Please wait...

<< Back

ราชวงศ์โจว

จากหนังสือ

เกล็ดหิมะในสายหมอก
เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 2 เหลียวหนิง หน้า 20,22

(น.20) ห้องที่ 3 สมัยสำริด ราชวงศ์ซาง ราชวงศ์โจว ที่เก่าที่สุด 4,000 ปี สมัยเซี่ยและสมัยซาง สำริดรุ่นแรกในตะวันออกเฉียงเหนือทำเป็นภาชนะสามขา ยังมีภาชนะดินเผาเขียนสีแดงดำ อาวุธโบราณชนิดจีนหนึ่งเรียก เกอ ลักษณะคล้ายขวาน เปิดพจนานุกรม จีน-อังกฤษ เรียกว่า dagger axe ทำด้วยสำริด ภาชนะสำริดรุ่นนี้มีจารึกชื่อบุคคลผู้ล่วงลับไปแล้วมีรูปร่างต่างๆ เช่น รูปหงส์ รูปมังกร หูภาชนะเป็นรูปหัววัว หัวเสือ

(น.22) ที่แปลกคือเป็นรูปสัตว์ประหลาดขี่เสือจับหมู (ข้าพเจ้าดูแล้วไม่ทราบว่าเป็นพระพนัสบดี หรือเป็นต้นแบบของหน้ากาลที่เราเห็นในสถาปัตยกรรม) เสือเป็นสัตว์ศักดิ์สิทธิ์เพราะเป็นเจ้าป่า เครื่องอาวุธ คันฉ่องโลหะ ภาชนะดินเผาทางภาคเหนือต่างจากภาคกลางคือมีรูเจาะสำหรับแขวน มีระฆังสำริด เครื่องประดับม้าของชิ้นหนึ่งมีรูปร่างแปลกคือ งู 2 ตัวพันกันคาบกบซึ่งประดับ Turquoise รูปเสือตะครุบกระต่าย ท่อพ่นลมสุมไฟรูปหัวม้า สรุปได้ว่าวัฒนธรรมในยุคนี้ของเหลียวหนิง (สมัยชุนชิวจ้านกว๋อ) ประกอบด้วยการเกษตร ปลูกพืช เลี้ยงสัตว์และจับปลา

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 4 เฮยหลงเจียง หน้า 98

(น.98) เข้าชมพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์เมืองอ้ายฮุย ซึ่งแสดงความเป็นมาของเมืองนี้ในด้านต่างๆ เรื่องแรกที่ได้ชมกล่าวถึงรอบๆ บริเวณที่เคยเป็นที่บัญชาการของแม่ทัพเฮยหลงเจียงมาแต่ ค.ศ.1683 ในสมัยราชวงศ์ชิงนั้น มีมนุษย์ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่มาแต่ครั้งโบราณ ขุดค้นพบเครื่องมือหิน หัวลูกศร หัวธนู มีบันทึกประวัติศาสตร์ว่า หัวธนูพวกนี้เป็นบรรณาการส่งเข้าเมืองหลวงมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจว นอกจากนั้นได้กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดการปกครองและการทหารของเมืองอ้ายฮุยตั้งแต่สมัยราชวงศ์เว่ยเหนือมาจนถึงสมัยราชวงศ์ชิง

เกล็ดหิมะในสายหมอก เล่ม 5 ภาคผนวก หน้า 3

(น.3) 3. ราชวงศ์โจว ประมาณก่อน ค.ศ. 1122 – 770 บางหลักฐานระบุว่าประมาณก่อน ค.ศ. 1027 – 770

คืนถิ่นจีนใหญ่
คืนถิ่นจีนใหญ่ หน้า 60

(น.60) หนานเยว่ คำว่า เยว่ นั้นพจนานุกรมบอกว่าเป็นแคว้นหนึ่งในสมัยโจวตะวันออก (770-256 ก่อนคริสต์กาล) ปัจจุบันอยู่ในมณฑลเจ้อเจียง และเจียงซู ตัวอักษรจีนเขียนดังนี้(ตัวอักษรจีน) นั่นเป็นพวกที่หนึ่ง พวกนี้ถูกพระเจ้าจิ๋นซีฮ่องเต้ผนวกดินแดน

เจียงหนานแสนงาม
เจียงหนานแสนงาม หน้า 10,11

(น. 10) เมืองเซ่าซิง ย้อนถึงสมัยจั้นกั๋ว (Warring States– เลียดก๊ก ก่อน ค.ศ. 476 – ก่อน ค.ศ. 221) ในสมัยนี้จีนเป็นเอกภาพแต่ในนาม มีกษัตริย์ราชวงศ์โจวปกครองอยู่ก็จริง แต่เจ้านครต่างๆ ตั้งตัวเป็นอิสระ เมืองเจิ้นเจียงเป็นเมืองหลวงของแคว้นอู๋ เมืองเซ่าซิงเป็นเมืองในแคว้นเย่ว์ สองก๊กนี้รบกันดุเดือดมากที่สุด ไปดูบ้านเมืองเดี๋ยวนี้ก็ดูไม่ออกว่าเคยรบกันมาก

(น. 11) มีประวัติเล่ากันว่าเมื่อ 2 พันปีก่อน คนจีนไม่ได้ใช้ตะเกียบ ใช้แต่มีดซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ามีดโต๊ะของฝรั่ง สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก (ก่อน ค.ศ. 1122 – ก่อน ค.ศ. 770) มีงานพระราชทานเลี้ยง กษัตริย์เห็นว่ามีดเป็นของมีคมอาจเป็นอันตรายได้ จึงหั่นเนื้อเป็นชิ้นเล็กๆ คนทิเบต มองโกล อุยกูร์ ยังใช้มีดแบบนี้ ข้าพเจ้าถามว่าเขาใช้ส้อมจิ้มอาหารหรือเปล่า ท่านว่าใช้มือ

เจียงหนานแสนงาม หน้า 217-218,221-222

(น. 217) พิพิธภัณฑ์เจิ้นเจียง อาคารพิพิธภัณฑ์เป็นตึกฝรั่ง 2 หลัง หลังแรกเคยเป็นสถานกงสุลอังกฤษ สร้างขึ้นใน ค.ศ. 1890 มีลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่สวยงาม เป็นอาคารอนุรักษ์ ตั้งอยู่บนเนินเขา อาคารแรกแสดงเรื่องประวัติศาสตร์เจิ้นเจียง มีศิลปวัตถุที่ขุดพบแถบเจิ้นเจียงมากมาย เพราะขุดพบแหล่งโบราณคดีกว่า 10 แห่ง และสุสานอีก 10 กว่าแห่ง ชั้นล่างของอาคาร จัดแสดงหัวข้อต่างๆ ดังนี้
1. สมัยก่อนประวัติศาสตร์ช่วงสมัยหินใหม่ แสดงเครื่องมือหินขัดแบบต่างๆ เข็มเย็บผ้า ไนปั่นฝ้าย ผานไถนา ซึ่งเป็นหินแผ่นใหญ่ ส่วนกว้างที่สุดเห็นจะกว่าฟุตหนึ่ง เครื่องปั้นดินเผารูปร่างต่างๆ เครื่องหยก เครื่องประดับพวกกำไล ปิ่นปักผม และมีหลักฐานว่ามีการชลประทานแล้ว
2. ยุคราชวงศ์ซัง (ก่อน ค.ศ. 1766 – ก่อน ค.ศ. 1122) ราชวงศ์โจวตะวันตก (ก่อน ค.ศ. 1122 – ก่อน ค.ศ. 770) และบางส่วนในสมัยชุนชิว (ก่อน ค.ศ. 770 – ก่อน ค.ศ. 476) การแบ่งยุคประวัติศาสตร์ตามแบบของนักวิชาการจีนเรียกยุคนี้ว่า ยุคสังคมทาส แสดงเครื่องปั้นดินเผาลายเรขาคณิต ลายเกลียว

(น. 218) เชือก ซึ่งพบมากในภาคใต้ของจีน หม้อสามขา หม้อดินเผายังมีไข่อยู่ในหม้อนั้น

(น. 221) จากนั้นขึ้นไปบนอาคารที่ 2 เพื่อดูสิ่งของมีค่าของพิพิธภัณฑ์ ผู้อำนวยการบอกว่าพิพิธภัณฑ์นี้มีสิ่งของ 30,000 ชิ้น ที่มีชื่อเสียงคือ เครื่องสำริดสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก เครื่องสำริดทางใต้นี้มีส่วนผสมและแบบอย่างต่างจากทางเหนือ ของเจิ้นเจียงเป็นตัวอย่างที่ดีของศิลปะแคว้นอู๋ในสมัยชุนชิว นักโบราณคดีกล่าวกันว่าถ้าจะศึกษาเรื่องแคว้นอู๋ต้องมาที่เจิ้นเจียง เขานำของมีค่ามาให้ดูดังนี้
1. เครื่องสำริดราชวงศ์โจวตะวันตก ขุดพบที่ไท่หยัง ในเมืองเจิ้นเจียง มีลวดลายเป็นนกและกบ เพราะทางนี้มีน้ำอุดมสมบูรณ์ มีสัตว์พวกนี้อยู่มากมาย กบเป็นสัญลักษณ์ของการมีลูกหลานมาก คนจีนสมัยนั้นถือว่าเป็นสิริมงคล
2. ไหสำริด มีฝาปิดรูปนก พบในสุสานสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก ในสุสานนี้มีเครื่องสำริดหลายร้อยชิ้น ส่วนมากเป็นของ

(น. 222) ใช้ในพิธีกรรม นอกนั้นมีอาวุธบ้าง ภาชนะใส่เหล้า บางใบเมื่อพบยังมีเหล้าอยู่
3. ถ้วยสำริดใบใหญ่ทำเป็นรูปเป็ดสมัยราชวงศ์โจวตะวันตกใช้ใส่เหล้า ของทางเหนือเป็นรูปเป็ดธรรมดา แต่ทางใต้เป็นเป็ดแมนดาริน ซึ่งมีอยู่ในภูมิประเทศที่นี่
4. ระฆังสำริดสมัยจั้นกั๋ว มีลวดลายเป็นหน้าคน มีหูอยู่ข้างๆ เป็นรูปมังกร ชุดหนึ่งมี 2 ใบ ใบที่เอามาให้ดูเป็นใบเล็กที่สุดในชุด ใช้ในกองทัพสำหรับตีบอกสัญญาณต่างๆ และถือเป็นเครื่องดนตรีกระตุ้นให้ทหารรบ ระฆังชุดนี้อาจเป็นของเก่าที่สุดที่พบในจีน และมีรูปร่างแปลก เพราะที่อื่นเป็นรูป 4 เหลี่ยม
5. เครื่องเคลือบแบบศิลาดล ทางเจิ้นเจียงมีเครื่องเคลือบแบบนี้มาก เพราะมีดินที่เหมาะสม ยังมีเตาเผาเหลืออยู่ ของที่เอามาให้ดูมี กระปุกสมัยราชวงศ์อู๋ หรืออู๋กั๋วของซุนกวนในสมัยสามก๊ก แจกันมีลวดลายนูนต่ำเป็นรูปคน และมีลวดลายแบบนูนสูงปนอยู่ด้วย เป็นรูปนักกายกรรม มีรูปสุนัข เต่า กระต่าย กวาง เชิงเทียนรูปแกะ
6. ที่เผากำยาน มีพระพุทธรูปเล็กๆ อยู่ข้างบน
7. แผ่นทองคำ สลักลายพระพุทธรูป
8. กล่องทองคำ เงิน มีขนาดเล็กใหญ่ลดหลั่นกันไป ชั้นในสุดพบพระบรมสารีริกธาตุ ใส่ขวดไว้ให้ดู มีสีขาวใสอยู่ขวดหนึ่ง สีน้ำตาลใสอีกขวดหนึ่ง ได้จากเจดีย์เหล็กบนเขาเป่ยกู้ซาน
9. พัด ดูเหมือนพัดใบตาล ลงรัก สมัยราชวงศ์ซ่งใต้ (มีรูปติดไว้ให้ดูที่อาคาร 1)

เจียงหนานแสนงาม หน้า 289-290,292-293

(น. 289) ในตู้แสดงภาพวาดและสร้างหุ่นรูปบ้านเรือนสมัยนั้นเป็นบ้านเรือนเครื่องผูก ใต้ถุนสูง แบบเดียวกับบ้านของผู้คนในสิบสองปันนา มีเครื่องมือทอผ้า เครื่องมือสานเสื่อ ฟั่นเชือก สิ่งของสมัยนั้นมีหัวไม้เท้าสลักเป็นรูปหนอนไหม นักโบราณคดีจึงสันนิษฐานว่า สมัยนั้นมีการเลี้ยงไหมแล้ว พบอุปกรณ์การทอผ้า เช่น กี่ และกระสวย พบเข็มทำด้วยกระดูก แสดงว่ามีการเย็บเสื้อผ้า พบเครื่องเขิน เศษเครื่องปั้นดินเผา มีลวดลายเป็นพืชและสัตว์ต่างๆ พบเครื่องหยกเก่าที่สุดในประวัติศาสตร์จีน งาแกะลายนก นกหวีดทำด้วยกระดูก มีการศึกษาวิจัยจากเศษพืชและกระดูกสัตว์ที่ขุดพบ แสดงว่าสมัยนั้นมีการตกปลาและเก็บพืช เช่น น้ำเต้า กระจับ ส่วนสัตว์มีช้าง แรด นกกระเรียน ซึ่งปัจจุบันมีแต่ในเขตร้อน ลิงหน้าแดง ปัจจุบันมีแต่ในสิบสองปันนาแสดงว่าสมัยก่อนอากาศอาจจะต่างจากปัจจุบัน มีรูปการขุดค้นพบเสาเรือน แสดงว่าตอนนั้นมีการปลูกเรือนโดยวิธีเข้าเดือยไม้ไม่ใช้ตาปู วัฒนธรรมหินใหม่เก่าแก่อีกแห่งที่พบคือ วัฒนธรรมหม่าเจียปัง พบทางตอนใต้ของแม่น้ำเฉียนถังเจียงในทศวรรษ 1950 พบเครื่องมือหิน ขวานหิน เครื่องปั้นดินเผา อายุประมาณ 6,000 หรือ 7,000 ปี วัฒนธรรมซงเจ๋ออยู่ใกล้เซี่ยงไฮ้ ประมาณ 5,900 ปีมาแล้ว พบเครื่องมือเกษตรที่ก้าวหน้าขึ้น แต่เครื่องปั้นยังมีลักษณะแบบโบราณ วัฒนธรรมเหลียงจู่ประมาณ 5,000 ปีมาแล้ว อยู่ชานเมืองหังโจว แถบทะเลสาบไท่หู พบเมื่อ ค.ศ. 1936 มีเครื่องหยก เป็นหยกโปร่งแสงซึ่งหายาก ก่อนพบหยกในวัฒนธรรม

(น. 290) หินใหม่ที่นี่ นักวิชาการคิดว่าคนจีนเริ่มใช้เครื่องหยกในสมัยจั้นกั๋ว เครื่องปั้นดินเผาสมัยนี้มีหม้อสีดำ และพบผ้าไหม ก่อนหน้านั้นใช้ผ้าทำด้วยป่าน สมัยราชวงศ์ซังและโจว มีเครื่องสำริด พบเบ้าหลอมสำริดสมัย 770 – 476 ปีก่อนคริสต์กาล ลักษณะไม่เหมือนของภาคกลาง แต่ของที่พบก็คล้ายๆ กัน เช่น เครื่องดนตรีระฆังแถวในสุสาน สมัยชุนชิว พบเครื่องสำริด ส่วนใหญ่เป็นอาวุธ ผู้บรรยายเล่าว่าสมัยนั้นแคว้นเย่ว์และแคว้นอู๋ทำสงครามกัน มีของจากแคว้นเย่ว์ (พระเจ้าโกวเจี้ยน) ซึ่งผู้บรรยายว่ามีลักษณะคล้ายของกวางสีหรือของที่พบในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากอาวุธมีเครื่องมือทำการเกษตร เช่น จอบ เสียม พลั่ว

(น. 292) ไปอีกตึกหนึ่ง แสดงเครื่องปั้นดินเผาของเจ้อเจียงตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซังถึงราชวงศ์ชิง สมัยราชวงศ์โจวตะวันตก สมัยชุนชิวพบเครื่องปั้นดินเผาปั้นเลียนแบบเครื่องสำริด

(น. 293) อีกตึกมีเครื่องสำริดตั้งแต่สมัยราชวงศ์ซัง มีของที่พบใน ค.ศ. 1995 มีกระบี่ของเจ้าแห่งแคว้นเย่ว์ ที่พบนั้นยังอยู่ในสภาพดี มีฝักอยู่เรียบร้อย สมัยจั้นกั๋ว มีกะละมังสำริด เจดีย์เงิน สมัยชุนชิวมีของที่พบที่เมืองเซ่าซิง เช่น ถ้วยทองคำ

มุ่งไกลในรอยทราย
มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 62

(น.62) ในประวัติศาสตร์ก่อนและหลังคริสตกาล 1,000 ปี รวม 2,000 ปี เมืองซีอานเป็นนครหลวงกว่าครึ่ง ที่สำคัญ คือ ราชวงศ์โจว ฮั่น และราชวงศ์อื่น ๆ อีกหลายราชวงศ์ รวม 11 ราชวงศ์ ข้าพเจ้าจะได้ไปชมสุสานเม่าหลิง ราชวงศ์ฮั่น มีศิลาจารึกที่มีชื่อเสียง จะได้ดูสุสานเฉียนหลิงของบูเช็กเทียน จักรพรรดินีองค์เดียวที่ครองราชย์อยู่นาน 21 ปี (ค.ศ.684-705)

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 132-133

(น.132) พิพิธภัณฑ์กานซู
ยุคโลหะหรือสังคมทาส เริ่มต้นตั้งแต่ก่อนสมัยราชวงศ์โจว มีของที่ใช้ในพิธีบูชาบรรพบุรุษ ได้ขุดพบหอยเบี้ยที่ใช้แทนเงินอย่างที่เมืองไทยก็มี (อายุ 3,500 ปี ก็น่าจะยังเป็นสมัยหินใหม่?)

(น.133) เครื่องเคลือบในยุคแรกมีในสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก (1122 – 770 ปีก่อนคริสตกาล) ที่แสดงไว้เป็นหม้อสำหรับเก็บน้ำมัน ภาชนะสำริดซึ่งเป็นของที่ใช้ในพิธี ไม่ได้เป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน บางทีมีชื่อคนทำสลักไว้ บางทีก็เป็นชื่อของเจ้าของ ที่สำคัญคือภาชนะที่มี 3 ขา

มุ่งไกลในรอยทราย หน้า 363

(น.363) ราชวงศ์ที่ปกครองจีน
3. ราชวงศ์โจว ประมาณก่อน ค.ศ. 1122 – 770 บางหลักฐานระบุว่าประมาณก่อน ค.ศ. 1027 – 770
4. ยุคชุนชิว ก่อน ค.ศ. 770 – 476
5. ยุคจ้านกว๋อ ก่อน ค.ศ. 476 – 221

ย่ำแดนมังกร
ย่ำแดนมังกร หน้า 161-162

(น.161) ในสมัยราชวงศ์ โจว มีจักรพรรดิองค์หนึ่งทรงพระนามว่า โจวยิวหวัง ได้พระสนมคนหนึ่งชื่อ เป่าซื่อ พระสนมนี้ไม่ดีกับจักรพรรดิ ทั้งๆ ที่พระจักรพรรดิพยายามเอาใจนางทุกๆ ประการ นางก็ไม่ยอมยิ้มกับ

(น.162) จักรพรรดิ พยายามหาเรื่องสนุกสนานมาเล่นนางก็ไม่ยิ้ม พระจักรพรรดิกลุ้มพระทัยมากจึงนำความไปปรึกษาขุนนาง ขุนนางผู้หนึ่งถวายความเห็นว่า บนภูเขา หลี่ซาน มีสถานที่สำหรับจุดไฟให้ทหารเข้ามารวมพลกันเมื่อเวลามีศึกสงคราม ให้ลองจุดไฟบนนั้นแล้วจัดงานฉลองกันให้เป็นที่สำราญ พระจักรพรรดิทรงเชื่อตามนั้นครั้งเมื่อจักพรรดิจุดไฟบนภูเขา นายพลทั้งหลายต่างก็เข้ามาด้วยคิดว่าแผ่นดินถูกคุกคาม กลับมาพบพระจักรพรรดิสรวลเสเสวยสุราอยู่กับเหล่าขุนนางสอพลอ แถมยังทรงชักชวนว่า เราจงมาสนุกสนานกันเถิด เหล่านายพลโกรธมาก ได้แต่เข่นเขี้ยวเคี้ยวฟันทำอะไรไม่ได้ พากันลงจากเขาไป ฝ่ายพระสนมเห็นภาพเช่นนั้นก็หัวเราะชอบใจ (สนมคนนี้ถ้าไม่เป็นไส้ศึก คงเป็นคนที่มีนิสัยประหลาดอยู่) ในกาลต่อมามีศัตรูรุกรานจริงๆ พระจักรพรรดิจุดไฟบนยอดเขาก็ไม่มีทหารมา เพราะต่างก็คิดว่าจักรพรรดิคงจะสนุกสนานอีกแล้ว ในครั้งนั้นบ้านเมืองจึงเสียไป

ย่ำแดนมังกร หน้า 207-208

(น.207) พิพิธภัณฑ์ของมณฑลส่านซี เดิมเป็นที่ตั้งศาลเจ้า ข่งเมี่ยว (ที่บูชา ขงจื้อ) สมัยราชวงศ์ เหม็ง ประมาณ 900 กว่าปีมาแล้วสิ่งก่อสร้างต่างๆ มีสมัยราชวงศ์ เหม็ง ราชวงศ์ เช็ง มีลักษณะเหมือนศิลปะ เช็ง ในอาคารพิพิธภัณฑ์มีศิลปวัตถุตั้งแต่สมัยราชวงศ์ โจว ฉิน และ ฮั่น เช่น ภาชนะสำริดสมัยราชวงศ์ โจว มีรูปร่างต่างๆ เช่น เวย เจิง ทิง โต้ว กว้าย (รูปร่างอย่างหนึ่งก็มีชื่อเรียกต่างๆ กัน) มีเครื่องมือการผลิต เครื่องมือการเกษตร เขามีภาพแสดงวิธีการบอกด้วยว่าปลูกข้าวอะไรบ้าง ตัวเหลืองๆ รู้สึกว่าตัวจะใหญ่กว่าที่ข้าพเจ้าเคยเห็นในเมืองไทยเล็กน้อย เขาบอกว่าเป็นเบี้ยมาจากทะเลแถวๆ ชานตุง ในตู้ที่วางไว้ตรงกลางไว้เครื่องดนตรี –

(น.208) โลหะขนาดต่างๆ ตีแล้วจะเป็นโน้ตหลายๆ เสีย มีภาชนะต่างๆ สำหรับใส่ไว้กับศพ มีขนาดเล็กกว่าของที่ใช้จริงๆ และไม่ประณีตเหมือนของที่ใช้จริงๆ ด้วย (ภาชนะที่ไว้กับศพที่ว่านี้ดูเหมือนจะเป็นสมัยราชวงศ์ โจว มีประเพณีต่างจากพวกที่ ป้านโพ ซึ่งเอาของที่ใช้จริงๆ ฝังลงไปด้วย) ที่แปลกไปอีกอย่างหนึ่งคือมีวัตถุคร่ำเงินคร่ำทองทำในสมัย ชุนชิว (B.C. 770-476) ซึ่งเป็นสมัยที่เมืองจีนแบ่งเป็นก๊กๆ หลังจากราชวงศ์ โจว พอเห็นเข้าข้าพเจ้าก็รีบเรียกแอ๋ว

ย่ำแดนมังกร หน้า 321

(น.321) อีกร้านหนึ่งเป็นร้านขายของเก่า พอเข้าไปเขาจะแจกการ์ดเล็กๆ ข้างหน้าเขียนว่า Yunnan Antiuqe Store ข้างในเป็นรายชื่อของราชวงศ์ต่างๆ ของจีน ตั้งแต่ราชวงศ์ เซี่ย ถึงราชวงศ์ เหม็ง และ เช็ง บอกชื่อกษัตริย์ทุกองค์ ข้าพเจ้าใช้ดูแผ่นนี้อยู่ตลอดจนทุกวันนี้ เขาเขียนถ่ายอักษรอย่างเก่า เดี๋ยวนี้เขามีวิธีถ่ายอักษรอย่างใหม่ข้าพเจ้าอ่านได้เฉพาะแบบใหม่ เลยต้องให้อาจารย์สารสินช่วยเขียน และเขียนภาษาไทยไว้ด้วย จะขโมยลอกมาลงไว้ในที่นี้ดังนี้

THE CHINESE DYNASTIES
เซี่ย HSIA (XIA) B.C. 2250-1766
ซาง SHANG (SHANG) B.C. 1766-1122
โจว CHOU (ZHOU) B.C. 1122-770
ชุนชิว SPRING AND AUTUMN ANNALS (CHUNQIU) B.C. 770-476
จ้านกว๋อ WARRING STATES (ZHANGUO) B.C. 476-221
ฉิน CHIN (QIN) B.C. 221-206
ฮั่น HAN (HAN) B.C. 206-A.D. 220
ซานกว๋อ THREE KINGDOMS (SANGUO) A.D. 220-265
จิ้น TSIN (JIN) A.D. 265-420
หนานเป่ยเฉา SOUTHERN AND NORTHERN DYNASTIES (NANBEI CHAO) A.D. 420-589
สุย SUI (SUI) A.D. 589-618
ถัง TANG (TANG) A.D. 618-907

หวงเหออู่อารยธรรม
หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 51

(น.51) ดินแดนซานตงเป็นที่ตั้งของแคว้นฉีและแคว้นหลู่ในสมัยชุนชิว จั้นกว๋อ เมื่อ 2,500 กว่าปีมาแล้ว มีความเจริญในการผลิต การถลุงเหล็ก นอกจากนั้นยังเลิกทาส และมีอารยธรรมสูงกว่ารัฐอื่นๆ ในสมัยเดียวกัน ในสมัยนั้นขงจื่อรับราชการในแคว้นหลู่ และได้รวบรวมความคิดตั้งลัทธิขงจื่อ รัฐต่างๆ ได้ใช้ลัทธิขงจื่อเป็นหลักในการปกครองในสังคมศักดินา ถิ่นกำเนิดขงจื่ออยู่ในอำเภอจี้หนิง ปัจจุบันมีศาลเจ้าขงจื่อ บ้านตระกูลข่งสร้างในสมัยราชวงศ์ซ่ง ยังมีสุสานตระกูลข่งซึ่งคนแซ่นี้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก เมื่อตายแล้วเอาศพมาฝังได้ สมัยนี้จีนให้ความสำคัญแก่การวิจัยขงจื่อถึงกับจัดกองทุนสำหรับศึกษาขงจื่อไว้ ประธานคนปัจจุบันชื่อหานจงไถ มีสถาบันวิจัยลัทธิขงจื่อในวิทยาลัยครูชวีฝู่และมหาวิทยาลัยซานตง (ฉันไม่รู้จะเขียนขงจื่อ ขงจื้อ หรือขงจื๊อ ดี ซุปว่าขงจื่อก็แล้วกัน จีนกลางเรียกแบบนี้ แต้จิ๋วเรียกขงจื้อ แต่ไทยเรียกขงจื๊อ) สำหรับภูเขาไท่ซานนั้นคนจีนถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของบ้านเมือง ไท่ซานเป็นหนึ่งในภูเขาสำคัญ 5 ลูกของจีน มีความยิ่งใหญ่ตระหง่าน จักรพรรดิราชวงศ์เซี่ย ซัง โจว จำนวน 72 พระองค์เคยเสด็จขึ้น ในสมัยหลังนั้นได้ขึ้นทุกราชวงศ์ จึงมีมาก ไม่ได้นับจำนวน มีป้ายพระเจ้าในสรวงสวรรค์และพระธิดา จากเชิงเขาขึ้นได้ 2 ทาง คือ ทางตะวันออก และทางตะวันตก ไปบรรจบกันที่จงเทียนเหมิน (จง = กลาง เทียน = ฟ้า เหมิน = ประตู) มีทิวทัศน์งามๆ มากมาย มีลายมือนักประพันธ์มีชื่อสลักไว้ มีวัดต่างๆ ถือกันว่ายอดเขาหนานเทียนเหมินเป็นประตู

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 63,67-68

(น.63) สิ่งของที่ได้จากการขุดค้นที่เซียนเหรินไถใน ค.ศ. 1995 เป็นแหล่งโบราณคดีสมัยราชวงศ์โจว มีพื้นที่กว่า 1,000 ตารางกิโลเมตร ที่จริงแล้วพบทั้งวัฒนธรรมเซี่ย โจวตะวันตก ชุนชิว ฮั่น ได้พบสุสานมีของทั้งที่เป็นสำริดและดินเผา ของบางชิ้นมีตัวอักษรสลัก มีภาชนะใส่อาหารที่ยังมีอาหารประเภทข้าวฟ่างติดอยู่ ภาชนะบางอย่างใช้เฉพาะในพิธีกรรม แท่นมีเสาปักอยู่มีนกอยู่บนยอดตัวหนึ่ง ตรงกลางเสาอีกตัวหนึ่ง ทำด้วยสำริด สมัยชุนชิว พบที่เซียนเหรินไถเหมือนกัน เขาอธิบายว่าเป็นความเชื่อของพวกตงอี๋นับถือนก (นกพิราบป่า) ดูอีกทีก็มีอะไรคล้ายๆ เสาหงส์ของบ้านเรา พวกเครื่องหยก ของพวกนี้เราเรียกว่าหยกทั้งนั้น ที่จริงเป็นหินมีค่าหลายชนิด ชิ้นที่สำคัญของที่นี่ทำด้วย Nephrite (หยกชนิดหนึ่ง) มาจากซินเกียง ชิ้นอื่นๆ เป็นหยกท้องถิ่น สุสานหมายเลข 6 มีขนาดใหญ่มาก และเก็บรักษาได้เป็นอย่างดี มีภาชนะที่ใช้สำหรับพิธีที่เรียกว่า ติ่ง ขนาดใหญ่ 15 ใบ ปกติสมัยโจวจะมีหลักตายตัวว่าจำนวนติ่งขึ้นอยู่กับยศของคนตาย ที่มากที่สุดคือ 9 ใบ แต่ที่นี่มีถึง 15 ใบ มีชุดสำหรับล้างมือ เป็นพิธีก่อนที่จะเอาของไปถวายสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เครื่องดนตรีมีระฆังราวทำด้วยสำริดและระฆังหิน อาวุธต่างๆ เช่น ดาบ มีด ลูกศร มีจานที่ใช้เป็นของขวัญในงานแต่งงาน มีอักษรจารึกว่าเจ้าหญิงไปแต่งงานกับเจ้าชายอีกรัฐ มีเครื่องดินเผา

(น.67) พิพิธภัณฑ์มณฑลซานตง มีตู้แสดงเครื่องประดับหยกและโมรา มีแผ่นหยกที่ร้อยสำหรับเป็นสร้อยคอ สายคาดเอว ของเหล่านี้สร้างในสมัยชุนชิว ภาชนะสำริดสมัยราชวงศ์ซังสำหรับใส่น้ำใช้ส่องแทนกระจก ภาชนะที่เรียกว่า ลี่ อีกชนิดเรียกว่าติ่ง มีภาชนะที่เรียกว่า เย่ว์ (yue) เป็นภาชนะขนาดใหญ่ ฝาเป็นรูปขวานเป็นเครื่องแสดงอำนาจของกษัตริย์ มีอักษรจารึก ระฆังแถว (เปียนจง) สมัยชุนชิว ใช้บรรเลงเสด็จออกประพาส กุยสำริดสมัยราชวงศ์โจวตะวันตก เขาว่าสำหรับใส่เนื้อ บนฝามีอักษรจารึกว่าได้รับการแต่งตั้งจากกษัตริย์ให้เป็นขุนนาง ภาชนะสำริดสำหรับล้างมือมีถาดรอง รอบถาดสำริดมีลายมังกรและปลา เป็นของขวัญให้ลูกสาวที่แต่งงาน เป็นการเปรียบว่า ขอให้มีความสุขเหมือนปลาอยู่ในน้ำ (เขาไม่ได้อธิบายเรื่องมังกร)

(น.68) กาใส่น้ำและเหล้าของรัฐฉีและหลู่ มีจารึกว่าเป็นของขวัญของกงซุนเจ้าให้บุตรสาวแต่งงาน ลายมือที่สลักละเอียด ภาชนะใส่อาหารที่เรียกว่า ฝู่ ฝังหินไข่นกการเวก เรียกว่า ถั่ว เป็นของสมัยจั้นกว๋อ

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 103

(น.103) พิพิธภัณฑ์ขงจื่อ
ของที่แสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์มีหลายอย่าง เช่น เครื่องในพิธีไหว้ขงจื่อที่จักรพรรดิหย่งเจิ้งทำพระราชทานตระกูลเป็นพิเศษ เป็นเครื่องถมปัดจิ่งไท่หลานสีเหลือง เครื่องแต่งตัวตามบรรดาศักดิ์ที่สวมใส่ตามฤดูกาล ของใช้ เช่น ปลอกแว่นตา กระบอกใส่พู่กันสมัยราชวงศ์หมิง สมบัติมีค่า เช่น เครื่องสำริดสมัยราชวงศ์โจว (2,700 ปี) ภาพเขียนและการเขียนตัวหนังสือฝีมือเหยี่ยนเซิ่งกงรุ่นต่างๆ ตั้ง 600 ปีมาแล้วก็มี

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 123-124

(น.123) ของชิ้นเอกเป็นเครื่องปั้นดินเผาเมื่อ 5,000 ปีมาแล้ว เมื่อปั้นแล้วต้องใช้หินกรวดขัดเกลาให้ลื่น ออกเป็นแววเหมือนเครื่องสำริด
ภาพมังกรที่เก่าที่สุด อายุ 6,000 ปี วัฒนธรรมหยั่งเสาทำด้วยเปลือกหอย ลักษณะบ้านเรือนคนสมัยนั้นแสดงว่าเริ่มมีการอยู่เป็นครอบครัว
เมื่อเริ่มเข้ายุคสำริด มีของใช้สำริด เช่น ถาดทองแดง และท่อน้ำทิ้ง เรียกว่า วัฒนธรรมหลงซาน
สมัยราชวงศ์เซี่ย ซัง และโจว
สมัยราชวงศ์เซี่ยเป็นสมัยสังคมทาส ราวๆ 4,000 ปีมาแล้ว มีเครื่องทองสำริด ไม่มีลวดลาย
สมัยราชวงศ์ซังมีอักษรเขียนบนกระดองเต่าประมาณ 3,600 ปีมาแล้ว ภายหลังย้ายเมืองมาเจิ้งโจว มีภาพแสดงกำแพงล้อมเมือง
ภาพเมืองอานหยัง มีภาพถ่ายทางอากาศสมัยราชวงศ์ซังตอนปลาย ย้ายมาจากเมืองชวีฝู่


(น.124) พิพิธภัณฑ์มณฑลเหอหนาน
อักษรบนกระดองเต่าและกระดูกสัตว์อื่นๆ ใช้เสี่ยงทายเรื่องราวต่างๆ เพื่อให้ทราบความประสงค์ของเทวดาและบรรพบุรุษ นำกระดองเต่าและกระดูกนี้มาเผาไฟจนเกิดรอยแตก นำมาตีความได้ สมัยนั้นเริ่มมีการใช้ตัวเลขและคำนวณได้ เขียนเลขหมื่นได้ เลขหมื่นเขียนเป็นรูปแมลงชนิดหนึ่งคล้ายแมงป่อง หัวข้อที่เสี่ยงทายมีเรื่องการเกษตร คนเจ็บป่วย การเลี้ยงสัตว์ จับปลา การเกิดสุริยุปราคา และจันทรุปราคา คนป่วยเขียนเป็นคนนอนเตียง มีรูปตาแปลว่า ตาป่วย หรือตาบอด ซัง แปลว่า เจ็บ หมิง แปลว่า สว่าง สมัยนั้นเขียนหมิงแทนที่จะเอาตัวที่แปลว่าพระอาทิตย์ขึ้นหน้ากลับเอาไว้ข้างหลัง เครื่องปั้นเก่าที่สุดอายุ 3,500 ปี เครื่องสำริดเป็นภาชนะที่ใช้ในพิธี บริเวณนั้น (เมืองอานหยัง) ขุดพบสุสานพระสนมของกษัตริย์ปลายราชวงศ์ซัง ศตวรรษที่ 16-11 ก่อนคริสต์กาล พระสนมฟู่เห่าท่านนี้เมื่อมีชีวิตอยู่คงต้องเป็นคนที่มีบุญวาสนาสูง จึงมีเครื่องสำริดจำนวนมากฝังในสุสาน ราชวงศ์โจวตะวันตก ลายที่เห็นบ่อยๆ ในเครื่องสำริดยุคนี้เป็นรูปสัตว์ เช่น มังกรและนก ของอย่างอื่น เช่น กระบี่ สายรัดเอวทองคำบริสุทธิ์ เป็นของพระอนุชากษัตริย์โจวเหวินหวัง

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 150

(น.150) มณฑลเหอหนาน
ลั่วหยัง (ลกเอี๋ยง) ลั่วหยังอยู่ทางตะวันตกของมณฑลเหอหนาน เป็นเมืองหลวงของราชวงศ์ต่างๆ รวม 9 ราชวงศ์ ตั้งแต่สมัยราชวงศ์โจวตะวันออก

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 216

(น.216) ค.ศ. 1996 ได้ส่งเสริมให้ทำโครงการศึกษายุคประวัติศาสตร์ขาดช่วง เรื่องและเหตุการณ์จากปี 541 ก่อนคริสต์กาลนั้น ซือหม่าเชียน (ราชวงศ์ฮั่น) ได้บันทึกเรื่องต่างๆ ไว้ เรื่องก่อนหน้านั้นไม่มีใครบันทึก จึงอาศัยแต่ข้อสันนิษฐานทางโบราณคดี ผู้เชี่ยวชาญประวัติศาสตร์ลงความเห็นกันว่า การแบ่งเวลาระหว่างราชวงศ์เซี่ยกับซัง ควรจะเป็นว่าราชวงศ์เซี่ยเริ่ม 2,000 ปีก่อนคริสต์กาล ราชวงศ์ซัง 1,600 ปีก่อนคริสต์กาล อย่างไรก็ตามเรื่องระยะเวลาระหว่างราชวงศ์เซี่ยและราชวงศ์ซังยังไม่มีความชัดเจน แต่สมัยราชวงศ์โจวเริ่มชัด นักประวัติศาสตร์และนักโบราณคดีนับพันคนศึกษาแล้วพบว่า ปี 1146 ก่อนคริสต์กาลมีเรื่องของโจวอู่หวังกับอินโจ้วหวัง ถ้าหนังสือเล่มนี้พิมพ์เสร็จจะฝากมาให้ทางสถานทูต

หวงเหออู่อารยธรรม หน้า 227

(น.227) กำแพงโบราณของเมืองโบราณผิงเหยา กำแพงนี้เริ่มสร้างตั้งแต่สมัยจักรพรรดิเซวียนหวัง (827-782 ปีก่อนคริสต์กาล) ราชวงศ์โจวตะวันตก แต่สมัยนั้นมีขนาดเล็ก ก่อด้วยดินเหนียวมาถึงสมัยราชวงศ์หมิง ปีที่ 3 ในรัชสมัยจักรพรรดิหงอู่ (ค.ศ. 1370) ได้ปรับโครงสร้างใหม่ และซ่อมแซมในสมัยราชวงศ์ชิงอีกหลายครั้ง จนเหมือนกับที่เห็นอยู่ตอนนี้ แม้ว่าจะมีอายุถึง 630 ปีแล้ว ก็ยังแข็งแรง กำแพงนี้ยาว 6.4 กิโลเมตร ส่วนความสูงนั้นตามเอกสารว่า กำแพงสูง 10 เมตร เชิงเทิน 2 เมตร รวมเป็น 12 เมตร สร้างตามหลัก “สร้างกำแพงให้สูง สะสมเสบียงให้มาก” มีช่องสี่เหลี่ยมสำหรับส่องดูข้าศึกทั้ง 4 ทิศ ทั้งหมด 3,000 ช่อง มีป้อมบนกำแพง 72 แห่ง นัยว่าสร้างเท่าตัวเลขของศิษย์เอกขงจื่อ 72 คน และศิษย์ทั่วไป 3,000 คน