเขาหิมะ (ฉีเหลียนซาน) ซึ่งยาวมาก อยู่ระหว่างมณฑลทั้งสอง มีเมืองเดี่ยวเมืองหนึ่งอยู่โดดๆ ซึ่งก็คือ เมืองชายแดนที่ทหารไปประจำการอยู่ ในสมัยราชวงศ์ถังทหารชายแดนพวกนี้ทำหน้าที่ 2 ประการคู่กันไป กล่าวคือ ป้องกันไม่ให้ชนเผ่าถู่โป๋ (ทิเบต) ซึ่งอยู่ทางเหนือรุกรานเข้ามา ในขณะเดียวกันก็ป้องกันการรุกรานของพวกถูเจี๋ย (เตอร์ก) และคอยป้องกันไม่ให้พวกถู่โป๋-ถูเจี๋ย ติดต่อเชื่อมโยงกันได้ด้วย บทกวีมีความตามคำแปลภาษาไทยว่า
ชิงไห่ เมฆทอดยาว ภูเขาหิมะมืดครึ้ม
เมืองโดดเดี่ยว มองไปไกลยังด่านอวี้เหมิน
ทรายสีเหลือง รบร้อยครั้ง เกราะโลหะสึก
หากพิชิตโหลวหลานมิได้ ไม่กลับบ้าน

(น.218) บทกวีนี้เคยเรียนมานานแล้วแต่ไม่เข้าใจ คิดว่าชิงไห่ เป็นชื่อมณฑลตามที่รู้และใช้กันแพร่หลาย แต่ในที่นี้หมายถึง ทะเลสาบชิงไห่ ไม่ใช่มณฑลชิงไห่ ส่วนด่านอวี้เหมินอยู่ในมณฑลกานซู่ โหลวหลานเป็นชื่อเมือง มีอำนาจเจริญรุ่งเรืองในสมัยราชวงศ์ฮั่น (ค.ศ. 176 ก่อนคริสต์กาล-คริสต์ศตวรรษที่ 7 ) ที่นี่นักโบราณคดีค้นพบเจดีย์พุทธศาสนา เหรียญเงิน กำแพงเมือง ไม้จารึก ประติมากรรมไม้ และเศษเครื่องปั้นดินเผา ปัจจุบันเมืองนี้อยู่ในภูมิภาคปกครองตนเองซินเกียง

ใต้เมฆที่เมฆใต้
ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 16

(น.16) พิพิธภัณฑ์มณฑลยูนนาน
รูปสำริดลอยตัวรูปวัวเขายาวมีอยู่มาก ขนาดต่างๆ รูปร่างแต่ละตัวตนดูแข็งแรงสมบูรณ์ดี สันนิษฐานว่าที่มีรูปวัวมากมายเช่นนี้ เพราะถือกันว่ามีวัวควายมากแปลว่าร่ำรวย นอกจากรูปวัวมีรูปหมูป่า รูปปลา รูปม้า มีขวดสำหรับใส่เครื่องเย็บ เครื่องมือที่ใช้ในการปั่นทอซึ่งก็มีปรากฏพบในสุสาน ภาชนะ-หีบเล็กๆ สำหรับใส่หอยเบี้ย รูปบ้านจำลองเล็กๆ สันนิษฐานว่าอยู่ในสมัยฮั่นตะวันตก บ้านจำลองนี้มีขนาดเล็กมาก แต่มีรายละเอียด เป็นภาพพิธีบูชายัญมนุษย์ เหรียญเงินเรียกว่า อู่จูเฉียน (Wuzhu-qian) เป็นเงินสมัยฮั่น

ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 210,220-221

(น.210)

1.3 โจว (洲) เป็นเขตการปกครองที่เริ่มใช้ครั้งแรกในสมัยพระเจ้าฮั่นหวู่ตี้ (140-87 ปีก่อน ค.ศ.) ในสมัยนี้ได้แบ่งประเทศจีนเป็น 13 โจว ระดับการปกครองลดหลั่นจากโจว (แคว้นใหญ่) จวิ้น (แคว้นเล็ก) - เสี้ยน (เมือง) ต่อมาในสมัยราชวงศ์ถัง “โจว” จะถูกลดระดับลงมามีฐานะเป็น “เมือง”

(น.220) ดังนั้นในปัจจุบันคำว่า “โจว” ในการจัดระเบียบการปกครองของจีนใช้กับเขตการปกครองระดับจังหวัดที่มีการปกครองตนเองใน

(น.221) ระดับหนึ่ง ส่วนจังหวัดทั่วๆ ไปจะใช้ว่าตี้ชีว์ อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคำว่า “โจว” เป็นศัพท์เก่าแก่ด้านการปกครองที่อยู่คู่กับประวัติศาสตร์จีนมายาวนานตั้งแต่สมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อน ค.ศ. – ค.ศ. 220) ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันจึงมีชื่อเขตการปกครองในระดับต่างๆ ของจีนเป็นจำนวนมากที่มีคำว่าโจวติดอยู่ด้วย โดยที่มิได้มีฐานะเป็นจื้อจื้อโจวแต่อย่างไร ทั้งนี้เพราะคำว่าโจวในเขตการปกครองเหล่านั้นได้ใช้กันมาเป็นเวลานานแล้ว

มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 62

(น.62) ในประวัติศาสตร์ก่อนและหลังคริสตกาล 1,000 ปี รวม 2,000 ปี เมืองซีอานเป็นนครหลวงกว่าครึ่ง ที่สำคัญ คือ ราชวงศ์โจว ฮั่น และราชวงศ์อื่น ๆ อีกหลายราชวงศ์ รวม 11 ราชวงศ์

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 96-97

(น.96) เม่าหลิง ซึ่งเป็นสุสานในสมัยราชวงศ์ฮั่น มีลักษณะคล้าย ๆ กับพีระมิดของอียิปต์ สูงถึง 40 เมตร สุสานนี้ถูกขโมยหลายครั้ง ทางราชการจึงยังไม่ได้ขุดค้น ใกล้ ๆ สุสานของจักรพรรดิมีสุสานของหัวชู่ปิ้ง ซึ่งเป็นนายพลหนุ่มสู้รบกับพวกชนกลุ่มน้อยฉยุงหนู (ที่ฝรั่งเรียกว่า Hun) ในมณฑลกานซู ได้ชัยชนะหลายครั้ง เป็นผลให้สามารถดำเนินการค้าในเส้นทางค้าแพรไหมได้สะดวก อิทธิพลของราชวงศ์ฮั่นจึงแผ่ขยายไปได้ถึงมณฑลซินเกียง หัวชู่ปิ้งเป็นเจ้าของวาทะที่ว่า ถ้ายังปราบฉยุงหนูไม่ได้จะคิดถึงบ้านเรือนได้อย่างไร หัวชู่ปิ้งเป็นคนกล่าวอย่างนี้เป็นคนแรก นายพลยุคหลัง ๆ ก็ชอบนำคำพูดนี้มากล่าวเลียนแบบ หัวชู่ปิ้ง (ป่วยตายเอง) เมื่ออายุเพียง 24 ปี จักรพรรดิฮั่นอู่ตี้เสียพระทัยมากจึงทรงสร้างสุสานมโหฬารให้เขา บนยอดสุสานทำรูปภูเขาฉีเหลียนซึ่งเป็นสถานที่ที่หัวชู่ปิ้งรบได้ชัยชนะหลายครั้ง เอาหินมาแกะสลัก โดยเลือกเอาหินที่มีรูปร่างต่าง ๆ มาตัด และแกะให้เป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ ให้มีชีวิตชีวา ก้อนหินแกะสลักที่มีชื่อเสียงที่สุดคือรูปม้าเหยียบฉยุงหนู

(น.97) ฮั่นอู่ตี้เป็นจักรพรรดิรัชกาลที่ 5 ของซีฮั่น (ฮั่นตะวันตก) สร้างสุสานใหญ่ที่สุด ขึ้นครองราชย์ 140 ปีก่อนคริสต์กาล พระชนม์ 16 พรรษา เมื่อครองราชย์ได้ 2 ปีก็เริ่มสร้างสุสาน สร้างอยู่ 50 กว่าปี ใช้ภาษี 1 ใน 3 ของประเทศสร้างสุสานตัวเอง ตามบันทึกประวัติศาสตร์ เก็บของล้ำค่ามหาศาลไว้ในสุสาน เช่น เครื่องเงิน ทอง ตุ๊กตา ของถวายจากต่างประเทศ รอบ ๆ สุสานนี้ยังมีสุสานเล็ก ๆ ของนายทหาร เช่น เว่ยชิง หัวชู่ปิ้ง หัวกวง (เสนาบดี) พระมเหสี ฯลฯ ปี 139 ก่อนคริสต์กาลไปตั้งเมืองใหญ่อยู่ที่อำเภอเม่าหลิง มีคนไปอยู่ 61,870 ครอบครัว คน 270,000 คน การสร้างสุสานใช้วัสดุก่อสร้างมากมาย สำหรับสุสานหัวชู่ปิ้งได้พบหินสลัก 16 ชิ้น หินที่พบนั้นตรงกับที่หนังสือประวัติศาสตร์โบราณบรรยายไว้ มีของที่ชาวนาพบโดยบังเอิญ 3,000 กว่าชิ้น ทางพิพิธภัณฑ์ได้เลือกมาแสดง 126 ชิ้น ก้อนหินสลักเป็นรูปต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงที่สุดก็คือ รูปม้าเหยียบฉยุงหนู ทหารฉยุงหนูคนนั้นถือธนูไม่ใส่รองเท้า ม้านั้นเป็นม้าอูซุน (อีลี่) รูปม้าหอบ เสือแสดงกล้ามเนื้อแข็งแรงพร้อมที่จะจับเหยื่อ คางคก กบ ปลา คนกับหมีสู้กัน อาจารย์หวางบอกว่าการสู้กับหมีนั้น ไม่ใช่ธรรมเนียมของคนจีนซึ่งเป็นเกษตรกร น่าจะเป็นประเพณีของพวกที่ล่าสัตว์เร่ร่อนอย่างพวกฉยุงหนูมากกว่า รูปม้าวิ่งข้ามเครื่องกีดขวาง วัว ช้าง หมูป่า

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 133,136,149-153

(น.133) พิพิธภัณฑ์กานซู ของสมัยราชวงศ์ฮั่น (206 ปีก่อนคริสตกาล – ค.ศ. 220) มีศิลปะชิ้นเอกที่เป็นสัญลักษณ์ของมณฑลกานซู คือม้าเหยียบนกนางแอ่น พบที่อู่เว่ย เป็นเครื่องแสดงว่าวิ่งได้เร็วมาก ม้าเป็นสิ่งที่แสดงความมีพลัง เป็นเจ้าแห่งความเร็ว สมัยก่อนมีพวกพ่อค้ามาจากประเทศทางตะวันตกมาที่จงหยวน จะต้องคิดเตรียมการว่าพาหนะใดจะใช้ขนของได้มากที่สุด (เห็นจะเป็นอูฐ) และพาหนะใดจะนำคนไปได้ไกลที่สุดคือจะต้องเร็วที่สุด ก็คือ ม้านี่เอง ในสมัยราชวงศ์ฮั่นมีผู้รุกรานมาจากทิศตะวันตก จากที่ราบสูงมองโกเลียบ่อยครั้ง จีนต้องหาทางแก้ไขโดยการหาพาหนะที่รวดเร็ว คล่องตัว เหมาะสำหรับใช้ในการรบ ก็คือม้าอีกนั่นแหละ จึงต้องไปติดต่อขอม้าจากพวกคนกลุ่มน้อยจากเมืองเฟอร์กานา (ปัจจุบันอยู่ในอูซเบกิสถาน สหภาพโซเวียต) ได้ม้า “เหงื่อเลือด” มา ม้าที่ฮั่นอู่ตี้ได้มา เป็นม้าจากเฟอร์กานา เป็นม้าที่มีพลัง และความรวดเร็วเรียกว่า ม้าเหงื่อเลือด

(น.136) กานซูตะวันตกเฉียงเหนือ บันทึกประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น รวมทั้งกิจการทางทหารด้วย บางส่วนเป็นตำรายา ของที่แสดงเอาไว้ว่าเป็นของ สมัยราชวงศ์ฮั่น มีอีกหลายอย่าง เช่น กับดักสัตว์ หญ้าแห้งที่ใช้จุดเป็นสัญญาณเตือนภัย หลังจากสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันออก เป็นสมัยสามก๊ก (ค.ศ. 220 – 265) ได้พบอิฐเขียนสีสมัยราชวงศ์เว่ย (ก๊กของโจโฉ) ตั้งเมืองหลวงอยู่ลั่วหยาง (ค.ศ. 220 – 265) และราชวงศ์จิ้นตะวันตก ค.ศ. 265 – 317 (ซึ่งรวบรวมประเทศไว้ได้ราว 50 ปี) ช่วงนี้พบอิฐเขียนสีจากเจียยู่กวน (ที่แสดงไว้เป็นของทำจำลอง) อิฐพวกนี้แสดงชีวิตประจำวันของคนสมัยนั้น เช่น การล่าสัตว์ ห่อกองฟาง การเลี้ยงสัตว์ ไถนา หาบน้ำ เป็นต้น

(น.149) ตะวันตกและตะวันออกมีการติดต่อกันมานานก่อนที่จะเปิดเส้นทางแพรไหมเป็นทางการ อาจจะเก่าถึง 500 ปีก่อนคริสตกาล แต่ไม่มีเหตุการณ์สำคัญอะไรเป็นเครื่องกำหนดเวลาได้แน่นอน ในศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสตกาล ช่วงปี 334 – 323 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช2 แห่งแคว้นมาเซโดเนีย ยาตราทัพเข้ามาในเอเชีย นำทหารมาหลายหมื่นคน รุกรานเอเชียตะวันตก เอเชียกลางแถว ๆ ซีเรีย อิรัก อิหร่าน อัฟกานิสถาน อินเดีย ปากีสถาน ในปัจจุบัน เมื่อพระเจ้าอเล็กซานเดอร์สวรรคตไปในระหว่างยกกองทัพมาทำสงคราม กองทหารกรีกไม่ได้กลับประเทศ หากยังคงอยู่ในเอเชีย ทหารเหล่านี้แต่งงานกับผู้หญิงชาวพื้นเมือง (ไม่ทราบว่าเป็นนโยบายหรือเปล่า) ในกลุ่มชาวกรีกที่มาตั้งถิ่นฐานอยู่นี้ มีผู้ที่มีความรู้ทางศิลปกรรม และได้นำความรู้มาเผยแพร่ ปรากฏเป็นศิลปะทางพุทธศาสนาที่เรียกว่าคันธาระหรือ 2 พระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชทรงมีพระชนม์ชีพอยู่ในช่วงปี 356 - 323 ก่อนคริสต์กาล ขึ้นครองราชย์ในปี 336 ก่อนคริสต์กาล และได้ยาตราทัพแผ่อำนาจเข้ามาในเอเชีย

(น.150) คันธารราษฎร์ คนกลุ่มน้อยบางพวกในภาคตะวันตกของจีนมีความสัมพันธ์สืบเนื่องมาจากพวกเชื้อสายกรีกเหล่านี้ เป็นอันว่าอารยธรรมตะวันตกได้แพร่มาถึงตะวันออกแล้ว ถึงสมัยราชวงศ์ฮั่นคือประมาณอีก 2 ศตวรรษต่อมา 139 ปีก่อนคริสตกาล พระเจ้าฮั่นอู่ตี้ที่เรากล่าวถึงมาหลายครั้งแล้ว ส่งจางเชียนไปติดต่อกับพวกเยว่จือที่อยู่ที่อัฟกานิสถาน เพื่อสร้างแนวร่วมต่อต้านพวกฉยุงหนูซึ่งเป็นศัตรูร่วม พวกฉยุงหนูนี้แหละจะเป็นผู้ร้ายใหญ่ประจำเส้นทางการค้าแพรไหมเลยทีเดียว เข้าใจว่าเป็นคนเชื้อสายเตอร์ก แบ่งเป็นกลุ่มย่อยอีกหลายพวก ซึ่งภายหลังพวกหนึ่งได้ไปรุกรานถึงยุโรป ที่ฝรั่งเรียกว่า พวกฮัน (Huns) คือพวกอัตติลาในคริสต์ศตวรรษที่ 5 พวกฉยุงหนูนี้ร้ายกาจมาก ทำกับพวกเยว่จือเจ็บปวดคือตัดหัวหัวหน้าเผ่าแล้วเอาศีรษะทำจอกสุรา สำหรับพวกเยว่จือเป็นใครนั้น พวกเรา (กลุ่มนักเดินทางที่มากับข้าพเจ้าครั้งนี้) ก็ยังปรึกษากันอยู่ว่าจะให้เป็นเผ่าอะไรดี คำว่าเยว่นั้นแปลว่าพระจันทร์ ส่วนคำว่าจือนั้นเข้าใจว่าแปลว่าตระกูล อาจจะเป็นพวกกุษาณ (พระเจ้ากนิษกะ) ที่อยู่อินเดียและอัฟกานิสถาน ซึ่งเป็นพวกที่รับพุทธศาสนา และแพร่พุทธศาสนาอุตรนิกายหรือมหายาน (ต้องไปศึกษาประวัติศาสตร์อินเดียให้ละเอียดอีกครั้ง) นักวิชาการจีนบอกว่าพวกเยว่จือได้ตั้งราชวงศ์กุ้ยซวง พวกนี้อพยพจากจีนไปอยู่รัสเซีย แล้วอพยพต่อไปตั้งถิ่นฐานที่ภาคเหนือของอัฟกานิสถาน กลับมาหาจางเชียนพระเอกของเราอีกครั้งหนึ่งดีกว่า.. จางเชียนเดินทางไปพร้อมกับบริวารอีกร้อยกว่าคน แต่ถูกฉยุงหนูจับตัวไว้ถึง 10 ปี ได้แต่งงานกับผู้หญิงฉยุงหนู มีลูกด้วยกัน แต่ก็หนีไปได้ และเดินทางต่อไปตามเส้นทางสายเหนือถึงเมืองข่าชือหรือกาชการ์ (Kashi, Kashgar) แคว้นต้าหวันหรือเฟอร์กานา แล้วยังต่อไปถึงที่แบกเทรียด้วย แต่พวกเยว่จือซึ่ง


(น.151) รูป 103. พบกับนักวิชาการชาวจีนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องเส้นทางสายแพรไหม
Conferring with Chinese experts on the Silk Routes.
(น.151) อยู่สุขสบายดีแล้วในที่มั่นใหม่ ไม่สนใจที่จะเป็นพันธมิตรกับจีนในการต่อต้านฉยุงหนู แม้ว่าจะไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายทางการเมืองที่ได้กำหนดไว้ คือการร่วมมือกับเยว่จือทางการทหาร แต่จางเชียนก็ได้โอกาสศึกษาแนวทางยุทธศาสตร์ และขนบประเพณีของฉยุงหนู รวมทั้งได้รับความสนับสนุนจากพวกเยว่จือ จนมีเสบียงพอที่จะเดินทางต่อไป (เป็นของสำคัญมาก)

(น.152) จางเชียนเดินทางกลับจีน หลังจากจากไปถึง 13 ปี ขากลับนี้เขาเปลี่ยนเส้นทางจากเส้นทางเหนือซึ่งเป็นทีตั้งของพวกฉยุงหนู (เรียกได้ว่าเป็น “รัง” ของฉยุงหนู) เขาเปลี่ยนมาใช้ทางใต้ แต่ก็หนีไม่พ้นมือพวกชนเผ่าที่เป็นพันธมิตรของฉยุงหนู ถูกจับไว้ปีหนึ่ง พอดีหัวหน้าฉยุงหนูตาย พวกเผ่าต่าง ๆ ก็เลยระส่ำระสาย เป็นโอกาสให้จางเชียนหนีได้ เดิมมีลูกน้องไปเป็นร้อย ตอนนี้เหลืออยู่คนเดียว เขาทำรายงานเสนอจักรพรรดิอย่างละเอียดในเรื่องภูมิศาสตร์ ขนบประเพณี เศรษฐกิจของแคว้นทางตะวันตก 36 แคว้น ซึ่งนับว่าเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับคนจีน ในปี 119 ก่อนคริสตกาล จางเชียนได้ไปอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ไปติดต่อกับพวกอูซุน และไม่ประสบความสำเร็จในการเจรจาเหมือนดังเช่นครั้งแรก นักเดินทางที่มีชื่ออีกคนคือปันเชา ออกไปสู้พวกฉยุงหนู ไปภาคตะวันตก ไปยึดเมืองโหลวหลาน เหอเถียน และกาชการ์ ตั้งผู้นำที่เป็นพวกพ้องจีน เขาอยู่เอเชียกลางเป็นเวลาถึง 31 ปี ปราบกบฏ สร้างความสัมพันธ์กับแคว้นต่าง ๆ ในภาคตะวันตก จนถึงเปอร์เชีย บาบิโลเนีย ซีเรีย เขาส่งกานอิงไปถึงอ่าวเปอร์เซียใน ค.ศ. 97 ตั้งใจจะไปให้ถึงอาณาจักรโรมันแต่ไปไม่ถึง เพราะมีพ่อค้าคนกลางแถวนั้นหลอกว่าไปไม่ได้ มีอันตราย ที่เล่ามายาวนี้จะสรุปว่าสมัยราชวงศ์ฮั่นเป็นช่วงที่บุกเบิกการติดต่อค้าขายกับตะวันตก ก็มีเส้นทางที่จะเรียกว่าเส้นทางแพรไหม เส้นทางสมัยฮั่นต่างจากยุคหลัง คือ มี 3 เส้น ดังนี้
เส้นที่จะเรียกว่าเป็นเส้นทุ่งหญ้า เดินทางจากฉางอาน (ซีอาน) ข้ามแม่น้ำหวงเหอ ผ่านมองโกเลียใน มองโกเลียนอก เข้าไซบีเรีย รัสเซีย ไปยุโรป
เส้นทางทะเลทราย มี 2 เส้น เส้นเหนือ และ เส้นใต้

(น.153)

1.เส้นเหนือจากซีอานไปตุนหวง โหลวหลาน คอร์ลา คูเชอ อักซู ข่าชือ เฟอร์กานา ซามาร์คาน แล้วต่อไปอัฟกานิสถาน และอิหร่าน
2. เส้นใต้จากตุนหวง เฉี่ยม่อ เหอเถียน ยาร์คาน บรรจบกับทางแรกที่ข่าชือ หรือจะไปต่อทาชเคอร์คานก็ได้ แล้วไปต่อแบกเทรียในอัฟกานิสถานปัจจุบัน ออกอิหร่านไปริมฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 197,199,201

(น.197) เครื่องมือที่ใช้ในการก่อสร้างกำแพงเมืองจีนสมัยราชวงศ์ฮั่น พบที่มณฑล

(น.199) กานซู สิ่งของในสมัยราชวงศ์ฮั่นยังมีรองเท้าทำด้วยใยปอ ถุงเท้าของทหารรักษาชายแดน ฟุตบอลเก่าแก่ที่สุดของจีน ทำด้วยหนังแพะ เขาว่าเล่นกันในวัง นิทรรศการยังแสดงให้เห็นถึงการก่อสร้าง คือแต่ละชั้นที่เรียงอิฐจะใช้ฟางแทรกทำให้แข็งแรงขึ้น อีกอย่างที่แสดงไว้คือฟางต้นกกที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงจุดสัญญาณ หนังสือไม้ไผ่สมัยราชวงศ์ฮั่น ชิ้นที่มาแสดงเป็นการสั่งการว่า ถ้าฉยุงหนูเข้ามาด้านเหนือให้จุดคบเพลิงเป็นสัญญาณ 2 ครั้ง ส่วน

(น.201) ที่ไม่มีกำแพงเมืองจีนจะโรยทรายไว้ ถ้าฉยุงหนูมาจะเห็นรอยเท้า มีแผนที่เส้นทางไปฉนวนเหอซี ข้าพเจ้าจดเอาไว้เพื่อจะใช้เทียบหาเส้นทางแพรไหม ใกล้ตุนหวงสมัยฮั่นมีฉางข้าวใหญ่ที่สุด มีคลังเสบียงอาหาร มีตราสำหรับเบิกข้าวจากโกดัง ภาพแสดงการชลประทานในสมัยฮั่นเช่นเดียวกัน เป็นแผนที่ซึ่งทำจากภาพถ่ายทางอากาศ แสดงเขตที่มีน้ำอุดมสมบูรณ์ เขตที่มีทางน้ำธรรมชาติและคลองชลประทานมุ่งไกลในรอยทราย หน้า 212

(น.212) ซีอานเป็นสถานที่มีลมอยู่ตลอดเวลา แต่โบราณก็ไม่ค่อยจะมีต้นไม้ มีนิทานเรื่องซิยิ่นกุ้ยปราบตะวันตก ในรัชกาลที่ 2 แห่งราชวงศ์ถัง อาหารที่ติดมาเป็นเสบียงไม่เพียงพอ ต้องขุดรากหญ้ามากิน หญ้าชนิดนี้เรียกว่าซั่วหยวน ภายหลังจึงตั้งเป็นอำเภอซั่วหยวน แถบนี้แต่โบราณเป็นสนามรบ จีงมีสุสานอยู่มากมาย เส้นทางที่จะไปถ้ำโมเกาเป็นสถานที่ที่ทุกคนจะต้องช่วงชิง ในสมัยฮั่นและสมัยถังถ้าควบคุมบริเวณนี้ได้เมืองซีอานก็ปลอดภัย ถ้าชนชาติกลุ่มน้อยควบคุมได้ตอนไหนก็ต้องเดือดร้อนกัน จิ่วฉวนเป็นเมืองที่กำลังขยายตัวออกไปอีก ไปที่ไหนก็มีแต่การก่อสร้าง ถ้าดูในประวัติศาสตร์แล้วมีหลักฐานมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ เจอเครื่องมือหินประมาณ 4,000 – 5,000 ปีมาแล้ว และช่วงที่มีการรบระหว่างพวกเยว่จือกับฉยุงหนู ตอนสมัยราชวงศ์ฮั่นตะวันตก (206 ก่อน ค.ศ. – ค.ศ. 8) เป็นช่วงที่มีชื่อ จิ่วฉวน (สมัยก่อนชื่อซูโจว) ในเอกสารประวัติศาสตร์เคยเป็นเขตอิทธิพลราชวงศ์ฮั่น สมัยแม่ทัพหัวชู่ปิ้งมา 107 ปีก่อน ค.ศ. ที่สร้างขึ้นเป็นเมืองประมาณกลางคริสต์ศตวรรษที่ 4 หลังจากแผ่นดินไหวยังคงมีร่องรอยของประตูเมืองด้านใต้ในสมัยนี้อยู่ ในคริสต์ศตวรรษที่ 5 ทางเหนือของประเทศจีนมีศึกสงครามอย่างรุนแรง เป็นผลให้มีการอพยพของผู้คนไปอยู่ทางใต้ของแม่น้ำแยงซีเกียง

Next >>