Please wait...

<< Back

หูเป่ย

จากหนังสือ

หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า120

(น.120) ไปพิพิธภัณฑ์มณฑลเหอหนาน เป็นพิพิธภัณฑ์ที่รูปร่างอาคารดูสมัยใหม่มาก แต่ที่จริงแล้วทำเลียนแบบหอดูดาวโบราณ ผู้อำนวยการมาต้อนรับอธิบายว่าพิพิธภัณฑ์เหอหนานเริ่มก่อตั้งเมื่อ ค.ศ. 1927 แต่ก่อนอยู่ที่เมืองไคเฟิง ปลายทศวรรษ 1950 ต่อต้น 1960 ที่ทำการรัฐบาลย้ายมาอยู่นครเจิ้งโจว พิพิธภัณฑ์จึงย้ายมาด้วย สร้างเสร็จ ค.ศ. 1959 มีพื้นที่ใช้สอย 15,000 ตารางเมตร ได้สร้างอาคารใหม่ระหว่าง ค.ศ. 1991-1994 เปิดให้เข้าชมได้ใน ค.ศ. 1998 จัดแสดงวัตถุโบราณในมณฑลเหอหนาน ซึ่งมีประมาณ 13,000,000 ชิ้น พื้นที่จัดแสดงประมาณ 78,000 ตารางเมตร ได้ดูวัตถุโบราณ 3 ห้อง ได้แก่ วัฒนธรรมโบราณเหอหนาน ศิลปะแกะสลักหิน มี 2 ห้อง คือ 1. ศิลปะชาวบ้าน 2. ศิลปะทางพุทธศาสนา เครื่องหยกโบราณ ส่วนมากค้นพบจากในสุสาน เครื่องทองสำริดของรัฐฉู่ ซึ่งเป็นรัฐที่มิใช่ชนชาติจีน เป็นรัฐใหญ่มากกลางประเทศ อาณาเขตกว้างขวางถึงแถบมณฑลหูเป่ย รัฐฉู่มีภาษาและวัฒนธรรมที่ค่อนข้างแตกต่างจากจีน มีวรรณคดีตกทอดมาจนทุกวันนี้ จิ๋นซีฮ่องเต้มาตีรัฐนี้ จึงรวมประเทศได้ ศิลปกรรมสมัยราชวงศ์หมิงและชิง แสดงงานศิลป์ต่างๆ หลายรูปแบบ นอกจากนั้นมีการแสดงเรื่องของไดโนเสาร์และไข่ไดโนเสาร์ให้เยาวชนชม แสดงประวัติภาคกลางเมื่อ 100 ปีที่ผ่านมา มีเหตุการณ์ใหญ่ๆ เกิดขึ้นหลายอย่าง วัตถุโบราณที่แสดงในส่วนนี้มีประมาณ 3,000 ชิ้น

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า157

(น.157) จากนั้นไปสุสานกวนอู ตอนนี้กำลังสร้างลานจอดรถ มีที่แสดงงิ้ว ในแต่ละปีที่มีพิธีไหว้กวนอูจะจัดงานในวันขึ้น 13 ค่ำเดือนอ้าย (ทำไมก็ไม่ทราบ) เดือน 5 และเดือน 9 ประตูทางเข้าสร้างในราชวงศ์ชิง ตัวสุสานสร้างในรัชศกว่านลี่ ราชวงศ์หมิง เป็นสุสานฝังหัวกวนอู ส่วนตัวฝังที่ตังหยัง มณฑลหูเป่ย ฉันรู้สึกว่าฝังแบบตัวไปทาง หัวไปทางนี่ไม่ดีเลย แต่ถ้าไม่ถือ คิดเสียว่าตายไปแล้วก็ทิ้งร่างก็ไม่เป็นไร ดูเหมือนว่าโจโฉเป็นผู้ฝังหัวกวนอู เพราะข้าศึกตัดหัวกวนอูส่งให้โจโฉเพื่อเอาความดีความชอบ แต่โจโฉกลับทำพิธีศพให้อย่างสมเกียรติ ทั่วประเทศมีศาลเจ้ากวนอูมากมาย แต่ที่สำคัญมี 3 แห่ง คือ
1. กวนหลิน เมืองลั่วหยัง
2. กวนหลิง อำเภอตังหยัง มณฑลหูเป่ย
3. อำเภออวิ้นเฉิง มณฑลซานซี เป็นบ้านเก่า

เย็นสบายชายน้ำ
เย็นสบายชายน้ำ หน้า 60,65,75-77,79-80

(น.60) ในบริเวณสวนเขาทำรูปหุ่นจำลองเขื่อนซานเสีย มีผู้มาอธิบายให้ จากนั้นเดินดูรูป 2 ฝั่งแม่น้ำฉางเจียง ฟังการอธิบายรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น เมืองเฟิงตูเมืองปีศาจ ที่หอสูงสือเป่าไจ้ น้ำจะท่วมขึ้นถึงชั้นล่าง จะต้องล้อมเอาไว้ไม่ให้พังเพราะโครงสร้างของอาคารไม่แข็งแรง ส่วนศาลเจ้าเตียวหุย หรือจางเฟยเมี่ยว ตัดสินใจกันว่ายกให้สูงขึ้น คณะกรรมการมอบหมายให้มหาวิทยาลัยชิงหัวเป็นผู้ศึกษาแนวทางปฏิบัติว่าสามารถทำได้หรือไม่ ที่ไป๋ตี้เฉิงมีป้ายเขียนระดับน้ำ 175 เมตร บริเวณขุยเหมินเป็นปากทางเข้าฉูถังเสีย มีทางเดินโบราณและโลงศพโบราณอยู่ตามถ้ำ เป็นวัฒนธรรมต้าซี ที่อูซานเซี่ยน (อำเภออูซาน) มีแม่น้ำต้าหนิง เข้าบริเวณซานเสียเล็กมียอดเขาต่าง ๆ ที่สวยงาม แล้วจะเข้าเขตมณฑลหูเป่ย มีศาลเจ้าชูหยวน ซึ่งเป็นต้นเรื่องของการฉลองเทศกาลขนมจ้าง แถวนั้นมีประวัติว่าเป็นบ้านเกิดของสาวงามหวังเจาจวิน ผู้ซึ่งถูกส่งไปแต่งงานกับชนเผ่าฉยุงหนู

(น.65) ไปถึงท่าเรือ เจ้าหน้าที่วิเทศสัมพันธ์และมาดามหลู่กล่าวลา มองดูแม่น้ำเจียหลิงเจียงใสกว่าแม่น้ำฉางเจียงมาก ซึ่งก็เหมือนกันทั่วโลก แม้แต่แม่น้ำมูลที่ไหลลงแม่น้ำโขงก็ใสกว่าแม่น้ำโขง จนมีคำพูดว่า โขงสีปูน มูลสีคราม ลงเรือท่องเที่ยวปาซาน ยังไม่ถึงเวลารับประทานอาหาร ก็เลยไปนั่งหน้าเรือ แล้วไปรับประทานอาหารกลางวัน ปรากฏว่าวันนี้อาหารสมเป็นอาหารเสฉวนตามคำเล่าลือ คือรสเผ็ดมากทุกอย่าง รับประทานอาหารแล้วกลับไปนั่งเขียนเรื่องต่อที่ข้างเรือ ชมทิวทัศน์ไปพลาง ตามก้อนหินเขียนระดับน้ำไว้ ริมแม่น้ำฉางเจียงนี้มีที่ปลูกผักสวนครัวแบบเดียวกับแม่น้ำในเมืองไทย ตึกรามบ้านช่อง 2 ข้างฝั่งน้ำมีแต่ตึกแบบสมัยใหม่ บางที่เป็นโรงงาน น้ำเป็นสีแดงและมีมลภาวะบ้าง การเดินเรือขณะนี้ไม่ค่อยพลุกพล่านนัก

(น.75) บางคนถามว่าถ้าสร้างเขื่อนเล็กหลาย ๆ เขื่อนน่าจะแก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้เหมือนกัน แต่การแก้ปัญหาน้ำท่วมโดยวิธีการนี้คงจะทำได้ลำบาก เพราะเขื่อนขนาดเล็กไม่สามารถเก็บกักน้ำแล้วผ่อนระบายลงท้ายน้ำได้มากนัก ประกอบกับในบริเวณภาคตะวันออกของมณฑลเสฉวนและภาคตะวันตกของมณฑลหูเป่ยเป็นพื้นที่ที่มีฝนตกหนักมากจึงทำให้เกิดน้ำท่วมบ่อย ดังนั้นต้องก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่จึงจะช่วยบรรเทาอุทกภัยได้ เรื่องการอพยพราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนนั้น ปัญหานี้เป็นปัญหาสำคัญ มีผู้ตั้งข้อสังเกตต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอกประเทศจีน รัฐบาลตรวจสอบทำสถิติได้ทราบว่า บริเวณที่ก่อสร้างโครงการนี้จะกระทบประชาชน 840,000 คนตามที่ได้สำรวจไว้ใน ค.ศ.1992 เวลาผ่านไป 17 ปี ประชากรจะเพิ่มขึ้นอีกคาดว่ากว่าจะแล้วเสร็จจะมีประมาณ 1,150,000 คน จำนวนนี้อยู่ในมณฑลเสฉวนประมาณ 85% อยู่ในมณฑลหูเป่ยราว 15% งบประมาณที่จะให้ในการแก้ปัญหาประมาณ 40,000 ล้านหยวน รัฐบาลถือว่าเรื่องนี้สำคัญ จึงวางนโยบายเอาไว้ดังนี้
1. การอพยพเชิงพัฒนา แต่ก่อนเมื่อทำโครงการประเภทนี้ มักบังคับคนให้ย้ายไป ไม่ได้ช่วยจัดการอะไรให้เลย คราวนี้จะช่วยในเชิงพัฒนาแก่ผู้ที่ต้องอพยพโยกย้าย
2. การหาที่อยู่ให้ใหม่ ให้เงินปลูกบ้านใหม่ มีที่สำหรับเพาะปลูก
3. การฝึกให้ทำงานอาชีพต่าง ๆ ให้มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าก่อนการอพยพ เช่น ที่ฝูหลิง ว่านเซี่ยน และอี๋ชาง จะพัฒนาให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตเท่าเทียมกับบริเวณที่อยู่ริมทะเล งบประมาณขั้นแรกราว 500 ล้านหยวน

(น.76) เมืองต่าง ๆ จาก 26 มณฑลทั่วประเทศจีนช่วยกันสนับสนุนมณฑลที่ถูกน้ำท่วม เมื่อคุณถังพูดมาได้ถึงตรงนี้ ฝ่ายการท่องเที่ยวมาบอกว่า เรือผ่านบริเวณฝูหลิง ในบริเวณนี้มีหินสลักอยู่ใต้น้ำหลายสมัย เริ่มตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ประมาณ 10 ปีน้ำจะลดพอที่จะมองเห็นหินสลักเหล่านี้ เขาบอกว่าทางการจีนกำลังคิดหาวิธีการสร้างโครงกระจกคลุมหินสลักเอาไว้ หาวิธีให้คนดำน้ำหรือทำเรือดำน้ำให้คนลงไปดูหินสลักได้ ข้าพเจ้าดูสภาพน้ำแล้วก็รู้สึกว่าไม่รู้สึกอยากดำน้ำเลย และถึงจะดำน้ำลงไปได้ ก็คงไม่เห็นรูปสลักเพราะน้ำขุ่นมาก ฝ่ายจีนยืนยันว่าถ้าทำโครงการแล้วน้ำจะใสกว่านี้ บริเวณที่มีหินสลักมีระยะทางราว 2 กิโลเมตร มองเห็นปากแม่น้ำอูเจียง กลับไปฟังการบรรยายของคุณถัง : งบประมาณที่ใช้ในเรื่องการย้ายคนราว 40,000 ล้านหยวน ให้มณฑลที่ได้รับผลกระทบ 2 มณฑลรับเงินไปตามสัดส่วนประชาชน งบประมาณนี้ตั้งขึ้นใน ค.ศ.1993 แต่ละปีก็เพิ่มขึ้นตามอัตราเงินเฟ้อ (ตอนนี้ประมาณ 14% ต่อไปเขาจะพยายามให้ต่ำกว่า 10%) ประชาชนที่ต้องย้ายออกไปเกือบหมดอยู่ในจังหวัดว่านเซี่ยนและจังหวัดฝูหลิง (ในมณฑลเสฉวน) เมื่อทำโครงการแล้ว การพัฒนาเศรษฐกิจจะพัฒนาเร็วขึ้น ในแผน 8 ทั้ง 2 จังหวัดมีมวลรวมการผลิตเพิ่มขึ้น 11.9% กับ 14.6% ตามลำดับ รายได้ประชาชาติเพิ่มราว 19.1% กับ 24.2% เศรษฐกิจของฝูหลิงในแผน 8 เพิ่มขึ้นหลายสิบเท่ากว่าที่เพิ่มขึ้นในรอบ 40 ปี ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น 6,503 ล้านหยวน กับ 14,400 ล้านหยวน จังหวัดอี๋ชาง (ในมณฑลหูเป่ย) ขณะนี้มีการก่อสร้างเป็น 2 เท่าของ ค.ศ.1990 ก่อนเริ่มโครงการเศรษฐกิจเป็นอันดับที่ 6 พอเริ่มโครงการ

(น.77) กลายเป็นอันดับ 2 ของมณฑลหูเป่ย งบประมาณส่วนก่อสร้างที่ตั้งไว้ใน ค.ศ.1993 ราว 50,090 ล้านหยวน งบประมาณอพยพคน 40,000 ล้านหยวน (และเพิ่มขึ้นตามอัตราเฟ้อ)

(น.79) ข้าพเจ้าถามถึงการวางผังเมืองใหม่ว่าทำอย่างไร คุณถังอธิบายว่า ก่อนการอพยพจะต้องสำรวจประชากรและจดทะเบียนทุกคน ลงนามเป็นหลักฐาน เมื่อรัฐบาลกลางประกาศมติว่าจะอพยพ มีข้อบังคับเกี่ยวกับการอพยพ มณฑลเสฉวน มณฑลหูเป่ย จะต้องรับผิดชอบวางผังเมืองใหม่ และทำแผนการละเอียด แบ่งเป็นอำเภอมอบให้เทศบาลวางแผนอพยพให้ชัดเจนว่า ในเมืองใหม่ตรงไหนเป็นบ้านเรือนที่อยู่อาศัย โรงงาน เขตราชการ โรงเรียน แผนการกำจัดน้ำเสีย ฯลฯ งบประมาณอพยพไม่ได้ให้ประชาชน เป็นเรื่องการสร้างโครงสร้างพื้นฐานมากกว่า ผู้จัดการท่องเที่ยวอธิบายทิวทัศน์ 2 ด้านว่า 18 นาฬิกาจะถึงเฟิงตูเมืองผี อยู่ทางซ้ายมือ 20 นาฬิกาผ่านจงเซี่ยน 21.00 น. ถึงหอสูงสือเป่าไจ้ และ 23.00 น. ไปทอดสมอพักนอนที่เมืองว่านเซี่ยน พรุ่งนี้เช้า (17 สิงหาคม พ.ศ. 2539) ไปในเมือง ออกเรือ 10.00 น. ตอนเที่ยงผ่านหยุนหยาง มีศาลเจ้าเตียวหุย (จางเฟย) 14.00 น. ถึงอำเภอเฟิ่งเจี๋ย ลงเรือเล็กไปไป๋ตี้เฉิง 17.00 น. เดินทางต่อผ่านฉูถังเสีย (น.80) โตรกเขาแรกซึ่งยาวประมาณ 8 กิโลเมตร ตอนทุ่มหนึ่งจอดพักแรมที่อำเภออูซาน อีกวัน (18 สิงหาคม พ.ศ. 2539) จะไปเที่ยวซานเสียเล็กเข้าแม่น้ำต้าหนิงเหอ แล้วผ่านอูเสีย โตรกเขาที่สองยาวประมาณ 44 กิโลเมตร ไปถึงอำเภอจื่อกุย ตอนเย็นดูศาลเจ้าชูหยวน ค่ำวันที่ 18 สิงหาคม เวลาประมาณ 20.30 น. บริษัทท่องเที่ยวจัดการแสดงต่าง ๆ มาให้ชม วันที่ 19 สิงหาคม ออกจากอำเภอจื่อกุย 6 โมงเช้า เข้าซีหลิงเสีย โตรกเขาที่สาม ยาวประมาณ 76 กิโลเมตร 08.00 น.- 10.00 น. ดูโครงการก่อสร้างเขื่อนซานเสีย 12.00 น. ผ่านเขื่อนเก่อโจวป้า 18.00 น. ผ่านเมืองซาซื่อ ในมณฑลหูเป่ย สมัยก่อนเป็นที่ตั้งเมืองโบราณเกงจิ๋วหรือเมืองจิงโจว (เมืองของเล่าปี่) วันที่ 20 สิงหาคม เวลา 07.30 น. ผ่านหน้าผาชื่อปี้ เป็นที่โจโฉแตกทัพเรือ บ่าย 2 โมง ไปนครอู่ฮั่น

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 105,111

(น.105) เดินไปถึงยอดเขานั่งพักกินน้ำ คุยกับนายอำเภอ เขาบอกว่าตรงนี้มีคน 900,000 คน ตอนนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ข้าพเจ้าถามว่าที่หลี่ไป๋เขียนบทกวีชื่อว่า เจ่าฟาไป๋ตี้เฉิง (เดินทางจากเมืองไป๋ตี้แต่เช้า) มีความว่า
“เช้าตรู่ อำลาเมืองไป๋ตี้ท่ามกลางเมฆหลากสี
เดินทางพันลี้ถึงเมืองเจียงหลิงในวันเดียว
สองฝากฝั่งเสียงลิงร้องไม่หยุด
เรือน้อยคล้อยผ่านหมื่นช่องผา”
ข้อมูลถูกต้องหรือเปล่าที่ว่าเดินทางถึงเจียงหลิง (เมืองจิงโจวอยู่มณฑลหูเป่ย) ใช้เวลาวันเดียวได้จริง ๆ หรือ นายอำเภอยืนยันว่าจริง

(น.111) กลับมาถึงเรือใหญ่ ออกไปอยู่หน้าเรือเพื่อดูฉูถังเสีย ซึ่งเป็นโตรกเขาแรกในบรรดาโตรกเขาทั้ง 3 ฉูถังเสียนี้ยาว 8 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นช่องแคบ ๆ ระหว่างเขาสูง มีลักษณะคล้าย ๆ ฟยอร์ดที่นอร์เวย์ แต่การเกิดคงจะไม่เหมือน ฟยอร์ดเกิดจากธารน้ำแข็งกัดเซาะภูเขาริมทะเล เมื่อหิมะละลายน้ำทะเลเข้าแทนที่ แต่หุบเขาพวกนี้ข้าพเจ้าคิดว่ามาจากแม่น้ำฉางเจียงกัดเซาะ มีเรื่องโต้กันว่าซานเสียนั้นยาวเท่าไรกันแน่ บางคนว่า 189 กิโลเมตร บางคนว่า 204 กิโลเมตร นับจากเฟิ่งเจี๋ยไปอี๋ชาง (มณฑลหูเป่ย) ได้ 204 กิโลเมตร ถ้านับจากขุยเหมินไปหนานจิงกวน รวมระยะทางประมาณ 189 กิโลเมตร

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 123,133-134

(น.123) ภูเขาแถวนี้เป็นเขาหินทราย แต่ก็มีถ้ำซึ่งคงจะโดนน้ำกัดเซาะ แต่ไม่มีหินงอกหินย้อยเพราะไม่ใช่หินปูน มีภูเขาลูกหนึ่งมีถ้ำกลม ๆ 2 ถ้ำคู่กัน ชาวบ้านเลยเรียกกันว่า ถ้ำหมีแพนด้า เทือกเขานี้ยาวถึง 400 กว่ากิโลเมตร ผ่านมณฑลเสฉวน หูเป่ย ส่านซี ภูเขาสูงไม่ค่อยมีต้นไม้ใหญ่ มีทุ่งหญ้า มีวัวและแพะอยู่มาก เป็นของชาวบ้านเลี้ยงไว้ แต่ไม่ต้องดูแล ปล่อยให้หากินเอง

(น.133) เมื่อรับประทานเสร็จกลับลงเรือเพื่อกลับไปเรือใหญ่ ตอนนี้ไม่ต้องชมทิวทัศน์แล้ว เลยคุยกัน ขอให้นายอำเภอช่วยเขียนคำขวัญอะไรให้ที่ก้อนหินที่เก็บมา เขาลายมือสวย แต่บอกว่าตอนนี้งานมากไม่มีเวลาฝึก ขอให้เขาเขียนให้บนสมุด เขาก็เขียนบทกวีไป๋ตี้เฉิง ตอนหลังข้าพเจ้าเขียนโพสต์การ์ดถึงตัวเอง ขอให้เขาส่งและเขียนอะไรให้ด้วย เขาบอกว่าจะเอากลับไปเขียนให้อย่างดีที่สุดที่บ้าน กลับขึ้นเรือปาซาน ผ่านอูเสียไปมณฑลหูเป่ย เขาบอกว่าเส้นที่แบ่งมณฑลเสฉวนกับมณฑลหูเป่ยนั้นลากเฉียง ๆ ฉะนั้นฝั่งขวามือของเราจะเป็นเขตมณฑลหูเป่ยแล้ว แต่ฝั่งซ้ายมือยังต้องถือเป็นเสฉวนอยู่ สถานที่แบ่งเขตมณฑลเป็นช่องเขาที่มีลักษณะแปลกคือ ต้นไม้ต่าง ๆ ที่ขึ้นอยู่ในเขตเสฉวนจะเอียงไปด้านเสฉวน ส่วนพวกที่ขึ้นในดินของหูเป่ย ก็เอียงไปทางหูเป่ย บนภูเขามียอดเขาเติงหลง ถ้ำหลู่โหยว บริเวณโตรกเขาอูซานนี้ มียอดเขาที่เป็นที่รู้จักกันอยู่ 12 ยอด แต่มองเห็นจากเรือเพียง 9 ยอดเท่านั้น มีถ้ำตามนิทานว่า มีนักรบยิงธนูทะลุหิน มองขึ้นไปภูเขาสูงมากจริง ๆ แต่ก็ยังมีคนขึ้นไปทำการเกษตร สองข้างทางบนฝั่งมีเรือลำหนึ่งจอดเกยตื้นอยู่ หินแตก ๆ เป็นลายเหมือนขั้นบันได มีหลักศิลาจารึกหิน เล่ากันว่าเป็นศิลาจารึกขงเบ้ง ตรงหน้าผาก็มีทางเดินแคบ ๆ แต่ก็ไม่ได้เป็นทางสำหรับการเดินข้าม คนที่ลากเรือจะขึ้นไปเดินอยู่ข้างบน ทางเดินหินนี้อายุยืนราว 100 กว่าปี สมัยพระเจ้ากวางสู ราชวงศ์ชิง กว้างประมาณ 1.5 เมตร เรื่องซานเสียนี้เขาว่ามีสถานที่ที่คณะถ่ายหนังของ ABC มาถ่ายสารคดี


(น.134) รูป 124 แถวอำเภอจื่อกุยนี้ มีสวนส้มแต่ยังไม่สุก



(น.134) ผ่านหมู่บ้านเผยฉือ เป็นหมู่บ้านแรกที่อยู่ในมณฑลหูเป่ย ท่านโกโมโร่เขียนบทกวีเอาไว้ว่า หัวเรืออยู่หูเป่ย หางเสืออยู่เสฉวน เวลาบ่าย เรือจอดที่อำเภอจื่อกุย นายอำเภอหญิงมาต้อนรับ พร้อมกับเจ้าหน้าที่ฝ่ายวิเทศสัมพันธ์มณฑลหูเป่ย นั่งรถไปศาลเจ้าชูหยวน นายอำเภออธิบายว่าอำเภอนี้มีพลเมือง 420,000 คน น้ำจะท่วมส่วนหนึ่งของอำเภอ ใน ค.ศ. 1997 จะต้องย้ายตัวอำเภอไปอยู่ที่ใหม่ทางตะวันออกจากที่ปัจจุบัน 37 กิโลเมตร เวลาสร้างเมืองใหม่ต้องตัดถนนหลายสาย ศาลเจ้าชูหยวนนี้ก็จะต้องย้าย ถึงจะเป็นอำเภอเล็ก ขณะนี้ผู้นำของประเทศมาเยี่ยมกันทุกท่าน ทั้งท่านประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีทุกท่าน เห็นต้นส้มออกผลแล้วยังเขียว ๆ อยู่ นายอำเภอบอกว่าประมาณเดือนพฤศจิกายน ส้มจึงจะสุก ที่นี่เป็นแหล่งปลูกส้ม 1 ใน 7 ที่เริ่มต้นปลูกในแถบนี้

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 170,181,185,190-191

(น.170) ไกด์อธิบายว่าชื่ออำเภอผู่ฉีเป็นชื่อหญ้าชนิดหนึ่ง เป็นหญ้าสิริมงคล แม้แต่ใช้เขียนภาพ ปีศาจก็ไม่กล้ามา นอกจากนั้นยังใช้สานตะกร้าได้ พูดไปพูดมากลายเป็นว่า เถาไม้ที่เขาทึ้งมาให้ตอนมาถึงที่นี่ใหม่ ๆ นั่นเอง ดูเหมือนย่านลิเภา มีต้นปอชนิดหนึ่งอยู่ ไม้ไผ่ก็มีมาก มีสวนชา ที่หูเป่ยมีต้นกีวี ไปที่มีหินสลักรูปจิวยี่ (เรารู้กันแล้วว่าถูกขงเบ้งหลอก เสียใจจนรากเลือดตาย) จิวยี่นี้ ตามประวัติว่าเป็นคนรูปหล่อ แต่ใจแคบ เป็นคู่แค้นของขงเบ้ง รูปหินแกรนิตสลักนี้สูง 9 เมตร หนักสิบตัน เดินไปริมน้ำ ที่จริงควรจะมองเห็นตัวหนังสือเขียนชื่อ ชื่อปี้ เผอิญที่นี่เป็นที่น้ำท่วมมาก มีศาลาอี้เจียงถิง เพราะว่าภูเขาตรงนี้รูปร่างเหมือนปีกนก ข้าง ๆ ทางมีคนดูโหงวเฮ้งอยู่หลายเจ้า แต่ไม่ได้ลองดู

(น.181) เดินทางไปพิพิธภัณฑ์แห่งชาติหูเป่ย พิพิธภัณฑ์อยู่เขตฮั่นโข่ว ผ่านที่ว่าราชการมณฑล ย่านการค้า ร้านสรรพสินค้าใหญ่ ศูนย์การค้าจงหนาน ตอนนี้ยังสร้างไม่เสร็จ ถ้าเสร็จแล้วจะเป็นศูนย์การค้าใหญ่ที่สุดของอู่ฮั่น รอบ ๆ ทะเลสาบตงหูมีมหาวิทยาลัย ริมน้ำมีต้นไม้ปลูกเรียงเป็นแถว ผ่านบ้านประธานเหมา ปัจจุบันใช้เป็นสถานที่ที่ผู้นำมณฑลมาประชุม

(น.185) ของที่อยู่ในสุสานเขาใส่ตู้ให้ดู มีหลายอย่าง เครื่องสำริด มีรูปร่างต่าง ๆ เช่น ติ่ง มีฝาปิดหูหิ้ว สำหรับใช้ในพิธีกรรม หลี่ ภาชนะใส่อาหาร ใช้ในชีวิตประจำวัน หม้อที่ใช้ต้มเนื้อ ภาชนะรูปสี่เหลี่ยม เครื่องอุ่นเหล้า เครื่องกรองสำหรับทำเหล้า ภาชนะใส่น้ำเรียกว่าโฟ่ มีร่องรอยว่าแต่ก่อนเคยติดเพชรพลอยอัญมณี อีกใบหนึ่งทำด้วยสำริด แต่ฝังลายด้วยทองแดง ชุดภาชนะพิธีไหว้บรรพบุรุษ จะมีจำนวนมากน้อยขึ้นอยู่กับยศตำแหน่ง ถ้าเป็นจักรพรรดิมีติ่ง 9 ใบ ถ้าเป็นเจ้าผู้ครองแคว้นมี 7 ใบ นอกจากนั้นมีช้อน (ทัพพี) สำริด สำหรับตักเหล้า จานผลไม้ หม้อชนิดหนึ่งคล้าย ๆ กับเป็นจาน 2 ชั้น ชั้นบนใส่อาหาร ชั้นล่างใส่ถ่าน ตอนที่ขุดขึ้นมายังมีก้างปลา ปลาชนิดนี้ยังมีอยู่ในมณฑลหูเป่ย ในสุสานยังมีกระดูกหมา กระดูกสาว ๆ 21 คน เขาเก็บเอาไว้หมด แต่ไม่ได้เอาออกมาแสดง หมาก็ใส่อยู่ในหีบ มีหัวธนู 9 ประเภท รูปร่างต่าง ๆ 4,000 ชนิด หอกโบราณ ไกด์บอกว่าเมื่ออ่านบทกวีโบราณ ซือจิง ที่กล่าวว่ามีอาวุธชนิดหนึ่งชื่อ ชู เราก็ไม่รู้ว่าแปลว่าอะไร บางคนสันนิษฐานว่าทำด้วยไม้ไผ่ แม้แต่ในพจนานุกรม ฉือไห่ ยังแปลว่า อาวุธไม้ไผ่ แต่เมื่อขุดสุสานนี้ขึ้นมาก็พบอาวุธที่สลักไว้ว่า เป็นชูของเจิงโหวยี่ เขาทดลองเอาเครื่องอาวุธนี้มาใส่ด้ามสำริด ก็หนักเกินไป จึงทดลองใช้ไม้ไผ่พันด้วยหวาย สิ่งของอื่น ๆ ยังมีโล่ลายนกเฟิ่งและมังกร เกราะหัวม้าทำด้วยหนังวัวลงรัก เหล็กบังเหียนม้า

(น.190) เข้าไปที่ห้องแสดง มีระฆังแถวจำลองสำหรับแสดง เขาเตรียมเก้าอี้เอาไว้ให้พวกเรานั่ง มีคนเล่นระฆังแถว หินแขวน พร้อมกัน 2 คน คนที่ 3 ถือไม้อันโตคอยกระทุ้งให้เป็นเสียงต่ำ ๆ เพลงแรกที่เล่นคือ พระอาทิตย์ขึ้นในทุ่งกว้าง เพลงที่มาจากบทประพันธ์ของชูหยวนคือเพลงอาลัยรัฐฉู่ มีคนเล่นเจิง 2 คน เล่นขลุ่ยอีกคนหนึ่ง ต่อจากนั้นเล่นเพลงของเบโธเฟน เพลงสุดท้ายเป็นเพลง พระเจ้าแผ่นดินออกว่าราชการ แสดงจบออกไปหน้าพิพิธภัณฑ์ มีร้านแบกะดิน ขายอะไรต่อมิอะไรเยอะแยะ มีหนังสือสีแดงของท่านประธานเหมา มีหนังสือต่าง ๆ แสตมป์ เป็นต้น ไปโรงแรม ผ่านมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์หูเป่ย ถึงโรงแรมนี้ก็แปลก ตึกทุกตึกทาสีแดง ห้องข้าพเจ้าเข้าข้างในก็ตกแต่งแบบจีน ถึงเวลา 6 โมงครึ่งเดินไปนั่งในห้องรับรอง มีการแนะนำผู้ว่าราชการมณฑล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเทศสัมพันธ์ของมณฑล ฯลฯ ท่านผู้ว่า ฯ บรรยายว่า ท่านอายุ 55 ปี เคยอยู่การบินจีน มาที่นี่ได้ปีเดียว เป็นคนเจียงซู ท่านกล่าวต้อนรับในนามประชาชนหูเป่ย 57 ล้านคน พูดเรื่องโครงการซานเสียและการพัฒนาเศรษฐกิจ ขอถือโอกาสอธิบายเรื่องมณฑลหูเป่ย มณฑลหูเป่ยอยู่ภาคกลาง เป็นแหล่งอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมที่สำคัญของจีน จากอี๋ชางมาอู่ฮั่นเป็นที่ราบ เป็นอู่ข้าวอู่น้ำ เป็นเมืองหลวงเมืองใหญ่ มีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมยาวนาน เป็นศูนย์กลางการคมนาคมจาก 9 มณฑล มีพื้นที่ 185,900 ตารางกิโลเมตร

(น.191) ประชากรราว 57.72 ล้าน อุณหภูมิเฉลี่ย 15 – 17 องศาเซลเซียส ฝนตกถึง 1,300 - 1,700 มิลลิเมตรต่อปี อากาศไม่หนาวนัก จึงเพาะปลูกได้ผลดี การอุตสาหกรรมมีมานานแล้ว มีแหล่งเหล็กกล้า การทอผ้า เครื่องเคมี การประกอบเครื่องยนต์ บริษัทเหล็กกล้าของอู่ฮั่นแต่ละปีผลิตเหล็กกล้าได้ 900 กว่าตัน ประกอบรถยี่ห้อตงเฟิง ซานเสียก็อยู่ในหูเป่ย หูเป่ยสำคัญมากเพราะเป็นศูนย์การคมนาคม 9 มณฑล มีแม่น้ำ 6 สาย แม่น้ำฉางเจียงที่ไหลผ่านมณฑลนี้ยาว 1,061 กิโลเมตร แม่น้ำฮั่นสุ่ย 800 กว่ากิโลเมตร ใช้แม่น้ำเหล่านี้ในการคมนาคมขนส่งของมณฑล การศึกษาเป็นอันดับ 5 ในประเทศ มีมหาวิทยาลัย 62 แห่ง ระบบการศึกษาก้าวหน้า แต่ละปีส่งนักเทคนิคไปศึกษาต่างประเทศ ตามนโยบายการปฏิรูปเปิดประเทศ การค้าระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น มีบริษัทที่ร่วมทุนกับทางมณฑล 6,200 บริษัท มวลรวมการผลิต 12.9 % มณฑลหูเป่ยปีนี้น้ำท่วมมาก 100 ปีไม่เคยมีแบบนี้เลย การเกษตรเสียหายมาก ทั้ง ๆ ที่จวนจะเก็บเกี่ยวได้แล้ว ผู้นำประเทศให้ผู้นำของมณฑลต่อสู้ต่อไป เพื่อสร้างเศรษฐกิจให้ชาวบ้าน เรื่องเขื่อนซานเสียนั้น การก่อสร้างที่ซานโต่วผิงจะเป็นประโยชน์ทั่วประเทศ การก่อสร้างส่วนใหญ่อยู่ที่หูเป่ย ปีหน้าจะกั้นเขื่อนแล้ว (พูดเรื่องโครงการเขื่อนซานเสีย) น้ำท่วมคราวนี้มณฑลหูเป่ยถูกน้ำท่วมหนักที่สุด 6 เมือง รวมทั้งอำเภอผู่ฉีที่ข้าพเจ้าไปดูสถานที่ที่โจโฉแตกทัพเรือ การแก้ไขปัญหาน้ำท่วมเป็นไปด้วยดี ผู้นำมณฑลออกไปช่วยชาวบ้านกันหมด มาดามเกา รองเลขา ฯ ก็เพิ่งกลับมา ท่านผู้ว่าราชการมณฑลเองก็เพิ่งนั่งรถกลับมา ใช้เวลา 4 ชั่วโมงเพื่อต้อนรับข้าพเจ้า เที่ยวนี้พยายามเต็มที่ไม่ให้ใครอดตาย น้ำสูงมากอยู่ 20 กว่าวัน ตอนนี้ลดลงมาบ้าง

เย็นสบายชายน้ำ หน้า 193

(น.193) วันพุธที่ 21 สิงหาคม 2539
รับประทานอาหารเช้า แล้วไปสนามบินอู่ฮั่นเพื่อขึ้นเครื่อง Southern China Airlines มาดามเกานั่งรถไปด้วย มาดามบอกว่าปัญหาน้ำท่วมอยู่ที่ฝน การป้องกันน้ำท่วมทำได้ด้วยการสร้างเขื่อน ขุดตะกอนตามแหล่งน้ำ คันกั้นน้ำคราวนี้ก็เกือบพังเหมือนกัน ต้องระดมทหารมาซ่อม บางอำเภอในชนบทแม้แต่เวลานี้ น้ำยังลึกเป็นเมตร ทำนาไม่ได้ ผู้นำก็ต้องแบ่งพื้นที่กันใหม่และออกไปเยี่ยมราษฎร บางแห่งต้องสร้างโรงเรียนชั่วคราว ต้องจัดเรื่องกำจัดขยะ ห้องส้วม น้ำดื่ม รถแล่นผ่านสะพานใหม่เพิ่งสร้างเสร็จเมื่อปีที่แล้ว ในมณฑลหูเป่ยต้องช่วยมากเพราะน้ำท่วมหลายจุด หลายพื้นที่เป็นพื้นที่ยากจนอยู่แล้ว เช่น อำเภอจื่อกุย ยากจนที่สุด บางทีใช้วิธีย้ายประชาชนไปอยู่ที่อื่นชั่วคราว ไปอยู่กับญาติหรือเอาเข้ามาในเมือง ต้องเอาเรือออกไปรับคนถึง 5 ลำ น้ำท่วมคราวนี้มีเด็กชายอายุ 15 ปีคนหนึ่งพายเรือรับคนที่ถูกน้ำท่วมออกมาอยู่ที่ปลอดภัยได้ 200 คน ยังส่งวัวควายไก่เป็ดออกมาได้อีก ในหมู่บ้านมีคนพายเรือเป็นอยู่ 2 คน (ข้าพเจ้าว่าแปลก) มีเด็กชายผู้นี้กับอีกคนหนึ่งเป็นคนแก่ รัฐบาลท้องถิ่นจึงให้รางวัลเด็กไป 500 หยวน แต่เด็กก็นำเงินนั้นบริจาคต่อ

ย่ำแดนมังกร
ย่ำแดนมังกร หน้า 65

(น.65) อีกหลายอย่าง แต่อ่านที่จดไว้ไม่ออก ภัณฑารักษ์บอกว่าไปพบศิลาจารึกซึ่งเขียนว่าทางเข้าสุสานมีสองทาง คนสมัยใหม่เลยขุดเข้าไปได้ กำแพงโบราณทำด้วยหินจับดูเย็นมากเลย เขาบอกว่าแต่เดิมประตูใช้อิฐปิดตาย นักสำรวจเอาอิฐออกก็เห็นประตูหินอ่อนหนักบานละ 4 ตัน ข้างบนเป็นสำริดหนัก 10 ตัน เขาเอากระจกปิดประตูหินอ่อนเอาไว้ เป็นการเก็บรักษาอย่างดี หินนี้มาจากภูเขา ฝานซาน ในมณฑลหูเป่ย

ย่ำแดนมังกร หน้า 98

(น.98) อิฐจะต้องมีการเตรียมพิเศษ คือเอาดินของมณฑลเจียงซูมาหมักไว้นานหลายปี เมื่อเผาแล้วต้องแช่น้ำมัน ถงหยิว ไว้จนอิ่มตัว ไม่กินน้ำมัน แล้วจึงนำมาใช้ได้ คราวนี้มีปัญหาว่า น้ำมัน “ถงหยิว” นี้คืออะไร เพราะทาไม้ก็ใช้น้ำมันนี้ เขาอธิบายว่าเป็นน้ำมันพืชชนิดหนึ่ง มาจากต้นไม้ใหญ่เรียกว่าต้น ถง และน้ำมันจากผลไม้นี้เรียกว่าน้ำมันถงหยิว เรารู้จักน้ำมันพืชชนิดหนึ่งเรียกว่าน้ำมัน ตั้งอิ้ว (คงเป็นภาษาแต้จิ๋ว) เราใช้ผสมกับปูน ทำปูนน้ำมันที่ใช้ปั้นลวดลายปูนปั้นประดับโบสถ์วิหาร ปราสาทราชวัง อาจจะเป็นอย่างเดียวกันเพราะชื่อเสียงฟังก็ดังคล้ายๆ กัน (ตกลงอาจารย์สารสินให้หมายเหตุว่า ถงหยิวและตั้งอิ้วคืออันเดียวกัน) เมื่อถามถึงอิฐแล้วก็เลยถามต่อเรื่องหินอ่อนที่ใช้ทำบันไดที่ขึ้นพระที่นั่งนั้น เขาว่าเอามาจากอำเภอ ฝานซาน ในมณฑลหูเป่ยเหมือนที่สุสาน สือซานหลิง พูดบันไดแล้วอดกล่าวไม่ได้ว่าที่นี่เขาก็พยายามรักษาของๆ เขาเอาไว้ดีอีกนั่นแหละ บันไดที่เราต้องเดินขึ้นนั้นเขาตีระแนงไม้ไผ่

เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก
เมื่อข้าพเจ้าเป็นนักเรียนนอก หน้า 183

(น.183) ทั้งหมีแพนด้าและลิงเป็นสัตว์หายากใกล้จะสูญพันธุ์ (endangered species) โครงการอนุรักษ์ภูมิประเทศชื้นแฉะ (Wetland) อยู่ตอนกลางของลุ่มแม่น้ำฉังเจียงแถบมณฑลหูหนานและมณฑลหูเป่ย บริเวณนั้นเป็นถิ่นกำเนิดของสัตว์ต่างๆ หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งนก ภาควิชามีโครงการออกไปเผยแพร่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์แก่ประชาชนในที่ต่างๆ การขยายการทำงานของภาควิชา มีการสร้างอาคารใหม่ๆ เดือนสิงหาคมจะเปิดอีกอาคารหนึ่ง

ใต้เมฆที่เมฆใต้
ใต้เมฆที่เมฆใต้ หน้า 221-222

(น.221)นครที่ขึ้นต่อมณฑล (เสิ่งเสียซื่อ) ที่มีคำว่า “โจว” อยู่ด้วย เช่น หลานโจวในมณฑลกานซู เจิ้งโจวในมณฑลเหอหนาน หังโจวในมณฑลเจ้อเจียง และกว่างโจวในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) จังหวัด (ตี้ชีว์) ที่มีคำว่า “โจว” อยู่ด้วย เช่น ฮุยโจวในมณฑลอานฮุย หยางโจวในมณฑลเจียงซู และไถโจวในมณฑลเจ้อเจียง เมืองที่ขึ้นต่อจังหวัด (ตี้ชีว์เสียซื่อ) เช่น สุยโจวในมณฑลหูเป่ย จังโจวในมณฑลฝูเจี้ยน (ฮกเกี้ยน) และเฉาโจวหรือที่คนไทยเรียกว่าเมืองแต้จิ๋วในมณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ดังนั้น คำว่า “จื้อจื้อโจว” ที่ภาษาอังกฤษใช้ว่า “Autonomous Prefecture” จึงน่าจะแปลเป็นภาษาไทยว่า “จังหวัดปกครองตนเอง” มีผู้แปลคำนี้ว่า “แคว้นปกครองตนเอง” ซึ่งดูเหมือนจะไม่สอดคล้องกับความรับรู้ของคนไทยเท่าใดนัก เพราะคำว่าแคว้นในภาษาไทยสื่อความหมายถึงเขตการปกครองที่มีอิสระและปลอดจากอำนาจรัฐส่วนกลางในระดับสูง ขณะที่จื้อจื้อโจวของจีนมีอำนาจปกครองตนเองในระดับหนึ่งปัจจุบัน (ตามสถิติ พ.ศ. 2532) ประเทศจีนมีจื้อจื้อโจวอยู่ 30 จื้อจื้อโจวมณฑลที่มีมากที่สุดคือมณฑลหยุนหนาน (ยูนนาน) มี 8 จื้อจื้อโจว รองลงมาคือมณฑลชิงไห่มี 6 จื้อจื้อโจว ภูมิภาคการปกครองตนเอง

(น.222) ชนชาติอุยกูร์ซินเจียง (ซินเกียง) มี 5 จื้อจื้อโจว มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) และมณฑลกุ้ยโจวมีมณฑลละ 3 จื้อจื้อโจว มณฑลกานซูมี 2 จื้อจื้อโจว มณฑลจี๋หลิน มณฑลหูเป่ย และมณฑลหูหนานมีมณฑลละ 1 จื้อจื้อโจว

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย
ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 17

(น.17) ทางเศรษฐกิจก็เปลี่ยนแปลงไป มีเอกลักษณ์พิเศษคือ มีทั้งอุตสาหกรรมหนักและการเกษตร เศรษฐกิจเมืองใหญ่ และชนบท งานโครงการเขื่อนซานเสียก็ต้องดูแล ตัวเขื่อนใหญ่จะอยู่ที่เมืองอี๋ชางในมณฑลหูเป่ย แต่ปิดเขื่อนแล้วส่วนที่เป็นอ่างเก็บน้ำจะอยู่ในฉงชิ่งเป็นส่วนใหญ่ (500 ตารางกิโลเมตร จาก 650 ตารางกิโลเมตร) ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติตามนโยบายเปิดสู่ตะวันตกของประธานาธิบดีเจียงเจ๋อหมิน ให้เป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของแม่น้ำแยงซีตอนบน มีหน้าที่ดูแลการอพยพผู้คน คาดว่าเมื่อเขื่อนแล้วเสร็จในปี ค.ศ. 2009 จะต้องย้ายคนถึง 1,030,000 คน ขณะนี้น้ำยังไม่ขึ้น ได้ไปตระเตรียมสถานที่ย้ายคนเป็นอย่างดี แต่ยังไม่ได้ย้ายทั้งหมด นอกจากจะย้ายไปอยู่ตามเมืองต่างๆ ที่กะเอาไว้เดิมแล้ว ยังต้องกระจายไปตามมณฑลต่างๆ ด้วย เช่น ซานตง อานฮุย เจียงซู มหานครเซี่ยงไฮ้ (ซั่งไห่) เจ้อเจียง ฮกเกี้ยน (ฝูเจี้ยน) กวางตุ้ง (ก่วงตง) เจียงซี หูหนาน หูเป่ย เสฉวน (ซื่อชวน) ข้าพเจ้าถามถึงสวนส้มริมฝั่งน้ำ ท่านนายกเทศมนตรีรับรองว่า สวนที่ย้ายไปสร้างใหม่จะมีปริมาณมากขึ้นและรสอร่อยขึ้น เพราะว่ามีเทคโนโลยีดีขึ้น ฉงชิ่งยินดีรับนักลงทุนต่างประเทศ

ต้นน้ำ ภูผา และป่าทราย หน้า 123

(น.123) มณฑลตะวันตกอื่นๆ ก็มีการช่วยเหลือเหมือนกันแต่ทิเบตได้มากสุด เท่าที่ปฏิบัติมา นครปักกิ่งกับมณฑลเจียงซูช่วยลาซา ซานตงและเซี่ยงไฮ้ช่วยรื่อคาเจ๋อ หูหนานกับหูเป่ยช่วยซานหนาน ฮ่องกงก็สนใจที่จะช่วย แต่ยังไม่ได้กำหนดว่าจะมีบทบาทอย่างไร เมื่อมีการประชุมที่ฮ่องกง ต่งเจี้ยนหัว ผู้นำฮ่องกงกล่าวว่าฮ่องกงพร้อมที่จะร่วมนโยบายพัฒนาภาคตะวันตกของจีน เร็วๆ นี้มีพ่อค้าฮ่องกง 100 กว่าคนมาดูงาน วันนี้พยายามไม่ดื่ม แต่คณะทิเบตชวน ไม่เป็นอะไร

คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 120

(น.120) ตอนที่ 6 เป็นห้องที่ว่าด้วยหลินเจ๋อสูทั้งห้อง หลินเจ๋อสู (ค.ศ. 1785-1850) เป็นชาวฝูเจี้ยน เขาเป็นคนที่คนจีนถือว่าเป็นวีรบุรุษ ที่พยายามคุ้มครองคนจีนให้พ้นจากภัยฝิ่น คนจีนจึงเป็นชาติแรกที่พยายามหามาตรการเลิกยาเสพติด ใน ค.ศ. 1839 เขาดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดหูเป่ยและหูหนาน ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ตรวจราชการมีภารกิจไปตรวจสอบเรื่องกรณีฝิ่นที่กวางตุ้ง

เกล็ดหิมะในสายหมอก
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 1 ปักกิ่ง หน้า 20

(น.20) เมื่อรับประทานเสร็จลากลับตึก 12 วันนี้ไม่ค่อยหนาวเห็นจะเป็นเพราะไม่มีลม นัดกันว่าพรุ่งนี้จะวิ่งหกโมงครึ่ง เพราะก็เท่ากับตีห้าครึ่งบ้านเรา ตอนนี้หน้าหนาว คงมืดตื้อ จากนั้นก็รื้อข้าวของ อาบน้ำ แลกเงิน ฯลฯ ข้าพเจ้ามาอยู่เตี้ยวหยูว์ไถครั้งนี้เป็นครั้งที่ 5 แล้ว ไม่ได้คิดเขียนหรือบรรยายเรื่องเกี่ยวกับอาคารรับรองนี้ แต่พี่หวานว่าน่าสนใจดีเลยแปลย่อๆมาให้ ข้าพเจ้าได้นำข้อมูลมาเรียบเรียงไว้ในภาคผนวก ข อ่านหนังสือพิมพ์ภาษาอังกฤษมีข่าวน่าสนใจอื่นๆอีก เช่น เรื่องธนาคารโลกให้เงินกู้จีนสำหรับการอนุ- รักษ์ป่าไม้ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อใช้ในโครงการปลูกป่า ขยายป่าสงวนแห่งชาติ การปลูกป่าเศรษฐกิจ (เพื่อใช้ไม้) เขตโครงการอยู่ทางทิศใต้ และตะวันออกของจีน (กวางตุ้ง กวางสี ไหหลำ ยูนนาน หูหนาน หูเป่ย เจ้อเจียง และชานตุง) มีการพัฒนาระบบคอมพิวเตอร์เชื่อมศูนย์ป่าไม้ทั้งประเทศ ทำให้เจ้าหน้าที่ประสานงานกันแก้ปัญหาได้ง่ายขึ้น มีระบบติดตามควบคุมผลไม่ให้การปลูกป่าก่อให้เกิดการพังทลายของดิน โครงการเงินกู้ของธนาคาร โลกนี้นอกจากมีเป้าหมายในการปลูกป่าแล้ว ยังมุ่งให้มีแนวคิดใหม่และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีใหม่ๆในงานป่าไม้ การสร้างแนวป่ากันชน (Shelter-belts) และปรับปรุงการดำเนินการของอุทยานแห่งชาติ